ภาษาโรฮีนจา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาโรฮีนจา
Rohingya.png
คำว่า "โรฮีนจา" ในอักษรฮะนีฟีโรฮีนจา
ประเทศที่มีการพูดพม่า (รัฐยะไข่)
ภูมิภาครัฐยะไข่ (พม่า) และภาคจิตตะกองตะวันออกเฉียงใต้ (บังกลาเทศ)
ชาติพันธุ์โรฮีนจา
จำนวนผู้พูด1.8 ล้านคน  (2012)[1]
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนฮะนีฟีโรฮีนจา, เปอร์เซีย-อาหรับ, พม่า, ละติน, เบงกอล–อัสสัม (พบน้อย)
รหัสภาษา
ISO 639-3rhg
Rohingya language map.png
บริเวณที่มีผู้พูดภาษาโรฮีนจา
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด

ภาษาโรฮีนจา (โรฮีนจา: Ruáingga, ออกเสียง: [rʊˈɜiɲɟə]) เป็นภาษาที่พูดโดยชาวมุสลิมโรฮีนจา มีผู้พูดทั้งหมด 1,500,000 คน พบในพม่า 1,000,000 คน (พ.ศ. 2549) ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า พบในบังกลาเทศ 200,000 คน (พ.ศ. 2549) และอาจจะมีในมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย และไทย จัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน กลุ่มภาษาอินโด-อารยัน สาขาอินโด-อารยันตะวันออก สาขาย่อยเบงกอล-อัสสัม ใกล้เคียงกับภาษาจิตตะกองในบังกลาเทศ โดยผู้พูดของทั้งสองภาษาสามารถพูดคุยสื่อสารเข้าใจกันได้มาก[2] มีคำยืมจากภาษาอูรดู ภาษาเบงกอล ภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษมาก เดิมชาวโรฮีนจาอพยพจากบังกลาเทศเข้าไปอยู่ในพม่า และปัจจุบันมีผู้อพยพส่วนหนึ่งอพยพกลับไปสู่บังกลาเทศ แต่ถูกผลักดันให้กลับไปสู่พม่า

อักษร[แก้]

มีระบบการเขียนที่หลากหลาย ซึ่งมีทั้งอักษรอาหรับ[3] อักษรอูรดู อักษรฮานิฟ อักษรพม่า และล่าสุดคืออักษรโรมัน

อักษรอาหรับ[แก้]

การเขียนด้วยอักษรอาหรับเกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา เมื่อยะไข่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ชาวโรฮีนจาใช้ภาษาอังกฤษและอูรดูในการสื่อสารด้วยการเขียน หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชและใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ ชาวโรฮีนจาเริ่มพยายามพัฒนาระบบการเขียนเป็นของตนเอง ใน พ.ศ. 2518 ได้พัฒนาระบบการเขียนโดยนำอักษรอูรดูมาดัดแปลง แต่การเขียนแบบนี้ยังยากสำหรับชาวโรฮีนจา และต้องมีการเพิ่มสัญลักษณ์แทนเสียงวรรณยุกต์[4]

อักษรฮานิฟ[แก้]

(Maolana) Mohammad Hanif ได้ประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ ซึ่งเขียนจากขวาไปซ้ายโดยใช้อักษรที่มีลักษณะคล้ายอักษรอาหรับ[5][6] และได้ยืมอักษรบางตัวจากอักษรโรมันและอักษรพม่า อักษรฮานิฟได้รับการบรรจุในยูนิโคดตั้งแต่รุ่น 11.0 เมื่อปี พ.ศ. 2561 คำว่า "ฮานิฟ" นั้น (ภาษาอังกฤษผันเป็น Hanifi ฮานีฟี) ตั้งชื่อตามผู้ประดิษฐ์

อักษรโรมัน[แก้]

A a B b C c Ç ç D d E e F f
G g H h I i J j K k L l M m
N n Ñ ñ O o P p Q q R r S s
T t U u V v W w X x Y y Z z

E.M. Siddique Basu ได้พัฒนาระบบการเขียนที่ใช้อักษรละตินเพียงอย่างเดียว โดยใช้อักษร 26 ตัว เครื่องหมายการออกเสียงสระ 5 ตัว และอักษรเพิ่ม 2 ตัวเพื่อแสดงเสียงม้วนลิ้นและเสียงนาสิก ซึ่งสระจะมีรูปที่เน้น (á é í ó ú) สำหรับ c ในภาษาโรฮีนจาแทนเสียง /ช/ หรือ /sh/, ç แทนเสียง r ม้วนลิ้น และ ñ ใช้แทนเสียงนาสิก โดย Q, V และ X ใช้เฉพาะกับคำยืมภาษาอื่นเท่านั้น[5]

สัทวิทยา[แก้]

ภาษาโรฮีนจามีหน่วยเสียงพยัญชนะ 25 หน่วยเสียง มีเสียงที่ยืมมาจากภาษาอาหรับ ภาษาเบงกอล ภาษาพม่า และภาษาอูรดู

ไวยากรณ์[แก้]

คำนำหน้านาม[แก้]

คำนำหน้านามแบบชี้เฉพาะสำหรับนามที่ลงท้ายด้วยสระเป็น án หรือ wá สำหรับเอกพจน์ และ ún สำหรับพหูพจน์หรือนับไม่ได้ โดยทั่วไป wá ใช้กับวัตถุทรงกลม ส่วน án ใช้กับวัตถุทรงแบน เช่น Fata wá ใบไม้ใบเดียว Fata ún ใบไม้หลายใบ ถ้าคำนามลงท้ายด้วยตัวสะกด จะนำเสียงตัวสะกดมารวมกับคำนำหน้าด้วย เช่น Kitap pwá หนังสือเล่มเดียว Kitap pún หนังสือหลายเล่ม ถ้าตัวสะกดเป็น r ใช้เสียง g รวมกับคำนำหน้านาม เช่น Kuñir gwá สุนัขตัวเดียว Kuñir gún หมาหลายตัว คำนำหน้านามแบบไม่ชี้เฉพาะจะวางไว้หลังหรือหน้านามก็ได้ โดย Uggwá ใช้กับวัตถุทรงกลม ekkán ใช้กับวัตถุทรงแบน เช่น Uggwá fata หรือ fata uggwá ใบไม้ใบหนึ่ง Hodún fata หรือ fata hodún ใบไม้บางใบ

การเรียงประโยค[แก้]

การเรียงประโยคเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา เช่น Aiñ (ฉัน), bát (ข้าว), hái (กิน)

กาล[แก้]

ภาษาโรฮีนจามี 12 กาลกริยาช่วย félai แสดง perfect tense félaat แสดง perfect continuous tense คำว่า táki และ táikki เทียบได้กับ be และ been ในภาษาอังกฤษ มีปัจจัยแสดงบุคคลและกาล ปัจจัย -ir, -yi, -lám, -youm ใช้สำหรับบุรุษที่หนึ่ง -or, -yó, -lá, -bá ใช้สำหรับบุรุษที่สอง -ar, -ye, -l, -bou ใช้สำหรับบุรุษที่สาม -ir, -or, -ar แสดงการกระทำที่ต่อเนื่อง -yi, -yó, -ye แสดง present perfect tense, -lám, -lá, -l แสดงอดีต และ -youm, -bá, -bou แสดงอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  1. ภาษาโรฮีนจา ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
  2. Christine Ro. (13 กันยายน 2019). "The Linguistic Innovation Emerging From Rohingya Refugees". Forbes.
  3. Mohammed Siddique Basu. Starting with Rohingyalish.
  4. Priest, Lorna A.; Hosken, Martin (12 สิงหาคม 2010). "Proposal to add Arabic script characters for African and Asian languages" (PDF). SIL International. pp. 13–18, 34–37.
  5. 5.0 5.1 "Rohingya alphabets, pronunciation and language". Omniglot. Simon Ager. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2017.
  6. James, Ian (5 กรกฎาคม 2012). "Hanifi alphabet for Rohingya". Sky Knowledge. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]