ไทยเชื้อสายมลายู
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() | |
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ประมาณ 1.9 ล้านคน (ประมาณการปี 2006) | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา, จังหวัดนราธิวาส บางส่วนของจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดระนอง และกรุงเทพมหานคร ![]() | |
ภาษา | |
ภาษาไทย, ภาษามลายูปัตตานี, ภาษาไทยถิ่นใต้,ภาษามลายูถิ่นสตูล, ภาษามลายู | |
ศาสนา | |
ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่เป็นหลัก มีนับถือพระพุทธศาสนาจำนวนน้อย |
ชาวไทยเชื้อสายมลายู หมายถึงชาวไทยซึ่งมีเชื้อสายมลายู มีกระจายทั่วไปในทางภาคใต้ของประเทศไทย ประชากรใช้ภาษาตระกูลมาลาโย-โพลินีเชียน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีประชากร ร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งกระจายตัวหนาแน่นมากที่สุดทางภาคใต้ตอนล่าง ในภาคใต้ส่วนอื่นๆก็มีชาวไทยเชื้อสายมลายูกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนภาคกลางเองก็มีมากในกรุงเทพฯ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี เลยไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทราในตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยวด้วย
ชาวไทยเชื้อสายมลายู[แก้]
ชาวมลายูปัตตานี เป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่จำนวนมากในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นประชากรส่วนใหญ่ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา รวมไปถึงบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีประชากร 3,359,000 คน หรือร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับกลุ่มชาวมลายูทั่วไป ชาวมลายูปัตตานีเรียกตนเองว่า ออแรฺนายู (Orang Melayu; اورڠ ملايو) ซึ่งมีความหมายว่า คนมลายู และบางที่ก็เติมคำข้างหน้าด้วยเป็น กีตอออแรฺนายู (Kita Orang Melayu; كيت اورڠ ملايو) ซึ่งแปลว่า พวกเราคือมลายู และจะเรียกชาวมาเลเซียว่า ออแรฺมาเล (Orang Malay) เพราะพวกเขาแยกแยะ และมีจิตสำนึกได้ดีว่าเขาไม่ใช่คนมาเลเซีย และเรียกคนไทยว่า ออแรฺซีแย (Orang Siam; اورڠ سيام) ส่วนชาวมลายูปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จะถูกเรียกว่า ออแรฺนายูบาเกาะ (Orang Melayu Bangkok; اورڠ ملايو بڠكوق) ถือว่าเป็นชาวมลายู แต่ถูกกวาดต้อนไปกรุงเทพฯ และไม่ใช่ชาวออแรฺนายูอย่างเขา ชาวไทยเชื้อสายมลายูในกรุงเทพนั้นอาศัยอยู่กระจายตัวตั้งแต่สี่แยกบ้านแขก ในฝั่งธนบุรีเลยไปถึงเขตหนองจอก แต่คำคำนี้ยังรวมไปถึงคนมลายูรอบ ๆ ปริมณฑลด้วย อย่างที่จังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี โดยที่จังหวัดปทุมธานีจะพบคนกลุ่มนี้ในเขตคลองประชาเก่ง คลองบางโพธิ์เหนือ และคลองหนึ่ง สถานที่ตั้งถิ่นฐานมีสุเหร่าเป็นแห่งแรกที่บ้านสวนพริกไทย ส่วนในนนทบุรีมีชนกลุ่มนี้ที่สามารถพูดภาษามลายูได้ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ดที่ถูกกวาดต้อนมาจากจังหวัดปัตตานีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเวลากว่า 200 ปีมาแล้ว ในอยุธยาเองก็มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายมลายูอยู่ที่คลองตะเคียนใต้เกาะอยุธยา ซึ่งเข้ามาอาศัยนานแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา
ภาษา[แก้]
ชาวมลายูในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ส่วนใหญ่ยังใช้ภาษามลายูปัตตานี ซึ่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่น และมีคนพูดกันมาก และหลายคนสามารถพูดภาษามลายูกลางได้ นอกจากนี้ยังเขียนด้วยอักษรยาวี ที่ดัดแปลงจากอักษรอาหรับและมีใช้กันอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองด้วย โดยพ่อแม่ในท้องถิ่นนี้จะสอนลูกหลานพูดภาษาแม่ของตนคือ ภาษามลายู (Bahasa Melayu) ในชีวิตประจำวัน ต่อเมื่อเด็กๆ เข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาแล้วจึงจะได้เรียนรู้ที่จะพูดหรืออ่านภาษาไทยในฐานะภาษาที่ 2[1]
ส่วนชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลนั้น จะมีคนอายุเกินกว่า 40 ปีเท่านั้นที่ยังพอพูดภาษามลายูได้ แต่ต่างจากภาษามลายูที่ใช้ในภาคใต้อยู่บ้าง เรียกว่าภาษามลายูบางกอก และส่วนใหญ่หันมาใช้ภาษาไทยกลาง ประชากลุ่มนี้ มีอยู่ประมาณ 5,000 คน แต่ความสามารถในการใช้ภาษาแตกต่างกันออกไป มีการใช้ภาษามลายูถิ่นสตูล ซึ่งใกล้เคียงกับภาษามลายูเกอดะฮ์ประมาณ 6,800 คน ในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง และยังมีชุมชนเชื้อสายมลายูกระจายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ อย่างที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดชุมพร ฯลฯ
วัฒนธรรม[แก้]
ความเป็นมลายู นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญได้แก่ ภาษามลายู ศาสนาอิสลาม และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่พูดภาษามลายูได้ เลือกวิถีวัฒนธรรมมลายู โดยเฉพาะต้องนับถือศาสนาอิสลามถือว่าเป็นชาวมลายู ถ้าสักแต่พูดภาษามลายู มีชีวิตในวิถีวัฒนธรรมมลายู แต่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็ไม่ถือว่าเป็นมลายู
อย่างไรก็ตามศาสนาอิสลามจะเกาะเกี่ยวกับความเป็นมลายูตลอด เมื่อใครเข้ารับศาสนาอิสลามหรือเข้าอิสลามก็จะเรียกว่าเข้ามลายู (มาโซะ มลายู หรือมะโซะยาวี) หรือ เป็นมลายูซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจเพราะเขาจะเรียกว่า"เข้าไทย"(มาโซะ ซีแย) เมื่อมีใครเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันชีวิตวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาษามลายูก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกับมีคำกล่าวว่า “ฮีลัง บาฮาซา ฮีลัง บังซา” แปลเป็นไทยได้ว่า “ถ้าภาษา (มลายู) หาย ชาติ (หรือความเป็นมลายู) ก็จะหายด้วย” ดังนั้นเขาจึงต้องต่อสู้เพื่อปกป้องชาติหรือความเป็นมลายูของตัวเองไม่ให้สูญสลายหายไป รวมทั้งพยายามยืนหยัดที่จะใช้ภาษามลายูสืบไป
ชาวไทยเชื้อสายมลายูหลายคน ยังแต่งกายแบบมลายูให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้ ผู้ชายยังแต่งกายด้วยการนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ โพกศีรษะเหมือนชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันวัฒนธรรมการแต่งกายของมาเลเซียก็เข้ามา ทำให้ชาวมลายูแต่งตัวให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นมลายู และอิสลามอยู่อย่างมั่นคง
ศาสนา[แก้]
ชาวไทยเชื้อสายมลายู เป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัดในศาสนา และมีการทำนมาซ และกระทำกันในมัสยิด หรือสุเหร่า และมีการแสวงบุญไปยังนครมักกะห์ และมีการถือศีลอด และหลังจากการถือศีลอดนั้นก็จะมีเทศกาลฮารีรายอ การแต่งงาน (มาแกปูโล๊ะ) การเข้าสุหนัต (มะโซะยาวี) เพื่อแสดงว่าตนเป็นชาวมุสลิม ชาวมุสลิมทุกคนจะให้ความศรัทธาแก่องค์อัลเลาะห์ พระเจ้าองค์เดียวแห่งศาสนาอิสลาม
ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่มีชื่อเสียง[แก้]
- ตวนกูซูไบดะห์ บินตีเติงกูนูรุดดีน เติงกู อัมปวน มะห์โกตา กลันตัน (กังสดาล พิพิธภักดี) อดีตพระชายาในมกุฎราชกุมารตวนกู มูฮัมมัด ฟาริส แห่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
- สุรินทร์ พิศสุวรรณ
- แวมาฮาดี แวดาโอะ
- เจะอามิง โตะตาหยง
- วันมูหะมัดนอร์ มะทา
- สุลต่านสุลัยมาน
- ราชิด ไมดิน
- เมธี อรุณ
- นิกัลยา ดุลยา
อ้างอิง[แก้]
- ↑ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา การศึกษาปอเนาะ... จุดหมายปลายทางที่สันติภาพ วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2008 11:45 น.
- ↑ ศึกษารูปแบบการพัฒนาโรตีกรอบเพื่อสมนุไพรเพื่อสุขภาพ ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี