ภาษาพวน
ภาษาพวน | |
---|---|
ພວນ, พวน | |
ประเทศที่มีการพูด | ประเทศไทย, ประเทศลาว |
ชาติพันธุ์ | ชาวพวน |
จำนวนผู้พูด | 300,000 (2003–2009)[1] |
ตระกูลภาษา | ขร้า-ไท
|
ระบบการเขียน | อักษรพวน, อักษรลาว, อักษรไทย, อักษรธรรมลาว |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | phu |
ภาษาพวน หรือ ภาษาลาวพวน เป็นภาษาในตระกูลขร้า-ไทที่มีผู้พูดในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา[1][2] โดยเป็นภาษาของชาวไทพวนหรือลาวพวน คำศัพท์ใกล้เคียงกับภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสานมากกว่าภาษาไทยภาคกลางและเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกันกับภาษาผู้ไทมาก มีเสียงพยัญชนะ 20 เสียง เป็นตัวสะกดได้ 9 เสียง มีเสียงควบกล้ำเฉพาะ /คฺว/ เท่านั้น สระมี 21 เสียง เป็นสระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 3 เสียง วรรณยุกต์มี 6 เสียง
ลักษณะเด่นของคำพวนเช่น ถ้าใช้ ก เป็นตัวสะกดจะไม่ออกเสียงตัวสะกด ดังเช่น หูก พวนออกเสียงเป็น หุ ปาก พวนออกเสียงเป็น ปะ แบก พวนออกเสียง แบะ
ส่วนคำที่ใช้สระใอไม้ม้วน (สระ ใ-) จะออกเสียงเป็น สระเออ เช่น บ้านใต้ พวนออกเสียงเป็น บ้านเต้อ ใกล้ พวนออกเสียงเป็น เค่อ ให้ พวนออกเสียงเป็น เห้อ ส่วนสระไอไม้มลาย (สระ ไ-) จะออกเสียงตามรูป เช่น ผัดไทยใส่ไข่ พวนออกเสียงเป็น ผัดไทยเส่อไข่ จะไม่พูดว่า ผัดเทอเส่อเข่อ ไม่มีเสียง ช ซึ่งจะออกเสียงเป็น ซ แทน เช่น ช้าง เป็น ซ้าง ช่วย เป็น ซ่อย ไม่มีเสียง ร ซึ่งมักจะออกเป็น ฮ แทน เช่น เรือน เป็น เฮือน ร่ำเรียน เป็น ฮ่ำเฮียน ไร่นา เป็น ไฮ่นา การออกเสียง ย และ ญ ลักษณะการออกเสียงของภาษาไทยนั้น ลิ้นจะอยู่กลางปาก แต่การออกเสียงของคนพวน ลิ้นจะแตะเพดานปากด้านหน้า
พวน | ลาว | ไทย | อีสาน |
---|---|---|---|
คึดญะ | ຄຶດຍາກ | หนักใจ | คึดยาก |
คึดฮู้ | ຄຶດຮອດ | คิดถึง | คึดฮอด |
เจ้าเป็นไทบ้านเลอ [6] | ເຈົ້າເປັນໄທບ້ານໃດ | คุณเป็นคนบ้านไหน | เจ้าเป็นคนบ้านใด |
เจ๊าแม่นเผอ | ເຈົ້າແມ່ນໃຜ | คุณเป็นใคร | เจ้าเป็นใผ |
บ๊าจ๊อน | ກະຮອກ | กระรอก | กระฮอก |
บ๊าแฮ้ง | ອີແຮ້ງ | อีแร้ง | อีแฮ้ง |
โบ่ง/ซ้อน | ບ່ວງ | ช้อน | บ่วง/ซ้อน |
ป่วง | สืบต่อเดินทาง | เที่ยวไปเรื่อย | เที่ยวไปเรื่อย |
ป่องเอี๊ยม | ປ່ອງຢ້ຽມ | หน้าต่าง | ป่องเยี่ยม/หน้าต่าง |
ไปกะเลอ/ไปเก๋อ | ໄປໃສ/ໄປໃດ | ไปไหน | ไปใส |
ไปแท้บ่ | ໄປແທ້ບໍ່/ໄປອີຫຼີບໍ່ | ไปจริง ๆ หรือ | ไปอีหลีบ่ |
ไปนำกันบ๊อ | ໄປນຳກັນບໍ່ | ไปด้วยกันไหม | ไปนํากันบ่ |
เผอ/ผู้เลอ | ໃຜ/ຜູ້ໃດ | ใคร/คนไหน | ใผ/ผู้ใด |
มันอยู่กะเลอบุ๊ | มันอยู่ใสบ่ฮู้ | มันอยู่ไหนไม่รู้ | มันอยู่ใสบ่ฮู้ |
มากันหลายหน่อล้า | มากันหลายคือกันน้อ | มากันเยอะเหมือนกันนะ | มากันหลายคือกันน้อ |
มากี๊ท้อ | มานี้เทาะ | มานี่เถอะ | มานี้เถาะ |
หน้าแด่น | หน้าผาก | หน้าผาก | หน้าผาก |
หม่าทัน | หมากกะทัน | พุทรา | บักทัน |
หม่ามี้ | หมากมี้ | ขนุน | บักมี้ |
หม่าหุ่ง | หมากหุ่ง | มะละกอ | บักหุ่ง |
หัวเจอ | หัวใจ | หัวใจ | หัวใจ |
เห้อ | ให้ | ให้ | ให้ |
เอ็ดผิเลอ/เอ็ดหังก้อ | เฮ็ดหยัง | ทำอะไร | เฮ็ดอีหยัง |
ฮัก | ฮัก | รัก | ฮัก |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ภาษาพวน ที่ Ethnologue (25th ed., 2022)
- ↑ Schliesinger, Joachim (8 October 2011). Ethnic Groups of Cambodia, Volume 3: Profile of the Austro-Thai-and Sinitic-Speaking Peoples. White Lotus Co Ltd. ISBN 978-9744801791. สืบค้นเมื่อ 17 February 2016.
- ↑ :: ประเพณี-วิถีชีวิต :: ไทยพวน[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ชนชาติไทยพวน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
- ↑ "วัฒนธรรมไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-21. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
- ↑ "ชาวพวนในภาคกลางและประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-26. สืบค้นเมื่อ 2010-02-27.
- วีระพงศ์ มีสถาน. สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ พวน. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท. 2539.