ภาษาชอง
ภาษาชอง | |
---|---|
พะซาช์อง | |
ประเทศที่มีการพูด | จังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย จังหวัดโพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
จำนวนผู้พูด | 5,500 (ไม่พบวันที่) |
ตระกูลภาษา | |
ระบบการเขียน | ชอง[1][2], ไทย, เขมร |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | cog |
ภาษาชอง (ชอง: พะซาช์อง) เป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยเปียริก ใกล้เคียงกับภาษาสมราย ใช้พูดในหมู่ชาวชองในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด (ในอดีตมีในจังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกว่า ภาษาป่า)[3] มีผู้พูดทั้งหมด 5,500 คน ในกัมพูชามี 5,000 คน ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาระหว่างจังหวัดจันทบุรีของไทยกับจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชา ในไทยมีผู้พูดจำนวน 500 คนในจังหวัดจันทบุรีและตราด
ตัวอักษร[แก้]
เดิมทีภาษาชองไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้พูดเท่านั้น แต่ในภายหลังก็มีการกำหนดให้ใช้อักษรไทยบางตัวเขียนภาษาชอง ซึ่งกำหนดโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วสะกดตามอักขรวิธีของภาษาไทย[4] (การอ่านตามที่เขียนอาจไม่ถูกสำเนียงตามต้นฉบับ)
ต่อมาเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่มีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ชอง ได้คิดค้นระบบการเขียนใหม่ โดยศึกษาจากอักษรไทย, มอญ, เขมร และโรมัน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์แคนาดาที่ออกแบบอักษรให้ใช้งานง่าย มีระบบการเขียนบรรทัดเดียวแบบภาษาอังกฤษ ไม่มีสระและวรรณยุกต์อยู่เหนือหรือใต้บรรทัด และมีความพยายามที่จะทำเป็นชุดแบบอักษร ในปี พ.ศ. 2553 มีผู้สามารถใช้อักษรนี้ได้ระดับคล่องแคล่ว 20 คน[2]
พยัญชนะ[แก้]
พยัญชนะ (เรียกว่า ตัวนั่งซือ) แบ่งเป็นพยัญชนะต้น (ตัวต้น) และพยัญชนะสะกด (ตัวซะก็อด)
ตัวต้นมี 22 ตัว ตามลำดับดังนี้ ก ค ง จ ช ซ ญ ด ต ท น บ ป พ ฟ ม ย ร ล อ ว ฮ
ตัวสะกดมี 11 ตัว ตามลำดับดังนี้ -ก -ง -จ -ญ -ด -น -บ -ม -ย -ว -ฮ
สระ[แก้]
สระ (เรียกว่า ซะระ) มี 24 เสียง ตามลำดับดังนี้ -ะ -า -ิ -ี เ-ะ เ- แ-ะ แ- -ึ -ือ เ-อะ เ-อ -ุ -ู โ-ะ โ- เ-าะ -อ เ-ีย เ-ือ -ัว -ำ ไ- เ-า และแปลงรูปสระเมื่อมีตัวสะกดอย่างภาษาไทย
วรรณยุกต์[แก้]
วรรณยุกต์ (เรียกว่า วันนะยุก) มี 3 รูป 4 เสียงดังนี้
- เสียงกลางปกติ ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น กะวาญ = กระวาน, กะปาว = ควาย
- เสียงต่ำใหญ่ (เสียงก้องมีลม) ใช้รูป -่ (ไม้เอก) เช่น กะว่าย = เสือ, มะง่าม = ผึ้ง
- เสียงสูงบีบ (เสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง) ใช้รูป -้ (ไม้โท) เช่น ค้อน = หนู, ซู้จ = มด
- เสียงต่ำกระตุก (เสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง) ใช้รูป -์ (ทัณฑฆาต) เช่น ช์อง = ชอง, เม์ว = ปลา
ปัจจุบัน[แก้]
ปัจจุบันภาษาชองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต คนเฒ่าคนแก่เสียดายที่ภาษาชองจะสูญหายไป โดยปัจจุบันมีชาวชองอยู่อาศัยถิ่นฐานเดิมบริเวณตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ (แต่แหล่งที่พูดกันมากที่สุดอยู่ที่ตำบลตะเคียนทอง) จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 6,000 คน แต่ที่พูดได้มีเพียงประมาณ 500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนวัยรุ่นชาวชองนั้นอายที่จะพูดภาษาดั้งเดิมประจำชาติพันธุ์ของตน
ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามจะฟื้นฟูโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียง และถอดภาษาพูดเป็นภาษาเขียน ให้โรงเรียนบ้านคลองพลูสอนภาษาชองให้กับลูกหลานชอง แทรกเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "ฟื้นภาษาชอง...สะท้อนการดำรงอยู่ของคนชอง". Technology Media. 17 กุมภาพันธ์ 2548. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2558. Check date values in:
|accessdate=, |date=
(help) - ↑ 2.0 2.1 องค์ บรรจุน. สยาม หลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553, หน้า 132
- ↑ วิบูลย์ เข็มเฉลิม. วิถีคนป่าตะวันออกผืนสุดท้าย, กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, หน้า 69-71
- ↑ Chong Language Revitalization Project
- ผศ.เจตน์จรรย์ อาจไธสง พระอธิการธวัชชัย จนฺทโชโต พระอาจารย์สี เตชพโล เฉิน ผันผาย และคำรณ วังศรี. 2556. แบบเรียนภาษาชอง.พิมพ์ครั้งที่ 3 จันทบุรี : ต้นฉบับ.
- พระครูธรรมสรคุณ (เขียน ขนฺธสโร). ธรรม พันธุศิริสด. อารยธรรมชอง จันทบุรี ใน อารยธรรมชองจันทบุรี และอาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียต. กทม. โรงพิมพ์ไทยรายวัน. 2541.
- Gordon, Raymond G., Jr. (ed.), 2005. Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Dallas, Tex.: SIL International. Online version: http://www.ethnologue.com/.