ข้ามไปเนื้อหา

ภาษาอาหม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาอาหม
𑜒𑜑𑜪𑜨
คำว่า อาหม ในอักษรอาหม
ประเทศที่มีการพูดประเทศอินเดีย
ภูมิภาครัฐอัสสัม
ชาติพันธุ์ชาวอาหม
สูญแล้วคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือ 19[1]
ปัจจุบันใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาและวรรณกรรมของชาวอาหม
ตระกูลภาษา
ขร้า-ไท
ระบบการเขียนอักษรอาหม
รหัสภาษา
ISO 639-3aho

ภาษาอาหม เป็นภาษาที่ตายแล้ว[n 1] ในตระกูลภาษาขร้า-ไท ภาษาอาหมนั้นมีอักษร และถ้อยคำของตนใช้สื่อสารทั้งพูดและเขียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ชาวอาหมในปัจจุบันนั้นหันไปใช้ภาษาอัสสัมซึ่งอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่บันทึกจารึกไว้ในคัมภีร์ในบทสวดในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ก็แสดงให้เห็นว่านักบวชชาวไทอาหมยังใช้ภาษาไทได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูภาษา

ประวัติ

[แก้]

พัฒนาการและการจัดจำแนกภาษายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บรรพบุรุษน่าจะเป็นภาษาไทดั้งเดิมเมื่อราว 2,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนแต่อาจจะเกี่ยวข้องกับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ชาวอาหมเดิมอยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและเวียดนาม ต่อมาได้อพยพเข้ามณฑลยูนนาน รัฐชาน จนถึงลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในที่สุด

ชาวอาหมได้พัฒนาอาณาจักรของตนเองในช่วง พ.ศ. 1771-2386 ภาษาอาหมเป็นภาษาทางการของอาณาจักรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-21 จนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยภาษาอัสสัมที่เป็นภาษากลุ่มอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับวัฒนธรรมฮินดู

ยุคเสื่อม

[แก้]

ชาวอาหมไม่เคยคิดว่าตัวเองต่ำต้อย จนกระทั่งกษัตริย์อาหมยอมรับวัฒนธรรมฮินดู นำระบบวรรณะมาใช้ เพราะถูกพราหมณ์ยกยอ และนำพิธีกรรมมารองรับสถานะให้กษัตริย์มีฐานะที่สูงขึ้น เมื่อนำพิธีกรรมต่าง ๆ มาใช้ ภาษาก็เปลี่ยนไปตามพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรม ทั้งที่ชาวอาหมแท้ ๆ นั้นมีจำนวนไม่มากนัก และภาษาอัสสัมก็ครอบงำสังคม รวมไปถึงราชสำนักเพื่อเข้าถึงฮินดู จนลามไปยังขุนนางและราษฎรต่าง ๆ ครั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อังกฤษก็ถอดกษัตริย์อาหมออก และให้อำนาจแก่พราหมณ์และขุนนางฮินดูแทน ภาษาอาหมจึงใช้กันจำกัดลงเรื่อย ๆ จนเป็นภาษาตายไม่มีใครใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มนักบวชเทวไท (Deotai) ซึ่งเป็นนักบวชตามความเชื่อลัทธิฟ้าหลวง แม้จะพยายามรักษาประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ แต่ก็ทำได้จำกัด และนักบวชก็ขาดคนพูดอาหมด้วย และไม่มีใครเข้าใจได้ชัดเจน

การฟื้นฟูในปัจจุบัน

[แก้]

แม้ว่าภาษาอาหมจะมีการฟื้นฟูอย่างน้อย 3 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 ในสมัยพระเจ้าจักรธวัช สิงห์ในช่วง ค.ศ. 1663 ช่วงที่ 2 ในยุคหลังจากอังกฤษเข้าปกครองในรัฐอัสสัมราวปี ค.ศ. 1826 และช่วงที่ 3 ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการฟื้นฟูภาษาไทและตั้ง สมาคมวรรณกรรมไทตะวันออก (Eastern Tai Literary Association) ที่เมืองกูวาฮาติ โดยมุ่งมั่นปฏิบัติให้พัฒนาการเรียน เขียนอ่านภาษาอาหม พร้อมกันนี้ให้สนับสนุนให้ค้นคว้าศึกษาเอกสารโบราณของชาวอาหมอย่างจริงจัง การฟื้นฟูภาษาอาหมนั้นอาศัยสัทวิทยาของภาษาพี่น้อง เช่น ภาษาอ่ายตนและภาษาพ่าเก โดยภาษาดังกล่าวจะถูกเรียกว่า ภาษาไทในอัสสัม เนื่องจากประกอบไปด้วยคำไททุกกลุ่มในรัฐอัสสัม หากการฟื้นฟูดังกล่าวได้ผล ภาษาเขียนในรัฐอัสสัมจะใช้อักษรอาหมเป็นหลักแทนอักษรไทอื่น ๆ ในรัฐอัสสัม[3] โดยอาศัยพื้นฐานภาษาอ่ายตนในรัฐอัสสัม เนื่องจากใกล้เคียงกับภาษาอาหมมากที่สุด ชาวอาหมอาจอาศัยชาวอ่ายตนในการรื้อฟื้นภาษา[4]

ลักษณะภาษา

[แก้]

ภาษาอาหมกับภาษาในศิลาจารึกสุโขทัยของไทย ต่างก็เป็นภาษาไทยุคเก่าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่าภาษาถิ่นไทยในปัจจุบัน และในภาษาอาหมไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ คำที่ใช้พูดกับคนธรรมดาก็ใช้พูดกับกษัตริย์ได้ การเรียงประโยคเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม รากศัพท์เป็นคำเดี่ยว ไม่มีการผันคำกริยา ไม่มีกาล และไม่มีรูปพหูพจน์ของคำนาม แสดงเวลาด้วยกริยาช่วย

โคลงกลอน

[แก้]

กลอนอาหมที่มีเรื่องเกี่ยวกับการสร้างโลก ซึ่งเป็นกลอนไทยที่มีจำนวนพยางค์เลขคี่เขียนแบบกลอนหัวเดียว ลงท้ายวรรคคู่ด้วยสระเสียงเดียวกัน เหมือนเพลงลำตัด หรือเพลงเรือ สรุปคือ กลอนหก และกลอนแปดของไทยเป็นลูกผสมระหว่างกลอนไทยที่มีจำนวนพยางค์เป็นเลขคี่ แต่ต่อมาใช้เลขคู่แบบปัฐยาวัตของอินเดีย และคำสวดของอาหม ก็คล้ายกับ แหล่ ของไทยด้วย

คำศัพท์

[แก้]

ตัวเลข

[แก้]

อาหมมีตัวเลขพื้นฐานดังนี้:[5]

จำนวนนับ /lɯŋ/ /sɔ:ŋ/ /sam/ /si:/ /ha/ /ruk/ /cit/ /pit/ /kaw/ /sip/
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
เลขลำดับ /ʔaj/ /ŋi:/ /sam/ /saj/ /ŋu:/ /luk/ /cit/ /pit/ /kaw/ /sip/
ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10

คำนับจำนวน เวลา

[แก้]

ในการนับเลขอาหมโดยเฉพาะการนับทั้งหมด แต่มีสำเนียงเพี้ยนจากภาษาไทยไปบ้าง

  • เอ็ด = หนึ่ง
  • ฉอง = สอง
  • ฉาม = สาม
  • ฉี่ = สี่
  • ห่า = ห้า
  • หรุก = หก
  • จิด = เจ็ด
  • เป็ด = แปด
  • เก่า = เก้า
  • ฉิบ = สิบ

คำทักทาย

[แก้]
  • เปอ่องเลเล = มีความหมายว่าจงเจริญ (ซึ่งมาจากภาษาพม่าซ้อนคำไทอาหมเดิม เนื่องจาก เป(แพ้) แปลว่า ชนะ รวมกับคำว่า อ่อง ซึ่งเป็นภาษาพม่าที่แปลว่า ชนะ เช่นเดียวกัน ส่วนคำว่า เล เป็นคำลงท้ายแบบเดียวกับหางเสียง ครับ, ค่ะ)
  • คุปต่าง = กราบไหว้ (ในบทบูชาบรรพชน)
  • คุปต่าง ชมโหลง = ขอบคุณ

ตารางเทียบภาษา

[แก้]

ด้านล่างคือตารางเทียบภาษาอาหมกับภาษากลุ่มไทอื่น ๆ

ไทย ไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม[6] สัทอักษรไทย ลาว ไทยถิ่นเหนือ ไทใหญ่ ไทลื้อ จ้วงมาตรฐาน อาหม:[5]
ลม *lom /lōm/ /lóm/ /lōm/ /lóm/ /lôm/ /ɣum˧˩/ /lum/
เมือง *mɯaŋ /mɯ̄aŋ/ /mɯ́aŋ/ /mɯ̄aŋ/ /mɤ́ŋ/ /mɤ̂ŋ/ /mɯŋ˧/ /mɯng/
ดิน *ʔdin /dīn/ /dìn/ /dīn/ /lǐn/ /dín/ /dei˧/ /nin/
ไฟ *vai/aɯ /fāj/ /fáj/ /fāj/ /pʰáj/ or /fáj/ /fâj/ /fei˧˩/ /pʰaj/
หัวใจ *čai/aɯ /hǔa tɕāj/ /hǔa tɕàj/ /hǔa tɕǎj/ /hǒ tsǎɰ/ /hó tɕáj/ /sim/ /caj/
รัก *rak /rák/ /hāk/ /hák/ /hâk/ /hak/ /gyai˧˩/ /hak/
น้ำ *naam /náːm/ /nâm/ /nám/ /nâm/ /nà̄m/ /ɣaem˦˨/ /nam/

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. "นักภาษาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปมีมุมมองร่วมกันว่าภาษาอาหมตายไปประมาณ 200 ปีแล้ว และชาวอาหมทั้งหมดใช้ภาษาอัสสัมเป็นภาษาแม่แทน"[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ภาษาอาหม ที่ Ethnologue (18th ed., 2015) (ต้องสมัครสมาชิก)
  2. Terwiel 1996, p. 283.
  3. การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 71
  4. การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 123
  5. 5.0 5.1 Duangthip; Rungkarn (18 April 2013). Tai-Ahom and standard Thai: a descriptive-comparative study.
  6. "Thai Lexicography Resources". sealang.net.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Morey, Stephen (2010). Das, Biswajit; Basumatary, Phukan Chandra (บ.ก.). Asamīẏā āru Asamara bhāshā [Assamese and the languages of Assam]. Guwāhāṭī: AANK-Bank. ISBN 978-93-80454-30-6. OCLC 757135305. A sketch of Tai Ahom, as recorded in original manuscripts to appear in Das, Biswajit and Phukan Basumatary (eds).
  • Morey, Stephen (2014), "Ahom and Tangsa: Case studies of language maintenance and loss in North East India", ใน Cardoso, Hugo C. (บ.ก.), Language Endangerment and Preservation in South Asia, Honolulu: University of Hawai'i Press, pp. 46–77
  • Gogoi, Poppy; Morey, Stephen; Pittayaporn, Pittayawat (2020-09-08). "The Tai Ahom Sound System as Reflected by the Texts Recorded in the Bark Manuscripts". Journal of the Southeast Asian Linguistics Society. 13 (2). ISSN 1836-6821.
  • Terwiel, B.J. (1996). "Recreating the Past: Revivalism in Northeastern India". Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 152 (2): 275–92. doi:10.1163/22134379-90003014. JSTOR 27864746.
  • Terwiel, B. J. (1992). Tai Ahoms and the Stars: Three Ritual Texts to Ward off Danger.
  • บุญยงค์ เกศเทศ. "คนไท" ในชมพูทวีป. กรุงเทพฯ : หลักพิมพ์. หน้า 80-81
  • บรรจบ พันธุเมธา. กาเลหม่านไต, 2504.
  • ประเสริฐ ณ นคร. การสร้างโลกตามคติไทอาหม และความรู้จากไทอาหม
  • วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. ภาษาเชิงประวัติ: วิวัฒนาการภาษาไทยและภาษาอังกฤษ. หน้า 213-229

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]