ภาษาถิ่นพิเทน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาถิ่นพิเทน
ประเทศที่มีการพูดไทย
จำนวนผู้พูดไม่ถึง 3,000 คน  (2554)[1]
ตระกูลภาษา
ขร้า-ไท
รหัสภาษา
ISO 639-3

ภาษาถิ่นพิเทน เป็นภาษาไทยถิ่นย่อยถิ่นหนึ่ง ที่ใช้จำเพาะอยู่ในชาวไทยมุสลิมในตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์ร่วมด้วย และยืมคำมลายูเสียมาก ปัจจุบันภาษาถิ่นพิเทนกำลังสูญไปและแทนที่ด้วยภาษามลายูปัตตานี

ประวัติ[แก้]

บรรพชนของพิเทนเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาไทอพยพมาจากที่อื่น เดิมนับถือศาสนาพุทธ ครั้นเมื่ออพยพมาตั้งชุมชนที่บ้านพิเทนร่วมกับชาวมลายูในท้องถิ่นซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ชาวพิเทนจึงพากันเข้ารีตเป็นมุสลิมทั้งหมด[1] มุขปาฐะของผู้ใช้ภาษาถิ่นพิเทนเชื่อว่าตนมีบรรพบุรุษอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา[2][3][4][5] โดยอธิบายว่า บรรพบุรุษเป็นควาญช้าง เดินทางลงมาทางใต้เพื่อตามหาช้างสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งผู้นำในการติดตามช้างสำคัญนั่นคือพี่เณร (หรือโต๊ะหยัง) พร้อมกับคนอื่น ๆ บางสำนวนว่ามีสี่คน คือ เจ้าอ่อน นางผมยาวเก้าศอก นางเลือดขาว และเจ้าภา (หรือเจ้าเภา) อีกสำนวนระบุว่ามีเจ็ดคน ได้แก่ พี่แก้ว พี่อ่อน พี่มอญ พี่ขวัญ จันทอน (หรือจันทร์ทอง) และนางเลือดขาว (บ้างว่านางผมหอม) แต่การติดตามช้างสำคัญนั้นไม่สำเร็จ ด้วยเกรงกลัวพระราชอาญาจึงหลบลี้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในป่า อันเป็นที่มาของชื่อตำบลพิเทนซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อของพี่เณรนั้นเอง[2][4][6] พวกเขาแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียง คือ บ้านพิเทน บ้านบือจะ ตำบลพิเทน บ้านน้ำดำ ตำบลน้ำดำ อำเภอทุ่งยางแดง บ้านเมืองยอน ตำบลลุโบะยิไร อำเภอมายอ และบ้านเจาะกะพ้อใน ตำบลกะรุบี อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี[7][8] ลูกหลานที่สืบสันดานลงมาก็แต่งงานกับคนท้องถิ่นและเข้ารับอิสลาม[3][9] ที่อำเภอกะพ้อมีตระกูลที่สืบมาจากพี่น้องของพี่เณร คือ นามสกุลพระศรี ศรีมาก ซีบะ จันทร์ทอง ศรีทอง ดิเภา และโต๊ะเภา[7][8] สุสานพี่เณรตั้งอยู่ที่บ้านควน หมู่ 2 ตำบลพิเทนในปัจจุบัน[5][10] โดยมีมรดกตกทอดประจำตระกูลที่เกี่ยวกับการคชบาล คือ กระดิ่งช้างเผือกและหอกสองด้ามประจำตระกูลซีบะ ปี่ของตระกูลจันทร์ทอง และเครื่องผูกเท้าช้างทำจากหนังราชสีห์ และอุปกรณ์เกี่ยวกับช้างอื่น ๆ อยู่ที่บ้านพิเทน[7][8]

ปัจจุบันชาวพิเทนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอย่างเดียวกับชาวมลายูในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งก็เพราะทั้งสองกลุ่มนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน จึงรับเอาขนบธรรมเนียมประเพณีมลายูมุสลิมมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น การถือบวชในเดือนรอมฎอน เทศกาลฮารีรายอ การแต่งกาย หรือแม้แต่อาหาร[9] และบางส่วนหันไปใช้ภาษามลายูปัตตานีในชีวิตประจำวันแทนภาษาพิเทนไปแล้ว[11] ยังหลงเหลือการกระทำตามธรรมเนียมโบราณอยู่ในช่วงเก็บข้าวใหม่ในแต่ละปี ชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้มาใส่ใน "เรือนข้าว" หรือยุ้งฉาง โดยนำข้าวมาผูกและทำการไหว้ (คือทำขวัญข้าว) หลังจากนั้นจะนำ "เป็ด" หรือหม้อน้ำเรียกขวัญข้าว ซึ่งเป็นภาชนะทองเหลืองรูปร่างคล้ายเป็ดซึ่งใส่น้ำจนเต็ม นำมาตั้งบนข้าวที่เก็บมาไว้บนเรือนข้าว รอจนน้ำแห้งไปเอง และจะกระทำเช่นนี้เพียงปีละครั้ง[12] ในอดีตชาวพิเทนจะมีกิจกรรมรำลึกถึงพี่เณรที่สุสาน โดยจะมีงานจอระทาให้ชาวพิเทนจุดเทียนเป็นกะทา (รูปโดม) แห่จากบ้านไปยังสุสานพี่เณรในยามกลางคืนเพื่อทำบุญให้ รวมทั้งมีการเข้าทรงและมหรสพการละเล่นต่าง ๆ เช่น สิละหรือมโนราห์ และมีการตัดกิ่งไผ่ยาวสามเมตรและผูกอาหารคาวหวาน ผู้ชนะในการแข่งสิละจะใช้กริชตัดไม้ไผ่ดังกล่าว เด็ก ๆ ที่ล้อมวงชมก็จะเข้าไปแย่งอาหารกันอย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันมิได้จัดพิธีดังกล่าวแล้วเพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม[2][4] นอกจากนี้ยังมีการบนบานพี่เณรเมื่อจะขออะไรหรือลงมือทำสิ่งใด แต่ปัจจุบันได้คลายความเชื่อเรื่องนี้ลงไป[8]

ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นที่ใช้เฉพาะกลุ่มชาวไทยมุสลิม[13] ในตำบลพิเทนเท่านั้น[10][14] ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันนี้ภาษาถิ่นดังกล่าวใกล้สูญหายและไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะชนนิยมใช้ภาษามลายูปัตตานีมากกว่า[2] พ.ศ. 2534 พบว่ามีชาวไทยมุสลิมในตำบลพิเทนบางหมู่บ้านเท่านั้นที่ยังใช้ภาษาถิ่นนี้ ได้แก่ หมู่ 2 (บ้านพิเทน), หมู่ 3 (บ้านป่ามะพร้าว) และหมู่ 4 (บ้านบือจะ) ในช่วงเวลานั้นพบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่มักมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนประชากรที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ยอมพูดภาษาดั้งเดิม หรือพูดได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะไม่ทราบคำศัพท์เดิม จึงนำคำมลายูปัตตานีมาใช้แทน จนคิดว่าภาษามลายูปัตตานีเป็นภาษาของตัวเอง[15] ใน พ.ศ. 2559 เหลือผู้ใช้ภาษาพิเทนน้อยลงตามลำดับ มีเพียงประชากรอายุราว 50 ปีเพียงไม่กี่คนที่สื่อสารภาษาดังกล่าวกับคนรุ่นเดียวกัน หากคนอายุต่ำกว่านี้จะใช้ภาษามลายูปัตตานีและภาษาไทยมาตรฐานในชีวิตประจำวัน และอีกปัจจัยสำคัญคือสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ประชากรรุ่นใหม่อพยพย้ายถิ่นออกจากตำบลพิเทน ส่งผลกระทบให้ภาษาพิเทนมีแนวโน้มสูญหายไปจากประเทศไทย[9]

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาษาถิ่นพิเทนขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทย สาขาภาษา เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556 ประเภทภาษาท้องถิ่น[9]

ลักษณะ[แก้]

ภาษาถิ่นพิเทนนั้นจะมีลักษณะพิเศษคือเป็นภาษาไทยภาคกลางปนถิ่นใต้ มีการใช้คำราชาศัพท์[2][3][4] แต่เรียงคำต่างจากภาษาไทยภาคกลางและใต้[16] และยืมคำมลายูมากถึงร้อยละ 97[17] ดังนั้นผู้ที่จะพูดภาษานี้ได้ต้องเข้าใจทั้งภาษาไทยและมลายูปัตตานี[4] เจริญ สุวรรณรัตน์ (2534) ระบุว่า ภาษาถิ่นพิเทนเป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาไทถิ่นตากใบ[18] ขณะที่ทวีพร จุลวรรณ (2554) พบว่า ภาษาถิ่นพิเทนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาถิ่นตากใบ และภาษาถิ่นสะกอม เมื่อพิจารณาจากระบบเสียงวรรณยุกต์ ระบบเสียงพยัญชนะ และคำศัพท์เฉพาะ[19] ซึ่งภาษาถิ่นพิเทนมีหน่วยเสียงพยัญชนะต้น 22 หน่วยเสียง หน่วยพยัญชนะควบกล้ำ 14 หน่วยเสียง มีเสียงพยัญชนะท้าย 9 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระเดี่ยว 18 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง และมีการแตกตัวสามทาง มีระบบเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างไปจากภาษาไทยถิ่นใต้ ตากใบ และสะกอม[9]

ภาษาถิ่นพิเทนมีลักษณะคือ โครงสร้างของคำพยางค์เดียว สองพยางค์ คำซ้ำ คำซ้อนจะเหมือนภาษาไทยมาตรฐาน แต่ต่างกันคือการลำดับคำไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการโดยนำคำมลายูและคำไทยมารวมกันเพื่อสร้างคำใหม่[16] เช่น กือสาร แปลว่า "ข้าวสาร" และ ปลากือริง แปลว่า "ปลาแห้ง"[10] นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำคำมลายูปัตตานีมาเป็นจำนวนมาก ภาษาถิ่นพิเทนจึงรับอิทธิพลด้านเสียงและคำจากภาษามลายูปัตตานี[16]

ตัวอย่าง[แก้]

พิเทน ตากใบ ไทยถิ่นใต้ คำแปล
กล็อด กล็อด ร่ม ร่ม
ลูกพรวน กือพรวน เหงาะ เงาะ
จอกน่าม จ๊อก, จ๊อกแกว จอก แก้วน้ำ
จอน กือหรอก, แอหรอก หรอก กระรอก
ชาม ชาม ชาม จาน
ซูดู ช่อน ฉ่อน ช้อน
ยามู ชมโผ่, ชุมโผ่, หยื่อมู่ ชมโพ่, หย้ามู้ ฝรั่ง
แตกัด ฮิง หิ้ง หิ้ง
บือจีน โหลกฆฮื่อจี๋น, โหลกบื่อจี๋น ดีปลี, ลูกเผ็ด พริก
เริน เริน เริน บ้าน, เรือน
มิ้ง กวยเตียว ก๋วยเตี๋ยว
เมียแก่ เมียหลวง เมียหลวง เมียหลวง
เมียหนุ่ม เมียน่อย เมียน้อย เมียน้อย
ป๊ะ ผ่อ, บิดด๋า ผ่อ พ่อ
มะ แหม่, มารด๋า แหม่ แม่
ป๊ะแก่ ลูง, ผ่อลูง ลุง ลุง
มะแก่ ปา, แหม่ปา ป้า ป้า
โต๊ะชาย ผ่อแก๋ ผ่อ, ผ่อถ่าว ปู่, ตา
โต๊ะ แหม่แก๋ ย่า ย่า
โต๊ะญิญ แหม่แก๋ แหม่ถ่าว ยาย
อูลัน ผัก พัก ผัก
แถลง แหลง แหลง พูด
สนับเพลา, แหน็บเพลา แหน็บเพลา, แหน็ดเพลา หนับเพลา, กางเก๋ง กางเกง
สะรูหวาลิง เกงลิง เกงลิง กางเกงใน
ลูกตาเมียว องุ่น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ทวีพร จุลวรรณ (2554). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 3. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-24. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 ประพนธ์ เรืองณรงค์. บุหงาปัตตานี คติชนมุสลิมชายแดนภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2554, หน้า 203-207
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 บาราย (7 มิถุนายน 2552). "ตำนานบ้านพิเทน". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  5. 5.0 5.1 การส่งเสริมครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ในโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอทุ่งยางแดง (PDF). สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี. 2555. p. 6. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  6. "ข้อมูลตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี". ไทยตำบลดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-19. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 "อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี วันที่ 28 พ.ค. 2559". กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. 28 พฤษภาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "ประวัติความเป็นมา". องค์การบริหารส่วนตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (2559). ภาษา : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์. p. 55-56. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 "ประวัติความเป็นมา". สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี. 4 ตุลาคม 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-22. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  11. ทวีพร จุลวรรณ (2554). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 134. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  12. "วิถีชาวนาโบราณ จ.ปัตตานี และหมู่บ้านขนมโบราณ จ.นราธิวาส : ซีรีส์วิถีคน". Thai PBS. 5 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  13. "โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด ย้อนรอยโมเดลทุ่งยางแดง". ประชาไท. 1 เมษายน 2558. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  14. "ข้อมูลทั่วไปตำบลพิเทน". โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิเทน. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. เจริญ สุวรรณรัตน์ (2534). การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. p. 121. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  16. 16.0 16.1 16.2 เจริญ สุวรรณรัตน์. "การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. สุภา วัชรสุขุม. "คำยืมภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีในภาษาไทยถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้". ฐานข้อมูลวิจัยชายแดนใต้. สืบค้นเมื่อ 31 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. เจริญ สุวรรณรัตน์ (2534). การศึกษาคำและความหมายในภาษาไทยถิ่นใต้ตำบลพิเทน กิ่งอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. p. 4. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  19. ทวีพร จุลวรรณ (2554). ระบบเสียงภาษาพิเทน ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 130-132. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)