ไตรยางศ์
อักษรไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
รูปพยัญชนะ | |||||||
ก | ข | ฃ | ค | ฅ | ฆ | ง | จ |
ฉ | ช | ซ | ฌ | ญ | ฎ | ฏ | ฐ |
ฑ | ฒ | ณ | ด | ต | ถ | ท | ธ |
น | บ | ป | ผ | ฝ | พ | ฟ | ภ |
ม | ย | ร | ล | ว | ศ | ษ | ส |
ห | ฬ | อ | ฮ | ||||
รูปสระ | |||||||
ะ | –ั | า | –ํ | –ิ | ' | " | |
–ุ | –ู | เ | โ | ใ | ไ | –็ | |
อ | ว | ย | ฤ | ฤๅ | ฦ | ฦๅ | |
รูปวรรณยุกต์ | |||||||
–่ | –้ | –๊ | –๋ | ||||
เครื่องหมายอื่น ๆ | |||||||
–์ | –๎ | –ฺ | |||||
เครื่องหมายวรรคตอน | |||||||
ฯ | ฯลฯ | ๆ | |||||
๏ | ๚ | ๛ | ┼ |
ไตรยางศ์ (มักสะกดผิดเป็น ไตรยางค์) หรือ อักษรสามหมู่ คือ ระบบการจัดหมวดหมู่อักษรไทย (เฉพาะรูปพยัญชนะ) ตามลักษณะการผันวรรณยุกต์ ของพยัญชนะแต่ละหมวด เนื่องจากพยัญชนะไทยเมื่อกำกับด้วยวรรณยุกต์หนึ่งๆแล้วจะมีเสียงวรรณยุกต์ที่แตกต่างกัน การจัดหมวดพยัญชนะทำให้การเรียนภาษาไทยง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า ในชั้นแรกนั้นการแบ่งหมวดหมู่พยัญชนะน่าจะทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการแต่งตำราสอนภาษาไทยแก่นักเรียน
คำว่า ไตรยางศ์ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า ตฺรย (ไตร) ซึ่งแปลว่า สาม รวมกับ อํศ (องศ์) ซึ่งแปลว่า ระดับ ดังนั้น ไตรยางศ์ จึงแปลรวมกันได้ว่า สามระดับ
การจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์
[แก้]ไตรยางศ์มีการจัดหมวดหมู่เพื่อแบ่งพยัญชนะไทยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- อักษรสูง มี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
- อักษรกลาง มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
- อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ
การจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์นั้น มีหลักฐานปรากฏครั้งแรกในหนังสือจินดามณี เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าเป็นผลงานของพระโหราธิบดีได้แต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเรื่องนี้
อักษรคู่
[แก้]ในการจัดหมวดหมู่ไตรยางศ์ อักษรสูงและอักษรต่ำจำนวนหนึ่ง มีลักษณะเสียงอย่างเดียวกันแต่ในพื้นเสียงต่างกัน นั่นคือ พวกหนึ่งมีพื้นเสียงสูง อีกพวกหนึ่งมีพื้นเสียงต่ำ สามารถจัดเป็นคู่ได้ 7 คู่ เรียกว่า "อักษรคู่"
อักษรสูง | อักษรต่ำ |
---|---|
ข ฃ | ค ฅ ฆ |
ฉ | ช ฌ |
ฐ ถ | ฑ ฒ ท ธ |
ผ | พ ภ |
ฝ | ฟ |
ศ ษ ส | ซ |
ห | ฮ |
อักษรคู่เหล่านี้ สามารถนำมาใช้ร่วมกันเพื่อผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบ 5 เสียง เช่นเดียวกับอักษรกลาง เช่น
- คา - ข่า - ข้า/ค่า - ค้า - ขา
- ฮา - ห่า - ห้า/ฮ่า - ฮ้า - หา
สำหรับอักษรต่ำที่เหลือ คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ ซึ่งจะเรียกว่า อักษรเดี่ยว จะใช้ ห เป็นอักษรนำเพื่อให้สามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้ครบ เช่น
- นา - หน่า - หน้า/น่า - น้า - หนา
- วา - หว่า - หว้า/ว่า - ว้า - หวา
หมายเหตุ ปัจจุบันไม่มีคำศัพท์คำใดที่ใช้ หณ และ หฬ เป็นพยัญชนะต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- พระยาอุปกิตศิลปสาร. หลักภาษาไทย. กรุงเทพมหานคร : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, 2538. ISBN 974-08-2115-4