สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
Office of the Cane and Sugar Board
OfCaS.png
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง24 ธันวาคม 2511
ในนาม สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย
หน่วยงานก่อนหน้า
  • สำนักงานกองทุนสงเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย
    (2504 - 2509)
  • ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย
    (2509 - 2511)
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่75/6 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
งบประมาณประจำปี61,233,600 ล้านบาท (พ.ศ. 2561)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี [2], เลขาธิการ
  • สหวัฒน์ โสภา, รองเลขาธิการ
  • นรุณ สุขสมาน, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เว็บไซต์http://www.ocsb.go.th/

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (อังกฤษ: Office of the Cane and Sugar Board) เป็นหน่วยงานส่วนราชการเทียบเท่ากรม สังกัด กระทรวงอุตสาหกรรม[3] โดยมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอ้อย และ น้ำตาลทราย ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และ วางแผนการการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึง วิเคราะห์ วิจัย เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย[4]

ประวัติ[แก้]

เมื่อปี 2506 สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังไม่มีการควบคุมที่ดี ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จนไม่สามารถที่จะส่งออกน้ำตาลไปจำหน่ายต่างประเทศตามราคาตลาดโลกได้ จึงได้เสนอหลักการแก้ไขการปัญหาระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาคณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นขอบด้วยจึงได้ตรา พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508[5] โดยมอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารสภาฯ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2509 โดยมีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมกิจการไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยโอนย้าย หน้าที่และทรัพย์สินของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย มาอยู่ในความรับผิดชอบ[6]

แต่ว่า เนื่องด้วยฐานะของหน่วยงาน ในเวลานั้นยังอยู่ในการวางแผน ทำให้ยังไม่สามารถเข้ามาดูแลได้อย่างเต็มที่ จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติน้ำตาลทราย พ.ศ. 2511[7]ขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2511 โดยมีสาระสำคัญคือการสนับสนุนการดำเนินงาน ศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย โดยการจัดตั้งเป็น สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม โดย มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริมกิจการไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และโอนภาระและทรัพย์สิน โครงการศูนย์ส่งเสริมน้ำตาลทราย ในงบประมาณของ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นของหน่วยงานใหม่ โดยที่ในขณะนั้น ยังไม่มีฐานะเป็นส่วนราชการตาม พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ต่อมาจึงได้รับการปรับปรุงให้เป็น ส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากองอยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง[6]

อำนาจหน้าที่[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีอำนาจหน้าที่ ที่แบ่งตาม กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 ดังนี้[4]:

  1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การใช้และการจำหน่ายภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายในการชี้นำทิศทางส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย
  3. จัดทำแผนการปลูกและผลิตอ้อยเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลทราย อุตสาหกรรมอื่น ๆ และแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อใช้บริโภคในราชอาณาจักรและส่งออก เสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
  4. จดทะเบียนชาวไร่อ้อย และตรวจสอบพื้นที่ปลูกอ้อย รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติสถาบันชาวไร่อ้อย
  5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง
  6. เสริมสร้างมาตรฐานของห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพอ้อยและผลิตภัณฑ์ และสอบเทียบมาตรฐานเครื่องมือและเครื่องวัดต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบแบ่งปันผลประโยชน์และความน่าเชื่อถือในคุณภาพน้ำตาลทราย
  7. ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนภาวการณ์ตลาดของน้ำตาลทรายทั้งในและนอกราชอาณาจักร
  8. ประสานความร่วมมือกับหน่ายงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
  9. ปฏิบัติงานอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดตั้งสถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย โดยมีสถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อย ทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่[4]

  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยอ่างทอง (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 1)
  • สถานีทดลองขยายพันธุ์อ้อยพิจิตร (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 2)
  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยชัยภูมิ (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาค 4)
  • สถานีทดลองและขยายพันธุ์อ้อยนครราชสีมา (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาค 4)

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561". เล่ม 134 ตอนที่ 101ก หน้า 7 วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560.
  2. อัปเดตมติครม. 20 ธันวาคมคมแต่งตั้งโยกย้ายครบทุกตำแหน่ง
  3. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 99ก วันที่ 2 ตุลาคม 2545
  4. 4.0 4.1 4.2 กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
  5. พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 35 วันที่ 30 เมษายน 2508
  6. 6.0 6.1 เกี่ยวกับเรา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
  7. พระราชบัญญัติน้ำตาลทราย พ.ศ. 2511 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 84 ตอนที่ 119 วันที่ 24 ธันวาคม 2511

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]