รัตนพล ส.วรพิน
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
รัตนพล ส.วรพิน | |
---|---|
เกิด | อนุชา โพธิ์ทอง ปรีชา เจริญธาดา 6 มิถุนายน พ.ศ. 2517 |
รัตนพล ส.วรพิน อดีตแชมป์โลกของสหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ในรุ่นมินิฟลายเวท (105 ปอนด์) 2สมัย
วัยเด็กและชีวิตเบื้องต้น
[แก้]รัตนพลมีชื่อจริงแต่เดิมว่า อนุชา โพธิ์ทอง เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ที่ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของนายสมใจ และนางสมจิต โพธิ์ทอง ครอบครัวของรัตนพลมีอาชีพทำไร่ ฐานะทางบ้านยากจนมาก แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินมากถึง 50 กว่าไร่ แต่เป็นที่บนเขาไม่สามารถเพาะปลูกหรือใช้ประโยชน์อะไรได้ รัตนพลกว่าจะได้เข้าเรียนหนังสือก็อายุเข้า 7 ขวบแล้วและจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ป.4) เท่านั้น เมื่อตอนเด็กเคยเก็บเงินเพื่อที่จะกินก๋วยเตี๋ยวเพราะเกิดมาไม่เคยกินมาก่อน โดยแบ่งกันกิน 2 คนกับน้องชาย คือ รัตนชัย ส.วรพิน เพียงชามเดียว จึงต้องชกมวยด้วยความยากจน ประกอบกับที่เป็นเด็กที่เก่งเรื่องการเล่นกีฬาอยู่แล้ว โดยเริ่มจากมวยไทยในงานวันเด็กของโรงเรียน ใช้ชื่อว่า "ไลออน ลูกน้ำใจ" รวมถึงเคยใช้ชื่อที่เป็นการประชดชีวิตตนเองด้วยว่า "ทนเอาหน่อย ต่อยใช้หนี้" จากนั้นจึงเข้ามาสู่ค่ายมวย ได้เริ่มฝึกฝนมวยอย่างจริงจัง แรก ๆ ได้ตระเวนชกอยู่ที่แถวบ้าน และย้ายไปอยู่ค่ายมวยที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะได้เข้ามาอยู่ในสังกัดค่าย "ส.วรพิน" ของนางวรพิน รังษีกุลพิพัฒน์ หรือ เจ๊วรพิน ที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร จากการแนะนำของ หงษ์หยก ส.วรพิน นักมวยรุ่นพี่ที่สังกัดค่าย ส.วรพิน โดยทำการซ้อมเพียง 9 วันเท่านั้น แล้วขึ้นชกเลย โดยชื่อรัตนพลนั้นแท้ที่จริงแล้ว เป็นชื่อนักมวยคนอื่นที่ทางรัตนพลในขณะนั้นได้เป็นคู่ซ้อม และชกเอารัตนพลตัวจริงมีแผลแตก ไม่สามารถขึ้นชกได้ จึงได้สวมชื่อเป็นรัตนพล ส.วรพิน ขึ้นชกแทน และสามารถเอาชนะคะแนนไปได้ และเมื่อได้แก้มือโดยมีเดิมพันเป็นเงินรางวัลสูง ก็ยังสามารถเอาชนะไปได้อีก
จากนั้นเมื่อได้ชกมวยไทยในเวทีกรุงเทพมหานครมาพอสมควรแล้ว ก็หันมาชกมวยสากล ที่เวทีราชดำเนิน จากเหตุที่นักมวยขาด โดยขึ้นชกครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2533 ผลปรากฏออกมาก็เป็นฝ่ายชนะน็อก อนุสิทธิ์ ช.เกมชาติ ยกแรก ครั้งต่อมา ชกเสมอกับอินทรีทอง ส. ธนิกุล แล้วมาแก้มือชนะน็อกอินทรีทองไปได้ในยกที่ 2 จากนั้น ชกชนะมาตลอด มีแพ้ให้กับอัศวิน ศิษย์หลักเมือง เพียงคนเดียว จึงได้รับการสนับสนุนโดย พ.อ. บรรจุ อ่องแสงคุณ ให้ขึ้นชิงแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล (แชมป์เงา) ในรุ่น 105 ปอนด์ของ IBF และเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ และได้ชกป้องกันตำแหน่งไว้ได้ครั้งหนึ่ง
แชมป์โลกคนที่ 17
[แก้]เมื่อ ฟ้าลั่น ลูกมิ่งขวัญ เสียแชมป์โลกในรุ่นและสถาบันเดียวกันนี้ไปในกลางปี พ.ศ. 2535 ด้วยเรื่องหัวหน้าคณะของฟ้าลั่นขัดใจเรื่องผลประโยชน์กับผู้จัดการ รัตนพลจึงได้มีโอกาสชิงแชมป์แทนในปลายปี โดยมี พ.อ.(พิเศษ) บรรจุ อ่องแสงคุณ เป็นผู้จัดการ ซึ่งก็สามารถทำได้โดยชนะคะแนน แมนนี่ เมลชอร์ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยขณะนั้นรัตนพลมีอายุเพียง 18 ปี 6 เดือน 5 วัน เท่านั้น จากนั้นรัตนพลก็สามารถป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากชกป้องกันตำแหน่งภายในประเทศตลอด แม้รูปร่างจะแลดูใหญ่เกินนักมวยรุ่นเดียวกันในพิกัด แต่ก็สามารถทำน้ำหนักผ่านมาได้ตลอด โดยเป็นที่รับรู้ทั่วกันของสื่อมวลชนและแฟนมวยว่า เป็นเพราะทางกรรมการจัดการแข่งขันแอบตั้งตาชั่งให้หย่อนมาตลอด จนกระทั่งการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 13 ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2539 รัตนพลต้องเป็นฝ่ายตกตาชั่งเสียแชมป์โลก เนื่องจากไม่สามารถทำน้ำหนักได้ จึงทำสถิติป้องกันตำแหน่งไว้ได้เพียงแค่ 12 ครั้ง แต่ในปลายปีเดียวกันก็สามารถกลับมาเป็นแชมป์โลกได้อีกครั้ง
ในการเป็นแชมป์โลกในสมัยที่ 2 รัตนพลสามารถป้องกันตำแหน่งไว้ได้ทั้งหมด 6 ครั้ง ก่อนที่จะเสียแชมป์ในปลายปี พ.ศ. 2540 ไปอย่างไม่มีใครคาดคิด เนื่องจากเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอ โซลานี่ เปเตโล นักมวยโนเนมชาวแอฟริกาใต้ไปในยกที่ 5 ณ เวทีมวยชั่วคราว สระบัวแหลมสมิหลา สงขลา
รัตนพล เป็นนักมวยรุ่นเล็กที่รูปร่างใหญ่ หมัดหนัก แม้จะไม่มีชั้นเชิงมากนัก แต่มีช่วงชกยาว จึงชอบค้ำต่อย จึงได้รับฉายาจากแฟนมวยว่า "เขาทรายน้อย" เพราะถูกมองว่าชกในลักษณะคล้ายกับเขาทราย แกแล็กซี่[1] แต่มีชื่อที่เรียกกันเล่น ๆ จนติดปากว่า "ไอ้โบ้" โดยย่อมาจากแรมโบ้ ซึ่งเป็นฉายาเมื่อสมัยยังชกมวยไทย รัตนพลมีเอกลักษณ์ประจำตัว เมื่อเพลงชาติบรรเลงจบก่อนการชกป้องกันตำแหน่งครั้งใด จะตะโกนว่า "ไชโย ๆ ย่าโมออกศึก" ทุกครั้ง
ตกอับหลังเสียแชมป์
[แก้]หลังจากนั้น รัตนพลก็พยายามชกมวยเพื่อที่จะกลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง แต่ก็มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กับทางหัวหน้าคณะและผู้จัดการคือ นางวรพินมาโดยตลอด เนื่องจากนางวรพินถือสิทธิ์เป็นผู้จัดการไปด้วยหลังจาก พ.อ.(พิเศษ) บรรจุ อ่องแสงคุณ เสียชีวิตไปหลังจากรัตนพลได้แชมป์โลกในสมัยแรกไม่นาน โดยรัตนพลเคยหนีออกจากค่ายหลายครั้ง รวมทั้งชวนน้องชายคือ รัตนชัย หนีไปด้วย และได้พยายามย้ายสังกัดไปเป็นอิสระหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ได้มีการขอขมาและเคลียร์เรื่องราวกันในที่สุด
รัตนพลมีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2541โดยขยับขึ้นไปชกในรุ่นไลท์ฟลายเวท ได้ชิงแชมป์โลกรุ่นนี้ของ IBF ที่ว่างเมื่อ 18 ธันวาคม แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้คะแนน วิล กริกส์บี นักมวยชาวอเมริกัน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีถัดมา ได้รับการสนับสนุนให้ชิงแชมป์ไลต์ฟลายเวต PABA ที่ว่าง แต่แพ้น็อก ยูรา ดิมาร์ นักมวยชาวมองโกเลีย ในปี พ.ศ. 2542 ก่อนที่จะได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอยกที่ 3 ริการ์โด โลเปซ ไปอย่างสู้ไม่ได้ จึงแขวนนวมไป
หลังจากแขวนนวม ฐานะของรัตนพลลำบากมาก ทรัพย์สินที่ได้จากการชกมวยมาทั้งหมด ก็มีเหลือไม่เท่าไหร่ ต้องไปขายบะหมี่เกี๊ยวรถเข็น โดยมีภรรยาเป็นผู้ช่วย ที่ย่านบางโพ และได้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลเป็น ปรีชา เจริญธาดา สื่อมวลชนได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตส่วนนี้ของรัตนพลจนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปของสังคมอยู่ช่วงหนึ่ง รัตนพลกลับมาชกมวยอีกครั้ง เมื่อ 5 สิงหาคม 2548 ในสังกัดของก่อเกียรติกรุ๊ป ของนายก่อเกียรติ พณิชยารมย์ ได้เป็นเพียงแค่แชมป์ PABA รุ่นฟลายเวทจนปี 2551 ก็เสียแชมป์ แพ้คะแนน ริชาร์ด การ์เซีย ที่ นครราชสีมา แต่เมื่อรัตนพลไปชกที่ญี่ปุ่นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2552 ชนะน็อก โนริยูกิ โคมัตสึ อดีตผู้ท้าชิงแชมป์โลกของพงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ ยกแรก จึงได้ชิงแชมป์ PABA รุ่นเดิมอีกครั้ง แต่พอป้องกันครั้งแรก ก็แพ้ เรย์ มิเกรโน เสียแชมป์ไปเมื่อ 10 กรกฎาคม 2552 จากนั้น รัตนพลจึงแขวนนวมไปโดยเด็ดขาด[1]
ในปัจจุบัน เรื่องราวของรัตนพลได้ถูกนำไปผลิตเป็นละครสั้นในโครงการของ วัดพระธรรมกาย ในเรื่อง "แชมป์ชีวิต" และรัตนพลเองได้นำดีวีดีละครเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นชีวประวัติของตัวเอง นำมาจำหน่ายโดยการตระเวนขายตามร้านอาหารต่าง ๆ [2]
บทบาทด้านการเมือง
[แก้]ในเหตุการณ์การขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น รัตนพลเป็นบุคคลฝ่ายที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร โดยในเช้าวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 ที่ทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคลื่อนย้ายที่ชุมนุมจากมณฑลพิธีท้องสนามหลวงไปที่ทำเนียบรัฐบาล รัตนพลได้สวมหมวกทรงสูงที่ทำเอง เขียนข้อความสนับสนุนทักษิณ มาวิ่งไปมาบริเวณที่ชุมนุมเพื่อเรียกความสนใจด้วย และต่อมาได้เข้าร่วมชุมนุมกับทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. อีกหลายต่อหลายครั้ง[3]
เกียรติประวัติ
[แก้]- แชมป์เงา IBF รุ่นมินิฟลายเวท (2535)
- ชิง 14 มิถุนายน 2535 ชนะน็อก ยก 4 ฮุสนี เรย์ ( อินโดนีเซีย) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 6 กันยายน 2535 ชนะน็อก ยก 4 อัล ทาราโซน่า ( ฟิลิปปินส์) ที่ ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
- พฤศจิกายน 2535 สละแชมป์
- แชมป์โลก IBF รุ่นมินิฟลายเวท สมัยที่ 1 (2535 - 2539)
- ชิง 10 ธันวาคม 2535 ชนะคะแนน แมนนี่ เมลชอร์ ( ฟิลิปปินส์) ที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 14 มีนาคม 2536 ชนะน็อก ยก 7 นีโก โทมัส ( อินโดนีเซีย) ที่ กองทัพภาคที่ 2 (สนามกีฬาสุรนารี) จังหวัดนครราชสีมา
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 27 มิถุนายน 2536 ชนะทีเคโอ ยก 7 อลา วิลล่ามอร์ ( ฟิลิปปินส์) ที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 26 กันยายน 2536 ชนะทีเคโอ ยก 4 โดมิงกุส ซิวาเลตเต้ ( อินโดนีเซีย) ที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 10 ธันวาคม 2536 ชนะทีเคโอ ยก 2 เฟลิกซ์ นารังโฮ ( โคลอมเบีย) ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 27 กุมภาพันธ์ 2537 ชนะคะแนน รอนนี่ มากราโม ( ฟิลิปปินส์) ที่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6, 14 พฤษภาคม 2537 ชนะทีเคโอ ยก 6 โรเจอร์ เอสปาโนรา ( ฟิลิปปินส์) ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดสระบุรี จังหวัดสระบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 7, 20 สิงหาคม 2537 ชนะทีเคโอ ยก 4 มาร์เซลิโน โบลิบาร์ ( เวเนซุเอลา) ที่ จังหวัดบุรีรัมย์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 8, 12 พฤศจิกายน 2537 ชนะทีเคโอ ยก 3 การ์โลส อัลเบร์โต โรดริเกซ ( เวเนซุเอลา) ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 9, 25 กุมภาพันธ์ 2538 ชนะทีเคโอ ยก 3 เจอรี่ ปาฮายาไฮ ( ฟิลิปปินส์) ที่ เซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 10, 20 พฤษภาคม 2538 ชนะทีเคโอ ยก 2 โอสการ์ โฟลเรส ( โคลอมเบีย) ที่ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 11, 29 ตุลาคม 2538 ชนะน็อก ยก 2 แจ๊ค รัสเซลล์ ( ออสเตรเลีย) ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 12, 30 ธันวาคม 2538 ชนะทีเคโอ ยก 6 โอสบัลโด เกร์เรโร ( เม็กซิโก) ที่ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่
- เสียแชมป์, 15 มีนาคม 2539 (ถูกปลดเพราะชั่งน้ำหนักไม่ผ่าน) ชนะทีเคโอ ยก 11 ลี ซันโดบัล ( นิการากัว) ที่ จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้แชมป์ว่าง
- แชมป์โลก IBF รุ่นมินิฟลายเวท สมัยที่ 2 (2539 - 2540)
- ชิง 18 พฤษภาคม 2539 ชนะคะแนน จูน อาร์ลอส ( ฟิลิปปินส์) ที่ สนามกีฬากลางเทศบาลเมืองเบตง จังหวัดยะลา
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 13 กรกฎาคม 2539 ชนะน็อก ยก 3 จูน ออร์ฮาลิซา ( ฟิลิปปินส์) ที่ โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 28 กันยายน 2539 ชนะน็อก ยก 4 โอสการ์ อันดราเด ( เม็กซิโก) ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 24 พฤศจิกายน 2539 ชนะน็อก ยก 2 กุสตาโบ เบรา ( เวเนซุเอลา) ที่ วิทยาลัยพลศึกษาอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 22 มีนาคม 2540 ชนะทีเคโอ ยก 4 ลุยส์ โดเรีย ( โคลอมเบีย) ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดสระบุรี จังหวัดสระบุรี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 14 มิถุนายน 2540 ชนะคะแนน ฮวน เอร์เรรา ( โคลอมเบีย) ที่ โรงเรียนบ้านไร่ (ทองคูณคุรุราษฎร์สามัคคี) จังหวัดนครราชสีมา
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6, 30 สิงหาคม 2540 ชนะทีเคโอ ยก 2 แวลิงตง วีเซงชี ( บราซิล) ที่ โรงยิมเนเซียมองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองคาย
- เสียแชมป์ 27 ธันวาคม 2540 แพ้ทีเคโอ ยก 4 โซลานี่ เปเตโล ( แอฟริกาใต้) ที่ สระบัว แหลมสมิหลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
- แชมป์ PABA รุ่นฟลายเวท (2550 - 2551)
- ชิง 16 พฤศจิกายน 2550 ชนะน็อก อัลวี่ อันฮับซี่ ( อินโดนีเซีย) ยก 1 ที่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 14 กุมภาพันธ์ 2551 ชนะทีเคโอ ยก 2 ปิงปิง เตปูรา ( ฟิลิปปินส์) ที่ ตลาดมีนบุรี กรุงเทพมหานคร
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 15 เมษายน 2551 ชนะน็อก ยก 3 ซัม บูร์ดัม ( อินโดนีเซีย) ที่ โรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 23 พฤษภาคม 2551 ชนะน็อก ยก 2 จูฮารุม ซีลาบัน ( อินโดนีเซีย) ที่ จังหวัดกาฬสินธุ์
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 16 กรกฎาคม 2551 ชนะน็อกยกที่ 1 ฟาง หชวย ( จีน) ที่ ศาลจังหวัดพัทลุง จังหวัดพัทลุง
- เสียแชมป์ 3 ตุลาคม 2551 แพ้คะแนน ริชาร์ด กราเซีย ( ฟิลิปปินส์) ที่ จังหวัดนครราชสีมา
- แชมป์ PABA รุ่นฟลายเวท (2552)
- ชิง 7 พฤษภาคม 2552 ชนะน็อกยก 3 วิโด เปเรซ ( อินโดนีเซีย) ที่ จังหวัดพัทลุง
- เสียแชมป์ 10 กรกฎาคม 2552 แพ้น็อก ยก 5 เรย์ มิเกย์โน่ ( ฟิลิปปินส์) ที่ จังหวัดภูเก็ต
- เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
- ชิงแชมป์โลก IBF รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท 18 ธันวาคม 2541 แพ้คะแนน วิล กริกส์บี ( สหรัฐ) ที่ วอร์ เมมโมเรียล ออดิทอเรียม รัฐฟลอริดา สหรัฐ
- ชิงแชมป์โลก IBF รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท 2 ธันวาคม 2543 แพ้ทีเคโอ ยก 3 ริการ์โด โลเปซ ( เม็กซิโก) ที่ แมนดะเลย์เบย์ ลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐ
- ชิงแชมป์ PABA รุ่นไลท์ฟลายเวท เมื่อ 5 พ.ย. 2542 แพ้น็อก ยก 2 ยูรา ดิมาร์ ( มองโกเลีย) ที่ จังหวัดนครสวรรค์
อ้างอิง
[แก้]สถิติการชก boxrec.com (อังกฤษ)
- ↑ 1.0 1.1 นิตยสารคนเด็ดฉบับพิเศษ 22 แชมป์โลกชาวไทย โดย สุพจน์ ชีรานนท์
- ↑ รัตนพล ส.วรพิน อดีตแชมป์โลก พลิกชีวิตเร่ขายดีวีดีประวัติเลี้ยงชีพ จากไทยรัฐ
- ↑ เวทีนปช.ปากน้ำยืนหยัด ชุมนุมจนกว่า9พธม.โดนจับ
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2517
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักมวยไทยชาวไทย
- นักมวยสากลชาวไทย
- บุคคลในวงการมวยไทย
- นักมวยสากลชาวไทยรุ่นมินิมัมเวท
- นักมวยสากลชาวไทยรุ่นไลท์ฟลายเวท
- นักมวยสากลชาวไทยรุ่นฟลายเวท
- แชมป์โลก IBF
- แชมป์เงา IBF
- แชมป์ PABA
- บุคคลจากอำเภอด่านขุนทด
- นักมวยจากจังหวัดนครราชสีมา
- แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
- นักมวยสากลชาวไทยจากค่ายมวยก่อเกียรติบ็อกซิ่งโปรโมชั่น