ข้ามไปเนื้อหา

เขาค้อ แกแล็คซี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขาค้อ แกแล็คซี่
เกิดวิโรจน์ แสนคำ
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 (65 ปี)

เขาค้อ แกแล็คซี่ อดีตแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท (118 ปอนด์) ของสมาคมมวยโลก หรือ WBA เป็นคู่แฝดกับเขาทราย แกแล็คซี่

วัยเด็ก

[แก้]

เขาค้อมีชื่อจริงว่า วิโรจน์ แสนคำ (เดิมชื่อ สุโรจน์ แสนคำ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พีระชัย แสนคำ ชื่อเล่น โรจน์) เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ที่บ้านเฉลียงลับ ตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเขาค้อคลอดทีหลังเขาทราย แต่ความเชื่อของคนต่างจังหวัด แฝดที่คลอดทีหลังจะถือเป็นพี่ เพราะเชื่อว่าพี่จะดันให้น้องคลอดออกมาก่อน เขาค้อ จึงถือเป็นพี่ของเขาทรายไปด้วยความเชื่อนี้

ทั้งเขาทราย และเขาค้อ เป็นบุตรของนายขัน และนางคำ แสนคำ มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน โดยมีเขาค้อเป็นคนโต เขาค้อเรียนหนังสือพร้อมกับเขาทราย และจบการศึกษาที่โรงเรียนเทคนิคเพชรบูรณ์เหมือนกัน

ทั้งเขาทราย และเขาค้อ ชอบเล่นชกมวยมาตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อของทั้งคู่จึงซื้อนวมอันเล็ก ๆ ให้ลูกชกกันเล่น ๆ ตามประสาเด็ก ต่อมาเมื่อได้พบกับครูมวยและเทรนเนอร์คนแรก คือ ปราการ วรศิริ และมานะ เหลาประดิษฐ์ จึงได้ฝึกมวยอย่างเป็นจริงจัง

ชกมวยไทย

[แก้]

เขาค้อ ใช้ชื่อในการชกมวยไทยว่า "เด่นจ๋า เมืองศรีเทพ" โดยสอดคล้องกับเขาทราย คือ "ดาวเด่น เมืองศรีเทพ" ทั้งคู่ได้ตระเวนชกไปทั่วจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียง โดยเขาค้อขึ้นชกมวยไทยก่อนเขาทราย และเคยปลอมตัวชกแทนเขาทรายด้วย[1] จนกระทั่งมาพอกับ "แชแม้" นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ จึงได้รับทั้งคู่มาอุปการะให้ชกที่กรุงเทพฯ

ชกมวยสากล

[แก้]

การชกมวยสากลอาชีพของเขาค้อ เกิดขึ้นหลังจากเขาทรายได้เป็นแชมป์โลกแล้ว ก่อนหน้านั้นเขาค้อทำหน้าที่เป็นคู่ซ้อมลงนวมให้เขาทราย เมื่อเขาทรายประสบความสำเร็จได้เป็นแชมป์โลกแล้ว เขาค้อจึงรับการผลักดันให้ชกมวยสากลอาชีพบ้าง เขาค้อก็ชกได้ดี ชนะนักมวยฝีมือดีหลายต่อหลายราย จนได้แชมป์แบนตั้มเวทของเวทีมวยราชดำเนิน ต่อมาจึงได้ชกกับนักมวยชาวต่างชาติ และมีชื่อเข้าอันดับโลก

แชมป์โลกคนที่ 12

[แก้]

เขาค้อ แกแล็คซี่ ชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับ วิลเฟรโด บัซเกซ นักมวยชาวเปอร์โตริโก้ โดยสามารถเอาชนะคะแนนไปได้ ชัยชนะครั้งนี้ของเขาค้อไม่ใช่เพียงทำให้เขากลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 12 ของไทยเท่านั้น ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการมวยไทยด้วย คือ เป็นนักมวยไทยรายแรกที่ได้แชมป์โลกในรุ่นแบนตัมเวท เพราะก่อนหน้านี้ มีนักมวยไทยขึ้นชิงแชมป์ในรุ่นมาแล้วถึง 6 คน แต่ไม่มีใครประสบความสำเร็จเลยแม้แต่คนเดียว และเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการมวยโลกด้วย คือ เป็นคู่แฝดคู่แรกที่ครองแชมป์โลกในระยะเวลาเดียวกัน

แต่ภายหลังที่ได้แชมป์โลกแล้ว เขาค้อไม่สามารถที่จะป้องกันตำแหน่งไว้ได้เลยแม้สักครั้งเดียว โดยป้องกันตำแหน่งครั้งแรกก็แพ้แตก "ไอ้ผมม้า" มุน ซ็อง-กิล นักมวยเกาหลีใต้ ถึงโซล ประเทศของผู้ท้าชิง และเมื่อได้โอกาสแก้มือ แม้สามารถเอาชนะไปได้ ได้แชมป์โลกกลับคืน เมื่อต้องป้องกันตำแหน่งครั้งแรก ในสมัยที่ 2 แพ้ทีเคโอ หลุยส์ ซีโต้ เอสปิโนซา นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ไปในยกแรก แบบไม่น่าเชื่อ เพราะการชกยังไม่ทันได้เริ่มขึ้นเท่าไหร่ เขาค้อ จู่ ๆ ก็ล้มลงบนเวทีเสียเฉย ๆ โดยไม่ได้ถูกหมัดของคู่ชก และกรรมการก็ได้โบกมือยุติการชกทันที ด้วยเวลาเพียง 2.13 นาทีของยกแรกเท่านั้น

การล้มลงโดยไม่ทราบสาเหตุของเขาค้อครั้งนี้ เรียกกันว่า "โรควูบ" ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการล้มลงแบบหมดสติโดยที่เจ้าตัวไม่รู้สึกตัว หัวพาดเชือกกั้นเวที ตาค้าง ขากรรไกรแข็ง บ้างก็เชื่อว่า เขาค้อโดนของเล่นงาน

อนึ่ง หลังจากที่เขาค้อได้ครองแชมป์โลกสมัยแรกแล้ว ทางรายการตามไปดูทางช่อง 9 ได้จัดมวยคู่พิเศษตามคำเรียกร้องของผู้ชมรายการ คือ จัดชกระหว่าง เขาทราย และ เขาค้อ ที่เวทีราชดำเนิน โดยให้ทั้งคู่ชกกันจริง ๆ กำหนด 3 ยก เพื่อที่จะหาว่าใครเก่งกว่ากัน ผลการชกปรากฏว่า เขาทรายเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปในที่สุด

แขวนนวม

[แก้]

หลังจากเสียแชมป์โลกในครั้งนี้ไปแล้ว ราว 2 เดือน เขาค้อได้นั่งรถเบนซ์ที่เขาทรายเป็นคนขับ เพื่อที่จะกลับบ้านที่เพชรบูรณ์ หลังจากการไปโชว์ตัวด้วยกัน เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ เขาค้อเจ็บหนักต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียูนานถึง 21 วัน และทำให้เขาค้อมีรอยแผลเป็นที่กรามมาจนถึงทุกวันนี้[1] ขณะที่เขาทราย คู่แฝดที่นั่งไปด้วยกัน บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสามารถกลับมาชกมวยได้ในเวลาไม่นาน

เขาค้อ แกแล็คซี่ จึงต้องแขวนนวมไปโดยปริยายจากเหตุนี้ แต่ก็ยังคงช่วยเขาทรายเป็นคู่ซ้อมอยู่เหมือนเดิม และเมื่อเขาทรายได้แขวนนวมแล้ว เขาค้อก็เป็นผู้ดูแลกิจการต่าง ๆ ที่เขาทรายสร้างไว้ เช่น โต๊ะสนุกเกอร์ เป็นต้น

อีกทั้งยังได้แสดงภาพยนตร์ต้นทุนต่ำเรื่อง ข้าชื่อ..มหิงสา โดยรับบทเป็นตัวเอกด้วย[2]

เขาค้อ เคยทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้แก่ แซมซั่น ส.ศิริพร แชมป์โลกหญิงคนแรกของไทย และเคยมีกิจการส่วนตัว คือ ผลิตและขายหลังคารถกระบะ รวมถึงเคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่สันทนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงเคยทำงานในโรงรับจำนำด้วย ปัจจุบันมีกิจการร้านลาบอยู่ย่านคลองตัน[3]

สถิติการชกของเขาค้อ แกแล็คซี่

[แก้]
  • ชกชิงแชมป์ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 9 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ชนะน็อกยก 3 ขวัญณรงค์ สวัสดิ์วารี ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 30 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ชนะน็อกยก 3 เกียรติชัย เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ชนะคะแนน รักชัย เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 8 มกราคม พ.ศ. 2529 ชนะน็อกยก 4 มันส์ ส.จิตรพัฒนา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ชนะน็อกยก 2 พันชัย เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 26 มีนาคม พ.ศ. 2529 ชนะคะแนน นาคราช เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 11 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ชนะน็อกยก 5 รักชัย เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ชิงแชมป์แบนตั้มเวท เวทีราชดำเนิน ชนะน็อกยก 5 กวางทองน้อย ศิษย์อำนวย ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 3 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ชนะน็อกยก 5 นาคราช เกียรติสนธยา ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 28 กันยายน พ.ศ. 2529 ชนะน็อกยก 5 สิงห์น้อย สิงห์กรุงธน ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
  • ชกอุ่นเครื่อง และ ชกนอกรอบ
    • 14 มกราคม พ.ศ. 2530 ชนะคะแนน 10 ยก เคนอิจิ โอซาก้า (ธงของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่น) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 5 เมษายน พ.ศ. 2530 ชนะคะแนน 10 ยก ชอง ยอง มัน (ธงของประเทศเกาหลีใต้ เกาหลีใต้) ที่ เวทีมวยพัทยา-ชลบุรี
    • 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ชนะน็อกไม่ทราบยก เบน คาบายัค (ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 25 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ชนะน็อกยก 2 โทนี่ พรูอินท์ ( สหรัฐ) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 6 กันยายน พ.ศ. 2530 ชนะน็อกยก 3 รัสเซลล์ พินน์ (ธงของประเทศออสเตรเลีย ออสเตรเลีย) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 12 ตุลาคม พ.ศ. 2530 ชนะน็อกยก 4 คอนสแตนติโน ดังกลา (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ชนะน็อกยก 2 ดู บ็อก ชา (ธงของประเทศเกาหลีใต้ เกาหลีใต้) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 12 กันยายน พ.ศ. 2531 ชนะน็อกยก 3 จอห์น แม็คเคนน่า (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ชนะน็อกยก 8 จอห์น โรดิเก้ (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 15 มกราคม พ.ศ. 2532 ชนะน็อกยก 3 แช ฮวาน ดุ๊ก (เกาหลีใต้) ที่ เวทีมวยชั่วคราว ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ
    • 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ชนะน็อกยก 3 คอร์นิชิโอ โอแนน (ฟิลิปปินส์) ที่ เวทีมวยราชดำเนิน
    • 24 เมษายน พ.ศ. 2532 ชนะน็อกยก 4 สปิคลี่ คูดิชิ (ญี่ปุ่น) ที่เวทีมวยราชดำเนิน
  • แชมป์ WBA รุ่นแบนตั้มเวท

รวมสถิติการชกทั้งหมด 26 ครั้ง ชนะ 24 ครั้ง แพ้ 2 ครั้ง (ชนะน็อก 18 ครั้ง)

ผลงาน

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี พ.ศ. เรื่อง ออกอากาศ รับบทเป็น หมายเหตุ
2547 ลูกทุ่งหารสอง ช่อง 3
2553 สืบสวนป่วนรัก ช่อง 3 จ่าต๊ะ
2554 สืบสวนป่วนกำลังสาม ช่อง 3 จ่าต๊ะ
2566 มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า ช่อง 8

ภาพยนตร์

[แก้]
ภาพยนตร์
พ.ศ. เรื่อง รับบทเป็น หมายเหตุ
พ.ศ. 2537 ข้าชื่อ..มหิงสา
พ.ศ. 2547 บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม แฝดมือปราบ
พ.ศ. 2562 คืนรัง เขาค้อ
พ.ศ. 2563 ฮักเถิดเทิง สะระแอ รับเชิญ

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "เขาค้อ แกแล็คซี่ นักชกอาภัพ! ผันตัวทำงานโรงรับจำนำ ฉ.เต็ม part 1". คนดังนั่งเคลียร์. สืบค้นเมื่อ 25 April 2015.
  2. "ใบปิดภาพยนตร์-วี.ซี.ดี.หนังไทยในอดีต(ภาค14)และสารพันบันเทิงไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-20. สืบค้นเมื่อ 2009-04-20.
  3. "เขาค้อ แกแล็คซี่ นักชกอาภัพ! ผันตัวทำงานโรงรับจำนำ ฉ.เต็ม part 2". คนดังนั่งเคลียร์. สืบค้นเมื่อ 25 April 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]