ข้ามไปเนื้อหา

แสน ส.เพลินจิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แสน ส.เพลินจิต
เกิดสมชาย เชิดฉาย
18 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 (51 ปี)

แสน ส.เพลินจิต แชมป์โลกของสมาคมมวยโลก (WBA) รุ่นฟลายเวท แชมป์โลกคนที่ 19 ของไทย มีชื่อจริงว่า สมชาย เชิดฉาย มีชื่อเล่นว่า เหน่ง เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 ที่ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรชายของนายละเอียด และนางทิพย์ เชิดฉาย จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพ

ชกมวยไทย

[แก้]

แสนมีฐานะทางบ้านยากจนมาก ทำให้ต้องชกมวยตั้งแต่เด็ก โดยฝึกกับ จ่าสิบเอก ทวนชัย โล่ห์เงิน ในชื่อ "ซุปเปอร์เหน่ง โล่ห์เงิน" ได้ค่าตัวในการชกครั้งแรก 110 บาท แต่เนื่องจากเป็นมวยที่ชกสนุก เดินหน้าตลอด จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เดินหน้า โล่ห์เงิน" แสนได้โอกาสชกสากลอาชีพครั้งแรก เมื่อมวยสากลที่เวทีราชดำเนินขาดคู่ แสนจึงกลายเป็นมวยแทนขึ้นชกแทน เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งก็ฉายแวว โดยเอาชนะ สีหราช ช.ไวคุล ไปได้อย่างงดงาม จากนั้น แสนจึงกลายเป็นมวยสากลชกประจำที่เวทีราชดำเนิน และได้เข้าตา เสถียร เสถียรสุต เจ้าของค่าย "ส.เพลินจิต" จึงถูกนำมาสร้างอย่างจริงจังในแบบมวยสากลอาชีพ และเปลี่ยนชื่อเป็น "แสน ส.เพลินจิต"

แชมป์โลกคนที่ 19

[แก้]

แสนถูกสร้างอย่างมีขั้นตอน ชกไต่อันดับไปเรื่อย ๆ จนได้ติดอันดับโลก และขึ้นชิงแชมป์โลกในฐานะรองแชมป์โลก WBA อันดับ 6 กับดาบิด กริมัน นักมวยเจ้าของแชมป์ชาวเวเนซุเอลา ผู้เคยชิงแชมป์โลก WBA รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท กับเขาทราย แกแล็คซี่ มาก่อน ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งแสนเป็นฝ่ายชนะคะแนนเอกฉันท์ได้แชมป์โลกไปครอง

แสน เป็นนักมวยที่มีเชิงชกสวยงาม มีความรวดเร็ว แม้เป็นมวยหมัดไม่หนัก แต่ชกได้ไวโดยเฉพาะหมัดแย็บ ซึ่งชั้นเชิงแบบนี้ละม้ายคล้ายกับ "โผน กิ่งเพชร" อดีตแชมป์โลกคนแรกของไทย จึงได้ฉายาว่า "โผน 2" แสน เป็นนักมวยที่เรียกได้ว่าได้รับความนิยมจากแฟนมวยอย่างมากทีเดียวในสมัยนั้น เพราะชกได้สนุก และผู้ท้าชิงของแสนแต่ละรายนั้น ล้วนแต่มีดีกรีเป็นนักชกชั้นดีเป็นอดีตแชมป์โลกหรืออดีตนักชกที่เคยชิงแชมป์โลกมาแล้ว เช่น เฮซุส โรฮัส,อากิเลส กุซมัน,คิม ยง-คัง, เอบังเฮลิโอ เปเรซ เป็นต้น

โดยเฉพาะไฟท์ที่ประทับใจอย่างที่สุด คือ การป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 6 กับ ฮิโรกิ อิโอกะ นักมวยชาวญี่ปุ่นอดีตแชมป์โลก 2 รุ่น และคู่ปรับของนภา เกียรติวันชัย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองแชมป์โลกของ WBA ในอันดับ 3 โดยชนะทีเคโอในยกที่ 10 ถึงนครโอซากะ ถิ่นของอิโอกะเลยทีเดียว ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งหลังการชก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชสาสน์ผ่านมาทางสถานกงสุลไทย ณ นครโอซากะ แสดงความยินดีมาแก่แสนและคณะ มีใจความว่า ทรงทอดพระเนตรการชกของแสนผ่านทางโทรทัศน์ และได้พระราชทานช่อดอกไม้เป็นกำลังใจ[1] และต่อมาแสนได้รับรางวัลนักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2538 อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2539 แสนป้องกันตำแหน่งอีก 3 ครั้ง ชนะรวด แต่ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงของปีนั้น แสนต้องเสียตำแหน่งไปในการป้องกันครั้งที่ 10 อย่างไม่มีใครคาดคิด โดยการแพ้คะแนนเอกฉันท์ต่อ โฮเซ โบนิยา นักมวยรองแชมป์โลก WBA อันดับ 11 ชาวเวเนซุเอลา ที่ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี

ชีวิตหลังเสียแชมป์

[แก้]

แสนหยุดชกไปตลอดปี 2540 กลับมาชกอีกครั้งในปี 2541 โดยย้ายไปอยู่ในสังกัดของ "เสี่ยเน้า" วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ และเลื่อนรุ่นไปชกในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท โดยมีเป้าหมายอยู่ที่แชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) รุ่นซูเปอร์​ฟลายเวท แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้มีโอกาสชิงแชมป์ ต่อมา จึงกลับมาอยู่กับทรงชัย รัตนสุบรรณอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ชิงแชมป์อีก ในช่วงท้ายของชีวิตการชกมวย ในปี พ.ศ. 2545 และ ปี พ.ศ. 2546 แสนเดินทางไปชกถึงประเทศญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง หนึ่งในนั้นได้พบกับ โจอิจิโร ทัตสึโยชิ อดีตแชมป์โลกของสภามวยโลก รุ่นแบนตัมเวทด้วย ซึ่งแสนเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปยกที่ 6 ก่อนจะแขวนนวมไป

ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2548 แสนมีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนว่ามีชีวิตที่ลำบาก และอยากจะขอความช่วยเหลือจากสังคมเนื่องจากไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง และต่อมาก็พบว่าสร้อยคอทองคำที่ได้รับจากบรรดาผู้สนับสนุนก่อนการชกแต่ละครั้งนั้น รวมแล้วเป็นน้ำหนักกว่า 500 บาท กว่าครึ่งเป็นทองปลอม[2]

ปัจจุบัน แสนทำงานเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยและมวยสากลให้แก่บุคคลทั่วไปซึ่งมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในฐานะลูกจ้างของ สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (สกพ.,ปัจจุบันคือกรมพลศึกษา) โดยเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 8,000 บาท โดยหลังจากเสียแชมป์โลกไปแล้ว แสนได้ส่วนแบ่งเงินรางวัลมาทั้งหมดราว 10 ล้านบาท ได้ซื้อที่และปลูกบ้านให้พ่อกับแม่ได้อยู่อาศัยราว 3 ล้านบาท และไปซื้อที่ที่เขาใหญ่อีกประมาณ 5 ล้านบาท แต่ต่อมาที่ผืนนี้ต้องโดนยึด เนื่องจากแสนนำไปค้ำประกันให้เพื่อนคนหนึ่ง แล้วต่อมาเพื่อนคนนี้ทำธุรกิจล้มเหลวจึงถูกยึด ชีวิตจึงลำบาก ถึงขนาดต้องเลิกกับภรรยาเก่าที่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ในช่วงนั้นแสนไม่รู้จะทำอย่างไรจึงหันหน้าเข้าหาเหล้า แสนดื่มอย่างหนักจนถึงขั้นเสียสติพูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี จนกระทั่งได้ภรรยาคนปัจจุบันเตือนสติและอดีตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติเข้ามาช่วยเหลือ โดยฝากฝังงานประจำในปัจจุบันให้ [3]

ในอนาคต แสนฝันอยากจะมีค่ายมวยเป็นของตัวเอง[4] และเรื่องราวชีวิตของแสนได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยในเรื่อง ความรัก ศรัทธา ปาฏิหาริย์ 2 ตอน "ผู้พิทักษ์" ในปี พ.ศ. 2555[5]

เกียรติประวัติ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงต่อวงการมวย". ข่าวสด. 2016-10-15. สืบค้นเมื่อ 2016-10-17.
  2. "มวย : "แสน"แฉชกมวยทั้งชีวิตได้ทองปลอมเกินครึ่ง". สนุกดอตคอม.
  3. "วีรบุรุษตกอับ"แสน ส.เพลินจิต"". เอ็มไทยดอตคอม.
  4. คอลัมน์ คุยนอกสนาม โดย นฤเบศวร์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 22,025 ประจำวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 หน้าที่ 15
  5. หนัง ความรัก ศรัทธา ปาฏิหาริย์ (ซีซั่น 2)