สหพันธ์มวยนานาชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สหพันธ์มวยนานาชาติ
อังกฤษ: International Boxing Federation
ชื่อย่อIBF
ก่อตั้งพ.ศ. 2526 (อายุ 41 ปี)
ประเภทสถาบันไม่แสวงหาผลกำไร
สํานักงานใหญ่สปริงฟิลด์ รัฐนิวเจอร์ซีย์, สหรัฐอเมริกา
ภูมิภาคที่รับผิดชอบ
ทั่วโลก
ภาษาทางการ
อังกฤษ
หัวหน้าแดริล พีเพิลส์
องค์กรแม่
สมัชชาใหญ่
เว็บไซต์www.ibf-usba-boxing.com
เข็มขัดแชมป์โลกของ IBF

สหพันธ์มวยนานาชาติ (อังกฤษ: International Boxing Federation, ตัวย่อ: IBF) สถาบันที่ดูแลและควบคุมการชกมวยสากลในระดับโลก

ประวัติ[แก้]

สหพันธ์มวยนานาชาติได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดย นายโรเบิร์ต ดับเบิลยู. ลี ซีเนียร์ อดีตรองประธานสมาคมมวยโลกชาวอเมริกัน สหพันธ์มวยนานาชาติได้รับความนิยมอย่างมากในวงการมวยสหรัฐอเมริกา ด้วยเพราะตัวสถาบันและประธานจะเป็นชาวอเมริกัน จึงให้การสนับสนุนนักมวยโดยเฉพาะนักมวยอเมริกันเป็นพิเศษ โดยมีสถาบันสมาคมมวยสหรัฐ (United State Boxing Association - USBA) อยู่ในสังกัดด้วย จึงมีนักมวยชาวอเมริกันเป็นแชมป์มากมาย แต่กระนั้น สหพันธ์มวยนานาชาติ ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 4 สถาบันมวยหลักของโลกเทียบเท่ากับสมาคมมวยโลก (WBA) สภามวยโลก (WBC) และ องค์กรมวยโลก (WBO) ปัจจุบันมี นายเดริล เจ.พีเพิลส์ ชาวอเมริกันเป็นประธาน สหพันธ์มวยนานาชาติมีสำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่เมืองสปริงฟิลด์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา[1]

ในทวีปเอเชีย สหพันธ์มวยนานาชาติกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นให้การยอมรับเพียงแค่ระยะต้น ๆ ของการก่อตั้งเท่านั้น[2] (แต่ปัจจุบัน ได้ให้การยอมรับแล้ว โดยเพิ่งมาให้การยอมรับเมื่อต้นปี พ.ศ. 2556[3])

สหพันธ์มวยนานาชาติกับประเทศไทย[แก้]

สำหรับในประเทศไทย สหพันธ์มวยนานาชาติได้เข้ามามีบทบาทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 โดยมี สมุทร ศิษย์นฤพนธ์ เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยในสถาบันนี้ และมีนักมวยไทยเคยเป็นแชมป์โลกของสถาบันนี้มาแล้ว 7 คน ได้แก่ สมุทร ศิษย์นฤพนธ์, เมืองชัย กิตติเกษม, ฟ้าลั่น ลูกมิ่งขวัญ, พิชิต ศิษย์บางพระจันทร์, รัตนพล ส.วรพิน, สมาน ส.จาตุรงค์ และอำนาจ รื่นเริง

นักมวยไทยคนสุดท้ายที่ครองแชมป์โลกของสถาบันนี้คือ รัตนพล ส.วรพิน โดยทำการชกเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย คือในปี พ.ศ. 2540 หลังจากรัตนพลเสียแชมป์ไปแล้ว สหพันธ์มวยนานาชาติก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เลยในระดับแชมป์โลกในประเทศไทยนานถึง 15 ปีเต็มด้วยกัน จนกระทั่งในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีการชกเพื่อคัดเลือกตัวขึ้นไปชิงแชมป์โลกในรุ่นจูเนียร์เฟเธอร์เวท (122 ปอนด์) ระหว่าง แท่งทอง เกียรติทวีสุข กับ มาบูเท ซินยาบี นักมวยชาวแอฟริกาใต้ ที่จังหวัดนครราชสีมา[4] ซึ่งผลการชกแท่งทองเป็นฝ่ายชนะทีเคโอไปในยกที่ 10 (แต่ก็ปรากฏว่าหลังจากนี้ไปเพียง 9 วัน แท่งทองก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต[5] ทำให้การชกเคลื่อนไหวในระดับการชิงแชมป์โลกของสหพันธ์มวยนานาชาติ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นการชกชิงแชมป์โลกที่ว่างในรุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์) ระหว่าง อำนาจ รื่นเริง กับ ร็อคกี้ ฟูเอนเตส นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่เวทีมวยชั่วคราว อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวา 2550 ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา[6])

ปัจจุบันกิจการของสหพันธ์มวยนานาชาติในประเทศไทยอยู่ในการดูแลของ นายสมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "IBF/USBA History". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-15. สืบค้นเมื่อ 2011-08-20.
  2. Japanese Scene: Hozumi Hasegawa in Talks With Fernando Montiel, Plus Updates on Koki Kameda, Takashi Uchiyama, Jorge Linares, Nobuo Nashiro & Daiki Kameda
  3. "เสี่ยเน้า" ส่ง "คมพยัคฆ์" ชิงแชมป์โลก WBA จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  4. บิ๊กสุวัจน์จัดแท่งทองตัดเชือกก่อนดันชิงโลก18พ.ค.นี้ จากสยามสปอร์ต
  5. "ญาติเศร้ารับศพครอบครัว "แท่งทอง เอเวอเรดี้ยิม"". เดลินิวส์. 27 May 2012. สืบค้นเมื่อ 20 January 2014.
  6. "ร็อคกี้ถึงไทยลั่นน็อกอำนาจซิวแชมป์มวยไอบีเอฟ". สยามกีฬา. 18 January 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2014.
  7. ฟ้าใสถล่มน็อกหวังติดท็อปเท็นจ่อชิงโลก จากไทยโพสต์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]