เวนิส บ.ข.ส.

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เวนิส บ.ข.ส.
(Venice Borkorsor)
ชื่อจริงประเวศน์ พลเชียงขวาง
รุ่นฟลายเวท
แบนตั้มเวท
เกิด6 เมษายน พ.ศ. 2493 (73 ปี)
อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
ชกทั้งหมด57
ชนะ49
ชนะน็อก36
แพ้8 ( แพ้น็อก 1 )
เทรนเนอร์ชนะ ทรัพย์แก้ว

เวนิส บ.ข.ส. เป็นอดีตแชมป์โลกคนที่ 4 ของไทย มีชื่อจริงว่า ประเวศน์ พลเชียงขวาง [remark 1]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงต้นและเริ่มต้นการชกมวย[แก้]

เวนิสเกิดวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ต้นตระกูลของเวนิสล้วนต่างเป็นนักมวยมากันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปู่ พี่ชาย หรือลุง เวนิสเริ่มชกมวยไทยครั้งแรกแถวบ้านใช้ชื่อว่า "นิดเดียว พลายทอง" ขณะยังเป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย มีฝีมือดีใช้ได้พอสมควร จากนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาชกในกรุงเทพมหานครในชื่อ "เวนิส บ.ข.ส." ที่เวทีราชดำเนิน ในรายการ "จ้าวสุริยา" ของโปรโมเตอร์ จวน สุริยะกุล ชนะติดต่อกันหลายครั้งโดยเฉพาะลูกเตะก้านคอ และหมัดซ้ายที่หนักหน่วงรุนแรง

เวนิสหันมาชกมวยสากลครั้งแรกในรายการมวย "พ็อปท็อป" เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นรายการชิงแชมป์มวยสากลที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ของ พ.อ.(พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง โดยชนะน็อค ชาญ ชนะศักดิ์ ยก 2 จากนั้น ชกชนะนักมวยสากลในรุ่นฟลายเวทอีกหลายคน เช่น ชายธง สิงห์เชื้อเพลิง, วิทยาน้อย สิงห์ยอดฟ้า, วิทยา เพลินจิต, เหมือนฝัน ร.ส.พ. จึงได้รับการสนับสนุนจาก "ครูเฒ่า" ชนะ ทรัพย์แก้ว โปรโมเตอร์ศึกทหารเอกและเทรนเนอร์ชื่อดังในยุคนั้น จนได้รับถ้วยพระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะนักมวยสากลยอดเยี่ยมในรายการโดยเสด็จพระราชกุศลเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยชกชนะ ศักดิ์ ศักดิ์แหลมทอง[1]และได้ครองแชมป์มวยสากลเวทีลุมพินีรุ่นฟลายเวทเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ชนะน็อค รัตนศักดิ์ วายุภักดิ์ ยก 9

แชมป์โลกคนที่ 4[แก้]

เวนิสได้ชิงแชมป์โลกในรุ่นฟลายเวท ของสภามวยโลก (WBC) ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก กับ เบตูลิโอ กอนซาเลซ แชมป์โลกชาวเวเนซุเอลา เวนิสเป็นฝ่ายชนะน็อกในยกที่ 10 ไปได้อย่างงดงาม ท่ามกลางจำนวนผู้ชมถึง 30,000 คน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทอดพระเนตรการชกด้วยพระองค์เอง โดยเวนิสถือเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกด้วยที่เป็นมวยถนัดซ้าย เวนิสป้องกันตำแหน่งไว้ได้เพียงครั้งเดียว โดยชนะคะแนน เออร์ปิโต้ ซาลาวาร์เรีย นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ผู้เคยชนะชาติชาย เชี่ยวน้อย มาแล้ว พร้อมกับได้แชมป์ของสถาบันเดอะริง (The Ring) ด้วย[2] จากนั้นเวนิสได้เดินทางไปชกนอกรอบกับนักมวยเม็กซิกันถึงถิ่นประเทศเม็กซิโก เมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 โดยชนะน็อกฮูลิโอ กัวเรโรได้ในยกที่ 6 จากนั้นเวนิสต้องสละแชมป์โลกไป เนื่องจากไม่สามารถรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในพิกัดได้

หลังเสียแชมป์[แก้]

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เวนิส บ.ข.ส. ได้เลื่อนรุ่นขึ้นไปชกในรุ่นแบนตั้มเวท และได้ขึ้นชิงแชมป์โลกในรุ่นนี้ กับ ราฟาเอล เฮอร์เรร่า นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่สหรัฐอเมริกา เวนิสชกได้ดี สามารถชกจนเฮอร์ราร่าตาแทบปิด แต่เมื่อครบ 15 ยก แล้ว กรรรมการรวมคะแนนให้เฮอร์เรร่าชนะคะแนนไปอย่างค้านสายตา เวนิสกลับมาชกอีกครั้งจนได้ครองแชมป์ภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) ในปี พ.ศ. 2517 และชนะรวดอีกต่อมา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 เวนิสได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้งกับ โรดอลโฟ มาร์ติเนซ นักมวยชาวเม็กซิกัน ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก ปรากฏว่าเวนิสเป็นฝ่ายแพ้คะแนน 15 ยก ไป และครั้งต่อมา ก็ได้เสียแชมป์ภาคฯ ให้กับ ซู ฮวาน ฮอง นักมวยชาวเกาหลีใต้ไปอีก

ในปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2522 เวนิส บ.ข.ส. ขึ้นชกติดต่อกันอีกหลายครั้งจนใน พ.ศ. 2522 ไปชกชนะที่เวเนซุเอลาถึง 2 ครั้ง หลังจากนั้นจึงได้แชมป์แบนตั้มเวทของเวทีราชดำเนิน ชนะน็อค ด่วนอีสาน ลูกคลองจั่น ยก 7 ต่อมาไปชกนอกรอบที่ฟิลิปปินส์ก็แพ้กลับมาอีก ครั้งสุดท้ายในชีวิตการชกมวยของเวนิส คือ ชกป้องกันแชมป์มวยสากลรุ่นแบนตัมเวทของเวทีราชดำเนิน เมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2523 ชนะน็อก สุริยะ ปทุมวดี ยก 6 แต่เวนิสถูกปลดเพราะทำน้ำหนักไม่ได้ เวนิสแขวนนวมไปในปี พ.ศ. 2524 เมื่ออายุได้ 32 ปี

หลังแขวนนวมแล้ว เวนิสยังมีชีวิตความเป็นอยู่ตามอัตภาพ มีอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับ และได้ลาออกมาเมื่อทำงานมาได้ราว 10 ปี มาเปิดบริษัทรับจัดหางานด้วยเงินทุนของตนเอง แต่ปรากฏว่า ขาดทุนและต้องปิดกิจการลง ภริยาที่อยู่กินด้วยกันจนมีลูกด้วยกัน 2 คน ก็แยกย้ายกันไป ชีวิตของเวนิสเริ่มตกต่ำลง ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บหามาได้กว่า 10 ล้านบาท ก็เริ่มหมด แต่ในส่วนของแวดวงมวย บางครั้งเวนิสจะช่วยฝึกสอนนักมวยรุ่นน้องบ้าง เช่น เป็นเทรนเนอร์ให้แก่ โอเล่ห์ เกียรติวันเวย์ เมื่อคราวชกชิงแชมป์มวยสากล ในสถาบัน PABA เมื่อปี พ.ศ. 2538 แม้ตัวของโอเล่ห์จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม ในปี พ.ศ. 2534 ชีวิตของเวนิสเริ่มตกต่ำ จึงได้บวชเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม จนถึงปี พ.ศ. 2545 ได้ลาสิกขาบทออกมาใช้ชีวิตอยู่กับภริยาคนปัจจุบัน คือ นางพานทอง วงศ์ตาหล้า โดยที่ไม่มีอาชีพประกอบอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน เวนิส อาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ 134 บ้านต้นแหน ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ต้องรับเงินค่ายังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท[3] และต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากสภามวยโลกเป็นจำนวนเงิน 400 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 12,000 บาท) ต่อเดือน และจะมีการเพิ่มเป็น 500 ดอลล่าร์ในอนาคต[4]

นอกจากนี้แล้ว ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 (ที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้เป็นโมฆะ[5]) เวนิสมีชื่อปรากฏเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 18 ในสังกัดพรรคประชาธิปไตยใหม่ ด้วย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[6]

เกียรติประวัติ[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ชื่อที่ปรากฏในหนังสือแนะนำการเลือกตั้งของ กกต. สะกด "ประเวศน์"

อ้างอิง[แก้]

  1. ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต:"ซ้ายพญายม" เวณิส บ.ข.ส. แชมป์โลกชาวไทยคนที่ 4. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 82. มกราคม 2544. หน้า 42-44
  2. 2.0 2.1 "020256 ย้อนชีวิต เวนิส บขส อดีตแชมป์โลก". ยูทิวบ์. 1 February 2013. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
  3. วอนสังคมช่วยเหลือ เวนิส บ.ข.ส. อดีตแชมป์โลกชื่อดัง จากไทยรัฐ
  4. "5เช้าข่าวดี - สภามวยโลกช่วยเงิน 'เวนิช-นภา' 2แชมป์โลกชาวไทย". ยูทิวบ์. 18 June 2013. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
  5. "ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ถือว่าเป็นโมฆะ". สนุกดอตคอม. 21 March 2014. สืบค้นเมื่อ 4 April 2014.
  6. - รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หน้า 11 -, "เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 31" โดย สำนักงานคณะกรรมกรการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร
  7. ประกาศ 10 ฮีโร่รุ่นเก๋าคว้ารางวัลฮอลออฟเฟม[ลิงก์เสีย]