ข้ามไปเนื้อหา

เมืองชัย กิตติเกษม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมืองชัย กิตติเกษม
เกิดเมืองชัย จันทวิมล (ปัจจุบัน)
ณัฐวุฒิ จันทวิมล (อดีต)

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 (55 ปี)

เมืองชัย กิตติเกษม มีชื่อจริงในอดีตว่า ณัฐวุฒิ จันทวิมล มีชื่อเล่นว่า "แฉ่ม" เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท

เริ่มจากมวยไทย

[แก้]

เมืองชัยเริ่มต้นการชกมวยด้วยการชกมวยไทยมาก่อน โดยใช้ชื่อว่า "จิ้งจก อู่วิชัยยนต์" จึงมีชื่อที่แฟนมวยเรียกกันจนติดปากว่า "ไอ้จก" เพราะเป็นมวยหมัดหนัก จึงได้รับการสนับสนุนให้มาชกมวยสากล

แชมป์โลกคนที่ 14

[แก้]

เมืองชัย หันมาชกมวยสากลได้เพียง 6 ครั้ง ก็ได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกในรุ่นไลท์ฟลายเวท ของสหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) กับ เทรซี่ มาคาลอส นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่สนามมวยเวทีลุมพินี ในปี พ.ศ. 2532 ปรากฏว่า เมืองชัยชนะคะแนนไปแบบไม่เอกฉันท์ ทางฝ่ายมาร์คาลอสยื่นประท้วง ทาง IBF จึงมีมติให้ทั้งคู่พิสูจน์ฝีมือกันใหม่ใน คราวนี้ปรากฏว่าเมืองชัยเป็นฝ่ายชนะน็อกไปในยกที่ 7 จากนั้นจึงป้องกันตำแหน่งไว้ได้ทั้งหมด 3 ครั้ง โดยทุกครั้งชกที่สนามมวยเวทีลุมพินีทั้งสิ้น

ก่อนที่จะเสียแชมป์โลกไปในปี พ.ศ. 2533 เมื่อเดินทางไปป้องกันตำแหน่งที่สหรัฐอเมริกากับ ไมเคิล คาร์บาฮาล นักมวยอันตรายชาวอเมริกัน เมืองชัยเป็นฝ่ายถูกกรรมการจับแพ้ไปในยกที่ 7 เนื่องจากถูกชกล้มแล้วล้มอีกถึง 4 ครั้งด้วยกัน

แชมป์โลก 2 รุ่น

[แก้]

เมื่อเสียแชมป์โลกไปแล้ว เมืองชัยกลับมาอุ่นเครื่องอีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาชิงแชมป์โลกอีกครั้งกับนักมวยรุ่นพี่อย่าง สด จิตรลดา ซึ่งมวยคู่นี้เป็นที่สนใจอย่างมากของแฟนมวย เนื่องจากเป็นการพบกันระหว่างนักมวยไทยด้วยกันเอง และทั้งคู่ก็เคยมีเทรนเนอร์คนเดียวกันมาก่อน คือ สุดใจ สัพพะเลข ก่อนการชกหลายฝ่ายคาดคิดว่า สดน่าจะเป็นฝ่ายชนะไปได้ เนื่องจากมีฝีมือดีกว่าและประสบการณ์สูงกว่า แต่เมื่อได้ชกกันจริง ๆ บนเวทีแล้ว เมืองชัยกลับอาศัยสภาพร่างกายที่ดีกว่าเป็นฝ่ายชนะน็อกโดยเทคนิค​สดไปได้ในยกที่ 6 ในต้นปี พ.ศ. 2534 ได้แชมป์โลกในรุ่นฟลายเวท ของสภามวยโลก (WBC) เป็นตำแหน่งที่ 2 และเป็นนักมวยไทยคนแรกที่ได้เป็นแชมป์โลก 2 รุ่น

ในการป้องกันตำแหน่งแชมป์ครั้งแรกของเมืองชัย เกือบจะแพ้ เมื่อตลอดทั้ง 12 ยก เป็นฝ่ายมีคะแนนตามหลัง ชัง ช็อน-กู นักมวยชาวเกาหลีใต้ตลอด โดน ชัง ช็อน-กู ชกนับได้หลายครั้ง ก่อนที่จะฮึดมาเอาชนะน็อก ชัง ช็อน-กู ไปได้ชนิดที่เหลือเวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็จะสิ้นสุดการชกอยู่แล้ว

เมืองชัยป้องกันตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ 3 ครั้ง รวมทั้งย้ำแค้นเอาชนะน็อกสด จิตรลดา ได้อีกครั้งในยกที่ 9 ก่อนจะเดินทางไปแพ้น็อกยก 6 กับ ยูริ อาร์บาชาค็อฟ นักมวยชาวรัสเซียที่ประเทศญี่ปุ่น เสียแชมป์ไปในกลางปี พ.ศ. 2535 และได้มีโอกาสแก้มืออีกครั้งกับอาร์บาชาค็อฟ ในปีถัดต่อ แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้น็อกโดยเทคนิค​ไปอีกครั้งในยกที่ 9 ที่จังหวัดลพบุรี

ชีวิตปัจจุบัน

[แก้]

เมืองชัยแขวนนวมไป 2 ปีจึงกลับมาชกมวยอีกครั้ง โดยมีสถิติชนะรวด 3 ครั้ง ในสังกัดของอรทัย ฐานะจาโร ก่อนจะหยุดชกไปอีก 3 ปี และกลับมาอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย โดยไปชกที่ประเทศญี่ปุ่น ถูกนักมวยชาวญี่ปุ่นเจ้าถิ่นน็อกในยกที่ 4 ในปี พ.ศ. 2542

เมืองชัยมีกิจการเป็นของตัวเอง คือ เต็นท์รถมือสองจำหน่ายทั้งรถยุโรปและรถญี่ปุ่น ที่เขตทวีวัฒนา ฝั่งธนบุรี เมื่อเลิกกิจการเต็นท์รถมือสองแล้วหันไปจับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต่อเติมอาคาร งานเฟอร์นิเจอร์ บิ้วอิน ไฟฟ้า ประปา นอกจากนี้ยังได้แสดงละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์โดยแสดงเป็นตัวประกอบเป็นครั้งคราวด้วย ซึ่งผลงานที่ผ่านมาได้แก่ สุริโยไท (พ.ศ. 2544), ผู้หญิง 5 บาป (พ.ศ. 2545) เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ในปี พ.ศ. 2553 เมืองชัยได้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองชัย จันทวิมล และเคยลงรับสมัครสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ในเขตบางบอน สังกัดพรรคเพื่อไทยอีกด้วย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาใน การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เมืองชัยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในเขตและสังกัดพรรคเดิม[1] แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง

ผลงานภาพยนตร์

[แก้]

ผลงานละครโทรทัศน์

[แก้]

เกียรติประวัติ

[แก้]

ชื่อในการชกมวยชื่ออื่น

[แก้]
  • จิ้งจก อู่วิชัยยนต์
  • เมืองชัย อรทัยยิม

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]