คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Faculty of Liberal Arts,
Thammasat University
สถาปนา15 สิงหาคม พ.ศ. 2505 (61 ปี)
คณบดีผศ.ดร.ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์
ที่อยู่
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
เลขที่ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
เลขที่ 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
วารสาร
  • วารสารศิลปศาสตร์ (Journal of Liberal Arts)
  • วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ (Journal of Languages and Linguistics)
  • วารสารวรรณวิทัศน์ (Wannawithat Journal)
  • วารสารภาษาอังกฤษศึกษา (Journal of English Studies)
สี██ สีแสด
มาสคอต
คบเพลิง
เว็บไซต์www.arts.tu.ac.th
อาคารคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Liberal Arts, Thammasat University) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 โดยเป็นคณะลำดับที่ 2 ของประเทศที่จัดการเรียนการสอนด้านศิลปศาสตร์ มีภารกิจเบื้องต้นในการจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นักศึกษาทุกคณะในมหาวิทยาลัยก่อนจะเลือกเข้าศึกษาแขวงวิชาเฉพาะด้านสำหรับคณะตน ปัจจุบัน คณะศิลปศาสตร์มีหน้าที่ทำการสอนวิชาด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ อีกทั้งภาษาต่างประเทศ โดยมีการจัดการเรียนการสอนด้านศิลปศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ อีกทั้งเป็นวิชาเลือกให้แก่นักศึกษาทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เลือกเรียนได้อย่างเสรี

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเป็นคณะที่ค่อนข้างมีการแข่งขันสูงมาก โดยรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีคะแนนสอบแอดมิชชั่นทั้งประเทศสูงสุด 1 ใน 10 ของประเทศมาโดยตลอด (โดยปีการศึกษา 2559 และ 2560 รับนักเรียนที่มีคะแนนแอดมิชชั่นสูงสุดอันดับ 3 ของประเทศ และในปีการศึกษา 2561 ในระบบการรับตรงใหม่หรือ TCAS คณะศิลปศาสตร์มีคะแนนสอบเข้าสูงที่สุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยคะแนน 94.45 คะแนน)[1][2][3] คณะศิลปศาสตร์ยังได้รับการจัดอันดับงานวิจัยมหาวิทยาลัยทั่วโลก (QS World University Rankings by Subject) ให้เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยในสาขาปรัชญา สาขาประวัติศาสตร์ และสาขาภาษาสมัยใหม่ และอีกทั้งยังติด 3 ของประเทศอันดับในสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ และสาขาภาษาศาสตร์[4]

ประวัติ[แก้]

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ด้วยดำริของศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานทั่วไปให้แก่นักศึกษาทุกคณะในมหาวิทยาลัย ก่อนเลือกแขนงวิชาเฉพาะทางของคณะต่าง ๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามจุดมุ่งหมายสองประการคือ

  • เพื่อจัดการสอนวิชาความรู้พื้นฐานทั่วไปทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แก่นักศึกษาชั้นปริญญาตรีทุกคนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษา มีความรู้ความเข้าใจอย่างกว้างขวางในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม ตลอดจนมีความเข้าใจในเรื่องจิตใจมนุษย์ เห็นความต่อเนื่องของวิทยาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดวิจารณญาณอันดี สามารถนำความรู้เฉพาะด้านในแขนงที่ตนศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมให้ดียิ่งขึ้น
  • เพื่อจัดการสอนจนถึงระดับปริญญาสาขาต่าง ๆ ทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ยังมิได้มีการจัดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่มีการจัดสอนแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นประสาทปริญญา

โดยในยุคเริ่มแรก คณะศิลปศาสตร์ ได้ทำการสอนด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่ทั้งมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นวิชาพื้นฐาน และอีกทั้งประสาทปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต 5 สาขาวิชาอันได้แก่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติ สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ และสาขาวิชาภาษาศาสตร์ ซึ่งสาขาเหล่านี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2504 อันเป็นสาขาปีเดียวกันกับการต่อตั้งคณะศิลปศาสตร์แต่เดิม โดยชื่อคณะศิลปศาสตร์นั้นได้รับประทานนามจาก พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรณ์ โดยเริ่มทำการสอนครั้งแรกในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2505 โดยเปิดสอนรายวิชาศิลปศาสตร์ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของทั่วทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนที่จะเลือกเข้าศึกษาตามคณะหรือสาขาวิชาต่างๆในชั้นปีต่อไป โดยดังนี้จึงถือเอาวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2505 เป็นวันสถาปณา "คณะศิลปศาสตร์"

ในแต่เดิมที่คณะศิลปศาสตร์ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับท่าพระจันทร์ในการสร้างตึกโดยสร้างตึก "คณะศิลปศาสตร์" เป็นสองตึกโดยแต่เดิมเป็นตึก 5 ชั้น และ 3 ชั้น โดยเป็นอาคารต้นแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยนิยม (Modernism) ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้ขยายอาคาร 5 ชั้นต่อเติมเพิ่มเป็น 8 ชั้น ก่อนการขยายการศึกษาไปยังศูนย์รังสิตอาคารคณะศิลปศาสตร์จึงเป็นอาคารที่สามารถรองรับนักศึกษาทั้งท่าพระจันทร์ได้ในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อมีการขยายการศึกษาไปยังศูนย์รังสิต คณะศิลปศาสตร์จึงเริ่มพิจารณาการเรียนการสอนบางสาขาวิชาให้ย้ายไปยังศูนย์รังสิตด้วย โดยเริ่มแรกมีการย้ายสาขาจิตวิทยาและสาขาวิชาภูมิศาสตร์ไปยังศูนย์รังสิตเป็นกลุ่มแรก โดยพิจารณาการศึกษารายวิชาบางวิชาให้ไปศึกษาที่ศูนย์รังสิตแล้วให้มาศึกษาที่ท่าพระจันทร์ในช่วงชั้นปีสุดท้าย แม้กระนั้นด้วยการขยายตัวของคณะและมหาวิทยาลัยเอง การบริหารและสาขาวิชาต่างๆได้มีนโยบายตามนโยบายมหาวิทยาลัยที่ระบุว่าให้นักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติเริ่มศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เต็มรูปแบบโดยใช้อาคารคณะศิลปศาสตร์ 9 ชั้น 2 ปีก ของศูนย์รังสิตซึ่งมี่เนื้อที่รองรับต่อการขยายตัวของสาขาวิชาและนักศึกษาเป็นที่สถานที่สำหรับการศึกษาหลักในระดับชั้ยปริญญาตรีเป็นต้นมา

ในส่วนของสาขาวิชาต่าง ๆ คณะศิลปศาสตร์ได้ขยายการเรียนการสอนในสายมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้กว้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนมากให้ โดยมีการบุกเบิกสาขาและศาสตร์ต่างเรื่อยมาตามลำดับหลังจาก 5 สาขาก่อตั้งอาทิ สาขาวิชาจิตวิทยา (พ.ศ. 2507) สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ (พ.ศ. 2509) สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (พ.ศ. 2513) สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น สาขาวิชาปรัชญา สาขาวิชาภาษาเยอร์มัน สาขาวิชาฝรั่งเศส และ สาขาวิชาภูมิศาสตร์ (พ.ศ. 2514) สาขาวิชาภาษาจีน และ สาขาวิชาภาษาไทย (พ.ศ. 2518) สาขาวิชาการละคอน (พ.ศ. 252X) สาขาวิชาศาสนา (พ.ศ. 2525) ต่อมาสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสาขาวิชาสถิติได้รับการยกฐานะให้ขึ้นตรงกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพร้อมกับการก่อตั้งและขยายการศึกษาไปศูนย์รังสิตในปี พ.ศ. 2529 และสาขาวิชาการละคอนได้รับการยกฐานะจากงบประมาณจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และโอนสาขาวิชาการละคอนไปสังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา ส่วนสาขาวิชาศาสนาได้ทำการปิดการเรียนการสอนและยุบเหลือแค่วิชาโท สาขาวิชาภาษารัสเชีย (พ.ศ. 2518 และได้รับการยกเป็นภาควิชาในปี พ.ศ. 2536) คณะศิลปศาสตร์ยังได้ริเริ่มการสอนหลักสูตรนานาชาติเพื่อตอบสนองความต้องการในยุคสมัยใหม่โดยเปิดสอน สาขาวิชาอังกฤษ–อเมริกันศึกษา ในปี พ.ศ. 2541

หน่วยงาน[แก้]

หลักสูตร[แก้]

ปัจจุบัน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตร ดังต่อไปนี้

ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)
ภาคปกติ

  • สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาจิตวิทยา
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
  • สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาปรัชญา
  • สาขาวิชาภูมิศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมจีน (หลักสูตร พ.ศ. 2561)
  • สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  • สาขาวิชาภาษารัสเซีย
  • สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา (หลักสูตร พ.ศ. 2563)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
ภาคปกติ

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)
โครงการพิเศษ

  • สาขาวิชาอังกฤษ–อเมริกันศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
  • สาขาวิชารัสเซียและยูเรเซียศึกษา (หลักสูตร พ.ศ. 2566)
  • สาขาวิชาการสื่อสารภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาวิเทศคดีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาวรรณกรรมและการศึกษาเปรียบเทียบ
  • สาขาวิชาการแปลภาษาฝรั่งเศส–ไทย
  • สาขาวิชาญี่ปุ่นศึกษา
  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา
  • สาขาวิชาการแปลภาษาอังกฤษ–ไทย
  • สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ, ควบปริญญาโท–เอก)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาประวัติศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาญี่ปุ่นศึกษา
  • สาขาวิชาภาษาไทย

ทำเนียบคณบดี[แก้]

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายนามคณบดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

ทำเนียบคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง

1. ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ พ.ศ. 2505 – 2511
2. ศาสตราจารย์ อรุณ รัชตะนาวิน พ.ศ. 2511 – 2517
3. พันเอกหญิง ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. 2517 – 2518
4. ศาสตราจารย์ มงคล สีห์โสภณ พ.ศ. 2519 – 2525
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบแสง พรหมบุญ พ.ศ. 2526 – 2528
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทิพยา บิณษรี พ.ศ. 2529 – 2531
7. รองศาสตราจารย์ คุณหญิง วงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ พ.ศ. 2531 – 2534
8. อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พ.ศ. 2534 – 2537
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิระพรรษ์ บุณยเกียรติ พ.ศ. 2537 – 2539
10. อาจารย์ ดร.ศิรินี เจนวิทย์การ พ.ศ. 2539 – 2541
11. รองศาสตราจารย์ ดร.มาลินี ดิลกวณิช พ.ศ. 2542 – 2544
12. รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธุ์ เวสสะโกศล พ.ศ. 2544 – 2547
13. รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิโชค วรานุสันติกูล พ.ศ. 2547 – 2549
14. รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ พ.ศ. 2550 – 2552
15. รองศาสตราจารย์ ดร.ชัชวดี ศรลัมพ์ พ.ศ. 2553 – 2555
0. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต 1 ตุลาคม 2555 – 31 มกราคม 2556 (รักษาการฯ)
16. รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล 1 กุมภาพันธ์ 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2562
17. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาสพงศ์ ศรีพิจารณ์ 1 มีนาคม 2562 – ปัจจุบัน

กิจกรรมนักศึกษา[แก้]

การรับเพื่อนใหม่ของคณะฯ[แก้]

คณะกรรมการนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กนศ.ศศ.) เป็นผู้จัดกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ของคณะฯ หรืองาน "สืบสานตำนานศิลป์" ขึ้นเป็นประจำทุกปี จัดขึ้น ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกับวันแรกพบของมหาวิทยาลัย เดิมกำหนดเป็นวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปี อันจะตรงกับวันปรีดี ต่อมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยจึงได้เปลี่ยนมาจัดระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม ก่อนวันงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ในงานจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้รู้จักบริเวณสำคัญต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาใหม่ทำความรู้จักกับนักศึกษารุ่นพี่และเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน รวมถึงให้นักศึกษารุ่นพี่ทำความรู้จักกับนักศึกษาใหม่ ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษากันได้ในระหว่างเปิดภาคเรียนใหม่ อันจะทำให้นักศึกษาใหม่สามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น

กลุ่มโต๊ะและตระกูล[แก้]

คณะศิลปศาสตร์ แบ่งกลุ่มนักศึกษาหรือที่เรียกว่า "โต๊ะ" ออกเป็น 6 ตระกูล และแต่ละตระกูลก็จะแบ่งย่อยไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อีก เช่น จอว์ 1 จอว์ 2 จอว์ 3 เป็นต้น โดยนักศึกษาใหม่แต่ละคนจะต้องสุ่มจับฉลากเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกโต๊ะได้เพียง 1 โต๊ะเท่านั้น และจะเป็นสมาชิกโต๊ะนั้นไปตลอดตั้งแต่เรียนไปจนจบจนถึงทำงานก็จะมีกิจกรรมที่ให้ทำร่วมกันเสมือนเป็นครอบครัวในมหาวิทยาลัยที่ช่วยเสริมสัมพันธ์พี่น้อง ดังนั้นจุดประสงค์ในการที่ทุกคนควรมีโต๊ะ–ตระกูลเป็นของตัวเองก็เพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำหรือให้ปรึกษา การทำกิจกรรมก่อให้เกิดความคุ้นเคยสนิทสนมกลมเกลียวกันระหว่าง "เพื่อนใหม่" ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ผู้ที่เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เราคือเพื่อนกัน และได้ตั้งชื่อกลุ่มโต๊ะต่าง ๆ ตามสถานที่สำคัญในบริเวณอาคารของคณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดังนี้

  • จิ๊งหน่อง – ตั้งตามชื่อเล่นของประติมากรรมที่ตั้งอยู่ใจกลางลานน้ำพุฝั่งที่ติดกับอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีชื่อทางการแต่เดิมว่า "นักศึกษา" ปั้นขึ้นโดยเขียน ยิ้มศิริ ประติมากรชาวไทย ซึ่งได้แนวคิดมาจากประติมากรรม "นักคิด" (Le Penseur) ของฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละท่าทางของหุ่นมีดังนี้ มือขวาแตะมุมปาก มือซ้ายถือตำราเรียน เท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า หมายความว่า เป็นผู้คงแก่การศึกษา ที่เปี่ยมด้วยวิชาความรู้ และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ก้าวไปข้างหน้าเสมอ

"เราเริงรื่นชื่นบานวันวัยใส

เป็นสายใยถักทอสานต่อฝัน

จิ๊งคือเราเราคือจิ๊งไม่ทิ้งกัน

ร้อยใจมั่นรวมกันเป็นหนึ่งเดียว"

  • ลานโพ – ตั้งชื่อตามลานหน้าอาคารคณะฯ ซึ่งมีต้นโพปลูกไว้กลางลาน โดยเป็นจุดนัดหมายรวมพลของนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาคม

"ลานโพเรา นามนี้ นั้นมีศักดิ์

โพปกปักษ์ ประวัติศาสตร์ คู่สยาม

รอต้นกล้า ต้นใหม่ ใต้ฟ้าคราม

เจริญงาม เคียงคู่ ดินสอโดม"

  • สวนศิลป์ – ตั้งชื่อตามลานกว้างภายในอาคารคณะฯ ซึ่งเป็นลานพักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้มากมาย

"สวนศิลป์นี้ดูแลกันฉันท์พี่น้อง

รักปรองดองกลมเกลียวกันไม่ขาดสาย

เริ่มแรกพบแม้จากกันไม่เสื่อมคลาย

ผูกเป็นสายสินสัมพันธ์ไม่เปลี่ยนแปลง"

  • ปากจอว์ – เป็นประติมากรรมทรงโค้งคร่อมบนประตูทางเข้าอาคารคณะศิลปศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ มีลักษณะคล้ายขากรรไกรบนของปลาฉลาม นักศึกษาจึงมักนิยมเรียกว่า "จอว์" (Jaw)

"ชาตินักรบไว้ลายใครท้าสู้

มาลองดูคมเขี้ยวกัดไม่ปล่อย

ตระกูลจอว์เลือดร้อนเราเฝ้าคอย

ฉลามน้อยฝูงใหม่มาพบกัน"

  • ลายสือ – ตั้งชื่อตามลายสลักอักษรลายสือไทยขนาดใหญ่ด้านข้างอาคารคณะฯ เพื่อแสดงถึงการระลึกถึงรากเหง้าและความเป็นไทย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่ามีอยู่สองตัวอักษรที่สลักตัวลายสือผิดไป

"คืออักษรที่สลักปักตรงหน้า

เปล่งเสียงว่า'ลายสือ'ชื่อเล่าขาน

เกียรติประวัติตระกูลเรามีมานาน

ไม่ว่าใครต่างเล่าขาน "ลายสือไทย""

  • น้ำพุ – ตั้งชื่อตามลานน้ำพุด้านในอาคารด้านติดกับอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือตึกบัณฑิตศึกษา 3 ชั้น) ให้ความร่มรื่นร่มเย็นแก่บริเวณอาคารด้านนั้น มักจะเปิดเฉพาะในวันสำคัญ เช่น วันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และยังเป็นที่ตั้งของประติมากรรม "นักศึกษา" หรือจิ๊งหน่องอีกด้วย

"คือสายน้ำ ที่ไม่พบ เพื่อเพียงผ่าน

คือสายธาร ที่กลมเกลียว ไม่เปลี่ยนผัน

คือสายใย ที่ผูกเรา เข้าด้วยกัน

คือน้ำพุ สัมพันธ์ ของพวกเรา"

โครงการสานสัมพันธ์อักษรศิลป์ (One Arts)[แก้]

งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 คณะวิชาด้านภาษาและมนุษยศาสตร์ ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมใช้ชื่อว่า "งานสานสัมพันธ์อักษร" โดยเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คณะอักษรศาสตร์ของประเทศไทย แต่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มาเข้าร่วมด้วยในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Tri Arts และล่าสุด ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ทำให้มีมากกว่า 3 มหาวิทยาลัย จึงตั้งชื่อกิจกรรมขึ้นมาใหม่ว่างาน One Arts เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการแข่งขันกีฬา การแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ การเชียร์โต้ และโชว์เชียร์ลีดเดอร์จากแต่ละคณะ

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.dek-d.com/board/view/3516161/
  2. https://www.dek-d.com/admission/41552/
  3. https://www.dek-d.com/admission/46016/
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-27. สืบค้นเมื่อ 2017-04-17.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]