สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันไทยคดีศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Thai Khadi Research Institute,
Thammasat University
สถาปนา17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
(โครงการไทยคดีศึกษา)[1]
3 มีนาคม พ.ศ. 2518
(สถาบันไทยคดีศึกษา)[2]
ผู้อำนวยการรองศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด
ที่อยู่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์
2 ถนนพระจันทร์
แขวงพระบรมมหาราชวัง
เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
วารสารวารสารไทยคดีศึกษา
เว็บไซต์สถาบันไทยคดีศึกษา

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันวิจัยในสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีภารกิจหลักคือการศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และการเผยแพร่ความรู้สู่สังคม

ประวัติ[แก้]

สถาบันไทยคดีศึกษาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะอนุรักษ์ความเป็นไทยภายใต้กระแสวัฒนธรรมตะวันตก และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยโดยไม่ลอกตำราฝรั่ง การดำเนินงานในระยะแรกอยู่ในรูปของโครงการวิชาการ โดยมีศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ และ อาจารย์ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ประทานชื่อโครงการว่า "ไทยคดีศึกษา"

ในการสัมมนาและสาธิตเรื่อง "นาฏศิลป์และดนตรีไทย" เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวถึงภารกิจของโครงการไทยคดีศึกษา ดังนี้

... มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาซึ่งได้แสดงความสนใจและเอาใจใส่ในกิจการวิชา อันจะส่งเสริมความเข้าใจในหมู่คณาจารย์และนักศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยตรง ถึงแม้ว่าวิชาการสาขาต่างๆ ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้ารวดเร็วขึ้นทุกที แต่ความก้าวหน้าเหล่านั้นมักเป็นผลของการค้นคว้ารวบรวมเป็นหลักทฤษฎีจากฝ่ายวัฒนธรรมตะวันตกทั้งสิ้น ฉะนั้น การจะนำแนวคิดและหลักการเหล่านั้นมาสอนหรือมาใช้ในบ้านเรานั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเลือกสรรให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและความต้องการของสังคมไทยโดยเฉพาะ อนึ่ง ศิลปวิทยาการของไทยเราเองซึ่งสืบเนื่องมาแต่บุพกาลนั้นเล่า เมื่อประสบความก้าวหน้าของวัฒนธรรมสมัยใหม่มักจะถูกละทิ้งให้เหี่ยวแห้งหรือผสมปนเปกับวัฒนธรรมภายนอกจนแปรเปลี่ยนลักษณะไป จริงอยู่วัฒนธรรมเป็นสิ่งไม่หยุดนิ่ง ต้องเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่การสร้างสรรค์ปรับปรุงวัฒนธรรมนั้นจำเป็นต้องมีแนวทางอันถูกต้อง เพื่อผดุงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยึดเหนี่ยวความรู้สึกร่วมกันของสมาชิกทุกฝ่ายของสังคมไทย...

โครงการไทยคดีศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "สถาบันไทยคดีศึกษา" ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2518 มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและเรียบเรียงตำราในเรื่องเกี่ยวกับสังคมไทยเพื่อประโยชน์ในด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้สถาบันไทยคดีศึกษาขยายขอบข่ายงานออกเป็นสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายวิจัยของมหาวิทยาลัย จัดสรรทุนวิจัยแก่อาจารย์และข้าราชการ ให้คำปรึกษาและเผยแพร่งานวิจัยในทุกสาขาวิชา จนถึงปี พ.ศ. 2548 บทบาทดังกล่าวจึงยุติลง

ในช่วงสามทศวรรษแรกของการดำเนินงาน สถาบันไทยคดีศึกษาได้ผลิตงานวิจัยมากกว่า 200 ชิ้น มีทั้งงานวิจัยของนักวิจัยประจำสถาบันและงานวิจัยของคณาจารย์สาขาต่างๆ ซึ่งสถาบันทำหน้าที่บริหารโครงการวิจัยและส่วนใหญ่เป็นเรื่องของไทย นอกจากนี้สถาบันยังได้ผลิตตำราที่มีคุณภาพออกสู่วงวิชาการอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับงานวิจัยของสถาบันนั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาได้มีการขยายขอบเขตงานวิจัยจากงานด้านมนุษยศาสตร์ ออกไปสู่งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา

ปัจจุบันสถาบันไทยคดีศึกษาทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยด้านไทยศึกษา มีบทบาทหน้าที่ในการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย ควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมและการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ปรัชญา "เข้าใจอดีต รู้ทันปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต" พร้อมกันนั้นสถาบันมีนโยบายที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสมานฉันท์ ปลูกฝังคุณธรรม/จริยธรรมแก่เยาวชน ส่งเสริมการศึกษาศิลปวัฒนธรรมโดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับไทย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับองค์กรต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ

ที่มาและความหมายของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันไทยคดีศึกษา[แก้]

ชื่อ "ไทยคดีศึกษา"[แก้]

คำว่า "ไทยคดีศึกษา" เป็นศัพท์ที่ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลานั้น ได้ทรงบัญญัติเป็นภาษาไทยขึ้นมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Thai Studies" เพื่อประทานแก่หน่วยงานแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กำลังจะก่อตั้งและยังไม่มีชื่อเรียก

สำหรับเรื่องที่มาของชื่อนั้น ตามบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของอธิการบดี เรื่อง การจัดตั้งสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2520 คณะกรรมการวิจัยหลายท่านมีความเห็นว่าคำนี้มีความหมายเฉพาะ หากเปลี่ยนชื่อสถาบันเป็นสถาบันวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดได้ นอกจากนี้ กรรมการบางท่านยังเห็นว่า ชื่อของสถาบันไทยคดีนั้น กว้างขวางและครอบคลุมพอสมควร เนื่องด้วยการวิจัยส่วนใหญ่กระทำอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในประเทศไทยเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นชื่อที่เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ประทานมาให้อีกด้วย

ทั้งนี้ คำว่า "ไทยคดีศึกษา" ก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "ไทยศึกษา" คือการศึกษาเรื่องของไทยในสาขาต่างๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ ตัวอย่างหน่วยงานด้านไทยศึกษา เช่น สถาบันไทยศึกษา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Thai Studies Chulalongkorn University) อีกทั้งไทยคดีศึกษายังไปปรากฏเป็นชื่อหลักสูตรหรือรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรการเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วย

ตราสัญลักษณ์[แก้]

"ตราอภิรุม" มีรูปทรงคล้ายรูปหยดน้ำ ประกอบด้วย รูปวงกลมที่ภายในมีภาพพานรัฐธรรมนูญวางอยู่กึ่งกลางของวงกลม เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์ ได้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า พานรัฐธรรมนูญนี้ น่าจะมีความหมายแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใต้ภาพพานรัฐธรรมนูญ มีอักษรภาษาไทยเขียนไว้ว่า "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ด้านบนของภาพพานรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า "สถาบันไทยคดีศึกษา" ส่วนภายนอกเส้นรอบวงกลม ครึ่งล่างล้อมไว้ด้วยอักษรภาษาอังกฤษว่า "Thai Khadi Research Institute" ส่วนบนของเส้นรอบวงกลมปกคลุมด้วยรูปฉัตรสามชั้น มียอดแหลม ประดับตกแต่งด้วยลายกนกไทยที่อ่อนช้อยงดงาม ให้ความรู้สึกและแรงบันดาลใจถึงศิลปะทางล้านนา จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันที่ศึกษาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องสังคมการเมืองไทย และความเป็นศิลปะ - วัฒนธรรม

โดยผู้ที่ออกแบบตราสัญลักษณ์ดังกล่าว รศ.กมล ฉายาวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ผู้ที่ออกแบบคือ อาจารย์อวบ สาณะเสน อดีตอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นกรรมการบริหารโครงการไทยคดีศึกษาในเวลานั้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายที่เป็นศิลปะของทางภาคเหนือ [3]

ตัวอักษร[แก้]

ตัวอักษรประดิษฐ์นาม "สถาบันไทยคดีศึกษา" เป็นฝีมือการออกแบบโดย "อังคาร กัลยาณพงศ์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พ.ศ. 2532 ซึ่งมีคุณูปการต่อสถาบันไทยคดีศึกษามาตลอด เช่น เมื่อสถาบันฯจัดกิจกรรมทางด้านวิชาการต่างๆ อาทิ ครบรอบ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน, ครบรอบ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ฯลฯ สถาบันฯขอให้ท่านอังคารแต่งบทประพันธ์สรรเสริญเกียรติคุณของบุคคลท่านนั้นๆ เมื่อแต่งเสร็จแล้ว ยังได้กรุณามาอ่านบทประพันธ์ที่ท่านประพันธ์ขึ้นมาในที่ประชุมสัมมนาด้วย

โดยท่านอังคารได้กล่าวถึงเบื้องหลังของการออกแบบตัวหนังสือนามสถาบันไว้ว่า[4]

ท่านเขียนตั้งแต่ตอนเย็นและไปเสร็จเอาย่ำรุ่งของวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านคัดมาให้เลือกสิบกว่าแบบจากที่เขียนเป็นจำนวนมาก การเขียน Drawing สีถ่านนั้น กระดาษเป็นรีมประมาณสี่ห้าร้อยแผ่น บางครั้งเขียนได้ภาพที่ถูกใจเพียงไม่กี่ภาพ

ภาพตัวอักษรประดิษฐ์นาม "สถาบันไทยคดีศึกษา" ออกแบบโดย อังคาร กัลยาณพงศ์

ที่ทำการของสถาบันไทยคดีศึกษา[แก้]

ในระยะแรกของสถาบันไทยคดีศึกษา สำนักงานและห้องสมุดสถาบันไทยคดีศึกษา อยู่ที่ตึกห้องสมุดกลาง ชั้น 5 (ปัจจุบันคือ อาคารอเนกประสงค์ 3 ด้านติดกับคณะรัฐศาสตร์) ต่อมาใน พ.ศ. 2523 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเคยมีการปรับปรุงมาแล้วสองครั้งคือ พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีการปรับปรุงห้องประชุมชั้น 9 โดยตั้งชื่อใหม่ว่า "ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช" [5] เพื่อเป็นเกียรติแด่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสถาบันไทยคดีศึกษา ปัจจุบันที่ทำการของสถาบันไทยคดีศึกษา แบ่งออกเป็นฝั่งผู้บริหารกับนักวิจัย กับฝั่งสำนักงานเลขานุการสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วย เลขานุการ, งานบริการวิชาการ, งานส่งเสริมการวิจัย, งานบริหารและธุรการ และห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช

รายนามผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา[แก้]

ชื่อ คณะ ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
อาจารย์ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ศิลปศาสตร์
พ.ศ. 2514–2518
รองศาสตราจารย์ ยุทธ ศักดิ์เดชยนต์
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
พ.ศ. 2518–2520
รองศาสตราจารย์ ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
พ.ศ. 2520–2524
ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก
รัฐศาสตร์
พ.ศ. 2524–2528
ศาสตราจารย์ ดร.เมธี ครองแก้ว
เศรษฐศาสตร์
พ.ศ. 2528–2531
รองศาสตราจารย์ นิพัทธ์ จิตรประสงค์
พาณิชยศาสตร์และการบัญชี
พ.ศ. 2531–2532
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัช กิจธรรม
รัฐศาสตร์
พ.ศ. 2533–2536
รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
พ.ศ. 2536–2542
รองศาสตราจารย์ กมล ฉายาวัฒนะ
วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
พ.ศ. 2542–2546
รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์
ศิลปศาสตร์
พ.ศ. 2546–2549
อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์
วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
พ.ศ. 2549–2555
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรรณี สำราญเวทย์
วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
พ.ศ. 2555–2558
อาจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์
วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
พ.ศ. 2558–2561
รองศาสตราจารย์ โรจน์ คุณเอนก
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พ.ศ. 2561–2564
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พ.ศ. 2565–ปัจจุบัน

หมายเหตุ ตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

โครงสร้างการบริหาร[แก้]

สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแบ่งส่วนงาน ออกเป็นดังนี้

ผู้บริหาร[แก้]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวธาร โพธิ์กลัด (อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์) ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา

ฝ่ายวิจัย[แก้]

ประกอบด้วยนักวิจัยที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ การท่องเที่ยว ฯลฯ ตามความสนใจและเชี่ยวชาญเฉพาะบุคคล ภารกิจประกอบด้วยการวิจัย การเขียนบทความวิชาการ การจัดสัมมนาผ่านการจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ทั้งนี้ นักวิจัยจะขึ้นตรงต่อคณะผู้บริหารประจำสถาบันฯ การดำเนินงานมีทั้งที่ดำเนินการโดยทุนวิจัยภายในของสถาบันไทยคดีศึกษา ทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความร่วมมือกับแหล่งทุนภายนอก เช่น ทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนจากหน่วยงานที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น

สำนักงานเลขานุการสถาบันไทยคดีศึกษา[แก้]

แบ่งออกเป็น

งานบริหารและธุรการ ประกอบด้วย

  1. หน่วยสารบรรณ
  2. หน่วยการเจ้าหน้าที่
  3. หน่วยการประชุม
  4. หน่วยการเงินและบัญชี
  5. หน่วยงบประมาณ นโยบายและแผน
  6. หน่วยพัสดุ
  7. หน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ

งานบริการวิชาการ ประกอบด้วย

  1. หน่วยสัมมนา/ประชุมทางวิชาการ
  2. หน่วยทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
  3. หน่วยจัดพิมพ์เอกสารประกอบโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อการเผยแพร่
  4. หน่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
  5. หน่วยประกันคุณภาพ
  6. หน่วยบริหารจัดการข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร สถาบัน ทั้งภายในและต่างประเทศ (MOU)
งานส่งเสริมการวิจัย ประกอบด้วย
  1. หน่วยบริหารโครงการวิจัย
  2. หน่วยดำเนินการและจัดพิมพ์วารสารไทยคดีศึกษา
  3. หน่วยวางแผนและจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความวิจัย
  4. หน่วยสารสนเทศเพื่อการวิจัย
  5. หน่วยพัฒนาบุคลากรทางการวิจัย
  6. หน่วยคลังสิ่งพิมพ์ของสถาบันฯ

สิ่งพิมพ์ประจำสถาบัน[แก้]

วารสารไทยคดีศึกษา[แก้]

เป็นวารสารทางวิชาการ ราย 6 เดือน ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าในระดับอุดมศึกษา และเพื่อเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการเกี่ยวกับไทยศึกษา ในมิติทางด้านสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจ ทั้งนี้บทความหรือข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่ปรากฏในวารสารนี้ จะต้องผ่านกระบวนการการพิจารณาจากกองบรรณาธิการและผ่านกลั่นกรองคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง แต่รายละเอียดและเนื้อหาที่ปรากฏ ถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวและความรับผิดชอบเฉพาะของผู้เขียน โดยไม่จำเป็นต้องตรงกับความคิดเห็นหรือเป็นความรับผิดชอบของคณะบรรณาธิการผู้จัดทำ

ปัจจุบันเนื้อหาของวารสารไทยคดีศึกษา แบ่งออกเป็น

  1. บทบรรณาธิการ
  2. บทความวิจัย – วิชาการ
  3. แนะนำหนังสือ
  4. วิจารณ์หนังสือ
  5. กิจกรรมทางวิชาการ – ศิลปะและวัฒนธรรม

รายชื่อเรื่องประจำวารสารไทยคดีศึกษา[แก้]

ปีที่ ฉบับที่ ระยะเวลา ชื่อเรื่องประจำฉบับ
1
1
ตุลาคม พ.ศ. 2546 – มีนาคม พ.ศ. 2547
โลกาภิวัตน์กับอำนาจรัฐไทย
1
2
เมษายน พ.ศ. 2547 – กันยายน พ.ศ. 2547
สู่วัฒนธรรมรัฐสมัยใหม่: รัฐ vs ประชา - ชาติ
2
1
ตุลาคม พ.ศ. 2547 – มีนาคม พ.ศ. 2548
มายาและตัวตน: วิถีคิด วิถีคน
2
2
เมษายน พ.ศ. 2548 – กันยายน พ.ศ. 2548
พลิกภาพอัตลักษณ์ไทย...ไม่โดดเดี่ยว
3
1
ตุลาคม พ.ศ. 2548 – มีนาคม พ.ศ. 2549
ย้อนกำเนิด เกิดความหลากหลาย
3
2
เมษายน พ.ศ. 2549 – กันยายน พ.ศ. 2549
สืบค้นเรื่องไท(ย): ความเป็นไปทางวัฒนธรรม
4
1
ตุลาคม พ.ศ. 2549 – มีนาคม พ.ศ. 2550
พื้นที่และมุมมอง: เรื่องของไท(ย)ถึงสากล
4
2
เมษายน พ.ศ. 2550 – กันยายน พ.ศ. 2550
ต่อสู้และต่อรอง: อำนาจรัฐกับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
5
1
ตุลาคม พ.ศ. 2550 – มีนาคม พ.ศ. 2551
สารในสื่อ: วิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม
5
2
เมษายน พ.ศ. 2551 – กันยายน พ.ศ. 2551
บุคลิกไทยในศิลปกรรม
6
1
ตุลาคม พ.ศ. 2551 – มีนาคม พ.ศ. 2552
การเมืองเรื่องวีรบุรุษ มิติใหม่บนเส้นขนานทางวัฒนธรรม
6
2
เมษายน พ.ศ. 2552 – กันยายน พ.ศ. 2552
ผู้นำ อำนาจ ความฝันอันสูงสุดกับการอยู่ร่วมกัน
7
1
ตุลาคม พ.ศ. 2552 – มีนาคม พ.ศ. 2553
"เก่า – ใหม่" วิถีไทยและรสนิยม
7
2
เมษายน พ.ศ. 2553 – กันยายน พ.ศ. 2553
ความจริงกับวาทกรรม เรื่องราว เรื่องเล่า ในสังคมไทย
8
1
ตุลาคม พ.ศ. 2553 – มีนาคม พ.ศ. 2554
มายาคติและจินตนาการ: ผ่านบ้าน วัด เมือง และ วรรณกรรม
8
2
เมษายน พ.ศ. 2554 – กันยายน พ.ศ. 2554
ผู้คนและวิถี วัฒนธรรมอดีต – ชีวิตปัจจุบัน
9
1
ตุลาคม พ.ศ. 2554 – มีนาคม พ.ศ. 2555
สินค้า วัฒนธรรม พรมแดน: การเดินทางข้ามพื้นที่และกรอบจารีต
9
2
เมษายน พ.ศ. 2555 – กันยายน พ.ศ. 2555
[บาง]ทัศนะของ "ความเป็นไทย": ธรรมวิทยา ศาสนา สถาปัตย์ และชาติพันธุ์
10
1
ตุลาคม พ.ศ. 2555 – มีนาคม พ.ศ. 2556
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม: ความเปลี่ยนแปลงในกระแสวัฒนธรรม
10
2
เมษายน พ.ศ. 2556 – กันยายน พ.ศ. 2556
"ไทย" ร่วมสมัย ความเป็นไปในบริบททางวัฒนธรรม
11
1
ตุลาคม พ.ศ. 2556 – มีนาคม พ.ศ. 2557
43 ปี ของความเป็น "ไทย" (คดี) รู้และเข้าใจความเป็นไปของสังคม
11
2
เมษายน พ.ศ. 2557 – กันยายน พ.ศ. 2557
ชุมชน สังคม ความเชื่อ: ในการเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา
12
1
ตุลาคม พ.ศ. 2557 – มีนาคม พ.ศ. 2558
ศิลปะ อุดมการณ์ชาติ อารยธรรม
12
2
เมษายน พ.ศ. 2558 – ธันวาคม พ.ศ. 2558
ศาสตร์ ศิลป์ ถิ่นฐาน
13
1
มกราคม พ.ศ. 2559 – มิถุนายน พ.ศ. 2559
สังคมพหุลักษณ์ การผสมผสานอัตลักษณ์และความเชื่อ
13
2
กรกฎาคม พ.ศ. 2559 – ธันวาคม พ.ศ. 2559
ไม่มีชื่อเรื่องประจำฉบับ เนื่องจากอยู่ในช่วงถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช[6]
14
1
มกราคม พ.ศ. 2560 – มิถุนายน พ.ศ. 2560
ถอด "ศิลป์" เป็น "สาร"
14
2
กรกฎาคม พ.ศ. 2560 – ธันวาคม พ.ศ. 2560
สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
15
1
มกราคม พ.ศ. 2561 – มิถุนายน พ.ศ. 2561
ไม่มีชื่อเรื่องประจำฉบับ
15
2
กรกฎาคม พ.ศ. 2561 – ธันวาคม พ.ศ. 2561
ไม่มีชื่อเรื่องประจำฉบับ
16
1
มกราคม พ.ศ. 2562 – มิถุนายน พ.ศ. 2562
ภาพปก "พระลอ พระเพื่อน พระแพง" ดัดแปลงจากผลงานของเหม เวชกร
16
2
กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – ธันวาคม พ.ศ. 2562
17 1 มกราคม พ.ศ. 2563 – มิถุนายน พ.ศ. 2563
17 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 – ธันวาคม พ.ศ. 2563
18 1 มกราคม พ.ศ. 2564 – มิถุนายน พ.ศ. 2564
18 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 – ธันวาคม พ.ศ. 2564
19 1 มกราคม พ.ศ. 2565 – มิถุนายน พ.ศ. 2565 ฉบับล่าสุด หน้าปก พระ ๕๐ ปี สถาบันไทยคดีศึกษา
19 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2565
20 1 มกราคม พ.ศ. 2566 – มิถุนายน พ.ศ. 2566 อยู่ในระหว่างการพิจารณาบทความ
20 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2566

อ้างอิง[แก้]

  1. สถาบันไทยคดีศึกษา, “จุลสารไทยคดีศึกษา” , กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 14
  2. สถาบันไทยคดีศึกษา, “จุลสารไทยคดีศึกษา” , กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 23
  3. เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์, "รูปแบบวัฒนธรรมองค์การของสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน รวมบทความนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ในวาระ 42 ปี, กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 83-85
  4. อนันต์ วิริยะพินิจ, "อังคาร กัลยาณพงศ์กับสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 "สืบค้นเรื่องไท(ย)", กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 244-245
  5. เทียมจิตร์ พ่วงสมจิตร์, "รูปแบบวัฒนธรรมองค์การของสถาบันไทยคดีศึกษา" ใน รวมบทความนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ในวาระ 42 ปี, กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 38-39
  6. บทบรรณาธิการ ใน วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 "น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้", กรุงเทพมหานคร: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]