ข้ามไปเนื้อหา

ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย (อังกฤษ: Communism in Thailand) ประเทศสยามเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 7 โดยแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาให้ "การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น" เป็นความผิด ปัญหาภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ค่อยรุนแรงขึ้นเป็นลำดับและหมดไปแล้วในปัจจุบัน หลังการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ. 2543

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 104 โดย พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณอาญา พ.ศ. 2470 ให้เพิ่ม "การสั่งสอนทฤษฎีการเมืองหรือเศรษฐกิจเพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเกิดความเกลียดชังระหว่างชนชั้น" เป็นความผิด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกไปโดยการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499

"สมุดปกเหลือง" พ.ศ. 2476-2489

[แก้]
สมุดปกเหลืองและสมุดปกขาว

เมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476 สมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎร ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" มีผู้วิจารณ์อย่างกว้างขวางและกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดความแตกแยกในสภา รัฐบาลจึงกำหนดให้ปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และยังได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 จนปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อ 12 เมษายน พ.ศ. 2476[1] ภายหลังรัฐประหารโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2476 จึงได้เชิญปรีดีกลับมา ตั้งกรรมการสอบสวน และให้ปรีดีพ้นผิด แล้วได้มีการปรับแก้กฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับนี้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 ปรีดีปฏิเสธเสมอว่าตนเองไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่เป็น "radical socialist" (นักสังคมนิยมสุดขั้ว) ปรีดีชี้แจงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็น สังคมนิยมผสมทุนนิยม[2]

ได้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ไปในสมัยรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2489[3]

กฎหมายคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495

[แก้]

ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการออกกฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่ มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม และมีนิยามที่กว้างขวางมากขึ้น ได้มีการแก้ไขเรื่อยมาตลอดยุคเผด็จการทหาร ให้อำนาจในการจับกุม ปราบปราม กักขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาได้นานกว่าปรกติ การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐนอกจากจะเป็นไปในทางปราบปรามคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมกดขี่ประชาชนได้ตามอำเภอใจ และปิดกั้นไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในการเขียนและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน (รู้จักกันในนาม กฎหมายปราบประชาธิปไตย)[4]

วันเสียงปืนแตก

[แก้]
ปรีดีเข้าพบเหมา เจ๋อตง ผู้นำจีน ในปี 2508

วันเสียงปืนแตก คือ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508[5] ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เหตุเกิดที่ บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ทั้งนี้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง" หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลไทยมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลยื่นข้อเสนอและเจรจา เลิกต่อสู้กันด้วยอาวุธ ให้มาต่อสู้กันทางรัฐสภาแทน[6][7][8]

ยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู พ.ศ. 2516

[แก้]
การสัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง การถอนกำลังทหารสหรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2519

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาเป็นยุคสั้น ๆ ที่ประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้มีผลงานของนักคิดนักเขียนต่างๆ ออกมาอย่างเสรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เข้าพบประธานเหมา เจ๋อตุง ในปี พ.ศ. 2518 เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดสัมพันธไมตรีกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อีกครั้ง และขบวนการนักศึกษายังได้กดดันให้รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทยหลังสงครามเวียดนาม[9]

นโยบายขวาจัด พ.ศ. 2519

[แก้]
นายกรัฐมนตรีธานินทร์กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ชาร์ลส์ เอส. ไวท์เฮาส์ ในปี พ.ศ. 2519

ภายใต้รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้มีการดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ กำหนดเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์และกำหนดมาตรการรุนแรงในการปราบปราม แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มโทษข้อหาหมิ่นประมาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และตั้งศาลพิเศษดำเนินคดีกับนักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการใช้อำนาจตาม คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ปิดสื่อ หนังสื่อพิมพ์ โดย สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้พิจารณาการอนุญาตสิ่งพิมพ์[10][11]

ด้วยนโยบายขวาจัดนี้จึงทำให้นักศึกษาและปัญญาชนหลบหนีเข้าป่าเพราะเกรงกลัวการจับกุม โดยไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย[12]

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

[แก้]
พลเอกเปรม ขณะปฏิบัติภารกิจเยือนต่างประเทศเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากสงครามประชาชนยืดเยื้อนานหลายปี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งดั่งกล่าวเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2523[13] ใจความสำคัญคือใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และ "ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม"

คำสั่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลก่อนหน้ามาสู่การประนีประนอม อย่างไรก็ตามการปฏิบัติให้เป็นผลนั้นกินระยะเวลาหลายปี[14]

การยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2543

[แก้]

สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐสภาได้เห็นชอบให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2543 เป็นผลให้การกระทำเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ไม่เป็นความผิดในประเทศไทยอีกต่อไป และหน่วยงานภาครัฐไม่ต้องมีคณะกรรมการเฝ้าระวังและหมดอำนาจพิเศษในการจับกุมปราบปรามผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์[15]

สรุปความผิดและบทลงโทษตามกฎหมายคอมมิวนิสต์

[แก้]
ข้อหา โทษจำคุก โทษปรับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์
(ก) เลิกล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(ข) เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของเอกชนตกเป็นของรัฐโดยมิได้ชดใช้ค่าตอบแทนอันเป็นธรรม

มีบทบังคับอื่นๆ ครอบคลุมถึงการควบคุมผู้ต้องหาไว้เป็นเวลานานโดยไม่ส่งฟ้อง การชันสูตรพลิกศพผู้ต้องสงสัยอย่างไม่โปร่งใส และการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน

10 ปีขึ้นไป จนถึงตลอดชีวิต ไม่มี
พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 มาตรา 4

(มีการแก้ไขต่อมาถึงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2522)

พระราชบัญญัติการควบคุมตัวผู้ต้องหาว่ากระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2505

(มีการแก้ไขต่อมาอีก 3 ฉบับแล้วจึงถูกยกเลิกไปโดยการนำไปรวมกับพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2512)

(ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 พ.ศ. 2543)

อ้างอิง

[แก้]
  1. "จากลูกชาวนาสู่ผู้อภิวัฒน์ 2475 ผู้นำเสรีไทยแต่สุดท้ายเป็นคนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-02-07. สืบค้นเมื่อ 2002-02-07.
  2. ย้อนรอย ‘เค้าโครงเศรษฐกิจ’ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกที่ไม่ได้ใช้ของปรีดี พนมยงค์ ประชาไท สืบค้นเมื่อ 20–07–2020
  3. พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2489
  4. พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ และอื่น ๆ. (ม.ป.ป.). เชียงใหม่: วัฒนาการพิมพ์.
  5. "7 สิงหา วันเสียงปืนแตก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-06.
  6. "วันเสียงปืนแตก ยุทธศาสตร์การรบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-23. สืบค้นเมื่อ 2012-02-06.
  7. ปฏิบัติการก่อนวันเสียงปืนแตกของ พคท.
  8. 7 สิงหา วันมหาประชาหาญ
  9. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญํติแห่งชาติ" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2022-04-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. Interview with Samak Sundaravej (recovered 8:06 PM 2/22/2008)
  11. Bryce Beemer, Forgetting and Remembering "Hok Tulaa", the October 6 Massacre
  12. ย้อนประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในการเปิดตัวครั้งแรกหลังสงบนิ่งกว่า 30 ปี บีบีซีไทย สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2018
  13. "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-01. สืบค้นเมื่อ 2009-05-01.
  14. Bunbongkarn, Suchit (2004). "The Military and Democracy in Thailand". ใน R.J. May & Viberto Selochan (บ.ก.). The Military and Democracy in Asia and the Pacific. ANU E Press. pp. 52–54. ISBN 1920942017. สืบค้นเมื่อ 17 June 2014.
  15. พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๕๙๕. พ.ศ. ๒๕๔๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 51 ก 2 มิถุนายน 2543 หน้า 1-2