เหมา เจ๋อตง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เหมา เจ๋อตุง)
เหมา เจ๋อตง
毛泽东
เหมา เจ๋อตง ใน พ.ศ. 2511
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม พ.ศ. 2486 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(33 ปี 173 วัน)
รอง
ก่อนหน้าจาง เหวินเทียน (เลขาธิการพรรค)
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502
(4 ปี 212 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
รองจู เต๋อ
ถัดไปหลิว เช่าฉี
ประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
8 กันยายน พ.ศ. 2497 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519
(22 ปี 1 วัน)
รอง
ถัดไปฮฺว่า กั๋วเฟิง
ประธานคณะรัฐบาลประชาชนกลาง
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 – 27 กันยายน พ.ศ. 2497
(4 ปี 361 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลโจว เอินไหล
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2436
เฉาชาน มณฑลหูหนาน จักรวรรดิชิง
เสียชีวิต9 กันยายน พ.ศ. 2519 (82 ปี)
จีน ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ไว้ศพอนุสรณ์สถานประธานเหมา, ปักกิ่ง
พรรคการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน (2464–2519)
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
พรรคก๊กมินตั๋ง (2468–69)
คู่สมรส
บุตร
บุพการี
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยครูหูหนาน
ลายมือชื่อ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ毛泽东
อักษรจีนตัวเต็ม毛澤東
Courtesy name
อักษรจีนตัวย่อ润之
อักษรจีนตัวเต็ม潤之
สมาชิกสถาบันกลาง
  • 2497–2502: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2507–2519: สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการประจำกรมการเมือง ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10
  • 2481–2519: สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 6, 7, 8, 9, 10

ตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ

เหมา เจ๋อตง หรือ เหมา เจ๋อตุง (จีนตัวย่อ: 毛泽东; จีนตัวเต็ม: 毛澤東; พินอิน: Máo Zédōng; เวด-ไจลส์: Mao Tse-tung; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 – 9 กันยายน พ.ศ. 2519) เป็นนักการเมือง นักทฤษฎีลัทธิมากซ์ นักยุทธศาสตร์การทหาร กวี และนักปฏิวัติชาวจีนที่กลายเป็นบิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2492 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2519 โดยทฤษฎี ยุทธศาสตร์การทหาร และนโยบายทางการเมืองของเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ลัทธิเหมา"

เหมาเกิดในครอบครัวชาวนาฐานะร่ำรวยในหมู่บ้านเฉาชาน มณฑลหูหนาน เขาสนับสนุนลัทธิชาตินิยมจีนและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมตั้งแต่ยังเด็ก โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากเหตุการณ์การปฏิวัติซินไฮ่ในปี 2454 และขบวนการ 4 พฤษภาคมในปี 2462 ในภายหลังเขาได้นำเอาระบบลัทธิมากซ์-เลนินมาใช้ในขณะที่ทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเป็นผู้นำการปฏิวัติเก็บเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วงในปี 2470

ในช่วงสงครามกลางเมืองจีน เหมาได้ช่วยก่อตั้งกองทัพแดงจีน เป็นผู้นำนโยบายปฏิรูปที่ดินสุดโต่งของโซเวียตเจียงซี และในที่สุดก็กลายเป็นหัวหน้าพรรคในระหว่างการเดินทัพทางไกล แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะร่วมมือกับก๊กมินตั๋งชั่วคราวภายใต้แนวร่วมที่สองในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (2480–88) แต่สงครามกลางเมืองของจีนก็กลับมาดำเนินต่อหลังจากที่ญี่ปุ่นยอมจำนน และกองกำลังของเหมาก็สามารถเอาชนะรัฐบาลชาตินิยมซึ่งล่าถอยไปยังไต้หวันในปี 2492

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมาประกาศการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียวแบบลัทธิมากซ์-เลนินที่ควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงหลายปีต่อมา เขาได้กระชับอำนาจของเขาผ่านการรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน ต่อต้านเจ้าของที่ดิน การรณรงค์ปราบปรามผู้ต่อต้านการปฏิวัติ การรณรงค์ต้านสามต้านห้า และผ่านการพักรบในสงครามเกาหลี ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตของชาวจีนหลายล้านคน

ระหว่างปี พ.ศ. 2496–2501 เหมามีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับในจีน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ริเริ่มโครงการอุตสาหกรรมและโครงการทางทหาร เช่น โครงการ "ระเบิดสองลูก หนึ่งดาวเทียม" และโครงการ 523 นโยบายต่างประเทศของเหมาในช่วงเวลานี้ถูกครอบงำโดยความแตกแยกระหว่างจีนกับโซเวียต ซึ่งส่งผลให้จีนและสหภาพโซเวียตมีความห่างเหินกัน

ในปี 2498 เหมาได้ริเริ่มขบวนการซูฝาน และขบวนการต่อต้านฝ่ายขวาในปี 2500 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและผู้คัดค้านอย่างน้อย 550,000 คน ในปี 2501 เหมาได้ริเริ่มนโยบายก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนเศรษฐกิจของจีนจากการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การเกิดภาวะทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ และทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนระหว่าง 15–55 ล้านคนระหว่างปี 2501–2505

ในปี 2506 เหมาเริ่มขบวนการนักศึกษาลัทธิสังคมนิยม และในปี 2509 เขาได้ริเริ่มการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นโครงการที่จะขจัด "การต่อต้านการปฏิวัติ" ในสังคมจีนซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปี มีการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างรุนแรง การทำลายศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม และยกย่องบูชาเหมาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีประชาชนหลายสิบล้านคนที่ถูกข่มเหงรังแกในระหว่างการปฏิวัติ โดยมีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงตั้งแต่หลายแสนไปจนถึงหลายล้านคน ซึ่งรวมไปถึงหลิว เช่าฉี ประธานประเทศคนที่สอง หลังจากเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เหมา เจ๋อตง ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจในปี พ.ศ. 2519 ขณะอายุ 82 ปี

ในช่วงยุคของเหมา ประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 550 ล้านคน เป็นมากกว่า 900 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด ในช่วงเวลานี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งของประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในเอเชีย เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามกลางเมืองกัมพูชา

เหมา เจ๋อตง ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก การปฏิรูปที่ดินและการยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย ทำให้ชาวนาจีนหลายร้อยล้านคนสามารถมีที่ดินทำกินของตนเองเป็นครั้งแรก การรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือ การส่งเสริมสิทธิสตรี การสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การศึกษาภาคบังคับ และการยกระดับอายุขัยเฉลี่ย ล้วนเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาเป็นผู้นำ

เหมากลายเป็นหัวหอกทางอุดมการณ์เบื้องหลังแนวคิดของเขา และเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ เขาได้รับการยกย่อง ชื่นชม และมีลัทธิบูชาบุคคลทั้งในช่วงชีวิตและหลังจากอสัญกรรม อย่างไรก็ตาม นโยบายของเหมาก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของชาวจีนจำนวนมหาศาล โดยมีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 40–80 ล้านคนจากความอดอยาก การกดขี่ แรงงานในคุก และการประหารชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลของเขาถูกมองว่าเป็นระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ

ประวัติ[แก้]

เหมาเกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2436 ในครอบครัวชาวนา อาศัยอยู่ในเขตชนบทชานเมืองเฉาชาน มณฑลหูหนาน เมื่ออายุได้ 8 ขวบ เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมในหมู่บ้าน เรียนหลักลัทธิขงจื้อ ปลูกฝังความคิดจารีตโบราณ ต่อมาเขาถูกคลุมถุงชนให้แต่งงานกับ หลัว อีซิ่ว หญิงสาวที่อายุมากกว่า ด้วยวัยเยาว์ทำให้ไม่มีความสุขกับชีวิตครอบครัว อีกทั้งต้องการก้าวสู่โลกกว้างมากกว่ามีชีวิตทำนา เลี้ยงสัตว์อยู่กับบ้านไปวันๆ จึงตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดเข้าอำเภอฉางชา เรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตรรัฐบาล เป็นนักเรียนโข่งร่วมชั้นกับเด็กเล็กๆ ต่อมาสอบเข้าเรียนต่อวิทยาลัยครูหูหนาน จากนั้นมุ่งหน้าเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เรียนไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไปด้วย และห้องสมุดนั้นเองที่เป็นคลังความรู้ให้สะสมภูมิปัญญา ทั้งแตกฉานทางอักษรศาสตร์ ว่ากันว่าความรู้ที่ได้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่งคือต้นทุนที่ทำให้เขาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนได้สำเร็จ

เหมาทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนหนังสืออย่างจริงจัง เวลาว่างเขาเขียนบทความลงหนังสือของวิทยาลัยครู ใช้นามแฝง "เอ้อสือปาวาเซิง" หรือ "นายยี่สิบแปดขีด" ตามชื่อของเขาที่เมื่อเขียนเป็นภาษาจีนแบบตัวเต็ม จะมีทั้งหมด 28 ขีด งานเขียนส่วนใหญ่ของเหมาได้แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของราชสำนักชิงซึ่งเป็นชาวแมนจู

เหมารวมพลคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน ร่วมกันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน พ.ศ. 2464 และปีเดียวกัน เขาเป็นแกนนำหยุดงานประท้วงของคนงานเหมืองแร่ที่อันหยวน เขียนหนังสือ "พลังปฏิวัติเบ่งบานออกมาจากปากกระบอกปืน" แล้วก่อตั้งกองทัพแดงกรรมกรและชาวนา ตามด้วยกองทัพปลดแอกประชาชน ปฏิบัติการ "ป่าล้อมเมือง" จนมีชัยเหนือเจียง ไคเช็ก

เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก[แก้]

เหมา เจ๋อตง กับ เจียง ไคเชก นั้นแต่เดิมเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่เนื่องจาก เจียง เป็นมือขวาคนสำคัญของ ซุน ยัตเซน และมีความใกล้ชิดกันมาก เจียง จึงมีแนวคิดคล้ายกับ ซุน ยัตเซน นั่นคือต้องการให้ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนเหมา มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์ จึงต้องการให้ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ทั้งคู่กลายมาเป็นเป็นศัตรูกันจนถึงวันเสียชีวิตของทั้งคู่

การปฏิวัติ[แก้]

เหมามีประชาชนสนับสนุนเขามาก โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา กรรมกร และคนจน จึงได้จัดเป็นกองกำลังขึ้น โดยมีสหภาพโซเวียต คอยสนับสนุนอยู่ เพื่อปฏิวัติประเทศจีนให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ เจียง ไคเช็กซึ่งกองทัพอยู่ในมือ จึงสามารถเล่นงานเหมาได้ง่าย แต่ปัญหาหลักคือ กองทัพญี่ปุ่นที่กำลังรุกคืบมายึดจีน โดยเฉพาะในยุทธการนานกิงมีประชาชนชาวจีนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เจียง ไคเช็ก เห็นว่าคอมมิวนิสต์อันตรายกว่า จึงส่งกองทัพหวังโจมตีกองทัพของเหมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2480-พ.ศ. 2488 กองทัพเหมาสามารถ ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นได้ด้วยยุทธวิธี “สงครามยืดเยื้อ” จนได้รับชัยชนะ

ในปี พ.ศ. 2486 เหมาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์

ปี พ.ศ. 2489 เจียง ไคเช็ก ส่งกองทัพเข้ามาโจมตี กองทัพของเหมา แต่ก็สามารถเอาชนะทหารของเจียง ไคเช็กได้ ถึง 3 ครั้งใหญ่ๆ และนำทัพประชาชนเข้า คุมอำนาจรัฐบาล เจียง ไคเช็ก จึงจำเป็นต้องลี้ภัยพร้อมกับคนในรัฐบาลหลายๆ คนไป เกาะทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่เรียกว่า "ไต้หวัน" ทำให้การปกครองระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย แบ่งเป็น 2 ฝั่ง นั่นคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ ไต้หวัน

ผู้นำสูงสุดของจีน[แก้]

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เหมา ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ในปีแรกของการบริหารประเทศ เหมาเน้นการเพิ่มความชำนาญและประสิทธิภาพในการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจ และได้ให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ ผลตอบรับจึงเป็นที่ประทับใจและได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ปี พ.ศ. 2493 นานาชาติเริ่มให้การยอมรับต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์มากขึ้นตามลำดับ แต่สิ่งที่ทำให้การยอมรับจากนานาชาติต้องสะดุดคือเหตุการณ์ สงครามเกาหลี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2493 กองกำลังสหประชาชาติได้ถูกส่งเข้าไปในเกาหลีเหนือ จีนเกรงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหัวใจทางด้านอุตสาหกรรม จีนจึงส่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน แต่เรียกตนเองว่าอาสาสมัครประชาชนจีนเข้าไปในเกาหลีเหนือ ในสงครามครั้งนั้น มีประเทศที่เป็น คอมมิวนิสต์ใหญ่ๆ 2 ประเทศคือ จีนแผ่นดินใหญ่ กับ สหภาพโซเวียต เข้าช่วยเหลือเกาหลีเหนือ

จอมพล ดักลาส แมคอาเธอร์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐ มีความคิดที่จะร่วมมือกับ เจียง ไคเช็ก ว่าจะส่งกองทหารจีนคณะชาติเข้าช่วยทำสงครามในเกาหลีเพื่อปราบปรามกองทัพจีน แต่อังกฤษขอให้อเมริกางดความเห็นนี้เพราะเกรงจะเกิดสงครามใหญ่ หลังจากนั้นเขาก็ออกสื่อ ให้ทุกๆ อย่างจบลง ด้วยการโจมตีประเทศจีน จึงทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งตามคำสั่งของ แฮร์รี ทรูแมน

อสัญกรรม และพิธีศพ[แก้]

สุขภาพของเหมาเริ่มแย่ลงในช่วงทศวรรษที่ 2510 อันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่จัด เหมาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเขาพบกับ ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต นายกรัฐมนตรีปากีสถานที่มาเยือนประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2519

เหมามีอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2519 และถึงแก่อสัญกรรมในอีก 4 วันต่อมา เมื่อเวลา 00:10 น. ของวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1976 รวมอายุ 82 ปี พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของเขาผ่านทางวิทยุแห่งชาติจีน เมื่อเวลา 16:00 น.

ศพของเหมาถูกตั้งไว้ที่มหาศาลาประชาชนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ประชาชนกว่า 1 ล้านคนมาร่วมแสดงความโศรกเศร้าและอาลัย

วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1976 ประชาชนมาชุมนุมพร้อมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ฮั่ว กั๋วเฟิงได้กล่าวสรรเสริญเหมายาว 20 นาที บนหอประตูเทียนอันเหมิน เสียงปืน ไซเรน เสียงนกหวีด และเสียงแตรทั่วประเทศดังขึ้นพร้อมกันและยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 3 นาที วงดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติ และ แองเตอร์นาซิอองนาล

ปัจจุบันศพของเหมาถูกจัดแสดงไว้อย่างถาวรใน หอรำลึกประธานเหมา จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อให้ประชาชนได้มาแสดงความเคารพ

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ชีวิตครอบครัวของเขามีภรรยา 4 คน

  • นางหลัว อีซิ่ว เป็นการแต่งแบบคลุมถุงชน ซึ่งเหมาไม่ได้ยินดีนักจึงได้เลิกรากันไป
  • นางหยาง ไคฮุย เสียชีวิตในการทำสงครามเพื่อชาติ พ.ศ. 2464
  • นางเฮ่อ จื่อเจิน นายพลหญิงแห่งกองทัพแดง (เลิกรากันไป) และ
  • นางเจียง ชิง ผู้นำการปฏิวัติกองทัพแดง หรือเรด การ์ดอันนองเลือดลือลั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนใหม่ นางฆ่าตัวตายปี 2534

ภาพรวม ของ เหมา เจ๋อตง[แก้]

อนุสาวรีย์เหมาที่ ลี่เจียง

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทำการประเมินผลงานและความผิดพลาดของเหมาอย่างรอบด้าน ได้ข้อสรุปว่า แม้ในบั้นปลายชีวิต เหมาจะได้ทำความผิดพลาดที่ร้ายแรง ในเหตุการณ์เคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับผลงานอันใหญ่หลวง และยาวนานที่ท่านสร้างให้แก่แผ่นดินและประชาชนจีน คุณความดีของท่านมีมากกว่าความผิดพลาด ประธานเหมาเจ๋อตงยังคงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่เคารพรักของประชาชนจีน

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า เหมา เจ๋อตง ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง ประธานาธิบดีจีน
(27 กันยายน พ.ศ. 2497 – 27 เมษายน พ.ศ. 2502)
หลิว เช่าฉี