ชูเช
ชูเช | |
![]() | |
ชื่อเกาหลี | |
---|---|
โชซ็อนกึล | 주체사상 |
ฮันจา | 主體思想 |
อาร์อาร์ | Juche sasang |
เอ็มอาร์ | Chuch'e sasang |
แปลตรงตัว "แนวคิดแห่งอัตตา" |
ชูเช[a] เรียกอย่างเป็นทางการว่า แนวคิดชูเช[b] เป็นองค์ประกอบหนึ่งของลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล อุดมการณ์แห่งรัฐของเกาหลีเหนือและเป็นอุดมการณ์อย่างเป็นทางการของพรรคแรงงานเกาหลี แหล่งข้อมูลของเกาหลีเหนือระบุว่าแนวคิดนี้เป็นผลงานของคิม อิล-ซ็อง ผู้ก่อตั้งและผู้นำคนแรกของประเทศ เดิมทีชูเชถูกมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิมากซ์–เลนินกระทั่งคิม จ็อง-อิล บุตรชายและผู้สืบทอดอำนาจของคิม อิล-ซ็อง ประกาศว่าเป็นอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนในทศวรรษ 1970 คิม จ็อง-อิลพัฒนาชูเชต่อไปในทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยแยกทางอุดมการณ์ออกจากลัทธิมากซ์–เลนินและเพิ่มความสำคัญให้กับแนวคิดของบิดาของตน
ชูเชรวมเอาแนวคิดวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ของลัทธิมากซ์–เลนินแต่ยังเน้นย้ำอย่างมากถึงปัจเจก รัฐชาติ และอธิปไตยแห่งชาติ ชูเชตั้งสมมติฐานว่าประเทศชาติจะเจริญรุ่งเรืองเมื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยบรรลุซึ่งเอกราชทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เมื่อคิม จ็อง-อิลปรากฏตัวขึ้นในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งที่น่าจะเป็นไปได้ของคิม อิล-ซ็องในทศวรรษ 1970 ความจงรักภักดีต่อผู้นำได้รับการเน้นย้ำมากขึ้นในฐานะส่วนสำคัญของชูเช ดังที่แสดงออกในหลักสิบประการสำหรับการสถาปนาระบบอุดมการณ์เอกานุภาพ
ชูเชถูกนักวิจารณ์บรรยายไว้อย่างหลากหลายว่าเป็นเสมือนศาสนา อุดมการณ์ชาตินิยมหรือฟาสซิสต์ และเป็นการเบี่ยงเบนไปจากลัทธิมากซ์-เลนิน[1][2][3][4]
นิรุกติศาสตร์
[แก้]ชูเชมาจากคำในภาษาจีน–ญี่ปุ่นว่า 主體 (ชินจิไต: 主体) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่าชูไต คำนี้ถูกบัญญัติขึ้นใน ค.ศ. 1887 เพื่อแปลแนวคิดเรื่องซุบเย็คท์ (Subjekt) ในปรัชญาเยอรมัน (ซับเจ็กต์ หมายถึง "สิ่งที่รับรู้หรือกระทำต่อวัตถุหรือสิ่งแวดล้อม") เป็นภาษาญี่ปุ่น คำนี้แพร่หลายเข้าสู่ภาษาเกาหลีในช่วงเปลี่ยนศตวรรษและยังคงความหมายนี้ไว้[5] ชูไตปรากฏในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นของงานเขียนของคาร์ล มาคส์[6] ฉบับภาษาเกาหลีเหนือของมาคส์ใช้คำว่าชูเชแม้กระทั่งก่อนที่คำนี้จะถูกระบุว่าเป็นความหมายใหม่ของคิม อิล-ซ็องใน ค.ศ. 1955[7]
ในการสนทนาทางการเมืองร่วมสมัยเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ชูเชมีความหมายแฝงถึง "การพึ่งพาตนเอง" "ความเป็นอิสระ" และ "เอกราช"[8][9][10] มักถูกนิยามในความหมายตรงกันข้ามกับแนวคิดของเกาหลีที่เรียกว่าซาแด หรือการพึ่งพามหาอำนาจ[11] ชาวเกาหลีใต้ใช้คำนี้โดยไม่ได้อ้างอิงถึงอุดมการณ์ของเกาหลีเหนือ[12]
อุดมการณ์นี้เป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในภาษาเกาหลีว่าชูเชซาซัง (주체사상) และในภาษาอังกฤษว่า แนวคิดชูเช (Juche idea) ชูเชซาซังมีความหมายตามตัวอักษรว่า "แนวคิดแห่งอัตตา" (subject idea)[13] และยังได้รับการแปลว่าความคิดชูเช (Juche thought)[14] หรือลัทธิชูเช (Jucheism)[15] ผู้ยึดมั่นในชูเชบางครั้งถูกเรียกว่า "ชาวชูเช" (Jucheists)[16]
การพัฒนา
[แก้]แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลเกาหลีเหนือระบุว่าที่มาของชูเชนั้นมาจากประสบการณ์ของคิม อิล-ซ็องในการเข้าร่วมสหภาพล้มล้างจักรวรรดินิยม (Down-with-Imperialism Union) ในช่วงการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเกาหลีจากญี่ปุ่น[17][18] อย่างไรก็ตาม การอ้างถึงชูเชในฐานะอุดมการณ์เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานปรากฏขึ้นใน ค.ศ. 1955 เมื่อคิม อิล-ซ็องกล่าวสุนทรพจน์ชื่อ "ว่าด้วยการขจัดสิทธันตนิยมและรูปแบบนิยมและการสถาปนาชูเชในงานด้านอุดมการณ์" สุนทรพจน์ดังกล่าวส่งเสริมการกวาดล้างทางการเมืองที่คล้ายกับขบวนการแก้ไขเหยียนอานในประเทศจีน[19] สุนทรพจน์นี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "สุนทรพจน์ชูเช"[20] และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของคิม อิล-ซ็อง[21]
นักวิชาการตะวันตกโดยทั่วไปเห็นพ้องกันว่าฮวัง จัง-ย็อบ ที่ปรึกษาคนสำคัญด้านปรัชญาของคิม อิล-ซ็อง เป็นผู้รับผิดชอบการวางแนวคิดและพัฒนาชูเชในระยะแรก[22] ฮวังค้นพบสุนทรพจน์ชูเชอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1950 เมื่อคิม อิล-ซ็องสร้างลัทธิบูชาบุคคลแล้ว[23] พยายามจะพัฒนาลัทธิมากซ์–เลนินในแบบฉบับของตนเองและเสริมสร้างตำแหน่งของตนเองในพรรคแรงงานเกาหลี (WPK) ให้มั่นคง[24][25] ฮวังขยายความหมายของชูเชและเขียนประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์เกาหลีใหม่เพื่อให้ดูเหมือนว่าคิม อิล-ซ็องเป็นผู้นำของพรรคแรงงานเกาหลีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง[24] อันเดรย์ ลันคอฟ นักวิชาการชาวรัสเซียด้านเกาหลีศึกษา กล่าวว่าการอ้างถึงชูเชในฐานะอุดมการณ์ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1965 เมื่อคิม อิล-ซ็องกล่าวสุนทรพจน์ในอินโดนีเซียในหัวข้อ "ว่าด้วยการสร้างสังคมนิยมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีและการปฏิวัติเกาหลีใต้" (조선민주주의인민공화국에서의사회주의건설과남조선혁명에대하여) ลันคอฟตั้งสมมติฐานว่าสุนทรพจน์ใน ค.ศ. 1955 "ใช้คำนี้ในความหมายที่ต่างออกไป" และชูเชได้รับการยอมรับเป็น "หลักการทางอุดมการณ์พื้นฐานของการเมืองเกาหลีเหนือ" หลังจากสุนทรพจน์ใน ค.ศ. 1965 เท่านั้น[26]
ในว่าด้วยแนวคิดชูเช (On the Juche Idea) ผลงานหลักเกี่ยวกับชูเช ได้รับการตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของคิม จ็อง-อิลใน ค.ศ. 1982[27] ในเกาหลีเหนือ มันทำหน้าที่เป็น "คำอธิบายที่เชื่อถือได้และครอบคลุมเกี่ยวกับชูเช"[27] ตามศาสตรนิพนธ์ พรรคแรงงานเกาหลีมีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนในแนวทางการคิดแบบชูเช[27] ชูเชเชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับคิม อิล-ซ็องและ "เป็นตัวแทนแนวคิดชี้นำของการปฏิวัติเกาหลี"[27] แม้ชูเชจะมีรากฐานมาจากลัทธิมากซ์–เลนิน แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงการประยุกต์ใช้แนวคิดของมาคส์และเลนินให้เข้ากับสภาพการณ์ของเกาหลีอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น[28] แต่ทว่าเป็น "ระยะใหม่ของทฤษฎีการปฏิวัติ"[28] และเป็นตัวแทนของ "สมัยใหม่แห่งการพัฒนาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ"[27] คิม จ็อง-อิลยังวิพากษ์วิจารณ์คอมมิวนิสต์และนักชาตินิยมเกาหลีในทศวรรษ 1920 ที่มี "ท่าทีแบบชนชั้นนำ" โดยกล่าวว่าพวกเขา "แยกขาดจากมวลชน"[29]
รัฐบาลเกาหลีเหนือออกกฤษฎีกาในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นวันครบรอบสามปีอสัญกรรมของคิม อิล-ซ็อง ประกาศให้มีการนำปฏิทินชูเชมาใช้[30] คณะกรรมาธิการประชาชนกลาง ประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ในเดือนสิงหาคม[31] และปฏิทินเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กันยายน ซึ่งเป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐ[30] วันที่ตามปฏิทินเกรกอรีใช้สำหรับปีก่อน ค.ศ. 1912 ขณะที่ปีหลังจาก ค.ศ. 1912 (ปีที่คิม อิล-ซ็องเกิด) เรียกว่า "ปีชูเช" ตัวอย่างเช่น ปีเกรกอรี 2025 คือ "ชูเช 114" เนื่องจาก 2025 − 1911 = 114 เมื่อใช้ "ปีชูเช" มักมาพร้อมกับปีเกรกอรีที่เทียบเท่ากัน เช่น "ชูเช 114, 2025" หรือ "ชูเช 114 (2025)"[31]
หลักการสำคัญ
[แก้]เป้าหมายของชูเชคือการสถาปนารัฐที่พึ่งพาตนเองซึ่งสามารถกำหนดกิจการทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารของตนเองได้อย่างอิสระ คิม อิล-ซ็องสรุปการประยุกต์ใช้เป้าหมายนี้กับเกาหลีเหนือในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาประชาชนสูงสุดใน ค.ศ. 1967 ในหัวข้อ "ขอให้เราปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติของความเป็นเอกราช การพึ่งพาตนเองและการป้องกันตนเองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในทุกด้านของกิจกรรมแห่งรัฐ":[32]
ประการแรก รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจักดำเนินตามแนวทางแห่งเอกราช การพึ่งพาตนเอง และการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของเอกราชทางการเมืองของประเทศ สร้างรากฐานเศรษฐกิจแห่งชาติที่เป็นอิสระให้มั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น สามารถประกันการรวมชาติ เอกราช และความเจริญรุ่งเรืองของชาติเราได้อย่างสมบูรณ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ เพื่อปกป้องความมั่นคงของปิตุภูมิอย่างน่าเชื่อถือด้วยกำลังของเราเอง โดยการนำแนวคิดชูเชของพรรคเราไปปฏิบัติอย่างงดงามในทุก ๆ ด้าน[33]
เอกราชทางการเมือง (자주; ชาชู) เป็นหลักการสำคัญของชูเช ชูเชเน้นย้ำถึงความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชาติ และโต้แย้งว่าทุกรัฐมีสิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง[34] การยอมจำนนต่อแรงกดดันหรือการแทรกแซงจากต่างชาติถือเป็นการละเมิดหลักการเอกราชและคุกคามความสามารถของประเทศในการปกป้องอธิปไตย[34] สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับซาแดจูอี (사대주의) ซึ่งสนับสนุนการพึ่งพามหาอำนาจ[35] อย่างไรก็ตาม ชูเชไม่ได้สนับสนุนการโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิงและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐสังคมนิยม[34] ดังที่คิม จ็อง-อิลเขียนไว้ในว่าด้วยแนวคิดชูเชว่า "เอกราชไม่ได้ขัดแย้งกับลัทธิสากลนิยม แต่เป็นพื้นฐานของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของลัทธิสากลนิยม[36] คิม อิล-ซ็องยอมรับว่าการเรียนรู้จากรัฐสังคมนิยมอื่น ๆ โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตและจีน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเกาหลีเหนือ แต่ไม่ต้องการจะปฏิบัติตามแบบอย่างของพวกเขาอย่างตายตัว[34] เขากล่าวว่าพรรคแรงงานเกาหลีต้อง "ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อแนวโน้มที่จะกลืนสิ่งต่าง ๆ ของผู้อื่นโดยไม่ย่อย หรือเลียนแบบพวกมันอย่างกลไก" โดยยกย่องว่าความสำเร็จในช่วงต้นของเกาหลีเหนือเป็นผลมาจากความเป็นอิสระของพรรคแรงงานเกาหลีในการกำหนดนโยบาย[34]
ผู้ยึดมั่นในชูเชเชื่อว่าการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ (자립; ชาริบ) เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเอกราชทางการเมือง[34] คิม อิล-ซ็องเชื่อว่าความช่วยเหลือจากต่างชาติที่มากเกินไปเป็นภัยคุกคามต่อความสามารถของประเทศในการพัฒนาสังคมนิยม ซึ่งมีเพียงรัฐที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเป็นเอกราชเท่านั้นที่จะสร้างได้[34] ในว่าด้วยแนวคิดชูเช คิม จ็อง-อิลโต้แย้งว่ารัฐจะสามารถบรรลุการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ก็ต่อเมื่อได้สร้าง "เศรษฐกิจแห่งชาติที่พึ่งตนเองได้" โดยมีอุตสาหกรรมหนักเป็นพื้นฐาน[37] เนื่องจากภาคส่วนนี้จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนอื่น ๆ เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี[38] และการพึ่งพาตนเองด้านทรัพยากร[39] แต่กล่าวว่าสิ่งนี้ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ของ "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ" ระหว่างรัฐสังคมนิยม[39]
การพึ่งพาตนเองทางทหาร (자위; ชาวี) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐในการรักษาเอกราชทางการเมือง[40] เพื่อให้บรรลุการพึ่งพาตนเองทางทหาร รัฐต้องพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศเพื่อเลี่ยงการพึ่งพาผู้จัดหาอาวุธจากต่างประเทศ[41] คิม จ็อง-อิลโต้แย้งว่าเป็นที่ยอมรับได้สำหรับรัฐสังคมนิยมที่จะรับความช่วยเหลือทางทหารจากพันธมิตร แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อรัฐนั้นมีความเข้มแข็งทางการทหารด้วยตนเอง[42]
ชูเชในทางปฏิบัติ
[แก้]การทูต
[แก้]ในช่วงสงครามเย็น เกาหลีเหนือรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและจีน โดยมีที่มาจากการถูกโซเวียตยึดครองและการทำสงครามร่วมกับคอมมิวนิสต์จีน อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ต่อต้านสิ่งที่มองว่าเป็นการพยายามแทรกแซงกิจการภายในประเทศหลังสงครามของโซเวียตและจีนด้วย[43] ตัวอย่างเช่น ความพยายามที่ไม่สำเร็จในการท้าทายความเป็นผู้นำของคิม อิล-ซ็องใน ค.ศ. 1956 นำไปสู่การกวาดล้างกลุ่มที่นิยมโซเวียตและนิยมจีนออกจากพรรคแรงงานเกาหลี[44] เกาหลีเหนือปฏิเสธความพยายามล้มล้างอิทธิพลสตาลินของนีกีตา ครุชชอฟ นายกรัฐมนตรีโซเวียต แต่เลี่ยงการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในช่วงความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียต[45]
เกาหลีเหนือได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิกขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดใน ค.ศ. 1975 และตั้งแต่นั้นมาก็ได้นำเสนอตัวเองในฐานะผู้นำของโลกที่สาม โดยส่งเสริมชูเชให้เป็นแบบอย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะปฏิบัติตาม[46][47]
การอยู่รอดของชาติถูกมองว่าเป็นหลักการชี้นำยุทธศาสตร์ทางการทูตของเกาหลีเหนือ[48] ขณะที่ประเทศในกลุ่มตะวันออกล่มสลายและนำการปฏิรูปตลาดมาใช้ เกาหลีเหนือได้เน้นย้ำชูเชมากขึ้นทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ[49][50][51] แม้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เกาหลีเหนือก็ยังคงเน้นย้ำความเป็นเอกราชของตนเองบนเวทีโลก[52]
เศรษฐกิจ
[แก้]ภายหลังความเสียหายจากสงครามเกาหลี เกาหลีเหนือเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยมีพื้นฐานจากอุตสาหกรรมหนัก ด้วยเป้าหมายจะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด[53] ผลที่ตามมาคือ เกาหลีเหนือได้พัฒนาสิ่งที่ถูกเรียกว่า "เศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองมากที่สุดในโลก"[54][55] เกาหลีเหนือได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหภาพโซเวียตและจีน แต่ไม่ได้เข้าร่วมคอมิคอน (Comecon) ตลาดร่วมของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์[56][57] ในช่วงทศวรรษ 1990 เกาหลีเหนือมีอัตราการพึ่งพาน้ำมันต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยใช้พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินแทนน้ำมันนำเข้า[58] อุตสาหกรรมสิ่งทอของเกาหลีเหนือใช้ไวนิลลอน หรือที่รู้จักในชื่อ "เส้นใยชูเช" ซึ่งถูกประดิษฐ์โดยชาวเกาหลีและผลิตจากถ่านหินและหินปูนที่มีอยู่ในท้องถิ่น[59][60] ประวัติความเป็นมาของไวนิลลอนมักปรากฏอยู่ในโฆษณาชวนเชื่อที่สั่งสอนคุณธรรมของการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี[55] ใน ค.ศ. 2010 เกาหลีเหนือมีเครื่องจักร CNC จำนวน 10,000 เครื่อง[61] เครื่องจักร CNC ที่ผลิตในประเทศเครื่องแรกถูกนำมาใช้ใน ค.ศ. 1995 และใน ค.ศ. 2017 มีเครื่องจักรประมาณ 15,000 เครื่อง[62]
นักวิจารณ์มักชี้ให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่างหลักการของการพึ่งพาตนเองกับการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990[63] การแสวงหาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองถูกตำหนิว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์นั้น[64] ในมุมมองนี้ ความพยายามจะพึ่งพาตนเองนำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพและการละเลยโอกาสในการส่งออกในอุตสาหกรรมที่เกาหลีเหนือมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ [65]
การป้องกัน
[แก้]กองทัพประชาชนเกาหลีเป็นหนึ่งในกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและได้พัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง[66][67] พวกเขาผลิตเชื้อเพลิง UDMH สำหรับขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลว[68] และเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตตูมันสกี อาร์ดี-9 ซึ่งใช้ขับเคลื่อนเครื่องบินมีโกยาน-กูเรวิช มิก-19 และเฉิ่นหยาง เจ-6[69] เครื่องจักร CNC ผลิตขีปนาวุธและเครื่องเหวี่ยง[62] โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือตั้งแต่สงครามเกาหลีได้เปรียบเทียบความเป็นอิสระทางทหารของตนกับการมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐในเกาหลีใต้[55]
การเข้าถึงระดับนานาชาติ
[แก้]
คิม อิล-ซ็องเชื่อว่าหลักการของชูเชสามารถนำไปประยุกต์ใช้นอกประเทศเกาหลีได้[70] เขาส่งเสริมชูเชแก่กลุ่มประเทศโลกที่สามในฐานะอุดมการณ์ต่อต้านจักรวรรดินิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะสิ่งตรงกันข้ามกับจักรวรรดินิยมสหรัฐ[71] เอนเวอร์ ฮอกซ์ฮา ผู้นำคอมมิวนิสต์แอลเบเนีย ผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ ที่เขาถือว่าละทิ้งลัทธิมากซ์–เลนิน บรรยายความพยายามของคิม อิล-ซ็องในการเผยแพร่ชูเชในกลุ่มประเทศโลกที่สามว่าเป็น "ความทะเยอทะยาน" ที่กระทำโดยร่วมมือกับกลุ่มนิยมลัทธิตีโต กลุ่มจักรวรรดินิยมสหรัฐ และกลุ่มจักรวรรดินิยมสังคมนิยมโซเวียตและจีน[72]
เกาหลีเหนือเริ่มจัดการสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับชูเชใน ค.ศ. 1976 การสัมมนาวิทยาศาสตร์นานาชาติว่าด้วยแนวคิดชูเชครั้งแรกจัดขึ้นที่อันตานานารีโว ประเทศมาดากัสการ์ ระหว่างวันที่ 28 ถึง 30 กันยายน ค.ศ. 1976 โดยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยมาดากัสการ์ มีเจ้าหน้าที่พรรคและรัฐบาลที่มีชื่อเสียง นักการเมือง ผู้แทนจากองค์การปฏิวัติและก้าวหน้า นักวิทยาศาสตร์และนักข่าวจากกว่า 50 ประเทศเข้าร่วม ดีดีเยร์ รัตซีรากา ประธานาธิบดีมาดากัสการ์ แสดงความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนเกาหลีเหนือขณะกล่าวเปิดการสัมมนา[73] ใน ค.ศ. 1978 รัฐบาลเกาหลีเหนือก่อตั้งสถาบันนานาชาติแห่งแนวคิดชูเช (เดิมชื่อศูนย์วิจัยนานาชาติชูเช) ในโตเกียวเพื่อดูแลกิจกรรมของกลุ่มศึกษาชูเชนานาชาติ[74] แผ่นบรรณาการจากกลุ่มเหล่านี้ถูกเก็บไว้ในหอคอยชูเชในเปียงยาง[9]
ฝ่ายหนึ่งในขบวนการนักศึกษาเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 ยอมรับชูเชเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับระบบการเมืองของประเทศ กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในชื่อฝ่ายชูเชหรือเรียกสั้น ๆ ว่าชูซาพา (주사파)[75]
ชูเชได้รับการนำไปใช้หรือศึกษาโดยองค์กรฝ่ายซ้ายจัดและฝ่ายขวาจัดจำนวนมากนอกประเทศเกาหลี พรรคเสือดำของสหรัฐศึกษาชูเชในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970[76] พรรคกรรมกรและชาวนาเนปาลประกาศให้ชูเชเป็นแนวคิดชี้นำใน ค.ศ. 2016[77] พรรคประชาชนชนบท กลุ่มในเครือของกลุ่มลัทธิซาตานนีโอนาซี ออร์เดอร์ออฟไนน์แองเกิลส์ (Order of Nine Angles) รายงานว่ายึดมั่นในชูเชและมีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ[78] องค์กรก่อการร้ายนีโอนาซี อาโทมวาฟเฟินดีวีซีโอน (Atomwaffen Division) ก็ส่งเสริมลัทธิชูเชเช่นกัน[79]
แนวคิดที่เกี่ยวข้อง
[แก้]ซ็อนกุน
[แก้]
ซ็อนกุน (선군정치; Sŏn'gun chŏngch'i; แปล การเมืองแบบทหารมาก่อน) ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1997 ในหนังสือพิมพ์โรดงชินมุนภายใต้หัวข้อ "ชัยชนะของสังคมนิยมอยู่ในปืนและระเบิดของกองทัพประชาชน" (인민군대의 총창우에 사회주의의 승리가 있다) คำอธิบายในบทความสะท้อนถึงความคิดที่เน้นทหารเป็นศูนย์กลางในเวลานั้น: "[ซ็อนกุนคือ] ปรัชญาปฏิวัติเพื่อปกป้องสังคมนิยมแบบของเราภายใต้สถานการณ์ใด ๆ" แนวคิดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นของคิม จ็อง-อิล[80] ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าซ็อนกุนเป็นขั้นต่อไปของการพัฒนาชูเช[81]
บทบรรณาธิการร่วมชื่อ "การเมืองแบบทหารมาก่อนของพรรคเราจะบรรลุชัยชนะอย่างเลี่ยงไม่ได้และจะไม่มีวันปราชัย" (우리 당의 선군정치는 필승불패이다) ได้รับการตีพิมพ์โดยกึลโลจาและโรดงชินมุน (นิตยสารทฤษฎีและหนังสือพิมพ์ของพรรคแรงงานเกาหลี ตามลำดับ) ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1999[82] ในนั้นระบุว่าซ็อนกุนหมายถึง "แนวทางการเป็นผู้นำภายใต้หลักการให้ความสำคัญกับทหารเป็นอันดับแรกและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิวัติและการสร้างสรรค์ ตลอดจนสถาปนากองทัพให้เป็นแกนหลักของการปฏิวัติในระหว่างการบรรลุภารกิจทั้งหมดของสังคมนิยม" ขณะที่บทความอ้างถึง "พรรคเรา" บ่อยครั้ง นี่ไม่ใช่การอ้างถึงพรรคแรงงานเกาหลี แต่เป็นการอ้างอิงถึงความเป็นผู้นำส่วนบุคคลของคิม จ็อง-อิล[83]
คณะกรรมการป้องกันประเทศ องค์กรทางทหารสูงสุด ถูกกำหนดให้เป็นองค์กรสูงสุดของรัฐโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกาหลีเหนือใน ค.ศ. 1998 สมัยซ็อนกุนถือว่าเริ่มต้นด้วยการแก้ไขครั้งนี้[83]
ในปลาย ค.ศ. 2021 คิม จ็อง-อึนประกาศว่า "การเมืองแบบทหารมาก่อน" แบบซ็อนกุนจะถูกแทนที่ด้วย "การเมืองแบบประชาชนมาก่อน" (인민대중제일주의) ภายใต้การชี้นำของเขา[84]
ซูรย็อง
[แก้]
ซูรย็อง (수령형상창조; Suryŏng hyŏngsang ch'angjo; แปล การสร้างรูปผู้นำ) เป็นทฤษฎีปฏิวัติที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นผู้นำกับสังคม[85] ต่างจากลัทธิมากซ์–เลนิน ซึ่งพิจารณาการพัฒนาในเงื่อนไขทางวัตถุของการผลิตและการแลกเปลี่ยนเป็นแรงขับเคลื่อนของความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ (รู้จักในชื่อวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์) ชูเชพิจารณามนุษย์โดยทั่วไปว่าเป็นแรงขับเคลื่อนในประวัติศาสตร์[85] สรุปได้ว่า "มวลชนถูกวางไว้ในศูนย์กลางของทุกสิ่ง และผู้นำคือศูนย์กลางของมวลชน"[85] เกาหลีเหนือยืนยันว่าชูเชเป็น "อุดมการณ์ที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง" ซึ่ง "มนุษย์เป็นนายของทุกสิ่งและตัดสินใจทุกสิ่ง"[85] ตรงกันข้ามกับลัทธิมากซ์–เลนิน ซึ่งการตัดสินใจของประชาชนถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ของพวกเขากับปัจจัยการผลิต ชูเชโต้แย้งว่าการตัดสินใจของประชาชนคำนึงถึง แต่เป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก[85] เช่นเดียวกับลัทธิมากซ์–เลนิน ชูเชเชื่อว่าประวัติศาสตร์ถูกควบคุมโดยกฎหมาย แต่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้า โดยระบุว่า "มวลชนเป็นผู้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์"[86] กระบวนการสำหรับมวลชนในการเข้าถึงจิตสำนึก ความเป็นอิสระ และความคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องมี "ความเป็นผู้นำของผู้นำผู้ยิ่งใหญ่"[86] ลัทธิมากซ์–เลนินโต้แย้งว่ามวลชนจะเป็นผู้นำ (บนพื้นฐานของความสัมพันธ์กับการผลิต) แต่ในเกาหลีเหนือ บทบาทของความเป็นผู้นำที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดระเบียบกลุ่มที่เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ[87] ลี กโย-ดุก นักรัฐศาสตร์เกาหลีใต้ โต้แย้งว่าซูรย็องช่วยให้คิม อิล-ซ็องสร้างระบบเอกภาพเหนือเกาหลีเหนือ[87]
ทฤษฎีกล่าวว่าผู้นำมีบทบาทชี้ขาดในฐานะผู้นำสูงสุด[88] ผู้นำเปรียบเสมือนสมองของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิวัติ[88] ผู้นำยังเป็นมนุษย์ที่ไร้ที่ติ ผู้ซึ่งไม่เคยทำผิดพลาด และเป็นผู้ชี้นำมวลชน[89] มวลชนคือพลังขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาต้องการการชี้นำจากผู้นำพรรค[90]
ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล
[แก้]ลัทธิคิมอิลซ็อง (김일성주의) และสิบหลักการสำหรับการสถาปนาระบบอุดมการณ์เอกานุภาพได้รับการแนะนำอย่างเป็นทางการโดยคิม จ็อง-อิลใน ค.ศ. 1974[91] มีรายงานว่าคิม จ็อง-อิลทำเช่นนั้นเพื่อเสริมสร้างตำแหน่งของเขาภายในพรรคแรงงานเกาหลี โดยใช้ประโยชน์จากอำนาจทางการเมืองสูงสุดของบิดา[91] ลัทธิคิมอิลซ็องหมายถึงแนวคิดของคิม อิล-ซ็อง ขณะที่สิบหลักการทำหน้าที่เป็นแนวทางสำหรับชีวิตทางการเมืองและสังคมของเกาหลีเหนือ[91] คิม จ็อง-อิลโต้แย้งว่าแนวคิดของบิดาได้พัฒนาขึ้นและดังนั้นจึงสมควรได้รับชื่อที่ต่างกันของตนเอง[92] สื่อของรัฐเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้ได้อธิบายแนวคิดของคิม อิล-ซ็องว่าเป็น "ลัทธิมากซ์–เลนินร่วมสมัย" โดยเรียกแนวคิดเหล่านั้นว่า "ลัทธิคิมอิลซ็อง" คิม จ็อง-อิลพยายามยกระดับแนวคิดของบิดาให้มีสถานะเทียบเท่ากับลัทธิสตาลินและลัทธิเหมา[92] ไม่นานหลังการแนะนำ "ลัทธิคิมอิลซ็อง" เข้าสู่พจนานุกรมของเกาหลีเหนือ คิม จ็อง-อิลเริ่มเรียกร้องให้มีการ "เปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลีเหนือให้เป็นแบบลัทธิคิมอิลซ็อง"[91]
ลิม แจ-ช็อน นักวิเคราะห์การเมือง โต้แย้งว่าไม่มีความต่างที่สังเกตได้ระหว่างลัทธิคิมอิลซ็องกับชูเช และทั้งสองคำนี้สามารถใช้แทนกันได้[91] อย่างไรก็ตาม ในสุนทรพจน ค.ศ. 1976 ของเขาเรื่อง "ว่าด้วยการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับของลัทธิคิมอิลซ็อง" คิม จ็อง-อิลกล่าวว่าลัทธิคิมอิลซ็องประกอบด้วย "แนวคิดชูเชและทฤษฎีการปฏิวัติและวิธีการเป็นผู้นำที่กว้างไกลซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดนี้"[93] เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ลัทธิคิมอิลซ็องเป็นแนวคิดดั้งเดิมที่ไม่สามารถอธิบายได้ภายในกรอบของลัทธิมากซ์–เลนิน แนวคิดชูเช ซึ่งเป็นแก่นแท้ของลัทธิคิมอิลซ็อง เป็นแนวคิดที่ค้นพบใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ"[92] คิม จ็อง-อิลกล่าวต่อไปอีกว่าลัทธิมากซ์–เลนินล้าสมัยและต้องถูกแทนที่ด้วยลัทธิคิมอิลซ็อง:[94]
ทฤษฎีการปฏิวัติของลัทธิคิมอิลซ็องเป็นทฤษฎีการปฏิวัติที่ได้ให้คำตอบแก่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติการปฏิวัติในสมัยใหม่ที่ต่างจากสมัยที่ทำให้เกิดลัทธิมากซ์–เลนิน บนพื้นฐานของแนวคิดชูเช ผู้นำได้ให้คำอธิบายอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทฤษฎี กลยุทธ์ และยุทธวิธีของการปลดปล่อยชาติ การปลดปล่อยชนชั้น และการปลดปล่อยมนุษย์ในสมัยของเรา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทฤษฎีการปฏิวัติของลัทธิคิมอิลซ็องเป็นทฤษฎีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบในสมัยชูเช[94]
ตามที่ชิน กี-วุก นักวิเคราะห์กล่าวไว้ แนวคิดของชูเชและลัทธิคิมอิลซ็องนั้นโดยแก่นแท้แล้วเป็นการ "แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลีเหนือเหนือลัทธิลัทธิมากซ์–เลนิน ซึ่งถูกมองว่ามีความเป็นสากลกว่า"[94] ศัพท์ใหม่นี้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมนิยมไปสู่ชาตินิยม[94] สิ่งนี้ปรากฏชัดในสุนทรพจน์ที่คิม จ็อง-อิลกล่าวใน ค.ศ. 1982 ระหว่างการเฉลิมฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีของบิดา ซึ่งเขากล่าวว่าความรักชาติมาก่อนความรักสังคมนิยม[95] ความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนี้ก่อให้เกิดแนวคิดต่าง ๆ เช่น "ทฤษฎีชาติเกาหลีเป็นอันดับหนึ่ง" (조선민족제일주의) และ "สังคมนิยมแบบของเรา" (우리식사회주의).[96]
หลังอสัญกรรมของคิม จ็อง-อิลในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ลัทธิคิมอิลซ็องกลายเป็น ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล (김일성-김정일주의) ในการประชุมครั้งที่ 4 ของพรรคแรงงานเกาหลีในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012[97] สมาชิกพรรคในการประชุมกล่าวว่าพรรคแรงงานเกาหลีเป็น "พรรคของคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิล" และประกาศว่าลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลเป็น "แนวคิดชี้นำเดียวของพรรค[97] หลังจากนั้น สำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) กล่าวว่า "ประชาชนเกาหลีเรียกนโยบายปฏิวัติและแนวคิดของท่านประธานาธิบดี [คิม อิล-ซ็อง] และคิม จ็อง-อิลว่าลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลมานานแล้วและยอมรับว่าเป็นแนวทางชี้นำของชาติ"[98] คิม จ็อง-อึน บุตรชายของคิม จ็อง-อิล ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคแรงงานเกาหลีกล่าวว่า:
ลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลเป็นระบบบูรณาการของแนวคิด ทฤษฎีและวิธีการของชูเช และเป็นอุดมการณ์ปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ที่เป็นตัวแทนของสมัยชูเช ภายใต้การนำของลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิล เราควรดำเนินการสร้างพรรคและกิจกรรมของพรรค เพื่อรักษาลักษณะปฏิวัติของพรรคเราและขับเคลื่อนการปฏิวัติและการก่อสร้างให้สอดคล้องกับแนวคิดและความตั้งใจของท่านประธานาธิบดี [คิม อิล-ซ็อง] และท่านนายพล [คิม จ็อง-อิล][99]
เนนารา (Naenara) เว็บทำอย่างเป็นทางการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ประกาศว่า: "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นรัฐสังคมนิยมอิสระที่ชี้นำโดยลัทธิคิมอิลซ็อง–คิมจ็องอิลอันยิ่งใหญ่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ"[100]
สังคมนิยมในแบบของเรา
[แก้]"สังคมนิยมในแบบของเรา" (우리식사회주의) ในเกาหลีเหนือเรียกว่า "สังคมนิยมแบบเกาหลี" และ "สังคมนิยมแบบของเรา" เป็นแนวคิดทางอุดมการณ์ที่คิม จ็อง-อิลนำเสนอเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1990 ในสุนทรพจน์เรื่อง "สังคมนิยมในประเทศของเราคือสังคมนิยมในแบบของเราที่สืบทอดมาจากแนวคิดชูเช" (우리 나라 사회주의는 주체 사상을 구현한 우리식 사회주의이다)[96] ในการกล่าวสุนทรพจน์ภายหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1989 ที่ล้มล้างประเทศกลุ่มตะวันออก คิม จ็อง-อิลกล่าวอย่างชัดเจนว่าเกาหลีเหนือจำเป็นต้องมีและอยู่รอดได้ด้วยสังคมนิยมในแบบของเรา[96] เขาอ้างว่าสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกล้มเหลวเพราะพวกเขา "เลียนแบบประสบการณ์ของโซเวียตในลักษณะกลไก"[96] ตามความเห็นของคิม พวกเขาไม่เข้าใจว่าประสบการณ์ของโซเวียตนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์และสังคมที่เฉพาะเจาะจงและไม่สามารถนำไปใช้ได้กับประเทศอื่นนอกจากสหภาพโซเวียตเอง[96] เขาเสริมว่า "หากถือว่าประสบการณ์เป็นสิ่งที่สัมบูรณ์และยอมรับอย่างดันทุรัง ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสังคมนิยมอย่างเหมาะสม เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน"[96] คิม จ็อง-อิลกล่าวต่อไปวิพากษ์วิจารณ์ "การประยุกต์ใช้ลัทธิมากซ์–เลนินอย่างดันทุรัง" โดยระบุว่า:[101]
ลัทธิมากซ์–เลนินนำเสนอชุดความเห็นเกี่ยวกับการสร้างสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ แต่จำกัดอยู่เพียงสมมติฐานและข้อสันนิษฐานอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของยุคสมัยและประสบการณ์เชิงปฏิบัติของพวกเขา ... แต่หลายประเทศนำหลักการของแนวคิดวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์แบบมากซ์–เลนินไปใช้อย่างตายตัว โดยล้มเหลวในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องภายหลังการสถาปนาระบบสังคมนิยม[101]
เกาหลีเหนือจะไม่ประสบปัญหาเช่นนั้นเนื่องจากการก่อกำเนิดของชูเช[102] ในคำกล่าวของเขา เกาหลีเหนือเป็น "สังคมกึ่งศักดินาที่เป็นอาณานิคมและล้าหลัง" เมื่อพวกคอมมิวนิสต์เข้ายึดอำนาจ แต่เนื่องจากคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือไม่ยอมรับลัทธิมากซ์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของยุโรปกับทุนนิยม หรือลัทธิเลนิน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของรัสเซีย พวกเขาจึงคิดค้นชูเช[102] เขาเชื่อว่าสถานการณ์ในเกาหลีเหนือมีความซับซ้อนกว่าเนื่องจากการมีอยู่ของอเมริกาในเกาหลีใต้ที่อยู่ใกล้เคียง[102] คิม จ็อง-อิลกล่าวว่าด้วยคุณูปการของคิม อิล-ซ็อง การปฏิวัติได้ "นำเสนอนโยบายและแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเหมาะสมกับความปรารถนาของประชาชนและความเฉพาะเจาะจงของสถานการณ์ในประเทศของเรา"[102] "ชูเชเป็นทฤษฎีการปฏิวัติที่ครองตำแหน่งสูงสุดของการพัฒนาอุดมการณ์ปฏิวัติของชนกรรมาชีพ" คิม จ็อง-อิลกล่าว และเสริมว่าความเป็นเอกลักษณ์และความเหนือกว่าของชูเชได้กำหนดและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมนิยมเกาหลี[102] จากนั้นเขาก็ยอมรับโดยกล่าวว่าสังคมนิยมในแบบของเราคือ "สังคมนิยมที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง" ซึ่งเป็นการแยกตัวอย่างชัดเจนจากแนวคิดพื้นฐานของลัทธิมากซ์–เลนิน ซึ่งแย้งว่าพลังทางวัตถุเป็นแรงขับเคลื่อนของความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ผู้คน[102] สังคมนิยมในแบบของเราถูกนำเสนอในฐานะทฤษฎีทางสังคมและการเมืองแบบองค์รวม โดยใช้ภาษาของลัทธิมากซ์–เลนิน กล่าวว่า:[103]
พลังอำนาจทางการเมืองและอุดมการณ์ของพลังขับเคลื่อนของการปฏิวัติมิใช่อื่นใด นอกเสียจากพลังแห่งความเป็นเอกภาพด้วยใจเดียวระหว่างผู้นำ พรรค และมวลชน ในสังคมนิยมของเรา ผู้นำ พรรค และมวลชนร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก่อร่างเป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองและสังคมหนึ่งเดียว การรวมกันอย่างแน่นแฟ้นดุจสายเลือดระหว่างผู้นำ พรรค และมวลชนได้รับการรับประกันโดยอุดมการณ์เดียวและการนำที่เป็นเอกภาพ[103]
การวิเคราะห์
[แก้]การวิจารณ์
[แก้]นักวิจารณ์เรียกชูเชว่าเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมและการเบี่ยงเบนไปจากหลักการของลัทธิมากซ์–เลนิน[104] ไบรอัน เรย์โนลส์ ไมเยอส์ นักเกาหลีวิทยาชาวอเมริกันโต้แย้งว่าชูเชมีความคล้ายคลึงกับลัทธิฟาสซิสต์และชาตินิยมสุดโต่งของญี่ปุ่นมากกว่าลัทธิมากซ์–เลนิน[2][3] ซอ แด-ซุก นักรัฐศาสตร์ชาวเกาหลีโต้แย้งว่าคิม อิล-ซ็องไม่ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมรักชาติ ซึ่งเขาบอกว่าเขาสนับสนุน กับชาตินิยม ซึ่งเขาบอกว่าเขาต่อต้าน ซอวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเริ่มต้นของชูเชของคิม อิล-ซ็องโดยกล่าวว่าเขาไม่สามารถอธิบายได้ว่าลัทธิมากซ์–เลนินถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสภาพการณ์ของเกาหลีได้อย่างไร[4] ตรงกันข้าม เดริก อาร์. ฟอร์ด นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเน้นย้ำถึงความต่อเนื่องระหว่างลัทธิมากซ์–เลนินกับชูเช[105] และยกย่องชูเชว่าเป็นหลักการนำทางที่ทำให้เกาหลีเหนือสามารถอยู่รอดได้หลังการล่มสลายของกลุ่มตะวันออก[106]
ชาลส์ เค. อาร์มสตรอง นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันโต้แย้งว่าเกาหลีเหนืออาจดู "เป็นสตาลินในรูปแบบ" แต่ "เป็นชาตินิยมในเนื้อหา"[107] ชิน กี-วุกก็โต้แย้งในทำนองเดียวกันว่า "ไม่มีร่องรอยของลัทธิมากซ์–เลนินหรือแนวคิดแบบสตาลินเกี่ยวกับความเป็นชาติ" ในเกาหลีเหนือ และรัฐบาลของประเทศกลับเน้นย้ำถึงความสำคัญของสายเลือด จิตวิญญาณ และลักษณะประจำชาติของชาวเกาหลี สะท้อนถึงนักชาตินิยมเกาหลีรุ่นก่อน เช่น ชิน แช-โฮ, อี กวัง-ซู และชเว นัม-ซ็อน[108] ชินเชื่อว่าความต่างที่สำคัญระหว่างลัทธิมากซ์–เลนินกับชูเชคือลัทธิหลังให้ความสำคัญกับอุดมการณ์เหนือวัตถุนิยม ศัพท์เกี่ยวกับสายตระกูลและความเป็นชาตินิยมถูกรักษาไว้และให้ความสำคัญเหนือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ขณะที่การแบ่งแยกและลำดับชั้นทางสังคมได้รับการสนับสนุนแทนที่จะเป็นสังคมไร้ชนชั้นและสมภาคนิยม[107]
นักวิจารณ์บางคนปัดตกความคิดที่ว่าชูเชเป็นอุดมการณ์โดยสิ้นเชิง ไมเยอส์โต้แย้งว่าไม่สามารถอธิบายได้ว่าชูเชเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่แท้จริงเพราะไม่มีระบบความเชื่อพื้นฐาน[109] ขณะที่อัลโซ เดวิด-เวสต์เรียกมันว่า "ไร้ความหมายบนพื้นฐานของตรรกะและธรรมชาติ"[110] รอเบิร์ต อี. เคลลี นักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกัน โต้แย้งว่าชูเชมีอยู่เพียงเพื่อปกป้องการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของตระกูลคิมในเกาหลีเหนือเท่านั้น[111] อย่างไรก็ตาม ไมเยอส์ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าชูเชเป็นอุดมการณ์นำของเกาหลีเหนือ โดยมองว่าการยกย่องต่อสาธารณะนั้นถูกออกแบบมาเพื่อหลอกลวงชาวต่างชาติ เขาโต้แย้งว่ามันมีอยู่เพื่อให้ได้รับการสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อให้ถูกอ่านจริง ๆ[112] จากประสบการณ์ที่เขาเคยอาศัยอยู่ในเกาหลีเหนือ เฟลิกซ์ แอบต์ นักธุรกิจชาวสวิส เรียกข้อโต้แย้งของไมเยอส์ว่า "ไม่มั่นคง" และ "น่าสงสัย" หลังได้เห็นระดับความเชื่อมั่นในชูเชของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวเกาหลีเหนือ แอบต์กล่าวว่ามัน "ค่อนข้างไร้สาระ" ที่จะเรียกว่าเป็น "ฉากหน้า" สำหรับชาวต่างชาติ[113] บรูซ คัมมิงส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน และคริสตอฟ ฮาร์ตมุต บลูท ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็โต้แย้งในทำนองเดียวกันว่าชูเชไม่ใช่แค่วาทศิลป์ แต่เป็นอุดมคติของการพึ่งพาตนเองที่เกาหลีเหนือพยายามนำไปปฏิบัติ[54][57]
การเปรียบเทียบกับอุดมการณ์อื่น
[แก้]ชูเชถูกเปรียบเทียบกับลัทธิบะอษ์ อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับที่สนับสนุนการก่อตั้งรัฐอาหรับที่เป็นเอกภาพบนพื้นฐานของสังคมนิยมและการพึ่งพาตนเองของชาติ[114] พัก ซัง-ซิก นักวิจารณ์การเมืองชาวเกาหลีใต้ กล่าวว่าลัทธิบะอษ์ของซีเรียโดยเฉพาะมีความคล้ายคลึงทางการพูดกับชูเช แต่ลัทธิหลังมีรากฐานทางอุดมการณ์ที่แข็งแกร่งกว่า[115]
เบนจามิน ไซเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เขียนบทความให้กับสถาบันวิจัยนโยบายอนุรักษ์นิยม อเมริกันเอ็นเทอร์ไพรซ์ (American Enterprise Institute) แสดงความเห็นว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของดอนัลด์ ทรัมป์มีความคล้ายคลึงกับชูเช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาตั้งข้อสังเกตว่าทั้งทรัมป์และชูเชต่างสนับสนุนนโยบายการแยกตัวออกจากนานาชาติและการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ[116]
การเปรียบเทียบกับศาสนา
[แก้]นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้เปรียบเทียบแง่มุมต่าง ๆ ของชูเชกับศาสนาเกาหลีที่มีอยู่ก่อนแล้ว จุง แท-อิลโต้แย้งกล่าวว่าองค์ประกอบบางอย่างของศาสนาคริสต์ ลัทธิช็อนโด และลัทธิขงจื๊อถูกนำมาปรับใช้และรวมเข้าไว้ในชูเช[117] บย็อง โฮ-ชุง และฮอนิก ควอน นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชาวเกาหลี เปรียบเทียบการรำลึกถึงคิม อิล-ซ็องและคิม จ็อง-อิลกับการบูชาบรรพบุรุษตามขงจื๊อ[117] ในทำนองเดียวกัน จู จุน-ฮีโต้แย้งว่าลัทธิทรงเจ้าเข้าผีของเกาหลีมีอิทธิพลต่อชูเช โดยเปรียบเทียบสภาวะปีติยินดีที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมทรงเจ้า (กุต) กับความกระตือรือร้นและความศรัทธาที่ชาวเกาหลีเหนือแสดงออกต่อผู้นำสูงสุดของพวกเขา[117] อาร์มสตรองจึงเรียกชูเชว่าเป็นกึ่งศาสนา[1]
การมีอยู่ของผู้นำศักดิ์สิทธิ์
[แก้]อุดมการณ์สอนว่าบทบาทของผู้นำผู้ยิ่งใหญ่นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อมวลชนในการประสบความสำเร็จในขบวนการปฏิวัติของพวกเขา เพราะหากไม่มีผู้นำ พวกเขาจะไม่สามารถอยู่รอดได้[118] นี่คือรากฐานของลัทธิบูชาบุคคลของคิม อิล-ซ็อง ลัทธิบูชาบุคคลอธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ชูเชจึงยังคงอยู่ได้ แม้ในช่วงที่รัฐบาลเกาหลีเหนือพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ในช่วงทุพภิกขภัยในทศวรรษ 1990[119] แนวคิดเรื่อง "ผู้นำศักดิ์สิทธิ์" ในชูเชรวมถึงลัทธิบูชาตระกูลคิมได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับอุดมการณ์รัฐชินโตของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งจักรพรรดิถูกมองว่าเป็นเทพเจ้า[120]
ด้วยความเชื่อพื้นฐานในบทบาทสำคัญของผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ คิม อิล-ซ็องได้กลายเป็น "เทพเจ้าสูงสุดของประชาชน" และชูเชได้รับการเสริมสร้างในรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือในฐานะหลักการชี้นำของประเทศ[121] โครงสร้างความสัมพันธ์คู่ขนานระหว่างคิม อิล-ซ็องกับประชาชนของเขาและผู้ก่อตั้งศาสนาหรือผู้นำศาสนากับผู้ติดตามของพวกเขาทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพิจารณาว่าชูเชเป็นทั้งขบวนการทางศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง[117] อย่างไรก็ตาม ผู้ที่คุ้นเคยกับลัทธิคลั่งไคล้ชี้ให้เห็นว่าชูเชละเลยหลักการของศาสนาโดยสิ้นเชิงและตรงตามเกณฑ์ของลัทธิคลั่งไคล้แบบเบ็ดเสร็จ[122]
การที่ชูเชเน้นย้ำถึงบทบาททางการเมืองและอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้นำและการบูชาที่ตามมาโดยมวลชนได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักลัทธิมากซ์ตะวันตกหลายคน[118] ซึ่งโต้แย้งว่าชนกรรมาชีพเกาหลีเหนือถูกลิดรอนเกียรติ และเรียกการบูชาบุคคลว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมาร์กซิสต์และไม่เป็นประชาธิปไตย[123]
พิธีกรรม
[แก้]พฤติกรรมทางศาสนาของชูเชยังสามารถมองเห็นได้จากมุมมองของชาวเกาหลีเหนือผ่านการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยที่เป็นอดีตผู้เข้าร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ของเกาหลีเหนือ ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งคือเทศกาลอารีรัง เทศกาลกายกรรมและศิลปะที่จัดขึ้น ณ สนามกีฬารึงนาโด 1 พฤษภาคม ในกรุงเปียงยาง องค์ประกอบทั้งหมดของเทศกาล ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดง การระดมทรัพยากร การเกณฑ์ผู้ชม และการประชาสัมพันธ์การแสดงได้ถูกเปรียบเทียบกับแง่มุมต่าง ๆ ของงานศาสนาระดับชาติ[124]
มีการกล่าวกันว่าเทศกาลอารีรังแสดงให้เห็นถึงอำนาจของรัฐบาลเกาหลีเหนือในการจัดระเบียบการชุมนุมในรูปแบบหนึ่งของการรวมตัวทางศาสนา โดยได้กระทำเช่นนั้นด้วยการ "นำเอามวลร่างกายมาใช้ในการออกกำลังกายแบบกายกรรมและศิลปะการแสดงที่แสดงให้เห็นถึงผู้นำในฐานะบิดาและผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของเขา"[125] ประสิทธิภาพของเทศกาลในการเปลี่ยนผู้เข้าร่วมให้กลายเป็นสาวกผู้ภักดีของชูเชดูเหมือนจะมาจากหลักการคติรวมหมู่ที่ว่า "หนึ่งเพื่อทั้งหมดและทั้งหมดเพื่อหนึ่ง" และความผูกพันทางอารมณ์และความจงรักภักดีต่อผู้นำที่ตามมา[125] จากคำบอกเล่าของผู้ลี้ภัยที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมการแสดงยิมนาสติกหมู่ขนาดใหญ่ หลักการคติรวมหมู่ได้รับการบ่มเพาะด้วยการลงโทษทางร่างกาย เช่น การทุบตี และที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดระเบียบผู้ถูกเกณฑ์เป็นหน่วยย่อย ซึ่งการแสดงของพวกเขาถูกหน่วยที่ใหญ่กว่าตรวจสอบ[126] องค์ประกอบที่เป็นพิธีกรรมของคติรวมหมู่ในเทศกาลนี้ทำหน้าที่เสริมสร้าง "โครงสร้างทางสังคมและความรู้สึก" บางอย่าง โดยสถาปนาคิม อิล-ซ็องให้เป็น "บิดา" ทั้งในร่างกายและจิตใจของผู้แสดง[125]
ครอบครัวนิยม
[แก้]ชาลส์ เค. อาร์มสตรอง นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน โตเแย้งว่าครอบครัวนิยมได้แปรเปลี่ยนตัวเองไปเป็นศาสนาการเมืองในรูปแบบของชูเช ด้วยการปรากฏตัวของชูเชเป็นหลักการชี้นำทางการเมืองของเกาหลีเหนือตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ความสัมพันธ์แบบครอบครัวภายในหน่วยย่อยได้ถูกถ่ายทอดไปสู่หน่วยระดับชาติที่ใหญ่ขึ้น โดยมีคิม อิล-ซ็องเป็นตัวแทนของพ่อและประชาชนชาวเกาหลีเหนือเป็นลูก ๆ ของเขา ดังนั้นชูเชจึงมีพื้นฐานมาจากภาษาของความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยมี "เสียงสะท้อน" ของความกตัญญูและความรักของแม่แบบเอเชียตะวันออกหรือขงจื๊อใหม่[127]
อาร์มสตรองยังโต้แย้งอีกว่าเกาหลีเหนือได้ถ่ายทอด "ความกตัญญูของชาตินิยมในครอบครัวของผู้นำเอง" โดยการวางตำแหน่งให้คิม อิล-ซ็องเป็นดั่งปิตุลาสากล[128] เขาโต้แย้งว่าขณะที่การดำเนินตามอุดมการณ์ชูเชอย่างเป็นทางการในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นสัญญาณถึงความปรารถนาของเกาหลีเหนือที่จะแยกตัวออกจาก "ภราดรภาพสังคมนิยมสากล" แต่อุดมการณ์นี้ก็เข้ามาแทนที่สตาลินในฐานะบุคคลที่เป็นดั่งบิดาด้วยคิม อิล-ซ็อง[129] กล่าวโดยสรุป ชาตินิยมในครอบครัวของเกาหลีเหนือได้เข้ามาแทนที่ "ภาษาของสังคมนิยมที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมและมุ่งเน้นชนชั้น ด้วยภาษาของความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรัก และภาระผูกพันที่เข้าใจและระบุได้ง่ายกว่า"[130]
หลังได้รับตำแหน่งสำคัญในพรรคแรงงานเกาหลีและกองทัพในช่วงต้นทศวรรษ 1980 คิม จ็อง-อิลเปลี่ยนลัทธิบูชาบุคคลที่ล้อมรอบคิม อิล-ซ็องให้กลายเป็นลัทธิบูชาครอบครัวและกลายเป็นผู้สืบทอดอำนาจที่ชัดเจน[131] อาร์มสตรองเรียกว่าสิ่งนี้ว่า "ความสัมพันธ์แบบครอบครัว" ศัพท์ที่ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ใช้เพื่ออธิบายถึง "การแทนที่พ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กด้วยพ่อแม่ในจินตนาการที่เป็นความผิดปกติทางประสาท"[132] การยกย่องคิม อิล-ซ็องให้เป็น "บิดาผู้ยิ่งใหญ่" ได้รับการเสริมความแข็งแกร่งด้วยพัฒนาการของความสัมพันธ์แบบครอบครัวของเกาหลีเหนือด้วยภาษา สัญลักษณ์ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวนิยม[117]
ดูเพิ่ม
[แก้]- อิลมินิสม์ อุดมการณ์ทางการเมืองของอี ซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้
- ฝ่ายชูเช ฝ่ายการเมืองภายในขบวนการนักศึกษาของเกาหลีใต้
- บรรณานุกรมของคิม อิล-ซ็อง
- บรรณานุกรมของคิม จ็อง-อิล
- บรรณานุกรมของคิม จ็อง-อึน
- คอมมิวนิสต์แห่งชาติ
- ลัทธิแก้ไข (ลัทธิมากซ์)
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Armstrong 2012, p. 4 : "Among observers outside of North Korea, opinions about the 'ruling ideology' of juche range from the view that juche is a complete sham, merely disguising the Kim family despotism, to those who see it as a quasi-religion more or less believed by a majority of the population."
- ↑ 2.0 2.1 Kelly 2015 : "Brian Myers has led this school, which argues that North Korea is a misunderstood racist state based on Japanese and German fascist forms from the early twentieth century. It rallies its citizens through aggressive race-based nationalism (the defence of minjok), defends the racial 'cleanliness' of Korea in a big intrusive world, insists that ethnic Koreans of other nationalities are still Koreans, and routinely uses racist language in its diplomacy. On top of this, it is one of the most highly militarised states in the world. Racism plus hypermilitarism looks a lot more like fascism than communism."
- ↑ 3.0 3.1 Fisher 2016 : "[The Soviets] had a problem: There wasn't really a leftist intelligentsia or officialdom to draw upon. So the Soviets ended up recycling in many of the Koreans who'd been a part of the Japanese fascist project in Korea. ... 'Almost all intellectuals who moved to Pyongyang after liberation had collaborated with the Japanese so some degree,' the historian B.R. Myers writes in his book The Cleanest Race: How North Koreans See Themselves and Why It Matters."
- ↑ 4.0 4.1 Suh 1988, p. 309.
- ↑ Myers 2015, p. 11.
- ↑ Myers 2015, p. 12.
- ↑ Myers 2015, p. 13.
- ↑ Cumings 1997, pp. 207, 403–04.
- ↑ 9.0 9.1 Abt 2014, pp. 73–74.
- ↑ Robinson 2007, p. 159.
- ↑ Lone & McCormack 1993, p. 180.
- ↑ Myers 2015, pp. 13–14.
- ↑ Myers 2015, p. 14.
- ↑ Myers 2008, p. 161.
- ↑ Jung 2013.
- ↑ Lankov 2014, pp. 30–31.
- ↑ Foreign Languages Publishing House 2014, p. 1.
- ↑ Kim, Kim & Kim 2005, p. 10.
- ↑ Asiatic Research Institute, Korea University 1970, p. 63.
- ↑ Myers 2015, p. 68.
- ↑ Suh 1981, p. 109.
- ↑ Becker 2005, p. 65.
- ↑ Lee, Ch'oe & de Bary 2001, p. 419.
- ↑ 24.0 24.1 Becker 2005, pp. 65–66.
- ↑ French 2007, p. 30.
- ↑ Lankov 2007.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 Kwak & Joo 2016, p. 19.
- ↑ 28.0 28.1 Kim 1982, p. 7.
- ↑ Kwak & Joo 2016, p. 20.
- ↑ 30.0 30.1 Lee 2001, p. 220.
- ↑ 31.0 31.1 KCNA 1997.
- ↑ Lee 2003, p. 105.
- ↑ Kim 2021, p. 12.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 34.3 34.4 34.5 34.6 Lee 2003, p. 106.
- ↑ Jeong 2020.
- ↑ Kim 1982, p. 42.
- ↑ Kim 1982, p. 45.
- ↑ Kim 1982, p. 46.
- ↑ 39.0 39.1 Kim 1982, p. 47.
- ↑ Lee 2003, p. 107.
- ↑ Kim 1982, p. 52.
- ↑ Kim 1982, pp. 49–50.
- ↑ Kim & Zagoria 1975, p. 1018.
- ↑ Chung 1978, p. 45.
- ↑ Armstrong 2010.
- ↑ Armstrong 2009, pp. 10–13.
- ↑ Wertz, Oh & Kim 2015, p. 1.
- ↑ Jager 2013, p. 434.
- ↑ Lynn 2007, pp. 105–107.
- ↑ Robinson 2007, pp. 159–160.
- ↑ Buzo 2002, p. 95.
- ↑ Jager 2013, pp. 471–472.
- ↑ Bluth 2008, pp. 32–33.
- ↑ 54.0 54.1 Cumings 1997, p. 419.
- ↑ 55.0 55.1 55.2 Robinson 2007, p. 160.
- ↑ Cumings 1997, p. 420.
- ↑ 57.0 57.1 Bluth 2008, p. 33.
- ↑ Cumings 1997, p. 426.
- ↑ Abt 2014, p. 39.
- ↑ Lynn 2007, pp. 134–135.
- ↑ Hee 2010.
- ↑ 62.0 62.1 Shin 2017.
- ↑ Lynn 2007, p. 138.
- ↑ Buzo 2002, pp. 147–152.
- ↑ Jager 2013, p. 367.
- ↑ Quinones 2008, p. 5.
- ↑ Beauchamp-Mustafaga 2014.
- ↑ Lewis 2017.
- ↑ Bermudez 2017.
- ↑ Cumings 1997, p. 404.
- ↑ Armstrong 2009, p. 5.
- ↑ Hoxha 1979, p. 520.
- ↑ Foreign Languages Publishing House 1977, p. 11.
- ↑ Lynn 2007, pp. 107–108.
- ↑ The Korea Herald 2012.
- ↑ Branigan 2014.
- ↑ Lee 2016.
- ↑ Thayer 2013.
- ↑ Young 2023.
- ↑ Kihl & Kim 2006, p. 63.
- ↑ Foreign Languages Publishing House 2014, p. 61.
- ↑ Rodong Sinmun 1999.
- ↑ 83.0 83.1 Kihl & Kim 2006, p. 64.
- ↑ Yonhap News Agency 2021.
- ↑ 85.0 85.1 85.2 85.3 85.4 Lee 2004, p. 4.
- ↑ 86.0 86.1 Lee 2004, p. 5.
- ↑ 87.0 87.1 Lee 2004, p. 6.
- ↑ 88.0 88.1 Lee 2004, p. 7.
- ↑ Lee 2004, p. 8.
- ↑ Lee 2004, p. 9.
- ↑ 91.0 91.1 91.2 91.3 91.4 Lim 2012, p. 561.
- ↑ 92.0 92.1 92.2 Shin 2006, pp. 89–90.
- ↑ Shin 2006.
- ↑ 94.0 94.1 94.2 94.3 Shin 2006, p. 90.
- ↑ Shin 2006, pp. 90–91.
- ↑ 96.0 96.1 96.2 96.3 96.4 96.5 Shin 2006, p. 91.
- ↑ 97.0 97.1 Rüdiger 2013, p. 45.
- ↑ Alton & Chidley 2013, p. 109.
- ↑ Kim 2012, p. 6.
- ↑ "Politics of the Democratic People's Republic of Korea". Naenara. สืบค้นเมื่อ 17 January 2025.
- ↑ 101.0 101.1 Shin 2006, pp. 91–92.
- ↑ 102.0 102.1 102.2 102.3 102.4 102.5 Shin 2006, p. 92.
- ↑ 103.0 103.1 Shin 2006, pp. 92–93.
- ↑ Seth 2019, p. 159.
- ↑ Ford 2018.
- ↑ IIJI 2020.
- ↑ 107.0 107.1 Shin 2006, p. 94.
- ↑ Shin 2006, p. 93.
- ↑ Young 2016.
- ↑ David-West 2011, p. 104.
- ↑ Kelly 2015.
- ↑ Rank 2012.
- ↑ Abt 2014, pp. 62–63.
- ↑ Bar 2006, p. 365.
- ↑ Park 2017.
- ↑ Zycher 2025.
- ↑ 117.0 117.1 117.2 117.3 117.4 Jung 2013, p. 95.
- ↑ 118.0 118.1 Helgesen 1991, p. 205.
- ↑ Hoare 2012, p. 192.
- ↑ Halpin 2015.
- ↑ Cumings 2003, p. 158.
- ↑ Hassan 2017.
- ↑ Helgesen 1991, p. 206.
- ↑ Jung 2013, p. 101.
- ↑ 125.0 125.1 125.2 Jung 2013, p. 96.
- ↑ Jung 2013, p. 111.
- ↑ Armstrong 2005, p. 383.
- ↑ Armstrong 2005, p. 389.
- ↑ Armstrong 2005, p. 390.
- ↑ Armstrong 2005, p. 384.
- ↑ South China Morning Post 1982.
- ↑ Armstrong 2005, p. 385.
หนังสืออ่านเพิ่ม
[แก้]- Gray, Kevin (2023). "Turning Marx on His Head? North Korean Juche as Developmental Nationalism". Critical Asian Studies. Taylor & Francis Group.
- หน้าที่มีสัทอักษรสากลภาษาเกาหลี
- Use of the text parameter in Infobox Korean name
- ชูเช
- ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือ
- อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ
- การเมืองฝ่ายซ้ายจัดในเอเชีย
- รัฐบาลเกาหลีเหนือ
- อุดมการณ์ของพรรคแรงงานเกาหลี
- ลัทธิแยกอยู่โดดเดี่ยว
- คิม อิล-ซ็อง
- คิม จ็อง-อิล
- ชาตินิยมเกาหลี
- ปรัชญาเกาหลี
- ลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งชาติ
- ชาตินิยมในเกาหลี
- วัฒนธรรมเกาหลีเหนือ
- ทฤษฎีการเมือง
- การเมืองเกาหลีเหนือ
- ศัพท์ทางการเมืองของเกาหลีเหนือ
- การโฆษณาชวนเชื่อในประเทศเกาหลีเหนือ
- อุดมการณ์ของรัฐ
- อุดมการณ์รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
- ประเภทของสังคมนิยม