เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพจำลองแสดงสัณฐานภูเขา[1]และเส้นทางของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล[2] อยู่ที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 พื้นที่ได้รับการประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย มีอาณาเขตครอบคลุมท้องที่ ตำบลเนินมะปราง ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก และตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,775 ไร่ หรือ 2.84 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะทางธรณีวิทยา[แก้]

ภูเขาผาท่าพลเป็นเขาหินปูน อยู่ในมหายุคพาลีโอซีน (Palaeocene) และอยู่ในยุคย่อยคาร์บอนิฟอรัส (Caboniferus) มีอายุราว 360-286 ล้านปีมาแล้ว เป็นภูเขาที่ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ภูเขาหินปูนบริเวณนี้ ส่วนมากเกิดจากการทับถมของเปลือกหอย พลับพลึงทะเล หรือปะการัง มีการตกตะกอนทางเคมีอยู่น้อยมาก จากการศึกษาและจำแนกซากดึกดำบรรพ์ ทำให้ทราบว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน

ลักษณะภูมิประเทศ พรรณไม้ และสัตว์ป่า[แก้]

ภูเขาผาท่าพลเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ภูเขาทอดยาวมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ประมาณ 236 เมตร มีที่ราบเล็ก ๆ ตามหุบเขา มีลำน้ำไหลลอดเป็นถ้ำผ่านภูเขาสองแห่ง ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ลักษณะเช่นนี้พบได้น้อยมากในประเทศไทย ป่าไม้ทั่วไปเป็นพรรณไม้ชนิดที่ขึ้นได้บนภูเขาหินปูน เช่น ไทร สลัดได จันทน์ผา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็นสังคมพืชบนภูเขาหินปูน สามารถทนร้อนและทนแล้งได้ดี นอกจากนี้ยังมีพืชที่ขึ้นตามที่ราบริมลำห้วยเช่น หวายขม บริเวณป่าดิบแล้งยังมีพรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก ยาง มะค่าโมง มะหาด มะเดื่อ ฯลฯ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์บนภูเขาหินปูน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เลียงผา หมีควาย หมีคน เม่นใหญ่ เม่นหางพวง เสือปลา นิ่ม ฯลฯ สัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติที่สามารถเห็นอย่างใกล้ชิดได้ เช่น ลิงอ้ายเงียะ[3] และ กระรอก รวมทั้งค้างคาวปากย่นที่มีนับล้านตัว มีนกประจำถิ่น และนกอพยพอีกหลายชนิด ได้แก่ นกกางเขนดง นกกะรางหัวหงอก นกกวัก นกจับแมลงคอแดง นกคอทับทิม ฯลฯ

สถานที่ศึกษาธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ[แก้]

road signs
  • ถ้ำนเรศวร มีหินงอกหินย้อยคล้ายพระมาลาเบี่ยง
  • ถ้ำเรือ มีรูปคล้ายเรือคว่ำเป็นเพดานถ้ำ
  • ซากดึกดำบรรพ์ ซากหอยและปะการังอายุ 360 ล้านปี
  • อักษรญี่ปุ่น ตัวอักษรปริศนาบนหิน เชื่อว่าทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สลักไว้
  • ถ้ำเต่า ถ้ำที่ใช้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ฉลุยหิน
  • ถ้ำลอด ถ้ำที่สามารถใช้ลอดทะลุไปถึงอีกฟากของภูเขา
  • ถ้ำผาแดง มีการทาสีไว้ด้วยมนุษย์โบราณ
  • เพิงผาฝ่ามือแดง มีภาพสียางไม้ผสมเฮมาไทต์ 35 ภาพ วาดเป็นศิลปะต่าง ๆ และประทับเป็นรอยฝ่ามือไว้ด้วยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 4 พันปีมาแล้ว
  • ถ้ำค้างคาว เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว และมีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีทั้งค้างคาวปากย่น และค้างคาวปีกถุงเคราดำ

ถ้ำเรือ[แก้]

ถ้ำเรือ เป็นถ้ำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาท่าพล ได้ชื่อว่าถ้ำเรือก็เพราะว่า ภายในถ้ำพบรูปรอยคล้ายเรือคว่ำอยู่บนเพดานถ้ำ ซึ่งการเกิดรูปรอยเรือคว่ำบนเพดานถ้ำนั้น เกิดจากถ้ำแห่งนี้มีน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้ผนังถ้ำที่เป็นหินปูนมีการละลายซ้ำ ส่วนไหนที่ละลายได้ง่ายก็จะขยายกว้างขึ้น จนดูคล้ายรูปเรือคว่ำในที่สุด บริเวณหน้าถ้ำเรือสามารถเห็นสังคมป่าภูเขาหินปูนได้โดยง่าย ซึ่งพืชบริเวณนี้จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พันธ์ไม้พื้นล่างในส่วนที่อยู่ริมน้ำมีความชื้นสูง จะเป็นพันธ์ไม้ที่ขึ้นในป่าดงดิบ เช่นหวายขม พันธ์ไม้พื้นล่างที่มีหน้าดินตื้นมีหินมาก กลับเป็นพวกหญ้า เถาวัลย์หนาม และงิ้วป่า เป็นไม้เบิกนำ เมื่อมองสูงขึ้นไปจะเห็นพันธ์ไม้ที่สามารถขึ้นในที่แล้งได้ เช่น สลัดได ที่มีลำต้นคล้ายตะบองเพชร พืชเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมพืชป่าภูเขาหินปูนมีความหลากหลายของชนิดพันธ์ไม้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ความชื้นในดิน และแสงสว่าง นอกจากนี้ถ้ำเรือยังมีซากดึกดำบรรพ์ของหอยฝาคู่ ปะการังและไครนอยด์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ภูเขาผาท่าพลมองจากเส้นทาง 1344
  2. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)
  3. ศูนย์วิจัยไพรเมท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (8 ก.ค. 2559). "พิษณุโลก-มหัศจรรย์ถ้ำเรือ 360 ล้านปี". 13:41:44 น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-23. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2018.