ข้ามไปเนื้อหา

ศาลาเฉลิมกรุง

พิกัด: 13°44′48″N 100°30′0″E / 13.74667°N 100.50000°E / 13.74667; 100.50000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง
Sala Chalermkrung Royal Theatre
ศาลาเฉลิมกรุง
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทโรงละคร/โรงภาพยนตร์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
สถาปัตยกรรมร่วมสมัย
เมืองเลขที่ 66 ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้าง1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 - พ.ศ. 2476[1]
ปรับปรุงพ.ศ. 2536[2]
ค่าก่อสร้าง9 ล้านบาท[3]
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร[2]
บริษัทบางกอก
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005584

ศาลาเฉลิมกรุง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เฉลิมกรุง เป็นโรงมหรสพหลวง ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ติดกับห้าง ดิโอลด์สยามพลาซ่า เดิมเป็นโรงภาพยนตร์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ศาลาเฉลิมกรุงได้วางศิลาฤกษ์โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 และเปิดฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 โดยมี มหาภัยใต้ทะเล เป็นภาพยนตร์ปฐมทัศน์

ภายหลังสร้างเสร็จ ศาลาเฉลิมกรุงได้ชื่อว่าเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งทันสมัยในยุคนั้น เครื่องปรับอากาศที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรับอากาศระบบ Chilled Water System ซึ่งเป็นระบบไอน้ำรุ่นแรกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการใช้พัดลมทั่วไป[3]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485-2488 (รัชกาลที่ 8) ใช้เป็นที่แสดงละครเวทีและดนตรี เนื่องจากไม่มีภาพยนตร์ฉาย ต่อมามีการปรับปรุงใหญ่โดย บริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ สามารถใช้ได้ทั้งฉายภาพยนตร์และการแสดงบนเวทีขนาดกว้างขวางกว่าเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ในนาม เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์ และการแสดงโขนจินตนฤมิตร [4]

ประวัติ

[แก้]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาพยนตร์เป็นมหรสพและ การสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง สามารถเทียบได้กับการโทรทัศน์ในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์ในสยามสมัยนั้นมีประมาณ 20 โรง กระจายอยู่ทั่วเขตพระนครและธนบุรี จัดฉายภาพยนตร์นำเข้าจากต่างประเทศ (มากกว่าครึ่งเป็นภาพยนตร์จากสหรัฐ หรือจาก ฮอลลีวู้ด)

สภาพโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีขนาดเล็กคล้ายโรงไม้ หลังคามุงสังกะสี จนกระทั่ง วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งใหม่ที่โอ่อ่าทันสมัยเพื่อเป็นที่ระลึกการเฉลิมฉลองพระนครที่จะมีอายุครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 ขนาดจุผู้ชมได้มากกว่า 1,000 ที่นั่ง และเป็นโรงมหรสพแห่งแรกในเอเชียมีเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำ (chilled water system)

ตัวอาคารรูปสี่เหลี่ยมสูงแบบสมัยใหม่ ตั้งอยู่บริเวณหัวถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตรีเพชร ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างโดยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร และ นารถ โพธิปราสาท เป็นวิศวกร สร้างโดยบริษัทบางกอก ภายในออกแบบตกแต่งเรียบง่าย ระหว่างตะวันตกผสมผสานกับไทย และได้รับพระราชทานนามว่า "ศาลาเฉลิมกรุง" เปิดฉายปฐมฤกษ์ด้วยหนังฝรั่งเสียงในฟิล์ม เรื่อง "มหาภัยใต้ทะเล" [5] เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 มีรายงานว่าคนดูล้นหลามออกมาถีงถนนหน้าโรงจนรถรางยวดยานต่าง ๆ ติดขัดหยุดชะงักชั่วคราว [6]

นอกจากฉายหนังฝรั่งตามปกติ หนังพูดของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง และ บริษัทไทยฟิล์ม (นำโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลและคณะ) เป็นโปรแกรมหนังไทยที่ได้รับความนิยมทุกเรื่อง

ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา เปลี่ยนเป็นโรงละครเวที จนสงครามสงบแล้วระยะหนึ่ง จึงกลับมาฉายภาพยนตร์อีกครั้ง เริ่มด้วย "สุภาพบุรุษเสือไทย" หนังไทย 16 มม. พากย์สด เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2492 ทำรายได้มากกว่า 3 แสนบาท สูงสุดกว่าเรื่องใด ๆ ในเวลานั้น

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ กายสิทธิ์ ตันติเวชกุล ผู้จัดการในช่วง พ.ศ. 2486 - 2515 รวมเวลานานถึง 29 ปี [7]

ปัจจุบัน ยังคงเปิดดำเนินการในชื่อ "เฉลิมกรุงรอยัลเธียเตอร์" ด้วยการบริหารของบริษัทเฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด โดย มานิตย์ รัตนสุวรรณ และ นฤนล ล้อมทอง (ผู้จัดการ) ทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2535 โดยขยายเวทีพร้อมติดตั้งระบบไฮโดรลิกเลื่อนขึ้นลงได้และปรับที่นั่งเหลือราว 600 ที่ [8] ยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ ระยะแรกจัดแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูง "โขน" ผสมผสานเทคนิคทันสมัย รายการอื่น ๆ เช่น ละครเวที เรื่องแรกคือ "ศรอนงค์" (ซึ่งเคยแสดง ณ ที่แห่งนี้ โดยคณะละครของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6) โดย อารีย์ นักดนตรี , "ศาลาเพลง" โดย นันทวัน สุวรรณปิยะศิริ, งานของมูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ, งานรำลึกถึงมิตร ชัยบัญชา โดย ชมรมคนรักมิตร ฯลฯ [9] ตลอดจนฉายภาพยนตร์และการแสดงมหรสพสำคัญในบางโอกาส ได้แก่ การฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์โลกเรื่อง สุริโยไท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2544 และในปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี ทั้งสองเรื่องเป็นผลงานกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศาลาเฉลิมกรุง“โรงภาพยนตร์แห่งชาติ” ร.๗ พระราชทานให้เชิดหน้าชูตาประเทศ อันดับหนึ่งของเอเซีย!!! เก็บถาวร 2016-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการ .สืบค้นเมื่อ 14/12/2559
  2. 2.0 2.1 2.2 ศาลาเฉลิมกรุง เก็บถาวร 2016-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์ .สืบค้นเมื่อ 14/12/2559
  3. 3.0 3.1 3.2 ศาลาเฉลิมกรุงโรงหนังติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย?, guru.sanook .สืบค้นเมื่อ 14/12/2559
  4. ธนาทิพ ฉัตรภูมิ, หน้า 49
  5. ธนาทิพ ฉัตรภูมิ , หน้า 38-40
  6. หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันพุธ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476
  7. ธนาทิพ ฉัตรภูมิ ,หน้า 41-45
  8. ธนาทิพ ฉัตรภูมิ, หน้า 47
  9. ธนาทิพ ฉัตรภูมิ ,หน้า49
  • ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, นาฎยศิลป์รัชกาลที่ 9, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2549.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ฉัตรภูมิ, ธนาทิพ (2547). ตำนานโรงหนัง. เวลาดี. ISBN 974-9659-11-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′48″N 100°30′0″E / 13.74667°N 100.50000°E / 13.74667; 100.50000