ข้ามไปเนื้อหา

อานามสยามยุทธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สงครามอานัมสยามยุทธ)
อานามสยามยุทธ
ส่วนหนึ่งของ ประวัติศาสตร์เอเชีย

แผนที่ดินแดนอาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) กับจักรวรรดิญวน (ราชวงศ์เหงียน):
  •   สยาม (ไทย)
  •   ญวน (เวียดนาม)
วันที่พ.ศ. 2374 – พ.ศ. 2377, พ.ศ. 2384 – พ.ศ. 2388
สถานที่
ผล เจรจาสงบศึก
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
กัมพูชาตกเป็นประเทศราชร่วมของสยามและเวียดนาม
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ราชวงศ์เหงียน
อาณาจักรกัมพูชา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)

นักองค์อิ่ม
นักองค์ด้วง
จักรพรรดิมิญ หมั่ง
จักรพรรดิเถี่ยว จิ
"องเตียนกุน" เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng)
เหงียน จี เฟือง (Nguyễn Tri Phương)
สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์จัน)
นักองค์อิ่ม (เปลี่ยนฝ่าย)

อานัมสยามยุทธ หรือ อานามสยามยุทธ (เวียดนาม: Chiến tranh Việt–Xiêm) เป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างอาณาจักรไดนาม ซึ่งปกครองโดยจักรพรรดิเถี่ยว จิ กับอาณาจักรสยามภายใต้การปกครองของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การแข่งขันระหว่างสยามและเวียดนามในการควบคุมดินแดนกัมพูชาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่สยามพยายามพิชิตกัมพูชาในช่วงสงครามสยาม–เวียดนามครั้งก่อน จักรพรรดิมิญ หมั่ง สถาปนาพระองค์เม็ญ พระราชธิดาในสมเด็จพระอุทัยราชาขึ้นปกครองกัมพูชาในฐานะราชินีหุ่นเชิดในปี พ.ศ. 2377 และประกาศอำนาจสูงสุดเหนือกัมพูชาโดยลดระดับลงมาเป็นจังหวัดที่ 32 ของเวียดนาม[1] ในปี พ.ศ. 2384 สยามฉวยโอกาสแห่งความไม่พอใจเข้าช่วยเหลือเขมรที่ต่อต้านญวน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งกองทัพไปช่วยสถาปนาองค์ด้วงเป็นกษัตริย์กัมพูชา ภายหลังการทำสงครามพร่ากำลังเป็นเวลา 4 ปี ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสงบศึกและให้กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกัน[2][3][4][5]

สาเหตุ

[แก้]

ในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ทั้งสยามในพระราชวงศ์จักรีและเวียดนามราชวงศ์เหงียนต่างเรืองอำนาจขึ้นเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรต่างๆที่ตั้งอยู่ระหว่างสยามและเวียดนามเป็น "อาณาจักรกันชน" ระหว่างสองมหาอำนาจอาณาจักรกันชนเหล่านั้นประกอบด้วยอาณาจักรเขมรอุดงและอาณาจักรลาวล้านช้าง ทั้งสยามและเวียดนามต่างแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรกันชนเหล่านั้นนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองอำนาจ

ความขัดแย้งภายในอาณาจักรกัมพูชา

[แก้]

ความขัดแย้งภายในอาณาจักรกัมพูชาซึ่งแต่ละฝ่ายแสวงหาการสนับสนุนจากภายนอก สยามฝ่ายหนึ่งและญวนฝ่ายหนึ่ง นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสยามและญวนซึ่งเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปยึดเมืองบันทายมาศในพ.ศ. 2314 และยกทัพไปยังเมืองอุดงตั้งนักองค์นน (អង្គនន់) ขึ้นเป็นพระรามราชาธิราชแห่งกัมพูชาครองกัมพูชา แต่พระรามราชาฯถูกเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ซึ่งสนับสนุนฝ่ายญวนปลงพระชนม์ในพ.ศ. 2322 เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ยกนักองเอง (អង្គអេង) ซึ่งเป็นพระราชวงศ์เขมรฝ่ายสนับสนุนญวนขึ้นเป็นพระนารายณ์รามาธิบดีโดยมีเจ้าฟ้าทะละหะกุมอำนาจ ในพ.ศ. 2326 "องเชียงสือ"เหงียนฟุกอั๊ญเจ้าตระกูลเหงียนของญวนเสียเมืองไซ่ง่อนให้แก่ราชวงศ์เต็ยเซินหลบหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารฯที่กรุงเทพฯในรัชกาลที่ 1 เมื่อเจ้าญวนตระกูลเหงียนสิ้นไปเจ้าฟ้าทะละหะถูกสังหารและออกญายมราช (แบน) ขุนนางกัมพูชาซึ่งฝักใฝ่สยามจึงยึดอำนาจ แต่พระยายมราชพ่ายแพ้แก่ศัตรูจึงนำนักองค์เองกษัตริย์กัมพูชาลี้ภัยเข้ามาที่กรุงเทพฯ นักองค์เองมีโอรสได้แก่นักองค์จันทร์ (អង្គច័ន្ទ) นักองค์สงวน (អង្គស្ងួន) นักองค์อิ่ม (អង្គអិម) และนักองค์ด้วง (អង្គដួង) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯโปรดฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเรือไปกอบกู้บ้านเมืองให้แก่องเชียงสือแต่พ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายราชวงศ์เต็ยเซินในการรบที่สักเกิ่ม-สว่ายมุ๊ต (Battle of Rạch Gầm-Xoài Mút)

"องต๋ากุน"เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt) ผู้สำเร็จราชการในเวียดนามใต้

องเชียงสือเดินทางไปกอบกู้บ้านเมืองจากราชวงศ์เต็ยเซินจนสามารถตั้งตัวขึ้นเป็นพระจักรพรรดิยาล็องก่อตั้งราชวงศ์เหงียนได้ในพ.ศ. 2344 หลังจากที่กัมพูชาว่างเว้นกษัตริย์มาระยะหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงอภิเษกนักองค์จันทร์โอรสองค์โตของนักองค์เองขึ้นเป็นพระอุไทยราชาธิราชครองกัมพูชาในพ.ศ. 2349 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ให้การสนับสนุนแก่ญวนราชวงศ์เหงียน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯสวรรคตในพ.ศ. 2352 พระอุไทยราชาฯไม่มาเข้าร่วมพระราชพิธีที่กรุงเทพฯแจ้งว่าประชวรและทรงส่งนักองค์สงวนและนักองค์อิ่มพระอนุชาทั้งสองมาที่กรุงเทพฯแทน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงแต่งตั้งให้นักองค์สงวนเป็นพระมหาอุปโยราชและนักองค์อิ่มเป็นพระมหาอุปราช และทรงมีท้องตราถึงพระอุไทยราชาให้เกณฑ์ทัพกัมพูชามาไว้ที่กรุงเทพฯ พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ไม่เกณฑ์ไพร่พลมาที่กรุงเทพฯตามท้องตรานั้น ขุนนางเขมรบางส่วนซึ่งสนับสนุนฝ่ายสยามก่อการกบฏขึ้น พระอุไทยราชาทรงประหารชีวิตขุนนางเหล่านั้นและหันไปขอความช่วยเหลือจาก"องต๋ากุน"(Ông Tả Quân, 翁左軍)หรือ เลวันเสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) ผู้สำเร็จราชการในเวียดนามใต้ ในพ.ศ. 2355 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนก่อการกบฏขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 เจ้าพระยายมราช (น้อย) ยกทัพสยามเข้าไปที่เมืองอุดงเพื่อไกล่เกลี่ย แต่พระอุไทยราชานักองค์จันทร์เมื่อเห็นว่าทัพสยามยกเข้ามาจึงพาพระราชวงศ์หลบหนีไปอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของเลวันเสวียตที่เมืองไซ่ง่อน พระมหาอุปราชนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงหลบหนีมาเข้ากับฝ่ายสยาม เจ้าพระยายมราช (น้อย) นำตัวนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงมาที่กรุงเทพฯ พระจักรพรรดิยาล็องมีพระราชสาส์นขอพระบรมราชานุญาติให้พระอุไทยราชากลับมาครองกัมพูชาดังเดิม รวมทั้งขอเมืองบันทายมาศไปไว้ในเขตแดนของเวียดนามด้วย เมื่อพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับมาครองกัมพูชาแล้วกัมพูชาจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์เหงียน นักองค์จันทร์ย้ายราชธานีจากเมืองอุดงไปยังเมืองพนมเปญซึ่งญวนได้สร้างเมืองขึ้นให้ใหม่ นักองค์สงวนถึงแก่พิราลัยที่กรุงเทพฯเมื่อปีพ.ศ. 2359 เหลือนักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง เป็นเจ้าชายเขมรซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ

ในพ.ศ. 2362 องต๋ากุนเลวันเสวียตเกณฑ์ชาวเวียดนามและกัมพูชาเข้าขุดคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế, 永濟) ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc, 朱篤 จังหวัดอานซาง) กับเมืองบันทายมาศ เป็นคลองขนาดใหญ่และเป็นช่องทางให้ทัพเรือญวนสามารถนำทัพเรือออกสู่อ่าวไทยได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการขึ้นเพื่อสำหรับป้องกันข้าศึกทางทะเล

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) มีบุตรีคือนักนางเทพ ซึ่งได้เป็นพระเทพีของพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ และเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ฝักใฝ่สยามในกัมพูชา ในพ.ศ. 2372 พระองค์แก้ว (มา) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และเป็นพี่ชายของนักนางเทพ มีจดหมายลับมาถึงนักองค์อิ่มและองค์ด้วยที่กรุงเทพฯ ใจความว่าขอให้ฝ่ายสยามยกทัพเข้าช่วยขับไล่อิทธิพลของญวนออกจากกัมพูชา[6] ฝ่ายเว้เวียดนามทราบข่าวว่าพระองค์แก้ว (มา) คิดแผนการขอความช่วยเหลือจากสยาม จึงมีคำสั่งเรียกตัวพระองค์แก้ว (มา) ไปที่เมืองเว้ในพ.ศ. 2373 พระองค์แก้วไม่ยอมไป อพยพพาครอบครัวหนีเข้ากรุงเทพฯ

ในช่วงความวุ่นวายครั้งนี้ พระยาสังคโลก (เกาะ) เจ้าเมืองโพธิสัตว์ ได้เกิดวิวาทกันกับสมเด็จเจ้าพระยา (สวด) พระยาสังคโลกจึงได้กบฏต่อพระอุไทยราชากษัตริย์กัมพูชาและกวาดต้อนเอาชาวเมืองโพธิสัตว์เข้ากรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2375 อีกเช่นกัน ฝ่ายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชา นับตั้งแต่ที่พระยาสังคโลก (เกาะ) เป็นกบฏไปเข้ากับฝ่ายสยามนั้น ทรงคาดการณ์ว่าฝ่ายสยามจะต้องยกทัพมาอย่างแน่นอน จึงได้มีพระราชบัณฑูรให้พระยาจักรี (หลง) เตรียมเกณฑ์พลจากเมืองบาพนม ลำดวล สวายพาบ และไพรแวง จำนวน 2,000 คน ไปตั้งรับที่เมืองโพธิสัตว์ ในพ.ศ. 2375 แต่เมื่อทัพสยามยังไม่ยกมา พระอุไทยราชาจึงเปลี่ยนพระทัย เรียกทัพของพระยาจักรี (หลง) กลับคืนมาในปีเดียวกันนั้น[7]

สงครามเจ้าอนุวงศ์

[แก้]

เวียดนามพยายามที่จะแผ่ขยายอำนาจมาที่อาณาจักรล้านช้างผ่านทางจังหวัดเหงะอานและเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางมาแต่สมัยก่อนหน้า ในสมัยรัตนโกสินทร์อาณาจักรล้านช้างทั้งสามได้แก่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ต่างเป็นเมืองขึ้นประเทศราชของสยาม โดยมีอาณาจักรเชียงขวางเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่ง เมื่อเจ้าน้อยเมืองพวนเกิดความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์จึงหันไปพึ่งพระจักรพรรดิมิญหมั่งแห่งเวียดนามราชวงศ์เหงียน ในพ.ศ. 2371 กบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังจังหวัดเหงะอานของเวียดนามพระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้การช่วยเหลือและจัดแต่งทูตญวนนำเจ้าอนุวงศ์มาเจรจาที่เมืองเวียงจันทน์ "อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ"[6] แต่เจ้าอนุวงศ์กลับเข้าลอบโจมตีฝ่ายสยามแบบไม่ทันตั้งตัวทำให้ฝ่ายสยามเข้าใจว่าฝ่ายญวนแต่งทูตเข้ามาเป็นกลอุบายลวง เมื่อเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้อีกครั้งพระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงส่งทูตมาอีกแต่เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ไม่ไว้วางใจฝ่ายเวียดนามจึงออกอุบายสังหารหมู่คณะทูตเวียดนามในงานเลี้ยง[6] เมื่อเจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังอาณาจักรเชียงขวาง เจ้าน้อยเมืองพวนชี้เบาะแสให้แก่ทัพสยามจนสามารถจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้

พระจักรพรรดิมิญหมั่งพิโรธเจ้าน้อยซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวได้จึงเรียกเจ้าน้อยเมืองพวนไปเข้าเฝ้าที่เมืองเว้ เจ้าน้อยขัดขืนพระเจ้ามิญหมั่ง พระเจ้ามิญหมั่งจึงส่งตะกวังกึ (Tạ Quang Cự, 謝光巨) ยกทัพเข้ายึดเมืองพวนจับกุมเจ้าน้อยนำไปสำเร็จโทษประหารชีวิตที่เมืองเว้ เวียดนามจึงเข้าปกครองอาณาจักรเชียงขวางโดยตรงกลายเป็นมณฑลเจิ๊นนิญ (Trấn Ninh, 鎮寧) รวมทั้งเข้าปกครองหัวเมืองลาวต่างๆในแขวงคำม่วนในปัจจุบันและกลุ่มเมืองหัวพันห้าทั้งหก พระเจ้ามิญหมั่งทรงแต่งตั้ง ตะกวังกึ ให้เป็นผู้ว่าฯจังหวัดเหงะอานและจังหวัดห่าติ๋ญ ซึ่งอยู่ติดพรมแดนระหว่างเมืองเว้และลาว

กบฏของเลวันโคย

[แก้]

"องต๋ากุน"เลวันเสวียตเป็นผู้สำเร็จราชการในเวียดนามภาคใต้และแผ่ขยายอำนาจไปถึงกัมพูชา พระจักรพรรดิมิญหมั่งทรงมีนโยบายรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง เลวันเสวียตเป็นศัตรูทางการเมืองของพระจักรพรรดิมิญหมั่ง เมื่อเลวันเสวียตเสียชีวิตในพ.ศ. 2375 จักรพรรดิมิญหมั่งทรงใช้โอกาสนี้ยกเลิกตำแหน่งผู้สำเร็จราชการและส่งขุนนางของพระองค์เข้าปกครองเวียดนามใต้ ได้แก่ เหงียน วัน เกว๊ (Nguyễn Văn Quế) เป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน และ บัค ซวน เหงวียน (Bạch Xuân Nguyên) เป็นผู้ช่วย บัคซวนเหงวียนถวายรายงานต่อจักรพรรดิมิญหมั่งว่า เลวันเสวียตผู้ล่วงลับไปแล้วซ่องสุมกำลังพลและอาวุธเตรียมก่อการกบฏ พระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงลงพระอาญาแก่เลวันเสวียตผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการให้ขุดเอาศพของเลวันเสวียตขึ้นมาโบยตี รวมทั้งประหารชีวิตและจำคุกขุนนางเดิมของเลวันเสวียตในเวียดนามใต้จำนวนมาก ทำให้ "องภอเบโคย" หรือเลวันโคย (Lê Văn Khôi, 黎文𠐤) บุตรบุญธรรมของเลวันเสวียตก่อการกบฏขึ้นในพ.ศ. 2376 ยึดเมืองไซ่ง่อนเป็นฐานที่มั่น เลวันโคยนำกำลังเข้าสังหารเหงียนวันเกว๊เจ้าเมืองไซ่ง่อน รวมทั้งบัคซวนเหงวียนขุนนางของพระเจ้ามิญหมั่งก็ถูกสังหารด้วย นำไปสู่กบฎของเลวันโคย (Lê Văn Khôi's Rebellion) ซึ่งมีชาวเวียดนามใต้เข้าร่วมจำนวนมากโดยเฉพาะชาวคริสเตียน เลวันโคยหมายจะยกเอาโอรสของเจ้าชายเหงียน ฟุก กั๋ญ ซึ่งเป็นคริสเตียน ให้ขึ้นเป็นพระเจ้าเวียดนามแทน

โฌแซ็ฟ มาร์ช็อง (Joseph Marchand) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกกล่าวหาว่า เชื้อเชิญให้สยามเข้ารุกรานเวียดนามภาคใต้ ถูกประหารชีวิตด้วยการแล่เป็นหมื่นชิ้น ในพ.ศ. 2378 เป็นมรณะสักขี

กบฎของเลวันโคยลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากชาวเวียดนามใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความนิยมในตัวเลวันเสวียต ได้เข้าร่วมกับกบฎจำนวนมาก เมมื่อยึดเมืองไซ่ง่อนได้แล้ว เลวันโคยส่งทัพเข้ายึดเมืองเบียนฮวา เมืองสมิถ่อ เมืองล่องโห้ เมืองโจดก เมืองห่าเตียน ยึดเมืองสำคัญในเวียดนามภาคใต้ได้ทั้งหมด ในขณะนั้น เล ได่ เกือง (Lê Đại Cương, 黎大綱) ดำรงตำแหน่งเป็นจงตกผู้ว่าฯจังหวัดอันซางและห่าเตียน (Tổng đốc An Giang – Hà Tiên) เป็นเจ้าเมืองโจดกอยู่ รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นเบาฮอ (Bảo hộ) หรือผู้สำเร็จราชการของเวียดนามในกัมพูชาด้วย เลได่เกืองเจ้าเมืองโจดกนำทัพเข้าปราบกบฏเลวันโคยแต่พ่ายแพ้และจำต้องหลบหนีมายังกัมพูชา พระเจ้ามิญหมั่งทรงเห็นว่าเลได่เกืองไร้ความสามารถ จึงทรงปลดเลได่เกืองออกจากตำแหน่งและลดตำแหน่งลงมาเป็นหลัญบิญ (lãnh binh กลายเป็น"องจัญเบีย"ในพงศาวดารไทย) พระเจ้ามิญหมั่งทรงแต่งตั้งให้แม่ทัพชุดใหม่ นำโดย ต๊ง เฟื้อก เลือง (Tống Phước Lương, 宋福樑) เป็นต๋าเตื้องกวน (Tả tướng quân) หรือ "องเตียนกุน"แม่ทัพใหญ่ ยกทัพจากเมืองเว้ลงมาปราบกบฎเลวันโคย พร้อมทั้งแม่ทัพอีกจำนวนหนึ่งรวมทั้งเหงียน ซวน (Nguyễn Xuân, 阮春) และ เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng, 張明講) ในช่วงกลางปีพ.ศ. 2376 ทัพใหม่ฝ่ายพระเจ้ามิญหมั่งสามารถยึดเมืองโจดก เมืองห่าเตียน เมืองล่องโห้ และเมืองสมิถ่อ คืนมาจากฝ่ายกบฎได้สำเร็จ ฝ่ายกบฎเลวันโคยถอยเข้าตั้งมั่นอยู่แต่ในเมืองไซ่ง่อนเท่านั้น

เมื่อราชสำนักเหงียนประหัตประหารบาทหลวงคาทอลิกฝรั่งเศส ในเหตุการณ์กบฎเลวันโคยเมื่อพ.ศ. 2376 นั้น บาทหลวงชาวฝรั่งเศสจากเวียดนามเช่น หลวงพ่อเรเชโร (Régéreau) และช็อง-หลุยส์ ตาแบร์ (Jean-Louis Taberd) ได้หลบหนีมายังสยาม[8] เป็นเหตุให้สยามทราบข่าวการกบฎที่เมืองไซ่ง่อน ฝ่ายเลวันโคยพยายามที่จะส่งตัวแทนมาขอความช่วยเหลืองจากสยามแต่ถูกฝ่ายเหงียนจับกุมได้ก่อน ราชสำนักเหงียนค้นพบว่าเลวันโคยได้เขียนจดหมายเพื่อถวายแด่กษัตริย์สยามขอพระราชทานกองทัพช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จถูกจับได้เสียก่อน[8] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ลดอำนาจของญวนซึ่งคอยให้การสนับสนุนแก่กบฏที่ต่อต้านสยามหลายครั้ง "ครั้งองค์จันทร์เขมรเป็นกบฏหนีไป ญวนก็รับไว้ อนุเป็นกบฏหนีไป ญวนก็รับไว้ แล้วกลับแต่งขุนนางพาอนุมาตั้งบ้านตั้งเมืองอย่างเก่า ทำเหมือนเมืองเขมรเหมือนกัน มีแต่คิดเกียจกันเขตต์แดนฝ่ายไทย ข่มขี่ยกตัวขึ้นเป็นดึกวองเด่"[6] และยังทรงไม่พอพระทัยธรรมเนียมการทูตญวน เมื่อจักรพรรดิญวนส่งทูตมาถวายพระราชสาสน์ที่กรุงเทพฯโปรดฯจะให้มีพระราชสาส์นโต้ตอบกลับไปแต่ทูตญวนไม่รับทุกครั้ง แจ้งว่าให้ฝ่ายกรุงเทพฯต้องแต่งคณะทูตไปมอบราชสาส์นให้ที่เมืองเว้เอง

การเตรียมการ

[แก้]

การเตรียมการของสยาม

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการให้จัดทัพเข้าตีเมืองเวียดนามดังนี้;

ฝ่ายเวียดนามยังคงมุ่งไปที่การปราบกบฎเลวันโคยที่เมืองไซ่ง่อน ยังไม่ทราบการยกทัพของฝ่ายสยาม จนกระทั่งเมื่อสยามเข้าโจมตีเมืองบันทายมาศแล้วจึงทราบข่าวและเริ่มเตรียมทัพ

สงครามในปี พ.ศ. 2376–2377

[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2376-2377
ส่วนหนึ่งของ อานามสยามยุทธ (2374–2377)

แผนที่ภูมิภาคอินโดจีนการขยายอำนาจระหว่างสยามญวน
วันที่ธันวาคม พ.ศ. 2376 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377
สถานที่
ผล เวียดนามสามารถต้านการรุกรานของสยามได้
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
กัมพูชาเข้าสู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรหลวงพระบาง
ราชวงศ์เหงียน
อาณาจักรกัมพูชา
อาณาจักรเชียงขวาง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค)
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ)
พระยาราชนิกูล (เสือ สนธิรัตน์)
พระมหาเทพ (ป้อม อมาตยกุล)
พระราชวรินทร์ (ขำ ณ ราชสีมา)
นักองค์อิ่ม
นักองค์ด้วง
เจ้ามันธาตุราช
เจ้าอุปฮาด (เจ้าสุกเสริม)
จักรพรรดิมิญ หมั่ง
ต๊ง เฟื้อก เลือง (Tống Phước Lương)
เหงียน ซวน (Nguyễn Xuân)
เล ได่ เกือง (Lê Đại Cương)
เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng)
สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์จัน)
พระยาจักรี (หลง)
พระยายมราช (โห้)
เจ้าสานเมืองพวน

การตั้งรับของกัมพูชา

[แก้]

ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และทัพของพระมหาเทพ (ป้อม) พระราชวรินทร์ (ขำ) ทั้งสามทัพยกออกจากกรุงเทพฯพร้อมกันในวันเสาร์ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้ายปี พ.ศ. 2376 (23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2376) มาพร้อมกับนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง รวมทั้งขุนนางกัมพูชาที่อยู่ฝ่ายสยาม ได้แก่ พระองค์แก้ว (มา) และพระยาสังคโลก (เกาะ)

ฝ่ายกัมพูชา สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาประทับอยู่ที่พนมเปญ มีพระราชบัณฑูรให้สมเด็จเจ้าพระยา (สวด) ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าฟ้าทะละหะแล้วนั้น นำทัพยกออกไปตั้งรับทัพสยาม เจ้าฟ้าทะละหะ (สวด) กราบทูลว่าเห็นสมควรให้พระยาจักรี (หลง) เป็นผู้ยกทัพออกไป พระยาจักรี (หลง) เกณฑ์ทัพไปป้องกันการรุกรานจากฝ่ายสยาม แต่ฝ่ายกัมพูชาประสบปัญหาเกณฑ์ทัพได้ไม่ทันการได้กำลังมาเพียง 300 คน ทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพเข้ามาทางเมืองโพธิสัตว์จนถึงเมืองลาดปะเอีย เดินทัพผ่านอาณาจักรเขมรได้โดยสะดวกและปราศจากการต่อต้าน ทัพสยามและกัมพูชาได้สู้รบกันในการรบที่กำปงจาม ทัพฝ่ายกัมพูชาของพระยาจักรี (หลง) นั้นมีกำลังน้อยกว่ามาก ทัพหน้าฝ่ายสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชามีกำลังถึง 5,000 คน พระยาจักรี (หลง) แตกพ่ายหนีไปที่บาพนม[7]

ฝ่ายนักองค์จันกษัตริย์เขมรเมื่อทราบว่าทัพของพระยาจักรี (หลง) พ่ายแพ้แตกพ่าย จึงตัดสินพระทัยนำเชื้อพระวงศ์และขุนนางเสด็จหลบหนีเมื่อวันแรมหกค่ำ เดือนยี่ (31 ธันวาคม) ตั้งพระทัยจะเสด็จไปยังเมืองไซ่ง่อนดังเช่นเมื่อประมาณยี่สิบปี่ก่อนหน้านี้ ที่นักองค์จันทร์ได้เคยเสด็จหนีจากทัพสยามไปเมืองไซ่ง่อน แต่ในขณะนั้นเมืองไซ่ง่อนกำลังเกิดเหตุการณ์กบฎเลวันโคย นักองค์จันทร์จึงประทับอยู่ที่เมืองล็องโห่ (Long Hồ) ในเวียดนามภาคใต้

สยามโจมตีบันทายมาศและโจดก

[แก้]

ทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เดินทางถึงเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนไม่ได้เตรียมการรับศึกเจ้าพระยาพระคลังจึงสามารถยึดเมืองบันทายมาศได้อย่างรวดเร็วแล้วจึงล่องทัพเรือไปตามคลองหวิญเต๊เข้ายึดเมืองโจดกริมแม่น้ำบาสัก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดอานซางได้สำเร็จ

ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เมื่อมาถึงเมืองพนมเปญแล้ว ให้นักองค์อิ่มนักองค์ด้วงและพระยาอภัยภูเบศร (เชด) รักษาการอยู่ที่เมืองพนมเปญ ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาเดินทัพต่อไปพร้อมกับพระองค์แก้ว (มา) และพระยาสังคโลก (เกาะ) แต่เดิมเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯวางแผนเดินทัพบกไปทางตะวันออกผ่านเขตเมืองบาพนมตัดตรงเข้าสู่เมืองไซ่ง่อน แต่ทราบข่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) มาตั้งอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว จึงยกทัพมาสมทบกับทัพของเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก การเดินทัพเรือจากเมืองโจดกไปยังเมืองไซ่ง่อนต้องข้ามจากแม่น้ำบาสักไปยังแม่น้ำโขงเพื่อลดระยะทาง แต่คลองโดยส่วนใหญ่ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำบาสักและแม่น้ำโขงเป็นคลองขนาดเล็กทัพเรือไม่สามารถผ่านได้ มีเพียงคลองหวั่มนาว (Vàm Nao) เท่านั้นซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ทัพเรือสามารถผ่านได้ คลองหวั่มนาวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งทัพเรือญวนสามารถสกัดทัพเรือสยามในตำแหน่งนี้ได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเรือมาในพ.ศ. 2327 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เปลี่ยนแผนใหม่โดยให้ทัพบกโดยส่วนใหญ่ลงเรือที่ได้มาจากกัมพูชาไปร่วมกับทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ล่องไปตามแม่น้ำบาสักแทนที่จะยกไปทางตะวันออกไปทางบาพนมตามแผนเดิม เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้พระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพบกส่วนหนึ่งจำนวน 7,000 ยกไปทางบาพนมตามแผนเดิมไปยังเมืองไซ่ง่อน

ฝ่ายเวียดนามนั้นกำลังอยู่ในเหตุการณ์การปราบกบฎของเลวันโคยที่ไซ่ง่อน "องจัญเบีย"เลได่เกือง (Lê Đại Cương) ข้าหลวงญวนประจำกัมพูชา กราบทูลพระเจ้ามิญหมั่งว่าทัพสยามได้เข้ารุกรานกัมพูชา ขอพระราชทานทัพญวนมาสกัดกั้นทัพสยาม ฝ่ายเวียดนามจึงจำต้องแบ่งกองกำลังส่วนหนึ่งมาต้านทัพสยาม พระเจ้ามิญหมั่งจึงมีพระราชโองการให้เลได่เกือง เหงียนซวน (Nguyễn Xuân) และ เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng) ยกทัพฝ่ายเวียดนามเข้าไปในกัมพูชาเพื่อต้านทัพสยาม พระราชทานเรือยุทธและดินประสิวให้แก่จังหวัดต่างๆในเวียดนามภายใต้เพื่อเตรียมการสู้รบกับฝ่ายสยามได้แก่ จังหวัดอานซาง จังหวัดห่าเตียน จังหวัดหวิญล็อง และจังหวัดดิ่ญเตื่อง

ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว

[แก้]
แผนที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) และคลององเจือง (Ông Chướng)

ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2377 ทัพเรือสยามซึ่งนำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกออกจากเมืองโจดกลงใต้ไปตามแม่น้ำบาสัก โดยให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) นำทัพเรือส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน ทัพเรือสยามพบกับทัพบกญวนเมื่อเดือนสาม ที่ปากทางเข้าคลองหวั่มนาวจากแม่น้ำบาสักทางทิศใต้ (ฝ่ายญวนเรียกคลองหวั่มนาวว่า คลองถ่วนกั๋ง Thuận Cảng) เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนสาม (21 มกราคม พศ. 2377)[6] นำไปสู่ยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว ทัพเรือญวนนำโดย"องทำตานดายท่าน" หรือ"องทำตาย" (เหงียนซวน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น Tham tán Đại thần) และ"องจันเบีย" (เลได่เกือง) ทัพสยามเข้าโจมตียิงปืนใส่ทัพบกญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ทัพบกสยามขึ้นบกโจมตีทัพญวน ทำให้ทัพญวนต้องล่าถอยไปยังปากคลองหวั่งนาวฝั่งเหนือทางออกแม่น้ำโขง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้กองกำลังส่วนหนึ่งนำโดยพระยาณรงค์ฤทธิโกษา และพระยาวิเศษสงคราม ไปป้องกันคลององเจือง (Ông Chướng) ไว้เพื่อไม่ให้ทัพเรือญวนอ้อมวนมาตีด้านหลังดังที่เกิดขึ้นเมื่อกรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพมา และเพื่อไปเกลี้ยงกล่อมชาวญวนเข้ารีตหรือชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์ให้มาเข้ากับฝ่ายสยาม[6]

ในระหว่างการรบที่คลองหวั่มนาว มีนายกองจำนวนหนึ่งหลบหนีไปแอบอยู่ท้ายเรือรบเนื่องจากกลัวศัตรู ซึ่งหนึ่งในนี้มีเชื้อสายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯอยู่ด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มีคำสั่งให้นำตัวนายกองเหล่านั้นมาตัดศีรษะประหารชีวิต

หลังจากที่ฝ่ายญวนล่าถอยไปตั้งที่ฝั่งทางออกแม่น้ำโขงแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงวางแผนโจมตีค่ายญวนทั้งทางบกและทางน้ำ อีกห้าวันต่อมาในวันพุธแรม 5 ค่ำเดือนสาม (29 มกราคม พ.ศ. 2377)[6] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยกทัพพร้อมเจ้าพระยาพระคลังฯยกทัพเรือเข้าโจมตีค่ายญวนที่ปากคลองหวั่มนาวฝั่งเหนือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ให้พระยาอภัยโนฤทธิ์ (บุนนาค) นำกองเรือเป็นทัพหน้าเข้าโจมตีฝ่ายญวน แต่กองเรือที่ตามหลังพระยาอภัยโนฤทธิ์เกิดความเกรงกลัวศัตรูไม่ยอมถอนสมอขึ้น[6]เพื่อแล่นเรือไปสู้กับญวน พระยาอภัยโนฤทธิ์เห็นว่าไม่มีกองเรือตามมาจึงถอยกลับ แม้ว่าเจ้าพระยาพระคลังจะลงเรือป่าวประกาศให้ทัพเรือถอนสมอขึ้นไปรบ แต่แม่ทัพนายกองเรือทั้งหลายอาทิเช่นเจ้าพระยาพลเทพ พระยาราชวังสัน พระยาเพชรบุรี ฯลฯ กลับไม่ยอมถอนสมอเรือ ฝ่ายเวียดนามเมื่อเห็นว่าทัพเรือสยามไม่เข้ามาสู้จึงถ่ายโอนกำลังให้ทัพบกไปสู้กับเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ประกอบกับที่ทัพเสริมของญวนนำโดย "องเตียนกุน"ต๊งเฟื้อกเลือง (Tống Phước Lương) ซึ่งเป็นแม่ทัพปราบกบฎเลวันโคย มาถึงในเวลานี้พอดี ทำให้ทัพสยามของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเหลือเกินกำลังสู้รบจำต้องล่าถอย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่านายกองฝ่ายสยามมีความขลาดต้องนำตัวไปประหารชีวิต เจ้าพระยาพระคลังฯแย้งว่าแม่ทัพนายกองเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขุนนางผู้ใหญ่พระยาพานทอง[6]ประหารไม่ได้ หลังจากการสู้รบสองวัน ในวันแรม 7 ค่ำ เดือนสาม (31 มกราคม พ.ศ. 2377)[6] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงถอยทัพสยามกลับไปที่เมืองโจดก โดยให้ทัพบกค่อยๆลงเรือเล็กกลับไปเมืองโจดกโดยมีทัพเรือคอยหนุนป้องกัน

การล่าถอยของสยาม การรุกของญวน และการลุกฮือของกัมพูชา

[แก้]

ทัพสยามล่าถอยไปตั้งมั่นที่เมืองโจดก โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ลำเลียงทัพเรือกลับไปยังเมืองบันทายมาศ ฝ่ายญวนยกทัพเรือตามแม่น้ำบาสักมาโจมตีเมืองโจดก วันแรม 10 ค่ำ เดือนสาม (3 กุมภาพันธ์)[6] เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ยิงปืนใส่ทัพญวนที่ขึ้นบกมาทำให้ทหารญวนล้มตายที่ริมตลิ่งจำนวนมากและทัพเรือญวนถอยกลับไป ฝ่ายเจ้าพระยาพระคลังซึ่งนำทัพเรือล่องผ่านคลองหวิญเต๊กลับบันทายมาศ ปรากฏว่าคลองหวิญเต๊ในเวลานั้นน้ำน้อยตื้นเขินทำให้ทัพเรือไปต่อไม่ได้ เจ้าพระยาพระคลังฯจึงให้ยกเรือขึ้นบกแล้วใช้ช้างลากไปยังเมืองกำปอต ปรากฏว่าชาวกัมพูชาในกองช้างนั้นลุกฮือขึนสังหารกองช้างฝ่ายไทยสิ้นและนำช้างไปหมด[6] หลังจากที่เจ้าพระยาพระคลังละทัพเรือไปอยู่ที่บันทายมาศแล้วในวันแรมสิบสามค่ำ (6 กุมภาพันธ์) ทัพเรือญวนมาโจมตีเมืองโจดกอีกครั้งแม้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจะต้านทานญวนได้แต่ก็เห็นว่าไม่อาจรักษาเมืองโจดกได้ จึงถอนทัพสยามออกจากเมืองโจดกไปยังเมืองเมืองเชิงกรรชุมในกัมพูชา และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กวาดต้อนชาวเมืองบันทายมาศ เมืองกำปอด และเมืองกำปงโสม รวมทั้งชาวญวนเข้ารีต ถอยออกจากเมืองบันทายมาศไปตั้งที่จันทบุรี

หลังจากความพ่ายแพ้ของทัพฝ่ายสยามแล้ว บรรดาขุนนางราษฎรชาวกัมพูชาจึงลุกฮือรวมตัวกันเป็นกองกำลังเพื่อขับไล่ทัพสยามออกจากกัมพูชา[7] ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถูกชาวกัมพูชาเข้าโจมตีแบบกองโจร เจ้าพระยาบดินทรเดชาอยู่ที่เมืองเชิงกรรชุม หรือเมืองตรัง (Treang) พระยาพิษณุโลกเจ้าเมืองเชิงกรรชุม กวาดต้อนชาวกัมพูชาเมืองเชิงกรรชุม จำนวน 2,069 คน[6]กลับตามเจ้าพระยาบดินทรเดชาไปที่เมืองพนมเปญ

ที่เมืองพนมเปญ เมื่อเห็นว่าชาวกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านสยาม เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เชด) ทำลายกำแพงเมืองพนมเปญแล้วกวาดต้อนชาวเมืองพนมเปญกลับไปเมืองโพธิสัตว์ ชาวเมืองพนมเปญลุกฮือขึ้นต่อต้าน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มาพบกับนักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เมืองโพธิสัตว์ในวันขึ้นแปดค่ำเดือนสี่ (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) แล้วทั้งหมดจึงล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพระตะบอง ฝ่ายแม่ทัพญวนเจืองมิญสางและเหงียนซวนเมื่อเห็นว่าฝ่ายสยามล่าถอยกลับไปแล้ว จึงนำกำลังเข้ายึดเมืองโจดกและบันทายมาศ

การรบที่สโมง

[แก้]

ฝ่ายกัมพูชาพระยาจักรี (หลง) ซึ่งได้แตกพ่ายหนีไปบาพนมนั้น ได้พบกับพระยายมราช (โห้) เกณฑ์กำลังชาวเขมรในเขตเมืองบาพนมและเมืองทโบงขมุม ได้ 1,000 คน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสโมงในเขตเมืองไพรแวง[7] ฝ่ายทัพของพระยาราชนิกูล (เสือ) และพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ซึ่งยกทัพบกไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำโขงไปผ่านเขตบาพนมใกล้จะถึงเมืองไซ่ง่อนนั้น ถูกกองกำลังของกัมพูชาของพระยาจักรี (หลง) และพระยายมราช (โห้) เข้าซุ่มโจมตี[7]ที่ตำบลบ้านสโมง (Smaong) เขตไพรแวง ในการรบที่สโมง หลังจากนั้นพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาจึงทราบว่าทัพฝ่ายสยามได้ล่าถอยไปแล้ว จึงเดินทัพกลับมาที่แม่น้ำโขงพบว่าเรือข้ามแม่น้ำสูญหายไปหมด พระยาพิชัยสงคราม (เพชร) จึงต่อแพเป็นสะพานขึ้นข้ามแม่น้ำโขงทำให้ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับมาได้

ฝ่ายญวนเวียดนาม แม่ทัพญวน"องจัญเบีย"เลได่เกือง รวมทั้งเหงียนซวนและเจืองมิญสาง ติดตามกองทัพไทยที่กำลังถอยหนี โดยที่เหงียนซวนยกติดตามไปทางทะเลธมหรือทางแม่น้ำโขง ในขณะที่องจัญเบียยกติดตามไปทางทะเลสาบเขมร[7] ฝ่ายพระยานครสวรรค์แม่ทัพสยามมีความขัดแย้ง[6]กับพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาจึงไม่ยอมข้ามสะพานแพ ยกทัพ 1,000 คนขึ้นไปทางเหนือเลียบแม่น้ำโขงแต่ถูกกองกำลังกัมพูชาและญวนสังหารสิ้น ทัพของพระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมาข้ามแม่น้ำโขงมาแล้วเจอกองกำลังของกัมพูชาและเวียดนามแต่สามารถเอาชนะได้และมาตั้งที่เมืองกำพงสวาย พระยาจักรี (หลง) และพระยายมราช (โห้) แม่ทัพกัมพูชาทั้งสองยกติดตามทัพสยามมาถึงกำพงสวาย เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้พระยาราชนิกูลและพระยานครราชสีมากวาดต้อนชาวเมืองกำพงสวายและเมืองสะโทง กลับไปไว้ที่เมืองนครราชสีมา เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ[6]

นักองค์จันทร์กลับคืนกัมพูชา

[แก้]

หลังจากที่ทัพสยามล่าถอยไปจนหมดแล้ว พระเจ้ามิญหมั่งจึงมีพระราชโองการให้"องจัญเบีย"เลได่เกือง ข้าหลวงญวนประจำกัมพูชา นำพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กลับขึ้นมาครองกัมพูชาที่เมืองพนมเปญบันทายแก้วอีกครั้งดังเดิม ในเดือนห้า พ.ศ. 2377 พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ประทับอยู่ที่โพธิ์พระบาท ในเวลานั้นเจ้าฟ้าทะละหะ (สวด) ล้มป่วยถึงแก่กรรม พระอุไทยราชาทรงปูนบำเหน็จขุนนางกัมพูชาที่มีความชอบได้แก่[7]

  • พระยาจักรี (หลง) ให้เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ
  • พระยายมราช (โห้) ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยา

สงครามเมืองพวน

[แก้]

ทัพสยามที่ยกทัพไปทางเมืองลาวฝ่ายเหนือนั้น พระมหาเทพ (ป้อม) ตั้งทัพที่นครพนม พระราชวรินทร์ (ขำ) ตั้งมั่นที่หนองคาย และเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) ไปถึงเมืองหลวงพระบางเมื่อแรม 9 ค่ำ เดือนสาม (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377)[6]

  • ในเดือนสามปีพ.ศ. 2377 (มกราคม พ.ศ. 2377) พระมหาเทพยกทัพจากเมืองนครพนมเข้าตีเมืองมหาชัย (Mahaxay) เมืองพอง (Muang Pong) เมืองพลาน (Muang Phalan) และเมืองชุมพร (Champhone) ซึ่งเป็นหัวเมืองลาวที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม กวาดต้อนชาวลาวส่งไปถึงเมืองนครราชสีมา
  • ฝ่ายเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวาง หลังจากที่เจ้าน้อยเมืองพวนถูกประหารชีวิตในพ.ศ. 2372 เวียดนามเข้าปกครองอาณาจักรเชียงขวางโดยตรงกลายเป็นแคว้นเจิ๊นนิญ เมื่อทัพสยามเข้ารุกรานอาณาจักรเชียงขวางพระจักรพรรดิมิญหมั่งจึงทรงแต่งตั้งเจ้าสานอดีตขุนนางเมืองพวนมาครองเมืองพวนเชียงขวางเพื่อตั้งรับศึกกับสยาม พระราชวรินทร์และพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคายส่งสาส์นไปเกลี้ยกล่อมเจ้าสานเมืองพวนให้เข้ามาสวามิภักดิ์ฝ่ายสยาม เจ้าสานเมืองพวนจึงแปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามและส่งพันแสงมารับพระราชวรินทร์ที่ท่าข้ามช้างและนำทางให้ทัพของพระราชวรินทร์เข้าเมืองพวนในวันแรมหกค่ำเดือนสี่ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377) นำไปสู่การรบที่เมืองพวน พระราชวรินทร์โจมตีสังหารทหารฝ่ายเวียดนามห้าร้อยคนหมดสิ้น
  • เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ (สมบุญ) ได้ทัพหัวเมืองเหนือพิชัย สวรรคโลก พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย และเมืองแพร่ เข้ามาสมทบ และได้ทัพลาวหลวงพระบางมาสมบทอีก 2,000 คน[6] เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์และเจ้ามันธาตุราชเจ้าเมืองหลวงพระบางยังไม่ทราบว่าเมืองพวนได้แปรพักตร์มาเข้ากับฝ่ายสยามแล้ว จึงส่งทัพหัวเมืองเหนือและลาวไปจากหลวงพระบางนำโดยพระยาสวรรคโลกและเจ้าอุปฮาด (เจ้าสุกเสริม) ไปโจมตีเมืองพวนในวันแรม 3 ค่ำ เดือนสี่ (25 กุมภาพันธ์) พระยาสวรรคโลกส่งสาส์นผ่านพระยาเมืองแผนขุนนางลาวเกลี้ยกล่อมให้เมืองพวกแปรพักตร์ เจ้าสานเมืองพวนจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนและเจ้าเมืองสุยมาพบกับพระยาสวรรคโลกร้องขอให้พระยาสวรรคโลกนำทัพเข้าตีทัพญวนที่เมืองสุย (Muang Soui) นำไปสู่การรบที่เมืองสุย พระยาสวรรคโลกส่งพระยาพิชัยนำทัพ 500 นายไปสังหารทหารญวนสองร้อยคนที่เมืองสุยจนสิ้นแล้ว พระยาสวรรคโลกจึงเข้ายึดเมืองสุย และได้ทราบข่าวว่าพระราชวรินทร์ได้เข้ายึดเมืองพวนไว้แล้ว พระยาสวรรคโลกจึงส่งเจ้าอุปราชเมืองพวนให้แก่พระเจ้ายาธรรมาฯที่หลวงพระบาง เจ้าพระยาธรรมาฯส่งตัวเจ้าอุปราชเมืองพวนมายังกรุงเทพฯ เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์ส่งทัพลาวเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองหัวพันห้าทั้งหก ชาวไทดำไทแดงหัวพันทั้งห้าหกเมื่อทราบว่าทัพสยามยกมาจึงพากับหลบหนีเข้าป่า เจ้าพระยาธรรมาฯจึงให้เพี้ยอรรคฮาดขุนนางลาวไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ชาวไทดำไทแดงทั้งหลายของเมืองหัวพันฯเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม บรรดาเจ้าเมืองหัวพันฯสัญญาว่าจะเข้ามาอยู่ในอำนาจของสยามเพี้ยอรรคฮาตจึงยกทัพกลับ ในขณะนั้นเจ้าพระยาธรรมธิกรณ์เฝ้ารอเจ้าเมืองหัวพันฯทั้งหลายมาสวามิภักดิ์ก็ไม่มา จนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ล้มป่วยต้องกลับเข้ากรุงเทพฯ

ช่วงระหว่างสงคราม พ.ศ. 2378 - 2382

[แก้]

เวียดนามผนวกกัมพูชา

[แก้]

หลังจากที่เอาชนะสามารถต้านทานการรุกรานของสยามได้สำเร็จ ฝ่ายเวียดนามราชวงศ์เหงียนจึงเข้ายึดครองกัมพูชา พระเจ้ามิญหมั่งปูนบำเหน็จให้แม่ทัพผู้มีความดีความชอบ โดยเลื่อน เหงียนซวน ขึ้นเป็นต๋าเตื๊องกวน และแต่งตั้งเจือง มิญ สาง เป็นผู้ว่าจังหวันอานซางและห่าเตียน เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับกัมพูชา กลางปีพ.ศ. 2377 เจืองมิญสางทำฎีกาถวายพระเจ้ามิญหมั่ง ขอให้เวียดนามยึดผนวกเอากัมพูชาเข้าไปปกครองโดยตรง เพื่อสร้างเสถียรภาพและยุติความวุ่นวายในอนาคต ต่อมาไม่นานสมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาประชวรถึงแก่พิราลัยเมื่อขึ้นแปดค่ำเดือนยี่[7] (6 มกราคม พ.ศ. 2378) นักองค์จันทร์ไม่มีพระโอรสมีแต่พระธิดาสี่องค์ได้แก่;

ส่วนนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงเจ้าชายกัมพูชาทั้งสองพระองค์นั้น อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสยามที่เมืองพระตะบอง อำนาจในกัมพูชาจึงตกอยู่ที่เสนาบดีได้แก่เจ้าฟ้าทะละหะ (หลง) สมเด็จเจ้าพระยา (โห้) และพระยาจักรี (แก้ว) พระเจ้ามิญหมั่งทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะผนวกกัมพูชาตามคำแนะนำของเจืองมิญสาง จึงมีพระราชโองการให้ผนวกเอากัมพูชาเข้ามาปกครองโดยตรง เป็นมณฑลเจิ๊นเตย (Trấn Tây Thành, 鎮西城) และพระเจ้ามิญหมั่งยังแต่งตั้งเจ้าหญิงกัมพูชาพระธิดาของสมเด็จพระอุไทยราชาให้ดำรงตำแหน่งต่างๆได้แก่;

  • นักองค์แบน เป็นเหวิยนกวน (Huyện quân, 縣君) แห่งลืออัน (Lư An)
  • นักองค์มี เป็นกวั่นจัว (Quận chúa, 郡主) แห่งกัมพูชา เป็นกษัตรีแห่งกัมพูชา
  • นักองค์เภา เป็นเหวิยนกวนแห่งเทาจุง (Thâu Trung)
  • นักองค์สงวน เป็นเหวิยนกวน แห่งตัปนิญ (Tạp Ninh)

พระเจ้ามิญหมั่งทรงข้ามนักองค์แบน ซึ่งเป็นพระธิดาองค์โตสุด ไปแต่งตั้งให้นักองค์มี พระธิดาองค์รองให้เป็นกษัตรีกัมพูชาแทน เนื่องจากพระเจ้ามิญหมั่งทรงเห็นว่านักองค์แบนมีสายสัมพันธ์กับสยาม พระเจ้ามิญหมั่งทรงแบ่งกัมพูชาออกเป็น 33 จังหวัด ทรงแต่งตั้งเจืองมิญสางให้เป็น เจิ๊นเตยเตื๊องเกวิน (Trấn Tây tướng quân, 鎭西將軍) หรือผู้บัญชาการทหารแห่งเจิ๊นเต็ยเป็นที่มาของชื่อ "องเตียนกุน" (Ông Tương Quân, 翁將軍 พงศาวดารกัมพูชาเรียกว่า "องเลิ้งกุน") และตั้งให้เล ได่ เกือง (Lê Đại Cương) เป็นทำต๋านได่เทิ่น (Tham tán đại thần) หรือปลัดผู้ช่วยในกัมพูชา เมืองพนมเปญซึ่งญวนเรียกว่าเมืองนามวัง (Nam Vang, 南榮) เป็นศูนย์กลางการปกครองของเวียดนามในกัมพูชา พระเจ้ามิญหมั่งและเจืองมิญสางมีนโยบายกลืนชาติกัมพูชาให้ชาวกัมพูชาเข้าสู่วัฒนธรรมขงจื๊อและแต่งกายแบบญวน เจืองมิญสางให้มีการฝึกทหารกัมพูชาและเวียดนามในเมืองพนมเปญเพื่อเตรียมรับมือทัพสยาม

เมื่อเวียดนามสามารถขับไล่ทัพสยามและสถาปนาการปกครองในกัมพูชาได้แล้ว จึงสามารถหันกลับไปปราบกบฎเลวันโคยได้อย่างเต็มที่ เลวันโคยผู้นำกบฎล้มป่วยสิ้นชีวิตที่เมืองไซ่ง่อน บุตรชายของเลวันโคยอายุเพียงแปดขวบชื่อว่าเล วัน กู่ (Lê Văn Cù) จำต้องขึ้นเป็นผู้นำกบฎต่อมา ทำให้ขบวนการกบฎของเลวันโคยเสื่อมถอยกำลังลง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2378 เหงียนซวน นำทัพเข้าโจมตียึดเมืองไซ่ง่อนจากกบฎได้สำเร็จ ฝ่ายเหงียนได้ขุดศพของเลวันโคยขึ้นมา ตัดร่างแบ่งออกเป็นหกส่วนส่งกระจายออกไปยังหกแคว้น นำชิ้นส่วนทิ้งลงส้วมสุขาและป้อนให้สุนัขกิน ครอบครัวของเลวันโคยรวมทั้งผู้สมรู้ร่วมคิดการกบฎต่างถูกจับกุมไปไต่สวนที่เมืองเว้และประหารชีวิตตัดศีรษะเสียบประจาน รวมทั้งโฌแซ็ฟ มาร์ช็อง (Joseph Marchand) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เหงียนซวน แม่ทัพใหญ่ของเวียดนาม ผู้ปราบกบฎเลวันโคยและต่อสู้กับทัพสยาม ได้ล้มป่วยถึงแก่กรรมเมื่อปลายปีพ.ศ. 2378 ทำให้เหลือเจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng) เป็นแม่ทัพผู้มีความดีความชอบ

หัวพันห้าทั้งหก

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ) กลับไปจัดการเรื่องเมืองพวนและเมืองหัวพันห้าทั้งหกอีกครั้ง เมื่อฝ่ายสยามเข้าครองเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางแล้ว เห็นว่าอาณาจักรเชียงขวางเป็นเมืองห่างไกลป้องกันยาก หากเวียดนามเข้าโจมตีอีกครั้งจะไม่สามารถป้องกันได้และจะยึดเชียงขวางเป็นเส้นทางเสบียง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์จึงให้ปลัดเมืองพิษณุโลกและยกกระบัตรเมืองสุโขทัยกวาดต้อนเจ้าสานเมืองพวน ชาวเมืองพวน ชาวไทพวนจากเมืองพวนทั้งหมดสิ้นมาไว้ที่เมืองน่าน แพร่ ศรีสัชนาลัย พิชัย พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์[9] ทำให้อาณาจักรเชียงขวางกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คน เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ให้เพี้ยอรรคฮาตไปเกลี้ยกล่อมชาวไทดำไทแดงอีกครั้ง นำตัวแทนจากเมืองเหียม เมืองหัวเมือง เมืองซวน และเมืองซำเหนือ มาพบกับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ที่หลวงพระบาง บรรดาหัวเมืองของเมืองหัวพันฯจึงยินยอมเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของสยาม โดยขึ้นกับอาณาจักรหลวงพระบาง ฝ่ายเวียดนามจักรพรรดิมิญหมั่งเมื่อเห็นว่าสยามกวาดต้อนชาวไทพวนเชียงขวางไปจนหมดสิ้น บ้านเมืองว่างเปล่า จึงแต่งตั้งเจ้าโปซึ่งเป็นบุตรชาวของเจ้าน้อยมาครองเมืองพวน รวบรวมชาวไทพวนที่ยังคงหลงเหลืออยู่ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นใหม่

การเตรียมการของสยาม

[แก้]
การลำเลียงกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) เมื่อ พ.ศ. 2380[10]


หลังจากที่ทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ถอยมาอยู่ที่เมืองพระตะบองแล้วนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (เชด) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงมีพระราชโองการให้ตั้งนักองค์อิ่มขึ้นปกครองเมืองพระตะบองแทนที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และให้นักองค์ด้วงเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรี เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเดือนหก

หลังจากสงครามฝ่ายสยามมีการเตรียมการรับมือศึกเวียดนามที่อาจจะยกมารุกเป็นการตอบแทน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงให้มีการเตรียมการรับมือข้าศีกเวียดนามดังนี้;[6]

  • ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำกำลังชาวจีนต่อเรือป้อมแบบญวนขึ้นแปดสิบลำ
  • ให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ต่อเรือกำปั่นขึ้นสองลำ
  • ให้เจ้าพระยาพระคลังไปรื้อกำแพงเมืองจันทบุรีลงแล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่คือป้อมเนินวง ให้บุตรชายของพระยาพระคลังคือ จมื่นไวยวรนารถ (ช่วง) ต่อเรือแกล้วกลางสมุทรและระบิลบัวแก้วที่จันทบุรี และจมื่นราชามาตย์ (ขำ) สร้างป้อมสองแห่งได้แก่ ป้อมภัยพินาศ และป้อมพิฆาตปัจจามิตร
  • ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงสร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทรา
  • ให้กรมหมื่นเดชาดิศร กรมหมื่นเสพสุนทร และกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ เป็นแม่กองทำกำแพงเชิงเทินเมืองสมุทรปราการ และสร้างป้อมคงกระพัน (ตำบลปากคลองปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรสงคราม)
  • ให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ไปประจำที่เมืองกบินทรบุรีและปราจีนบุรี เพื่อตั้งกองลำเลียงเสบียงไปเมืองพระตะบอง ต่อมาให้พระยาราชสุภาวดีบูรณะกำแพงเมืองเสียมราฐ
  • เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2380 ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา พระมหาเทพ (ป้อม) และพระพิเรนทรเทพ (ขำ) เดิมคือพระราชวรินทร์ เดินทางไปสำรวจกำลังพลจัดทำบัญชีหัวเมืองเขมรป่าดงและภาคอีสานเพื่อเตรียมกำลังสำหรับสงคราม ได้กำลังไพร่พลทั้งสิ้น 80,000 คน
  • ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯบูรณะปรับปรุงสร้างกำแพงเมืองพระตะบองขึ้นใหม่

องค์อิ่มแปรพักตร์และกัมพูชากบฏต่อเวียดนาม

[แก้]

ฝ่ายญวนองเตียนกุนให้สมเด็จเจ้าพระยาไปตั้งกำลังอยู่ที่เมืองกำปงสวาย ฝ่ายสยามจึงมีพระราชโองการให้พระยาราชนิกูล (เสือ) นำกำลัง 1,000 คน ไปตั้งที่เมืองอุบลและจำปาศักดิ์ ทำป้อมค่ายหอรบที่เมืองทั้งสอง องเตียนกุนให้ฝึกทหารที่เมืองพนมเปญ

เมื่อกัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามโดยมีเจ้าสตรีเป็นหุ่นเชิด นักองค์อิ่มจึงมีความคิดที่จะแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายญวนเพื่อให้ญวนตั้งขึ้นครองกัมพูชา "องเตียนกุน"เจืองมิญสางมีหนังสือลับมาถึงนักองค์อิ่มเกลี้ยกล่อมให้นักองค์อิ่มแปรพักตร์ นักองค์อิ่มจึงหาความเท็จใส่ร้ายนักองค์ด้วง[7] มีหนังสือเข้ามาที่กรุงเทพฯในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2380 แจ้งว่านักองค์ด้วงซ่อมสุมผู้คน เป็นเหตุให้พระยาปลัดเมืองพระตะบอง (รศ) จับคุมตัวนักองค์ด้วงส่งมายังกรุงเทพฯ ทรงให้จองจำนักองค์ด้วงไว้ที่ทิมดาบ ต่อมาพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง ศรีเพ็ญ) กราบทูลขอพระราชทานปล่อยตัวนักองค์ด้วง ไปอยู่ที่บ้านของพระยาศรีสหเทพ[6]

วันแรมสามค่ำ เดือนหนึ่ง ปีพ.ศ. 2381 (27 ธันวาคม) นักองค์อิ่มแปรพักตร์ไปเข้ากับญวนยึดอำนาจในเมืองพระตะบองจับตัวพระยาปลัดเมืองพระตะบอง (รศ) รวมทั้งกรมการข้าราชการฝ่ายสยามและกวาดต้อนชาวเมืองพระตะบองเดินทางไปยังเมืองพนมเปญเพื่อสวามิภักดิ์ต่อเจืองมิญสาง เจืองมิญสางให้ประหารชีวิตกรมการผู้น้อยฝ่ายสยามที่เมืองพนมเปญ แล้วจับกุมนักองค์อิ่มและพระยาปลัดเมืองฯ (รศ) ส่งไปที่เมืองเว้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯทราบข่าวเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. 2382 จึงรีบเดินทางไปยังเมืองพระตะบองและเกณฑ์กำลังจากเขมรป่าดงเข้ามารักษาเมืองพระตะบอง ในพ.ศ. 2383 เจืองมิญสางส่งเจ้าฟ้าทะละหะ (หลง) และสมเด็จเจ้าพระยา (โห้) ไปกุมขังไว้ที่เมืองเว้ ซึึ่งต่อมาถูกเนรเทศต่อไปยังฮานอย และยังส่งเจ้าหญิงกัมพูชาพระธิดาทั้งสี่ของนักองค์จันทร์ได้แก่ นักองค์แบน นังองค์มี นักองค์เภา และนักองค์สงวน ไปไว้ที่เมืองไซ่ง่อน

เดือนสิบ (กันยายน) พ.ศ. 2383 พระยาสังคโลกเจ้าเมืองโพธิสัตว์เข้าสวามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ แจ้งสถานการณ์ของกัมพูชาว่าฝ่ายญวนกดขี่ขุนนางกัมพูชาอย่างมากและองเตียนกุนกำลังเตรียมทัพมาตีเมืองพระตะบอง รวมทั้งบรรดาขุนนางกัมพูชาที่ไม่พอใจการปกครองของเวียดนาม ร่วมกันถวายสาส์นแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ขอพระราชทานนักองค์ด้วงออกไปเป็นกษัตริย์กัมพูชา[6][7] ขุนนางเขมรต้องการให้นักองค์ด้วงมาครองกัมพูชา เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเกณฑ์กำลังพลจากเขมรป่าดงและอีสานมาเตรียมการสำหรับสงครามครั้งใหม่ ปลายปีพ.ศ. 2383 เมืองกัมพูชาลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเวียดนามขึ้นทุกเมือง ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวถึงการลุกฮือของชาวกัมพูชาชื่อว่าเลิมเซิม (Lâm Sâm) ในเวียดนามภาคใต้ พระจักรพรรดิมิญหมั่งพระราชโองการให้เจืองมิญสาง เหงียนกงจื๊อ (Nguyễn Công Trứ, 阮公著) และเหงียนเที้ยนเลิม (Nguyễn Tiến Lâm, 阮進林) นำทัพเข้าปราบการลุกฮือของกัมพูชา

สงครามในปีพ.ศ. 2383 - 2388

[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2383-2385
ส่วนหนึ่งของ ยุคมืดของกัมพูชา

แผนที่แถบบันทายมาศ
วันที่พฤศจิกายน พ.ศ. 2383 - เมษายน พ.ศ. 2385
สถานที่
ผล สยามขับอิทธิพลของเวียดนามออกจากกัมพูชาได้
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
กัมพูชาเข้าสู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ราชวงศ์เหงียน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค)
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)
พระยาราชนิกูล (เสือ สนธิรัตน์)
พระพิเรนทรเทพ (ขำ ณ ราชสีมา)
พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว สิงหเสนี)
จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค)
นักองค์ด้วง
จักรพรรดิมิญ หมั่ง
จักรพรรดิเถี่ยว จิ
"องเตียนกุน" เจือง มิญ สาง (Trương Minh Giảng)
เล วัน ดึ๊ก (Lê Văn Đức)
ฝั่ม วัน เดี๋ยน (Phạm Văn Điển)
เหงียน จี เฟือง (Nguyễn Tri Phương)
โตว่น วัน ซ๊าค (Đoàn Văn Sách)
เหงียน กง หญั่น (Nguyễn Công Nhàn)
โตน เทิ้ต หงิ (Tôn Thất Nghị)

สยามยึดเมืองโพธิสัตว์และเวียดนามถอยไปจากกัมพูชา

[แก้]

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จัดทัพในการเข้ารุกกัมพูชาในปีพ.ศ. 2383 ดังนี้;

  • เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ยกทัพจากเมืองพระตะบองเข้าตีเมืองโพธิสัตว์ ประกอบไปด้วย;
    • พระพิเรนทรเทพ (ขำ) นำทัพชาวกรุงเทพฯ 178 คน ชาวลาวอีสาน 2,612 คน รวม 2,788 คน
    • พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ นำทัพชาวกรุงเทพฯ 205 คน และเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพชาวลาวอีสาน 2,445 คน รวม 2,650 คน
  • พระยาราชนิกูล และพระยาอภัยสงคราม นำทัพชาวลาว 2,000 คน ชาวเขมรป่าดง 11,000 คน รวม 13,000 คน ยกทัพจากเสียมราฐไปช่วยพระยาเดโชขุนนางกัมพูชาเจ้าเมืองกำปงสวาย

ทัพของพระยาราชนิกูลเดินทางออกจากเมืองพระตะบองในเดือนสิบสอง (พฤศจิกายน พ.ศ. 2383) ร่วมกับทัพเขมรของพระยาเดโชเข้าโจมตีเมืองกำพงธมซึ่งมีเหงียนกงเญิน (Nguyễn Công Nhân, 阮公閒) ป้องกันอยู่ นำไปสู่การรบที่กำปงธมและชีแครง พระยาราชนิกูลสามารถยึดเมืองกำปงสวายของฝ่ายญวนและตีทัพญวนที่ชีแครงแตกไป แต่หลังจากนั้นไม่นานองเตียนกุนเจืองมิญสางนำทัพมาตีทัพของพระยาราชนิกูลที่ชีแครงแตกไป ทัพของพระพิเรนทรเทพ (ขำ) พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และเจ้าพระยานครราชสีมาออกจากเมืองโพธิสัตว์ในเดือนสิบสองเช่นกันเข้าล้อมเมืองโพธิสัตว์ไว้ทั้งสี่ด้าน นำไปสู่การล้อมเมืองโพธิสัตว์ เมืองโพธิสัตว์มี "องเดดก" หมายถืงเด่ด๊ก (Đề đốc, 提督) หรือเจ้าเมืองป้องกันอยู่ส่งทหารญวนจากเมืองโพธิสัตว์ออกมาสู้รบ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเด่ด๊กแห่งเมืองโพธิสัตว์ในขณะนั้นชื่อว่าหวอดึ๊กจุง (Võ Đức Trung) เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ขุนสนามเพลาะใช้ปืนระดงยิงใส่ป้อมเมืองโพธิสัตว์ฝ่ายญวนเสียชีวิตจำนวนมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯทราบข่าวว่าทัพของพระยาราชนิกูลที่กำปงสวายถูกองเตียนกุนตีแตกไปแล้วและองเตียนกุนกำลังจะยกทัพมาช่วยเมืองโพธิสัตว์ จึงปรึกษากับเจ้าพระยานครราชสีมาว่าถ้าไม่สามารถยึดเมืองโพธิสัตว์ได้ก่อนที่องเตียนกุนจะมาถึงควรเจรจาสงบศึก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเจรจาสงบศึกกับองเดดกหวอดึ๊กจุง องเดดกยินยอมถอนกำลังออกจากเมืองโพธิสัตว์สร้างความไม่พอใจให้แก่องเตียนกุน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงยอมให้ขุนนางญวนเดินทางออกจากเมืองโพธิสัตว์ไปแต่โดยดี เมื่อยึดเมืองโพธิสัตว์ได้แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่าเมืองโพธิสัตว์มีเสบียงน้อยจึงให้ขุนนางเขมรรักษาเมืองและถอยทัพกลับไปอยู่ที่พระตะบอง

พระเจ้ามิญหมั่งมีพระราชโองการให้ "องตาเตียงกุน"ฝั่มวันเดี๋ยน (Phạm Văn Điển, 范文典) ยกทัพมาช่วยองเตียนกุน ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2384 โปรดฯให้นักองค์ด้วงไปที่เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯป่าวประกาศให้ชาวกัมพูชามาสวามิภักดิ์ต่อนักองค์ด้วง นักองค์แบนพระเชษฐภคินีของนักองค์มีมีหนังสือลับถึงนักนางเทพพระมารดาที่เมืองพระตะบองว่าจะหลบหนีมาอยู่ฝ่ายสยาม ฝ่ายเวียดนามจับได้เจืองมิญสางจึงนำนักองค์แบนไปสำเร็จโทษประหารชีวิตที่เมืองล็องโห่ด้วยการถ่วงน้ำในแม่น้ำโขง เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้ามิญหมั่งไม่ไว้วางใจเจ้านายกัมพูชาอีกต่อไป จงมีพระราชโองการให้ปลดนักองค์มีออกจากตำแหน่งกษัตรีแห่งกัมพูชา รวมทั้งเนรเทศนักองค์มีและพระขนิษฐาอีกสององค์คือองค์เภาและองค์สงวนไปที่เกาะโกนด๋าว (Côn Đảo)

พระจักรพรรดิมิญหมั่งสวรรคตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2384 ทัพของเจืองมิญสางและฝั่มวันเดี๋ยนที่เมืองพนมเปญมี 20,000 คน ฝั่มวันเดี๋ยนยกทัพ 3000 คน เข้าตีเมืองโพธิสัตว์แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยาบดินทรฯจึงให้นักองค์ด้วยไปรักษาเมืองโพธิสัตว์ในเดือนมีนาคม ในเดือนเมษายนเจืองมิญสางนำนักองค์อิ่ม นักองค์มี รวมทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางเขมรซึ่งถูกจองจำอยู่ที่เว้มายังเมืองพนมเปญเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชาอีกครั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงส่งนักองค์ด้วงไปอยู่ที่เมืองอุดงมีชัยเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวเขมรเช่นกันโดยมีพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) เป็นผู้นำทัพถึงเมืองอุดงในเดือนพฤษภาคม เมื่อฝ่ายเวียดนามพ่ายแพ้และถอยร่นไป เจืองมิญสางจึงจำต้องนำนักองค์อิ่มและนักองค์มีไปประทับที่เมืองโจดกหรือเปียมเมียดจรูกแทน[7]

ในเวลานั้นอาณาจักรกัมพูชาแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายนักองค์ด้วงที่เมืองอุดงและฝ่ายนักองค์อิ่มและนักองค์มีที่พนมเปญ พระจักรพรรดิเวียดนามพระองค์ใหม่คือพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงมีนโยบายที่แตกต่างจากพระจักรพรรดิมิญหมั่ง ขุนนางชื่อว่าตะกวังกึ (Tạ Quang Cự) ได้กราบทูลพระจักรพรรดิเถี่ยวจิว่าสงครามในกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทำให้ราษฎรในเวียดนามภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกเกณฑ์ไปรบ จึงมีพระราชโองการให้ถอนกำลังทหารของเวียดนามออกจากกัมพูชาและเชียงขวางทั้งหมด ประกอบกับการที่เมืองพนมเปญเกิดโรคระบาดและภาวะขาดอาหาร ทำให้เจืองมิญสางจำต้องถอนกำลังออกจากกัมพูชารวมทั้งนำนักองค์อิ่มและเชื้อพระวงศ์เขมรลงใต้ไปอยู่ที่เมืองโจดกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2384 ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเจืองมิญสางเสียชีวิตอย่างกระทันกันที่เมืองโจดก ในขณะที่พงศาวดารไทยและเขมรกล่าวว่าองเตียนกุนเจืองมิญสางมีความเสียใจที่สูญเสียกัมพูชาจึงกินยาพิษฆ่าตัวตาย

สยามตีเมืองบันทายมาศและคลองหวิญเต๊

[แก้]

เมื่อฝ่ายสยามเข้าครองกัมพูชาแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯดำริว่าคลองหวิญเต๊ซึ่งเป็นคลองขุดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2362 ระหว่างเมืองโจดกและเมืองบันทายมาศเป็นคลองขนาดใหญ่ทำให้เวียดนามสามารถนำทัพเรือออกสู่อ่าวไทยได้ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานำกำลังไปถมทำลายคลองหวิญเต๊ เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบว่าคลองหวิญเต๊มีกองกำลังญวนคุมอยู่เนื่องจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯล้มป่วยจึงทูลขอให้แต่งทัพเข้าตีคลองหวิญเต๊และตีเมืองบันทายมาศและทูลขอเสบียงอาหารเพิ่มเติมมาส่งที่เมืองกำปอต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดฯให้แต่งทัพไปโจมตีคลองหวิญเต๊และเมืองบันทายมาศดังนี้;

  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประทับเรือพุทธอำนาจ และจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) เป็นทัพหน้าลงเรือเทพโกสินทร์ นายกองอื่นๆลงเรือราชฤทธิวิทยาคม เรืออุดมเดช และเรือปักหลั่นมัจฉานุ นำกำลัง 2,000 คนไปรวมกับกำลังจากหัวเมืองตะวันออกได้แก่ระยอง จันทบุรี ตราด อีก 3,000 คน รวมเป็น 5,000 คน นำเสบียงไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯที่เมืองกำปอตและเข้าตีเมืองบันทายมาศ
  • เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) และพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) นำทัพชาวลาวและเขมรป่าดงจำนวน 11,900 คน นำนักองค์ด้วงจากเมืองอุดงไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ และนำทัพเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊

เจ้าพระยายมราชและพระพรหมบริรักษ์นำนักองค์ด้วงออกจากเมืองอุดงในเดือนสาม (มกราคม) พ.ศ. 2385 ถึงเมืองเชิงกรรชุมส่งคนไปโจมตีคลองหวิญเต๊เป็นระยะ ทัพเรือของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ออกจากกรุงเทพฯในวันเดียวกัน กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ประทับที่จันทบุรีแล้วให้ทัพเรือของพระพิชัยรณฤทธิ์และพระราชวังสันยกไปก่อน ไปพบกับเรือฝ่ายญวนที่ช่องกระบือยิงต่อสู้กันเรือญวนถอยกลับไปยังบันทายมาศ พระยาอภัยพิพิธนำเสบียงลงเรือปักหลั่นมัจฉานุไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่กำปอต จากนั้นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์จึงยกทัพเรือเสด็จไปประทับที่เกาะฟู้โกว๊กหรือเกาะกระทะคว่ำ ฝ่ายญวน"องตุมผู"ทราบว่าทัพเรือสยามกำลังยกมาตีเมืองบันทายมาศจึงรายงานไปยังพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ จึงมีพระราชโองการตามที่ในดั่ยนามถึกหลุกให้เลวันดึ๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้ฝั่มวันเดี๋ยนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียน (Tổng đốc An Hà) และเหงียนวันเจือง (Nguyễn Văn Chương, 阮文章 ต่อมาคือเหงียนจี่เฟือง Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ป้องกันคลองหวิญเต๊ และให้เหงียนกงเญินป้องกันจังหวัดเหิ่วซาง

เขาโกนธมหรือเขาโกโต (Núi Cô Tô) ตั้งอยูทางทิศตะวันออกของเมืองบันทายมาศ อยู่ที่อำเภอจีโตน (Tri Tôn) จังหวัดอานซางในปัจจุบัน

ในการรบที่บันทายมาศและเขาโกนธม กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) ยกทัพเข้าตีเมืองบันทายมาศ จมื่นไวยวรนาถให้พระยาอภัยพิพิธนำทัพหัวเมืองตะวันออก 600 คน และพระยาโสรัชชะเจ้าเมืองกำปอตชาวเขมรยกทัพเขมร 2,000 คนเข้ายึดเขาโกนธมหรือเขาโกโต (Núi Cô Tô) นอกจากนี้จมื่นไวยวรนาถยังให้พระยาราชวังสันยกทัพเรือไปโจมตีป้อมหน้าเมืองบันทายมาศ และพระยาพิชัยรนฤทธิ์ยกทัพเรือไปโจมตีหอลำผี ฝ่ายสยามระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองบันทายมาศทั้งทางบกและทะเล ฝ่ายองตุมผูผู้รักษาเมืองบันทายมาศจึงขอความช่วยเหลือไปยังเลวันดึ๊ก เลวันดึ๊กแม่ทัพใหญ่จึงส่งฝั่มวันเดี๋ยนนำทัพญวนมาเสริมกำลังที่เมืองบันทายมาศ ฝ่ายสยามระดมยิงใส่เมืองบันทายมาศเป็นเวลาติดต่อกันเจ็ดวันฝ่ายญวนยังสามารถยิงตอบโต้ได้ต่อเนื่อง จมื่นไวยวรนาถเห็นผิดสังเกตจึงสืบได้ความว่าฝ่ายญวนมีกองกำลังมาเสริมแล้ว จมื่นไวยวรนาถจึงไปเข้าเฝ้าสมเด็จกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่เกาะฟู้โกว๊ก

กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ฯทรงมีพระวินิจฉัยว่า[6]ฝ่ายญวนนำกำลังเสริมมามากการยึดเมืองบันทายมาศทำได้ลำบาก อีกประการขณะนั้นกำลังจะเปลี่ยนฤดูมรสุมหากลมจากทิศตะวันตกพัดแรงขึ้นจะพัดกองเรือกำปั่นหลวงให้ได้รับความเสียหาย จึงมีพระบัญชาให้ถอนทัพสยามออกจากเมืองบันทายมาศทั้งหมดในเดือนห้า (เมษายน) พ.ศ. 2385 ฝ่ายญวนเหงียนวันเจืองนำทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยาอภัยพิพพิธและพระยาโสรัชชะบนเขาโกนธมแตกพ่ายไป ทัพเรือที่หอลำผีนั้นก็ถูกลมมรสุมตะวันตกพัดจนตั้งอยู่ไม่ได้ต้องถอยออกมา

ทัพของเจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ และนักองค์ด้วงเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าฝ่ายสยามสามารถยึดคลองหวิญเต๊และจังหวัดอานซางได้และยกทัพไปโจมตีจังหวักเหิ่วซาง เหงียนกงเญินผู้รักษาจังหวัดอานซางจึงขอความช่วยเหลือจากเมืองเว้ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงส่งโตนเทิ้ตหงิ (Tôn Thất Nghị, 尊室議) ยกทัพมาช่วยเหงียนกงเญินที่จังหวัดอานซาง เมื่อสยามล่าถอยไปจากบันทายมาศแล้วฝั่มวันเดี๋ยนจึงยกทัพมาช่วยจังหวัดอานซางเช่นกันจนสามารถขับไล่ฝ่ายสยามออกไปจากจังหวัดอานซางและคลองหวิญเต๊ได้ ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2385 ฝั่นวันเดี๋ยนล้มป่วยเสียชีวิต ฝ่ายเจ้าพระยายมราชจึงยกทัพเข้าประชิดเมืองโจดก นำไปสู่การรบที่โจดก แต่ถูกทัพญวนนำโดย "องเตียนเลือก"เข้าตีแตกพ่ายเสียทหารสยาม 1,200 คน และเสียทหารกัมพูชาไปจำนวน 2,000 คน ในวันแรมสิบสามค่ำเดือนห้า (8 เมษายน พ.ศ. 2385) เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถูกปืนเข้าที่หน้าอกแต่ลูกปืนถูกกระดุมเสื้อ[6] นายแสงมหาดเล็กบุตรเจ้าพระยายมราชเสียชีวิตในที่รบ[6] ฝ่ายกัมพูชาพระองค์แก้ว (มา) ซึ่งเป็นพี่ชายของนักนางเทพ และขุนนางออกญาเขมรอีกเก้าคนสิ้นชีวิตในที่รบเจ้าพระยายมราชและนักองค์ด้วงจึงล่าถอยไปอยู่ที่พนมเปญ เลวันดึ๊กเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2385 เช่นกัน จักรพรรดิเถี่ยวจิทรงแต่งตั้งเหงียนกงเญินขึ้นเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนแทน

การรบทางเรือครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเรือไทยมีสมรรถนะที่ด้อยกว่า เรือญวน (ดูรายละเอียดใน พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์, 2508) ทั้งในเรื่องของขนาดและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อเรือรบใหม่เป็นเรือป้อมอย่างญวน สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้หลายกระบอก ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กอง อำนวยการต่อเรือป้อมแบบญวนไว้ใช้ในราชการ 80 ลำ

ช่วงระหว่างสงครามพ.ศ. 2386 - 2388

[แก้]

หลังจากสงครามปีพ.ศ. 2385 อาณาจักรกัมพูชามีนักองค์ด้วงปกครองอยู่ที่เมืองอุดงภายใต้ความคุ้มครองของพระพรหมบริรักษ์โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กำกับอยู่ที่เมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้รื้อป้อมปราการของญวนที่นอกเมืองพนมเปญลงและสร้างป้อมใหม่ทางทิศใต้ ให้ชาวลาวจากนครราชสีมาจำนวน 5,000 คนและทหารเขมรอีก 3,000 คนรักษาเมืองพนมเปญ และให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปคุมการขุดคลองพระยาลือและการสร้างป้อมขึ้นที่เมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชาให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองอุดงเดิมเรียกว่าเมืองมีชัย ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองอุดงมีชัย

ฝ่ายเวียดนามนำโดย"จงตก" (Tổng đốc, 總督) เหงียนวันเจืองซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนและตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโจดก ได้ส่งนักองค์อิ่มมาอยู่ที่เมืองโจดกและส่งพระสงฆ์ออกไปเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชา แต่ทว่านักองค์อิ่มถึงแก่พิราลัยในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2386 เจ้านายกัมพูชาที่อยู่กับญวนได้แก่เจ้าหญิงนักองค์มี เจ้าหญิงนักองค์สงวน เจ้าหญิงนักองค์เภา และนักองค์ภิมโอรสขององค์อิ่ม รวมทั้งนักนางรศมารดาของนักองค์ด้วง

อาณาจักรกัมพูชาอยู่ภายใต้สงครามยืดเยื้อนานหลายปีทำให้ชาวกัมพูชาขาดการเกษตรกรรมไม่มีผลผลิตมานานหลายปี เกิดภาวะแล้งรวมทั้งเกิด "ไข้ป่วง" โรคระบาดขึ้นในเวียดนามภาคใต้ในพ.ศ. 2385-86 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขาดแคลนอาหารขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงจำต้องแบ่งเสบียงจากเมืองจันทบุรีและตราด สงครามระหว่างสยามและเวียดนามจึงหยุดยั้งลงชั่วคราวเป็นเวลาสามปี เมื่อสถานการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 โดยให้พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายรักษานักองค์ด้วงและเมืองอุดง ในคราวเดียวกันนี้นักองค์ด้วงให้พระยายมราช (พรม) ผู้ว่าที่เจ้าฟ้าทะละหะ นำเครื่องบรรณาการไปถวายที่กรุงเทพฯด้วย[7]

เวียดนามยึดพนมเปญและตีเมืองอุดง

[แก้]
อานัมสยามยุทธ พ.ศ. 2388
ส่วนหนึ่งของ อินโดจีนฝรั่งเศส

แผนที่แสดงการเคลื่อนทัพของเวียดนาม (ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2388) ในช่วงสงครามสยาม-เวียดนาม (พ.ศ. 2384-2388)
วันที่พฤษภาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2388
สถานที่
ผล เจรจาสงบศึก
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
กัมพูชาตกเป็นประเทศราชร่วมของสยามและเวียดนาม
คู่สงคราม
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรกัมพูชา
ราชวงศ์เหงียน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว สิงหเสนี)
นักองค์ด้วง
จักรพรรดิเถี่ยว จิ
หวอ วัน สาย (Võ Văn Giải)
"จงตก"เมืองโจดก เหงียน จี เฟือง (Nguyễn Tri Phương)
"องเดดก" เหงียน วัน ฮว่าง (Nguyễn Văn Hoàng)
"องตนผู้" โตว๋น เอวิ๋น (Doãn Uẩn)

หลังจากที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของนักองค์ด้วงและสยามได้สามปี เริ่มมีขุนนางกัมพูชาบางกลุ่มหันไปสนับสนุนฝ่ายเวียดนามอย่างเป็นความลับ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงเห็นเป็นโอกาสจึงมีพระราชโองการให้ตั้งหวอวันสาย (Võ Văn Giải, 武文解) เจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่และจัดทัพเข้ารุกรานกัมพูชาจากสามทางได้แก่;

  • "องเดดก" เหงียนวันฮว่าง (Nguyễn Văn Hoàng) ซึ่งเป็นเด่ด๊กแห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 170 ลำ 6,000 คน[6] จากเมืองเตินเจิว (Tân Châu, 新洲) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโจดกขึ้นไปตามแม่น้ำบาสักเข้าตีเมืองบาพนม (อำเภอบาภน็อม จังหวัดไพรแวง) ก่อนเข้าโจมตีเมืองพนมเปญ
  • "องตนผู้" โตว๋นเอวิ๋น (Doãn Uẩn, 尹蘊) ซึ่งเป็นต่วนผู (Tuần phủ, 巡撫) แห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 120 ลำ 3,000 คน[6] จากเมืองโทงบิ่ญ (Thông Bình, 通平 จังหวัดด่งท้าปติดกับกัมพูชา) ขึ้นไปตามแม่น้ำพระตระแบกมาตีเมืองกำพงตระแบก (อำเภอก็อมพงตระแบก, កំពង់ត្របែក จังหวัดไพรแวง) แล้วไปสมทบกับทัพของเหงี่ยนหวั่งฮว่างที่เมืองบาพนมก่อนเข้าตีเมืองพนมเปญ
  • เหงียนกงเญินนำทัพบกจากจังหวัดเต็ยนิญ (Tây Ninh, 西寧) ตามหลังสองทัพก่อนหน้านี้

เมื่อเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 นักองค์ด้วงค้นพบว่าพระยาจักรี (มี) ขุนนางกัมพูชา มีหนังสือโต้ตอบคบคิดกับฝ่ายเวียดนามให้เวียดนามยกทัพขึ้นมาแล้วตั้งเจ้าสตรีขึ้นครองกัมพูชาแทน นักองค์ด้วงจึงให้ประหารชีวิตพระยาจักรี (มี) รวมทั้งพรรคพวกรวมสิบเอ็ดคน

ฝ่ายญวนเมื่อทราบว่าฝ่ายสยามทราบข่าวสงครามแล้วจึงเริ่มยกทัพเรือเข้าตีกัมพูชาในเดือนกรกฎาคม พระนรินทรโยธาและพระยากลาโหม (มก) ยกทัพไปตั้งรับแต่ถูกทัพญวนตีแตกพ่าย โตว๋นเอวิ๋นนำทัพเรือเข้ายึดเมืองกำพงตระแบกได้ในวันขึ้นแปดค่ำเดือนแปด (11 กรกฎาคม) และยกมาตั้งที่บึงกษัตริย์สระ (ខ្សាច់ស) เมืองบาพนม กองกำลังฝ่ายกัมพูชาไม่อาจต้านทานได้ถอยร่นมา ฝ่ายกรุงเทพฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รีบรุดนำทัพออกไปเมืองอุดงมีชัยในเมื่อแรมแปดค่ำเดือนแปด (25 กรกฎาคม) โดยให้พระยาราชสุภาวดี (โต) อยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีคอยส่งเสบียง หวอวันสายและเหงียนวันเจืองนำทัพเรือขึ้นไปหนุนที่เมืองบาพนม พระจักรพรรดิเถี่ยวจิดำริจะฟื้นฟูมณฑลเจิ๊นเต็ยขึ้นอีกครั้งจึงแต่งตั้งให้หวอวันสายเป็น "องตาเตียนกุน" ตำแหน่งเดียวกับเจืองมิญสาง พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และนักองค์ด้วง นำทัพจากเมืองอุดงไปตั้งรับที่พนมเปญ

เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นยกทัพเรือจำนวน 2,000 คน ขึ้นไปตีเมืองพนมเปญ ในการรบที่พนมเปญ เหงียนวันเจืองสามารถเข้ายึดเมืองพนมเปญได้ในวันขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสิบ (11 กันยายน) พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และกองกำลังสยามและเขมรต่างแตกถอนร่นจากพนมเปญไปยังเมืองอุดง เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นรีบยกทัพขึ้นมาล้อมเมืองอุดงในวันแรมสิบเอ็ดค่ำ (26 กันยายน) เหงียนวันเจืองจึงต้องแบ่งทัพ เหงียนวันเจืองตั้งอยู่ที่คลองพระยาลือ (ពញ្ញាឮ) ทางใต้ของเมืองอุดง ในขณะที่โตว๋นเอวิ๋นตั้งอยู่ที่กำพงหลวง (កំពង់លួង) ทางเหนือเพื่อปิดกั้นไม่ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถอยกลับไปทางพระตะบองได้ นำไปสู่การล้อมเมืองอุดง

ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดตั้งทัพรับมือการรุกรานของญวนเวียดนามไว้ดังนี้;[6]

  • พระยารัตนวิเศษ (จิตร) รักษาอยู่ปากคลองเมืองอุดงมีชัยค่ายหนึ่ง พระสำแดงฤทธิรงค์ พระณรงค์ฤทธิเดช พระพิมาย คุมทัพเมืองนครราชสีมา และหลวงอินทรคชลักษณ์คุมทัพเมืองเสียมราฐ รักษาค่ายที่กำพงหลวงค่ายหนึ่งและที่คลองพระยาลืออีกค่ายหนึ่ง เป็นสามค่ายชักปีกกาถึงกัน
  • พระพลเมืองพระตะบอง (มา) คุมทัพเมืองพระตะบอง ตั้งทัพอยู่ที่แขวงเมืองบาทีทางทิศใต้
  • พระยาจตุรงค์นรินทรวิชัย คุมทัพเมืองขุขันธ์และเมืองลาดปะเอีย ตั้งทัพอยู่ที่แขวงเมืองไพรกะบาททางทิศใต้
  • พระยากลาโหม (มก) แม่ทัพกัมพูชา ตั้งทัพที่เกาะแตง คอยตัดเส้นทางลำเลียงของฝ่ายเวียดนาม

ในการล้อมเมืองอุดงนั้นเอกสารฝ่ายไทยและฝ่ายเวียดนามให้รายละเอียดต่างกัน พงศาวดารไทยกล่าวว่าเมื่อฝ่ายเวียดนามเข้าโจมตีเมืองอุดงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯสามารถนำทัพขับทหารเวียดนามออกไปได้และแบ่งกำลังออกไปตีค่ายกำพงหลวงและพระยาลือ ในขณะที่ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯและเหงียนวันเจืองต่างเห็นว่าการล้อมเมืองอุดงยืดเยื้อไม่สามารถเอาชนะซึ่งกันและกันได้นำไปสู่การเจรจาสงบศึก การเจรจาระหว่างสยามและเวียดนามเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2388 "องญวน"โตว๋นเอวิ๋นที่ค่ายพระยาลือส่งหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ว่าให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปถวายพระจักรพรรดิเถี่ยวจิยินยอมให้กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม โดยฝ่ายเวียดนามนามจะส่งเจ้าสตรีและเชื้อพระวงศ์กัมพูชาคืนให้แก่นักองค์ด้วงและล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ หลังจากการล้อมเมืองอุดงเป็นเวลาห้าเดือน เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นจึงถอนกำลังญวนทั้งหมดจากเมืองอุดงลงไปตั่งมั่นที่พนมเปญในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2389

การเจรจา

[แก้]
สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง

ฝ่ายญวนต้องการให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปสวามิภักดิ์ต่อพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ แต่นักองค์ด้วงและเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยังคงไม่ตอบ ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2389 ฝ่ายญวนส่งนักนางรศให้แก่นักองค์ด้วงและเร่งให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นและส่งชาวญวนซึ่งฝ่ายสยามได้กวาดต้องไปกลับคืนให้แก่ญวน นักองค์ด้วงตอบว่าขอเวลาสามเดือน หลังจากผ่านไปสามเดือนฝ่ายญวนเข้ามาทวงสัญญา เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯกระทำการเจรจากับฝ่ายญวนตามสมควร เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์ด้วงแต่งคณะทูตนำโดยพระยาราชเดชะ (นอง)[7] ไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิเถี่ยวจิที่เมืองเว้ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2390 ในเดือนพฤษภาคมพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงให้คณะทูตญวนนำตราตั้งและเครื่องยศแบบญวนมาแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "กาวเมียนโกว๊กเวือง" (Cao Miên Quốc vương , 高棉國王) หรือ "กษัตริย์แห่งเขมร" ในฐานะเจ้าประเทศราชขึ้นแก่เวียดนาม รวมทั้งส่งเชื้อพระวงศ์ที่เหลือทั้งหมดให้แก่นักองค์ด้วงและฝ่ายญวนก็ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญไป ในเดือนมกราคม​พ.ศ. 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้พระยาเพชรพิชัย[7] (เสือ สนธิรัตน์) นำเครื่องอิสสริยยศและสุพรรณบัฏไปยังเมืองอุดงและให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเป็นผู้แทนพระองค์ราชาภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "พระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพันธุ์ธรรมิกวโรดม..." หรือ "องค์พระหริรักษ์เจ้ากัมพูชา" ในฐานะเจ้าประเทศราชของสยาม อาณาจักรกัมพูชาจึงเป็นเมืองขึ้นของทั้งสยามและเวียดนามนับแต่นั้นมา

เมื่อกิจการในกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเมษายนพ.ศ. 2391 ต่อมาพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) จึงนำโอรสของนักองค์ด้วงคือ นักองค์ราชาวดี และโอรสของนักองค์อิ่มคือนักองค์พิมพ์ เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายตัวทำราชการที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งขุนนางกัมพูชาคือพระยาสวรรคโลก (เกาะ) และพระพลเมืองพระตะบอง (มา) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯพระราชทานแต่งตั้งให้พระพลเมืองพระตะบอง (มา) เป็นเจ้าฟ้าทะละหะ และพระยาสวรรคโลก (เกาะ) เป็นสมเด็จเจ้าพระยา[7] ซึ่งต่อมานักองค์พิมพ์โอรสขององค์อิ่มประชวรสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพในพ.ศ. 2398[7]

ผลสรุป

[แก้]

ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถรบชนะอีกฝ่ายได้เด็ดขาด ทำให้ต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกกัน โดยไทยยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการสถาปนากษัตริย์เขมร ระเบียบปฏิบัติในราชสำนักเขมร และประชาชนทั่วไปรวมถึงพุทธศาสนากลับมาเป็นแบบเขมรดังเดิม ข้าราชการญวนในเขมรถอนตัวออกหมด แต่เขมรยังคงต้องส่งเครื่องบรรณาการแก่ญวนทุก ๆ 3 ปี ถือเป็นข้อตกลงที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย สงครามจึงยุติลง

ต่อมาหลังจากสงครามอานัมสยามยุทธสิบปี ในปีพ.ศ. 2401 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชกาลพระจักรพรรดิตือดึ๊ก พ่อค้าชาวญวนกลุ่มหนึ่งจำนวนยี่สิบเอ็ดคนถูกคลื่นลมซัดเข้ามาในอ่าวไทย[11] ฝ่ายไทยจึงฝากชาวญวนเหล่านั้นกลับไปกับพ่อค้าจีนส่งกลับไปยังเมืองไซ่ง่อน เหงียนวันเจือง ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเหงียนจิเฟืองและดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงผู้สำเร็จราชการเวียดนามภาคใต้หกเมืองประจำที่เมืองไซ่ง่อน[11] เมื่อทราบว่าฝ่ายไทยส่งชาวญวนกลับมาจึงส่งสาสน์ถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหกลาโหมว่า เมื่อครั้งที่เจรจากับเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองอุดงมีชัยฝ่ายไทยสัญญาว่าจะจัดส่งเชลยชาวญวนกลับคืนให้แก่เวียดนาม ขอให้ฝ่ายไทยคืนเชลยชาวญวนให้แก่เวียดนาม โดยเหงียนจิเฟืองได้จัดส่งอาวุธที่เคยยึดไปจากฝ่ายไทยเมื่อสิบปีก่อนคืนให้แก่กรุงเทพฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) จึงตอบว่า เชลยชาวญวนเหล่านั้นฝ่ายไทยได้เลี้ยงดูช่วยเหลือเป็นอย่างดี[11] ไทยและเวียดนามต่างมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และส่งอาวุธเหล่านั้นคืนให้แก่เหงียนจิเฟือง

เมื่อสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) กษัตริย์กัมพูชาสวรรคตในพ.ศ. 2403 เกิดความขัดแย้งระหว่างพระโอรสสององค์ของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีคือนักองค์ราชาวดี และนักองค์ศรีสวัสดิ์ จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองและฝ่ายสยามต้องเข้าไกล่เกลี่ย ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามซึ่งติดพันกับสงครามกับฝรั่งเศสไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kiernan, Ben (17 February 2017). Viet Nam: A History from Earliest Times to the Present. Oxford University Press. pp. 283–. ISBN 978-0-19-062729-4.
  2. Schliesinger, Joachim (2017). The Chong People: A Pearic-Speaking Group of Southeastern Thailand and Their Kin in the Region. Booksmango. pp. 106–. ISBN 978-1-63323-988-3.
  3. Childs Kohn, George (2013). "Siamese-Vietnamese War of 1841–45". Dictionary of Wars. Taylor & Francis. pp. 646–. ISBN 978-1-135-95501-4.
  4. Hirakawa, Sachiko (2004). "Siamese-Vietnamese Wars". ใน Bradford, James C. (บ.ก.). International Encyclopedia of Military History. Routledge. pp. 1235–. ISBN 978-1-135-95034-7.
  5. Vũ Đức Liêm. "Vietnam at the Khmer Frontier: Boundary Politics, 1802–1847" (PDF). Hanoi National University of Education. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-24. สืบค้นเมื่อ July 2, 2020.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 6.20 6.21 6.22 6.23 6.24 6.25 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 7.13 7.14 7.15 7.16 ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจก ในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจ ผู้บิด พ.ศ. ๒๔๖๐.
  8. 8.0 8.1 Ramsay, Jacob (2008). Mandarins and Martyrs: The Church and the Nguyen Dynasty in Early Nineteenth-Century Vietnam. Stanford University Press.
  9. e-shann.com/9042/ชุมชนลาวในภาคกลางของส-11/
  10. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2512). "ฉบับที่ ๒ บัญชีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) เมื่อยกไปเมืองพระตะบอง," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗ (ต่อ) ๖๘) จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑ (ต่อ) และตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 182.
  11. 11.0 11.1 11.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค); วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ ณวัดประยูรวงศาวาส; พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]