เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี)
เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) | |
---|---|
เสนาบดีกรมนครบาล | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2408 – พ.ศ. 2414 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) |
ถัดไป | เจ้าพระยายมราช (เฉย ยมาภัย) |
เจ้าเมืองนครราชสีมา | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2408 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | พระยานครราชสีมา (ขำ ณ ราชสีมา) |
ถัดไป | พระยากำแหงสงคราม (เมฆ ณ ราชสีมา) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | แก้ว พ.ศ. 2347 พระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
เสียชีวิต | 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2414 (67 ปี) พระนคร ประเทศสยาม |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | ท่านผู้หญิงหนู กัลยาณมิตร |
บุตร | 15 คน |
บุพการี |
|
เจ้าพระยายมราช นามเดิม แก้ว (พ.ศ. 2347 - 1 กรกฎาคม 2414) เป็นบุตรของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกรมนครบาลและเจ้าเมืองนครราชสีมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงตำแหน่งเป็นพระพรหมบริรักษ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามอานัมสยามยุทธ
เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) เกิดเมื่อปีชวดพ.ศ. 2347[1] ในรัชกาลที่ 1 เป็นบุตรคนที่แปดของจมื่นเสมอใจราช (สิงห์) มารดาคือท่านผู้หญิงเพ็ง ซึ่งเป็นธิดาของพระพิพิธสาลี (สังข์)[1][2] นายแก้วมีพี่ชายร่วมมารดาเดียวกันชื่อว่านายเกษ (ต่อมาคือเจ้าพระยามุขมนตรี) ต่อมาในรัชกาลที่ 3 บิดาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่สมุหนายก นายแก้วเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก ภายหลังได้เป็นนายจิตรหุ้มแพร[1] ต่อมาเป็นจมื่นสมุหพิมาน[1] ปลัดกรมพระตำรวจขวา หลังจากที่ไปชำระปราบโจรผู้ร้ายที่เมืองนครราชสีมา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมสนมตำรวจขวา
ในพ.ศ. 2384 ขุนนางกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเวียดนามราชวงศ์เหงียนลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของญวน พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ได้ติดตามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ผู้เป็นบิดาไปในการศึกสงครามในครั้งนี้ด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) มอบหมายให้พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) นำทัพเข้าโจมตีเมืองโพธิสัตว์[3] หลังจากนั้นเมื่อฝ่ายญวนล่าถอยออกจากกัมพูชาไปอยู่ที่เมืองโจดกแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จึงมอบหมายให้พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) นำนักองค์ด้วงไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอุดงในพ.ศ. 2385 พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ร่วมกับเจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค) และนักองค์ด้วง ยกทัพเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊ในจังหวัดอานซางของเวียดนาม แต่ทัพฝ่ายญวนสามารถต้านทานทัพของฝ่ายสยามได้ทำให้ฝ่ายสยามต้องล่าถอยกลับ พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) คุ้มครองนักองค์ด้วงอยู่ที่เมืองอุดงเป็นเวลาสามปี จนกระทั่งในพ.ศ. 2388 ทัพญวนนำโดยเหงียนจิเฟือง (Nguyễn Tri Phương) ยกทัพญวนขึ้นมาโจมตีเมืองพนมเปญ พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) เข้าป้องกันเมืองพนมเปญแต่ฝ่ายญวนสามารถเข้ายึดเมืองพนมเปญได้สำเร็จ พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ถอยไปอยู่ที่เมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดินทางมาจากกรุงเทพฯเพื่อป้องกันเมืองอุดง เหงียนจิเฟืองนำทัพญวนเข้าล้อมเมืองอุดงจนกระทั่งนำไปสู่การเจรจาเพื่อยุติสงครามอานัมสยามยุทธในที่สุด
พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) สมรสกับท่านผู้หญิงหนู[2] เป็นธิดาของเจ๊สัวต่วน ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)[4] นอกจากนี้ยังมีภรรยาอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นท่านผู้หญิงเปรียม[5] ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน ณ ราชสีมา)
หลังจากกลับจากศึกอานัมสยามยุทธ หลังจากที่พระยามหาเทพ (ปาน) ถึงแก่กรรม พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) ได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระยามหาเทพ[1] เจ้ากรมพระตำรวจซ้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 ทรงแต่งตั้งพระยามหาเทพ (แก้ว) ขึ้นเป็นพระยาสีหราชเดโช[6] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพระราชทานอาญาสิทธิ์ให้แก่พระยาสีหราชเดโช (แก้ว) ไปปราบโจรผู้ร้ายที่เมืองนครราชสีมา[1] ต่อมาพระยาสีหราชเดโช (แก้ว) ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา และต่อมาเมื่อเจ้าพระยายมราช (ครุฑ) ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2408 พระยากำแหงสงคราม (แก้ว) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมนครบาล
เจ้าพระยายมราช (แก้ว) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม[7] ปีมะแม พ.ศ. 2414[1][7] อายุ 68 ปี รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครอบครัว
[แก้]เจ้าพระยายมราช (แก้ว สิงหเสนี) มีภรรยาและบุตรธิดาดังนี้[1][2]
ท่านผู้หญิงหนู กัลยาณมิตร ธิดาของเจ๊สัวต่วน
- พระยาเพ็ชรฎา (ดิด สิงหเสนี) บิดาของพระยาสิงห์เสนี (สอาด สิงหเสนี)
- ญ. ทิม
- ญ. ขลิบ สมรสกับพระยาเพชรรัตน์ (โมรา ไกรฤกษ์)
- ญ. ชุ่ม
เจ้าคำพา ณ จำปาศักดิ์
- ญ. ปุ้ย สมรสกับพระยาราชโกษา (จันทร์ วัชโรทัย)
ภรรยาชื่อ พยอม
- พลตรี พระยานครราชเสนี (กาจ สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมา
- ญ. อ่อง ภรรยาของนายโต วัชโรทัย
- พระพิศาลยุทธกิจ (ดัด)
- ญ. ศิลา
ภรรยาชื่อ อิ่ม
- พระอินทราภิบาล (เจ๊ก)
ภรรยาชื่อ แจ่ม
- ช. กลั่น
- ญ. ปริก สมรสกับพระยาอมรสินธพ (นก ฉายะระถี)
ภรรยาชื่อ แทน
- ญ. เทศ สมรสกับพระยากัลยาณมิตรนิกรวงศ์ (คง กัลยาณมิตร)
- ญ. เจียม
- ช. อ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ท.ช.ต.จ. ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 สกุลสิงหเสนีและเครือญาติ. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานณาปนกิจศพ คุณหญิงตุ่ม ประเสริฐสุนทราศรัย ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔.
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. กระเบื้องถ้วยกะลาแตก. Nanmeebooks, 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549.
- ↑ กรมศิลปากร. จดหมายเหตุนครราชสีมา. ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗.
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
- ↑ 7.0 7.1 สมมตอมรพันธุ์, กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร.