ข้ามไปเนื้อหา

สงครามพร่ากำลัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สงครามพร่ากำลัง (อังกฤษ: attrition warfare) เป็นกลยุทธ์ทางทหารอย่างหนึ่ง คู่สงครามจะทำปฏิบัติการทำลายทรัพยากร กำลังพล และข่มขวัญของข้าศึกอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งข้าศึกเข้าสู่วิกฤตด้านกำลังพล ด้านยุทธปัจจัย หรือด้านเศรษฐกิจ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งก็จะยอมแพ้ กลยุทธ์แบบนี้เหมาะใช้ในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก อย่างไรก็ตาม สงครามพร่ากำลังมักเป็นสงครามที่สองฝ่ายติดอยู่ในสภาพเอาชนะกันอย่างเด็ดขาดไม่ได้สักที ถ้าสองฝ่ายมีสถานะเป็นรัฐทั้งคู่ มักจะลงเอยที่การเปิดโต๊ะเจรจากัน ด้วยมองว่าการดำเนินสงครามเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป

หากคู่สงครามใช้กลยุทธ์นี้ต่อกัน โดยพื้นฐานแล้วฝ่ายที่มีทรัพยากรเหนือกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ[1] แต่ทั้งสองฝ่ายก็จะได้รับความเสียหายมากเช่นกัน นักยุทธศาสตร์ทหารส่วนใหญ่จึงมองว่าสงครามพร่ากำลังเป็นกลยุทธ์ที่ควรหลีกเลี่ยง อย่างที่ซุนวูได้เขียนไว้ว่า "ไม่เคยมีแว่นแคว้นใดได้ประโยชน์จากการศึกสงครามยืดเยื้อ"[2] ตัวอย่างที่ชัดเจนของสงครามพร่ากำลัง ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเฉพาะการรบในแนวรบด้านตะวันตกที่ทหารทั้งสองฝ่ายต้องติดหล่มอยู่ในสนามเพลาะเป็นเวลานานหลายปี ยุทธการที่แม่น้ำซอมและยุทธการที่แวร์เดิงเป็นตัวอย่างของการสู้รบที่ต่างฝ่ายต่างพยายามพร่ากำลังของอีกฝ่ายด้วยการใช้ทรัพยากรและกำลังพลจำนวนมาก

แม้ว่าสงครามพร่ากำลังจะสามารถนำไปสู่ชัยชนะได้ในระยะยาว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งในด้านมนุษย์และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กลยุทธ์นี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของทหารและพลเรือนอย่างร้ายแรง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Types of War, www.military-sf.com, undated (accessed 20 January 2007)
  2. "Attrition Warfare: When Even Winners Lose". Farnam Street (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-07-18. สืบค้นเมื่อ 2020-07-09.