ข้ามไปเนื้อหา

ลิฮอง (วุยก๊ก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิฮอง (หลี่ เฟิง)
李豐
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง
(中書令 จงชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 251 (251) – ค.ศ. 254 (254)
กษัตริย์โจฮอง
รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 251 (251)
กษัตริย์โจฮอง
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 251 (251)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดคริสต์ทศวรรษ 200[a]
อำเภอต้าลี่ มณฑลฉ่านซี
เสียชีวิต27 มีนาคม ค.ศ. 254
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
บุตร
บุพการี
  • หลี่ อี้ (李義) (บิดา)
ญาติ
  • หลี่ อี้ (李翼) (น้องชาย)
  • หลี เหว่ย์ (李偉) (น้องชาย)
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองอานกั๋ว (安國)

ลิฮอง[1] (คริสต์ทศวรรษ 200 - 27 มีนาคม ค.ศ. 254[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลี่ เฟิง (จีน: 李豐; พินอิน: Lǐ Fēng) ชื่อรอง อานกั๋ว (จีน: 安國; พินอิน: Ānguó) บางแหล่งข้อมูลระบุว่าชื่อรองคือ เซฺวียนกั๋ว (จีน: 宣國; พินอิน: Xuānguó)[2] เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นขุนนางที่เป็นที่ไว้วางพระทัยของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊กและไม่ปฏิบัติตามความต้องการของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสู

ในปี ค.ศ. 254 ลิฮองร่วมกับแฮเฮาเหียนและเตียวอิบ (張緝 จาง จี) วางแผนจะสังหารสุมาสู แต่สุมาสูล่วงรู้แผนการจึงสั่งให้ลิฮองมาพบตนที่พระราชวัง สุมาสูสอบปากคำลิฮองแล้วจึงสังหารลิฮอง จากนั้นสุมาสูจึงกล่าวว่าลิฮองเป็นกบฏและสั่งให้นำครอบครัวของลิฮองไปประหารชีวิตเช่นกัน[3]

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

ลิฮองเป็นชาวอำเภอตง (東縣 ตงเซี่ยน) เมืองผิงอี้ (馮翊) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอต้าลี่ มณฑลฉ่านซี บิดาของลิฮองคือหลี่ อี้ (李義) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในตำแหน่งเสนาบดีองค์รักษ์ (衞尉 เว่ย์เว่ย์)[4]

ในช่วงศักราชอ้วยโช่ (黄初 หวางชู; ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผีจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ด้วยเหตุที่หลี่ อี้บิดาของลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีองครักษ์ ลิฮองจึงได้รับการเรียกตัวเข้าร่วมกองทัพ[5] ก่อนหน้านี้ขณะลิฮองเป็นสามัญชนอายุ 17 ปี มีชื่อเสียงในเงียบกุ๋น (鄴 เย่) ว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและมีความสามารถในการประเมินลักษณะบุคคล จึงได้รับการยกย่องจากทั่วแดนดิน ต่างให้ความสนใจลิฮอง หลังจากเข้าร่วมกองทัพที่นครฮูโต๋ ชื่อเสียงของลิฮองก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าหลี่ อี้ผู้บิดาจะยอมรับความมีชื่อเสียงของลิฮอง แต่ก็ต้องการให้ลิฮองปิดประตูบ้านเพื่อศึกษาตำรา ไม่ให้ออกมาพบแขก[6]

ในช่วงที่โจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊กยังคงมีฐานะเป็นรัชทายาท (太子 ไท่จื่อ) เวลานั้นลิฮองก็ยังคงศึกษาตำราอยู่[7] หลังจากที่โจยอยขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 226 ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสถามคนผู้หนึ่งจากรัฐง่อก๊กที่มาสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กว่า "ท่านอยู่ในกังตั๋ง เคยได้ยินว่าผู้ใดเป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในที่ราบกลาง (中原 จง-ยฺเหวียน)" ผู้สวามิภักดิ์ทูลตอบว่า "รู้จักเพียงหลี่ อานกั๋ว (李安國) เท่านั้น" เวลานั้นลิฮองมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักประตูเหลือง (黃門郎 หฺวางเหมินหลาง) โจยอยตรัสถามเหล่าข้าบริพารว่า "หลี่ อานกั๋ว" คือใคร ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นต่างตอบว่า "ลิฮอง (หลี่ เฟิง) มีชื่อรองว่าอานกั๋ว" โจยอยตรัสว่า "ชื่อเสียงของลิฮองแพร่ไปถึงแดนง่อ (吳 อู๋) และอวด (越 เยฺว่) เชียวหรือ"[8] ภายหลังลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) และขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง)[9]

หลังจากโจยอยสวรรคตและโจฮองพระโอรสบุญธรรมขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊กในปี ค.ศ. 239 ลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกรมราชรถ (太僕 ไท่ผู) ประจำวังหย่งหนิง (永寧) เนื่องจากชื่อเสียงของลิฮองนั้นเกินกว่าความสามารถจริง ๆ ลิฮองจึงไม่ได้รับมอบหมายในตำแหน่งสำคัญ[10]

ประวัติช่วงปลาย

[แก้]

ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (正始; ค.ศ. 240-249) ในรัชสมัยของโจฮอง ลิฮองได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และรองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่) ในช่วงเวลานั้นลิฮองมักจะอ้างว่าป่วยและไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายแล้วหากลาป่วยเป็นเวลาถึง 100 วันจะไม่ได้รับเบี้ยหวัด ดังนั้นลิฮองจึงหลีกเลี่ยงจำกัดเวลานี้ ลิฮองลาป่วยไปไม่กี่วันก็ลุกกลับมา หลังจากนั้นก็ลาป่วยอีกครั้ง ลาป่วยซ้่ำ ๆ เช่นนี้มานานหลายปี[11]

ในช่วงเวลานั้นหลี่ เทา (李韜) บุตรชายของลิฮองได้รับเลือกให้สมรสกับเจ้าหญิง ลิฮองภายนอกปฏิเสธ แต่ในใจจริง ๆ แล้วยอมรับ[12]

น้องชาย 2 คนของลิฮองคือหลี่ อี้ (李翼) และหลี เหว่ย์ (李偉) รับราชการในวุยก๊กในเวลาหลายปีและทำหน้าที่ดูแลราชการเมือง ลิฮองเคยแนะนำน้องชายทั้งสองต่อหน้าคนอื่น ๆ ว่า "ควรใช้ตำแหน่งอันมีเกียรติเพื่อ...[ข้อความในต้นฉบับขาดหาย]"[13] ต่อมาสุมาอี้ล้มป่วยเป็นเวลานาน เวลานั้นหลี เหว่ย์เป็นข้าราชการยศ 2,000 ต้าน (石) เมาสุราและก่อความวุ่นวายในเมืองซินผิง (新平) และฝูเฟิง (扶風) แต่ลิฮองผู้เป็นพี่ชายไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ผู้คนต่างเห็นว่าลิฮองเห็นแก่ความเป็นญาติ[14]

เมื่อโจซองขึ้นมามีอำนาจในราขสำนัก ลิฮองเลือกจะแสดงท่าทีดีต่อทั้งโจซองและสุมาอี้ ไม่ได้แสดงจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดอย่างชัดเจน ในเวลานั้นมีึผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ให้ร้ายลิฮองว่า "อำนาจของโจซองร้อนแรงดั่งน้ำแกง อำนาจของราชครู (สุมาอี้) เย็นเยียบดั่งแป้งเปียก ลิฮองพี่น้องก็เป็นดั่งโหยวกวาง (游光; ปิศาจในตำนานของจีน สามารถก่อไฟให้ไหม้บ้านคนได้)" ควาามหมายก็คือลิฮองดูภายนอกเป็นผู้มีคุณธรรม แต่ในใจชั่วร้ายเหมือนกับโหยวกวาง[15]

ในปี ค.ศ. 249 เมื่อสุมาอี้ถวายฎีกาแก่จักรพรรดิโจฮองทูลขอให้ประหารชีวิตโจซอง สุมาอี้ได้จอดรถม้าไว้ที่ท้องพระโรง ภายหลังก็บอกเรื่องนี้ให้ลิฮองทราบ ลิฮองได้ฟังก็ตกใจมากจนคุกเข่าลงกับพื้นและลุกไม่ขึ้น[16]

ในปี ค.ศ. 252 หลังจากสุมาอี้เสียชีวิต ตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) ได้ว่างลง สุมาสูบุตรชายของสุมาอี้ที่ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สืบจากสุมาอี้และมีตำแหน่งเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) ได้ขอความเห็นจากเหล่าขุนนาง มีผู้เสนอชื่อลิฮองให้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง ลิฮองเห็นว่าตำแหน่งนี้ไม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ แต่ลิฮองก็ตระหนักว่าตนมีความสัมพันธ์เป็นพระญาติกับจักรพรรดิโจฮองจากการสมรสระหว่างบุตรชายของลิฮองกับองค์หญิงของราชวงศ์แห่งวุยก๊ก ลิฮองจึงยอมรับตำแหน่ง สุมาสูจึงถวายฎีกาเสนอให้จักรพรรดิโจฮองแต่งตั้งลิฮอง[17]

เวลานั้นแฮเฮาเหียนเป็นผู้มีฐานะสูงส่ง แต่เนื่องจากแฮเฮาเหียนเป็นคนสนิทของโจซอง จึงไม่ได้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจและรู้สึกไม่พอใจ เตียวอิบถูกกีดกันไม่ให้ดูแลราชการเมืองเพราะเป็นบิดาของเตียวฮองเฮาจักรพรรดินีของโจฮองจึงรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน แม้ว่าสุมาสูจะเลื่อนตำแหน่งให้ลิฮอง แต่ลิฮองก็ลอบโน้มเอียงไปเข้าด้วยแฮเฮาเหียน ดังนั้นจึงได้ผูกมิตรกับเตียวอิบด้วย ทั้งสามตั้งใจจะโค่นล้มสุมาสูและจะตั้งแฮเฮาเหียนขึ้นเป็นมหาขุนพลแทน[18] ลิฮองนั้นกุมอำนาจอยู่ภายใน ทั้งยังเป็นชาวเมืองผิงอี้เช่นเดียวกันกับเตียวอิบ หลี่ เทาบุตรชายของลิฮองก็สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) เตียวอิบจึงเชื่อใจลิฮองอย่างมาก[19] ลิฮองยังแอบสั่งให้หลี่ อี้ผู้เป็นน้องชายให้ยื่นคำร้องต่อราชสำนัก หวังจะให้หลี่ อี้ได้นำกองกำลังเพื่อจะใช้มาร่วมในการก่อการ อย่างไรก็ตาม คำร้องของหลี่ อี้ที่ยื่นต่อราชสำนักไม่ได้รับการอนุมัติ[20]

เสียชีวิต

[แก้]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 254 ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการแต่งตั้งสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน (貴人) ลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะนำกำลังทหารเข้าสังหารสุมาสู แล้วจะตั้งให้แฮเฮาเหียนดำรงตำแหน่งแทนสุมาสู ตั้งให้เตียวอิบเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[21] ฝ่ายลิฮองลอบวางแผนกับขันทีซู ชั่ว (蘇鑠), เยฺว่ ตุน (樂敦) หลิว เสียน (劉賢) และคนอื่น ๆ โดยกล่าวว่า "พวกท่านละเมิดกฎหมายหลายครั้ง มหาขุนพลสุมาสูคนนี้เป็นคนเข้มงวด เน้นย้ำเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เรื่องที่เคยเกิดกับเตียวต๋องจะเป็นอุทาหรณ์เตือนพวกท่าน" ซู ชั่วและคนอื่น ๆ ยอมเชื่อฟังคำสั่งของลิฮอง[22]

อย่างไรก็ตาม สุมาสูล่วงรู้เรื่องที่ลิฮองวางแผน สุมาสูจึงส่งหวาง ย่าง (王羕) ให้นำรถไปเชิญลิฮองมาพบ ลิฮองเห็นว่าคนของสุมาสูมาเพื่อข่มขู่ตนจึงยอมติดตามหวาง ย่างไป[23] เมื่อลิฮองมาถึง สุมาสูก็ไต่ถามลิฮองถึงเรื่องที่ลิฮองวางแผนไว้ ลิฮองไม่กล้าบอกความจริง สุมาสูก็ถามลิฮองอีกครั้ง ลิฮองรู้ว่าแผนการรั่วไหลจึงด่าสุมาสูอย่างรุนแรง สุมาสูโกรธมากจึงใช้วงแหวนเหล็กที่ปลายด้ามดาบทุบลิฮองจนเสียชีวิต[24][25][26]

ในคืนเดียวกันนั้น ศพของลิฮองได้ถูกส่งไปให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) จง ยฺวี่[c] (鍾毓) ผู้เป็นเสนาบดีตุลาการไม่ยอมรับโดยพูดว่า "นี่ไม่ใช่หน้าที่จัดการของสำนักกฎหมาย" แต่หลังจากจง ยฺวี่รับทราบสถานการณ์และได้รับคำสั่งมาจึงยอมรับ[27]

หลังจากแผนการรั่วไหลเพราะลิฮอง เตียวอิบก็ถูกสุมาสูบังคับให้ฆ่าตัวตาย จง ยฺวี่ถวายฎีกาทูลว่าลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะคุมองค์จักรพรรดิและสังหารอัครมหาเสนาบดี (สุมาสู) เป็นการก่อกบฏครั้งใหญ่โดยไม่ชอบธรรม จึงขอให้ลงโทษตามกฎหมาย ดังนั้นเหล่าขุนนางผู้ใหญ่จึงร่วมปรึกษากันกับเสนาบดีตุลาการ ต่างมีความเห็นว่าลิฮองและคนอื่น ๆ ต่างได้รับความโปรดปรานจากจักรพรรดิ ร่วมจัดการการลับ เตียวอิบก็ได้รับเกียรติจากการเป็นพระญาติผ่านการสมรส (ของเตียวฮองเฮาที่เป็นบุตรสาว) แฮเหาเหียนและคนอื่น ๆ ก็เป็นเสนาบดีมาหลายรุ่น มีตำแหน่งระดับสูง แต่เก็บงำความชั่วร้ายในใจ วางแผนก่อกบฏอันน่าหวาดหวั่น สมคบคิดกับขันที สั่งสอนให้ทำแผนชั่วช้า คิดการจะคุมองค์จักรพรรดิ วางแผนโค่นล้มสุมาสู แล้วตั้งตนขึ้นกุมอำนาจ พลิกคว่ำนครหลวง เป็นภัยต่อแผ่นดิน เหล่าขุนนางเชื่อว่าคำพูดของจง ยฺวี่สอดคล้องกับกฎหมาย จึงมอบหมายให้จง ยฺวี่ดำเนินการลงอาญา ให้ประหารชีวิตหลี่ เทา (บุตรชายของลิฮอง), แฮเฮาเหียน, ซู ชั่ว, เยฺว่ ตุน, หลิว เสียน และคนอื่น ๆ รวมถึงครอบครัวสามชั่วโคตร สมาชิกในครอบครัวที่เหลือให้เนรเทศไปอยู่เมืองเล่อล่าง (樂浪)[28] ยังมีพระราชโองการออกมาว่าเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋เป็นพระธิดาของจักรพรรดิองค์ก่อน (โจยอย) ดังนั้นบุตรชาย 3 คนของพระองค์ที่เกิดกับหลี่ เทาจึงได้รับการละเว้นโทษ หลี หว่าน (李婉) บุตรสาวของลิฮองแต่เดิมสมรสกับกาอุ้น หลี หว่านจึงถูกเนรเทศและแยกทางกันกับกาอุ้นผู้สามี หลี หว่านได้รับนิรโทษกรรมและเดินทางกลับมาหลังการก่อตั้งราชวงศ์จิ้น แต่เวลานั้นกาอุ้นก็สมรสใหม่กับกัว หฺวาย (郭槐) แล้ว แม้ว่าสุมาเอี๋ยนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นจะทรงอนุญาตเป็นพิเศษให้กาอุ้นตั้งภรรยาซ้ายและภรรยาขวาที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่กาอุ้นยังคงกลัวกัว หฺวายจึงทูลปฏิเสธสุมาเอี๋ยนไป

จักรพรรดิโจฮองกริ้วมากต่อเรื่องการเสียชีวิตของลิฮองและตรัสถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต ด้านกวยทายเฮาก็ตกพระทัยจึงตรัสขอให้โจฮองเสด็จเข้าด้านในก่อนแล้วจึงทรงขอให้โจฮองทรงปล่อยวางเรื่องนี้ไป โจฮองทรงกลัวเกินกว่าที่จะดำเนินการก่อรัฐประหารยึดอำนาจคืนจากสุมาสู ในที่สุดพระองค์ก็ถูกปลดจากการเป็นจักรพรรดิในเดือนตุลาคม ค.ศ. 254

ครอบครัว

[แก้]

บิดาของลิฮองชื่อหลี่ อี้ (李義) เดิมรับราชการเป็นเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว่ย์) ในรัฐวุยก๊ก

บุตรชายคนโตของลิฮองชื่อหลี่ เทา (李韜) สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่[29] แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) พระธิดาของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก บุตรสาวของลิฮองชื่อหลี หว่าน (李婉)[d] สมรสกับกาอุ้นแต่ถูกตัดสินโทษเนรเทศหลังการเสียชีวิตของบิดา บุตรสาวของหลี หว่านชื่อเจี่ย เปา (賈褒) ภายหลังสมรสกับสุมาฮิวบุตรชายของสุมาเจียวและหวาง ยฺเหวียนจี (王元姬)

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในชีวประวัติแฮเฮาเหียนในจดหมายเหตสามก๊กระบุว่าลิฮองมีอายุ 17-18 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในช่วงศักราชอ้วยโช่ (ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผี ปีเกิดของลิฮองจึงควรอยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 200
  2. วันเกิงซฺวี (庚戌) ในเดือน 2 ศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของโจฮองตามที่ระบุในพระราชประวัติโจฮองในสามก๊กจี่ แฮเฮาเหียนและเตียวอิบที่เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮองก็เสียชีวิตในวันเดียวกัน
  3. จง ยฺวี่เป็นบุตรชายของจงฮิวและเป็นพี่ชายของจงโฮย
  4. ชื่อตัวของหลี หว่านไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ทางการ แต่อรรถาธิบายจากฟู่เหรินจี๋ (妇人集) ในชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ (世說新語) เล่มที่ 19 ระบุชื่อตัวว่า "หว่าน")

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 14, 2023.
  2. 《三國志注·裴潛傳》記載為「宣國」,於「(李)義子豐,字宣國,見夏侯玄傳。」見載。
  3. อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  4. (豐字安國,故衞尉李義子也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  5. (黃初中,以父任召隨軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  6. (始爲白衣時,年十七八,在鄴下名爲清白,識別人物,海內翕然,莫不注意。後隨軍在許昌,聲稱日隆。其父不願其然,遂令閉門,勑使斷客。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  7. (初,明帝在東宮,豐在文學中。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  8. (及即尊位,得吳降人,問「江東聞中國名士爲誰」?降人云:「聞有李安國者是。」時豐爲黃門郎,明帝問左右安國所在,左右以豐對。帝曰:「豐名乃被於吳越邪?」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  9. (後轉騎都尉、給事中。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  10. (帝崩後,爲永寧太僕,以名過其實,能用少也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  11. (正始中,遷侍中尚書僕射。豐在臺省,常多託疾,時臺制,疾滿百日當解祿,豐疾未滿數十日,輒暫起,已復臥,如是數歲。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  12. (初,豐子韜以選尚公主,豐雖外辭之,內不甚憚也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  13. (豐弟翼及偉,仕數歲閒,並歷郡守。豐嘗於人中顯誡二弟,言當用榮位爲□。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  14. (及司馬宣王久病,偉爲二千石,荒於酒,亂新平、扶風二郡,而豐不召,衆人以爲恃寵。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  15. (曹爽專政,豐依違二公間,無有適莫,故於時有謗書曰:「曹爽之勢熱如湯,太傅父子冷如漿,李豐兄弟如游光。」其意以爲豐雖外示清淨,而內圖事,有似於游光也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  16. (及宣王奏誅爽,住車闕下,與豐相聞,豐怖,遽氣索,足委地不能起。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  17. (至嘉平四年宣王終後,中書令缺,大將軍諮問朝臣:「誰可補者?」或指向豐。豐雖知此非顯選,而自以連婚國家,思附至尊,因伏不辭,遂奏用之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  18. (玄以爽抑絀,內不得意。中書令李豐雖宿爲大將軍司馬景王所親待,然私心在玄,遂結皇後父光祿大夫張緝,謀欲以玄輔政。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  19. (豐旣內握權柄,子尚公主,又與緝俱馮翊人,故緝信之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  20. (豐陰令弟兖州刺史翼求入朝,欲使將兵入,并力起。會翼求朝,不聽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  21. (嘉平六年二月,當拜貴人,豐等欲因御臨軒,諸門有陛兵,誅大將軍,以玄代之,以緝爲驃騎將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  22. (豐密語黃門監蘇鑠、永寧署令樂敦、宂從僕射劉賢等曰:「卿諸人居內多有不法,大將軍嚴毅,累以爲言,張當可以爲誡。」鑠等皆許以從命。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  23. (大將軍聞豐謀,舍人王羕請以命請豐:「豐若無備,情屈勢迫,必來,若不來,羕一人足以制之;若知謀泄,以衆挾輪,長戟自衞,徑入雲龍門,挾天子登陵雲臺,臺上有三千人仗,鳴鼓會衆,如此,羕所不及也」。大將軍乃遣羕以車迎之。豐見劫迫,隨羕而至。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  24. (大將軍微聞其謀,請豐相見,豐不知而往,即殺之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  25. (將軍責豐,豐知禍及,遂正色曰:「卿父子懷姦,將傾社稷,惜吾力劣,不能相禽滅耳!」大將軍怒,使勇士以刀環築豐腰,殺之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  26. (豐爲中書二歲,帝比每獨召與語,不知所說。景王知其議己,請豐,豐不以實告,乃殺之。其事祕。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  27. (夜送豐尸付廷尉,廷尉鍾毓不受,曰:「非法官所治也。」以其狀告,且勑之,乃受。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  28. (廷尉鍾毓奏:「豐等謀迫脅至尊,擅誅冢宰,大逆無道,請論如法。」於是會公卿朝臣廷尉議,咸以爲「豐等各受殊寵,典綜機密,緝承外戚椒房之尊,玄備世臣,並居列位,而苞藏禍心,構圖凶逆,交關閹豎,授以姦計,畏憚天威,不敢顯謀,乃欲要君脅上,肆其詐虐,謀誅良輔,擅相建立,將以傾覆京室,顛危社稷。毓所正皆如科律,報毓施行」。詔書:「齊長公主,先帝遺愛,匄其三子死命。」於是豐、玄、緝、敦、賢等皆夷三族,〉其餘親屬徙樂浪郡。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  29. Lee, Lily; Wiles, Sue, บ.ก. (2015). Biographical Dictionary of Chinese Women. Vol. II. Routledge. p. 609. ISBN 978-1-317-51562-3. An emperor's [...] sister or a favorite daughter was called a grand princess (zhang gongzhu); and his aunt or grand-aunt was called a princess supreme (dazhang gongzhu).

บรรณานุกรม

[แก้]