ข้ามไปเนื้อหา

มอซือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มอซือ
毛皇后
จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง26 ธันวาคม ค.ศ. 227 – 22 กันยายน ค.ศ. 237
ก่อนหน้ากุยฮุย
ถัดไปโกยฮุยหยิน (กวยทายเฮา)
ประสูติไม่ทราบ
สวรรคต22 กันยายน พ.ศ. 237[a]
คู่อภิเษกโจยอย
พระราชบุตรเฉา อิน อ๋องอายแห่งอันเป๋ง
พระสมัญญานาม
จักรพรรดินีหมิงเต้า (明悼皇后 หมิงเต้าหฺวางโฮ่ว)
พระราชบิดาเหมา เจีย (毛嘉)

มอซือ[b] (จีน: 毛氏; พินอิน: Máo Shì เหมาชื่อ; สิ้นพระชนม์ 22 กันยายน 237) หรือ จักรพรรดินีเหมา (จีน: 毛皇后; พินอิน: Máo Huánghòu เหมาหฺวางโฮ่ว) ไม่ทราบชื่อตัว มีสมัญญานามว่า จักรพรรดินีหมิงเต้า (明悼皇后 หมิงเต้าหฺวางโฮ่ว) เป็นจักรพรรดินีแห่งรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เกิดในตระกูลต่ำต้อยและได้สมรสกับโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊ก แต่ภายหลังก็เสียความโปรดปรานจากโจยอยและสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา[3][4]

พระประวัติ

[แก้]

มอซือเกิดในครอบครัวที่ยากจนในเมืองโห้ลาย (河內 เหอเน่ย์) บิดาของมอซือคือเหมา เจีย (毛嘉) เป็นช่างไม้ในกรมโยธาธิการ[5] มอซือขึ้นมาเป็นสนมของโจยอยในรัชสมัยของโจผีผู้เป็นพระบิดาของโจยอย ขณะที่โจยอยดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นเพงงวนอ๋อง (平原王 ผิงยฺเหวียนหวาง) และเวลานั้นยฺหวีชื่อ (虞氏) ซึ่งเป็นชาวเมืองโห้ลายเช่นกันเป็นพระชายา แต่มีบันทึกว่าโจยอยทรงโปรดมอซืออย่างมาก พระองค์มักจะประทับนั่งร่วมราชรถเดียวกันกับมอซือ[6]

เมื่อโจยอยขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 226 ภายหลังการสวรรคตของโจผีพระบิดา มอซือขึ้นมามียศเป็นกุ้ยผิน (贵嫔) จนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 227 มอซือจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินี (皇后 หฺวางโฮ่ว) ทำให้ยฺหวีชื่อรู้สึกไม่พอใจ ยฺหวีชื่อทูลเปียนซีผู้เป็นพระอัยกี (ย่า) ของโจยอยว่าการที่ตระกูลโจล้มเหลวในการเลือกจักรพรรดินีจากภูมิหลังที่เหมาะสมจะทำให้รัฐล่มสลาย ยฺหวีชื่อจึงถูกส่งตัวออกไปจากวังทันที[7] ขณะที่เป็นที่ทราบกันว่าโจยอยทรงโปรดมอซือ แต่การเลือกมอซือเป็นจักรพรรดินีก็สอดคล้องกับนโยบายของตระกูลโจที่หัวหน้าภรรยามาจากชนชั้นล่างมากกว่าจะมาจากตระกูลผู้ดีอย่างยฺหวีชื่อ[8][9][10] ซุน เชิ่ง (孫盛) นักประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์จิ้นใช้เรื่องการแต่งตั้งมอซือนี้ในการวิจารณ์ว่านโยบายของตระกูลโจที่สมรสกับชนชั้นล่างจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการล่มสลายของราชวงศ์ในอนาคต[11]

หลังจากนั้นไม่นาน โจยอยทรงเลื่อนฐานะในเหมา เจียบิดาของมอซือ และตั้งให้เหมา เจิง (毛曾) น้องชายของมอซือเป็นขุนนางในราชสำนัก และแสดงความโปรดปรานต่อครอบครัวของมอซือ[12] ครั้งหนึ่งโจยอยมีรับสั่งให้เหล่าขุนนางไปที่บ้านของเหมา เจียเพื่อร่วมงานเลี้ยง เหมา เจียแสดงความเขลาอย่างการเรียกตนเองว่า “ท่านผู้สูงศักดิ์” ทำให้กลายเป็นที่เยาะเย้ยของขุนนางในราชสำนัก[13]

เมื่อเวลาผ่านไป โกยฮุยหยินกลายเป็นสนมคนโปรดของโจยอย มอซือจึงเริ่มเสียความโปรดปรานจากโจยอย และแล้วก็เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นในปี ค.ศ. 237 เมื่อโจยอยจัดงานเลี้ยงในวังหลังให้กับเหล่าสนมใหญ่พร้อมมีดนตรีและความรื่นเริง โกยฮุยหยินทูลเสนอให้เชิญมอซือมาร่วมงานเลี้ยงด้วย แต่โจยอยปฏิเสธและมีรับสั่งห้ามไม่ให้แจ้งข่าวเรื่องงานเลี้ยงกับมอซือ แต่มอซือก็ล่วงรู้เรื่องงานเลี้ยงและทูลถามโจยอยอย่างชัดเจนในวันรุ่งขึ้นว่า "งานเลี้ยงเมื่อวานในอุทยานเหนือเป็นที่สำราญหรือไม่เพคะ"[14] โจยอยเชื่อว่ามีบางคนปล่อยข่าวรั่วไหลไปถึงมอซือ จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตข้าราชบริพารของพระองค์ไปหลายสิบคน จากนั้นจึงมีรับสั่งให้มอซือกระทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 237[15] พระศพของมอซือได้รับการฝังในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 237 อย่างสมเกียรติจักรพรรดินี และครอบครัวของมอซือยังคงได้รับเกียรติเหมือนแต่ก่อน

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. พระราชประวัติโจยอยในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่ามอซือสิ้นพระชนม์ในวันเกิงเฉินของเดือน 9 ในศักราชจิ่งชูปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจยอย[1] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 22 กันยายน ค.ศซ 237 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([景初元年九月]庚辰,皇后毛氏卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  2. "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ December 6, 2023.
  3. จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  4. Cutter, Robert Joe; Crowell, William Gordon (1999-01-01). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States With Pei Songzhi's Commentary (ภาษาอังกฤษ). University of Hawaii Press. pp. 53–54, 111–112. ISBN 978-0-8248-1945-3.
  5. (嘉本典虞车工) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  6. (黄初中,以选入东宫,明帝时为平原王,进御有宠,出入与同舆辇。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  7. 虞氏曰:「曹氏自好立賤,未有能以義舉者也。然后職內事,君聽外政,其道相由而成,苟不能以善始,未有能令終者也。殆必由此亡國喪祀矣!」虞氏遂絀還鄴宮。จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  8. Cutter, Robert Joe; Crowell, William Gordon (1999-01-01). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States With Pei Songzhi's Commentary (ภาษาอังกฤษ). University of Hawaii Press. pp. 47, 54–54. ISBN 978-0-8248-1945-3.
  9. De Crespigny, Rafe (18 August 2010). Imperial Warlord: A biography of Cao Cao 155-220 AD (ภาษาอังกฤษ). Leiden: Brill. pp. 459–460. ISBN 9789004188303.
  10. De Crespigny, Rafe (2019). E.Dien, Albert; N.Knapp, Keith (บ.ก.). The Cambridge History of China Volume 2 The Six Dynasties (ภาษาอังกฤษ). Cambridge: Cambridge University Press. p. 44. ISBN 978-1-107-02077-1.
  11. (孫盛曰:古之王者,必求令淑以對揚至德,恢王化於關雎,致淳風于麟趾。及臻三季,並亂茲緒,義以情溺,位由寵昏,貴賤無章,下陵上替,興衰隆廢,皆是物也。魏自武王,暨于烈祖,三后之升,起自幽賤,本既卑矣,何以長世?詩云:「絺兮綌兮,淒其以風。」其此之謂乎!) คำวิจารณ์ของซุน เชิ่งในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  12. (進嘉為奉車都尉,曾騎都尉,寵賜隆渥。頃之,封嘉博平鄉侯,遷光祿大夫,曾駙馬都尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  13. (嘉本典虞車工,卒暴富貴,明帝令朝臣會其家飲宴,其容止舉動甚蚩騃,語輒自謂「侯身」,時人以為笑。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  14. (明日,帝见后,后曰:“昨日游宴北园,乐乎?”) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.
  15. (帝以左右泄之,所杀十馀人。赐后死...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5.

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า มอซือ ถัดไป
กุยฮุย จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก
(ค.ศ. 227–237)
โกยฮุยหยิน / กวยทายเฮา