ปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เภสัชกรหญิง ท่านผู้หญิง ปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา | |
---|---|
เกิด | ปรียา วิทุรธรรมพิเนตุ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 |
เสียชีวิต | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567 (92 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
การศึกษา | ปริญญาโท วิทยาลัยเภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์แห่งฟิลาเดเฟีย สหรัฐอเมริกา และ ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด อังกฤษ |
อาชีพ | เภสัชกร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ |
คู่สมรส | หม่อมราชวงศ์อุดมพร เกษมสันต์ |
บิดามารดา | พระยาวิทุรธรรมพิเนตุ (โต๊ะ อัมระนันทน์) คุณหญิงจำรัส วิทุรธรรมพิเนต |
เภสัชกรหญิง ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม วิทุรธรรมพิเนตุ; 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567) เป็นเภสัชกรชาวไทย เป็นธิดาของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ (โต๊ะ อัมระนันทน์) กับคุณหญิงจำรัส วิทุรธรรมพิเนตุ (สกุลเดิม ยอดมณี) จบการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ. 2499 เป็นผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้านเภสัชตำรับสากลและการเตรียมการทางเภสัชกรรม (WHO Expert Advisory Panel on the International Pharmacopoeia and Pharmaceutical) และประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการแพทย์ได้แก่ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข [1]อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้ ยังมีบทบาทดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง โดยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้านชีวิตส่วนตัว ท่านผู้หญิงปรียา สมรสกับนายแพทย์ หม่อมราชวงศ์อุดมพร เกษมสันต์ ท่านผู้หญิงปรียามีบุตรสองคนได้แก่ ม.ล. อนุพร เกษมสันต์ และ ม.ล. พงศ์ธร เกษมสันต์
ประวัติ
[แก้]ท่านผู้หญิงปรียา เกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดพระนคร เป็นธิดาของพระยาวิทุรธรรมพิเนตุ (โต๊ะ อัมระนันทน์) กับคุณหญิงจำรัส วิทุรธรรมพิเนตุ (สกุลเดิม ยอดมณี) เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย[2] และสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ภายหลังย้ายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อปี พ.ศ. 2499 และศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิต ณ วิทยาลัยเภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์แห่งฟิลาเดเฟีย (Philladelphia College of Pharmacy and Science) สหรัฐ ในปี พ.ศ 2504 เริ่มต้นชีวิตการทำงานราชการในฐานะนักวิทยาศาสตร์ชั้นโท กองวิเคราะห์ยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 และได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 และดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2534
ท่านผู้หญิงปรียา ได้ขยายการติดต่อกับต่างประเทศให้บุคลากรทางเภสัชกรรมมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น จัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ จัดทำตำรายาเล่มแรกของประเทศไทยและริเริ่มโครงการผลิตสารมาตรฐานอาเซียน และโครงการเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานของยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยผลงานของท่านผู้หญิงปรียาจึงได้รับความไว้วางใจดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)[3] และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เภสัชศาสตร์จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน ปี พ.ศ. 2529
รับราชการ
[แก้]- 2518 ผู้อำนวยการกอง กองวิเคราะห์ยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 2524 รองอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 2528 รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- 2531 อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 2534 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ผลงานในอดีต
[แก้]- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช)
- ประธานอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]ท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
- พ.ศ. 2535 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[6]
- พ.ศ. 2532 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประวัติท่านผู้หญิงปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา
- ↑ อาริยา สินธุ. ๑๓๐ ปี กุลสตรีวังหลัง-วัฒนาวิทยาลัย พัฒนาการที่สร้างรากฐานอันมั่นคงของสตรีไทย. นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2595 ปีที่ 50 ประจำวัน อังคาร ที่ 13 กรกฎาคม 2547 เก็บถาวร 2005-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ สารสภาเภสัชกรรม เก็บถาวร 2009-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๔, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา เก็บถาวร 2022-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๕๙, ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓
- บุคคลที่ไม่ได้อธิบายความสำคัญตั้งแต่กันยายน 2024
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2475
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- บุคคลจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สกุลอัมระนันทน์
- ราชสกุลเกษมสันต์
- ณ อยุธยา
- ท่านผู้หญิง
- เภสัชกรชาวไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.จ.ว. (ฝ่ายใน)
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากโรงเรียนราชินี
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์