เตียวอิบ
เตียวอิบ (จาง จี) | |
---|---|
張緝 | |
ที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 252 – ค.ศ. 254 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
เจ้าเมืองตงกว่าน (東莞太守 ตงกว่านไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 252 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書郎 จงชูหลาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ |
เสียชีวิต | 27 มีนาคม ค.ศ. 254[a] นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน |
คู่สมรส | เซี่ยงชื่อ (向氏) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
อาชีพ | ขุนนาง |
ชื่อรอง | จิ้งจ้ง (敬仲) |
บรรดาศักดิ์ | ซีเซียงโหว (西鄉侯) |
เตียวอิบ[1] (เสียชีวิต 27 มีนาคม ค.ศ. 254)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง จี (จีน: 張緝; พินอิน: Zhāng Jī) ชื่อรอง จิ้งจ้ง (จีน: 敬仲; พินอิน: Jìngzhòng) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายของเตียวกี๋ข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว เป็นบิดาของเตียวฮองเฮา และเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐวุยก๊ก
ประวัติ
[แก้]เตียวอิบเป็นชาวอำเภอเกาหลิง (高陵) เมืองผิงอี้ (馮翊) ซึ่งปัจจุบันคือเขตเกาหลิง นครซีอาน มณฑลฉ่านซี บิดาของเตียวอิบคือเตียวกี๋ (張既 จาง จี้) ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเลียงจิ๋ว
ในปี ค.ศ. 223 เตียวกี๋บิดาของเตียวอิบเสียชีวิต เตียวอิบสืบทอดบรรดาศักดิ์ซีเซียงโหว (西鄉侯) ของบิดา[2]
ในช่วงศักราชไท่เหอ (太和; ค.ศ. 227-233) ในรัชสมัยของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊ก เตียวอิบมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเวิน (溫縣 เวินเซี่ยน) มีชื่อเสียงจากความสามารถในการปกครอง[3] ในช่วงเวลานั้น จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กยกทัพจ๊กก๊กบุกขึ้นเหนือ เตียวอิบจึงเขียนหนังสือเสนอแผนไปยังราชสำนัก จักรพรรดิโจยอยตรัสถามความเห็นจากซุนจูผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) ซุนจูมีความเห็นว่าเตียวอิบเป็นผู้มีไหวพริบในการวางกลยุทธ์ โจยอยจึงทรงแต่งตั้งให้เตียวอิบเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) เข้าร่วมยุทธการรบต้านรัฐจ๊กก๊ก[4] หลังเสร็จศึก เตียวอิบได้รับการตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) และได้รับการยอมรับจากจักรพรรดิโจยอยในเรื่องความสามารถในการปฏิบัติงาน[5] ต่อมาเตียวอิบทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書郎 จงชูหลาง) แล้วไปเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองตงกว่าน (東莞; อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภออี๋ฉุ่ย มณฑลชานตงในปัจจุบัน)[6] ในช่วงเวลานั้นเตียวอิบได้วิเคราะห์สถานการณ์ของรัฐจ๊กก๊กและง่อก๊กส่งขึ้นไปยังราชสำนักหลายครั้ง
ในปี ค.ศ. 252 โจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐวุยก๊กตั้งให้บุตรสาวของเตียวอิบขึ้นเป็นจักรพรรดินีเตียวฮองเฮา เตียวอิบได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ใหญ่ราชสำนัก (光祿大夫 กวางลู่ต้าฟู) ได้รับการเลื่อนยศเป็นพิเศษ[7] ไม่นานหลังจากนั้น รัฐวุยก๊กยกทัพโจมตีรัฐง่อก๊กและพ่ายแพ้ให้กับจูกัดเก๊กราชครูแห่งง่อก๊กในยุทธการที่ตังหิน ในช่วงเวลานั้นเตียวอิบบอกกับสุมาสูผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และมีตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) ว่าแม้จูกัดเก๊กจะได้รับชนะในการศึก แต่ไม่นานหลังจากนั้นจะถูกประหารชีวิต[8] ในปีถัดมาจูกัดเก๊กนำทัพง่อก๊กปิดล้อมหับป๋า แต่จำต้องถอยทัพเนื่องจากโรคระบาด ท้ายที่สุดจูกัดเก๊ํกก็ถูกซุนจุ๋นสังหาร สุมาสูจึงยกย่องเตียวอิบว่ามีสติปัญญามากกว่าจูกัดเก๊ก[9]
ครอบครัวเตียวอิบและลิฮองผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) เป็นสหายกันมาหลายรุ่น เตียวอิบและลิฮองยังเป็นชาวเมืองผิงอี้ด้วยกันและยังอาศัยอยู่ใกล้กันด้วย[10] ลิฮองจึงร่วมคิดการกับเตียวอิบและแฮเฮาเหียนวางแผนจะโค่นล้มสุมาสูและตั้งแฮเฮาเหียนเป็นมหาขุนพลแทน เวลานั้นเตียวอิบรู้สึกไม่เป็นสุขในราชสำนัก ด้านลิฮองนั้นกุมอำนาจอยู่ภายใน ทั้งยังเป็นชาวเมืองเดียวกันกับเตียวอิบ หลี่ เทา (李韜) บุตรชายของลิฮองก็สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) เตียวอิบจึงเชื่อใจลิฮองอย่างมาก[11]
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 254 ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการแต่งตั้งสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน (貴人) ลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะนำกำลังทหารเข้าสังหารสุมาสู แล้วจะตั้งให้แฮเฮาเหียนดำรงตำแหน่งมหาขุนพลแทนสุมาสู ตั้งให้เตียวอิบเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[12] แต่แผนการรั่วไหลรู้ไปถึงสุมาสู สุมาสูจึงเรียกตัวลิฮองมาพบและจัดการสังหารลิฮอง[13] แฮเฮาเหียน เตียวอิบ และคนอื่น ๆ ถูกจับกุมไปส่งให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) พิจารณาคดี ท้ายที่สุดเตียวอิบถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายในคุก บุตรชายทุกคนของเตียวอิบก็ถูกประหารชีวิตด้วยเช่นกัน[14] แต่หลานชายของเตียวอิบชื่อจาง อิน (張殷) รอดชีวิต ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเลียงจิ๋วในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก[15]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 14, 2023.
- ↑ (黃初四年薨。... 子緝嗣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (緝字敬仲,太和中為溫令,名有治能。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (會諸葛亮出,緝上便宜,詔以問中書令孫資,資以為有籌略,遂召拜騎都尉,遣參征蜀軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (軍罷,入為尚書郎,以稱職為明帝所識。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (緝以中書郎稍遷東莞太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (嘉平中,女為皇后,徵拜光祿大夫,位特進,封妻向為安城鄉君。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (數為國家陳擊吳、蜀形勢,又嘗對司馬大將軍料諸葛恪雖得勝於邊土,見誅不久。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (及恪從合肥還,吳果殺之。大將軍聞恪死,謂衆人曰:「諸葛恪多輩耳!近張敬仲縣論恪,以為必見殺,今果然如此。敬仲之智為勝恪也。」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (緝與李豐通家,又居相側近。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (豐旣內握權柄,子尚公主,又與緝俱馮翊人,故緝信之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
- ↑ (嘉平六年二月,當拜貴人,豐等欲因御臨軒,諸門有陛兵,誅大將軍,以玄代之,以緝爲驃騎將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
- ↑ (大將軍微聞其謀,請豐相見,豐不知而往,即殺之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
- ↑ (豐被收,事與緝連,遂收送廷尉,賜死獄中,其諸子皆并誅。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
- ↑ (其諸子皆並誅。緝孫殷,晉永興中為梁州刺史,見《晉書》。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 15.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซันกั๋วจื้อจู้).