ข้ามไปเนื้อหา

ยุคสามก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุคสามก๊ก
三國時代
ค.ศ. 220 – 280
ลำดับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก
สถานที่จีนแผ่นดินใหญ่ เอเชียตะวันออก
สามก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國
อักษรจีนตัวย่อ三国
ฮั่นยฺหวี่พินอินSānguó
ความหมายตามตัวอักษร"สามรัฐ"
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam Quốc
ฮ้าน-โนม三國
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국
ฮันจา
三國
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต三国
คีวจิไต三國
ฮิรางานะさんごく
การถอดเสียง
โรมาจิSangoku
ยุคสามก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม三國時代
อักษรจีนตัวย่อ三国时代
ชื่อภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามTam Quốc thời đại
ฮ้าน-โนม三國時代
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
삼국 시대
ฮันจา
三國時代
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต三国時代
คีวจิไต三國時代
ฮิรางานะさんごくじだい
การถอดเสียง
โรมาจิSangokujidai

สามก๊ก (จีนตัวย่อ: 三国; จีนตัวเต็ม: 三國; พินอิน: Sān Guó; แปลว่า "สามรัฐ") ตั้งแต่ ค.ศ. 220-280 เป็นการแบ่งเป็นไตรภาคีของจีนระหว่างรัฐวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก[1] ยุคสามก๊กอยู่ถัดจากยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและต่อด้วยราชวงศ์จิ้นตะวันตก รัฐเอียนบนคาบสมุทรเหลียวตง (เลียวตั๋ง) ที่คงอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่าง ค.ศ. 237-238 บางครั้งถือว่าเป็น "ก๊กที่ 4"[2]

ในทางวิชาการ ยุคสามก๊กหมายถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อตั้งรัฐวุยก๊กในปี ค.ศ. 220 จนถึงการพิชิตง่อก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 280 ส่วนแรกของยุคสามก๊กที่เป็นส่วนที่ "ไม่เป็นทางการ" เป็นช่วงระหว่าง ค.ศ. 184 ถึง ค.ศ. 220 มีลักษณะเป็นการสู้รบอย่างโกลาหลระหว่างขุนศึกในหลายส่วนของจีนในช่วงการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ส่วนกลางของยุคตั้งแต่ ค.ศ. 220-263 มีลักษณะเป็นการรบที่มีเสถียรภาพทางการทหารมากกว่าส่วนแรก ระหว่างรัฐที่เป็นข้าศึกคือวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก ส่วนหลังของยุคเริ่มต้นด้วยการพิชิตจ๊กก๊กโดยวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 การโค่นล้มวุยก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 266 และการพิชิตง่อก๊กโดยราชวงศ์จิ้นตะวันตกในปี ค.ศ. 280

ยุคสามก๊กเป็นยุคที่นองเลือดที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน[3] การสำรวจสำมะโนประชากรทั่งประเทศในปี ค.ศ. 280 หลังการรวบรวมสามก๊กเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้นระบุมีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,459,840 ครัวเรือนและจำนวนประชากรทั้งหมด 16,163,863 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับจำนวน 10,677,960 ครัวเรือนและ 56,486,856 คนที่สำรวจเมื่อยุคราชวงศ์ฮั่น[4] แม้ว่าการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 280 อาจจะได้จำนวนที่ไม่เที่ยงตรงนักเนื่องจากปัจจัยหลายประการในเวลานั้น แต่ราชวงศ์จิ้นก็พยายามนับจำนวนและบันทึกประชากรให้ครบทุกคนเท่าที่จะทำได้[5]

เทคโนโลยีในยุคสามก๊กมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กประดิษฐ์โคยนตร์ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบต้น ๆ ของรถเข็นล้อเดียว[6] และพัฒนาหน้าไม้กล ม้ากิ้นวิศรกรเครื่องกลของวุยก๊กได้รับการยกย่องจากหลายคนว่าเทียบเท่ากับจาง เหิงซึ่งเป็นยอดวิศวกรเครื่องกลในยุคก่อนหน้า[7] ม้ากิ้นประดิษฐ์โรงละครหุ่นกระบอกกลที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำทูลเกล้าฯ ถวายจักรพรรดิโจยอย, เครื่องสูบน้ำสายโซ่เดือยสี่เหลี่ยมเพื่อการชลประทานของอุทยานในลกเอี๋ยง และการออกแบบอย่างชาญฉลาดของรถชี้ทิศใต้ซึ่งเป็นเข็มทิศบอกทิศทางที่ไม่ใช่พลังแม่เหล็กแต่ควบคุมโดยใช้เฟืองท้าย[8]

แม้ว่ายุคสามก๊กมีช่วงเวลาที่ค่อนข้างสั้น แต่ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ก็ได้รับการเพิ่มความน่าสนใจเกินจริง (romanticize) เป็นอย่างมากในวัฒนธรรมจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม [9] เรื่องราวในยุคสามก๊กมีชื่อเสียงจากความแพร่หลายของอุปรากร นิทานพื้นบ้าน นวนิยาย รวมไปถึงภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ และวิดีโอเกมในยุคสมัยใหม่ ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสื่อเหล่านี้คือสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ผลงานของล่อกวนตง (หลัว กว้านจง) ในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งมีเนื้อเรื่องอิงจากเหตุการณ์ในยุคสามก๊ก[10] บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับยุคสามก๊กคือจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ) ของตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) พร้อมด้วยอรรถาธิบายประกอบที่เขียนเพิ่มเติมในภายหลังโดยเผย์ ซงจือ

คำในภาษาอังกฤษของ "สามก๊ก" คือ "Three Kingdoms" (สามราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่สอดคล้องนัก เนื่องจากแต่ละรัฐในยุคสามก๊กไม่ได้ปกครองโดยกษัตริย์ (king) หรืออ๋อง (หวาง) แต่ปกครองโดยจักรพรรดิ (emperor) หรือฮ่องเต้ (หฺวางตี้) ผู้อ้างอำนาจปกครองเหนือแผ่นดินจีนทั้งหมด[11] อย่างไรก็ตาม คำว่า "Three Kingdoms" ได้กลายเป็นมาตรฐานในนักจีนวิทยาที่พูดด้วยภาษาอังกฤษ

การกำหนดช่วงเวลา

[แก้]

ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาของยุคสามก๊กอย่างตายตัว ทรรศนะโดยมากใช้ช่วงปี ค.ศ. 220-280 เป็นหลัก โดยเริ่มต้นด้วยการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น และสิ้นสุดด้วยการรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียวโดยจักรพรรดิลำดับแรกของราชวงศ์จิ้น หากกล่าวให้แน่นอนแล้ว สถานะที่แผ่นดินจีนเกิดเป็นสามก๊กหรือเป็นรัฐอิสระ 3 รัฐนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นอย่างแท้จริงจากการสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิของผู้ปกครองง่อก๊กในปี ค.ศ. 229 จนกระทั่งสิ้นสุดด้วยการล่มสลายของจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 263 การตีความช่วงเวลานอกเหนือจากพฤติการณ์ทางการเมืองผลักดันจุดเริ่มต้นของยุคให้ย้อนกลับไปในช่วงปีท้าย ๆ ของราชวงศ์ฮั่น เริ่มด้วยการเสื่อมถอยของราชวงศ์ฮั่น

นักประวัติศาสตร์จีนให้จุดเริ่มต้นอื่น ๆ หลายจุดสำหรับช่วงเวลาของยุคสามก๊ก ได้แก่ กบฏโพกผ้าเหลืองในปี ค.ศ. 184[12][13], หนึ่งปีภายหลังการก่อกบฏคือปี ค.ศ. 185[14], ตั๋งโต๊ะปลดหองจูเปียนและตั้งพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นเสวยราชย์ในปี ค.ศ. 189[15][16], ตั๋งโต๊ะทิ้งนครลกเอี๋ยงและย้ายนครหลวงไปเตียงฮันในปี ค.ศ. 190[17] หรือโจโฉนำจักรพรรดิไว้ภายใต้การควบคุมของตนที่ฮูโต๋ในปี ค.ศ. 196[18][19][20][21][22]

เม่าจงกัง (เหมา จงกาง) ผู้เขียนคำวิจารณ์ของนวนิยายสามก๊ก ให้ความเห็นว่าประวัติศาสตร์ของสามก๊กควรเริ่มต้นด้วยการขึ้นสู่อำนาจของสิบเสียงสี (สิบขันที) คำวิจารณ์ของเม่าจงกังในตอนที่ 120 ของนวนิยายมีีความว่า:

สามก๊กก่อตัวขึ้นเมื่อราชวงศ์ฮั่นล่มสลาย ราชวงศ์เสื่อมถอยลงเมื่อขันทีข่มเหงองค์อธิปัตย์และขุนนางโค่นล้มราชสำนัก[23]

นอกจากนี้เม่าจงกังยังให้เหตุผลที่นวนิยายสามก๊กกำหนดจุดสิ้นสุดของยุคสามก๊กที่ปี ค.ศ. 280 อันเป็นปีที่ง่อก๊กล่มสลายว่า:

ในเมื่อนวนิยายมุ่งเน้นที่ฮั่น ก็อาจจะจบด้วยการล่มสลายของฮั่น แต่วุยโค่นล้มฮั่น การจบเรื่องราวก่อนที่ศัตรูของฮั่นจะประสบกับชะตากรรมของตนคือการปล่อยให้ผู้อ่านไม่พอใจ นวนิยายอาจจบที่การล่มสลายของวุย แต่พันธมิตรของฮั่นคือง่อ การจบเรื่องราวก่อนที่พันธมิตรของฮั่นจะล่มสลายคือการปล่อยให้ผู้อ่านรู้สึกค้างคา ดังนั้นเรื่องราวจึงต้องจบลงด้วยการล่มสลายของง่อ[23]

เนื่องจากช่วงเวลาที่ราชวงศ์จิ้นรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้ดำเนินไปเป็นเวลาอันสั้น ช่วงเวลาทั้งหมดตั้งแต่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นถึงการรวมแผ่นดินโดยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 220–589) บางครั้งจึงจัดรวมอยู่ในช่วงยุคเดียวกันเป็น "ยุคแห่งความแตกแยก" "ยุคเว่ย์ (วุยก๊ก) จิ้น ราชวงศ์เหนือ-ใต้" (หรือเพียง "ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้" โดด ๆ แม้ว่าโดนทั่วไปจะหมายถึงช่วง ค.ศ. 420-589 ระหว่างราชวงศ์จิ้นและสุย) หรือ "ยุคหกราชวงศ์"[23][24]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

กบฏโพกผ้าเหลือง

[แก้]
แผนที่ของมณฑลในจีนก่อนหน้ายุคสามก๊ก
(ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่น ค.ศ. 189)
แผนที่แสดงกบฏโพกผ้าเหลืองในราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน

ตั๋งโต๊ะขึ้นสู่อำนาจ

[แก้]

จุดเกิดของยุคสามก๊กในประวัติศาสตร์จีน มีจุดเริ่มต้นในยุคสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งปกครองโดยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังถูกตั๋งโต๊ะเข้ายึดครองอำนาจทั้งหมดไว้เป็นของตน สถาปนาตนเองเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ภายหลังตั๋งโต๊ะถูกลอบสังหาร ราชสำนักและราชวงศ์เกิดความวุ่นวาย

การล่มสลายของอำนาจส่วนกลาง

[แก้]

โจโฉฉวยโอกาสในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งและปั่นป่วนเข้ายึดครองอำนาจและบังคับควบคุมให้พระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่ภายใต้การปกครอง แต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราช มีอำนาจเด็ดขาดแก่เหล่าขุนศึก กองกำลังทหารและไพร่พล ครอบครองดินแดนทางเหนือส่วนหนึ่งไว้เป็นของตน

อ้วนเสี้ยวเป็นผู้มีอำนาจและกองกำลังทหารและไพร่พลเป็นจำนวนมาก ครอบครองพื้นที่บริเวณตอนกลางและตอนปลายของลุ่มแม่น้ำฮวงโห กองทัพอ้วนเสี้ยวจัดเป็นกองกำลังทหารที่มีอำนาจสูงสุดทางภาคเหนือเช่นเดียวกับกองทัพของโจโฉ ภายหลังโจโฉสามารถนำกำลังทหารเข้าโจมตีและเอาชนะอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ จึงรวบรวมดินแดนทางเหนือทั้งหมดไว้เป็นของตน สำหรับดินแดนภาคใต้บริเวณตอนกลางลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตดินแดนปกครองของเล่าเปียวซึ่งปกครองดินแดนด้วยความสงบและมั่นคง และตอนปลายแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเขตแดนปกครองของซุนกวน[25]

ช่วงท้ายของราชวงศ์ฮั่น

[แก้]

แต่ในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก มีความยาวนานมากกว่าร้อยปี ในระหว่างช่วงเวลานี้เกิดศึกสงครามใหญ่เพื่อแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่นับร้อยครั้ง และศึกเล็กศึกน้อยอีกนับครั้งไม่ถ้วน เช่นศึกโจรโพกผ้าเหลือง, ศึกกัวต๋อ, ศึกทุ่งพกบ๋อง ฯลฯ สำหรับศึกสงครามในสามก๊กที่ถือเป็นศึกใหญ่ที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ได้แก่ศึกผาแดงหรือศึกเซ็กเพ็ก ในปี พ.ศ. 751 ซึ่งเป็นศึกสงครามระหว่างโจโฉ, เล่าปี่และซุนกวน โดยมีจุดเกิดของสงครามจากโจโฉ ที่ส่งกองกำลังทหารของตนลงใต้เพื่อโจมตีดินแดนของเล่าเปียว โดยใช้กองกำลังทหารเรือจิงโจวบุกประชิดเมืองซินเอี๋ยทั้งทางบกและทางน้ำ

ระหว่างที่โจโฉนำกองกำลังทหารเพื่อทำศึกสงคราม เล่าเปียวเกิดป่วยและเสียชีวิต เล่าจ๋องยอมจำนนและยกเมืองเกงจิ๋วแก่โจโฉ เล่าปี่ซึ่งอาศัยอยู่กับเล่าเปียวไม่ยอมจำนนต่อโจโฉ จึงแตกทัพจากเมืองซินเอี๋ยไปยังเมืองอ้วนเซีย ระหว่างทางอพยพเกิดศึกสะพานเตียงปันเกี้ยวซึ่งเป็นศึกใหญ่อีกศึกในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ขงเบ้งรับอาสาเป็นฑุตไปเจรจาขอเป็นพันธมิตรกับซุนกวนเพื่อร่วมกันต้านทัพของโจโฉ โดยเกลี้ยกล่อมซุนกวนและจิวยี่จนยอมเปิดศึกสงครามกับโจโฉ ไล่ต้อนเผากองทัพเรือของโจโฉจนวอดวาย ได้รับชัยชนะจากศึกเซ็กเพ็กอย่างงดงาม

การแยกออกเป็นสามก๊ก

[แก้]

รัฐทั้งสาม

[แก้]
แผนที่แสดงอาณาเขตของแต่ละก๊กในปี ค.ศ. 262 (Wei-วุย) (Wu-ง่อ) (Shu-จ๊ก)

ในการปกครองบ้านเมืองของจีน ราชวงศ์ฮั่นถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่ง ซึ่งได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปไกล ขับไล่ชนเผ่านอกด่านออกไปจากภาคเหนือของประเทศได้ ด้านทิศเหนือครอบครองแมนจูเรียและเกาหลีบางส่วน ทิศใต้ครองมณฑลกวางตุ้งและกว่างซีรวมถึงตอนเหนือของเวียดนาม ครั้นถึงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกหรือตงฮั่น จักรพรรดิทรงอ่อนแอ ขันทีมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขุนศึกหัวเมืองต่าง ๆ พากันกระด้างกระเดื่องและตั้งกองกำลังส่วนตัวขึ้น ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านไปทั่วแผ่นดิน ราษฎรได้รับความเดือนร้อนไปทั่วจนทำให้เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น กลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ทำสงครามแย่งชิงอำนาจกันโดยไม่สนใจรัฐบาลกลาง ในที่สุดแผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊กอย่างชัดเจนภายหลังจากที่โจโฉพ่ายแพ้แก่เล่าปี่และซุนกวนในการศึกที่ผาแดง เมื่อปี พ.ศ. 751

ภายหลังจากศึกเซ็กเพ็ก อำนาจความเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนแบ่งเป็นสามฝ่ายอย่างชัดเจน ต่างครอบครองเขตแดน ความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งของกองกำลังทหาร คานอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างโจโฉ ซุนกวนและเล่าปี่ ทำศึกสงครามและเป็นพันธมิตรร่วมกันมาตลอด โจโฉครอบครองดินแดนทางเหนือทั้งหมดเป็นแคว้นวุย ครองอำนาจบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโห แคว้นวุยจัดเป็นแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุด มีกองกำลังทหาร ขุนศึก ที่ปรึกษาเป็นกำลังจำนวนมาก โดยเฉพาะตระกูลสุมา ซึ่งภายหลังได้ทำการยึดครองอำนาจจากราชวงศ์วุยและสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน

ซุนกวนครอบครองดินแดนทางตะวันออกบริเวณทางใต้ทั้งหมดเป็นแคว้นง่อ ครองอำนาจบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษาจำนวนมากเช่นเดียวกับแคว้นวุย เช่นจิวยี่ เตียวเจียว กำเหลง ลิบอง ลกซุนและโลซก

เล่าปี่ ครองอำนาจดินแดนทางภาคตะวันตกในแถบชิงอี้โจวกับฮั่นจงเป็นแคว้นจ๊ก มีกองกำลังทหาร ขุนศึกและที่ปรึกษา เช่น กวนอู เตียวหุย จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตงและขงเบ้ง แคว้นจ๊กจัดเป็นแคว้นที่มีอายุน้อยที่สุดก่อนล่มสลายด้วยกองกำลังทหารของแคว้นวุย

วุยหรือเฉาเว่ย์ (จีน: 曹魏) จัดเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดในบรรดาสามก๊ก ในระหว่างปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 808 (ปี ค.ศ. 220-265) วุยก๊กครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจีน ปกครองโดยพระเจ้าโจผี สถาปนาเป็นราชวงศ์วุยและต่อมาได้สถาปนาโจโฉเป็นจักรพรรดิแห่งราชวงศ์วุยอีกพระองค์หนึ่ง วุยก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้แก่[26]

  1. พระเจ้าโจผี ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 763 - 769
  2. พระเจ้าโจยอย ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 769 - 782
  3. พระเจ้าโจฮอง ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 782 - 797
  4. พระเจ้าโจมอ ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 797 - 803
  5. พระเจ้าโจฮวน ปกครองวุยก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 803 - 808

วุยก๊ก ถูกโจมตีและโค่นล้มราชวงศ์วุยโดยสุมาเอี๋ยน ซึ่งต่อมาภายหลังได้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นแทนและรวบรวมแผ่นดินที่แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งมีอายุแค่เพียง 45 ปี

จ๊กหรือสู่ฮั่น (จีน: 蜀漢) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก มาจากแรงขับเคลื่อนรากฐานของเล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋ว ปกครองโดยพระเจ้าเล่าปี่ เชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์ฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ. 764 - พ.ศ. 806 (ปี ค.ศ. 221-263) จ๊กก๊กครอบครองพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศจีน บริเวณมณฑลเสฉวน จ๊กก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 2 พระองค์ ได้แก่[27]

  1. พระเจ้าเล่าปี่ ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 764 - 766
  2. พระเจ้าเล่าเสี้ยน ปกครองจ๊กก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 766 - 806

จ๊กก๊ก ก็ล่มสลายลงด้วยกองทัพของวุยก๊ก นำทัพโดยสุมาเจียว เนื่องจากการปกครองแผ่นดินที่ล้มเหลวของพระเจ้าเล่าเสี้ยน มีอายุได้แค่เพียง 42 ปี

ง่อหรืออาณาจักรอู่ตะวันออก (จีน: 東吳) เป็นหนึ่งในอาณาจักรสามก๊ก ปกครองโดยพระเจ้าซุนกวน ในระหว่างปี พ.ศ. 765 - พ.ศ. 823 (ปี ค.ศ. 222-280) ง่อก๊กครอบครองพื้นที่ทางด้านตะวันออกของประเทศจีน ทางบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งคือพื้นที่บริเวณรอบ ๆ เมืองหนานจิงในปัจจุบัน ง่อก๊กปกครองอาณาจักรโดยจักรพรรดิสืบต่อกันมาทั้งหมด 4 พระองค์ สถาปนาซุนเกี๋ยนผู้พ่อและซุนเซ็กผู้พี่เป็นจักรพรรดิย้อนหลัง 2 พระองค์ ได้แก่[28]

  1. พระเจ้าซุนกวน ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 765 - 795
  2. พระเจ้าซุนเหลียง ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 795 - 801
  3. พระเจ้าซุนฮิว ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 801 - 807
  4. พระเจ้าซุนโฮ ปกครองง่อก๊กในระหว่างปี พ.ศ. 807 - 823

ง่อก๊ก เป็นอาณาจักรสุดท้ายในบรรดาอาณาจักรสามก๊กที่ล่มสลายโดยกองทัพของสุมาเอี๋ยนและราชวงศ์จิ้น ยาวนานที่สุดถึง 58 ปี

ความเสื่อมถอยและการสิ้นสุด

[แก้]

ภายหลังจากแผ่นดินจีนแตกแยกออกเป็นแคว้นใหญ่สามแคว้น ต่างครองอำนาจและความเป็นใหญ่ คานอำนาจซึ่งกันและกันรวมทั้งเกิดศึกสงครามแย่งชิงดินแดนบางส่วนของแคว้นจ๊ก การเป็นพันธมิตรระหว่างแคว้นง่อและแคว้นวุยจนเป็นเหตุให้แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นง่อจนพ่ายแพ้ยับเยิน เป็นเหตุให้พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ ขงเบ้งจึงเป็นผู้รับสืบทอดเจตนารมณ์ในการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งสืบต่อไป แคว้นจ๊กเปิดศึกสงครามกับแคว้นวุยนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่อาจยึดครองดินแดนทั้งสามให้เป็นหนึ่งได้สำเร็จจนเสียชีวิตในระหว่างศึกอู่จั้งหยวน และหลังจากขงเบ้งเสียชีวิต พระเจ้าเล่าเสี้ยนไม่สามารถปกครองแคว้นจ๊กได้ เป็นเหตุแคว้นจ๊กก๊กเกิดความอ่อนแอและล่มสลาย

แคว้นวุยซึ่งปกครองโดยโจโฉผลัดแผ่นดินใหม่โดยโจผีเป็นผู้ครองแคว้นสืบต่อไป โดยแย่งชิงอำนาจจากพระเจ้าเหี้ยนเต้และตั้งตนเป็นจักรพรรดิ สถาปนาราชวงศ์วุยแทนราชวงศ์ฮั่น ภายหลังถูกสุมาเอี๋ยนแย่งชิงราชบัลลังก์และสถาปนาราชวงศ์จิ้นแทน รวมทั้งนำกำลังทหารบุกโจมตีแคว้นง่อจนเป็นเหตุให้พระเจ้าซุนโฮยอมสวามิภักดิ์ และรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกออกเป็นสามก๊กให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Theobald (2000).
  2. Kang, Youwei (2013-10-21). 歐洲十一國遊記二種 (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). 群出版. p. 98.
  3. "History of Three Kingdoms Period - China Education Center". www.chinaeducenter.com.
  4. Dreyer, Edward L. 2009. “Military Aspects of the War of the Eight Princes, 300–307.” In Military Culture in Imperial China, edited by Nicola Di Cosmo. Cambridge: Harvard University Press. 112–142. ISBN 978-0674031098.
  5. Hans Bielenstein. Chinese historical demography A.D. 2-1982. Östasiatiska museet. p 17
  6. Breverton, Terry (2013). Breverton's Encyclopedia of Inventions (Unabridged ed.). Quercus. ISBN 978-1623652340.
  7. Hong-Sen Yan (2007). Reconstruction Designs of Lost Ancient Chinese Machinery (Online-Ausg. ed.). Dordrecht: Springer Science & Business Media. p. 129. ISBN 978-1402064609.
  8. Xiong, Victor Cunrui (2009). Historical Dictionary of Medieval China. Lanham, Md.: Scarecrow Press. p. 351. ISBN 978-0810860537.
  9. 佚名 (January 2013). Chinese History. Beijing Book Co. ISBN 9781921678882.
  10. "Romance of the Three Kingdoms: China's Greatest Epic 三國志演義". Yellow Bridge. สืบค้นเมื่อ 1 April 2015.
  11. Tanner, Harold Miles (13 March 2009). China: A History. Indianapolis, Indiana: Hackett Publishing. pp. 141–142. ISBN 978-0872209152.
  12. Guo Jian (郭建) (1999). 千秋興亡 [Rise and Fall over Thousands of Autumns]. Changchun: 長春出版社 (Changchun Press).
  13. Jiang Lang (姜狼) (2011). 184–280:三國原來這樣 [184–280: It Turns out the Three Kingdoms Were like This]. Beijing: 現代出版社 (Modern Press).
  14. Han Guopan (韓國磐) (1983). 魏晉南北朝史綱 [Historical Highlights of the Six Dynasties]. Beijing: 人民出版社 (People's Press).
  15. Zhang Binsheng (張儐生) (1982). 魏晉南北朝政治史 [Administrative History of the Six Dynasties]. Taipei: 中國文化大學 (Chinese Culture University Press).
  16. Gao Min (高敏), บ.ก. (1998). 中國經濟通史 魏晉南北朝經濟卷 [The Complete Economic History of China: Economy of the Six Dynasties]. Hong Kong: 經濟日報出版社 (Economics Daily Press).
  17. Luo Kun (羅琨); และคณะ (1998). 中國軍事通史 三國軍事史 [The Complete Military History of China: Three Kingdoms Military History]. Beijing: 軍事科學出版社 (Military Science Press).
  18. Zhu Dawei (朱大渭); และคณะ (1998). 魏晉南北朝社會生活史 [The Social History of the Six Dynasties]. Beijing: 中國社會科學出版社 (Chinese Academy of Social Sciences).
  19. Zhang Wenqiang (張文強) (1994). 中國魏晉南北朝軍事史 [China's Six Dynasties Military History]. Beijing: 人民出版社 (People's Press).
  20. Zhang Chengzong (張承宗); Wei Xiangdong (魏向東) (2001). 中國風俗通史 魏晉南北朝卷 [The Complete History of Chinese Customs: Six Dynasties]. Shanghai: 上海藝文出版社 (Shanghai People's Press).
  21. He Dezhang (何德章) (1994). 中國魏晉南北朝政治史 (百卷本國全史第7) [China's Six Dynasties Administrative History (This Nation's Total History in 100 Volumes, no 7)]. Beijing: 人民出版社 (People's Press).
  22. Wang Lihua (王利華); และคณะ (2009). 中國農業通史 魏晉南北朝卷 [The Complete History of Chinese Agriculture: Six Dynasties]. Beijing: 中國農業出版社 (Chinese Agricultural Press).
  23. 23.0 23.1 23.2 Roberts, Moss (1991). Three Kingdoms: A Historical Novel. California: University of California Press. ISBN 0-520-22503-1.
  24. Wilkinson, Endymion (2000). Chinese history: A manual (Revised and enlarged ed.). Cambridge: Harvard University, Asia Center for the Harvard-Yenching Institute. p. 11. ISBN 978-0-674-00249-4.
  25. "ยุคสามก๊ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-18. สืบค้นเมื่อ 2008-03-21.
  26. ราชวงศ์วุย, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58
  27. ราชวงศ์ฮั่น, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 52
  28. ราชวงศ์ซุน, อินไซด์สามก๊ก, ณรงค์ชัย ปัญญานนทชัย, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 58

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Sima, Guang (1952). The Chronicle of the Three Kingdoms (220–265) Chapters 69–78 from the Tz*U Chih T'ung Chien. translated by Achilles Fang, Glen William Baxter and Bernard S. Solomon. Cambridge, MA: Harvard University Press.
  • Hill, John E. 2004. The Peoples of the West from the Weilue 魏略 by Yu Huan 魚豢: A Third Century Chinese Account Composed between 239 and 265. University of Washington, Draft annotated English translation.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]