ยุทธการที่หับป๋า (ค.ศ. 231)
ยุทธการที่หับป๋า | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก | ง่อก๊ก | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
หมันทอง หวาง หลิง |
ซุนกวน ซุน ปู้ | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
น้อย | ไม่ทราบ |
ยุทธการที่หับป๋า | |||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 合肥之戰 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 合肥之战 | ||||||
|
ยุทธการที่หับป๋า (จีน: 合肥之戰) เป็นการรบระหว่างรัฐวุยก๊กและง่อก๊กในปี ค.ศ. 231 ในยุคสามก๊กของจีน
ภูมิหลัง
[แก้]ในปี ค.ศ. 230 รัฐวุยก๊กก่อสร้างป้อมปราการใหม่ที่หับป๋า (合肥 เหอเฝย์) เพื่อป้องกันรัฐง่อก๊กที่เป็นรัฐอริ ป้อมปราการแห่งนี้ถูกเรียกด้วยชื่อว่า "ซินเสีย" (新城 ซินเฉิง; มีความหมายว่า "เมือง/ป้อมปราการแห่งใหม่")
ยุทธการ
[แก้]ในปี ค.ศ. 231 ซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊กนำทัพเข้าโจมตีซินเสีย หมันทองเขียนฎีกาถวายโจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทูลขอกำลังทหารจากมณฑลกุนจิ๋วและอิจิ๋วไปช่วยป้องกันซินเสีย ไม่นานหลังจากกองกำลังยกมาถึง ซุนกวนก็ล่าถอยไปโดยไม่เข้าโจมตีซินเสีย สฺวี เซฺวียน (徐宣) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของโจยอยเตือนว่านี่เป็นแผนของฝ่ายง่อก๊ก หากกองกำลังวุยก๊กแยกย้ายไป ซุนกวนจะกลับมาโจมตีอีกครั้ง หลังจากนั้นประมาณสิบวัน ซุนกวนก็กลับมาล้อมซินเสีย แต่หมันทองได้เตรียมพร้อมเต็มกำลังและขับไล่ทัพง่อก๊กไปได้อย่างง่ายดาย[1]
ต่อมาซุนกวนตระหนักว่าตนไม่สามารถยึดซินเสียด้วยกำลัง จึงทรงพระราชดำริถึงความสำเร็จจากการแสร้งแปรพักตร์ของจิวหองในยุทธการที่เซ็กเต๋งและคิดการจะลองใช้แนวทางนี้อีกครั้ง ซุนกวนจึงให้ซุน ปู้ (孫布) พระญาติของพระองค์แสร้งแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กเพื่อลวงให้หวาง หลิง (王淩) เจ้ามณฑลยังจิ๋วที่วุยก๊กแต่งตั้งเข้ามาสู่กับดัก ซุนกวนจัดทหารซุ่มไว้ที่ฝูหลิง (涪陵)
ซุน ปู้ขอให้หวาง หลิงส่งทหารมารับตนไปเข้าด้วยวุยก๊ก หวาง หลิงจึงส่งคำขออนุญาตไปถึงเหล่าผู้บังคับบัญชาเหนือตน หนึ่งในเหล่าผู้บังคับบัญชาคือหมันทอง ซึ่งไม่เชื่อว่าการแปรพักตร์ของซุน ปู้เป็นเรื่องจริง หมันทองจึงส่งจดหมาย (ในนามของหวาง หลิง) ไปถึงซุน ปู้ แจ้งว่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ซุน ปู้ต้องการแปรพักตร์ แต่ก็อธิบายไปว่าตนเกรงว่าหากส่งกองกำลังไปน้อยเกินไปก็ไม่อาจปกป้องซุน ปู้ได้ แต่หากส่งกำลังไปมากเกินไปก็จะดึงดูดความสนใจฝ่ายง่อก๊กมากเกินไป ในจดหมายจึงโน้มน้าวให้ซุน ปู้คิดวิธีการหนีจากซุนกวนอย่างเงียบ ๆ ในขณะเดียวกัน โจยอยก็มีรับสั่งเรียกหมันทองมาเข้าเฝ้า ก่อนที่หมันทองจะไปเข้าเฝ้าได้สั่งหัวหน้าเลขานุการของตนว่าอย่ามอบทหารให้แก่หวาง หลิงในการไปรับตัวซุน ปู้ หวาง หลิงไม่ได้รับทหารจำนวนมากจึงส่งกองกำลังจำนวนน้อยไปคุ้มกันซุน ปู้ กองกำลังนี้ถูกซุ่มโจมตีที่ฝูหลิงและแตกพ่ายไป อย่างไรก็ตามด้วยการมองการณ์ไกลของหมันทอง การพ่ายแพ้นี้จึงไม่ส่งผลกระทบอะไรในภาพรวม กลยุทธ์ของซุนกวนในการกำจัดกองกำลังของวุยก๊กที่หับป๋าจึงล้มเหลว[2]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]หมันทองถูกเรียกตัวไปยังราชสำนักวุยก๊ก เหตุเพราะฎีกาที่หวาง หลิงทูลเกล้าฯ ถวาย หวาง หลิงนั้นไม่ถูกกันกับหมันทองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงกล่าวหาในฎีกาว่าหมันทองชราเกินไปและชอบเสพสุราจึงไม่เหมาะกับตำแหน่งสำคัญ โจยอยจึงมีรับสั่งเรียกตัวหมันทองมาเข้าเฝ้าเพื่อพระองค์จะทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง เมื่อโจยอยได้พบกับหมันทอง พระองค์ตัดสินว่าหมันทองเหมาะกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจึงให้หมันทองกลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมที่ซินเสีย[3]
อ้างอิง
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.