ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง

พิกัด: 34°21′0.000″N 107°22′59.999″E / 34.35000000°N 107.38333306°E / 34.35000000; 107.38333306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศึกอู่จั้งหยวน)
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
ส่วนหนึ่งของ การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงครั้งที่ห้า

ภาพวาดจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กฉบับตีพิมพ์ในยุคราชงศ์ชิงแสดงเหตุการณ์ที่หุ่นไม้ของจูกัดเหลียงหลอกสุมาอี้ให้ตกใจกลัวและหนีไป
วันที่ป. มีนาคม – ตุลาคม ค.ศ. 234[1]
สถานที่34°21′0.000″N 107°22′59.999″E / 34.35000000°N 107.38333306°E / 34.35000000; 107.38333306
ผล สรุปไม่ได้ ฝ่ายจ๊กก๊กล่าถอย
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาอี้ จูกัดเหลียง
กำลัง
ไม่ทราบ 60,000 นาย[2]
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้างตั้งอยู่ในประเทศจีน
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
ที่ตั้งในประเทศจีน
ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง
อักษรจีนตัวเต็ม五丈原之戰
อักษรจีนตัวย่อ五丈原之战
การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงเพื่อรบกับวุยก๊กครั้งที่ 4 และครั้ง 5

ยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง (จีน: 五丈原之战) เป็นสงครามระหว่างรัฐจ๊กก๊กกับวุยก๊กในปี ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน ยุทธการนี้เป็นการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้าและถือเป็นครั้งสุดท้ายที่นำโดยจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเพื่อโจมตีรัฐวุยก๊ก[3] จูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตระหว่างการตั้งคุมเชิงระหว่างทั้งสองฝ่าย จ๊กก๊กจึงจำต้องล่าถอยกลับไป

ภูมิหลัง[แก้]

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงนำทัพจีกก๊กมากกว่า 60,000 นายออกทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และตั้งค่ายอยูทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ใกล้กับอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[4] จูกัดเหลียงกังวลอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการขาดแคลนเสบียงของกองทัพเพราะเสบียงมักไม่ส่งไปถึงแนวหน้าได้ทันเวลาเนื่องจากความยากลำบากในการขนส่งตามเส้นทาง จูกัดเหลียงจึงใช้นโยบายถุนเถียนเพื่อสร้างแหล่งเสบียงแห่งใหม่ โดยการสั่งให้กำลังทหารไปปลูกพืชผลทางฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโหรวมกับราษฎรที่อาศัยในพื้นที่ จูกัดเหลียงยังสั่งห้ามไม่ให้ทหารแย่งชืงพืชผลของราษฎรอีกด้วย[5]

โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงกังวลจึงให้ขุนพลจีนล่งนำทหารราบและทหารม้ารวม 20,000 นายไปยังกวนต๋ง (關中 กวานจง) ไปสมทบกับสุมาอี้ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ (大都督 ต้าตูตู) ของทัพวุยก๊กในภูมิภาค เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ต้องการตั้งค่ายอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห แต่สุมาอี้กล่าวว่า "ราษฏรจำนวนมากรวมตัวอยู่ที่ฝั่งใต้ของแม่น้ำอุยโห ที่นั่นจะกลายเป็นตำแหน่งที่มีการรบดุเดือดเป็นแน่" สุมาอี้จึงนำกำลังทหารข้ามแม่น้ำมาตั้งค่ายโดยมีแม่น้ำอยู่ด้านหลัง สุมาอี้กล่าวว่า "หากจูกัดเหลียงกล้าพอ จะต้องเคลื่อนกำลังออกจากอำเภอบุกอง (武功縣 อู่กงเซี่ยน; ทางตะวันออกของอำเภอเหมย์ มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และมุ่งหน้าไปทางตะวันออกตามแนวภูเขา แต่หากเขาเคลื่อนกำลังไปทางตะวันตกไปยังทุ่งราบอู่จ้าง (五丈原 อู่จ้าง-ยฺเหวียน) เราก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป"[6]

ยุทธการ[แก้]

การปะทะกันในช่วงต้น[แก้]

เมื่อจูกัดเหลียงมาถึงแม่น้ำอุยโห กองหน้าที่นำโดยเมิ่ง เยี่ยน (孟琰) ได้ข้ามแม่น้ำไปตั้งค่ายที่ปลายน้ำด้านตะวันออกของแม่น้ำบุกอง (武功水 อู่กงฉุ่ย)[7] สุมาอี้นำทหารม้า 10,000 นายเข้าโจมตีกองหน้า จูกัดเหลียงให้ทหารสร้างสะพานจากไม้ไผ่และสั่งให้ยิงเกาทัณฑ์ใส่ทหารม้า[7] สุมาอี้เห็นสะพานที่สร้างเสร็จแล้วจึงล่าถอยทันที [8][9][10]

เมื่อสุมาอี้นำกำลังทาหรมาตั่งมั่นอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห กุยห้วยโน้มน้าวให้เคลื่อนกำลังไปยังที่ราบทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเพราะกุยห้วยคาดการณ์ว่าจูกัดเหลียงพยายามจะยึดทุ่งราบ เมื่อนายทหารคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย[11] กุยห้วยจึงว่า "หากจูกัดเหลียงข้ามแม่น้ำอุยโหและยึดทุ่งราบได้ กำลังทหารของเขาก็จะสามารถเข้าถึงภูเขาทางเหนือได้ หากพวกเขาสกัดเส้นทางผ่านภูเขา จะทำให้ราษฎรที่อาศัยในภูมิภาคเกิดความกวาดกลัวและตื่นตระหนัก ซึ่งไม่เป็นประโยนช์ต่อรัฐของเราเลย"[12] สุมาอี้เห็นด้วยกับกุยห้วยจึงส่งกุยห้วยไปยึดทุ่งราบ ขณะที่กุยห้วยและทหารสร้างค่ายอยู่บนทุ่งราบก็ถูกทัพจ๊กก๊กโจมตี แต่กุยห้วยก็สามารถขับไล่ทัพจ๊กก๊กไปได้[13]

จูกัดเหลียงเคลื่อนกำลังไปยังทุ่งราบอู่จ้างและเตรียมจะข้ามไปยังฝั่งเหนือของแม่น้ำอุยโห สุมาอี้่ส่งโจว ตาง (周當) ไปประจำอยู่ทีี่หยางซุ่ย (陽遂; พื้นที่ทางเหนือของแม่น้ำอุยโห อยู่ในอำเภอเหมย์และอำเภอฝูเฟิง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และล่อให้จูกัดเหลียงเข้าโจมตีัตน แต่จูกัดเหลียงไม่เคลื่อนกำลังเป็นเวลาหลายวัน สุมาอี้กล่าวว่า "จูกัดเหลียงต้องการยึดทุ่งราบอู่จ้างและจะไม่รุดหน้าไปยังหยางซุ่ย เจตนาของเขาชัดเจน" แล้วสุมาอี้จึงส่งอ้าวจุ๋น (胡遵 หู จุน) และกุยห้วยไปป้องกันหยางซุ่ย หลายวันต่อมากุยห้วยได้รับข่าวว่าจูกัดเหลียงกำลังวางแผนที่จะโจมตีทางตะวันตก เหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการเสริมกำลังป้องกันในพื้นที่นั้น กุยห้วยเป็นคนเดียวที่มองว่านี่เป็นอุบาย และแท้จริงจูกัดเหลียงวางแผนจะโจมตีหยางซุ่ย ปรากฏว่าการคาดการณ์ของกุยห้วยถูกต้องเมื่อทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีหยางซุ่ยตอนกลางคืน แต่กุยห้วยก็ได้เตรียมการป้องกันไว้ก่อนแล้ว ทัพจ๊กก๊กจึงยึดหยางซุ่ยไม่สำเร็จ จูกัดเหลียงไม่สามารถรุดหน้าต่อไปได้จึงถอยกลับไปยังทุ่งราบอู่จ้าง[14][15]

คืนหนึ่งสุมาอี้เห็นดาวดวงหนึ่งตกลงไปยังบริเวณค่ายจ๊กก๊กจึงทำนายว่าจูกัดเหลียงจะพ่ายแพ้ สุมาอี้ออกคำสั่งลอบโจมตีที่หลังค่ายทัพจ๊กก๊ก ทหารจ๊กก๊กถูกสังหาร 500 นาย ที่ยอมจำนน 600 นาย และปศุสัตว์ในทัพจ๊กก๊กมากกว่า 1,000 ตัวถูกทัพวุยก๊กยึดไป[16]

การคุมเชิง[แก้]

ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักวุยก๊กเห็นว่าเนื่องจากทัพจ๊กก๊กยกมาจากไกลจากฐานที่มั่นในเมืองฮันต๋งจึงไม่น่าจะสามารถรบในอาณาเขตของวุยก๊กได้ในระยะยาว จูกัดเหลียงกังวลว่าตนจะไม่สามารถได้เปรียบในการศึกเนื่องจากการขาดแคลนเสบียง จึงแบ่งกำลังทหารและวางรากฐานของการตั้งมั่นระยะยาว ให้ทหารทำนาร่วมกับราษฎรตลอดแนวแม่น้ำอุยโห ราษฎรและทหารร่วมมือกันเป็นอย่างดีและไม่ขัดแย้งกัน[17] ในขณะเดียวกัน โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กมีรับสั่งให้สุมาอี้งดการปะทะกับข้าศึกและรอโอกาสโจมตี จูกัดเหลียงพยายามลวงให้สุมาอี้ออกมารบ แต่สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่ายตามรับสั่งของโจยอย[18] จูกัดเหลียงเข้าใจได้ว่าสุมาอี้กำลังพยายามจะเอาชนะทัพจ๊กก๊กด้วยสงครามพร่ากำลัง จูกัดเหลียงจึงใช้ระบบถุนเถียนต่อมาเพื่อรักษาทัพจ๊กก๊กไว้

วันหนึ่ง จูกัดเหลียงส่งเสื้อผ้าสตรีไปให้สุมาอี้เพื่อยั่วยุให้สุมาอี้ออกมารบ สุมาอี้รู้สึกโกรธและต้องการโจมตีจูกัดเหลียง แต่โจยอยทรงปฏิเสธความต้องการนั้นและมีรับสั่งให้สุมาอี้ยังคงตั้งมั่นอยู่ในค่าย โจยอยยังพระราชทานคทาอาญาสิทธิ์ (สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของจักรพรรดิ) ให้ซินผีและส่งซินผีไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อจับตาดูสุมาอี้ เมื่อจูกัดเหลียงยั่วยุสุมาอี้อีกครั้ง สุมาอี้ต้องการโจมตีข้าศึก แต่ซินผีใช้คทาอาญาสิทธิ์ในการสั่งสุมาอี้ให้คงตั่งมั่นอยู่ในค่าย[19]

เมื่อเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กทราบข่าวเรื่องที่ซินผีอยู่ในค่ายของสุมาอี้ จึงบอกกับจูกัดเหลียงว่า "ซินผีมาพร้อมกับคทาอาญาสิทธิ์ ข้าศึกคงจะไม่ออกมาจากค่าย (เพื่อโจมตีเรา)" จูกัดเหลียงตอบว่า "สุมาอี้ไม่ต้องการรบกับเราตั้งแต่แรกแล้ว เจตนาที่แท้จริงของเขาในการขอพระราชทานราชานุญาตให้โจมตีเรานั้นแท้จริงแล้วก็เพื่อแสดงออกต่อกำลังทหารของตนว่าตนกระตือรือร้นที่จะรบและเตรียมพร้อมรบแล้ว ขุนพลที่อยู่ไกลออกไปในสนามรบไม่จำไปต้องทำตามคำสั่งของนาย หาก (สุมาอี้) สามารถเอาชนะเราได้ แล้วเหตุใดยังต้องขอพระราชทานราชานุญาตจากจักรพรรดิที่ห่างออกไปหลายพันลี้ (จากที่นี่) อีกเล่า"[20]

เมื่อสุมาหูเขียนจดหมายถึงสุมาอี้ถามถึงสถานการณ์ที่ทุ่งราบอู่จ้าง สุมาอี้ตอบว่า "จูกัดเหลียงมีความทะเยอทะยานยิ่งใหญ่ แต่เขามองโอกาสพลาด เขามีสติปัญญาแต่ไม่เด็ดขาด เขามักนำกองกำลังในยุทธการแม้ว่าเขาจะไม่มีอำนาจเหนือพวกเขามากนัก แม้ว่าเขามีกำลังพล 100,000 นายภายใต้การบังคับบัญชาของเขา แต่เขาก็ติดกับข้าเข้าแล้ว และข้าจะเอาชนะเขาได้อย่างแน่นอน"[21]

ระหว่างการคุมเชิงกัน สุมาอี้ถามทูตที่จูกัดเหลียงส่งมาพบตนว่า "ความเป็นอยู่ของจูกัดเหลียงเป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวได้มากเท่าใด (ต่อวัน)" ทูตตอบว่า "กินได้สามถึงสี่เชิง (升)" แล้วสุมาอี้จึงถามเกี่ยวกับกิจวัตรในแต่ละวันของจูกัดเหลียง ทูตตอบว่าจูกัดเหลียงจัดการงานแทบทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่การลงโทษทหารที่มีความผิดต้องโทษโบย 20 ครั้งขึ้นไป สุมาอี้จึงกล่าวว่า "จูกัดขงเบ้งจะมีชีวิตอยู่ได้นานสักเท่าใดกันเชียว เขากำลังจะตายในไม่ช้า"[22]

ขณะเดียวกัน สุมาอี้ก็กลับเป็นฝ่ายยั่วยุจูกัดเหลียงบ้าง สุมาอี้สั่งให้คน 2,000 คนส่งเสียงโห่ร้องจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบริเวณนั้น จูกัดเหลียงจึงส่งคนไปสืบว่าผู้คนโห่ร้องเรื่องอะไร สายสืบกลับมารายงานว่า "ทูตของง่อมาถึงบอกว่าจะยอมสวามิภักดิ์" จูกัดเหลียงพูดว่า "ง่อจะไม่สวามิภักดิ์ สุมาอี้เป็นคนเฒ่าที่จะมีอายุ 60 ปีในเร็ว ๆ นี้ ยังจำเป็นต้องใช้อุบายเช่นนี้อีกหรือ"[23]

การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงและการล่าถอยของทัพจ๊กก๊ก[แก้]

ภาพวาดในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สามก๊กฉบับที่ตีพิมพ์ในยุคราชวงศ์ชิง แสดงภาพโคยนตร์และม้าเลื่อน (木牛流馬 มู่หนิวหลิวหม่า) ที่ทัพจ๊กก๊กใช้ในการขนส่งเสบียง

ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234[a] จูกัดเหลียงล้มป่วยลงอย่างหนักและอาการก็แย่ลงทุกวัน เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กทรงทราบเรื่องนี้จึงทรงส่งลิฮก (李福 หลี่ ฝู) ไปยังทุ่งราบอู่จ้างเพื่อถามเรื่องผู้สืบทอดอำนาจ จูกัดเหลียงตอบว่าเจียวอ้วนสามารถสืบทอดอำนาจต่อจากตนและบิฮุยก็สามารถสืบทอดอำนาจต่อจากเจียวอ้วน เมื่อลิฮกถามเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจถัดจากบิฮุย จูกัดเหลียงกลับไม่ตอบ ลิฮกจึงกลับไปยังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก ก่อนที่จูกัดเหลียงจะเสียชีวิตได้มอบคำสั่งลับกับเอียวหงี บิฮุย และเกียงอุยให้นำทัพจ๊กก๊กล่าถอยหลังการเสียชีวิตของตน โดยให้อุยเอี๋ยนทำหน้าที่ป้องกันด้านหลังแล้วถัดมาจึงเป็นเกียงอุย หากอุยเอี๋ยนปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ให้พวกเขาล่าถอยไปโดยไม่ต้องมีอุยเอี๋ยน เมื่อจูกัดเหลียงเสียชีวิต ข่าวการเสียชีวิตของเขาก็ถูกปิดเป็นความลับ[25]

หลังการคุมเชิงกันมากกว่า 100 วัน สุมาอี้ก็ได้ยินจากราษฎรว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตจากอาการป่วย ทัพจ๊กก๊กเผาค่ายและล่าถอยไป สุมาอี้จึงนำทัพวุยก๊กไล่ตาม เอียวหงีผู้ช่วยของจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารจ๊กก๊กตีกลองศึกและตั้งกระบวนทัพเพื่อต้านข้าศึก สุมาอี้ไม่รุดหน้าเข้าไปเพราะเห็นว่าทัพจ๊กก๊กเตรียมการรับมืออย่างดี เอียวหงีจึงล่าถอยไป[26]

อีกไม่กี่วันต่อมา สุมาอี้ไปสำรวจค่ายของฝ่ายจ๊กก๊กที่ยังเหลืออยู่ เก็บได้แผนที่ เอกสาร และเสบียงจำนวนมาก สุมาจึงสรุปได้ว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้วจริง ๆ และกล่าวว่า "เขาเป็นผู้มากความสามารถที่หาได้ยากในแผ่นดิน" ซินผียังสงสัยว่าจูกัดเหลียงเสียชีิวิตจริงหรือไม่ แต่สุมาอี้พูดว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกองทัพคือเอกสาร กำลังพล ม้า และเสบียง [จูกัดเหลียง]กลับละทิ้งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คนที่เสียอวัยวะสำคัญทั้งห้าไปจะยังมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เราควรเร่งไล่ตาม[ข้าศึก]" พื้นดินในกวนต๋ง (關中 กวานจง) เต็มไปด้วยต้นโคกกระสุน สุมาอี้จึงส่งทหาร 2,000 นายสวมรองเท้าไม้พื้นแบนเพื่อถางเส้นทางก่อนที่จะทัพหลักจะรุดหน้า เมื่อสุมาอี้ไปไปถึงชะงันโผ (赤岸 ชื่ออ้าน) ก็ได้รับการยืนยันว่าจูกัดเหลียงเสียชีวิตแล้ว สุมาอี้ถามราษฎรที่อาศัยอยู่ที่นั่น เหล่าราษฎรบอกสุมาอี้ว่ามีคำกล่าวที่มีชื่อเสียงเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "จูกัดคนตายหลอกจ้งต๋า[b]คนเป็น" สุมาอี้ได้ยินดังนั้นก็หัวเราะและพูดว่า "ข้าสามารถคาดเดาความคิดคนเป็นได้ แต่ไม่อาจคาดเดาความคิดคนตายได้"[27]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

ความขัดแย้งระหว่างอุยเอี๋ยนและเอียวหงี[แก้]

อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กตกใจที่ทัพจ๊กก๊กล่าถอย "เพราะความตายของคนผู้เดียว" จึงรวบรวมทหารในหน่วยของตนและยกกลับไปยังจ๊กก๊ก ล่วงหน้ากองกำลังหลักที่นำโดยเอียวหงี บิฮุย เกียงอุย และคนอื่น ๆ ระหว่างการล่าถอย อุยเอี๋ยนสั่งทหารให้เผาสะพานเลียบเขาที่นำทางกลับไปยังจ๊กก๊ก[28]

อุยเอี๋ยนและเอียวหงีต่างก็เขียนฎีกาส่งไปถึงราชสำนักจ๊กก๊ก กล่าวหากันและกันในข้อหากบฏ ฎีกาของทั้งคู่มาถึงเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊กในวันเดียวกัน เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กตรัสถามความเห็นจากเสนาบดีตั๋งอุ๋นและเจียวอ้วน ทั้งคู่ให้ความเห็นเข้าข้างเอียวหงีและแสดงความสงสัยต่อการกระทำของอุยเอี๋ยน ในขณะเดียวกัน เอียวหงีสั่งทหารของตนให้ตัดไม้มาซ่อมแซมสะพานเลียบเขา กำลังทหารของเอียวหงีเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อไล่ตามอุยเอี๋ยน อุยเอี๋ยนมาถึงหุบเขาทางใต้และสั่งทหารของตนให้โจมตีเอียวหงี เอียวหงีส่งอองเป๋งไปต้านอุยเอี๋ยน อองเป๋งตะโกนใส่อุยเอี๋ยนว่า "นายท่าน[จูกัดเหลียง]เพิ่งจะสิ้นบุญร่างยังไม่ทันเย็น ท่านกล้าทำการเช่นนี้ได้อย่างไร!" ทหารของอุยเอี๋ยนตระหนักว่าอุยเอี๋ยนผู้บังคับบัญชาของพวกตนเป็๋นฝ่ายผิดจึงละทิ้งอุยเอี๋ยนไป[29]

อุยเอี๋ยนเหลือเพียงบุตรชายและผู้ติดตามเพียงไม่กี่คน ทั้งหมดหนีไปยังเมืองฮันต๋ง เอียวหงีสั่งม้าต้ายให้ไล่ตาม ม้าต้ายตามทันอุยเอี๋ยนและตัดศีรษะอุยเอี๋ยนนำกลับมาและโยนลงต่อหน้าเอียวหงี เอียวหงีจึงเหยียบบนศีรษะของอุยเอี๋ยนและพูดว่า "ไอ้ไพร่ชั้นต่ำ! ยังจะทำชั่วได้อีกไหม" สมาชิกในครอบครัวของอุยเอี๋ยนและญาติสนิทล้วนถูกประหารชีวิต ก่อนการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน เจียวอ้วนนำหน่วยทหารราชองครักษ์ออกจากเซงโต๋เพื่อจัดการกับข้อพิพาท เดินทางมาได้ราว 10 ลี้ [ประมาณ 5 กิโลเมตร] ก็ทราบข่าวการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน จึงทูลแจ้งเรื่องนี้เมื่อกลับมายังเซงโต๋[30]

ผลกระทบระยะยาว[แก้]

หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียง เจียวอ้วนได้สืบทอดตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี แต่เจียวอ้วนมีความสนใจในด้านราชการภายในมากกว่าการขยายทางการทหาร การเสียชีวิตของจูกัดเหลียงจึงเป็นการยุติภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ต่อวุยก๊ก และต่อมาไม่นานราชสำนักวุยก๊กก็เริ่มพัฒนาโครงการโยธาด้วยความทะเยอทะยาน

ความสำเร็จและความโดดเด่นของสุมาอี้ในยุทธการกับจ๊กก๊กได้ปูทางให้สุมาเอี๋ยนผู้หลานชายได้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นในเวลาต่อมา ซึ่งจะกลายเป็นการสิ้นสุดของยุคสามก๊กในที่สุด

หมายเหตุ[แก้]

  1. จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าจูกัดเหลียงล้มป่วยและเสียชีวิตในเดือน 8 ของศักราชเจี้ยนซิงปีที่ 12 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน[24] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 10 ตุลาคม ค.ศ. 234 ในปฏิทินกริกอเรียน
  2. "จ้งต๋า" เป็นชื่อรองของสุมาอี้

อ้างอิง[แก้]

  1. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  2. Sawyer (2010), p. 131
  3. Killigrew, John (1999). "Zhuge Liang and the Northern Campaign of 228-234". Early Modern China. 5 (1): 55–91.
  4. Sawyer (2010), p. 131
  5. (亮每患糧不繼,使己志不申,是以分兵屯田,為乆駐之基。耕者雜於渭濵居民之間,而百姓安堵,軍無私焉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  6. (天子憂之,遣征蜀護軍秦朗督步騎二萬,受帝節度。諸將欲住渭北以待之,帝曰:「百姓積聚皆在渭南,此必爭之地也。」遂引軍而濟,背水為壘。因謂諸將曰:「亮若勇者,當出武功,依山而東。若西上五丈原,則諸軍無事矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  7. 7.0 7.1 Li, Daoyuan. Shuijing Zhu  (ภาษาจีน). Vol. 18 – โดยทาง Wikisource.
  8. (是以諸葛亮《表》云:臣遣虎步監孟琰,據武功水東,司馬懿因水長攻琰營,臣作竹橋,越水射之,橋成馳去。) ฉุ่ยจิงจู้ เล่มที่ 18.
  9. (《諸葛亮集》曰:亮上事曰,臣先進孟琰據武功水東,司馬懿因水以二十日出騎萬人來攻琰營,臣作車橋,賊見橋垂成,便引兵退。)ไท่ผิงยฺวี่หล่าน เล่มที่ 73.
  10. บันทึกทั้งสองเขียนโดยตัวจูกัดเหลียงเอง
  11. (青龍二年,諸葛亮出斜谷,並田于蘭坑。是時司馬宣王屯渭南;淮策亮必爭北原,宜先據之,議者多謂不然。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  12. (淮曰:「若亮跨渭登原,連兵北山,隔絕隴道,搖盪民、夷,此非國之利也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  13. (宣王善之,淮遂屯北原。塹壘未成,蜀兵大至,淮逆擊之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  14. (亮果上原,將北渡渭,帝遣將軍周當屯陽遂以餌之。數日,亮不動。帝曰:「亮欲爭原而不向陽遂,此意可知也。」遣將軍胡遵、雍州剌史郭淮共備陽遂,與亮會于積石。臨原而戰,亮不得進,還于五丈原。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  15. (後數日,亮盛兵西行,諸將皆謂欲攻西圍,淮獨以為此見形於西,欲使官兵重應之,必攻陽遂耳。其夜果攻陽遂,有備不得上。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  16. (會有長星墜亮之壘,帝知其必敗,遣奇兵掎亮之後,斬五百餘級,獲生口千餘,降者六百餘人。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  17. (亮以前者數出,皆以運糧不繼,使己志不伸,乃分兵屯田為久駐之基,耕者雜於渭濱居民之間,而百姓安堵,軍無私焉。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  18. (時朝廷以亮僑軍遠寇,利在急戰,每命帝持重,以候其變。亮數挑戰,帝不出, ...) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  19. (... 因遺帝巾幗婦人之飾。帝怒,表請決戰,天子不許,乃遣骨鯁臣衞尉辛毗杖節為軍師以制之。後亮復來挑戰,帝將出兵以應之,毗杖節立軍門,帝乃止。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  20. (初,蜀將姜維聞毗來,謂亮曰:「辛毗杖節而至,賊不復出矣。」亮曰:「彼本無戰心,所以固請者,以示武於其衆耳。將在軍,君命有所不受,苟能制吾,豈千里而請戰邪!」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  21. (帝弟孚書問軍事,帝復書曰:「亮志大而不見機,多謀而少決,好兵而無權,雖提卒十萬,已墮吾畫中,破之必矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  22. (先是,亮使至,帝問曰:「諸葛公起居何如,食可幾米?」對曰:「三四升。」次問政事,曰:「二十罰已上皆自省覽。」帝既而告人曰:「諸葛孔明其能久乎!」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  23. (宣王使二千餘人,就軍營東南角,大聲稱萬歲。亮使問之,答曰:「吳朝有使至,請降。」亮謂曰:「計吳朝必無降法。卿是六十老翁,何煩詭誑如此。」)ทงเตี่ยน เล่มที่ 150.
  24. (相持百餘日。其年八月,亮疾病,卒于軍,時年五十四。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  25. (秋,亮病困,密與長史楊儀、司馬費禕、護軍姜維等作身歿之後退軍節度,令延斷後,姜維次之;若延或不從命,軍便自發。亮適卒,祕不發喪, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  26. (與之對壘百餘日,會亮病卒,諸將燒營遁走,百姓奔告,帝出兵追之。亮長史楊儀反旗鳴皷,若將距帝者。帝以窮寇不之逼,於是楊儀結陣而去。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  27. (經日,乃行其營壘,觀其遺事,獲其圖書、糧穀甚衆。帝審其必死,曰:「天下奇才也。」辛毗以為尚未可知。帝曰:「軍家所重,軍書密計、兵馬糧穀,今皆棄之,豈有人捐其五藏而可以生乎?宜急追之。」關中多蒺蔾,帝使軍士二千人著軟材平底木屐前行,蒺蔾悉著屐,然後馬步俱進。追到赤岸,乃知亮死審問。時百姓為之諺曰:「死諸葛走生仲達。」帝聞而笑曰:「吾便料生,不便料死故也。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  28. (延曰:「丞相雖亡,吾自見在。府親官屬便可將喪還葬,吾自當率諸軍擊賊,云何以一人死廢天下之事邪?且魏延何人,當為楊儀所部勒,作斷後將乎!」因與禕共作行留部分,令禕手書與己連名,告下諸將。禕紿延曰:「當為君還解楊長史,長史文吏,稀更軍事,必不違命也。」禕出門馳馬而去,延尋悔,追之已不及矣。延遣人覘儀等,遂使欲案亮成規,諸營相次引軍還。延大怒,纔儀未發,率所領徑先南歸,所過燒絕閣道。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  29. (延、儀各相表叛逆,一日之中,羽檄交至。後主以問侍中董允、留府長史蔣琬,琬、允咸保儀疑延。儀等槎山通道,晝夜兼行,亦繼延後。 ... 延先至,據南谷口,遣兵逆擊儀等,儀等令何平在前禦延。平叱延先登曰:「公亡,身尚未寒,汝輩何敢乃爾!」延士衆知曲在延,莫為用命,軍皆散。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  30. (延獨與其子數人逃亡,奔漢中。儀遣馬岱追斬之,致首於儀,儀起自踏之,曰:「庸奴!復能作惡不?」遂夷延三族。 ... 初,蔣琬率宿衞諸營赴難北行,行數十里,延死問至,乃旋。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.

บรรณานุกรม[แก้]