กบฏซินเสีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กบฏซินเสีย
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก

ภาพวาดแสดงเหตุการณ์ที่เบ้งตัดถูกสังหารโดยทหารของสุมาอี้
วันที่ป. ธันวาคม ค.ศ. 227[a]ป. มีนาคม ค.ศ. 228[b]
สถานที่
เมืองซินเสีย (ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอฝาง อำเภอจู๋ซี และอำเภอจู๋ชานในนครฉือเยี่ยน กับอำเภอเป่าคางและอำเภอหนานจางในนครเซียงหยาง ทั้งหมดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์)
ผล วุยก๊กชนะ กบฏถูกปราบปราม
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
ซินเสียถูกวุยก๊กชิงคืน
คู่สงคราม
วุยก๊ก เบ้งตัด
(ด้วยการสนับสนุนบางส่วนจากจ๊กก๊กและง่อก๊ก)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาอี้  โทษประหารชีวิต เบ้งตัด
กบฏซินเสีย
อักษรจีนตัวเต็ม新城之亂
อักษรจีนตัวย่อ新城之乱

กบฏซินเสีย (จีน: 新城之亂) เป็นการก่อกบฏที่เกิดขึ้นในรัฐวุยก๊กระหว่างช่วงปลาย ค.ศ. 227[1] ถึงช่วงต้น ค.ศ. 228[2] ในยุคสามก๊กของจีน การก่อกบฏริเริ่มโดยเบ้งตัด อดีตขุนพลของจ๊กก๊กผู้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กและได้รับมอบหมายให้ดูแลเมืองซินเสีย (ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์) ในมณฑลเกงจิ๋ว กบฏถูกปราบปรามลงอย่างรวดเร็วภายในหนึ่งเดือนโดยสุมาอี้ขุนพลวุยก๊ก เบ้งตัดถูกจับและถูกประหารชีวิต

ภูมิหลัง[แก้]

ในปี ค.ศ. 220 เบ้งตัดขุนพลผู้เดิมรับใช้ขุนศึกเล่าปี่ ได้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจผีศัตรูของเล่าปี่ซึ่งเป็นผู้สืบทอดฐานันดรศักดิ์ "วุยอ๋อง" สืบต่อโจโฉบิดาผู้เพิ่งล่วงลับ[c] เบ้งตัดนำผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวติดตามมาด้วยรวมมากกว่า 4,000 คน โจผียินดีมากที่ได้ยินว่าเบ้งตัดมาเข้าร่วมและต้อนรับเบ้งตัดเป็นอย่างดี โจผีตั้งให้เบ้งตัดเป็นเจ้าเมือง (太守 ไทโฉ่ว) ของเมืองซินเสีย (新城 ซินเฉิง) ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวุยก๊ก[3]

ในเวลานั้น ขุนนางหลายคนรู้สึกว่าเบ้งตัดไม่น่าไว้วางใจและไม่ควรมอบหมายความรับผิดชอบที่สำคัญ[4] สุมาอี้ขุนพลวุยก๊กผู้ประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย (宛 หว่าน; ปัจจุบันคือเขตหว่านเฉิง นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน) และดูแลกิจการการทหารในมณฑลเกงจิ๋วและอิจิ๋วในเวลานั้น[5] ก็ยังเตือนโจผีไม่ให้ไว้วางใจเบ้งตัดมากเกินไป แต่โจผีไม่ใส่ใจคำแนะนำของสุมาอี้[6]

เบ้งตัดได้รับความโปรดปรานจากโจผีอย่างมาก และเบ้งตัดยังเป็นมิตรสนิทกับขุนนางวุยก๊กอย่างฮวนกายและแฮหัวซง เมื่อโจผีสวรรคตในปี ค.ศ. 226 ฮวนกายและแฮหัวซงในเวลานั้นก็เสียชีวิตไปแล้ว เบ้งตัดจึงเริ่มรู้สึกไม่สบายใจเพราะอยู่ในแนวหน้าเป็นเวลานาน[7] ตลอดช่วงเวลาที่เบ้งตัดรับราชการที่ซินเสีย ก็ได้ผูกมิตรกับง่อก๊ก (รัฐที่ก่อตั้งโดยซุนกวน) และสร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งเพื่อรับการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากรัฐจ๊กก๊ก (ก่อตั้งโดยเล่าปี่) รัฐอริของวุยก๊ก จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งจ๊กก๊กไม่ชอบเบ้งตัดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้[d] และยังกังวลว่าเบ้งตัดจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อจ๊กก๊ก[8]

การก่อกบฏ[แก้]

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ 2 แหล่งที่บันทึกถึงแรงจูงใจในการก่อกบฏของเบ้งตัด ทั้งสองแหล่งมีรายละเอียดโดยทั่วไปที่คล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างบ้างเล็กน้อย บันทึกแรกมาจากเว่ย์เลฺว่ ส่วนบันทึกที่สองมาจากจิ้นชู

บันทึกในเว่ยเลฺว่ระบุว่าจูกัดเหลียงวางแผนชักจูงเบ้งตัดให้แปรพักตร์มาเข้าด้วยจ๊กก๊กหลังทราบข่าวว่าเบ้งตัดกำลังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ที่ซินเสีย จูกัดเหลียงจึงเขียนจดหมายหลายฉบับถึงเบ้งตัดและเบ้งตัดก็ตอบรับจดหมาย ซินหงี (申儀 เชิน อี๋) เจ้าเมืองเว่ย์ซิง (魏興; อยู่บริเวณอำเภอฉือเฉฺวียนในมณฑลฉ่านซีและอำเภอยฺหวินซีในมณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) ไม่เห็นด้วยกับเบ้งตัด จึงลอบรายงานไปยังราชสำนักวุยก๊กว่าเบ้งตัดกำลังติดต่อกับจ๊กก๊ก แต่โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงไม่เชื่อรายงาน สุมาอี้ผู้ประจำการที่อยู่ที่อ้วนเซียในเวลานั้นส่งที่ปรึกษาเลียงกี๋ (梁幾 เหลียง จี) ไปตรวจสอบและเชิญให้เบ้งตัดเดินทางมายังนครหลวงลกเอี๋ยง เบ้งตัดเริ่มระแวงและหวาดกลัวว่าจะเป็นเรื่องถึงชีวิตจึงเริ่มก่อกบฏขึ้น[9]

บันทึกในจิ้นชูระบุว่าเบ้งตัดมีความขัดแย้งกับซินหงี จูกัดเหลียงวางแผนใช้โอกาสจากเหตุการณ์นี้จะบีบให้เบ้งตัดแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงจึงส่งกัว หมัว (郭模) ทำทีเป็นยอมสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กและเปิดเผยแผนการของเบ้งตัดให้ซินหงีฟัง เมื่อเบ้งตัดทราบว่าแผนการรั่วไหลจึงเริ่มดำเนินแผนก่อกบฏทันที สุมาอี้ซึ่งเวลานั้นอยู่ที่อ้วนเซียเริ่มกังวลว่าเบ้งตัดจะก่อการจลาจลอย่างฉับพลันจึงเขียนจดหมายส่งถึงเบ้งตัดเพื่อยับยั้งไว้ สุมาอี้เขียนว่า "ก่อนหน้านี้ท่านขุนพลตีจากเล่าปี่และอุทิศตนให้กับรัฐของเรา รัฐของเรามอบหมายหน้าที่พิทักษ์ชายแดนให้กับท่านและมอบหมายภารกิจในการวางแผนบุกจ๊ก เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐของเราไว้วางใจท่าน ชาวจ๊กโง่เขลาและเกลียดชังท่านอย่างมาก จูกัดเหลียงต้องการให้ท่านกลับไปจ๊กเพียงเพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น สิ่งที่กัว หมัวบอกกับซินหงีไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เหตุใดจูกัดเหลียงจึงให้กัว หมัวเผยแผนการของท่านโดยง่ายดายเช่นนี้ การดำเนินการที่อันตรายเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยากเลย" เบ้งตัดรู้สึกพอใจเมื่อได้รับจดหมายของสุมาอี้และเริ่มลังเลว่าจะก่อกบฏหรือไม่ ในเวลานั้นสุมาอี้ลอบนำกองกำลังทหารจากอ้วนเซียไปยังซินเสีย ผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้แนะนำให้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของเบ้งตัดก่อนจะรุดหน้าต่อไป แต่สุมาอี้ตอบว่า "(เบ้ง) ตัดไม่ใช่คนที่น่าเชื่อถือ บัดนี้เขากำลังลังเลด้วยความระแวงสงสัย เราจึงควรถือโอกาสนี้กำจัดเขาเสีย" กองกำลังของสุมาอี้จึงรุดหน้าอย่างรวดเร็วและไปถึงซินเสียภายใน 8 วัน[10]

จ๊กก๊กและง่อก๊กต่างก็ส่งกำลังทหารไปสนับสนุนเบ้งตัดโดยมาถึงที่สะพานอานเฉียว (安橋) ที่เสเสีย (西城 ซีเฉิง) และท่าข้ามมู่หลานไซ (木闌塞) ตามลำดับ สุมาอี้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาไปจัดการกับกำลังเสริมของเบ้งตัด[11]

ก่อนยุทธการ เบ้งตัดเขียนจดหมายถึงจูกัดเหลียงว่า "อ้วนเซียอยู่ห่างจากลกเอี๋ยง 800 ลี้ ส่วนข้าพเจ้าอยู่ห่างจากลกเอี๋ยง 1,200 ลี้ เมื่อ (สุมาอี้) รู้ว่าข้าพเจ้าวางแผนก่อกบฏ ก็คงจะต้องทูลแจ้งจักรรพรรดิ (โจยอย) เสียก่อน เวลาทั้งหมดที่สุมาอี้จะใช้ในการส่งรายงานถึงลกเอี๋ยงและรับหนังสือตอบกลับคือประมาณหนึ่งเดือน ถึงตอนนั้นเมืองของข้าพเจ้าก็เสริมกำลังตระเตรียมกำลังทหารไว้พร้อมแล้ว ในเมื่อข้าพเจ้าอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ สุมาอี้ก็ไม่กล้าเข้ามาโจมตี ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องกังวล"

แต่อีกแปดวันต่อมา สุมาอี้ยกกำลังทหารมาถึง เบ้งตัดจึงเขียนจดหมายถึงจูกัดเหลียงอีกครั้งว่า "ข้าพเจ้าวางแผนก่อกบฏ ภายในแปดวันกองทัพ (ของสุมาอี้) ก็ยกมาถึงเมืองเสียแล้ว ช่างรวดเร็วปานเทพเสียจริง" เบ้งตัดตั้งมั่นอยู่ที่เซียงหยง[e] (上庸 ช่างยง) เมืองปราการในเขตเมืองซินเสียซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามด้าน เบ้งตัดจึงให้ตั้งเครื่องกีดขวางไม้เพื่อป้องกันตน กำลังทหารของสุมาอี้ข้ามน้ำเข้าทำลายเครื่องกีดขวางและมาถึงด้านนอกของเซียงหยง สุมาอี้จึงแบ่งทหารเข้าโจมตีเบ้งตัดจากแปดทิศทาง สุมาอี้เกลี้ยกล่อมให้เตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) หลานชายของเบ้งตัดและลิจู (李輔 หลี ฝู่) ผู้ใต้บังคับบัญชาของเบ้งตัดให้ยอมจำนน เตงเหียนและลิจูจึงเปิดประตูเมืองเซียงหยงภายหลังการล้อม 16 วัน เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต ศีรษะถูกส่งไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก[13][14][15]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

สุมาอี้และกำลังทหารจับกุมได้เชลยศึกมากกว่า 10,000 คนและกลับไปยังอ้วนเซีย[16]

ซินหงี (申儀 เชิน อี๋) อยู่ที่เมืองเว่ย์ซิงเป็นเวลานานและมีพฤติกรรมเย่อหยิ่ง ซินหงีมีตราราชการหลายอันที่แกะสลักและแจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อซินหงีได้ข่าวเรื่องชะตากรรมของเบ้งตัดก็รู้สึกวิตกกังวล ขุนนางคนอื่น ๆ หลายคนในภูมิภาคมอบของกำนัลให้สุมาอี้เพื่อแสดงความยินดีกับชัยชนะของสุมาอี้ สุมาอี้ส่งคนถือหนังสือไปตามซินหงี ซินหงีจึงมาพบสุมาอี้ สุมาอี้ถามซินหงีเรื่องการแจกจ่ายตราประทับที่ไม่ได้รับอนุญาตแต่ก็ปล่อยตัวซินหงีไปในภายหลัง[17]

สุมาอี้ยังได้กวาดต้อนราษฎร 7,000 ครัวเรือนจากอาณาเขตของเบ้งตัดไปยังมณฑลอิวจิ๋วทางตอนเหนือของจีน ขุนพลจ๊กก๊กเหยา จิ้ง (姚靜), เจิ้ง ทา (鄭他) และคนอื่น ๆ นำกำลังทหารมากกว่า 7,000 นายมาสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก[18] แต่นายทหารของจ๊กก๊กเหล่านี้ปรากฏชื่อเฉพาะในจิ้นชู ไม่ได้ปรากฏในจือจื้อทงเจี้ยนตำราลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เขียนในศตวรรษที่ 11[19]

สุมาอี้เดินทางไปยังนครหลวงลกเอี๋ยงเพื่อเข้าเฝ้าโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก โจยอยทรงปรึกษากับสุมาอี้เรื่องการตอบโต้การบุกจากง่อก๊ก จากนั้นจึงมีรับสั่งให้สุมาอี้กลับไปประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย[20]

ในนิยายสามก๊ก[แก้]

กบฏซินเสียถูกกล่าวถึงในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ตอนที่ 94[f] ซึ่งมีการเพิ่มเติมองค์ประกอบสมมติเข้ามาในเหตุการณ์เพื่อผลเชิงละคร

ความในนิยาย[แก้]

เบ้งตัดเชิญซินหงี (申儀 เชิน อี๋) เจ้าเมืองกิมเสีย (金城 จินเฉิง) และซินต๋ำ (申耽 เชิน ตาน) เจ้าเมืองเซียงหยง[e] (上庸 ช่างยง) ให้เข้ากับตนในการก่อกบฏ ซินหงีและซินต๋ำแสร้งทำเป็นเข้าด้วยแต่ขณะเดียวกันก็ลอบวางแผนที่จะช่วยกองทัพวุยก๊กที่ยกกำลังมาปราบกบฏ ซินหงีและซินต๋ำอ้างกับเบ้งตัดว่าการเตรียมการยังไม่พร้อมเพียงพอซึ่งเบ้งตัดก็เชื่อ

เลียงกี๋ (梁畿 เหลียง จี) คนส่งสารของสุมาอี้มาถึงเมืองซินเสียและอ้างกับเบ้งตัดว่าสุมาอี้นำทัพยกไปเตียงฮันเพื่อรับมือการบุกของจ๊กก๊ก เบ้งตัดยินดีจึงจัดงานเลี้ยงให้เลียงกี๋และส่งเลียงกี๋ออกจากเมือง จากนั้นเบ้งตัดจึงนัดแนะกับซินหงีและซินต๋ำให้เริ่มก่อกบฏในวันรุ่งขึ้น แต่ต่อมาไม่นานเบ้งตัดก็ได้รับรายงานว่ามีกองกำลังมาถึงนอกเมือง เบ้งตัดรีบขึ้นกำเแพงเมืองเห็นกองกำลังที่ยกมาบัญชาการโดยซิหลงขุนพลทัพหน้าของวุยก๊ก ซิหลงบอกเบ้งตัดให้ยอมจำนน แต่เบ้งตัดยิงเกาทัณฑ์ไปถูกหน้าผากของซิหลง ทหารมือเกาทัณฑ์ของเบ้งตัดก็ระดมยิงเกาทัณฑ์ใส่กองกำลังของซิหลงบีบให้ล่าถอย ซิหลงเสียชีวิตจากแผลเกาทัณฑ์ในคืนนั้นด้วยวัย 59 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ศพของซิหลงได้รับการวางในโลงศพแล้วส่งไปลกเอี๋ยงเพื่อทำพิธีฝัง

จากนั้นทัพหลักของสุมาอี้ก็ยกมาถึงนอกเมืองซินเสียและล้อมเมืองไว้ วันถัดมาเบ้งตัดเห็นกองกำลังของซินหงีและซินต๋ำยกมาถึง เบ้งตัดคิดว่าซินหงีและซินต๋ำมาเพื่อช่วยตนจึงเปิดประตูเมืองและนำทหารออกไปโจมตีสุมาอี้ แต่ซินหงีและซินต๋ำตะโกนใส่เบ้งตัดว่า "อ้ายขบถมึงคิดทรยศต่อเจ้าเร่งไปหาที่ตายเถิด" เบ้งตัดเห็นว่าภัยมาถึงตัวจึงพยายามถอยกลับเข้าเมือง แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเบ้งตัดคือลิจู (李輔 หลี ฝู่) และเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) ทรยศต่อเบ้งตัดและปฏิเสธไม่ให้เบ้งตัดเข้าเมือง ซินต๋ำเข้าไปใกล้และสังหารเบ้งตัด ทหารของเบ้งตัดก็ยอมจำนนต่อทัพวุยก๊ก

สุมาอี้เข้าเมืองซินเสียและฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในเมือง สุมาอี้รายงานชัยชนะของตนต่อโจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก โจยอยให้ส่งศีรษะของเบ้งตัดมายังลกเอี๋ยง ซินหงีและซินต๋ำได้รับการเลื่อนขั้นและได้รับมอบหมายให้ติดตามสุมาอี้ไปรับมือการบุกของจ๊กก๊ก ส่วนลิจูและเตงเหียนได้รับมอบหมายให้รักษาซินเสียและเซียงหยง[22][21]

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์[แก้]

ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่เบ้งตัดก่อกบฏ ซินต๋ำ (申耽 เชิน ตาน) ไม่ได้รับราชการแล้วและไม่ได้เข้าร่วมในการก่อกบฏ และในเวลานั้นซินต๋ำอาจจะเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าซิหลงเข้าร่วมในการปราบกบฏ จดหมายเหตุสามก๊กไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของซิหลงมากนัก โดยระบุเพียงว่าซิหลงเสียชีวิตในศักราชไท่เหอ (ค.ศ. 227-233) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจยอย[23]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

กบฏซินเสียปรากฏเป็นด่านที่เล่นได้ในวิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ 5: เอ็กซ์ตรีมเลเจนส์ของโคเอ เป็นที่รู้จักในชื่อ "ยุทธการที่ปราสาทซิน" (Battle of Xin Castle) ผู้เล่นสามารถเล่นได้เฉพาะตัวละครฝ่ายวุยก๊กคือโจผี สุมาอี้ หรือซิหลง และต้องเอาชนะเบ้งตัดเพื่อชนะด่าน หากผู้เล่นเล่นได้เร็วก็จะสามารถผ่านด่านได้ก่อนที่กำลังเสริมของจ๊กก๊กจะมาถึงเพื่อช่วยเบ้งตัด

หมายเหตุ[แก้]

  1. กบฏเริ่มต้นในเดือน 12 ของศักราชไท่เหอปีที่ 1 ในรัชสมัยจักรพรรดิโจยอย[1] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 227 ถึง24 มกราคม ค.ศ. 228 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. กบฏสิ้นสุดในเดือน 1 ของศักราชไท่เหอปีที่ 2 รัชสมัยจักรพรรดิโจยอย[2] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ถึง 23 มีนาคม ค.ศ. 228 ในปฏิทินกริโกเรียน
  3. ปลายปี ค.ศ. 220 หลายเดือนหลังการเสียชีวิตของโจโฉ โจผีบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ (ผู้ปกครองของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกลำดับสุดท้าย) ให้สละราชบัลลังก์ให้กับตน จากนั้นโจผีสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐวุยก๊ก นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊ก
  4. เดิมเบ้งตัดรับใช้เล่าเจี้ยงขุนศึกในมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เบ้งตัดสวามิภักดิ์์ต่อเล่าปี่ในปี ค.ศ. 214 ภายหลังจากเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วจากเล่าเจี้ยง และรับใช้เล่าปี่เป็นเวลาประมาณห้าปีก่อนจะแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายโจผี จูกัดเหลียงมองว่าเบ้งตัดเป็นคนผู้ไม่น่าไว้วางใจและเปลี่นนความภักดีได้ง่าย ๆ
  5. 5.0 5.1 ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักเรียกซ่างยง (上庸) ว่า "ซงหยง" เหมือนกับชื่อ "ซงหยง" ที่ใช้เรียกเมือง "เซียงหยาง" (襄陽) ในที่นี้จึงเรียก "ซ่างยง" ว่า "เซียงหยง" ตามชื่อที่ปรากฏการเรียกใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 62[12]
  6. ตรงกับสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 72[21]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จากจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3: (太和元年 ... 十二月, ... 新城太守孟達反,詔驃騎將軍司馬宣王討之。)
  2. 2.0 2.1 จากจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3: ([太和]二年春正月,宣王攻破新城,斬達,傳其首。)
  3. (魏略曰:達以延康元年率部曲四千餘家歸魏。文帝時初即王位,既宿知有達,聞其來,甚悅,令貴臣有識察者往觀之,還曰「將帥之才也」,或曰「卿相之器也」,王益欽達。 ... 又加拜散騎常侍,領新城太守,委以西南之任。) อรรถาธิยายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  4. (時眾臣或以為待之太猥,又不宜委以方任。 ...) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  5. (太和元年六月,天子詔帝屯于宛,加督荊、豫二州諸軍事。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  6. (初,蜀將孟達之降也,魏朝遇之甚厚。帝以達言行傾巧不可任,驟諫不見聽,乃以達領新城太守,封侯,假節。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  7. (達既為文帝所寵,又與桓階、夏侯尚親善,及文帝崩,時桓、尚皆卒,達自以羈旅久在疆埸,心不自安。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  8. (達於是連吳固蜀,潛圖中國。蜀相諸葛亮惡其反覆,又慮其為患。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  9. (諸葛亮聞之,陰欲誘達,數書招之,達與相報答。魏興太守申儀與達有隙,密表達與蜀潛通,帝未之信也。司馬宣王遣參軍梁幾察之,又勸其入朝。達驚懼,遂反。) อรรถาธิบายจากเว่ยเลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  10. (達與魏興太守申儀有隙,亮欲促其事,乃遣郭模詐降,過儀,因漏泄其謀。達聞其謀漏泄,將舉兵。帝恐達速發,以書喻之曰:「將軍昔棄劉備,託身國家,國家委將軍以疆埸之任,任將軍以圖蜀之事,可謂心貫白日。蜀人愚智,莫不切齒於將軍。諸葛亮欲相破,惟苦無路耳。模之所言,非小事也,亮豈輕之而令宣露,此殆易知耳。」達得書大喜,猶與不決。帝乃潛軍進討。諸將言達與二賊交構,宜觀望而後動。帝曰:「達無信義,此其相疑之時也,當及其未定促決之。」乃倍道兼行,八日到其城下。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  11. (吳蜀各遣其將向西城安橋、木闌塞以救達,帝分諸將以距之。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  12. (ครั้งนั้นแฮเฮาเซียงกับซิหลงทหารโจผี ๆ ใช้ให้มาอยู่เมืองยังหยง ให้มาเกลี้ยกล่อมทหารเมืองเซียงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๖๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. (初,達與亮書曰:「宛去洛八百里,去吾一千二百里,聞吾舉事,當表上天子,比相反覆,一月間也,則吾城已固,諸軍足辦。則吾所在深險,司馬公必不自來;諸將來,吾無患矣。」及兵到,達又告亮曰:「吾舉事八日,而兵至城下,何其神速也!」上庸城三面阻水,達於城外為木柵以自固。帝渡水,破其柵,直造城下。八道攻之,旬有六日,達甥鄧賢、將李輔等開門出降。斬達,傳首京師。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  14. (二年春正月,宣王攻破新城,斬達,傳其首。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  15. (魏略曰:宣王誘達將李輔及達甥鄧賢,賢等開門納軍。達被圍旬有六日而敗,焚其首於洛陽四達之衢。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  16. (俘獲萬餘人,振旅還于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  17. (初,申儀久在魏興,專威疆埸,輒承制刻印,多所假授。達既誅,有自疑心。時諸郡守以帝新克捷,奉禮求賀,皆聽之。帝使人諷儀,儀至,問承制狀,執之, ...) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  18. (又徙孟達餘衆七千餘家于幽州。蜀將姚靜、鄭他等帥其屬七千餘人來降。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  19. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 71.
  20. (... 歸于京師。 ... 屬帝朝于京師,天子訪之於帝。 ... 天子並然之,復命帝屯于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  21. 21.0 21.1 (ฝ่ายเบ้งตัดอยู่ในเมืองซงหยงให้ไปชักชวนซินหงีเจ้าเมืองกิมเสียกับซินต๋ำเจ้าเมืองซินเสีย...เบ้งตัดได้ฟังก็ตกใจควบม้าจะพาทหารหนีออกจากที่ล้อม พอซินต๋ำไล่มาทันเอาทวนแทงถูกเบ้งตัดตกม้าตายตัดเอาสีสะมาให้สุมาอี้ ทหารทั้งปวงก็เข้าหาสุมาอี้ เตงเหียนกับลิจูก็เปิดประตูเชิญสุมาอี้เข้าตั้งอยู่ในเมือง สุมาอี้เกลี้ยกล่อมให้ราษฎรชาวเมืองอยู่เย็นเปนสุข แล้วให้ทหารเอาสีสะเบ้งตัดขึ้นไปถวายพระเจ้าโจยอย ๆ แจ้งเนื้อความทั้งปวงแล้วก็มีความยินดีนัก ให้ทหารเอาสีสะเบ้งตัดไปเสียบประจานไว้ณทางสามแพร่ง แล้วแต่งหนังสือรับสั่งใจความว่า ซินต๋ำกับซินหงีมีความชอบให้ตั้งเปนขุนนางผู้ใหญ่ ยกไปช่วยทำการศึกกับสุมาอี้ ให้ลิจูเปนเจ้าเมืองซินเสีย ให้เตงเหียนเปนเจ้าเมืองซงหยง) "สามก๊ก ตอนที่ ๗๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 27, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. (卻說孟達在新城,約下金城太守申儀、上庸太守申耽,剋日舉事。 ... 達奪路而走,申耽趕來。達人困馬乏,措手不及,被申耽一鎗刺於馬下,梟其首級。餘軍皆降。李輔、鄧賢大開城門,迎接司馬懿入城。撫民勞軍已畢,遂遣人奏知魏主曹叡。叡大喜,教將孟達首級去洛陽城市示眾;加申耽、申儀官職,就隨司馬懿征進;命李輔、鄧賢守新城、上庸。) สามก๊ก ตอนที่ 94.
  23. (太和元年薨,諡曰壯侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.

บรรณานุกรม[แก้]