ยุทธการที่หับป๋า (ค.ศ. 234)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่หับป๋า
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก
วันที่ป. มิถุนายน – กันยายน ค.ศ. 234
สถานที่
นครเหอเฝย์ มณฑลอานฮุย ประเทศจีน
ผล วุยก๊กชนะ ง่อก๊กล่าถอย
คู่สงคราม
วุยก๊ก ง่อก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
หมันทอง
เตียวอี้
จาง อิ่ง
เล่าเซียว
ซุนกวน
ซุน ไท่ 
ยุทธการที่หับป๋า
อักษรจีนตัวเต็ม合肥之戰
อักษรจีนตัวย่อ合肥之战
ยุทธการที่หับป๋าซินเสีย
อักษรจีนตัวเต็ม合肥新城之戰
อักษรจีนตัวย่อ合肥新城之战

ยุทธการที่หับป๋า (จีน: 合肥之戰) หรือ ยุทธการที่หับป๋าซินเสีย (จีน: 合肥新城之戰) เป็นการรบระหว่างรัฐวุยก๊กและง่อก๊กตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน

ภูมิหลัง[แก้]

ราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 234 จูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือเพื่อรบกับวุยก๊กเป็นครั้งที่ 5 จ๊กก๊กร้องขอการสนับสนุนจากง่อก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรให้ร่วมกันโจมตีวุยก๊ก ซุนกวนจักรพรรดิง่อก๊กตอบตกลง

ยุทธการ[แก้]

ราวเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมของปี ค.ศ. 234 ทัพซุนกวนที่อ้างว่ามีกำลังทหาร 100,000 นายยกไปตั้งมั่นอยู่ใกล้ทะเลสาบเจาอ๋อ (巢湖 เฉาหู) จักรพรรดิซุนกวนทรงนำทัพด้วยพระองค์เองเข้าโจมตีป้อมปราการของฝ่ายวุยก๊กที่ซินเสีย (新城 ซินเฉิง; แปลว่า "เมือง/ป้อมปราการแห่งใหม่") ในหับป๋า ( 合肥 เหอเฝย์) พระองค์ยังทรงส่งขุนพลลกซุนและจูกัดกิ๋นไปตั้งมั่นอยู่ที่กังแฮ (江夏 เจียงเซี่ย) และเหมียนโข่ว (沔口) และทั้งคู่จะเข้าโจมตีซงหยง (襄陽 เซียงหยาง) จากที่นั่น กองกำลังฝ่ายง่อก๊กกองที่สามนำโดยซุนเสียวและจาง เฉิง (張承) มุ่งไปยังกังเหลง (廣陵 เจียงหลิง) และชัวหยิน (淮陰 หฺวายอิน) โดยรวมแล้วง่อก๊กโจมตีวุยก๊กจากสามทิศทาง

ในเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม หมันทองขุนพลวุยก๊กต้องการนำกำลังเสริมไปสนับสนุนจาง อิ่ง (張穎) ผู้ทำหน้าที่ป้องกันซินเสีย แต่เตียวอี้ (田豫 เถียน ยฺวี่) คัดค้านความคิดของหมันทอง เนื่องจากเห็นว่าการป้องกันของซินเสียนั้นเพียงพอแล้ว และยังกังวลว่าทัพง่อก๊กอาจจะหันมาโจมตีกำลังเสริมของวุยก๊กแทน เวลานั้นนายทหารของวุยก๊กหลายคนกำลังลากลับไปเยี่ยมบ้าน หมันทองเสนอให้เรียกนายทหารเหล่านั้นกลับมาเพื่อร่วมกันในการต้านข้าศึก แต่โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กทรงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของหมันทอง เพราะทรงเห็นว่าหับป๋า ซงหยง และเขากิสาน (祁山 ฉีชาน) เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดสามตำแหน่งทางชายแดนด้านตะวันออก ใต้ และตะวันตกตามลำดับ และทั้งสามตำแหน่งก็มีการป้องกันอย่างเพียงพออยู่แล้ว เล่าเซียวเห็นว่าหมันทองควรเน้นไปที่การป้องกันแทนที่จะเป็นการโจมตี เพราะทัพง่อก๊กยังมีขวัญกำลังใจสูง และแนะนำว่าในขั้นแรกราชสำนักวุยก๊กจะส่งทหารราบ 5,000 นายและทหารม้า 3,000 นายไปหนุนช่วยซินเสีย และกำลังทหารเหล่านี้จะเว้นระยะจากกันในแต่ละกอง โดยเพิ่มธงและกลองศึกเพื่อทำให้ดูเหมือนว่าเป็นกองทัพขนาดใหญ่ เล่าเซียวคาดว่าทัพง่อก๊กจะล่าถอยเมื่อเห็น "กองทัพใหญ่" ยกมาถึง จักรพรรดิโจยอยทรงอนุมัติกลยุทธ์ของเล่าเซียวและส่งกำลังเสริมไปตามที่เล่าเซียวแนะนำ[1]

ในเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน โจยอยทรงนำทัพเรือด้วยพระองค์เองไปทางตะวันออกเพื่อสลายวงล้อมที่ซินเสีย หมันทองส่งทหารหลายนายไปจุดไฟเผาเครื่องมือปิดล้อมของทัพง่อก๊ก ซุน ไท่ (孫泰) หลานชายของซุนกวนถูกสังหารในยุทธการ ในเวลานั้นทหารง่อก๊กหลายคนล้มป่วยและซุนกวนตัดสินพระทัยล่าถอยเมื่อทราบข่าวว่าโจยอยกำลังจะนำทัพมาถึง ซุนเสียวและจาง เฉิงก็ถอนกำลังเมื่อทราบว่าซุนกวนทรงถอยทัพ ส่วนลกซุนยังคงโจมตีซงหยงไปอีกช่วงระยะหนึ่งก่อนจะล่าถอยในภายหลังเช่นกัน

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

ยุทธการนี้ปรากฏในฐานะด่านที่เล่นได้ในซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ ยุทธการนี้ในเกมรู้จักในชื่อ "ยุทธการที่ปราสาทหับป๋า" ระวังสับสนกับอีกด่านหนึ่ง (ยุทธการที่หับป๋า) ที่กล่าวถึงในชื่อยุทธการที่ท่าข้ามเสียวเกียว

อ้างอิง[แก้]

  1. (青龍中,吳圍合肥,時東方吏士皆分休,征東將軍滿寵表請中軍兵,并召休將士,須集擊之。劭議以為「賊眾新至,心專氣銳。寵以少人自戰其地,若便進擊,不必能制。寵求待兵,未有所失也。以為可先遣步兵五千,精騎三千,軍前發,揚聲進道,震曜形勢。騎到合肥,疏其行隊,多其旌鼓,曜兵城下,引出賊後,擬其歸路,要其糧道。賊聞大軍來,騎斷其後,必震怖遁走,不戰自破賊矣。」帝從之。兵比至合肥,賊果退還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 21)

บรรณานุกรม[แก้]