การบุกเลียวตั๋งของสุมาอี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบุกเลียวตั๋งของสุมาอี้
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก

อาณาเขตที่ปกครองโดยตระกูลกองซุน (สีเขียวอ่อน)
วันที่มิถุนายน – 29 กันยายน ค.ศ. 238
สถานที่
ผล วุยก๊กชนะอย่างเด็ดขาด รัฐเอียนล่มสลาย
คู่สงคราม
วุยก๊ก
เซียนเปย์มู่หรง
อาณาจักรโคกูรยอ
รัฐเอียน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สุมาอี้
บู๊ขิวเขียม
อ้าวจุ๋น
หลิว ซิน
เซียนยฺหวี ซื่อ
มู่หรง มั่วฮู่ป๋า
นายทหารอาณาจักรโคกูรยอ
กองซุนเอี๋ยน 
ปีเอี๋ยน Surrendered
เอียวจอ Surrendered
กำลัง
วุยก๊ก: 40,000[1]
โคกูรยอ: หลายพัน[2]
หลายหมื่นนาย มากกว่าฝ่ายวุยก๊ก[3]

การบุกเลียวตั๋งของสุมาอี้ หรือ การพิชิตรัฐเอียนของวุยก๊ก (จีน: 魏滅燕之戰; พินอิน: Wèi miè Yàn zhī zhàn) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 238 ในยุคสามก๊กของประวัติศาสตร์จีน สุมาอี้ขุนพลของรัฐวุยก๊กนำทัพจำนวน 40,000 นายโจมตีขุนศึกกองซุนเอี๋ยนซึ่งปกครองตระกูลที่เป็นอิสระจากราชสำนักมาถึง 3 ชั่วอายุคนในอาณาบริเวณทางตะวันออกเฉียงเหนือของเลียวตั๋ง (遼東郡 เหลียวตงจฺวิ้น; ปัจจุบันคือทางตะวันออกของมณฑลเหลียวหนิง) หลังจากปิดล้อมนาน 3 เดือน ฐานที่มั่นของกองซุนเอี๋ยนก็เสียแก่สุมาอี้ด้วยความช่วยเหลือจากอาณาจักรโคกูรยอ (หนึ่งในสามราชอาณาจักรเกาหลี) ข้าราชการของรัฐเอียนหลายคนถูกสังหารหมู่ นอกเหนือไปจากการกำจัดอริของวุยก๊กทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว การได้เลียวตั๋งจากการทำศึกสำเร็จยังเป็นผลทำให้วุยก๊กได้ติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นในแมนจูเรีย คาบสมุทรเกาหลี และหมู่เกาะญี่ปุ่น ในทางกลับกัน สงครามและนโยบายการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางที่ตามมาทำให้อำนาจในการปกครองอาณาบริเวณนี้ลดน้อยลง ทำให้รัฐของกลุ่มชาติพันธ์ุที่ไม่ใช่ชาวฮั่นก่อตัวขึ้นในพื่นที่นี้ในหลายศตวรรษให้หลัง

ภูมิหลัง[แก้]

เมืองเลียวตั๋งในมณฑลอิวจิ๋วเป็นส่วนหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนในปัจจุบัน ตั้งอยู่สุดขอบด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจักรวรรดิราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ล้อมรอบด้วยชนเผ่าเร่ร่อนออหวนและเซียนเปย์ทางเหนือ กับชาวโคกูรยอและพูยอทางตะวันออก มีนครหลวงคือเซียงเป๋ง (襄平 เซียงผิง) ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 189 กงซุน ตู้ (公孫度) ชาวเมืองเลียวตั๋งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเลียวตั๋ง (遼東太守 เหลียวตงไท่โฉ่ว) และจึงเริ่มต้นการปกครองของตระกูลกองซุน (公孫 กงซุน) ในภูมิภาคนี้ กงซุน ตู้ใช้ประโยชน์จากการที่เลียวตั๋งอยู่ห่างจากภาคกลางของจีน อยู่ห่างจากความวุ่นวายที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดอำนาจปกครองของราชวงศ์ฮั่น แล้วขยายอาณาเขตของตนไปถึงเมืองเล่อล่าง (樂浪郡 เล่อล่างจฺวิ้น) และเสฺวียนถู (玄菟郡 เสฺวียนถูจฺวิ้น) และในที่สุดก็ตั้งตนเป็นโหวแห่งเลียวตั๋ง (遼東侯 เหลียวตงโหว)[4] บุตรชายของกงซุน ตู้ชื่อกองซุนของได้สืบทอดอำนาจของบิดาในปี ค.ศ. 204 ก่อตั้งเมืองไต้ฟาง (帶方郡 ไต้ฟางจฺวิ้น) และยังคงรักษาอำนาจในเลียวตั๋งโดยการอ่อนน้อมต่อขุนศึกโจโฉ[5] กองซุนของเสียชีวิตในช่วงที่พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชบัลลังก์ให้โจผีบุตรชายของโจโฉ กองซุนก๋งน้องชายของกองซุนของขึ้นเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของเลียวตั๋ง กองซุนก๋งถูกระบุว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถ และในเวลาไม่นานก็ถูกกองซุนเอี๋ยนบุตรชายคนที่สองของกองซุนของโค่นอำนาจและถูกจับไปขังคุกในปี ค.ศ. 228[6]

ไม่นานหลังจากกองซุนเอี๋ยนขึ้นมามีอำนาจในเลียวตั๋ง แผ่นดินจีนส่วนใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนได้แก่ วุยก๊กทางเหนือ จ๊กก๊กทางตะวันตกเฉียงใต้ และง่อก๊กทางตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้ความกังวลหลักของเลียวตั๋งคือวุยก๊กซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดจะบุกเลียวตั๋งเพื่อตอบโต้การเถลิงอำนาจของกองซุนเอี๋ยน[6] ในสถานการณ์เช่นนี้เอง ซุนกวนเจ้าผู้ปกครองง่อก๊กก็พยายามจะเกลี้ยกล่อมให้กองซุนเอี๋ยนมาเข้าร่วมเพื่อสร้างแนวรบสองด้านต่อวุยก๊ก ทูตหลายคนเดินทางจากง่อก๊กไปยังเลียวตั๋งโดยข้ามทะเลเหลืองอย่างยากลำบาก ในที่สุดวุยก๊กก็ล่วงรู้เรื่องการส่งทูตของง่อก๊กจึงไปสกัดไว้ได้สำเร็จครั้งหนึ่งที่เฉิงชาน (成山) ที่ปลายคาบสมุทรเลียวตั๋ง แต่กองซุนเอี๋ยนก็ได้ตกลงเข้าร่วมกับซุนกวนแล้ว[7] เมื่อซุนกวนได้รับการยืนยันการเข้าร่วมของกองซุนเอี๋ยนก็มีความยินดี จึงส่งทูตอีกกลุ่มไปในปี ค.ศ. 223 เพื่อแต่งตั้งให้กองซุนเอี๋ยนเป็นเอียนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) และพระราชทานเครื่องยศต่าง ๆ โดยขอแลกเปลี่ยนกับม้าศึก อย่างไรก็ตาม ภายหลังกองซุนเอี๋ยนเปลี่ยนใจเรื่องที่เป็นพันธมิตรกับรัฐที่ห่างไกลข้ามทะเลและเรื่องที่เป็นศัตรูกับรัฐใกล้เคียงที่ทรงอำนาจ เมื่อทูตของง่อก๊กมาถึง กองซุนเอี๋ยนจึงยึดทรัพย์สินที่ทูตนำมาและสังหารเหล่าทูตผู้นำ แล้วส่งศีรษะของเหล่าทูตกับทรัพย์สินบางส่วนไปยังราชสำนักวุยก๊กเพื่อให้วุยก๊กเชื่อถือ[8] บางคนในคณะทูตของง่อก๊กรอดพ้นจากการสังหารหมู่และได้พบกับพันธมิตรผู้แข็งแกร่งทางตะวันออกของเลียวตั๋งคือรัฐโคกูรยอ

โคกูรยอเป็นอริกับตระกูลกองซุนมาตั้งแต่ยุคของกงซุน ตู้ โดยเฉพาะเมื่อหลังจากกองซุนของเข้าไปก้าวก่ายในเรื่องปัญหาการสืบราชบัลลังก์หลังจากพระเจ้าโคกุกช็อนสวรรคต แม้ว่าผู้อ้างสิทธิ์เป็นรัชทายาทของโคกูรยอที่กองซุนของสนับสนุนในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อพระเจ้าซันซัง แต่โคกูรยอก็ต้องย้ายนครหลวงไปยังป้อมปราการภูเขาฮวันโดซึ่งอยู่ในนครจี๋อาน มณฑลจี๋หลิน ริมแม่น้ำยาลฺวี่ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันตนจากกองซุนของได้ดีขึ้น[9] ดังนั้นเมื่อคณะทูตของง่อก๊กมายังโคกูรยอเพื่อลี้ภัย พระเจ้าทงช็อนจึงทรงยินดีที่จะช่วยเหลือง่อก๊กซึ่งกลายเป็นอริฝ่ายใหม่ของเลียวตั๋ง พระเจ้าทงช็อนส่งคน 25 คนช่วยคุ้มกันคณะทูตกลับไปยังง่อก๊กพร้อมด้วยขนเพียงพอนและขนเหยี่ยวเป็นเครื่องบรรณาการ ทำให้ซุนกวนส่งคณะทูตอย่างเป็นทางการไปยังโคกูรยอเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองรัฐ วุยก๊กไม่ต้องการให้ง่อก๊กกลับมามีฐานที่มั่นทางการทูตในภาคเหนือ วุยก๊กจึงสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับโคกูรยอโดยผ่านหวาง สฺยง (王雄) ผู้เป็นข้าหลวงมณฑลอิวจิ๋ว (幽州刺史 โยวโจวชื่อฉื่อ)[10] พระเจ้าทงช็อนจึงกลับเปลี่ยนพระทัยโดยเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตจากที่ทำกับง่อก๊กไปทำกับวุยก๊ก ซึ่งน่าจะด้วยเหตุผลเดียวกันกับกองซุนเอี๋ยน เมื่อคณะทูตของง่อก๊กมาถึงโคกูรยอในปี ค.ศ. 236 ก็ถูกประหารชีวิตและถูกส่งศีรษะไปให้บู๊ขิวเขียมที่เป็นข้าหลวงมณฑลอิวจิ๋วคนใหม่ ในปี ค.ศ. 238 โคกูรยอได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของวุยก๊กในการรบกับกองซุนเอี๋ยน[11]

โหมโรง[แก้]

แม้ว่ากองซุนเอี๋ยนจะเป็นรัฐประเทศราชในนามของวุยก๊ก แต่การลอบติดต่อกับง่อก๊กในชั่วระยะเวลาหนึ่งกับการกล้าวิจารณ์วุยก๊กในทางเสียหายทำให้กองซุนเอี๋ยนขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ จากมุมมองของวุยก๊กแล้ว แม้ว่ากบฏชนเผ่าเซียนเปย์ที่นำโดยห่อปีจะเพิ่งถูกกำราบลงไม่นาน ฐานะของเลียวตั๋งในฐานะเขตกันชนต่อต้านการรุกรานของอนารยชนก็ควรทำให้ชัดเจน[12] วุยก๊กจึงไม่ยอมรับว่ากองซุนเอี๋ยนผู้นำของเลียวตั๋งจะภักดีต่อวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 237 บู๊ขิวเขียมเสนอแผนการบุกเลียวตั๋งไปยังราชสำนักวุยก๊กและนำแผนไปสู่การปฏิบัติ บู๊ขิวเขียมนำกองกำลังมณฑลอิวจิ๋วพร้อมด้วยกองกำลังเสริมของชนเผ่าออหวนและเซียนเปย์ข้ามไปยังฟากตะวันออกของแม่น้ำเหลียวเข้าไปยังอาณาเขตของกองซุนเอี๋ยนและปะทะเข้ากับกองกำลังของกองซุนเอี๋ยนที่เลียวซุน (遼隧 เหลียวซุ่ย; ใกล้กับนครไห่เฉิง มณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบัน) ทัพของวุยก๊กประสบความพ่ายแพ้ที่เลียวซุนและจำต้องล่าถอยเพราะน้ำท่วมที่เกิดจากฤดูมรสุมฤดูร้อน[13]

หลังจากกองซุนเอี๋ยนตีทัพวุยก๊กจนแตกพ่ายก็เห็นว่าตนมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ กองซุนเอี๋ยนทำเรื่องหลายเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง นั่นคือกองซุนเอี๋ยนถวายฎีกาถึงราชสำนักวุยก๊กด้วยความหวังว่าจะได้รับอภัยโทษ แต่ขณะเดียวกันก็ประกาศตั้งตนเป็นอิสระจากวุยก๊กโดยการตั้งตนเป็นเอียนอ๋อง และยังประกาศชื่อศักราชของรัชสมัยตนเองว่า เช่าฮั่น (紹漢) ซึ่งมีความหมายว่า "สืบต่อจากราชวงศ์ฮั่น" การกระทำเหล่านี้เป็นปัญหาต่อการพยายามสร้างสันติของตัวกองซุนเอี๋ยนเองด้วยเหตุผล 2 ข้อ ข้อแรก การประกาศชื่อศักราชเป็นการกระทำที่สงวนไว้สำหรับจักรพรรดิ ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจของกองซุนเอี๋ยนที่จะอ้างสิทธิ์ในตำแหน่งจักรพรรดิ ข้อที่สอง ชื่อศักราชบอกเป็นนัยว่าเป็นการสืบทอดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่นของวุยก๊กเป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม กองซุนเอี๋ยนในฐานะอ๋องของรัฐเอียนพยายามจะโน้มน้าวชนเผ่าเซียนเปย์ให้เข้าโจมตีวุยก๊ก โดยการเสนอตำแหน่งตันอู (單于 ฉาน-ยฺหวี) ให้กับหัวหน้าคนหนึ่งของชนเผ่าเซียนเปย์ แต่ชนเผ่าเซียนเปย์ยังคงบอบช้ำจากการเสียชีวิตของห่อปี เหล่าหัวหน้าชนเผ่าจึงยังวุ่นกับข้อพิพาทภายในเกินกว่าที่เข้าโจมตีวุยก๊กขนานใหญ่[14]

ในปี ค.ศ. 238 ราชสำนักวุยก๊กเรียกตัวสุมาอี้ผู้เป็นเสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์) เพื่อให้นำทัพไปรบกับกองซุนเอี๋ยนอีกครั้ง ก่อนหน้านี้สุมาอี้ได้รับมอบหมายให้ป้องกันชายแดนด้านตะวันตกของวุยก๊กจากการบุกขึ้นเหนือของรัฐจ๊กก๊กที่นำโดยจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊ก ดังนั้นภายหลังจากจูกัดเหลียงเสียชีวิตในปี ค.ศ. 234 ราขสำนักวุยก๊กจึงสามารถส่งสุมาอี้ไปยังแนวรบอื่นได้[1] ในการหารือของราชสำนักก่อนยกทัพ โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กตัดสินพระทัยว่าสุมาอี้ควรนำกำลังพล 40,000 นายสำหรับการบุกเลียวตั๋ง ขุนนางที่ปรึกษาบางคนเห็นว่าจำนวนกำลังพลมากเกินไป แต่โจยอยไม่ยอมรับความเห็นโดยตรัสว่า "ในการบุกครั้งนี้มีระยะทาง 4,000 ลี้ จะต้องใช้กองกำลังที่เคลื่อนได้เร็วและใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด เราไม่ควรใส่ใจเรื่องทุนทรัพย์แต่อย่างใด"[15] จากนั้นจักรพรรดิโจยอยตรัสขอให้สุมาอี้ประเมินปฏิกิริยาที่เป็นไปได้ของกองซุนเอี๋ยน และระยะเวลาที่น่าจะใช้ในการทำศึก สุมาอี้ทูลตอบว่า:

การทิ้งเมืองหนีไปจะเป็นแผนที่ดีที่สุดของกองซุนเอี๋ยน การรักษาตำแหน่งเดิมในเลียวตั๋งและต่อต้านทัพใหญ่ของเราจะเป็นแผนที่ดีรองลงมา แต่หากกองซุนเอี๋ยนอยู่รักษาเซียงเป๋ง (襄平 เซียงผิง; นครหลวงของเลียวตั๋ง ปัจจุบันคือนครเหลียวหยาง) จะต้องถูกจับเป็นแน่... มีเพียงผู้มีสติปัญญาที่จะสามารถเทียบกำลังของตนและของข้าศึก และยอมเสียสละบางสิ่งไว้ก่อน แต่นี่เป็นสิ่งที่กองซุนเอี๋ยนทำไม่ได้ ในทางกลับกัน กองซุนเอี๋ยนจะคิดว่าทัพของเราที่โดดเดี่ยวและเดินทางไกลคงจะไม่สามารถอยู่ได้นาน กองซุนเอี๋ยนจะต้องดำเนินการป้องกันแม่น้ำเหลียวไว้ก่อนและเข้ารักษาเซียงเป๋งในภายหลัง... การเดินทางไปเราจะใช้เวลาร้อยวัน โจมตีใช้เวลาอีกร้อยวัน เดินทางกลับใช้เวลาอีกร้อยวัน และใช้เวลาพักผ่อนหกสิบวัน รวมแล้วเวลาหนึ่งปีก็เพียงพอ[16][17]

เมื่อสุมาอี้ยกทัพออกจากลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก โจยอยเสด็จออกมาส่งสุมาอี้ด้วยพระองค์เองที่ประตูซีหมิง (西明門 ซิหมิงเหมิน) ของนครลกเอี๋ยง พระองค์มีรับสั่งให้สุมาหูน้องชายของสุมาอี้และสุมาสูบุตรชายของสุมาอี้รวมถึงขุนนางคนอื่น ๆ เข้าร่วมในพิธีการส่งสุมาอี้ สุมาอี้นำทหารราบและทหารม้ารวม 40,000 นาย ติดตามมาด้วยรองแม่ทัพคืองิวขิ้มและอ้าวจุ๋น (胡遵 หู จุน)[18][19] ภายหลังได้รวมกองกำลังกับทัพของบู๊ขิวเขียมในมณฑลอิวจิ๋ว[20] รวมไปถึงกองกำลังเสริมของชนเผ่าเซียนเปย์นำโดยมั่วฮู่ป๋า (莫護跋) บรรพบุรุษของตระกูลมู่หรง[21]

เมื่อกองซุนเอี๋ยนทราบข่าวว่าวุยก๊กกำลังเตรียมการยกมารบกับตนอีกครั้ง กองซุนเอี๋ยนจึงส่งทูตไปยังราชสำนักง่อก๊กเพื่อขออภัยเรื่องที่ตนหักหลังง่อก๊กในปี ค.ศ. 233 และขอความช่วยเหลือจากซุนกวน ตอนแรกซุนกวนตั้งพระทัยจะสั่งประหารทูตของกองซุนเอี๋ยน แต่หยาง เต้า (羊衜) ทูลเสนอให้แสดงแสนยานุภาพของกองทัพง่อก๊ก และอาจฉวยโอกาสมาได้หากสุมาอี้และกองซุนเอี๋ยนอยู่ในภาวะคุมเชิงกัน โจยอยทรงวิตกเกี่ยวกับกำลังเสริมจากง่อก๊ก แต่เจียวเจ้ขุนนางที่ปรึกษามองเจตนาของซุนกวนออกและทูลเตือนโจยอยว่าซุนกวนอาจจะไม่เสี่ยงโจมตีลึกเข้าไปในเวลานี้ แต่ทัพเรือง่อก๊กจะขึ้นบกบุกโจมตีเลียวตั๋งหากสุมาอี้ไม่ปราบกองซุนเอี๋ยนได้ทันกาล[22]

การทัพ[แก้]

ทัพวุยก๊กนำโดยสุมาอี้มาถึงริมฝั่งแม่น้ำเหลียวในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 238 กองซุนเอี๋ยนจึงส่งปีเอี๋ยน (卑衍 เปย์ เหยี่ยน) และเอียวจอ (楊祚 หยาง จั้ว) คุมทัพหลักของเลียวตั๋งไปตั้งค่ายอยู่ที่เลียวซุน ตำแหน่งเดียวก็ที่เคยเอาชนะบู๊ขิวเขียมมาก่อน ค่ายของทัพเลียวตั๋งที่เลียวซุนมีกำแพงกั้นยาว 20 ลี้ ตั้งแต่เหนือจรดใต้[23][24] เหล่าขุนพลของวุยก๊กต้องการโจมตีเลียวซุน แต่สุมาอี้กล่าวด้วยเหตุผลว่าการโจมตีค่ายที่เลียวซุนมีแต่บั่นทอนกำลังทหารของวุยก๊ก ในทางกลับกัน ในเมื่อกำลังทหารของเลียวตั๋งส่วนใหญ่มาอยู่ที่เลียวซุน แสดงว่าฐานที่มั่นของกองซุนเอี๋ยนที่เซียงเป๋งจะต้องแทบจะว่างเปล่า ทัพวุยก๊กก็จะสามารถเข้ายึดได้โดยง่าย สุมาอี้จึงส่งอ้าวจุ๋นเคลื่อนกำลังไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปักธงทิวทำเหมือนกับว่ากองกำลังหลักของทัพวุยก๊กอยู่ในทิศทางนั้น[25] ปีเอี๋ยนและทหารใต้บังคับบัญชาจึงรีบยกไปทางทิศใต้ อ้าวจุ๋นหลังจากล่อให้ข้าศึกยกมาแล้วก็ข้ามแม่น้ำฝ่าแนวรบของปีเอี๋ยนไป[1] ขณะเดียวกัน สุมาอี้ลอบนำทัพหลักของวุยก๊กข้ามแม่น้ำเหลียวไปทางเหนือ หลังจากข้ามมาได้ก็สั่งให้เผาสะพานและเรือ สร้างเครื่องกีดขวางยาวตลอดลำน้ำ จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังเซียงเป๋ง[26] ปีเอี๋ยนตระหนักได้ถึงกลลวงจึงนำทหารรีบยกกลับมาในเวลากลางคืนและมุ่งหน้าไปทางเหนือเพื่อสกัดทัพของสุมาอี้ ปีเอี๋ยนไล่ตามสุมาอี้ทันที่เขาซิวสาน (首山 โฉ่วชาน) ภูเขาทางตะวันตกของเซียงเป๋ง ปีเอี๋ยนได้รับคำสั่งจากกองซุนเอี๋ยนให้สู้ตาย สุมาอี้ได้ชัยอย่างงดงามต่อกองกำลังของปีเอี๋ยนและบุกต่อเข้าเข้าล้อมเซียงเป๋ง[27]

เมื่อล่วงเข้าเดือนกรกฎาคมก็ปรากฏมรสุมฤดูร้อนซึ่งเคยขัดขวางการทัพของบู๊ขิวเขียมเมื่อปีก่อน ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือนถึงขั้นที่เรือสามารถแล่นไปตามความยาวของแม่น้ำเหลียวที่ท่วมท้นจากปากแม่น้ำที่อ่าวเลียวตั๋งขึ้นมาถึงกำแพงเมืองเซียงเป๋ง แม้ว่าน้ำจะท่วมสูงหลายฟุตจากระดับพื้น แต่สุมาอี้ก็ยังตั้งมั่นรักษาการปิดล้อมไว้ แม้จะมีการทัดทานจากเหล่านายทหารที่เสนอให้ย้ายที่ตั้งค่าย สุมาอี้ประหารชีวิตจาง จิ้ง (張靜) นายทหารผู้หยิบยกประเด็นนี้มาพูดซ้ำ ๆ นายทหารที่เหลือจึงไม่กล้าปริปากอีก การปิดล้อมของฝ่ายวุยก๊กไม่สมบูรณ์เนื่องจากน้ำท่วม ฝ่ายเลียวตั๋งใช้สถานการณ์น้ำท่วมให้เป็นประโยชน์ในการแล่นเรือออกไปหาอาหารมาเลี้ยงสัตว์ สุมาอี้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้เหล่าขุนพลไล่ตามคนหาอาหารและคนเลี้ยงสัตว์ที่ออกมาจากเซียงเป๋ง[28] โดยกล่าวว่า:

บัดนี้พวกกบฏมีมากและพวกเรามีน้อย พวกกบฏหิวโหยแต่พวกเรากินอิ่ม ด้วยสถานการณ์เสบียงและน้ำท่วมเช่นนี้ เราไม่สามารถลงแรงใด ๆ ได้ แม้ว่าเราจะไปชิงเสบียงจากข้าศึกมาจะได้ประโยชน์อะไร ตั้งแต่ข้าจากนครหลวงมา ข้าไม่ต้องกังวลว่าพวกกบฏจะโจมตีเรา เกรงก็แต่พวกกบฏจะหลบหนีไป บัดนี้พวกบฏเสบียงใกล้ถึงขีดจำกัดแล้ว การปิดล้อมของเราก็ไม่สมบูรณ์ หากเราปล้นวัวและม้าหรือจับตัวผู้รวบรวมเชื้อเพลิงก็มีแต่จะเป็นบีบให้พวกกบฏหลบหนีไปเท่านั้น สงครามเป็นศิลปะแห่งลวง เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี พวกกบฏที่หิวโหยและยากลำบากอาศัยความเหนือกว่าด้านจำนวนและความช่วยเหลือจากฝนจึงไม่มีใจจะยอมจำนน เราต้องแสดงออกว่าฝ่ายเราไร้ความสามารถเพื่อทำให้พวกกบฏตายใจ การทำให้พวกกบฏระแวดระวังโดยการช่วงชิงประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่แผนที่ดี[29][30]

ขุนนางในราชสำนักวุยก๊กที่ลกเอี๋ยงก็รู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้่ำท่วม และทูลเสนอให้เรียกตัวสุมาอี้กลับ โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กมั่นพระทัยในความสามารถของสุมาอี้จึงทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว[31] ในช่วงเวลานั้น กษัตริย์แห่งโคกูรยอได้ส่งขุนนาง (大加, แทคา) และนายทะเบียน (主簿, ชูบู) ของราชสำนักโคกูรยอพร้อมด้วยทหารหลายพันนายมาสนับสนุนสุมาอี้[32]

เมื่อฝนหยุดตกและน้ำท่วมลดระดับลงไปหมดแล้ว สุมาอี้จึงเร่งการปิดล้อมเซียงเป๋งให้เสร็จสมบูรณ์ การปิดล้อมเซียงเป๋งดำเนินไปทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้ทั้งการขุดอุโมงค์ บันไดเกี่ยว รถกระทุ้งประตู และเนินดินเทียมสำหรับหอรบและเครื่องยิงก้อนหินเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการล้อม[21][33][34] ความรวดเร็วของการปิดล้อมทำให้ฝ่ายเลียวตั๋งไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากฝ่ายเลียวตั๋งได้เสบียงอย่างง่ายดายในช่วงน้ำท่วมจึงไม่มีความพยายามจะสะสมเสบียงในเซียงเป๋งอย่างจริงจัง เป็นผลทำให้เกิดทุพภิกขภัยและการกินพวกเดียวกันเองในเมือง ขุนพลของเลียวตั๋งหลายคนอย่างเช่นเอียวจอยอมจำนนต่อสุมาอี้ในระหว่างการล้อม

ในวันที่ 3 กันยายน มีการพบเห็นดาวหางดวงหนึ่งปรากฏบนท้องฟ้าเหนือเมืองเซียงเป๋ง และถูกตีความว่าเป็นลางร้ายสำหรับฝ่ายเลียวตั๋ง กองซุนเอี๋ยนรู้สึกหวาดกลัวจึงส่งอองเกี๋ยน (王建 หวาง เจี้ยน) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐ และลิวฮู (柳甫 หลิว ฝู่) ผู้เป็นขุนนางที่ปรึกษา ให้ไปเจรจาขอยอมจำนน โดยให้คำมั่นว่าจะออกมาพบสุมาอี้ด้วยตนเองเมื่อทัพวุยก๊กยกเลิกการล้อม สุมาอี้ระแวงเรื่องที่กองซุนเอี๋ยนเคยกลับกลอกตีสองหน้าในอดีต จึงสั่งประหารชีวิตอองเกี๋ยนและลิวฮู สุมาอี้อธิบายสิ่งที่ตนกระทำในข้อความที่ส่งถึงกองซุนเอี๋ยนว่าตนไม่ต้องการอะไรนอกเหนือไปจากการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขและ "สองคนที่ท่านส่งมาเป็นคนโง่เขลาที่ถ่ายทอดเจตนาของท่านไม่สำเร็จ ข้าประหารทั้งคู่แทนท่านไปแล้ว แต่หากท่านยังมีเรื่องที่อยากจะกล่าว ก็จงส่งคนหนุุ่มผู้มีสติปัญญาและเที่ยงตรงมาหาข้า"[35] เมื่อกองซุนเอี๋ยนส่งโอยเอี๋ยน (衛演 เว่ย์ เหยี่ยน) ไปเจรจาอีกรอบ ครั้งนี้ได้เสนอขอส่งตัวประกันไปยังราชสำนักวุยก๊ก สุมาอี้ขับไล่โอยเอี๋ยนที่เป็นทูตคนสุดท้ายกลับไปเพราะเห็นว่าเสียเวลาเปล่าโดยกล่าวว่า "บัดนี้ท่านไม่ยอมจะถูกมัด ท่านตั้งใจจะมุ่งสู่ความตาย ก็ไม่จำเป็นต้องส่งตัวประกันคนใด ๆ มาอีก"[36][37] เป็นที่แน่ชัดว่าข้อเสนอก่อนหน้านี้ของสุมาอี้ที่ให้มีการเจรจาเพิ่มเติมไม่เป็นอะไรไปมากกว่าการมุ่งร้ายที่มอบความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ให้กองซุนเอี๋ยน ในขณะเดียวกันการล้อมที่ยืดเวลาออกไปก็ทำให้สถานการณ์ของเสบียงในเมืองเซียงเป๋งยิ่งวิกฤติ[38]

ในวันที่ 29 กันยายน ทัพวุยก๊กยึดเมืองเซียงเป๋งได้ กองซุนเอี๋ยนและบุตรชายคือกองซุนสิว (公孫脩 กงซุน ซิว) นำทหารม้าหลายร้อยนายตีฝ่าวงล้อมและหนีไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ทัพหลักของวุยก๊กไล่ตามและสังหารทั้งพ่อลูกที่แม่น้ำเหลียง (梁水 เหลียงฉุ่ย; ปัจจุบันคือแม่น้ำไท่จื่อ)[39] ศีรษะของกองซุนเอี๋ยนถูกตัดและส่งไปที่ลกเอี๋ยงเพื่อวางประจาน กองเรือของวุยก๊กที่แยกออกมานำโดยหลิว ซิน (劉昕) และเซียนยฺหวี ซื่อ (鮮于嗣) ถูกส่งไปโจมตีเมืองเล่อล่างและไต้ฟางทางทะเล ในเวลานั้นรัฐของกองซุนเอี๋ยนแห่งเลียวตั๋งก็ถูกกำราบลงทั้งหมด[40]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

เมื่อเข้ามาในเมืองเซียงเป๋ง สุมาอี้ให้รวบรวมทุกคนที่รับราชการในกองทัพและสำนักของกองซุนเอี๋ยน ทุกคนที่มีตำแหน่งราชการภายใต้ระบอบกบฏของกองซุนเอี๋ยนมีจำนวน 1,000 ถึง 2,000 คนล้วนถูกประหารชีวิต ยังมีผู้คนอีก 7,000 คนที่อายุ 14 ปีขึ้นไปที่เคยรับราชการทหารในทัพเลียวตั๋งที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ศพทั้งหมดกองรวมกันเป็นเนินขนาดใหญ่เพื่อข่มขู่ผู้ที่ยังรอดชีวิต[41][42] หลังการสังหารหมู่ สุมาอี้นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่รอดชีวิต กู้ฐานะย้อนหลังให้กับลุนติด (倫直 หลุน จื๋อ) และแก่หวน (賈範 เจี่ย ฟ่าน) — ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของกองซุนเอี๋ยนสองคนที่ทัดทานการทำสงครามกับวุยก๊ก — และปล่อยตัวกองซุนก๋งออกจากคุก[43][44] ท้ายที่สุดสุมาอี้ก็ให้ทหารที่อายุมากกว่า 59 ปีจำนวนมากกว่าพันนายได้ปลดประจำการจากกองทัพวุยก๊กด้วยความเห็นอกเห็นใจ จากนั้นจึงยกทัพเดินทางกลับ[45][46]

เวลานั้นเป็นช่วงฤดูหนาว ทหารจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากความหนาวเย็นและต้องการเสื้อผ้าเพิ่มเติ่มเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น มีบางคนชี้ให้เห็นว่ามีเสื้อหรู () ส่วนเกินอยู่และแนะนำให้แจกจ่ายให้กับเหล่าทหาร สุมาอี้ปฏิเสธโดยกล่าวว่าเสื้อหรูเป็นทรัพย์สินของราชสำนักวุยก๊ก ไม่ควรแจกจ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต[47]

แม้ว่าสุมาอี้จะได้รับ 40,000 ครัวเรือนและ 300,000 คนมามอบให้รัฐวุยก๊กจากการบุกไปรบที่เลียวตั๋ง[48][49] สุมาอี้ก็ไม่ได้บังคับผู้ตั้งถิ่นฐานในชายแดนเหล่านี้จากการดำรงชีพต่อใปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และสั่งให้อนุญาตครอบครัวที่ต้องการกลับไปภาคกลางของจีนให้กลับไปได้ตามต้องการ ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 239 ทัพเรือง่อก๊กบัญชาการโดยซุน อี๋ (孫怡) และหยาง เต้าเอาชนะกองกำลังของวุยก๊กได้ทางตอนใต้ของเลียวตั๋ง ทำให้ราชสำนักวุยก๊กต้องอพยพราษฎรที่ตั้งถิ่นฐานชายฝั่งไปยังซัวตั๋ง (山東 ชานตง) ซึ่งเร่งการลดลงของประชากรในเลียวตั๋งให้เร็วขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มั่วฮู่ป๋าประมุขชนเผ่าเซียนเปย์ได้รับบำเหน็จจากความชอบที่มีส่วนร่วมในการทำศึกกับกองซุนเอี๋ยน และคนของมั่วฮู่ป๋าก็ได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของเลียวตั๋ง ในช่วงต้นของยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265-316) จำนวนชาวจีนฮั่นที่ตั่งถิ่นฐานในเลียวตั๋งลดลงเหลือเพียง 5,400 ครัวเรือน[50] หลังการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก อำนาจปกครองเลียวตั๋งตกเป็นของรัฐเยียนแรก (ค.ศ. 337-370) ซึ่งก่อตั้งโดยทายาทของมั่วฮู่ป๋า และจากนั้นจึงตกเป็นของอาณาจักรโคกูรยอ เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เลียวตั๋งหลุดออกจากการควบคุมของชาวจีนฮั่น ส่วนหนึ่งเนื่องจากการมีชาวจีนฮั่นอาศัยอยู่น้อยอันเป็นผลมาจากนโยบายที่สุมาอี้และราชสำนักวุยก๊กนำมาใช้กับเลียวตั๋งภายหลังการล่มสลายของตระกูลกองซุน[51]

ในขณะเดียวกัน การกำจัดรัฐเอียนได้ช่วยขจัดสิ่งกีดขวางระหว่างภาคกลางของจีนกับคนจากดินแดนที่อยู่ไกลไปทางตะวันออก ในช่วงต้นปี ค.ศ. 239 คณะเดินทางจากดินแดนวะภายใต้การปกครองของราชินีฮิมิโกะมาถึงราชสำนักวุยก๊กเป็นครั้งแรก[52] ด้านอาณาจักรโคกูรยอในไม่ช้าก็ตระหนักว่าการกำจัดรัฐเอียนเป็นเพียงการถูกแทนที่ด้วยรัฐใกล้เคียงที่แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงปี ค.ศ. 242 ความเป็นพันธมิตรระหว่างอาณาจักรโคกูรยอและวุยก๊กก็สิ้นสุดลงเมื่อโคกูรยอยั่วโทสะวุยก๊กโดยการโจมตีฐานที่มั่นของชาวจีนฮั่นในเมืองเลียวตั๋งและเสฺวียนถู และตามมาด้วยสงครามโคกูรยอ-วุยก๊กในปี ค.ศ. 244 หลังการทัพสองครั้งวุยก๊กก็ทำลายล้างโคกูรยอถึงขั้นที่โคกูรยอต้องใช้เวลาถึงครึ่งศตวรรษในการฟื้นตัว[53] ชัยชนะของวุยก๊กทำให้ชาวจีนฮั่นสามารถกลับมาสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับอาณาจักรพูยอได้[54] การพัฒนาเหล่านี้่เกิดขึ้นหลังจากสุมาอี้พิชิตเลียวตั๋งได้ไม่นาน ซึ่งในแง่หนึ่งถือเป็นก้าวแรกในการฟื้นอิทธิพลของชาวจีนฮั่นในตะวันออกไกลในเวลานั้น[54]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

การทัพเลียวตั๋งปรากฏเป็นฉากที่เล่นได้ในภาคที่ 7 ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอในเนื้อเรื่องของราชวงศ์จิ้นที่เพิ่งเปิดตัวในภาคนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Gardiner (1972B), p. 168
  2. Gardiner (1972B), p. 165
  3. Fang, pp. 573, 591 note 12.2
  4. Gardiner (1972A), pp. 64-77
  5. Gardiner (1972A), p. 91
  6. 6.0 6.1 Gardiner (1972B), p. 147
  7. Gardiner (1972B), pp. 151-152
  8. Gardiner (1972B), p. 154
  9. Lee, Peter; Hugh, G. H.; Choe, Yongho (2013). Introduction to Asian civilizations: Sources of Korean Tradition: Volume One: From Early Times Through the Sixteenth Century. Columbia University Press. p. 30-32.
  10. Gardiner (1972B), p. 162
  11. Hong, Wontack (2006). Korea and Japan in East Asian History: A Tripolar Approach to East Asian History. China: Kudara International. p. 77.
  12. Gardiner (1972B), p. 149
  13. Gardiner (1972B), p. 166
  14. Gardiner (1972B), p. 167
  15. Fang, p. 569
  16. Fang, pp. 569-570
  17. (天子曰:「此不足以勞君,事欲必克,故以相煩耳。君度其作何計?」對曰:「棄城預走,上計也。據遼水以距大軍,次計也。坐守襄平,此成擒耳。」天子曰:「其計將安出?」對曰:「惟明者能深度彼己,豫有所棄,此非其所及也。今懸軍遠征,將謂不能持久,必先距遼水而後守,此中下計也。」天子曰:「往還幾時?」對曰:「往百日,還百日,攻百日,以六十日為休息,一年足矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  18. Fang, p. 585 note 1
  19. (景初二年,帥牛金、胡遵等步騎四萬,發自京都。車駕送出西明門,詔弟孚、子師送過溫,賜以穀帛牛酒,勑郡守典農以下皆往會焉。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  20. Chen, 28.5
  21. 21.0 21.1 Gardiner (1972B), p. 169
  22. Fang, pp. 570-571
  23. Fang, pp. 572, 591 note 12.2. แม้ว่าจิ้นชู ระบุว่าค่ายมีกำแพงยาว 60 ถึง 70 ลี้ แต่ซือหม่า กวางใช้ข้อมูลตามที่ระบุในจดหมายเหตุสามก๊กเพราะเห็นว่า 70 ลี้ยาวเกินไปสำหรับการตั้งค่าย
  24. (文懿果遣步騎數萬,阻遼隧,堅壁而守,南北六七十里,以距帝。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  25. Fang, p. 572
  26. Fang, p. 592 note 13.4
  27. (帝盛兵多張旗幟出其南,賊盡銳赴之。乃泛舟潛濟以出其北,與賊營相逼,沉舟焚梁,傍遼水作長圍,棄賊而向襄平。諸將言曰:「不攻賊而作圍,非所以示衆也。」帝曰:「賊堅營高壘,欲以老吾兵也。攻之,正入其計, ... 古人曰,敵雖高壘,不得不與我戰者,攻其所必救也。賊大衆在此,則巢窟虛矣。我直指襄平,必人懷內懼,懼而求戰,破之必矣。」遂整陣而過。賊見兵出其後,果邀之。帝謂諸將曰:「所以不攻其營,正欲致此,不可失也。」乃縱兵逆擊,大破之,三戰皆捷。賊保襄平,進軍圍之。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  28. (會霖潦,大水平地數尺,三軍恐,欲移營。帝令軍中敢有言徙者斬。都督令史張靜犯令,斬之,軍中乃定。賊恃水,樵牧自若。諸將欲取之,皆不聽。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  29. Fang, p. 573
  30. (帝曰:「... 今賊衆我寡,賊飢我飽,水雨乃爾,功力不設,雖當促之,亦何所為。自發京師,不憂賊攻,但恐賊走。今賊糧垂盡,而圍落未合,掠其牛馬,抄其樵采,此故驅之走也。夫兵者詭道,善因事變。賊憑衆恃雨,故雖飢困,未肯束手,當示無能以安之。取小利以驚之。非計也。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  31. (朝廷聞師遇雨,咸請召還。天子曰:「司馬公臨危制變,計日擒之矣。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  32. Gardiner (1972B), pp. 165, 169. ชื่อของเหล่าผู้นำกองกำลังจากโคกูรยอไม่มีการบันทึกไว้
  33. Fang, p. 574
  34. (既而雨止,遂合圍。起土山地道,楯櫓鈎橦,發矢石雨下,晝夜攻之。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  35. Gardiner (1972B), p. 171
  36. Fang, p. 577
  37. (時有長星,色白,有芒鬣,自襄平城西南流于東北,墜于梁水,城中震慴。文懿大懼,乃使其所署相國王建、御史大夫柳甫乞降,請解圍面縛。不許,執建等,皆斬之。檄告文懿曰:「昔楚鄭列國,而鄭伯猶肉袒牽羊而迎之。孤為主人,位則上公,而建等欲孤解圍退舍,豈楚鄭之謂邪!二人老耄,必傳言失旨,已相為斬之。若意有未已,可更遣年少有明決者來。」文懿復遣侍中衞演乞剋日送任。帝謂演曰:「軍事大要有五,能戰當戰,不能戰當守,不能守當走,餘二事惟有降與死耳。汝不肯面縛,此為決就死也,不須送任。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  38. Gardiner (1972B), pp. 172, 195 note 94.
  39. (文懿攻南圍突出,帝縱兵擊敗之,斬于梁水之上星墜之所。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  40. Ikeuchi, pp. 87-88
  41. Gardiner (1972B), pp. 172, 195-196 note 97
  42. (既入城,立兩標以別新舊焉。男子年十五已上七千餘人皆殺之,以為京觀。偽公卿已下皆伏誅,戮其將軍畢盛等二千餘人。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  43. Fang, p. 575
  44. (初,文懿篡其叔父恭位而囚之。及將反,將軍綸直、賈範等苦諫,文懿皆殺之。帝乃釋恭之囚,封直等之墓,顯其遺嗣。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  45. Fang, p. 598 note 22
  46. (乃奏軍人年六十已上者罷遣千餘人,將吏從軍死亡者致喪還家。遂班師。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  47. (時有兵士寒凍,乞襦,帝弗之與。或曰:「幸多故襦,可以賜之。」帝曰:「襦者官物,人臣無私施也。」) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  48. Fang, p. 597
  49. (收戶四萬,口三十餘萬。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  50. Gardiner (1972B), p. 173
  51. Gardiner (1972B), p. 174
  52. Gardiner (1972B), p. 175-176
  53. Byington, Mark (2007). "Control or Conquer? Koguryǒ's Relations with States and Peoples in Manchuria". Journal of Northeast Asian History. 4 (1): 93.
  54. 54.0 54.1 Gardiner (1972B), p. 175

บรรณานุกรม[แก้]