สิบหกรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิบหกรัฐ
อักษรจีนตัวเต็ม十六國
อักษรจีนตัวย่อ十六国

สิบหกอาณาจักร (จีนตัวย่อ: 十六国; จีนตัวเต็ม: 十六國; พินอิน: Shíliù Guó) โดยปกติน้อยครั้งที่จะเรียกว่า สิบหกรัฐ หรือ สิบหกแคว้น เป็นช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายในประวัติศาสตร์จีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 304 ถึง ค.ศ. 439 เมื่อแผ่นดินจีนทางตอนเหนือได้แตกแยกออกเป็นรัฐราชวงศ์ที่มีอายุสั้น รัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกก่อตั้งขึ้นโดย "ห้าชนเผ่า" ซึ่งเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นที่ได้เข้ามาตั้งรกรากทางตอนเหนือและตะวันตกของจีนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา และได้ลุกฮือก่อการกบฎและทำการรุกรานหลายครั้งต่อราชวงศ์จิ้นตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 4 อย่างไรก็ตาม หลายรัฐถูกก่อตั้งขึ้นโดยชาวฮั่น และทุกรัฐซึ่งถูกปกครองโดยชนเผ่าซยฺงหนู เผ่าเซียนเปย์ เผ่าตี เผ่าเจี๋ย เผ่าเชียง เผ่าฮั่น หรืออื่น ๆ ต่างใช้ชื่อราชวงศ์ตามอย่างชาวฮั่น รัฐต่าง ๆ มักจะต่อสู้รบกันเองและราชวงศ์จิ้นตะวันออกซึ่งได้เข้ามารับช่วงต่อจากราชวงศ์จิ้นตะวันตกใน ค.ศ. 317 และปกครองแผ่นดินจีนทางตอนใต้ ช่วงเวลาดังกล่าวได้สิ้นสุดลงด้วยการรวบรวมแผ่นดินจีนทางตอนเหนือใน ค.ศ. 439 โดยราชวงศ์เว่ย์เหนือ ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยชนเผ่าทั่วป๋าเซียนเปย์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในอีก 19 ปีหลังราชวงศ์จิ้นตะวันออกถึงคราวล่มสลายใน ค.ศ. 420 และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์หลิวซ่ง ภายหลังการรวบรวมแผ่นดินจีนทางตอนเหนือโดยราชวงศ์เว่ย์เหนือ ยุคสมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ในประวัติศาสตร์จีนได้เริ่มต้นขึ้น

คำว่า "สิบหกอาณาจักร" ได้ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยนักประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 6 นามว่า Cui Hong ในบันทึกแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง หรือ ยุควสันตสารทของสิบหกอาณาจักร และได้กล่าวถึงเหลียงห้าอาณาจักร(เฉียนเหลียง โฮ่วเหลียง เป่ยเหลียง หนันเหลียง และซีเหลียง) เอี้ยนสี่อาณาจักร(เฉียนเอี้ยน โฮ่วเอี้ยน เป่ยเอี้ยน และหนันเอี้ยน) ฉินสามอาณาจักร(เฉียนฉิน โฮ่วฉิน และซีฉิน) เจ้าสองอาณาจักร(ฮั่นเจ้า และสือเจ้า) เฉิงฮั่น และเซี่ย Cui Hong ไม่ได้นับอาณาจักรอื่น ๆ หลายอาณาจักรที่ปรากฏในช่วงสมัยนั้น ได้แก่ หรั่นวุ่ย zhai wei Chouchi Duan Qi, Qiao Shu, Huan Chu, Tuyuhun และซีเอี้ยน เขาไม่ได้นับรวมถึงอาณาจักรต้าเว่ย์เหนือ และอาณาจักรที่มีมาก่อนหน้าคือ อาณาจักรไต้ เนื่องจากอาณาจักรต้าเว่ยเหนือถือว่าเป็นราชวงศ์แรกของราชวงศ์เหนือในช่วงเวลาต่อจากยุคสมัยสิบหกอาณาจักร

ประวัติศาสตร์จีนแบบดั้งเดิมจะเรียกช่วงเวลายุคสมัยนั้นว่า "สิบหกอาณาจักรห้าชนเผ่า"(จีนตัวย่อ: 五胡十六国; จีนตัวเต็ม: 五胡十六國; พินอิน: Wǔhú Shíliù Guó) เนื่องจากชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นมีบทบาทที่แข็งขันในช่วงเวลานั้น แม้แต่ในบรรดารัฐที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยชนกลุ่มช่าติพันธุ์ฮั่น (โฮ่วเหลียง ซีเหลียง หรั่นวุ่ย และเป่ยเอี้ยน) ผู้ก่อตั้งหลายคนต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น บิดาของหรั่นหมิง ผู้ก่อตั้งสถาปนาอาณาจักรหรั่นวุ่ย ได้รับการเลี้ยงดูจากตระกูลที่ปกครองอาณาจักรสือเจ้า เฟิง ป๋าซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรเป่ยเอี้ยน เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ฮั่นที่มีมิตรสหายชาวเซียนเปย์ที่มีความโดดเด่น เช่นเดียวกับมีชื่อเล่นว่า เซียนเปย์ Gao Yun ได้รับยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์คนอื่น ๆ ว่า เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรเป่ยเอี้ยน ซึ่งเป็นสมาชิกเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์โกคูรยอ ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากขุนนางชาวเซียนเปย์

เนื่องจากการแก่งแย่งชิงอำนาจที่รุนแรงระหว่างรัฐเหล่านั้นและความไม่มั่นคงเสถียรภาพทางการเมืองภายใน อาณาจักรในยุคสมัยนี้ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีอายุสั้น เป็นเวลาเจ็ดปี ตั้งแต่ ค.ศ. 376 ถึง ค.ศ. 383 อาณาจักรเฉียนฉินสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนทางตอนเหนือเป็นปึกแผ่นในช่วงเวลาอันสั้น แต่สิ่งนี้ต้องจบลง เมื่อจิ้นตะวันออกได้สร้างความปราชัยอย่างพินาศย่อยยับในยุทธการที่ลำน้ำเฝยสุ่ย ภายหลังจากนั้นอาณาจักรเฉียนฉินได้แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ และแผ่นดินจีนทางตอนเหนือก็ประสบกับการแตกแยกทางการเมืองครั้งใหญ่กว่าเดิม การล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตกท่ามกลางการเถลิงอำนาจของระบอบการปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวฮั่นในแผ่นดินจีนทางตอนเหนือในช่วงยุคสมัยสิบหกอาณาจักร ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกท่ามกลางการถูกรุกรานโดยชาวฮันและชนเผ่าเจอร์มานิกในยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 4 ถึง 5