ยุทธการที่ซิงชื่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธการที่ซิงชื่อ
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก
วันที่เมษายน[a] – กรกฎาคม ค.ศ. 244[b]
สถานที่
เขาซิงชื่อ (ตั้งอยู่ทางเหนือของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ประเทศจีน
ผล จ๊กก๊กชนะ
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
โจซอง
แฮเฮาเหียน
บิฮุย
อองเป๋ง
กำลัง
โดยรวมมากกว่า 100,000 นาย[1][2]
ทัพหลักจากเตียงฮันมี 60,000-70,000 นาย[3]
น้อยกว่า 30,000 นายภายใต้บังคับบัญชาของอองเป๋งและเล่าปิ้น[1][4]
ไม่ทราบจำนวนทหารใต้บังคับบัญชาของบิฮุย
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ยุทธการที่ซิงชื่อ
อักษรจีนตัวเต็ม興勢之戰
อักษรจีนตัวย่อ兴势之战

ยุทธการที่ซิงชื่อ (จีน: 興勢之戰) เป็นการรบระหว่างรัฐวุยก๊กและจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 244 ในยุคสามก๊กของจีน สถานที่รบคือที่เขาซิงชื่อ (興勢山 ซิงชื่อชาน) ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์แห่งชาติฉางชิง ยุทธการนี้เป็นความพยายามของโจซองผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊กที่จะพิชิตจ๊กก๊กอันเป็นรัฐอริของวุยก๊ก ยุทธการจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างราบคาบ

ภูมิหลัง[แก้]

แม้โจซองจะเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักในราชสำนักวุยก๊ก แต่โจซองก็ยังเชื่อว่าสามารถนำทัพเข้ารบกับจ๊กก๊กได้ โดยเฉพาะเมื่อเจียวอ้วนแม่ทัพของจ๊กก๊กนำทัพหลักล่าถอยจากฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) ไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 243 โจซองและพรรคพวกคนสนิทสรุปความเห็นว่าด้วยความที่วุยก๊กที่กำลังทหารมากกว่าจะสามารถพิชิตฮันต๋งได้อย่างง่ายดายก่อนที่กำลังเสริมของจ๊กก๊กจะมาถึง แม้ว่าอาจจะปราบจ๊กก๊กไม่สำเร็จ แต่การยึดฮันต๋งก็เพียงพอแล้วที่จะเพิ่มชื่อเสียงและอิทธิพลของโจซองในราชสำนัก[5]

ก่อหน้านี้หลังยุทธการที่ฮันต๋งเมื่อปี ค.ศ. 219 อุยเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองฮันต๋ง (漢中太守 ฮั่นจงไท่โฉ่ว) ในช่วงที่อุยเอี๋ยนดำรงตำแหน่งได้สร้างด่านที่มีป้อมปราการหลายแห่งตามจุดยุทธศาสตร์บนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ฮันต๋ง และวางกำลังทหารรักษาการณ์ด้วยทหารชั้นแนวหน้า แม้ว่าเมื่อข้าศึกเข้าโจมตี ทหารในด่านก็จะโจมตีกลับ ด่านเหล่านี้ยังคงใช้งานอยู่ในช่วงเวลาของยุทธการที่ซิงชื่อ อองเป๋งจะใช้การเตรียมการไว้แล้วก่อนหน้านี้เพื่อเอาชนะต่อทัพของโจซอง[6]

ภูมิศาสตร์[แก้]

เส้นทางดั้งเดิมสามเส้นทางจากฮันต๋งไปยังกวนต๋ง (關中 กวานจง) ล้วนเป็นเส้นทางผ่านหุบเขาในเทือกเขาฉินหลิ่ง เส้นทางตามแนวเหนือ-ใต้ทางตะวันออกเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุด รวมระยะทางกว่า 330 กิโลเมตร โดยปลายทางด้านเหนือสุดอยู่ทางใต้ของเตียงฮัน (長安 ฉางอาน) ครึ่งทางด้านใต้ของหุบเขาเรียกว่าจูก๊ก (子谷 จื๋อกู่) และครึ่งทางด้านเหนือเรียกว่างอก๊ก (午谷 อู๋กู่) ลักษณะภูมิประเทศท้องถิ่นที่สลับซับซ้อน ทำให้เกิดตำแหน่งจำนวนมากที่เหมาะแก่การซุ่มโจมตี และผู้ที่จัดกำลังดักซุ่มจะสามารถทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่เดินทัพผ่านหุบเขาได้อย่างง่ายดายและโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เส้นทางที่ยาวที่สุดนี้ยังเป็นเส้นทางที่อันตรายที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม หากจ๊กก๊กเป็นฝ่ายบุก จะสามารถเข้าคุกคามเตียงฮันได้อย่างง่ายดายโดยใช้เส้นทางนี้ และนี่เป็นคำแนะนำที่อุยเอี๋ยนเสนอกับจูกัดเหลียงก่อนการบุกขึ้นเหนือครั้งแรก เส้นทางเปาเสีย (褒斜道 เปาเสียเต้า) ความยาว 235 กิโลเมตรและตั้งอยู่ทางตะวันตก มีสภาพของเส้นทางที่ดีที่สุดในสามเส้นทางดั้งเดิม โดยครึ่งเส้นทางด้านเหนือเรียกว่าเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และครึ่งเส้นทางด้านใต้เรียกว่าเปากู่ (褒谷) ปลายทางด้านใต้ของเส้นทางเปาเสียตั้งอยู่บริเวณทางเหนือของฮันต๋งขึ้นไปประมาณ 25 กิโลเมตร ในขณะที่ปลายทางด้านเหนือตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน) หรือปัจจุบันคืออำเภอเหมย์ (眉縣 เหมย์เซี่ยน) มณฑลฉ่านซี ลงมา 15 กิโลเมตร ตรงกลางของเส้นทางเปาเสียมีหุบเขาอีกแห่งชื่อกิก๊ก (箕谷 จีกู่) แตกแขนงออกไปทางทิศตะวันตกแล้วเลี้ยวขึ้นไปทางเหนือไปสิ้นสุดใกล้กับตันฉอง (陳倉 เฉินชาง) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งที่อาจถูกคุกคามเมื่อจ๊กก๊กเป็นฝ่ายบุก หากวุยก๊กเป็นฝ่ายบุก การที่เส้นทางมีสภาพดีก็หมายความว่าจ๊กก๊กสามารถจัดกำลังป้องกันได้เร็วขึ้นและหยุดการโจมตีของทัพวุยก๊กก่อนที่จะออกจากหุบเขาได้

เส้นทางถ่างลั่ว (儻駱道 ถ่างลั่วเต้า) ความยาว 210 กิโลเมตรที่อยู่ตรงกลางเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในสามเส้นทางดั้งเดิม และได้ชื่อเส้นทางมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ปลายสุดทั้งสองด้าน ปลายทางด้านใต้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำถางฉุ่ย (儻水河 ถางฉุ่ยเหอ) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหยาง (洋縣 หยางเซี่ยน) มณฑลฉ่านซี และปลายทางด้านเหนือตั้งอยู่ในหุบเขาลั่ว (駱峪 ลั่ว-ยฺวี่) ทางตะวันออกของอำเภอจัวจื้อ (周至縣 จัวจื้อเซี่ยน) มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน ดังนั้นครึ่งเส้นทางด้านใต้จึงเรียกว่าถางกู่ (儻谷) และครึ่งเส้นทางด้านเหนือเรียกว่าลั่วกู่ (駱谷) โจซองเลือกเส้นทางกลางนี้ในการโจมตีจ๊กก๊ก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีอย่างร้ายแรง แม้ว่าเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด แต่สภาพเส้นทางก็แย่ที่สุดในทั้งสามเส้นทาง ที่สำคัญยังมีส่วนที่ไม่มีแหล่งน้ำที่ยาวที่สุดในทั้งสามเส้นทาง ส่งผลต่อปัญหาการขนส่งที่ทำให้ทัพฝ่ายบุกกลายเป็มอัมพาต สัตว์ที่ใช้ขนส่งจำนวนมากในทัพวุยก๊กต้องตายด้วยความกระหายน้ำก่อนจะออกจากหุบเขา โจซองจำต้องระดมทหารเกณฑ์หลายหมื่นคนเพื่อใช้ให้ขนส่งเสบียง แต่หลายคนก็ประสบชะตากรรมเดียวกันกับสัตว์ขนส่ง ผลที่ตามมาก็คือขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำและความไม่พอใจต่อโจซองที่ไม่เพียงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในหมู่ทหารใต้บังคับบัญชา แต่ยังเพิ่มขึ้นในเหล่าราษฎรในวุยก๊กด้วย

ยุทธการ[แก้]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 244 โจซองเลื่อนขั้นให้แฮเฮาเหียนเป็นขุนพลปราบตะวันตก ส่วนกุยห้วยข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพกองหน้า ทั้งหมดร่วมเคลื่อนพลไปยังฮันต๋งผ่านเส้นทางถ่างลั่ว เตงเหยียงและหลีซินที่เป็นคนสนิทของโจซองเข้าร่วมในการบุกในฐานะนายทหารของโจซอง เป้าหมายหลักในการบุกของวุยก๊กคือด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน; ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอู่โหว (武侯鎮 อู่โหวเจิ้น) อำเภอเหมี่ยน (勉縣 เหมี่ยนเซี่ยน) มณฑลฉ่านซี ในปัจจุบัน)[7]

อองเป๋งมหาขุนพลพิทักษ์ภาคเหนือของจ๊กก๊กรับผิดชอบป้องกันฮันต๋ง แต่กำลังทหารของอองเป๋งมีไม่ถึง 30,000 นาย[8] เมื่อเผชิญหน้ากับกำลังทหารของข้าศึกที่มีจำนวนเหนือกว่าอย่างสิ้นเชิง แม่ทัพของจ๊กก๊กหลายคนเสนอให้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันฮันเสีย (漢城 ฮั่นเฉิง; ทางตะวันออกของอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และก๊กเสีย (樂城 เยฺว่เฉิง; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเฉิงกู้ (城固縣 เฉิงกู้เซี่ยน) มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[9] อองเป๋งปฏิเสธความคิดนี้เนื่องจากกำลังเสริมอยู่ไกลเกินไป และอาจกลายเป็นหายนะต่อจ๊กก๊กได้หากปล่อยให้ข้าศึกผ่านด่านเองเปงก๋วนเข้ามาได้โดยไม่มีการต้าน ดังนั้นจึงทำได้แต่เพียงต้องหยุดข้าศึกโดยอาศัยประโยชน์จากลักษณะภูมิประเทศในท้องถิ่นที่สลับซับซ้อน[10] อองเป๋งสั่งเล่าปิ้นขุนพลพิทักษ์ทัพให้เข้าประจำตำแหน่งในภูเขาซิงชื่อ (興勢山 ซิงชื่อชาน) และปักธงเรียงรายเป็นระยะหลายร้อยลี้เพื่อหลอกให้เข้าใจว่ากำลังป้องกันของทัพจ๊กก๊กมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง[11] จากนั้นอองเป๋งนำกองกำลังของตนตามหลังเล่าปิ้นเพื่อป้องกันการโจมตีแยกจากทัพวุยก๊กทางหุบเขาหฺวางจิน (黃金谷 หฺวางจินกู่; ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาซิงชื่อ)[12] การณ์เป็นไปตามที่อองเป๋งคาดการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 244 พบว่าข้าศึกยกมาตั้งที่เขาซิงชื่อ[13] และเสบียงทัพก็พร่องลงเพราะเส้นทางลำเลียงเสบียงยาวมากเกินไปและสัตว์ขนส่งเกือบทั้งหมดตายไประหว่างทาง[14] บิฮุยมหาขุนพลของจ๊กก๊กนำกำลังเสริมจากเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) ยกมาฮันต๋ง การบุกโต้ตอบของจ๊กก๊กกำลังจะเริ่มต้นขึ้นเพื่อต่อสู้กับทัพวุยก๊กที่ฝืนยกบุกมา[15]

หยาง เหว่ย์ (楊偉) นายทหารคนหนึ่งของโจซองตระหนักถึงอันตราย และเสนอโจซองให้ทิ้งการศึกและถอยทัพทันที แต่เตงเหยียงคัดค้านและโต้เถียงกับหยาง เหว่ย์แม้ว่าตัวเตงเหยียงจะขาดความรู้ด้านการทหารก็ตาม หยาง เหว่ย์ไม่สามารถโน้มน้าวได้จึงอ้างด้วยความโกรธว่าเตงเหยียงและหลีซินไม่ใส่ใจชีวิตทหารหลายแสนนายและไม่ใส่ใจชะตากรรมของรัฐของตน และทั้งคู่ควรถูกประหารชีวิต ทั้งสองคนจึงวิวาทกันต่อหน้าโจซองผู้รู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์เช่นนี้[16] ราชครูสุมาอี้ผู้คัดค้านการทัพครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่อาจเมินเฉยต่อสถานการณ์อันตรายนี้ได้อีกต่อไป จึงเขียนหนังสือไปถึงแฮเฮาเหียนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน เมื่อโจโฉเกือบต้องประสบความพินาศโดยสิ้นเชิงจากการรบกับเล่าปี่เพื่อช่วงชิงฮันต๋ง ทัพจ๊กก๊กเข้าคุมพื้นทีของเขาซิงชื่อได้อย่างมั่นคงซึ่งจะป้องกันทัพวุยก๊กไม่ให้รุดหน้า และหากกองกำลังของจ๊กก๊กอีกกองตัดเส้นทางถอยของทัพวุยก๊ก โจซองและแฮเฮาเหียนก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่เพื่อเสียใจต่อการตัดสินใจของตนได้ ในที่สุดแฮเฮาเหียนจึงตระหนักถึงสถานการณ์ที่เป็นอันตรายหลังอ่านหนังสือของสุมาอี้ และในที่สุดจึงสามารถโน้มน้าวโจซองให้ออกคำสั่งถอยทัพ แม้ว่าโจซองจะกระทำอย่างไม่เต็มใจก็ตาม[17] เวลานั้นกุยห้วยเป็นแม่ทัพกองหน้าและตระหนักถึงความอันตรายของสถานการณ์เช่นกัน จึงถอนกำลังล่าถอยเพือป้องกันการแตกพ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น[18] ดังนั้นกองกำลังของกุยห้วยจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงได้รับอาญาสิทธิ์จากราชสำนักวุยก๊กหลังนำกำลังทหารกลับมาแล้ว[19]

อย่างไรก็ตาม บิฮุยไม่ยอมปล่อยให้โจซองล่าถอยได้ง่าย ๆ จึงนำกองกำลังไปตีกระหนาบทัพของวุยก๊กและสกัดทางถอย กองกำลังของจ๊กก๊กจัดตั้งตำแหน่งป้องกัน ณ สถานที่ที่ทำให้พวกตนได้เปรียบในทางภูมิประเทศเหนือทัพวุยก๊กอย่างสิ้นเชิง อันได้แก่ สันเขาเฉิ่น (沈嶺 เฉินหลิ่ง) สันเขาหยา (衙嶺 หยาหลิ่ง) และสันเขาเฟินฉุ่ย (分水嶺 เฟินฉุยหลิ่ง)[20] ทัพของโจซองต่อสู้อย่างสิ้นหวัง ท้ายที่สุดโจซองและเหล่านายทหารก็หนีกลับไปยังกวนต๋งอย่างแทบเอาชีวิตไม่รอด[21] วัวและม้าเกือบทั้งหมดที่โจซองระดมมาใช้ในการขนส่งต่างตายหรือไม่ก็สูญหาย ชนเผ่าทางเหนือไม่พอใจโจซองอย่างมากจากเรื่องนี้ และภูมิภาคกวนต๋งก็กลายเป็นแดนรกร้าง[22] จากความล้มเหลวนี้ ผู้คนก็เยาะเย้ยโจซองและแฮเฮาเหียน[23]

ผลสืบเนื่อง[แก้]

จากชัยชนะนี้ทำให้บิฮุยได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เฉิงเซียงโหว" (成鄉侯) และยังคงอยู่ในฮันต๋งจนกระทั่งเดินทางกลับนครหลวงเซงโต๋ในเดือนกันยายน ค.ศ. 244 ในทางตรงกันข้าม ชื่อเสียงเกียรติยศและความนิยมในตัวโจซองลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การสิ้นอำนาจลงในการแย่งชิงอำนาจกับสุมาอี้ในท้ายที่สุด หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ วุยก๊กต้องรอคอยไปอีกยี่สิบปีก่อนที่จะบุกเพื่อพิชิตวุยก๊กอีกครั้ง

วิเคราะห์[แก้]

ยุทธการที่ซิงชื่อเป็นยุทธการหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุด แต่ก็ถูกกล่าวถึงน้อยที่สุดในยุคสามก๊ก การที่ขาดการมีส่วนร่วมของบุคคลที่สำคัญในยุคนั้นอย่างจูกัดเหลียงและเกียงอุยทำให้นักเขียนหลายคนให้ความสำคัญต่อยุทธการครั้งนี้น้อยมากหรือถึงขั้นไม่สนใจยุทธการครั้งนี้ในผลงานของตนเมื่อเทียบกับยุทธการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แม้ว่ายุทธการครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่าสถานะของรัฐจ๊กก๊กยังคงได้เปรียบจากการมีแม่ทัพที่เหนือกว่า

แม้ว่ายุทธการนี้ไม่ได้รับความสนใจในงานวรรณกรรม แต่นักการทหารในชั้นหลังก็ให้ความชื่นชมยุทธการนี้อย่างสูง ตัวอย่างเช่นหลิว ปั๋วเวิน นักยุทธศาสตร์การทหารของราชวงศ์หมิง ที่เขียนผลงานชื่อ กลยุทธ์พิศดารร้อยศึก (百戰奇略 ไป่จ้านฉีเลฺว่) ได้จัดให้ยุทธการนี้เป็นตัวอย่างดั้งเดิมของ "สงครามถอย" (退戰 ทุ่ยจ้าน) หมายความหมายว่าหากข้าศึกมีความได้เปรียบทางภูมิประเทศอย่างสมบูรณ์ และฝ่ายตนมีปัญหาในการรบต่อไป การล่าถอยอย่างรวดเร็วจะเป็นทางเลือกเดียวที่สามารถกระทำได้

บุคคลในยุทธการ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. การทัพเริ่มต้นในเดือน 3 ของศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮอง เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึง 24 เมษายน ค.ศ. 244 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]
  2. กองกำลังวุยก๊กล่าถอยในเดือน 5 ของศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮอง เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23 มิถุนายนถึง 21 กรกฎาคม ค.ศ. 244 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Sima (1084), vol. 74.
  2. (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (正始五年,爽乃西至長安,大發卒六七萬人,從駱谷入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (時漢中守兵不滿三萬,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (及爽秉政,乃復進敘,任為腹心。颺等欲令爽立威名於天下,勸使伐蜀,爽從其言,宣王止之不能禁。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  6. (初,先主留魏延鎮漢中,皆實兵諸圍以御外敵。敵若來攻,使不得入。及興勢之役,王平捍拒曹爽,皆承此制。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  7. (正始五年,爽乃西至長安,大發卒六七萬人,從駱谷入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  8. (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。時漢中守兵不滿三萬,諸將大驚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (或曰:「今力不足以拒敵,聽當固守漢、樂二城,遇賊令入,比爾間,涪軍足得救關。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (平曰:「不然。漢中去涪垂千里。賊若得關,便為禍也。今宜先遣劉護軍、杜參軍據興勢,平為後拒;...」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (遂帥所領與平據興勢,多張旗幟,彌亙百餘里。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  12. (平曰:「...;若賊分向黃金,平率千人下自臨之,比爾間,涪軍行至,此計之上也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (入谷行數百里,賊因山為固,兵不得進。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  14. (是時,關中及氐、羌轉輸不能供,牛馬騾驢多死,民夷號泣道路。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  15. (延熙七年,魏軍次于興勢,假禕節,率眾往禦之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  16. (爽參軍楊偉為爽陳形勢,宜急還,不然將敗。颺與偉爭於爽前,偉曰:「颺、勝將敗國家事,可斬也。」爽不悅,乃引軍還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  17. (漢晉春秋曰:司馬宣王謂夏侯玄曰:「春秋責大德重,昔武皇帝再入漢中,幾至大敗,君所知也。今興平路勢至險,蜀已先據;若進不獲戰,退見徼絕,覆軍必矣。將何以任其責!」玄懼,言於爽,引軍退。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  18. (五年,夏侯玄伐蜀,淮督諸軍為前鋒。淮度勢不利,輙拔軍出,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  19. (故不大敗。還假淮節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  20. (費禕進兵據三嶺以截爽,) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  21. (爽爭嶮苦戰,僅乃得過。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  22. (所發牛馬運轉者,死失略盡,羌、胡怨嘆,而關右悉虛耗矣。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  23. (與曹爽共興駱谷之役,時人譏之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.

บรรณานุกรม[แก้]

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • ฝาน เสฺวียนหลิง (648). พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • Selected Examples of Battles in Ancient China Writing Team, Selected Examples of Battles in Ancient China, 1st Edition, published by Chinese Publishing House & Distributed by New China Bookstore Publishing House in Beijing, 1981 - 1984.
  • Yuan, Tingdong, War in Ancient China, 1st Edition, published by Sichuan Academy of Social Science Publishing House & Distributed by New China Bookstore in Chengdu, 1988, ISBN 7-80524-058-2
  • Zhang, Xiaosheng, General View of War of Ancient China, 1st Edition in Xi'an, published by Long March Publishing House in Beijing & Distributed by New China Bookstore in Beijing, 1988, ISBN 7-80015-031-3 (set)