ท่าเตียน
ประชาชนใช้งานท่าเตียนในปี พ.ศ. 2550 | |
ประเภท | ท่าเรือโดยสาร |
---|---|
ประเภทเรือ | เรือด่วน, เรือข้ามฟาก, เรือหางยาว |
โครงสร้างท่า | สะพานเหล็กปรับระดับ |
ที่ตั้ง | เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา |
ชื่อทางการ | ท่าเตียน (โดยกรมเจ้าท่า) |
เจ้าของ | เอกชน |
ผู้ดำเนินงาน | • เรือด่วนเจ้าพระยา |
ค่าโดยสาร | ปิดปรับปรุงจึงไม่มีเรือเทียบท่า |
ข้อมูลเฉพาะ | |
รหัสท่า | น8 (N8) |
โครงสร้างหลัก | โป๊ะลอยน้ำ |
ความยาว | 15 เมตร (ด้านเหนือ) 6.08 เมตร (ด้านใต้) |
ความกว้าง | 4 เมตร (ด้านเหนือ) 3.80 เมตร (ด้านใต้) |
ท่าเตียน (อังกฤษ: Tha Tien Pier; รหัส: น8, N8) เป็นท่าเรือและตลาดแห่งหนึ่ง ในแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนถนนมหาราช ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ประวัติ
[แก้]ประวัติท่าเตียน มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยอยู่บริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชวัง และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยที่ชื่อ "ท่าเตียน" มีที่มาต่าง ๆ กันไป บ้างก็ว่าเกิดจากในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ที่แถบนี้เคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ จนราบเรียบเหี้ยนเตียน หรือเชื่อว่ามาจาก "ห่าเตียน" เมืองท่าแห่งหนึ่งในตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดเกียนซาง ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นดินแดนของไทย ในชื่อ บันทายมาศ หรือ พุทไธมาศ[1]) เนื่องจากแถบนี้ในอดีตเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวญวนอพยพหนีภัยสงครามจากเว้ ตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และชาวญวนเหล่านี้ได้เรียกชื่อถิ่นฐานนี้ว่าห่าเตียน เนื่องจากมีภูมิทัศน์คล้ายกับห่าเตียนเพื่อคลายความคิดถึงถิ่นฐานตนเอง[2] และได้เรียกเพี้ยนมาเป็นท่าเตียนในที่สุด[3] แต่ทั้งนี้ท่าเตียนปรากฏมาตั้งแต่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏหลักฐานเป็นนิราศของหม่อมพิมเสนเรียกว่า "บางจีน" สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนด้วย[2]
และยังมีตำนานเมืองที่โด่งดังมาก คือ เรื่องของยักษ์เฝ้าประตูวัดสองฟากต่อสู้กัน คือ ยักษ์วัดแจ้ง จากฝั่งธนบุรี ต่อสู้กับ ยักษ์วัดโพธิ์ แห่งฝั่งพระนคร เนื่องจากผิดใจกันเรื่องการขอยืมเงินกัน จนในที่สุดที่บริเวณนี้เหี้ยนเตียนราบเรียบไปหมด[4] ซึ่งในบางตำนานก็มีการเสริมเติมแต่งเข้าไปอีกว่า ที่ยักษ์ทั้งสองตนนั้นหยุดสู้กันเพราะมีโยคีหรือฤๅษีมาห้าม บ้างก็ว่าเป็นยักษ์วัดพระแก้วเข้ามาห้าม[2]
ปัจจุบัน ท่าเตียนเป็นทั้งตลาดและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม มีร้านอาหารและร้านกาแฟเป็นจำนวนมาก[5] ในส่วนของตลาด เป็นตลาดที่นับว่าใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[6] เป็นตลาดที่มีสินค้าหลากหลายประเภทขายทั้งสินค้าทางการเกษตรหรือข้าวของเครื่องใช้ เนื่องจากเป็นท่าจอดเรือที่มีชัยภูมิเหมาะสม โดยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชื่อเรียกว่า "ตลาดท้ายวัง" หรือ "ตลาดท้ายสนม" กินอาณาบริเวณตั้งแต่ถนนท้ายวังจนถึงตลาดท่าเตียนในปัจจุบัน เป็นตลาดที่บรรดานางในหรือนางสนมจะออกจากกำแพงพระบรมมหาราชวังมาจับจ่ายซื้อข้าวของต่าง ๆ โดยสินค้าที่นิยมมากที่สุด คือ ดอกไม้ ต่อมาได้รวมเป็นตลาดเดียวกับตลาดท่าเตียน จนกระทั่งถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มมีการสร้างอาคารขึ้นมาอย่างเป็นรูปร่าง โดยวางแนวเป็นรูปตัวยู ด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก และมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น และกลายมาเป็นแหล่งค้าส่งแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น วัสดุก่อสร้าง, เครื่องตัดหญ้า, อะไหล่รถยนต์, ผักและผลไม้, น้ำตาล, ลูกอมหรือท็อฟฟี่ รวมถึงอาหารทะเลแห้ง เป็นต้น[7][8]ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ท่าเตียนมีสถานะเป็นตำบลชื่อ "ตำบลท่าเตียน" ขึ้นอยู่กับอำเภอพระราชวัง[1] (เขตพระนครในปัจจุบัน) ปัจจุบันอาคารพาณิชย์ตลอดจนบ้านเรือนต่าง ๆ ได้รับการบูรณะปรับปรุงโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ. 2556[7][9] ให้แลดูใหม่และสวยงามยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่ท่าช้างที่อยู่ใกล้เคียง โดยทำการปรับปรุงทั้งสิ้น 55 คูหา[10]
ท่าเรือ
[แก้]ในส่วนที่เป็นท่าเรือ ในอดีตเป็นท่าเรือที่มีเรือเมล์วิ่งไปจนถึงบางบัวทอง, อยุธยา, ชัยนาท, นครสวรรค์ ในปัจจุบันเป็นท่าเรือ (รหัส น8 หรือ N8) สำหรับเรือข้ามฟากไปยังท่าวัดอรุณ ของฝั่งธนบุรี โดยสามารถมองเห็นพระปรางค์วัดอรุณฯและป้อมวิไชยประสิทธิ์ได้อย่างชัดเจนจากฟากนี้[6] และเป็นท่าเรือที่ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาอีกด้วย เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์–วันศุกร์ ในเวลา 06:00–19:00 น.[11]
โครงสร้าง
[แก้]ท่าเตียนประกอบไปด้วยท่าเรือสอง 2 คือ ด้านเหนือ และด้านใต้ ให้บริการในการเดินเรือ ปัจจุบันยังคงปิดปรับปรุงอยู่ คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2556[12] เดิมประกอบไปด้วยโครงสร้าง[13] คือ
- ท่าเตียนด้านเหนือ ประกอบไปด้วยโป๊ะเหล็ก ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร พร้อมด้วยสะพานเหล็กปรับระดับขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 12 เมตร ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือยนต์เพลาใบจักรยาว (เรือหางยาว) เส้นทางท่าเตียน - บางกอกน้อย
- ท่าเตียนด้านใต้ ประกอบไปด้วยโป๊ะเหล็ก ขนาดกว้าง 3.80 เมตร ยาว 6 เมตร พร้อมด้วยสะพานเหล็กปรับระดับขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 7.10 เมตร ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา
สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียง
[แก้]
|
|
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]ในเพลงแม่ค้าตาคมที่ไพบูลย์ บุตรขันแต่งเพลงนี้ให้ศรคีรี ศรีประจวบเป็นผู้ขับร้องนั้นได้มีการกล่าวถึงท่าเตียนในเพลงดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อร้องที่ว่า"คอยดักน้องที่ท่าเตียนทุกเที่ยวเรือเปลี่ยนไม่เห็นหน้าแฟน"และ"พี่หลงคอยคอยน้องเก้อเฝ้าหลงคอยเธอท่าเตียนทุกวัน"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 2015-10-19. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "พินิจนคร(Season 2) ตอน ท่าเตียน". พินิจนคร. 2009-12-21. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
- ↑ "ชุมชนท่าเตียน". ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ พรรณลึก, เฟรม - สลิตา (2017-11-11). ""ท่าเตียน" จากเมือง "ท่า" สู่เมือง "เที่ยว"". เนชั่นทีวี. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ Time Out Bangkok staff (2017-09-19). "รวมร้านอาหารอร่อยและคาเฟ่น่านั่ง ย่านท่าเตียน-วัดโพธิ์". TimeOut. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ 6.0 6.1 "ถอดรหัส "ท่าเตียน" ผ่านอดีตสู่ปัจจุบัน ยลเสน่ห์ริมเจ้าพระยา วัดอรุณ - วัดโพธิ์". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-11-24. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ 7.0 7.1 "ย้อนวันวานย่านเก่า "ท่าเตียน" เปิดบันทึกประวัติศาสตร์บางกอก". เดลินิวส์. 2014-10-08. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
- ↑ ท่องเที่ยววิถีชุมชน ช้อปปิ้งตลาดนัดชุมชน เที่ยวชมนิทรรศการในงาน “ท่าเตียนซิงตัคลั้ค” by Pira Pira 's Story
- ↑ "HUMAN WILD" (PDF). ธนาคารไทยพาณิชย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
- ↑ "ตึกแถวถนนมหาราช บริเวณท่าเตียน". ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-07. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
- ↑ "16ท่าเรือข้ามฟาก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าเตียน-ท่าวัดอรุณฯ บริเวณตลาดท่าเตียน เขตพระนคร". สวัสดีดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ยลโฉม 'ท่าเรือ' แม่น้ำเจ้าพระยา ปรับใหม่ เปิดใช้ปี 66 รับท่องเที่ยวพีค!". thansettakij. 2023-01-06.
- ↑ กรมเจ้าท่า. รายงานท่าเทียบเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ ถึงจังหวัดปทุมธานี ประจำปีงบประมาณ 2563
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]13°44′46.9″N 100°29′27.6″E / 13.746361°N 100.491000°E