ข้ามไปเนื้อหา

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

พิกัด: 13°44′37″N 100°29′20″E / 13.743710°N 100.488966°E / 13.743710; 100.488966
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดอรุณราชวราราม)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอรุณ, วัดแจ้ง
ที่ตั้งเลขที่ 34 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก
ชนิดราชวรมหาวิหาร[1]
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชัมพูนุช พระแจ้ง พระพุทธนฤมิตร
เจ้าอาวาสพระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท)
ความพิเศษวัดประจำรัชกาลที่ 2
จุดสนใจพระพุทธชัมพูนุช พระจุฬามณี
กิจกรรม9 วันหลังออกพรรษา
ประเพณีทอดผ้าพระกฐิน พระราชทาน
เว็บไซต์https://www.watarun1.com
หมายเหตุ
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดอรุณราชวราราม
ขึ้นเมื่อ22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000140
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดอรุณ หรือ วัดแจ้ง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ระหว่างคลองวัดแจ้งกับพระราชวังเดิมทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยามีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ชื่อวัดอรุณหรือวัดแจ้งมาจากชื่อที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานนามให้หลังจากเสด็จยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้ารุ่งอรุณที่หน้าวัดแห่งนี้หลังจากกอบกู้กรุงศรีอยุธยาหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ประวัติ

[แก้]

สมัยอยุธยา

[แก้]

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารมีชื่อเดิมว่า วัดบางมะกอก[2] สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[3]: 4  ปรากฏหลักฐานในแผนที่ของชาวฝรั่งเศส มีพระอุโบสถ และพระวิหารของเก่าอยู่บริเวณหน้าพระปรางค์เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา[4][3]: 4 

ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเข้าใจว่าคงจะเรียกชื่อวัดคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งตามคติการเรียกชื่อวัดไทยสมัยโบราณ ซึ่งแต่เดิมวัดอรุณตั้งอยู่ ณ ตำบลบางมะกอก ตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้น ๆ ว่า วัดมะกอก[3]: 1  และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมาเพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันแต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก[3]: 1 

วัดมะกอก ในแผนที่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) จัดทำโดยโกลด อัศวินแห่งฟอร์แบ็ง[5]
วัดมะกอก
วัดมะกอก
วัดมะกอก ในแผนที่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) จัดทำโดยโกลด อัศวินแห่งฟอร์แบ็ง[5]


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ไว้ว่า :–

หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ในแผนที่นั้นมีแต่วัดเลียบกับวัดแจ้งแต่วัดโพธิ์หามีไม่ ตรงที่วัดพระเชตุพนนั้นยังเป็นชานป้อมใหญ่ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างขึ้นเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ฯ มาแล้ว[6]

แผนที่ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงคือแผนที่จัดทำโดยโกลด อัศวินแห่งฟอร์แบ็ง(Claude de Forbin) กับเดอ ลามาร์ (de Lamare) ตีพิมพ์ในหนังสือ Histoire de la Révolution de Siam arrivée en l'année 1688 ของมอนซิเออร์ ช็อง โวลลอง เดส์ แวร์แกงส์ (Jean Vollant des Verquains) เมื่อ ค.ศ. 1691 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา[7][3]: 3 

สมัยกรุงธนบุรี

[แก้]

มูลเหตุการเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็นชื่อวัดแจ้งนั้นมีเรื่องเล่าว่า หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2310 แล้ว มีพระราชประสงค์โปรด ฯ ให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่ ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพโดยกระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ครั้นมาถึงหน้าวัดมะกอกนอกก็เป็นเวลาอรุณรุ่งแจ้งพอดี พระองค์ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรด ฯ ให้เทียบเรือพระที่นั่ง ณ ท่าน้ำ วัดมะกอกนอก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสักการบูชาพระปรางค์พระมหาธาตุ สูงราว 8 วา (16 เมตร) ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัดสร้างแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา จากนั้นจึงเสด็จประทับแรม ณ ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาจึงโปรด ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมะกอกนอกแล้วโปรด ฯ ให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดแจ้ง[3]: 2 

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้นทรงเอาป้อมวิไชยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322[3]: 15  ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327[3]: 8 

สมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และกระบวนพยุหยาตราชลมารคโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ รัชกาลที่ 9 ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ด้วยมีพระราชดำริว่าเป็นชัยภูมิที่ดีกว่า การย้ายพระนครในขณะนั้นโปรดให้รื้ออิฐกำแพงวัดแจ้งด้วยแล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากวัดแจ้งไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ พ.ศ. 2327 (ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2326 ตามปฏิทินสุริยคติไทย) วัดแจ้งจึงกลายเป็นวัดที่อยู่นอกพระนคร โปรดให้เป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาต่อไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระปลัดฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)[8]: 97  วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นพระโพธิวงศาจารย์ (ศรี) และทรงตั้งพระครูเมธังกร วัดระฆังฯ เป็นพระศรีสมโพธิ จำพรรษาวัดแจ้งพร้อมกัน[8]: 16 

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมใต้วัดแจ้ง ทรงมอบหน้าที่ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อไปทั้งวัด เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ได้สำเร็จเพียงกุฏิสงฆ์ แต่พระอุโบสถและพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็เสด็จสวรรคตก่อนในปี พ.ศ. 2352[8]: 17 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารวัดแจ้งจนสำเร็จ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม[9][8]: 18  โปรดให้มีการมหรสพสมโภชฉลองวัดเมื่อปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ (พ.ศ. 2363) มีการแสดงละครหลวงโรงเล็กเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนบุศลพ[10] พระองค์ยังทรงพระราชอุตสาหะปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์แล้วโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถ วัดแจ้ง (ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามพระประธานว่าพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก) ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน โปรดให้สร้างศาลาการเปรียญเพิ่ม กุฏิสงฆ์ที่สร้างในรัชกาลที่ 1 ก็โปรดให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองปรับปรุงใหม่และสร้างพระเมรุปูนขนาดใหญ่ไว้หลังวัด ส่วนซุ้ม (ปรก) ที่พระสงฆ์ไว้อยู่ปริวาสกรรมที่เหลือก็โปรดให้เป็นที่ประกอบพิธีแรกนาขวัญ[8]: 18 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระราชศรัทธาที่จะเสริมสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ ให้สูงขึ้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระปรางค์เดิมสูง 8 วายังคงอยู่ถึงแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียังไม่มีพระมหาธาตุควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนครจึงโปรดให้กำหนดขุดรากแต่กำหนดยังค้างอยู่จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2367[8]: 18–19 

วัดอรุณราชวราราม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลงแล้วจึงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม[9]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปฏิสังขรณ์วัดแจ้งหลายอย่าง อาทิ ทำบุษบกยอดปรางค์ขึ้นที่ผนังหุ้มกลองตรงมุขพระอุโบสถด้านหน้าสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น ทำผนังหุ้มกลองตรงมุขพระอุโบสถด้านหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ 2 องค์ โปรดให้นำกระเบื้องลายดอกไม้ และใบไม้ที่สั่งมาจากเมืองจีนมาประดับเพิ่มเติมตลอดจนเสาหน้ามุข เสาลายเฉลียงรอบพระอุโบสถประดับเป็นลายดอกไม้ทั้งหมดแล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามพระประธานฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เมื่อปฏิสังขรณ์พระอุโบสถแล้วเสร็จจึงโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานมีรูปตราครุฑตรงผ้าทิพย์เป็นเครื่องหมาย ส่วนพระวิหารนั้นโปรดให้ประดับด้วยกระเบื้องลายดอกไม้จีนก้านแย่งขบวนไทย[8]: 20–22 

เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชวรราม และโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปพระอรุณ (พระแจ้ง) ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานบนฐานชุกชีหน้าพระพุทธชัมพูนุชด้วยทรงพระราชดำริว่ามีพระนามพ้องกับชื่อวัด[8]: 22–23 

เมื่อ พ.ศ. 2401 อ็องรี มูโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังสยามเขียนบันทึกบรรยายภาพวัดอรุณราชวราราม ตีพิมพ์ในหนังสือ Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos เมื่อปี ค.ศ. 1868 กรุงปารีสไว้ว่า :–

ขอเล่าเพิ่มเติ่มไว้ในที่นี่ด้วยว่า วัดแจ้ง อันเป็นวัดที่งดงามที่สุดของเมืองบางกอกไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตพระราชวัง แต่ตั้งตระหง่านอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ ยอดแหลมของเจดีย์ซึ่งสูงกว่า ๒๐๐ ฟุต เป็นเครื่องหมายแรกที่บ่งชี้ให้นักเดินทางซึ่งล่องทวนแม่น้ำมาจากปากน้ำแจ้งแก่ใจว่าตนมาถึงเมืองหลวงแล้ว[11][หมายเหตุ 1]

— อ็องรี มูโอ (1826–61), (แปลโดย รศ.ดร.กรรณิกา จรรย์แสง), Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l'Indo-Chine : relation extraite du journal et de la correspondance de l'auteur, 1868.
พระปรางค์วัดอรุณเมื่อ ค.ศ. 1858 ตามบันทึกอ็องรี มูโอ

เมื่อ พ.ศ. 2414 แฟรงค์ วินเซ็นต์ จูเนียร์ นักธุรกิจ นักสำรวจ และนักสะสมงานศิลปะชาวอเมริกันจากบรุกลิน[13] เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในสยามและเขียนบรรยายพระปรางค์วัดอรุณลงในบันทึกระหว่างการท่องเที่ยว เรื่อง ดินแดนแห่งช้างเผือก มุมมองและทัศนียภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Land of The White Elephant: Sights and Scenes in South-Eastern Asia) ไว้ว่า:–

องค์พระปรางค์วัดแจ้งมีลักษณะคล้ายพระเจดีย์ทรงระฆังสูงตระหง่าน มียอดแหลมลดหลั่นกันขึ้นไป ความสูงประมาณ 250 ฟุต สร้างด้วยอิฐฉาบปูน ประดับด้วยเครื่องถ้วยจานชามกระเบื้องของจีนหลากสีสันหลายขนาด มีทั้งเต็มใบและที่เป็นเศษกระเบื้องดูแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์และยังมีที่ก่อด้วยปูนเป็นรูปสัตว์ทั้งช้าง ลิง ยักษ์ สัตว์ที่หัวเป็นนกตัวเป็นราชสีห์ รวมทั้งลวดลาย ดอกไม้และใบไม้ และลวดลายแบบอาหรับ บริเวณที่อยู่สูงขึ้นไปเกือบครึ่งหนึ่งขององค์พระปรางค์ทำเป็นช่องขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐาน รูปพระพุทธเจ้าทรงช้าง 3 เชือก วัดแห่งนี้มีอาณาเขตราว 20 เอเคอร์ บริเวณด้านข้างโดยรอบองค์พระปรางค์เป็นกุฏิที่พักของพระสงฆ์ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ ห้องสมุด และหอต่าง ๆ ตลอดจนสวนไม้ดอกไม้ผล สระน้ำ ศาลาโถง และรูปสลักหิน (นำเข้าจากประเทศจีน) เป็นรูปนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ยักษ์ นักรบ รูปสัตว์ที่หัวเป็นนกตัวเป็นราชสีห์ และรูปสลักอื่น ๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้[14][หมายเหตุ 2]

— แฟรงค์ วินเซ็นต์ จูเนียร์ (1848–1916), (แปลโดย ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ เป็นการใหญ่เกือบทั้งวัด เริ่มตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารซึ่งกำลังทรุดโทรมลงในเวลานั้น โปรดให้สร้างพระบุษบกที่มุขหน้าและมุขหลังของพระอุโบสถที่ค้างไว้จนเสร็จบริบูรณ์เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบกับขณะนั้นเป็นเวลาที่พระองค์ทรงดำรงสิริราชสมบัติเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมภาคาภิเษกแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธนฤมิตรมาประดิษฐาน ณ บุษบกที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดอรุณ ฯ[3]: 23 

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2438 เวลา 16.00 น. เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถโดยมีเหตุลูกไฟปลิวมาจากโรงถ่านซึ่งตั้งอยู่เหนือคลองวัดแจ้งในสมัยพระราชมุนี (ปุ่น ปุณฺณโก) เป็นเจ้าอาวาส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรีบเสด็จพระราชดำเนินไปอำนวยการดับเพลงแล้วทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยออกมาได้ทัน ความเสียจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ปรากฏในรายงานการตรวจของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ลงวันที่ 4 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 114 (พ.ศ. 2439) แล้วทรงปฏิสังขรณ์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 12,800 บาท โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วัดอรุณ ฯ จนแล้วเสร็จแล้วจึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเศก[3]: 28 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพวัดอรุณฯ ยังบริบูรณ์อยู่มาก จึงมีเพียงการปฏิสังขรณ์ปลีกย่อยที่ทางวัดกับผู้ร่วมมีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการ เช่น การก่อเขื่อนหน้าวัดทางด้านที่จะขึ้นพระปรางค์ ซ่อมรูป และแขนยักษ์หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ สร้างและปฏิสังขรณ์กุฏิต่าง ๆ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างถนนระหว่างกุฏิกับโรงเรียนทวีธาภิเศก ซ่อมศาลานายนกและนายเรือง เป็นต้น[8]: 52–53 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีการปฏิสังขรณ์วัดหลายอย่าง เช่น ทำถนนในวัดให้มั่นคง ทำเขื่อนหน้าวัดให้แข็งแรงเนื่องจากของเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก[8]: 54 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการปฏิสังขรณ์วัดหลายประการตลอดรัชกาล เช่น ซ่อมถนนและซ่อมฐานพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัด สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเผือกวิทยาประสาธน์ ซ่อมกุฏิ ศาลาราย ประตู กำแพงวัด รั้วเหล็กรอบพระปรางค์ ช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์พระระเบียง ปฏิสังขรณ์พระวิหาร โบสถ์น้อยและวิหารน้อย สร้างเขื่อนปากคลองหน้าวัด ก่อกำแพงด้านหลังวัด และหน้าพระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาพระอุโบสถ กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแผนการบูรณะวัดอรุณ ฯ และคณะอนุกรรมการสำรวจความชำรุดของพระปรางค์โดยมี ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน[8]: 54–63  เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดอรุณ ฯ

ศิลปกรรม

[แก้]

กลุ่มเจดีย์ประธาน

[แก้]

ผังของวัดอรุณราชวรารามเป็นแผนผังที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนประเพณี คือ การสร้างเจดีย์ประธาน พระอุโบสถ และพระวิหารแยกออกจากกัน โดยมีกลุ่มสิ่งก่อสร้างหลักคือเจดีย์ประธานทรงปรางค์และเจดีย์บริวารเป็นประธานของวัด โดยไม่ได้อยู่ในจุดศูนย์กลางหรือในแกนเดียวกับอาคารอื่นของวัด[16]

เจดีย์ประธานทรงปรางค์

[แก้]
เจดีย์ประธาน
พระมหามงกุฎบนยอดเจดีย์ประธาน

เจดีย์ประธานของวัดอรุณราชวรารามเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ โดยทั่วไปมักเรียกว่า พระปรางค์ โดยพระปรางค์วัดอรุณฯ นั้น ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของเจดีย์ทรงปรางค์ คือเป็นการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ที่ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนคติในการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ที่มีมาแต่เดิม โดยการสอดแทรกแนวคิดใหม่เข้าไป ทั้งในส่วนรายละเอียดของงานประติมากรรมประดับ และการประดับกระเบื้องสีทั้งองค์ [17]

ส่วนประกอบของเจดีย์ประธานวัดอรุณ ประกอบไปด้วย ส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ส่วนฐาน ประกอบไปด้วยฐานชั้นล่างสุด คือ ฐานไพทีที่รองรับสิ่งก่อสร้างทั้งหมดคือ เจดีย์ประธาน เจดีย์บริวาร และมณฑปประจำด้าน มีรูปแบบเป็นฐานสิงห์ 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นประทักษิณชั้นที่ 1 เป็นชั้นฐานสิงห์ประดับบัวลูกแก้วอกไก่ ชั้นถัดไปเป็นชั้นประทักษิณชั้นที่ 2 ประกอบด้วยชั้นเชิงบาตร ประดับประติมากรรมอสูรแบกหรือยักษ์แบก และฐานสิงห์ประดับบัวลูกแก้วอกไก่อีกหนึ่งชั้น ถัดไปเป็นชั้นประทักษิณชั้นที่ 3 ประกอบด้วยชั้นเชิงบาตร ประดับประติมากรรมพลแบกหรือกระบี่แบก และฐานสิงห์ประดับบัวลูกแก้วอกไก่อีกหนึ่งชั้น ในปัจจุบันทางวัดเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปได้แค่ชั้นประทักษิณชั้นที่ 1[18]

ส่วนเรือนธาตุ ประกอบไปด้วยฐานชั้นล่างสุดเป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมเทวดาแบก ถัดไปเป็นชุดฐานสิงห์ 3 ฐานอยู่ในผังย่อมุมไม้ 36 มีจรนำซุ้มยื่นออกมาทั้งสี่ด้านเหนือหลังคาซุ้มประดับด้วยเจดีย์ทรงปรางค์ขนาดเล็ก ภายในซุ้มประดับประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณทั้งสี่ด้าน ซึ่งเป็นคติแบบใหม่ที่ปรากฏครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งตามคติเดิมนั้นในจระนำซุ้มจะประดิษฐานประพุทธรูป[18]

ส่วนยอด ชั้นล่างสุดของส่วนยอดเป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมพระนารายณ์ทรงครุฑ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนซ้อนชั้นแต่ละชั้นประดับบรรพแถลงแนบติดกับองค์เจดีย์ ไม่มีช่องวิมานและซุ้มวิมาน ส่วนนี้ได้ผนวกรวมกันทั้งหมดเหลือเพียงบรรพแถลงที่เรียกว่า ใบขนุน ลักษณะส่วนยอดเกือบเป็นแท่งตรง ไม่เป็นทรงพุ่มเหมือนสมัยอยุธยา จนมีคำกล่าวว่ามีลักษณะเหมือนท่อนแสม อันเป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงปรางค์ที่เกิดขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ บนยอดสุดประดับด้วยนภศูลประดับด้วยมงกุฏ อันเป็นประราชประสงค์ในรัชกาลที่ 3 ที่อันเชิญพระมหามงกุฏมาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องวัดนางนอง[18]

เจดีย์บริวาร

[แก้]
เจดีย์บริวาร

มีลักษณะแบบเจดีย์ทรงปรางค์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่บนฐานไพทีร่วมกับเจดีย์ประธาน มีลักษณะคือ ชั้นล่าสุดเป็นฐานเขียงในผังแปดเหลี่ยม มีจรนำภายในทำเป็นประติมากรรมกินรี ถัดมาเป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมพลแบก ประกอบด้วยกระบี่แบก ยักษ์แบก วางตำแหน่งสลับกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ 3 ฐานในผังย่อมุมไม้ 28 ถัดไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับส่วนเรือนธาตุ ในส่วนเรือนธาตุมีจรนำทั้ง 4 ด้าน ทุกด้านประดับประติมากรรมรูปบุคคลทรงม้าถือพระขรรค์ ซึ่งตีความว่าอาจจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่สามารถปราบดินแดนต่างๆ ในมหาทวีปทั้ง 4 ด้วยการเผยแพร่ธรรม ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งและคติดั้งเดิมของการสร้างเจดีย์บริวารที่บริเวณมุมทั้ง 4 รอบเจดีย์ประธาน แทนมหาทวีปทั้ง 4 ตามคติไตรภูมิ ส่วนยอดประกอบด้วยชั้นเชิงบาตร 2 ชั้น ชั้นล่างประดับประติมากรรมครุฑแบก ชั้นบนประดับประติมากรรมเทพนม ถัดขึ้นไปเป็นเรือนซ้อนชั้นแต่ละชั้นประดับบรรพแถลงแนบติดกับองค์เจดีย์เช่นเดียวกับเจดีย์ประธาน ส่วนยอดสุดประดับนภศูล[19]

มณฑป

[แก้]
มณฑป

มณฑปหรือปราสาททิศ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ 1 ตรงกลางระหว่างเจดีย์บริวารและเป็นส่วนประกอบของบันไดทางขึ้นลานประทักษิณชั้นที่ 1 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเช่นเดียวกับเจดีย์ประธานและเจดีย์บริวาร ส่วนฐานล่างสุดของมณฑปมีช่องบรรจุรูปกินรีและกินนร  เหนือช่องมณฑปทิศเหนือและทิศใต้เป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมอสูรแบก  เหนือช่องมณฑปทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมเป็นชั้นเชิงบาตรประดับประติมากรรมรูปคนธรรพ์แบก ส่วนเรืองของมณฑปมีมุขยื่นออกมา 4 ทิศ โดยมีมุขด้านข้างยาวกว่ามุขด้านหน้า-หลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ดังนี้ คือ มณฑปทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ มณฑปทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้  มณฑปทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา และมณฑปทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ส่วนยอดทำเป็นหลังคาแบบทรงปราสาท 5 ชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ[20]

พระอุโบสถ

[แก้]
พระอุโบสถ

ตามประวัติการบูรณะวัด พระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นพร้อมกับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องด้วยพระอุโบสถหลังเดิมถูกไฟไหม้ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่และต่อเติมพระปรางค์ต่อจนแล้วเสร็จใน พ.ศ.2385 แต่ต่อมาพระอุโบสถได้เกิดเพลิงไหม้หลังคาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการบูรณะใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเขียนงานจิตรกรรมภายในพระอุโบสถขึ้นใหม่ ผังของพระอุโบสถประกอบไปด้วย พระอุโบสถที่มีระเบียงคดล้อมรอบ และมีเจดีย์ประจำมุมภายในรระเบียงคด เป็นเจดีย์ทรงถะจีน ซุ้มสีมาเป็นทรงปราสาทยอด ซึ่งผังของพระอุโบสถเป็นรูปแบบแสดงความเป็นศูนย์กลางจักรวาล[21] ลักษณะของพระอุโบสถเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานสิงห์ 1 ฐาน คือส่วนฐานที่เป็นบริเวณระเบียงทางเดินรอบอาคาร ถัดขึ้นไปฐานของตัวอาคารเป็นฐานสิงห์ 1 ฐานเช่นกัน มีเฉลียง พาไล โดยรอบอาคาร เสาพาไลเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสอง ประดับบัวจงกลที่หัวเสา มีคันทวยรองรับหลังคา หลังคามีจำนวน 2 ซ้อน 3 ตับ ซุ้มประตูเป็นทรงปราสาทยอดปรางค์ ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบรรพแถลง ผนังภายนอกเป็นพื้นปูนทาสีขาวประดับกระเบื้องเคลือบฝังลงไปบนผนังและเสาเป็นลวดลายดอกไม้ร่วงหรือลายก้านแย่ง[22]

หน้าบันพระอุโบสถ

[แก้]
หน้าบันพระอุโบสถ

หน้าบันพระอุโบสถประดับเครื่องลำยองแบบไทยประเพณี ประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ลวดลายหน้าบันเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ส่วนกลางหน้าบันมีเส้นแบ่งกรอบอีก 1 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกลางในกรอบหน้าบันชั้นในจำหลักเป็นรูปปราสาท 3 หลัง ลักษณะเหมือนตราพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 3 ภายในปราสาทหลังกลางประดับประติมากรรมเทวดายืนยกพระขรรค์ขึ้นซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงพระอินทร์ ส่วนในปราสาทหลังด้านข้าง มีสังข์และพานพุ่มตั้งอยู่ ด้านข้างปราสาทประดับลวดลายกระหนกเปลวออกเทพพนม ส่วนกรอบหน้าบันด้านนอกประดับลวดลายกระหนกเปลวที่ออกรูปเทวดาพนมมือและร่ายรำ สลับกับเศียรนาค[22]

พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก

[แก้]
พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปหล่อจากสำริด รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นโดยพระองค์ทรงปั้นพระพักตร์ และรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงปั้นพระวรกาย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพัดยศตั้งถวายไว้กึ่งกลางพระอัครสาวกด้วย ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2327 กล่าวว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาบรรจุพระบรมธาตุที่อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังไว้ที่พระเกตุของพระพุทธรูปด้วย ลักษณะของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์กลมรี ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิแยกออกเป็น 2 ฉาก นิ้วพระหัตถ์ยามเสมอกัน พระเนตรเหลือบลงต่ำเล็กน้อยแสดงความสงบ ทรงแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ดังที่กล่าวว่าพระพักตร์อย่างหุ่นหรือแสดงความเยาว์วัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับพระพุทธรูปที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3[23]

พระพุทธนฤมิตร

[แก้]
พระพุทธนฤมิตร

บริเวณมุขหน้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีการสร้างบุษบกยอกปรางค์ขึ้นในลักษณะเป็นจรนำ ระหว่างซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ มีพระนามว่า พระพุทธนฤมิตร สร้างขึ้นโดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 เพื่อการพระราชกุศลถวายแด่พระบรมชนกนาถ แต่การสร้างพระพุทธรูปยังไม่แล้วเสร็จทรงสวรรคตเสียก่อน โดยมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยถ่ายแบบมาจากพระพุทธนฤมิตรพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งประดิษฐานในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ลักษณะของพระพุทธนฤมิตร เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ ปางห้ามสมุทร สูง 4 ศอก 2 นิ้ว ฐานสูงศอกคืบ 10 นิ้ว ทรงเครื่องต้นที่ประกอบไปด้วยพระมหามงกุฎ กรรเจียกจร กรองศอ สร้อยสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร รัดพระองค์ ปั้นเหน่ง สุวรรณกระถอบ ภูษาจีบหน้านาง ชายไหวชายแครง ทองพระบาท และฉลองพระบาท รูปแบบการหล่อเป็นแบบอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ มีการสร้าง 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นลวดลายที่หล่อพร้อมกับพระพุทธรูป เช่น ลายจีวร ส่วนที่ 2 คือการหล่อชิ้นส่วนเครื่องทรงจากแม่พิมพ์หินสบู่โดยใช้โลหะผสม และประดับอัญมณีตามลวดลายที่สำคัญ[24]

พระวิหาร

[แก้]
พระวิหาร

พระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี มีมุขโถงด้านหล้า-หลัง ไม่มีระเบียงรอบอาคาร ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์มีลักษณะแอ่นโค้งเป็นท้องสำเภา อาจเป็นวิหารเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยกรุงธนบุรี แต่เสารับน้ำหนักมุขโถงด้านหน้า-หลัง ใช้เป็นเสาที่เหลี่ยมทึบขนาดใหญ่ ไม่มีบัวหัวเสา ซึ่งอาจได้รับการต่อเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงมีการประดับคันทวยรับน้ำหนักหลังคา ผนังภายนอกอาคารประดับกระเบื้องเคลือบแบบเบญจรงค์ทั้งหมดยกเว้นที่เสารับน้ำหนักหลังคามุข โดยกระเบื้องเบญจรงค์นี้รัชกาลที่ 3 ทรงสั่งทำจากประเทศจีน เดิมจะนำไปประดับผนังพระอุโบสถ แต่ลวดลายไม่งามดังพระราชหฤทัย จึงทรงให้นำมาประดับที่พระวิหารแทน ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นทรงบรรพแถลง ผนังภายในเดิมสันนิษฐานว่าเคยมีจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนเป็นเรื่องราวแต่ลบเลือบไปแล้ว ในคราวบูรณะสมัยรัชกาลที่ 3 จึงประดับตกแต่งด้วยลายดอกไม้ร่วง เสาประดับลายแผง ซึ่งเป็นแบบอย่างงานในพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 เช่นกัน[25]

หน้าบันพระวิหาร

[แก้]
หน้าบันพระวิหาร

หน้าบันพระวิหารประดับเครื่องลำยองแบบไทยประเพณี ประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ลวดลายหน้าบันเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ส่วนกลางหน้าบันมีลายเส้นกระหนกผูกลายแบ่งกรอบหน้าบันอีก 1 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกลางในกรอบหน้าบันชั้นในจำหลักเป็นรูปเทวดานั่งถือพระขรรค์ ด้านข้างมีเทพนม 2 องค์ พื้นหลังทำเป็นลายกระหนกเปลวโดยรอบ พื้นหลังสุดประดับกระจกสีน้ำเงิน ส่วนกรอบหน้าบันด้านนอกประดับลวดลายกระหนกเปลวและกระหนกช่อหางโต ออกรูปเศียรนาค ช่วงกลางด้านบนเป็นลายก้านต่อดอก ลายบนสุดเป็นรูปยักษ์ พื้นหลังสุดประดับกระจกสีน้ำเงิน[25]

พระพุทธชัมพูนุช มหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

[แก้]
พระพุทธชัมพูนุช มหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธชัมพูนุช มหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ตามประวัดิกล่าวว่า รัชกาลที่ 3 โปรดให้หล่อขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร พระเสฏฐตมมุนี พระประธานในพระอุโบสถวัดราชนัดดารามวรวิหาร และพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร โดยหล่อจากทองแดงที่ขุดได้จำนวนมากจากอำเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา แล้วลงรักปิดทอง ลักษณะโดยรวมเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ พระวรกายเพรียวบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่จรดพระนาภี พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งไข่ ขมวดพระเกษาเล็ก มีพระรัสมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกค่อนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็กแย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย เส้นพระโอษฐ์โค้งเล็กน้อยเกือบเป็นเส้นตรง เรียกว่า "พระพักตร์อย่างหุ่น" กลางพระนลาฏทำเป็นลายอุณาโลมประดับกระจก[26]

มณฑปพระพุทธบาท

[แก้]
มณฑปพระพุทธบาท

มณฑปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์รายทรงเครื่อง 4 องค์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หลังคาพระมณฑปของเดิมเป็นยอดพระเกี้ยวแบบจีน แต่ได้พังลงมาเมื่อ พ.ศ.2438 สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงรับจัดการเรื่องเงินแลเรี่ยไรในการซ่อมแซม ทรงมีพระประสงค์จะเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดมงกุฎแบบ 8 เหลี่ยม แต่สร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ชีพเสียก่อน และพระยาราชสงคราม ทัด หงสกุล ที่เป็นผู้รับงานปฏิสังขรณ์นี้ ก็ถึงแก่อนิจกรรมเช่นกัน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดให้พระยาราชสงคราม กร หงสกุล ขณะเป็นพระราชโยธาเทพ ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิม[27] ผังของพระมณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ เป็นรูปพรรณพฤกษา ประกอบด้วยช่อดอกไม้ ใบไม้ มีฐานประทักษิณ 2 ชั้น เป็นฐานปัทม์ที่ยกพื้นไม้สูง บนฐานประทักษิณชั้นที่ 2 มีเสารองรับหลังคารอบอาคาร เป็นเสาทรงสี่เหลี่ยมทึบขนาดใหญ่ หลังคามณฑปทำใหม่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ มีจำนวน 3 ตับ หลังคาตับบนสุดทำเป็นหลังคาโค้งคล้ายหลังคาของเจดีย์จีน ยอดหลังคาประดับปูนปั้นรูปมงกุฎประดับกระเบื้องเคลือบ ช่องประตู-หน้าต่าง ประดับกรอบด้วยกระเบื้องเคลือบ ลวดลายพรรณพฤกษา มีบันไดยาวตอนเดียวขึ้นไปยังภายในอาคารด้านทิศเหนือ อีก 3 ด้าน เป็นบันไดแยกชั้นกัน ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]

นับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดอรุณราชวรารามมีเจ้าอาวาสสืบลำดับมา ดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระโพธิวงศาจารย์ (ไม่ปรากฏนามเดิม)[8]: 97  พ.ศ. 2326 ?
2 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ไม่ปรากฏนามเดิม)[8]: 97  ? ?
3 พระพุทธโฆษาจารย์ (คง) พ.ศ. 2362 ?
4 สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) ? พ.ศ. 2419
5 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ทอง) พ.ศ. 2419 พ.ศ. 2424
6 พระเทพโมลี (ฑิต อุทโย) พ.ศ. 2424 พ.ศ. 2431
7 พระราชมุนี (ปุ่น ปุณฺณโก) พ.ศ. 2438 พ.ศ. 2441
8 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) พ.ศ. 2444 พ.ศ. 2456
9 พระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร) พ.ศ. 2456 พ.ศ. 2467
10 พระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค) พ.ศ. 2468 พ.ศ. 2488
11 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) พ.ศ. 2489 พ.ศ. 2520
12 พระธรรมคุณาภรณ์ (เจียร ปภสฺสโร) พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2524
13 พระธรรมสิริชัย (บุญเลิศ โฆสโก) พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2551
14 พระธรรมมงคลเจดีย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ) พ.ศ. 2552 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
15 พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน

ระเบียงภาพ

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส: Nous devons ajouter que la plus belle pagode de Bangkok, celle de Wat-Chang, n’est cependant pas renfermée dans l’enceinte du palais, mais s’élève vis-à-vis, sur la rive droite du Ménam. Sa flèche, haute de deux cents pieds, est le premier indice de la capitale qu’aperçoit le voyageur qui remonte le fleuve en venant de la mer.[12]
  2. ต้นฉบับภาษาอังกฤษ: The Wat Cheng pagoda is bell-shaped, with a lofty tapering steeple—a prachadi, sacred spire; the whole probably two hundred and fifty feet in height. It is built of brick, and plastered on the outside, which is wrought into a grotesque and fantastic mosaic with Chinese cups, plates, and dishes of all sizes and colours, broken and whole, so set in the plaster as to form figures of elephants, monkeys, demons, and griffins, flowers, fruits, vines, and arabesques. In large niches upon the sides, at nearly half the distance to its top, are images of Buddha riding on three elephants. The grounds of Wat Cheng, some twenty acres in extent, embrace—besides the priests’ dwellings, temples, preaching-room, library, and halls—beautiful flower and fruit gardens, ponds, grottoes, belvederes, and stone statues (brought from China) of sages, giants, warriors, griffins, nondescripts, &c.[15]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 32, ตอน 0 ก, 3 ตุลาคม พ.ศ. 2458, หน้า 289
  2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2524). "ประวัติวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)," ประวัติวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตอน ๑. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ. หน้า 18.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 กรมศิลปากร. (2521). ประวัติวัดอรุณราชวราราม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). คณะสงฆ์วัดอรุณราชวรารามจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาณมหาเถร) อดีดเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
  4. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2505). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 42.
  5. Suriyothin, Phanchalath et al. (2022). History of Wat Arun Ratchawararam. Arun-Sawas.com : The Research on Creating electronic media on cultural heritage to promote tourism at Wat Arun Ratchawararam. Bangkok: Faculty of Architecture Chulalongkorn University.
  6. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2502). “ทูลสนองเรื่องที่ยังค้าง,” สาส์นสมเด็จ ภาค ๔๘. พระนคร: กรมศิลปากร. หน้า 30.
  7. Vollant des Verquains. (1691). Histoire de la Révolution de Siam arrivée en l’année 1688. Lille: Jean Chrysostome Malte.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 กรมศิลปากร. (2511). ประวัติวัดอรุณราชวราราม พร้อมด้วยแผนผังภาพปูชนียวัตถุสถานและถาวรวัตถุ. คณะกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณาราชวรารามจัดพิมพ์ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงยกพระมหามงกุฎยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ในงานฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑. พระนคร: กรมศิลปากร.
  9. 9.0 9.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2467). เรื่องตำนานสถานที่และวัดถุต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง นับเปนประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 70.
  10. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2533). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย. หน้า 155. ISBN 978-974-4-17035-4
  11. มูโอต์, อ็องรี และกรรณิการ จรรย์แสง. (2558). บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดนจีนตอนกลางส่วนอื่น ๆ. (แปลโดยกรรณิการ จรรย์แสง). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 39. ISBN 978-974-02-1436-6
  12. MOUHOT, H. and LANOYE, FERDINAND DE. (1868). Voyage dans les royaumes de Siam, de Cambodge, de Laos et autres parties centrales de l'Indo-Chine : relation extraite du journal et de la correspondance de l'auteur. Paris: Librai de L. Hachette & Cie. p. 24.
  13. Yale University (1911). "Obituary Record of Graduates of Yale University: Deceased during the year ending June 1, 1911, including the record of a few who died previously hitherto unreported," in Bulletin of Yale University, 7(9)(July, 1911): 79. "Frank Vincent, B.A. 1870."
  14. วินเซ็นต์ จูเนียร์, แฟรงค์. (2563). ดินแดนแห่งช้างเผือก มุมมองและทัศนียภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะตอนประเทศสยาม. (แปลโดย ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. น. 32–33. ISBN 978-616-283-516-2
  15. Vincent Jr., Frank (1874). The Land of The White Elephant: Sights and Scenes in South-Eastern Asia, A Personal Narrative of Travel and Adventure in Farther India, Embracing The Countries of Burma, Siam, Cambodia, and Cochin-China (1871–2). New York, NY: Harper & Brothers, Publishers. pp. 126–7.
  16. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 154-155
  17. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 157
  18. 18.0 18.1 18.2 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 158-159
  19. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 162-163
  20. ท่องวัดผ่านเว็บ, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร. "มณฑปหรือปราสาททิศ".
  21. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 163
  22. 22.0 22.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 164
  23. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 166
  24. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 166-168
  25. 25.0 25.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 173-174
  26. ศักดิ์ชัย สายสิงห์, คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2566), 174
  27. "บทที่ 12 ประวัติความเป็นมาของ มณฑปพระพุทธบาทจำลอง วัดอรุณราชวราราม".

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′37″N 100°29′20″E / 13.743710°N 100.488966°E / 13.743710; 100.488966