ข้ามไปเนื้อหา

โตเกียว

พิกัด: 35°41′23″N 139°41′32″E / 35.68972°N 139.69222°E / 35.68972; 139.69222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Tokyo)
โตเกียว

東京都
มหานครโตเกียว
東京都
จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง:
ธงของโตเกียว
ธง
ตราอย่างเป็นทางการของโตเกียว
ตรา
โลโกอย่างเป็นทางการของโตเกียว
สัญลักษณ์
สมญา: 
เดอะบิ๊กมิกัง,[1] นิวยอร์กแห่งเอเชียตะวันออก
เพลง: "โทเกียวโตกะ" (ญี่ปุ่น: 東京都歌โรมาจิTōkyō-to Ka)
แผนที่
แผนที่แบบโต้ตอบแสดงขอบเขตของมหานครโตเกียว
แผนที่โตเกียว (สีแดง) ภายในประเทศญี่ปุ่น
แผนที่โตเกียว (สีแดง) ภายในประเทศญี่ปุ่น
พิกัด: 35°41′23″N 139°41′32″E / 35.68972°N 139.69222°E / 35.68972; 139.69222
ประเทศ ญี่ปุ่น
ภูมิภาคคันโต
เกาะฮนชู
ศูนย์กลางโตเกียว[a]
เขตการปกครองย่อย23 เขตพิเศษ, 26 นคร, 1 อำเภอ, และ 4 กิ่งจังหวัด
การปกครอง
 • องค์กรองค์การปกครองมหานครโตเกียว
 • ผู้ว่าราชการยูริโกะ โคอิเกะ (อิสระ)
พื้นที่[3]
 • ทั้งหมด2,194 ตร.กม. (847 ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล13,452 ตร.กม. (5,194 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่ที่ 45 ในประเทศญี่ปุ่น
ความสูงจุดสูงสุด[4]2,017 เมตร (6,617 ฟุต)
ความสูงจุดต่ำสุด0 เมตร (0 ฟุต)
ประชากร
 (ค.ศ. 2023)[5]
 • ทั้งหมด14,094,034 คน
 • อันดับที่ 1 ในประเทศญี่ปุ่น
 • ความหนาแน่น6,363 คน/ตร.กม. (16,480 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง39,105,000 คน
 • รวมปริมณฑล[6]40,800,000 คน
 • ความหนาแน่นรวมปริมณฑล3,000 คน/ตร.กม. (7,900 คน/ตร.ไมล์)
เดมะนิมTokyoite (โตเกียวไอต์)
ประชากรศาสตร์
 • ภาษาถิ่น
จีดีพี[7]
 • ทั้งหมด109.692 ล้านล้านเยน
1.027 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2020)
 • เขตมหานคร222.129 ล้านล้านเยน
2.084 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2020)
เขตเวลาUTC+09:00 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น)
ISO 3166-2JP-13
รหัสท้องถิ่น13000-1
เว็บไซต์www.metro.tokyo.lg.jp
สัญลักษณ์
สัตว์ปีกนกนางนวลหัวดำ
ดอกไม้ซากูระโซเมอิโยชิโนะ
ต้นไม้แปะก๊วย

โตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京โรมาจิTōkyōทับศัพท์: โทเกียว) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า มหานครโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京都โรมาจิTōkyō-toทับศัพท์: โทเกียว-โตะ; อังกฤษ: Tokyo Metropolis) เป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บริเวณส่วนหัวของอ่าวโตเกียว โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคคันโตบนชายฝั่งตอนกลางของเกาะฮนชู เกาะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีระบบการปกครองแบบพิเศษซึ่งรวมการปกครองในรูปแบบจังหวัดและเทศบาลนครไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ เขตอภิมหานครโตเกียวจัดว่าเป็นเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยหากนับรวมประชากรทั้งหมดในเขตอภิมหานครโตเกียวแล้วจะมีประชากรมากถึง 41 ล้านคน (ค.ศ. 2024) [8] โดยอาศัยในเขตเมืองประมาณ 14 ล้านคน[9] ถือเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง คำว่า "โตเกียว" หมายถึง "นครหลวงตะวันออก" โตเกียวได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน "สี่นครเอกของโลก" ร่วมกับลอนดอน ปารีส และนิวยอร์ก ได้รับการจัดอันดับตามดัชนีชี้ความน่าอยู่ทั่วโลก (Global Liveability Index) ให้เป็น 1 ใน 4 เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกใน ค.ศ. 2021

เดิมทีโตเกียวเป็นหมู่บ้านชาวประมงซึ่งรู้จักกันในชื่อ "เอโดะ" กระทั่งเมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองในช่วงประมาณ ค.ศ. 1603 ในรัฐบาลเอโดะ และได้กลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ด้วยประชากรมากกว่าหนึ่งล้านคน ภายหลังจากการฟื้นฟูเมจิ เมืองหลวงของจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างเกียวโตได้ถูกย้ายมาที่เอโดะ และได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โตเกียว" ซึ่งต่อมาทั้งเมืองได้รับผลกระทบรุนแรงจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 ตามด้วยการทิ้งระเบิดโตเกียว ก่อนจะได้รับการบูรณะอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1950 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นำไปสู่ยุค “ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น” ในทศวรรษ 1960 และนับตั้งแต่ ค.ศ. 1943 ได้มีการจัดตั้งมหานครโตเกียวขึ้นเป็นเขตปกครองรูปแบบพิเศษ และมีการแบ่งนครโตเกียวออกเป็น 23 เขต ซึ่งรวมถึงกลุ่มเกาะบริเวณนอกเขตเมืองอีกสองแห่งซึ่งเรียกว่า หมู่เกาะโตเกียว

โตเกียวได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยวัดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยผลผลิตมวลรวมอยู่ที่ 113.7 ล้านล้านเยนหรือ 1.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2021 และคิดเป็น 20.7% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 8.07 ล้านเยนหรือ 73,820 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว[10] โตเกียวถูกจัดอยู่ในประเภทเมืองอัลฟ่าพลัส (เมืองระดับโลก) ตามเครือข่ายการวิจัยโลกาภิวัตน์และเมืองโลก โตเกียวยังถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคควบคู่ไปกับโยโกฮามะ คาวาซากิ และชิบะ เมืองนี้ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกจำนวน 29 แห่งโดยฟอร์จูนโกลบอล 500 (บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลก)[11] และใน ค.ศ. 2020 โตเกียวได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับสี่ตามความสามารถในการแข่งขันด้านการเงิน เป็นรองเพียงนิวยอร์ก ลอนดอน และเซี่ยงไฮ้ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวยังเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดประมาณ 1.5 เท่าของ ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก[12] แม้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะลดลงในช่วงทศวรรษที่สาบสูญ

โตเกียวเป็นหนึ่งในเมืองที่มีระบบการขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยที่สุดในโลก[13][14] โตเกียวเมโทรสายกินซะเปิดให้บริการใน ค.ศ. 1927 ในปัจจุบันถือเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก[15] สถานีรถไฟโตเกียวยังเป็นสถานีรถไฟหลักของภูมิภาค และเป็นหนึ่งในสถานีสำคัญของประเทศ ให้บริการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่รู้จักกันในชื่อ ชิงกันเซ็ง นอกจากนี้ สถานีสำคัญอย่าง สถานีรถไฟชินจูกุ ถือเป็นหนึ่งในสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากติดอันดับโลกในแต่ละวัน โตเกียวยังเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นท่าอากาศยานภายในประเทศที่ดีที่สุดในโลกใน ค.ศ. 2020[16]

โตเกียวเคยเป็นเจ้าภาพเหตุการณ์ระดับโลกหลายครั้ง ได้แก่ กีฬาโอลิมปิกปี 1964 และ 2020, พาราลิมปิกฤดูร้อน 1964 และ 2020 รวมถึงเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดกลุ่ม 7 จำนวนสามครั้ง (ค.ศ. 1979, 1986 และ 1993) โตเกียวยังเป็นศูนย์การทางด้านการวิจัยและการพัฒนาของประเทศ และเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง รวมถึงมหาวิทยาลัยโตเกียว เขตพิเศษอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในโตเกียวได้แก่ เขตชิโยดะ เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญระดับประเทศสองแห่ง ได้แก่ พระราชวังหลวงของสมเด็จพระจักรพรรดิ และอาคารรัฐสภาญี่ปุ่น, เขตชินจูกุ ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ และเขตชิบูยะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมด้านวัฒนธรรม การค้า และธุรกิจ โตเกียวมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โตเกียวดิสนีย์แลนด์, เซ็นโซจิ, ศาลเจ้าเมจิ, สวนฮามาริกีว, และโตเกียวทาวเวอร์ และยังเป็นที่ตั้งของโตเกียวสกายทรี สิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น[17] รวมถึง "เส้นทางระบายน้ำเขตรอบนอกเมืองหลวง" หรือ "อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ" ซึ่งใช้รับมือเหตุอุทกภัย[18] โตเกียวยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลกจากการสำรวจในระดับนานาชาติหลายครั้ง[19][20]

ชื่อเมือง

[แก้]
โตเกียว
โตเกียวเมื่อเขียนด้วยคันจิ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต東京
คีวจิไต東亰
ฮิรางานะとうきょう
คาตากานะトウキョウ
การถอดเสียง
เฮ็ปเบิร์นปรับปรุงTōkyō
คุนเรชิกิTôkyô

โตเกียวเคยถูกเรียกว่า "เอโดะ" (ญี่ปุ่น: 江戸โรมาจิEdo) ซึ่งแปลว่า "ปากน้ำ"[21] ชื่อนี้มาจากที่ตั้งเริ่มแรกของชุมชนตรงบริเวณที่แม่น้ำซูมิดะไหลสู่อ่าวโตเกียว เมื่อกลายเป็นเมืองหลวงของจักรพรรดิในช่วงการฟื้นฟูเมจิใน ค.ศ. 1868 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว แปลว่า "กรุงตะวันออก" ( โท "ตะวันออก" และ เกียว "กรุง") สอดคล้องกับเมืองหลวงต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกในการรวมคำที่แสดงถึงเมืองหลวง () ไว้ในชื่อของเมือง ตัวอย่างเช่น เกียวโต (京都), เคโจ (京城), ปักกิ่ง (北京), หนานจิง (南京), และซีจิง (西京)[21] ในตอนต้นยุคเมจิ บางครั้งเรียกโตเกียวว่า "โทเก"[22] ซึ่งเป็นวิธีอ่านอีกแบบของตัวคันจิ แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว[23]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ก่อน ค.ศ. 1869 (ยุคเอโดะ)

[แก้]

โตเกียวแต่เดิมเป็นหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ที่ชื่อเอโดะ ต่อมาใน ค.ศ. 1457 ปราสาทเอโดะได้ถูกสร้างขึ้น และต่อมาในปีทศวรรษที่ 1590 เป็นยุคที่โทกูงาวะ อิเอยาซุได้เริ่มปราบหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งภายหลังจากปราบหัวเมืองต่าง ๆ ลงได้อย่างราบคาบแล้วใน ค.ศ. 1603 เขาได้สถาปนารัฐบาลโชกุนขึ้นปกครองประเทศ โดยมีเอโดะเป็นที่ตั้งของ "บากูฟุ" (รัฐบาลทหาร) และสถาปนาตนขึ้นเป็นโชกุน เมืองเอโดะจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลทหารของเขาซึ่งมีอำนาจปกครองทั้งประเทศ ในช่วงเวลาต่อมาในยุคเอโดะ เมืองเอโดะก็ขยายตัวขึ้นจนกลายเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในโลก โดยมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนใน คริสต์ศตวรรษที่ 18[24] และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น[25] แม้ว่าองค์จักรพรรดิประทับอยู่ในนครหลวงเฮอังเกียว (เกียวโต)

ค.ศ. 1869–1943

[แก้]

เอโดะได้เปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว (เมืองหลวงตะวันออก) เมื่อ ค.ศ. 1868 หลังจากการล่มสลายของระบอบปกครองภายใต้โชกุนเอโดะและรวบรวมอำนาจคืนสู่จักรพรรดิ จักรพรรดิเมจิผู้ทรงพระเยาว์เคยเสด็จเยือนโตเกียวครั้งหนึ่งในช่วงปลาย ค.ศ. 1868 และในที่สุดก็เสด็จย้ายเข้ามาประทับใน ค.ศ. 1869 โดยก่อนหน้านี้โตเกียวเป็นศูนย์กลางทางการเมืองของประเทศอยู่แล้ว[26] แต่การที่จักรพรรดิทรงย้ายมาประทับจึงทำให้โตเกียวกลายเป็นเมืองหลวงของจักรพรรดิโดยพฤตินัยด้วย โดยที่ปราสาทเอโดะเดิมได้เปลี่ยนเป็นพระราชวังหลวงโตเกียว

ในยุคเมจิ โตเกียวมีการพัฒนาโดยได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น การเปิดบริการโทรเลขระหว่างโตเกียวกับโยโกฮามะใน ค.ศ. 1869 และการเปิดบริการรถไฟสายแรกระหว่างชิมบาชิกับโยโกฮามะใน ค.ศ. 1872[26] ต่อมาได้มีการจัดตั้งเทศบาลนครโตเกียวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1889

โตเกียวเมโทรสายกินซะช่วงระหว่างอูเอโนะถึงอาซากูซะเป็นรถไฟใต้ดินสายแรกที่สร้างขึ้นในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1927[27]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โตเกียวประสบภัยพิบัติใหญ่สองครั้ง ได้แก่ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต ค.ศ. 1923 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย 140,000 คน และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[28]

ค.ศ. 1943–1945

[แก้]

ใน ค.ศ. 1943 เทศบาลนครโตเกียวได้ควบรวมเข้ากับจังหวัดโตเกียวเพื่อจัดตั้งเป็น "มหานครโตเกียว" (ญี่ปุ่น: 東京都โรมาจิTōkyō-to) นับตั้งแต่นั้นมา องค์การปกครองมหานครโตเกียวก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดโตเกียวเดิม โดยครอบคลุมในส่วนของเขตพิเศษของโตเกียวที่เคยเป็นพื้นที่ของเทศบาลนครโตเกียวมาก่อนด้วย

สงครามโลกครั้งที่สองทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของโตเกียวถูกทำลายอย่างกว้างขวาง เนื่องมาจากการโจมตีทางอากาศและการใช้อาวุธเพลิงของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์การทิ้งระเบิดที่โตเกียวใน ค.ศ. 1944 และ 1945 คาดว่าได้คร่าชีวิตพลเรือนไปเป็นจำนวนระหว่าง 75,000 ถึง 200,000 ราย และทำให้ตัวเมืองมากกว่าครึ่งถูกทำลาย[29] ในคืนวันที่ 9–10 มีนาคม ค.ศ. 1945 มีการจู่โจมของอเมริกาที่ชื่อว่า "ปฏิบัติการมีตติงเฮาส์" (Operation Meetinghouse)[30] ระเบิดเพลิงเกือบ 700,000 ลูกตกลงมายังฝั่งตะวันออกของเมือง ส่วนใหญ่ตกในพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น พื้นที่สองในห้าของเมืองถูกเผาทั้งหมด อาคารมากกว่า 276,000 หลังถูกทำลาย พลเรือน 100,000 รายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 110,000 ราย[31][32] ระหว่าง ค.ศ. 1940 ถึง 1945 ประชากรในโตเกียวลดลงจาก 6,700,000 คน เหลือน้อยกว่า 2,800,000 คน ผู้คนส่วนใหญ่ที่สูญเสียบ้านต้องอาศัยอยู่ในกระท่อมชั่วคราวที่ชำรุดทรุดโทรม[33]

ค.ศ. 1945–1972

[แก้]
ย่านมารูโนอูจิในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 โตเกียวยังไม่มีตึกสูงจนกระทั่งมีการยกเลิกข้อจำกัดความสูงของอาคารในคริสต์ทศวรรษ 1960
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ที่โตเกียว เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากเมืองที่ถูกทำลายจากสงครามสู่มหานครสมัยใหม่

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โตเกียวกลายเป็นฐานบัญชาการของกองกำลังสัมพันธมิตรซึ่งเข้ายึดครองญี่ปุ่น โดยมีนายพลดักลาส แมกอาเธอร์ แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บัญชาการ การฟื้นฟูเมืองในช่วงแรกอิงตามแบบแผน "เมโทรโพลิแทนกรีนเบลต์" (Metropolitan Green Belt) ของกรุงลอนดอนที่วางไว้ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากสงคราม[34] อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวต้องถูกลดทอนลง เนื่องจากนโยบายการรัดเข็มขัดทางการเงินที่เรียกว่า "ดอดจ์ไลน์" (Dodge Line) ซึ่งมีที่มาจากโจเซฟ ดอดจ์ (Joseph Dodge) ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ของแมกอาเธอร์ จึงเน้นเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเป็นหลัก ใน ค.ศ. 1947 เขตพิเศษ 35 เขตในระบบเดิมถูกจัดระเบียบใหม่เป็น 23 เขตพิเศษดังที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจของโตเกียวยังไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งราว ค.ศ. 1950 เมื่อภาคอุตสาหกรรมหนักกลับมาผลิตได้ในระดับก่อนสงคราม[35][34] หลังสิ้นสุดการยึดครองญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1952 โตเกียวเริ่มเปลี่ยนเป้าหมายจากการฟื้นฟูสู่การพัฒนาที่เหนือกว่าระดับก่อนสงคราม ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ระบบรถไฟและรถไฟใต้ดินของโตเกียวขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีจุดสำคัญคือการเปิดให้บริการชิงกันเซ็ง รถไฟความเร็วสูงสายแรกของโลก ที่วิ่งระหว่างโตเกียวกับโอซากะใน ค.ศ. 1964 ปีเดียวกันนี้ โตเกียวยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอื่น ๆ เช่น ทางด่วนชูโตะ เพื่อตอบรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชีย ในช่วงนี้เอง มีการผ่อนปรนข้อจำกัดความสูงของอาคารที่บังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1920 ที่จำกัดความสูงไว้ไม่เกิน 31 เมตร เพื่อรองรับความต้องการของสำนักงานและอาคารสมัยใหม่ที่เริ่มมีเทคโนโลยีต้านแผ่นดินไหว[36] โดยเริ่มจากอาคารคาซูมิงาเซกิ (สูง 147 เมตร) ซึ่งสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1968 จากนั้นอาคารสูงก็เริ่มกลายเป็นภาพประจำเมือง ระหว่างยุคของการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว โตเกียวได้จัดงานฉลองครบรอบ 500 ปี ใน ค.ศ. 1956[37] และใน ค.ศ. 1968 หมู่เกาะโองาซาวาระซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามยุติ ก็ถูกส่งคืนให้ญี่ปุ่น[38] ใน ค.ศ. 1967 เรียวกิจิ มิโนเบะ นักเศรษฐศาสตร์สายมาร์กซิสต์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการมหานครโตเกียว และดำรงตำแหน่งนาน 12 ปี เขาเป็นที่จดจำจากนโยบายรัฐสวัสดิการ เช่น การให้บริการรักษาพยาบาลฟรีแก่ผู้สูงอายุ การช่วยเหลือครอบครัวที่มีเด็ก รวมถึงการต่อต้านมลพิษอย่างจริงจัง แม้นโยบายเหล่านี้จะก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณอย่างมาก[39]

ค.ศ. 1973–ปัจจุบัน

[แก้]
การพัฒนาเขตธุรกิจในชินจูกุเริ่มต้นในคริสต์ทศวรรษ 1970

แม้ว่าวิกฤตการณ์น้ำมัน ค.ศ. 1973 จะยุติการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังสงคราม แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงรักษาสถานะเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกไว้ได้จนถึง ค.ศ. 2010 เมื่อถูกประเทศจีนแซงหน้าไป[40] โตเกียวสามารถรักษาการพัฒนาไว้ได้ต่อเนื่อง จากสถานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของประเทศ ใน ค.ศ. 1978 หลังการประท้วงรุนแรงที่ซันริซูกะยาวนานหลายปี ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะก็เปิดใช้งานในฐานะประตูสู่โตเกียวแห่งใหม่ ส่วนท่าอากาศยานฮาเนดะปรับบทบาทเป็นสนามบินภายในประเทศเป็นหลัก[41] บริเวณชินจูกุตะวันตก ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์บำบัดน้ำโยโดบาชิขนาดใหญ่จนถึง ค.ศ. 1965 ก็ได้กลายเป็นเขตธุรกิจใหม่ที่เต็มไปด้วยอาคารระฟ้าสูงกว่า 200 เมตร[42]

ใน ค.ศ. 1985 ข้อตกลงพลาซาที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อกดค่าเงินดอลลาร์ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและกลางในโตเกียว[43] รัฐบาลจึงหันมาใช้นโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เป็นผลให้เกิดภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ มีโครงการพัฒนาที่ดินในเมืองมากมาย และราคาที่ดินพุ่งสูง ใน ค.ศ. 1990 ราคาประเมินของพระราชวังหลวงโตเกียวสูงกว่ามูลค่าทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย[44] ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่ารวมสูงที่สุดในโลก และบริษัทเอ็นทีที ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในโตเกียว ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก[12][45]

กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ถูกเลื่อนมาแข่งขันใน ค.ศ. 2021 เนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19

หลังฟองสบู่แตกในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยยาวนานซึ่งเรียกว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ" เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือไม่เติบโตเลย เกิดภาวะเงินฝืดและราคาทรัพย์สินทรุดลง[46] โตเกียวก็สูญเสียความโดดเด่นในเวทีโลกลงในช่วงสามทศวรรษดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โตเกียวยังคงมีการพัฒนาเมืองใหม่ ๆ เช่น เอบิซุการ์เดนเพลซ, เทนโนซุไอล์, ชิโอโดเมะ, รปปงงิฮิลส์, ชินางาวะ, และฝั่งมารูโนอูจิของสถานีรถไฟโตเกียว โครงการถมทะเลก็ยังคงเป็นแนวทางการขยายตัวของเมืองต่อเนื่อง โดยเฉพาะย่านโอไดบะที่กลายเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกและบันเทิงที่สำคัญ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 มีการเสนอแผนย้ายศูนย์กลางราชการบางส่วนจากโตเกียวไปยังเมืองอื่น[47] เพื่อลดความแออัดและกระจายการพัฒนาไปทั่วประเทศ[48] แต่แผนดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนัก จนใน ค.ศ. 2003 นายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ สั่งยุติการอภิปรายเรื่องนี้ในรัฐสภา[49][50] ใน ค.ศ. 2013 สำนักงานกิจการวัฒนธรรม (Agency for Cultural Affairs) ได้ย้ายจากคาซูมิงาเซกิไปยังเกียวโต นับเป็นหน่วยงานราชการกลางหน่วยแรกที่ย้ายออกจากโตเกียว[51]

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2013 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ประกาศให้โตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทำให้โตเกียวเป็นเมืองแรกในเอเชียที่จัดโอลิมปิกถึงสองครั้ง[52] อย่างไรก็ตาม การแข่งขันต้องเลื่อนออกไปจัดระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม ค.ศ. 2021 เนื่องจากการระบาดทั่วของโควิด-19[53]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
หมู่เกาะโอะงะซะวะระซึ่งมีจุดที่ใต้สุดและตะวันออกสุดของญี่ปุ่น

โตเกียวตั้งอยู่ในที่ราบคันโตติดกับอ่าวโตเกียว มีขนาดประมาณ 90 กม. จากตะวันออกถึงตะวันตก และ 25 กม. จากเหนือถึงใต้ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดชิบะ ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดยามานาชิ ทิศใต้ติดกับจังหวัดคานางาวะ และทิศเหนือติดกับจังหวัดไซตามะ เขตการปกครองของโตเกียวนั้นรวมไปถึงหมู่เกาะอิซุและหมู่เกาะโองาซาวาระด้วย จึงทำให้โตเกียวมีจุดที่อยู่ใต้สุดและตะวันออกสุดของญี่ปุ่นอยู่ในพื้นที่ด้วย

ทางตะวันออกของโตเกียวเป็นที่ราบตะกอนน้ำพาเช่นบริเวณปากแม่น้ำซูมิดะและแม่น้ำเอโดะ พื้นดินค่อนข้างอ่อนจึงทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน[54] อ่าวโตเกียวถูกถมที่เพื่อสร้างพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ยุคเอโดะ[55] และเริ่มมีการถมที่เพื่อสร้างสถานที่กำจัดขยะตั้งแต่ปี 1927[56] ปัจจุบันพื้นที่ประมาณร้อยละ 20 ของอ่าวโตเกียวกลายเป็นพื้นที่ถูกถม[57] ในอำเภอนิชิตามะทางตะวันตกเป็นที่สูง โดยมีเขาคูโมโตริซึ่งมีความสูง 2,017 ม. เป็นจุดที่สูงที่สุดในโตเกียว โตเกียวตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลังซึ่งอยู่ใกล้ผิวโลกมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้น[58]

ทั้งหมู่เกาะอิซุและโองาซาวาระเป็นหมู่เกาะภูเขาไฟ หมู่เกาะอิซุมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่จำนวนมาก เช่นภูเขาไฟโอยามะบนเกาะมิยาเกะที่ระเบิดในปี 2000[59] ส่วนหมู่เกาะโองาซาวาระนั้นอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่มากและมีสัตว์ท้องถิ่นหลายชนิด จนบางครั้งถูกเรียกว่าหมู่เกาะกาลาปาโกสแห่งตะวันออก[60]

ภูมิอากาศ

[แก้]

ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิปเปน โตเกียวอยู่ในเขตภูมิอากาศชุ่มชื้นกึ่งเขตร้อน (Cfa)[61] และตามการแบ่งเขตภูมิอากาศในประเทศญี่ปุ่น โตเกียวอยู่ในเขตภูมิอากาศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีความแตกต่างระหว่างฤดูชัดเจน อากาศเปลี่ยนแปลงง่ายในแต่ละวัน ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงและฝนตกมาก ฤดูหนาวมีวันที่แดดออกและอากาศแห้ง

โตเกียวเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์เกาะความร้อน ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยความร้อนโดยวิธีต่าง ๆ เช่นไอร้อนจากเครื่องปรับอากาศหรือรถยนต์ และการพัฒนาตัวเมืองทำให้มีพื้นที่สีเขียวน้อยลง[62]

ข้อมูลภูมิอากาศของ23 เขตพิเศษของโตเกียว[63] (ค.ศ. 1981–2017)
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 22.6
(72.7)
24.9
(76.8)
25.3
(77.5)
29.2
(84.6)
32.2
(90)
36.2
(97.2)
39.5
(103.1)
39.1
(102.4)
38.1
(100.6)
32.6
(90.7)
27.3
(81.1)
24.8
(76.6)
39.5
(103.1)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 9.6
(49.3)
10.4
(50.7)
13.6
(56.5)
19.0
(66.2)
22.9
(73.2)
25.5
(77.9)
29.2
(84.6)
30.8
(87.4)
26.9
(80.4)
21.5
(70.7)
16.3
(61.3)
11.9
(53.4)
19.8
(67.6)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 5.2
(41.4)
5.7
(42.3)
8.7
(47.7)
13.9
(57)
18.2
(64.8)
21.4
(70.5)
25.0
(77)
26.4
(79.5)
22.8
(73)
17.5
(63.5)
12.1
(53.8)
7.6
(45.7)
15.4
(59.7)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 0.9
(33.6)
1.7
(35.1)
4.4
(39.9)
9.4
(48.9)
14.0
(57.2)
18.0
(64.4)
21.8
(71.2)
23.0
(73.4)
19.7
(67.5)
14.2
(57.6)
8.3
(46.9)
3.5
(38.3)
11.6
(52.9)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) -9.2
(15.4)
-7.9
(17.8)
-5.6
(21.9)
-3.1
(26.4)
2.2
(36)
8.5
(47.3)
13.0
(55.4)
15.4
(59.7)
10.5
(50.9)
-0.5
(31.1)
-3.1
(26.4)
-6.8
(19.8)
−9.3
(15.3)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 52.3
(2.059)
56.1
(2.209)
117.5
(4.626)
124.5
(4.902)
137.8
(5.425)
167.7
(6.602)
153.5
(6.043)
168.2
(6.622)
209.9
(8.264)
197.8
(7.787)
92.5
(3.642)
51.0
(2.008)
1,528.8
(60.189)
ปริมาณหิมะ ซม (นิ้ว) 5
(2)
5
(2)
1
(0.4)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
0
(0)
11
(4.3)
ความชื้นร้อยละ 52 53 56 62 69 75 77 73 75 68 65 56 62
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 0.5 mm) 5.3 6.2 11.0 11.0 11.4 12.7 11.8 9.0 12.2 10.8 7.6 4.9 114.0
วันที่มีหิมะตกโดยเฉลี่ย 2.8 3.7 2.2 0.2 0.0 0.0 0.0 0.0 0.0 0.0 0.0 0.8 9.7
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด 184.5 165.8 163.1 176.9 167.8 125.4 146.4 169.0 120.9 131.0 147.9 178.0 1,876.7
แหล่งที่มา: สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (รายงาน ค.ศ. 1872–ปัจจุบัน)[64][65][66]
ข้อมูลภูมิอากาศของโตเกียวตะวันตก (ค.ศ. 1981–2017)
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 6.7
(44.1)
7.1
(44.8)
10.3
(50.5)
16.3
(61.3)
20.5
(68.9)
23.0
(73.4)
26.8
(80.2)
28.2
(82.8)
23.9
(75)
18.4
(65.1)
13.8
(56.8)
9.3
(48.7)
17.1
(62.8)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 1.3
(34.3)
1.8
(35.2)
5.0
(41)
10.6
(51.1)
15.1
(59.2)
18.5
(65.3)
22.0
(71.6)
23.2
(73.8)
19.5
(67.1)
13.8
(56.8)
8.5
(47.3)
3.8
(38.8)
11.9
(53.4)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) −2.7
(27.1)
−2.3
(27.9)
0.6
(33.1)
5.6
(42.1)
10.5
(50.9)
14.8
(58.6)
18.7
(65.7)
19.7
(67.5)
16.3
(61.3)
10.3
(50.5)
4.6
(40.3)
−0.1
(31.8)
8.1
(46.6)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 44.1
(1.736)
50.0
(1.969)
92.5
(3.642)
109.6
(4.315)
120.3
(4.736)
155.7
(6.13)
195.4
(7.693)
280.6
(11.047)
271.3
(10.681)
172.4
(6.787)
76.7
(3.02)
39.9
(1.571)
1,623.5
(63.917)
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด 147.1 127.7 132.2 161.8 154.9 109.8 127.6 148.3 99.1 94.5 122.1 145.6 1,570.7
แหล่งที่มา: สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น[67]

การเมืองการปกครอง

[แก้]
ศาลาว่าการมหานครโตเกียว เขตชินจูกุ ออกแบบโดยเค็นโซ ทังเงะ

การปกครองท้องถิ่น

[แก้]

ตามกฎหมายของญี่ปุ่น จังหวัดโตเกียวมีสถานะเป็น โทะ (ญี่ปุ่น: โรมาจิto) ซึ่งแปลว่า "มหานคร"[68] โตเกียวเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดและหนาแน่นที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีประชากรเฉลี่ย 6,100 คนต่อตารางกิโลเมตร (16,000 คนต่อตารางไมล์) แต่มีพื้นที่ขนาดเล็กเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดโอซากะและจังหวัดคางาวะ โครงสร้างการบริหารมีความคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เขตพิเศษ 23 เขต (ญี่ปุ่น: 特別区โรมาจิtokubetsu-kuทับศัพท์: โทกูเบ็ตสึกุ) ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ของนครโตเกียวก่อน ค.ศ. 1943 ต่างมีสถานะเป็นเทศบาลที่มีนายกเทศมนตรีและสภาเป็นของตนเอง และมีสถานะเทียบเท่าเทศบาลนครทั่วไป

นอกจาก 23 เขตพิเศษแล้ว โตเกียวยังประกอบด้วยนคร (ญี่ปุ่น: โรมาจิshiทับศัพท์: ชิ) 26 แห่ง, เมือง (ญี่ปุ่น: โรมาจิ-chō หรือ machiทับศัพท์: โจ หรือ มาจิ) 5 แห่ง และหมู่บ้าน (ญี่ปุ่น: โรมาจิson หรือ muraทับศัพท์: ซง หรือ มูระ) อีก 8 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีองค์การปกครองท้องถิ่นเป็นของตนเอง องค์การปกครองมหานครโตเกียวทำหน้าที่ดูแลการบริหารทั่วทั้งพื้นที่มหานคร ได้แก่ เขตพิเศษทั้ง 23 เขต นคร เมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ โดยมีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำหน้าที่บริหาร และมีสภามหานครที่มาจากการเลือกตั้งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยองค์การปกครองมหานครโตเกียวมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตชินจูกุ

ผู้ว่าราชการมหานครโตเกียวมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผู้ว่าราชการคนปัจจุบันคือ ยูริโกะ โคอิเกะ ซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งแรกใน ค.ศ. 2016 หลังจากที่ผู้ว่าราชการคนก่อน โยอิจิ มาซูโซเอะ ลาออก และได้รับเลือกตั้งใหม่อีกใน ค.ศ. 2020 และ ค.ศ. 2024 ฝ่ายนิติบัญญัติของโตเกียวเรียกว่า สภามหานครโตเกียว ประกอบด้วยสมาชิก 127 คน มีหน้าที่ออกและแก้ไขข้อบัญญัติของมหานครโตเกียว อนุมัติงบประมาณ (ซึ่งอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2024)[69] และลงมติแต่งตั้งตำแหน่งบริหารสำคัญตามที่ผู้ว่าราชการเสนอ เช่น รองผู้ว่าราชการมหานครโตเกียว สมาชิกสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน โดยมีวาระ 4 ปี[70]

เทศบาล

[แก้]
แผนที่โตเกียวเน้นอำเภอนิชิตามะ (เน้นสีเขียว)
แผนที่หมู่เกาะอิซุ
แผนที่หมู่เกาะโองาซาวาระ

หลังจากการควบรวมเทศบาลครั้งใหญ่ในยุคเฮเซเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 2001 โตเกียวประกอบด้วยเทศบาลทั้งหมด 62 แห่ง ได้แก่ 23 เขตพิเศษ, 26 นคร, 5 เมือง และ 8 หมู่บ้าน ทุกเทศบาลในญี่ปุ่นมีนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีเท่ากัน เขตพิเศษทั้ง 23 ครอบคลุมพื้นที่ของนครโตเกียวเดิม ส่วนเทศบาลอีก 30 แห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทามะ และอีก 9 แห่งอยู่ในหมู่เกาะรอบนอกของโตเกียว

เขตพิเศษของโตเกียว (ญี่ปุ่น: 特別区โรมาจิtokubetsu-kuทับศัพท์: โทกูเบ็ตสึกุ) ครอบคลุมพื้นที่ของนครโตเกียวที่เคยมีอยู่ก่อน ค.ศ. 1943 แต่ละเขตได้เพิ่มคำว่า "City" ต่อท้ายชื่อทางการในภาษาอังกฤษ เช่น "Chiyoda City" อย่างไรก็ตาม สถานะตามกฎหมายของแต่ละเขตใกล้เคียงกับระบบเขตในลอนดอนหรือนครนิวยอร์กมากกว่า เขตพิเศษไม่มีอำนาจจัดการในบางด้าน เช่น ระบบประปา การบำบัดน้ำเสีย และการดับเพลิง ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การปกครองมหานครโตเกียว เพื่อชดเชยภาระด้านงบประมาณดังกล่าว องค์การปกครองมหานครโตเกียวเป็นผู้จัดเก็บภาษีเทศบาลแทนเขตพิเศษ[71] "เขตใจกลางเมือง" 3 เขต ได้แก่ เขตชิโยดะ เขตชูโอ และเขตมินาโตะ เป็นศูนย์กลางธุรกิจของโตเกียว โดยมีประชากรในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืนถึง 7 เท่า[72] โดยเฉพาะเขตชิโยดะซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง รวมถึงพระราชวังของจักรพรรดิญี่ปุ่น แต่กลับมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยน้อยที่สุดในบรรดาเขตทั้งหมด[73]

ทางด้านตะวันตกของเขตพิเศษคือพื้นที่ที่ประกอบด้วยนคร เมือง และหมู่บ้าน ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่ากับเทศบาลในจังหวัดอื่น หลายแห่งเป็น "เมืองที่พักอาศัย" ของผู้ที่ทำงานในเขตเมืองชั้นใน แต่บางเมือง เช่น ทาจิกาวะ ก็มีฐานเศรษฐกิจของตนเอง พื้นที่เหล่านี้มักเรียกรวมกันว่า "พื้นที่ทามะ" หรือ "โตเกียวตะวันตก" ด้านตะวันตกสุดของพื้นที่นี้คืออำเภอนิชิตามะ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ไม่เหมาะแก่การพัฒนาเมือง ภูเขาที่สูงที่สุดในโตเกียวคือเขาคูโมโตริ มีความสูง 2,017 เมตร (6,617 ฟุต) ภูเขาอื่น ๆ ได้แก่ เขาทากาโนซุ (1,737 เมตร (5,699 ฟุต)), โอดาเกะ (1,266 เมตร (4,154 ฟุต)) และมิตาเกะ (929 เมตร (3,048 ฟุต)) ทะเลสาบโอกูตามะซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำทามะใกล้กับจังหวัดยามานาชิ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของโตเกียว และเป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญ อำเภอนิชิตามะประกอบด้วย 3 เมือง ได้แก่ ฮิโนเดะ มิซูโฮะ และโอกูตามะ และ 1 หมู่บ้านคือ ฮิโนฮาระ องค์การปกครองมหานครโตเกียวได้กำหนดให้ ฮาจิโอจิ ทาจิกาวะ มาจิดะ โอเมะ และทามะนิวทาวน์ เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของพื้นที่ทามะ[74]

โอกิโนโตริชิมะ อยู่ห่างจากใจกลางโตเกียว 1,740 กิโลเมตร (1,081 ไมล์) และเป็นเกาะที่อยู่ใต้สุดของญี่ปุ่น

โตเกียวมีหมู่เกาะนอกชายฝั่งจำนวนมาก บางแห่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของโตเกียวถึง 1,850 กิโลเมตร (1,150 ไมล์) เนื่องจากระยะทางห่างไกลจากสำนักงานใหญ่ขององค์การปกครองมหานครโตเกียวในเขตชินจูกุ หมู่เกาะเหล่านี้จึงมีสำนักงานสาขาย่อยหรือกิ่งจังหวัดดูแล

เขตการปกครอง

[แก้]

เขตพิเศษ

[แก้]
แผนที่แสดงที่ตั้งของ 23 เขตพิเศษ

โตเกียวมี 23 เขตพิเศษ (ญี่ปุ่น: 特別区โรมาจิtokubetsu-ku) ได้แก่

โตเกียวตะวันตก

[แก้]

นอกเหนือเขตพิเศษซึ่งจัดว่าเป็นใจกลางของมหานครโตเกียวแล้ว ทางพื้นที่ฝั่งตะวันตกของ 23 เขตพิเศษยังเป็นที่ตั้งของฝั่งโตเกียวตะวันตก หรือที่ชาวญี่ปุ่นมักเรียกว่า "ฝั่งทามะ" (ญี่ปุ่น: 多摩地域โรมาจิTamachiiki)" ซึ่งประกอบด้วยนคร 26 แห่ง

นคร

[แก้]
ที่ตั้งของแต่ละนครใน โตเกียวตะวันตก

26 นครในโตเกียวตะวันตก ได้แก่

อำเภอนิชิตามะ

[แก้]

ทางตะวันตกสุดของจังหวัดโตเกียวนั้นเป็นที่ตั้งของอำเภอขนาดใหญ่ชื่อ "อำเภอนิชิตามะ" (ญี่ปุ่น: 西多摩郡โรมาจิNishitama-gun) เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งอำเภอนิชิตามะนี้เองเป็นที่ตั้งของภูเขาที่สูงที่สุดในโตเกียวคือเขาคูโมโตริซึ่งมีความสูงกว่า 2,017 เมตร และยังมีทะเลสาบโอกูตามะซึ่งตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อกับจังหวัดยามานาชิอีกด้วย อำเภอนิชิตามะประกอบด้วยสามเมืองและหนึ่งหมู่บ้าน ได้แก่

เกาะและกิ่งจังหวัด

[แก้]
เกาะฮาจิโจจิมะ ในหมู่เกาะอิซุ

นอกชายฝั่งออกไปนั้น โตเกียวมีหมู่เกาะมากมาย แต่เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลมากจากศาลาว่าการมหานครโตเกียว ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้ตั้งสำนักงานท้องถิ่นขึ้นบนเกาะนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมีหมู่เกาะที่เป็นที่รู้จักอยู่ คือ

หมู่เกาะอิซุเป็นหมู่เกาะภูเขาไฟ และยังเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติฟูจิ-ฮาโกเนะ-อิซุ ซึ่งหมู่เกาะอิซุนี้เป็นที่ตั้งของ 3 กิ่งจังหวัด

หมู่เกาะโองาซาวาระ จากเหนือจรดใต้ประกอบไปด้วยเกาะชิชิจิมะ เกาะนิชิโนะชิมะ เกาะฮาฮาจิมะ เกาะคิตะอิโอ และเกาะมินามิอิโอ ซึ่งโองาซาวาระยังบริหารเกาะเล็ก ๆ ที่ห่างไกลอีกสองเกาะคือเกาะมินามิโตริชิมะ ดินแดนส่วนตะวันออกที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโตเกียวกว่า 1,850 กม. และเกาะโอกิโนะโตริชิมะ เกาะที่อยู่ใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชนท้องถิ่นแท้ ๆ จะพบเฉพาะบนเกาะชิจิและเกาะฮาฮะเท่านั้น

เศรษฐกิจ

[แก้]
ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น
ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว

โตเกียวเป็น 1 ใน 3 ศูนย์กลางทางการเงินของโลกร่วมกับนครนิวยอร์กและลอนดอน โตเกียวเป็นเขตเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการสำรวจพบว่าในเขตอภิมหานครโตเกียวซึ่งมีประชากรประมาณ 35.2 ล้านคน มี GDP รวม 1.191 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 (เทียบด้วยความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ) ทำให้โตเกียวเป็นเขตเมืองที่มี GDP สูงที่สุดในโลก[77] ในปี 2008 มีบริษัท 47 แห่งในรายชื่อ Fortune Global 500 ที่มีฐานอยู่ในโตเกียว ซึ่งมากเป็นเกือบ 2 เท่าของเมืองอันดับ 2 [78]

โตเกียวเป็น 1 ในศูนย์กลางหลักทางการเงินระหว่างประเทศ[79] และมีสำนักงานใหญ่ของวาณิชธนกิจและบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกหลายแห่ง ในระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการพัฒนาภายใต้การควบคุมจากทางการ บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งย้ายสำนักงานใหญ่จากเมืองต่าง ๆ เช่น โอซากะ (ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางการค้าในอดีต) มายังโตเกียว โดยหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการที่ติดต่อรัฐบาลได้สะดวกขึ้น แต่แนวโน้มนี้ก็ชะลอตัวลงเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นและทำให้ค่าครองชีพสูงตามขึ้นไปด้วย

ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมูลค่าการซื้อขายในตลาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในปี 2003 โตเกียวมีพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมถึง 8.46 ตร.กม.[80] ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงญี่ปุ่น การเกษตรกรรมมีมากในพื้นที่โตเกียวตะวันตก โดยสินค้าที่เน่าเปื่อยง่ายเช่นผัก ผลไม้ และดอกไม้สามารถขนส่งอย่างสะดวกและรวดเร็วไปยังตลาดในเขตพิเศษของจังหวัด โดยมี "โคมัตสึนะ" หรือผักโขมเป็นผักเศรษฐกิจ

การคมนาคม

[แก้]
เครือข่ายรถไฟฟ้าในโตเกียว

โตเกียวซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคคันโตตอนใต้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ทั้งทางรถไฟ รถยนต์ และทางอากาศ การขนส่งมวลชนภายในโตเกียวที่สำคัญคือรถไฟและรถใต้ดินที่มีเครือข่ายกว้างใหญ่และมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

ภายในโตเกียวมีท่าอากาศยานนานาชาติฮาเนดะ (โตเกียว) ซึ่งให้บริการเที่ยวบินในประเทศเป็นส่วนใหญ่และเป็นสนามบินที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในเอเชีย[81] ท่าอากาศยานนานาชาติหลักคือท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะซึ่งอยู่ในจังหวัดชิบะ เกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอิซุก็มีสนามบินของตนเอง เช่น ท่าอากาศยานฮาจิโจจิมะ ท่าอากาศยานมิยาเกจิมะ ท่าอากาศยานโอชิมะ และมีเที่ยวบินมายังสนามบินฮาเนดะ แต่หมู่เกาะโองาซาวาระยังไม่มีสนามบิน เพราะมีข้อโต้แย้งว่าไม่ควรสร้างสนามบินเพราะจะเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติของเกาะ[82]

นอกจากนี้รถไฟยังเป็นการคมนาคมหลักในโตเกียว ซึ่งมีเครือข่ายทางรถไฟในเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกเป็นผู้ให้บริการรถไฟที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมถึงรถไฟสายยามาโนเตะ ซึ่งวิ่งเป็นวงผ่านสถานีที่สำคัญของโตเกียวเช่นสถานีโตเกียวและชินจูกุ รถไฟฟ้าใต้ดินให้บริการโดยโตเกียวเมโทรและสำนักขนส่งมหานครโตเกียว (โทเอ)

ประชากร

[แก้]
+ ประชากรของโตเกียว[83]
ตามพื้นที่1

จังหวัด
เขตพิเศษ
โตเกียวตะวันตก
เกาะ

12.79 ล้าน
8.653 ล้าน
4.109 ล้าน
28,000

ตามวัย²

เยาวชน (อายุ 0-14)
ทำงาน (อายุ 15-64)
เกษียณ (อายุ 65+)

1.461 ล้าน (11.8%)
8.546 ล้าน (69.3%)
2.332 ล้าน (18.9%)

ตามช่วงเวลา³

กลางวัน
กลางคืน

14.978 ล้าน
12.416 ล้าน

ตามสัญชาติ

ต่างชาติ

364,6534

1 ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2007.

² ณ วันที่ 1 มกราคม 2007.

³ การสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2005

4 ณ วันที่ 1 มกราคม 2006

ผู้พำนักที่ขึ้นทะเบียนแบ่งตามสัญชาติ (ค.ศ. 2012) [84]
สัญญาติ จำนวน
 จีน 161,169
 เกาหลีเหนือ และ  เกาหลีใต้ 99,880
 ฟิลิปปินส์ 27,929
 สหรัฐ 15,901
 อินเดีย 8,313
 เนปาล 8,669
 ไทย 6,906
 สหราชอาณาจักร 5,522
 พม่า 4,781
 ฝรั่งเศส 4,635

โตเกียวมีประชากรทั้งหมดประมาณ 12.79 ล้านคนในเดือนตุลาคม 2007 ซึ่งในจำนวนนั้น 8.65 ล้านคนอาศัยอยู่บริเวณ 23 เขตการปกครองพิเศษในโตเกียว ในเวลากลางวันมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2.5 ล้านคนเนื่องจากมีประชากรจากเมืองใกล้เคียงเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานหรือศึกษาเล่าเรียน[ต้องการอ้างอิง] ปรากฏการณ์นี้จะเป็นได้ชัดในเขตชิโยดะ เขตชูโอ และเขตมินาโตะ ซึ่งมีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนในเวลากลางวัน แต่น้อยกว่า 3 แสนคนในเวลากลางคืน

ในปี 2005 ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในโตเกียวมากที่สุด 5 เชื้อชาติได้แก่ จีน (123,611 คน) เกาหลี (106,697 คน) ฟิลิปปินส์ (31,077 คน) อเมริกัน (18,848 คน) และอังกฤษ (7,696 คน)[ต้องการอ้างอิง]

การศึกษา

[แก้]

โตเกียวมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่นและมีชื่อเสียงในระดับโลก เช่นมหาวิทยาลัยโตเกียว สถาบันเทคโนโลยีโตเกียว มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยนครโตเกียว มหาวิทยาลัยโชวะ มหาวิทยาลัยฮิตตสึบาชิ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งโตเกียว มหาวิทยาลัยเคโอ เป็นต้น[85][86]

ในแต่ละเขตมีโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของรัฐบริหารโดยคณะกรรมการการศึกษาของมหานครโตเกียว นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายหลายแห่ง[87]

เมืองพี่น้อง

[แก้]

โตเกียวมีเมืองพี่น้อง 11 แห่ง[88]

เมือง ค.ศ.
สหรัฐอเมริกา นิวยอร์ก 1960
ประเทศจีน ปักกิ่ง 1979
ประเทศฝรั่งเศส ปารีส 1982
ประเทศออสเตรเลีย ซิดนีย์ 1984
ประเทศเกาหลีใต้ โซล 1988
ประเทศอินโดนีเซีย จาการ์ตา 1989
ประเทศบราซิล เซาเปาโล 1990
ประเทศอียิปต์ ไคโร 1990
ประเทศรัสเซีย มอสโก 1991
ประเทศเยอรมนี เบอร์ลิน 1994
ประเทศอิตาลี โรม 1996

หมายเหตุ

[แก้]
  1. คำว่า "โตเกียว" ในที่นี้หมายถึง พื้นที่ที่เป็นเขตพิเศษของโตเกียว โดยเขตชินจูกุเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการมหานครโตเกียว[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Japan opens up to foreign direct investors". February 12, 2018.
  2. 都庁は新宿区. Tokyo Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 19, 2014. สืบค้นเมื่อ April 12, 2014.
  3. "Reiwa 1 nationwide prefectures, cities and towns area statistics (October 1)" (ภาษาญี่ปุ่น). Geospatial Information Authority of Japan. December 26, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2020. สืบค้นเมื่อ April 28, 2020.
  4. "Mountains of Tokyo Metropolis" (ภาษาญี่ปุ่น). Geospatial Information Authority of Japan. สืบค้นเมื่อ April 28, 2020.
  5. "東京都の人口(推計)とは" [Population of Tokyo(estimate)]. www.toukei.metro.tokyo.lg.jp (ภาษาญี่ปุ่น). May 30, 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 9, 2023. สืบค้นเมื่อ August 5, 2023.
  6. "Major Agglomerations of the World". Population Statistics and Maps. February 28, 2023.
  7. "県民経済計算(平成23年度 - 令和2年度)(2008SNA、平成27年基準計数)<47都道府県、4政令指定都市分>". esri.cao.go.jp.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 26, 2010. สืบค้นเมื่อ 2007-06-20.
  9. รายชื่อเมืองที่มีประชากรสูงที่สุดในโลก (อังกฤษ)
  10. "都民経済計算(都内総生産等)令和3年度年報|東京都". www.metro.tokyo.lg.jp.
  11. "Global 500". Fortune (ภาษาอังกฤษ).
  12. 12.0 12.1 日本放送協会 (2024-02-22). "株価史上最高値を記録した35年前「あの頃」どんな時代だった? | NHK". NHKニュース. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 14, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-04-28.
  13. "Access and Transportation". www.japan-guide.com (ภาษาอังกฤษ).
  14. Marcus, Lilit (2023-04-06). "The 'world's best' cities for public transit, according to Time Out". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Heart of gold: The Ginza Line celebrates its 90th birthday | The Japan Times". web.archive.org. December 9, 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 9, 2020. สืบค้นเมื่อ 2022-09-26.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  16. Cripps, Karla (2020-05-11). "The world's best airport for 2020 revealed". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  17. "TOKYO HOTELS". web.archive.org. April 26, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 26, 2012. สืบค้นเมื่อ 2022-09-26.
  18. "Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel | Kasukabe | Japan | AFAR". web.archive.org. September 14, 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 14, 2018. สืบค้นเมื่อ 2022-09-26.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  19. Debczak |, Michele (2017-10-12). "Tokyo Tops List of Safest Cities in the World, New Report Says". Mental Floss (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  20. "Tokyo Ranked World's Safest City". nippon.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-09-09.
  21. 21.0 21.1 Room, Adrian. Placenames of the World. McFarland & Company (1996), p. 360 เก็บถาวร มกราคม 1, 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ISBN 0-7864-1814-1.
  22. Fiévé, Nicolas & Paul Waley (2003). Japanese Capitals in Historical Perspective: Place, Power and Memory in Kyoto, Edo and Tokyo. p. 253.
  23. 明治東京異聞~トウケイかトウキョウか~東京の読み方 (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo Metropolitan Archives. 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 6, 2008. สืบค้นเมื่อ September 13, 2008.
  24. McClain, James (1994). Edo and Paris: Urban Life and the State in the Early Modern Era. Cornell University Press. pp. 13. ISBN 080148183X.
  25. Sorensen, Andre (2004). The Making of Urban Japan: Cities and Planning from Edo to the Twenty First Century. RoutledgeCurzon. p. 16. ISBN 0415354226.
  26. 26.0 26.1 "History of Tokyo". Tokyo Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2007. สืบค้นเมื่อ October 17, 2007.
  27. Hornyak, Tim (December 16, 2017). "Heart of gold: The Ginza Line celebrates its 90th birthday". Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 9, 2020. สืบค้นเมื่อ December 29, 2017.
  28. "Tokyo-Yokohama earthquake of 1923". Encyclopædia Britannica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 26, 2015. สืบค้นเมื่อ October 10, 2014.
  29. Tipton, Elise K. (2002). Modern Japan: A Social and Political History. Routledge. p. 141. ISBN 978-0-585-45322-4.
  30. "9 March 1945: Burning the Heart Out of the Enemy". Wired. March 9, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 15, 2014. สืบค้นเมื่อ August 8, 2011.
  31. "1945 Tokyo Firebombing Left Legacy of Terror, Pain". Common Dreams. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 3, 2015. สืบค้นเมื่อ January 2, 2015.
  32. Cybriwsky, Roman (1997). Historical Dictionary of Tokyo. Lanham, MD: Scarecrow. p. 22.
  33. Hewitt, Kenneth (1983). "Place Annihilation: Area Bombing and the Fate of Urban Places". Annals of the Association of American Geographers. 73 (2): 257–284. doi:10.1111/j.1467-8306.1983.tb01412.x. ISSN 0004-5608. S2CID 140541502.
  34. 34.0 34.1 Rebuilding of the city after the war เก็บถาวร พฤษภาคม 25, 2024 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (in Japanese) Tokyo Metropolitan Government, 2019
  35. Sorensen, Andre (2004). The Making of Urban Japan: Cities and Planning from Edo to the Twenty-First Century.
  36. 市街地建築物法における絶対高さ制限の成立と変遷に関する考察 เก็บถาวร เมษายน 25, 2023 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (in Japanese). 土地総合研究所. 2008.
  37. "Extravaganza celebrating the quincentenary of the establishment of Edo (1956)". tokyodouga.jp (ภาษาญี่ปุ่น). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 12, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-07-12.
  38. "June 1968: Return of Osagawara Islands | National Archives of Japan". www.archives.go.jp. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 21, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-07-12.
  39. Masataka, Kondo (April 15, 2017). "15 April: Start of Minobe's Tokyo governorship". 文春オンライン (ภาษาญี่ปุ่น). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 19, 2023. สืบค้นเมื่อ 2024-07-12.
  40. "The 1973 Oil Crisis and the End of Rapid Economic Growth │ History by Ages | Sojitz History". Sojitz Corporation's (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-05-25.
  41. Imoto, Keisuke. 羽田空港の歴史. Japan Science and Technology Agency. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2016. สืบค้นเมื่อ 28 November 2013.
  42. Iglesias, Fernando, and Isoya Shinji. "The First Global Management Plan for the Urban Landscape Restructure in Tokyo." Journal of the Korean Institute of Landscape Architecture International Edition 1 (2001): 176-182.
  43. Mihut, Marius Ioan. "Plazza Acord and the "explosion" of the Japanese FDI." Procedia Economics and Finance 15 (2014): 721-729.
  44. "5 crazy facts about Japan's 1980s bubble economy". South China Morning Post (ภาษาอังกฤษ). 2020-07-01. สืบค้นเมื่อ 2024-05-25.
  45. Worrall, Julian. "14 Fascinating Facts About Japanese Stocks -- From 1989 เก็บถาวร พฤษภาคม 25, 2024 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Nasdaq. May 23, 2017.
  46. Saxonhouse, Gary R.; Stern, Robert M., บ.ก. (2004). Japan's Lost Decade: Origins, Consequences and Prospects for Recovery. Blackwell Publishing Limited. ISBN 978-1-4051-1917-7.
  47. "Shift of Capital from Tokyo Committee". Japan Productivity Center for Socio-Economic Development. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 25, 2007. สืบค้นเมื่อ October 14, 2007.
  48. "国会等の移転は首都移転と違うのか - 国会等の移転ホームページ - 国土交通省". www.mlit.go.jp. สืบค้นเมื่อ 2025-02-06.
  49. "Policy Speech by Governor of Tokyo, Shintaro Ishihara at the First Regular Session of the Metropolitan Assembly, 2003". Tokyo Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 3, 2007. สืบค้นเมื่อ October 17, 2007.
  50. "時代の変化とともに変わる首都機能移転 - 国会等の移転ホームページ - 国土交通省". www.mlit.go.jp. สืบค้นเมื่อ 2025-02-06.
  51. "文化庁京都移転、日本ブランドどう発信 東京と連携課題". 日本経済新聞 (ภาษาญี่ปุ่น). 2023-02-26. สืบค้นเมื่อ 2025-02-06.
  52. "IOC selects Tokyo as host of 2020 Summer Olympic Games". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2014. สืบค้นเมื่อ October 10, 2014.
  53. "In defense of Tokyo 2020, the loneliest Olympics". The Japan Times (ภาษาอังกฤษ). 22 July 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 24, 2024. สืบค้นเมื่อ 23 July 2024.
  54. Soki Yamamoto. "Case History No. 9.4. Tokyo, Japan" (PDF). UNESCO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-05-30. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04. Guidebook to studies of land subsidence due to ground-water withdrawal
  55. Takeshi Endoh. "Historical Review of Reclamation Works in the Tokyo Bay Area" (PDF). Journal of Geography. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ December 22, 2005. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04.
  56. Hidenori Yokoyama. "Disposing of waste in Tokyo Port" (PDF). Japan Society of Civil Engineers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 20, 2009. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04.
  57. Anne K. Petry. "Geography of Japan". Stanford University.
  58. Stefan Lovgren (July 14, 2005). "Earthquake Fault Under Tokyo Closer Than Expected, Study Finds". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04.
  59. "The eruption of Miyake island". JAXA.
  60. Makoto Miyazaki. "Wildlife thrives in 'Oriental Galapagos'". Daily Yomiuri Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 19, 2009. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04.
  61. M. C. Peel, B. L. Finlayson, and T. A. McMahon (2007). "Updated world map of the Köppen-Geiger climate classification" (PDF). Hydrology and Earth System Sciences.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  62. Inter-Ministry Coordination Committee to Mitigate Urban Heat Island (March 2004). "Outline of the Policy Framework to Reduce Urban Heat Island Effects" (PDF).
  63. The JMA Tokyo, Tokyo (東京都 東京) station is at 35°41.4′N 139°45.6′E, JMA: 気象統計情報>過去の気象データ検索>都道府県の選択>地点の選択
  64. 気象庁 / 平年値(年・月ごとの値) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ December 16, 2014.
  65. 気象庁 / 平年値(年・月ごとの値) (ภาษาญี่ปุ่น). Japan Meteorological Agency. สืบค้นเมื่อ December 16, 2014.
  66. 観測史上1~10位の値( 年間を通じての値) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ December 16, 2014.
  67. "気象庁 / 気象統計情報 / 過去の気象データ検索 / 平年値(年・月ごとの値)". สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ June 24, 2013.
  68. "Local Government in Japan" (PDF). Council of Local Authorities for International Relations. p. 8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ September 23, 2008. สืบค้นเมื่อ September 14, 2008.
  69. NHK (2024-03-28). "Metropolitan Assembly approves FY2024 budget". NHKニュース. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-06-29.
  70. "About the Assembly". www.gikai.metro.tokyo.lg.jp. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 24, 2024. สืบค้นเมื่อ 2024-06-29.
  71. The Structure of the Tokyo Metropolitan Government เก็บถาวร ธันวาคม 8, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Tokyo government webpage)
  72. The Population of Tokyo – Tokyo Metropolitan Government เก็บถาวร ธันวาคม 23, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Retrieved on July 4, 2009)
  73. "Pray For Tokyo: Chiyoda". Karis Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 20, 2014. สืบค้นเมื่อ April 20, 2015.
  74. "Development of the Metropolitan Center, Subcenters and New Base". Bureau of Urban Development, Tokyo Metropolitan Government. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 23, 2007. สืบค้นเมื่อ October 14, 2007.
  75. "Ogasawara Islands: World Natural Heritage". Ogasawara Village Industry and Tourist Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Adobe Flash)เมื่อ March 31, 2017. สืบค้นเมื่อ June 29, 2018.
  76. Yoshikawa, Yukie (2005). "Okinotorishima: Just the Tip of the Iceberg". Harvard Asian Quarterly. 9 (4). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 4, 2013.
  77. PriceWaterhouseCoopers, "UK Economic Outlook, March 2007", page 5. ""Table 1.2 – Top 30 urban agglomeration GDP rankings in 2005 and illustrative projections to 2020 (using UN definitions and population estimates)"" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2007-03-09.
  78. "Global 500 Our annual ranking of the world's largest corporationns". CNNMoney.com. สืบค้นเมื่อ 2008-12-04.
  79. "Financial Centres, All shapes and sizes". The Economist. สืบค้นเมื่อ 2007-10-14.
  80. Horticulture Statistics Team, Production Statistics Division, Statistics and Information Department, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (July 15, 2003). "Statistics on Cultivated Land Area" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ June 24, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-18.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  81. "Airports welcome record 4.8 billion passengers in 2007". Airports Council International. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 22, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-07.
  82. Rika Nemoto (September 2, 2008). "Runways clearing for Ogasawara airport talks". The Asahi Shimbun. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 15, 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-07.
  83. "Population of Tokyo". Tokyo Metropolitan Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 23, 2008. สืบค้นเมื่อ 2009-01-01.
  84. "Tokyo Statistical Yearbook 2012, Population: 2-4 Foreign Residents by District and Nationality (Year-End Data 2008-2012)" (Excel 97). Bureau of General Affairs, Tokyo Metropolitan Government. สืบค้นเมื่อ January 27, 2015.
  85. "The Times Higher Education - QS World University Rankings 2008". Quacquarelli Symonds. สืบค้นเมื่อ 2008-11-11.
  86. "The World University Rankings 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 4, 2010. สืบค้นเมื่อ 2009-01-08.
  87. "東京都高等学校一覧". Japanese Wikipedia (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2007-10-19.
  88. "Sister Cities (States) of Tokyo - Tokyo Metropolitan Government". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 5, 2010. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า โตเกียว ถัดไป
เฮอังเกียว
(เกียวโตะ)

นครหลวงของญี่ปุ่น
(ตั้งแต่ พ.ศ. 2411)
ปัจจุบัน