จังหวัดไซตามะ
จังหวัดไซตามะ 埼玉県 | |
---|---|
การถอดเสียงภาษาญี่ปุ่น | |
• ญี่ปุ่น | 埼玉県 |
• โรมาจิ | Saitama-ken |
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน: ศูนย์กลางเมืองใหม่ไซตามะ, หุบเขานางาโตโระ, ปราสาทโอชิ, วัดคังงิ, หอระฆังโทกิโนะคาเนะ | |
พิกัด: 35°57′N 139°33′E / 35.950°N 139.550°E | |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภูมิภาค | คันโต |
เกาะ | ฮนชู |
เมืองหลวง | ไซตามะ |
หน่วยการปกครอง | อำเภอ: 8, เทศบาล: 63 |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | โมโตฮิโระ โอโนะ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 3,797.75 ตร.กม. (1,466.32 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | ที่ 39 |
ประชากร (1 มกราคม 2020) | |
• ทั้งหมด | 7,338,536 คน |
• อันดับ | ที่ 5 |
• ความหนาแน่น | 1,900 คน/ตร.กม. (5,000 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส ISO 3166 | JP-11 |
สัญลักษณ์ | |
• ต้นไม้ | เคยากิ หรือเซลโควาญี่ปุ่น (Zelkova serrata) |
• ดอกไม้ | พริมโรส (Primula sieboldii) |
• นก | นกเขาแขก (Streptopelia decaocto) |
เว็บไซต์ | www |
จังหวัดไซตามะ (ญี่ปุ่น: 埼玉県; โรมาจิ: Saitama-ken) เป็นเขตการปกครองระดับจังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บริเวณภาคคันโต มีเมืองหลักชื่อเดียวกันคือ ไซตามะ
จังหวัดไซตามะเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาไซตามะ 2002 เป็นสนามกีฬาฟุตบอลที่ใช้แข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ศูนย์กีฬาในร่มไฮเทคไซตามะซูเปอร์อารีนา จังหวัดไซตามะเป็นจังหวัดที่มีความเจริญมากเพราะอยู่ติดกับกรุงโตเกียว ซึ่งเขตชิจิบุในจังหวัดนี้มีเทือกเขา ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม จึงเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมา ส่วนสถานที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งก็คือ หมู่บ้านบอนไซ โอมิยะ
ประวัติศาสตร์
[แก้]ในสมัยโบราณ เริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไซตามะตั้งแต่ประมาณเมื่อ 30,000 ปีก่อน โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองโทโกโรซาวะ(所沢) หรือเมืองคาวาโมโตะ ทำให้ทราบว่าผู้คนในสมัยโบราณนั้นหาอาหารจากการล่าสัตว์และจับปลา หลังจากนั้นก็พบเครื่องใช้ในการหุงหาและเก็บรักษาอาหารในสมัยโจมงที่มีอายุเก่าแก่ 10,000 ปีก่อนหน้านี้ในภายหลัง ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนในสมัยโบราณอย่างแน่ชัด
เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ก็ได้มีการนำการปลูกข้าวขึ้นมาเผยแพร่จากฝั่งตะวันตกของประเทศ พร้อมทั้งยังมีการนำวัฒนธรรมการใช้วัสดุทองเหลืองต่าง ๆ ขึ้นมาเผยแพร่พร้อมกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครื่องใช้ไม้สอยในสมัยยาโยอิขึ้นในช่วงนี้ด้วย
และเมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อน ก็ได้เริ่มมีการสร้างหลุมศพแบบสมัยโบราณขึ้นมา ซึ่งมีหลุมศพขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นมา 9 แห่ง และ 1 ในนั้นก็มีความสำคัญต่อการศึกษาวัฒนธรรมในสมัยนั้นอย่างมาก หลุมศพสมัยโบราณที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองไซตามะ
เมื่อถึงสมัยนาระ ได้มีการร่างกฎหมายและมีการทำสำมะโนประชากรขึ้น มีการมอบพื้นที่ในการทำกสิกรรมให้กับพลเรือนและมีการเก็บภาษีจากพลเมืองอีกด้วย ในสมัยเฮอันที่พวกราชวงศ์และขุนนางอาศัยกันอยู่อย่างหรูหราในเมืองหลวง พื้นที่ห่างไกลอย่างไซตามะก็มีพวกนักรบขึ้นมาครองอำนาจครอบครองและมีบทบาทอย่างมาก สมัยคามากูระนั้น ก็มีนักรบหลายคนขึ้นครองอำนาจในเขตต่าง ๆ ของเมืองไซตามะด้วย
เมื่อถึงสมัยเอโดะ มีการพัฒนาเมืองเอโดะขนานใหญ่ ทำให้จังหวัดไซตามะได้รับการพัฒนาขึ้น มีถนนใหญ่หลายสายตัดผ่านมาและมีการวางท่อชลประทานขนาดใหญ่มากมายด้วย โดยในสมัยนั้นได้พัฒนาพื้นที่เขตคันโตโดยยึดไซตามะเป็นแกนกลางสำคัญในการพัฒนา
จนเมื่อรัฐบาลโทกูงาวะล่มสลายลง การปกครองภายในจังหวัดก็เกิดการเปลี่ยนแปลง จนมีการจัดตั้ง "จังหวัดไซตามะ" ขึ้นเมื่อปีเมจิที่ 4 แต่ก็มีเมืองที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดไม่มาก จนในช่วงหลังสงครามโลกก็ได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ ขึ้นมาจนเป็นจังหวัดในปัจจุบันได้
หลังยกเลิกระบบแคว้น
[แก้]ในช่วงการปฏิรูปเมจิ ไม่นานหลังจากรวมรวมดินแดนที่เป็นของรัฐบาลโชกุนในแคว้นมูซาชิให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ว่าราชการมูซาชิ (武蔵知県事 Musashi chikenji) ได้มีการกำหนดให้ดินแดนของรัฐบาลโชกุนและฮาตาโมโตะในอดีตหลายแห่งในตะวันตกเฉียงเหนือของมูซาชิ เป็นจังหวัดโอมิยะ (大宮県 Ōmiya-ken) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดอูราวะ (浦和県 Urawa-ken) เมื่อ ค.ศ. 1868/69 ในขณะที่ดินแดนส่วนอื่น ๆ ของแคว้นมูซาชิได้กลายเป็นพื้นที่ของจังหวัดที่มีอยู่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งได้แก่ จังหวัดอิวาฮานะ (ซึ่งต่อมาคือจังหวัดกุมมะ) และจังหวัดนิรายามะ (ซึ่งต่อมาคือจังหวัดชิซูโอกะ จังหวัดคานางาวะ และจังหวัดโตเกียว) หลังจากการยกเลิกระบบแคว้นโดยการแทนที่คำว่าแคว้นศักดินา (藩 -ฮัง) เป็นคำว่าจังหวัด (県 -เค็ง) และรวบรวมดินแดนย่อยที่เกี่ยวข้อง (ยกเลิกดินแดนแทรกและดินแดนส่วนแยกที่มีอยู่ในยุคศักดินา) จะเป็นช่วงของการควบรวมจังหวัดระลอกแรกใน ค.ศ. 1871/72 ในช่วงนี้ จังหวัดโอชิและจังหวัดอิวัตสึกิถูกรวมเข้ากับจังหวัดอูราวะ ทำให้หลังจากการควบรวม จังหวัดอูราวะมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอไซตามะทั้งหมดและพื้นที่ตอนเหนือของอำเภออาดาจิและอำเภอคัตสึชิกะ (แต่ในเวลานั้นแต่ละจังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นไดกุ 大区 และโชกุ 小区 ยังไม่ได้แบ่งออกเป็นอำเภอ) และเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดไซตามะ ในตอนแรกจะตั้งศาลากลางจังหวัดไซตามะที่เมืองอิวัตสึกิ ในอำเภอไซตามะ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1871 ตามคำสั่งของดาโจกังว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัด แต่ท้ายที่สุดแล้วยังคงใช้ศาลากลางจังหวัดอูราวะเดิมที่เมืองอูราวะ ในอำเภออาดาจิ
จังหวัดคาวาโงเอะถูกผนวกรวมกับพื้นที่อื่น ๆ เข้าเป็นจังหวัดอิรูมะ (入間県, Iruma-ken; ใช้ศาลากลางจังหวัดคาวาโงเอะเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคาวาโงเอะ อำเภออิรูมะ) ซึ่งประกอบด้วย 13 อำเภอของแคว้นมูซาชิซึ่งอยู่ในฝั่งตะวันตกของไซตามะในปัจจุบัน ใน ค.ศ. 1873 จังหวัดอิรูมะได้รวมเข้ากับจังหวัดกุมมะ (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด: เมืองทากาซากิ อำเภอกุนมะ) กลายเป็นจังหวัดคูมางายะ (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด: เมืองคูมางายะ อำเภอโอซาโตะ) แต่จังหวัดคูมางายะถูกแบ่งออกอีกครั้งใน ค.ศ. 1876 โดยพื้นที่ที่เคยเป็นแคว้นโคซูเกะได้กลายมาเป็นจังหวัดกุมมะอีกครั้ง และพื้นที่ที่เคยเป็นแคว้นมูซาชิหรือจังหวัดอิรูมะเดิม ได้ถูกผนวกเข้ากับจังหวัดไซตามะ ยกเว้นการโอนบางเทศบาลไปขึ้นกับจังหวัดโตเกียวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890/1900 และการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านการควบรวมเทศบาลข้ามจังหวัดหรือการโอนย้ายพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้จังหวัดไซตามะมีอาณาเขตดังเช่นในปัจจุบัน
ในช่วงของการฟื้นฟูอำเภอให้เป็นหน่วยการปกครองอีกครั้งใน ค.ศ. 1878/79 จังหวัดไซตามะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 18 อำเภอตามการแบ่งอำเภอในสมัยก่อนของแคว้นมูซาชิ แต่มีที่ว่าการอำเภอเพียง 9 แห่ง (ใช้บริหารร่วมกันในหลายอำเภอ) แต่แล้วอำเภอต่าง ๆ ก็ถูกควบรวมอย่างเป็นทางการจนเหลือ 9 อำเภอใน ค.ศ. 1896/97 ได้แก่ อำเภออาดาจิเหนือ อิรูมะ ฮิกิ ชิจิบุ โคดามะ โอซาโตะ ไซตามะเหนือ ไซตามะใต้ และคัตสึชิกะเหนือ อำเภอนีกูระ (หรือเรียกอีกอย่างว่า นีซะ ชิกิ หรือชิรางิ) ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอที่ปรากฏอยู่ใน ค.ศ. 1878/79 ในตอนแรกได้ถูกควบรวมเข้ากับอำเภออาดาจิเหนือใน ค.ศ. 1896 แต่ในภายหลังพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอก็ได้ถูกโอนไปรวมกับอำเภอทามะเหนือและอำเภอโทชิมะเหนือของจังหวัดโตเกียว ในช่วงที่มีการจัดตั้งเทศบาล (นคร เมือง และหมู่บ้าน) ใน ค.ศ. 1889 อำเภอเหล่านี้ในตอนแรกถูกแบ่งย่อยเป็น 40 เมือง และ 368 หมู่บ้าน นครแห่งแรกในจังหวัดไซตามะจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1922 ในตอนที่เมืองคาวาโงเอะจากอำเภออิรูมะได้รับการยกฐานะกลายมาเป็นนครคาวาโงเอะ ในขณะที่เมืองอูราวะในอำเภออาดาจิเหนือ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดไซตามะ ยังคงมีฐานะเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1934 หลังจากการควบรวมเทศบาลครั้งใหญ่ในยุคโชวะช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 จำนวนเทศบาลในจังหวัดไซตามะก็ลดลงเหลือ 95 แห่ง ในขณะนั้นมีนครอยู่ด้วยกัน 23 แห่ง ต่อมาเมื่อมีการควบรวมเทศบาลกิจการครั้งใหญ่ในยุคเฮเซในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้จำนวนเทศบาลลดลงเหลือต่ำกว่า 70 แห่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อโตเกียวขยายตัวอย่างรวดเร็วและระบบขนส่งสมัยใหม่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น การขาดแคลนที่ดินในโตเกียวทำให้จังหวัดไซตามะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรของจังหวัดไซตามะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับใน ค.ศ. 1960 เมืองส่วนใหญ่ในจังหวัดเชื่อมต่อกับใจกลางโตเกียวด้วยรถไฟ และเริ่มพัฒนาเป็นชานเมืองของโตเกียวที่ประกอบไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์
ใน ค.ศ. 2001 นครอูราวะควบรวมกับนครโอมิยะและนครโยโนะเพื่อจัดตั้งเป็นนครไซตามะ (แต่ชื่อเขียนด้วยฮิรางานะ ต่างจากชื่ออำเภอและชื่อจังหวัดที่เขียนด้วยคันจิ) กำหนดเป็นเมืองหลวงใหม่ของจังหวัดไซตามะ ต่อมาใน ค.ศ. 2003 นครไซตามะได้รับการยกฐานะเป็นนครใหญ่ที่รัฐกำหนดแห่งแรกและแห่งเดียว (จนถึงขณะนี้) ของจังหวัด[1]
ภูมิศาสตร์
[แก้]จังหวัดไซตามะมีอาณาเขตติดกับมหานครโตเกียว จังหวัดชิบะ จังหวัดอิบารากิ จังหวัดโทจิงิ จังหวัดกุมมะ จังหวัดนางาโนะ และจังหวัดยามานาชิ ตั้งอยู่ในบริเวณตอนกลาง-ตะวันตกของภูมิภาคคันโต โดยมีความยาวจากตะวันตกไปตะวันออก 103 กิโลเมตร และจากเหนือไปใต้ 52 กิโลเมตร จังหวัดไซตามะมีพื้นที่ 3,797.75 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 9 ของประเทศญี่ปุ่น อาณาเขตทางทิศตะวันออกที่ติดกับจังหวัดชิบะถูกกำหนดโดยแม่น้ำเอโดะ อาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับจังหวัดกุมมะถูกกำหนดโดยแม่น้ำโทเนะและแม่น้ำคานางาวะ และแนวสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำอารากาวะกับแม่น้ำคานางาวะ อาณาเขตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ถูกกำหนดโดยแนวสันปันน้ำของแม่น้ำอารากาวะ แม่น้ำทามะ และแม่น้ำฟูเอฟูกิ
ภูมิประเทศของจังหวัดไซตามะแบ่งออกเป็นพื้นที่ภูเขาทางตะวันตกและพื้นที่ราบทางตะวันออก โดยมีเส้นแบ่งเป็นแนวเขตรอยต่อธรณีแปรสัณฐานฮาจิโอจิ (八王子構造線) ซึ่งทอดผ่านพื้นที่โคดามะ (ส่วนหนึ่งของนครฮนโจ), เมืองโองาวะ, และนครฮันโน ระดับความสูงทางฝั่งตะวันตกจะสูงที่สุดและจะลดระดับลงเมื่อไปทางตะวันออก จากเทือกเขา ไปสู่เนินเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่ม พื้นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มทางตะวันออกครอบคลุมพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 67.3 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด[2]
ฝั่งตะวันออกของจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบคันโต สามารถแบ่งย่อยพื้นที่ได้อีกเป็น 9 เนินเขา และ 10 ที่ราบสูง โดยพื้นที่เนินเขาจะครอบคลุมพื้นที่เล็ก ๆ ติดกับเทือกเขาคันโต เช่น เนินเขาฮิกิ และเนินเขาซายามะ ส่วนที่ราบสูงส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่มน้ำจากตะกอนน้ำพา ในส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด จะมีที่ราบสูงโอมิยะ ซึ่งขนาบข้างโดยแม่น้ำฟูรูโตเนะทางทิศตะวันออกและแม่น้ำอารากาวะทางทิศตะวันตก[3]
ฝั่งตะวันตกของจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เทือกเขาคันโต โดยมีแอ่งชิจิบุตั้งอยู่ตรงกลาง พื้นที่ทางตะวันตกของแอ่งชิจิบุมียอดเขาสูง เช่น เขาซัมโป (三宝山, ตาม GSI อ่านว่า ซันโปยามะ แต่โดยทั่วไปจะอ่านว่า ซัมโปซัง) อยู่ที่ระดับความสูง 2,483 เมตร ตั้งอยู่ตรงพรมแดนทางทิศตะวันตกของจังหวัดไซตามะซึ่งติดกับจังหวัดนางาโนะ และเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดไซตามะ[4] และเขาโคบูชิ อยู่ที่ระดับความสูง 2,475 เมตร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอารากาวะ พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติชิจิบุ-ทามะ-ไค ส่วนพื้นที่ทางตะวันออกของแอ่งชิจิบุจะประกอบไปด้วยภูเขาที่สูงน้อยกว่า
แม่น้ำโทเนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของพรมแดนทางทิศเหนือของจังหวัด แต่ปัจจุบัน เส้นทางน้ำในจังหวัดไซตามะส่วนใหญ่ต่างไหลลงสู่แม่น้ำอารากาวะและแม่น้ำเอโดะ เนื่องจากทางน้ำหลักของแม่น้ำโทเนะถูกเปลี่ยนเส้นทางไปทางทิศตะวันออกโดยโทกูงาวะในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองหลวงเอโดะที่กำลังเติบโตถูกน้ำท่วม[5]
การเมืองการปกครอง
[แก้]การเมืองระดับชาติ
[แก้]ในรัฐสภาญี่ปุ่น คณะผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากจังหวัดไซตามะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 15 คน และสมาชิกวุฒิสภา 8 คน (4 คนต่อหนึ่งรอบการเลือกตั้ง) การเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2021 (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ค.ศ. 2022
การเมืองท้องถิ่น
[แก้]ผู้ว่าราชการจังหวัด
[แก้]เช่นเดียวกับการบริหารจังหวัดทั้งหมดของประเทศญี่ปุ่น จังหวัดไซตามะมีหัวหน้าฝ่ายบริหารคือผู้ว่าราชการจังหวัด (県知事; kenchiji) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 ผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันคือ โมโตฮิโระ โอโนะ อดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรค DPFP ซึ่งได้รับการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคกลางซ้าย (พรรค CDP, DPFP, SDP) ชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 47.9 คู่แข่งคือ เค็นตะ อาโอชิมะ อดีตนักเบสบอล (คะแนนเสียงร้อยละ 44.9) ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคกลางขวา (พรรค LDP, พรรคโคเม) และผู้สมัครอีกสามคน[6]
โนมูระ โมริฮิเดะ (野村盛秀) ซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ ผู้ชนะสงครามโบชิงและยึดครองรัฐบาลร่วมกับพันธมิตรในช่วงการปฏิรูปเมจิ ได้กลายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะคนแรก (ในช่วงทศวรรษแรกเรียกว่า เค็นเร (県令; kenrei)) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1871 ส่วนชาวจังหวัดไซตามะคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ ยูอิจิ โอซาวะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะคนที่ 43 ใน ค.ศ. 1949
ชื่อ | เริ่ม | สิ้นสุด |
---|---|---|
จิตสึโซะ นิชิมูระ (西村実造) | 12 เมษายน ค.ศ. 1947 | 28 มีนาคม ค.ศ. 1949 |
ยูอิจิ โอซาวะ (大沢雄一) | 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 | 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1956 |
ฮิโรชิ คูริฮาระ (栗原浩) | 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1956 | 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 |
ยาวาระ ฮาตะ (畑和) | 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 | 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 |
โยชิฮิโกะ สึจิยะ (土屋義彦) | 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 | 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2003 |
คิโยชิ อูเอดะ (上田清司) | 31 สิงหาคม ค.ศ. 2003 | 30 สิงหาคม ค.ศ. 2019 |
โมโตฮิโระ โอโนะ (大野元裕) | 31 สิงหาคม ค.ศ. 2019 | อยู่ในตำแหน่ง |
สภาจังหวัด
[แก้]เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ข้อบัญญัติของจังหวัด งบประมาณ และการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดที่สำคัญ เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสมาชิกคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ เป็นอำนาจของสภาจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีในหนึ่งรอบการเลือกตั้ง ซึ่งอาจสอดคล้องกับวาระของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ก็ได้ แต่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรอบการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ (แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะได้หลุดออกจากรอบการเลือกตั้งพร้อมกันแล้วเมื่อ ค.ศ. 1949) ในรอบล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 พรรค LDP ยังคงรักษาเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดด้วยจำนวน 53 ที่นั่งจากทั้งหมด 93 ที่นั่งในสภา[7][8] เช่นเดียวกับจังหวัดส่วนใหญ่ สภาจังหวัดไซตามะก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายใน ค.ศ. 1878 และเปิดประชุมครั้งแรกใน ค.ศ. 1879[9]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]จังหวัดไซตามะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 63 เทศบาล ประกอบด้วย 40 เทศบาลนคร, 22 เทศบาลเมือง และ 1 เทศบาลหมู่บ้าน พื้นที่ที่แสดงในตารางมาจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2019[10] และจำนวนประชากรที่แสดงในตารางมาจากรายงานสำมะโนประชากรประจำ ค.ศ. 2015 ของสำนักงานสถิติ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร[11] โดย 40 นครในจังหวัดไซตามะมีพื้นที่รวมกัน 2,823.05 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 74.33 ของพื้นที่จังหวัด และมีประชากรรวม 6,760,813 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 93.04 ของประชากรทั้งจังหวัด
จังหวัดไซตามะมี 8 อำเภอ โดยครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเทศบาลเมืองและเทศบาลหมู่บ้าน
รหัส ท้องถิ่น |
ธง | ชื่อ | ประเภท | อำเภอ | พื้นที่ ค.ศ. 2019 (ตร.กม.)[10] |
ประชากร ค.ศ. 2015 (คน)[11] |
ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) | ||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ทับศัพท์ไทย | อักษรญี่ปุ่น | โรมาจิ | |||||||
11100 | ไซตามะ | さいたま市 | Saitama-shi | นครใหญ่ที่รัฐกำหนด | ไม่มี | 217.43 | 1,263,979 | 5,813 | |
11201 | คาวาโงเอะ | 川越市 | Kawagoe-shi | นครศูนย์กลาง | ไม่มี | 109.13 | 350,745 | 3,214 | |
11202 | คูมางายะ | 熊谷市 | Kumagaya-shi | นครพิเศษ | ไม่มี | 159.82 | 198,742 | 1,244 | |
11203 | คาวางูจิ | 川口市 | Kawaguchi-shi | นครศูนย์กลาง | ไม่มี | 61.95 | 578,112 | 9,332 | |
11206 | เกียวดะ | 行田市 | Gyōda-shi | นคร | ไม่มี | 67.49 | 82,113 | 1,217 | |
11207 | ชิจิบุ | 秩父市 | Chichibu-shi | นคร | ไม่มี | 577.83 | 63,555 | 110 | |
11208 | โทโกโรซาวะ | 所沢市 | Tokorozawa-shi | นครพิเศษ | ไม่มี | 72.11 | 340,386 | 4,720 | |
11209 | ฮันโน | 飯能市 | Hannō-shi | นคร | ไม่มี | 193.05 | 80,715 | 418 | |
11210 | คาโซะ | 加須市 | Kazo-shi | นคร | ไม่มี | 133.30 | 112,229 | 842 | |
11211 | ฮนโจ | 本庄市 | Honjō-shi | นคร | ไม่มี | 89.69 | 77,881 | 868 | |
11212 | ฮิงาชิมัตสึยามะ | 東松山市 | Higashimatsuyama-shi | นคร | ไม่มี | 65.35 | 91,437 | 1,399 | |
11214 | คาซูกาเบะ | 春日部市 | Kasukabe-shi | นครพิเศษ | ไม่มี | 66.00 | 232,709 | 3,526 | |
11215 | ซายามะ | 狭山市 | Sayama-shi | นคร | ไม่มี | 48.99 | 152,405 | 3,111 | |
11216 | ฮานีว | 羽生市 | Ha'nyū-shi | นคร | ไม่มี | 58.64 | 54,874 | 936 | |
11217 | โคโนซุ | 鴻巣市 | Kōnosu-shi | นคร | ไม่มี | 67.44 | 118,072 | 1,751 | |
11218 | ฟูกายะ | 深谷市 | Fukaya-shi | นคร | ไม่มี | 138.37 | 143,811 | 1,039 | |
11219 | อาเงโอะ | 上尾市 | Ageo-shi | นคร | ไม่มี | 45.51 | 225,196 | 4,948 | |
11221 | โซกะ | 草加市 | Sōka-shi | นครพิเศษ | ไม่มี | 27.46 | 247,034 | 8,996 | |
11222 | โคชิงายะ | 越谷市 | Koshigaya-shi | นครศูนย์กลาง | ไม่มี | 60.24 | 337,498 | 5,603 | |
11223 | วาราบิ | 蕨市 | Warabi-shi | นคร | ไม่มี | 5.11 | 72,260 | 14,141 | |
11224 | โทดะ | 戸田市 | Toda-shi | นคร | ไม่มี | 18.19 | 136,150 | 7,485 | |
11225 | อิรูมะ | 入間市 | Iruma-shi | นคร | ไม่มี | 44.69 | 148,390 | 3,320 | |
11227 | อาซากะ | 朝霞市 | Asaka-shi | นคร | ไม่มี | 18.34 | 136,299 | 7,432 | |
11228 | ชิกิ | 志木市 | Shiki-shi | นคร | ไม่มี | 9.05 | 72,676 | 8,030 | |
11229 | วาโก | 和光市 | Wakō-shi | นคร | ไม่มี | 11.04 | 80,826 | 7,321 | |
11230 | นีซะ | 新座市 | Niiza-shi | นคร | ไม่มี | 22.78 | 162,122 | 7,117 | |
11231 | โอเกงาวะ | 桶川市 | Okegawa-shi | นคร | ไม่มี | 25.35 | 73,936 | 2,917 | |
11232 | คูกิ | 久喜市 | Kuki-shi | นคร | ไม่มี | 82.41 | 152,311 | 1,848 | |
11233 | คิตาโมโตะ | 北本市 | Kitamoto-shi | นคร | ไม่มี | 19.82 | 67,409 | 3,401 | |
11234 | ยาชิโอะ | 八潮市 | Yashio-shi | นคร | ไม่มี | 18.02 | 86,717 | 4,812 | |
11235 | ฟูจิมิ | 富士見市 | Fujimi-shi | นคร | ไม่มี | 19.77 | 108,102 | 5,468 | |
11237 | มิซาโตะ | 三郷市 | Misato-shi | นคร | ไม่มี | 30.13 | 136,521 | 4,531 | |
11238 | ฮาซูดะ | 蓮田市 | Hasuda-shi | นคร | ไม่มี | 27.28 | 62,380 | 2,287 | |
11239 | ซากาโดะ | 坂戸市 | Sakado-shi | นคร | ไม่มี | 41.02 | 101,679 | 2,479 | |
11240 | ซัตเตะ | 幸手市 | Satte-shi | นคร | ไม่มี | 33.93 | 52,524 | 1,548 | |
11241 | สึรูงาชิมะ | 鶴ヶ島市 | Tsurugashima-shi | นคร | ไม่มี | 17.65 | 70,255 | 3,980 | |
11242 | ฮิดากะ | 日高市 | Hidaka-shi | นคร | ไม่มี | 47.48 | 56,520 | 1,190 | |
11243 | โยชิกาวะ | 吉川市 | Yoshikawa-shi | นคร | ไม่มี | 31.66 | 69,738 | 2,203 | |
11245 | ฟูจิมิโนะ | ふじみ野市 | Fujimino-shi | นคร | ไม่มี | 14.64 | 110,970 | 7,580 | |
11246 | ชิราโอกะ | 白岡市 | Shiraoka-shi | นคร | ไม่มี | 24.92 | 51,535 | 2,068 | |
11301 | อินะ | 伊奈町 | Ina-machi | เมือง | คิตาอาดาจิ | 14.79 | 44,442 | 3,005 | |
11324 | มิโยชิ | 三芳町 | Miyoshi-machi | เมือง | อิรูมะ | 15.33 | 38,456 | 2,509 | |
11326 | โมโรยามะ | 毛呂山町 | Moroyama-machi | เมือง | อิรูมะ | 34.07 | 37,275 | 1,094 | |
11327 | โอโงเซะ | 越生町 | Ogose-machi | เมือง | อิรูมะ | 40.39 | 11,716 | 290 | |
11341 | นาเมงาวะ | 滑川町 | Namegawa-machi | เมือง | ฮิกิ | 29.68 | 18,212 | 614 | |
11342 | รันซัง | 嵐山町 | Ranzan-machi | เมือง | ฮิกิ | 29.92 | 18,341 | 613 | |
11343 | โองาวะ | 小川町 | Ogawa-machi | เมือง | ฮิกิ | 60.36 | 31,178 | 517 | |
11346 | คาวาจิมะ | 川島町 | Kawajima-machi | เมือง | ฮิกิ | 41.63 | 20,788 | 499 | |
11347 | โยชิมิ | 吉見町 | Yoshimi-machi | เมือง | ฮิกิ | 38.64 | 19,631 | 508 | |
11348 | ฮาโตยามะ | 鳩山町 | Hatoyama-machi | เมือง | ฮิกิ | 25.73 | 14,338 | 557 | |
11349 | โทกิงาวะ | ときがわ町 | Tokigawa-machi | เมือง | ฮิกิ | 55.90 | 11,492 | 206 | |
11361 | โยโกเซะ | 横瀬町 | Yokoze-machi | เมือง | ชิจิบุ | 49.36 | 8,519 | 173 | |
11362 | มินาโนะ | 皆野町 | Minano-machi | เมือง | ชิจิบุ | 63.74 | 10,133 | 159 | |
11363 | นางาโตโระ | 長瀞町 | Nagatoro-machi | เมือง | ชิจิบุ | 30.43 | 7,324 | 241 | |
11365 | โองาโนะ | 小鹿野町 | Ogano-machi | เมือง | ชิจิบุ | 171.26 | 12,117 | 71 | |
11369 | ฮิงาชิจิจิบุ | 東秩父村 | Higashichichibu-mura | หมู่บ้าน | ชิจิบุ | 37.06 | 2,915 | 79 | |
11381 | มิซาโตะ | 美里町 | Misato-machi | เมือง | โคดามะ | 33.41 | 11,207 | 335 | |
11383 | คามิกาวะ | 神川町 | Kamikawa-machi | เมือง | โคดามะ | 47.40 | 13,730 | 290 | |
11385 | คามิซาโตะ | 上里町 | Kamisato-machi | เมือง | โคดามะ | 29.18 | 30,565 | 1,047 | |
11408 | โยริอิ | 寄居町 | Yorii-machi | เมือง | โอซาโตะ | 64.25 | 34,081 | 530 | |
11442 | มิยาชิโระ | 宮代町 | Miyashiro-machi | เมือง | มินามิไซตามะ | 15.95 | 33,705 | 2,113 | |
11464 | ซูงิโตะ | 杉戸町 | Sugito-machi | เมือง | คิตากัตสึชิกะ | 30.03 | 45,495 | 1,515 | |
11465 | มัตสึบูชิ | 松伏町 | Matsubushi-machi | เมือง | คิตากัตสึชิกะ | 16.20 | 30,061 | 1,856 | |
11000-1 | จังหวัดไซตามะ | 埼玉県 | Saitama-ken | จังหวัด | — | 3,797.75 | 7,266,534 | 1,913 |
กีฬา
[แก้]ทีมกีฬาต่อไปนี้มีฐานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดไซตามะ
- ฟุตบอล (ซอกเกอร์)
- เบสบอล
- ไซตามะเซบุไลออนส์ (Saitama Seibu Lions) ในโทโกโรซาวะ
- บาสเกตบอล
- โคชิงายะแอลฟาส์ (Koshigaya Alphas) ในโคชิงายะ
- ไซตามะบรองโกส์ (Saitama Broncos) ในโทโกโรซาวะ
- วอลเลย์บอล
- รักบี้ยูเนียน
- เซคอมรักกัตส์ (Secom Rugguts) ในซายามะ
การท่องเที่ยว
[แก้]สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ในจังหวัดไซตามะตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด ซึ่งเรียกว่าภูมิภาคชิจิบุ ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยพื้นที่เนินเขาและภูเขาที่มีความสูงปานกลางเป็นส่วนใหญ่ และตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิภาคนี้เป็นที่นิยมมากในการเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้นของหมู่ผู้อยู่อาศัยในจังหวัดไซตามะและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากสามารถเดินทางไปได้สะดวกผ่านโครงข่ายรถไฟ
มาสคอส
[แก้]โคบาตง (ญี่ปุ่น: コバトン; โรมาจิ: Kobaton) เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นนกเขาหูสีม่วง ซึ่งเป็นนกประจำจังหวัดด้วยเช่นกัน โคบาตงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติประจำปีครั้งที่ 59 ที่จัดขึ้นในจังหวัดเมื่อ ค.ศ. 2004 และได้รับการเปิดตัวเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยมีพิธีเปิดตัวและจดหมายแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีโคบาตงเวอร์ชันนั่งเก้าอี้รถเข็นอีกด้วย[12]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
[แก้]จังหวัดไซตามะมีความสัมพันธ์แบบเมืองพี่น้องกับรัฐและเขตการปกครองหลายแห่ง ดังแสดงด้านล่าง (เรียงตามลำดับเวลา)[13]
- รัฐเมฮิโก ประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1979
- มณฑลชานซี ประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1982
- รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1984
- รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1990
- รัฐบรันเดินบวร์ค ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1998
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถอ้างอิง
[แก้]- ↑ 埼玉県近現代史主要年表 [Saitama prefectural modern history [1868–2016] chronological table of major events] (PDF). Saitama prefectural government (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ June 27, 2020. สืบค้นเมื่อ June 27, 2020.
- ↑ 埼玉県総務部広聴広報課 (2008-02-06). "埼玉県/彩の国わくわくこどもページ/県のあらまし/土地・気象". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-06. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
- ↑ "地形と歴史". 2004-09-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-28. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
- ↑ GSI: 都道府県の最高地点 เก็บถาวร 2020-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese, -to/-dō/-fu/-ken no saikōchiten; "highest points of each prefecture"), retrieved June 27, 2020.
- ↑ MLIT, Kantō regional development bureau: 利根川の東遷 เก็บถาวร 2020-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese: Tonegawa no tōsen; "Eastward shift of the Tone river")
- ↑ NHKSenkyoWeb, August 26, 2019: 2019 Saitama gubernatorial election result and summary coverage เก็บถาวร 2020-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese), retrieved June 27, 2020.
- ↑ 日本放送協会. "統一地方選挙2023 衆参補欠選挙 |NHK選挙WEB". www.nhk.or.jp (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-05-01.
- ↑ "総務省|第20回統一地方選挙 発表資料". 総務省 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-05-01.
- ↑ Saitama Prefectural Assembly: Chronological table เก็บถาวร 2020-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 10.0 10.1 令和元年全国都道府県市区町村別面積調(7月1日時点) (.pdf) (Report) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักงานสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น. 1 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2019.
- ↑ 11.0 11.1 Population, Population Change(2010-2015), Area, Population Density, Households and Households Change(2010-2015) - Japan*, All Shi, All Gun, Prefectures*, All Shi of Prefectures, All Gun of Prefectures, Shi*, Ku*, Machi*, Mura* and Municipalities in 2000 (.csv) (Report) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักงานสถิติ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร. 16 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2019.
- ↑ 埼玉県総務部広聴広報課 (2008-02-21). "埼玉県/埼玉県のマスコット コバトン". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-21. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
- ↑ "Sister States and Provinces of Saitama Prefecture". Saitama Prefecture. 1 July 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2012. สืบค้นเมื่อ 17 June 2012.
แหล่งข้อมูล
[แก้]- Nussbaum, Louis-Frédéric and Käthe Roth. (2005). Japan encyclopedia. Cambridge: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01753-5; OCLC 58053128
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการของจังหวัดไซตามะ (ในภาษาญี่ปุ่น)