กีฬาตะวันออกไกล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล
Far Eastern Championship Games
ตราประจำการแข่งขันกีฬาตะวันออกไกล
ชื่อย่อFECG
ก่อตั้งพ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912)
(112 ปีมาแล้ว)
ครั้งล่าสุดครั้งที่ 10 ที่กรุงมะนิลา
ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์
วัตถุประสงค์กีฬาสำหรับภูมิภาคเอเชียบางส่วน
ประธานสหรัฐ เอลวูด เอส. บราวน์
หมายเหตุยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2480

กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล (อังกฤษ: The Far Eastern Championship Games) หรือที่รู้จักในชื่อ กีฬาตะวันออกไกล (Far East Games) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายประเภท ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ของทวีปเอเชีย จัดขึ้นโดย สมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล (Far Eastern Athletic Association) อันมีหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในอารักขาของสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐจีน และจักรวรรดิญี่ปุ่น เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง มีการแข่งขันในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2456 - พ.ศ. 2477 ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนาไปสู่กีฬาเอเชียนเกมส์ในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

การแข่งขันบาสเกตบอล ในกีฬาตะวันออกไกล ครั้งที่ 6 ที่นครโอซากา

ในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เอลวูด เอส. บราวน์ (Elwood S. Brown) ประธานสมาคมกีฬาแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯของสหรัฐอเมริกา (The Philippine Islands Athletic Association) ผู้จัดการแข่งขันกีฬาคาร์นิวัลแห่งมะนิลา (Manila Carnival Games) เสนอแนวคิดในการจัดแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล (Far Eastern Olympic Games) ต่อสาธารณรัฐจีน (ชื่อประเทศในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2455-พ.ศ. 2492; ปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาชนจีน) และจักรวรรดิญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือประเทศญี่ปุ่น) ในขณะเดียวกัน วิลเลียม แคเมรอน ฟอร์บส์ (Governor-General William Cameron Forbes) ซึ่งเป็นประธานสมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ (The Philippine Islands Amateur Athletic Association) เป็นผู้ก่อตั้ง สมาคมโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล (The Far Eastern Olympic Association)

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่สนามกีฬาคาร์นิวัล (ปัจจุบันคือ ศูนย์กีฬาไรซัลอนุสรณ์ หรือ Rizal Memorial Sports Complex) เขตมาลาเต ในกรุงมะนิลา บนหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในอารักขาของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) โดยฟอร์บส์เป็นผู้ประกาศเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 วัน และ 6 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ สาธารณรัฐจีนฯ จักรวรรดิญี่ปุ่น หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน (British East Indies Islands; ปัจจุบันคือ มาเลเซีย) ราชอาณาจักรสยาม (ชื่อประเทศจนถึง พ.ศ. 2482; ปัจจุบันคือราชอาณาจักรไทย) และ หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ปัจจุบันคือ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) สมาคมฯ เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกีฬาแห่งตะวันออกไกล และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็นกีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในการแข่งขันครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่นครเซียงไฮ ของสาธารณรัฐจีนฯ

ทั้งนี้แต่เดิมกำหนดจัดการแข่งขันในทุกสองปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) จักรวรรดิญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันครั้งที่ 9 ไปจัดในปีถัดจากนั้น (พ.ศ. 2473; ค.ศ. 1930) สมาคมฯ จึงเปลี่ยนแปลงกำหนดจัดการแข่งขันเป็นทุกสี่ปี โดยในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) กรุงมะนิลาของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งที่ 10 ซึ่งหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East Indies Islands; ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) เข้าร่วมเป็นครั้งแรก จากนั้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ารุกรานสาธารณรัฐจีน จากเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล อันเป็นสาเหตุของสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ซึ่งต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันครั้งที่ 11 ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ที่นครโอซากาของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในปีถัดจากนั้น (พ.ศ. 2481; ค.ศ. 1938) จึงต้องยกเลิกไป

ข้อมูลการแข่งขัน[แก้]

การแข่งขันในครั้งที่ 1 เป็นครั้งเดียวที่ใช้ชื่อว่า "กีฬาโอลิมปิกแห่งตะวันออกไกล" โดยตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นไปจนถึงครั้งสุดท้าย มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "กีฬาชิงชนะเลิศแห่งตะวันออกไกล" ทั้งนี้ ในการแข่งขันครั้งที่ 6 ลู ซัลวาดอร์ (Lou Salvador) นักกีฬาบาสเกตบอลของฟิลิปปินส์ เป็นผู้ทำลายสถิติตลอดกาล (ในขณะนั้น) ด้วยการเป็นผู้เดียวที่ทำคะแนนมากที่สุด ในการแข่งขันบาสเกตบอลระดับนานาชาตินัดเดียว ซึ่งเขาทำได้ถึง 116 คะแนน จนกระทั่งสามารถคว้าเหรียญทองไปครองในที่สุด ด้วยการนำทีมชนะเลิศเหนือทีมของสาธารณรัฐจีนฯ[1]

ครั้งที่ วัน/เดือน/พ.ศ.(ค.ศ.) เจ้าภาพ กีฬา ประเทศเข้าร่วม
1 4-11 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913)
ฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา กรีฑา
ว่ายน้ำ
ฟุตบอล
บาสเกตบอล
เทนนิส
เบสบอล
ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์
อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน)
ฮ่องกง หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน)
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน
ไทย ราชอาณาจักรสยาม
2 15-22 พฤษภาคม
พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915)
ไต้หวัน นครเซี่ยงไฮ้ กรีฑา
ว่ายน้ำ
จักรยาน
ฟุตบอล
บาสเกตบอล
เทนนิส
เบสบอล
3 พฤษภาคม พ.ศ. 2460
(ค.ศ. 1917)
จักรวรรดิญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ไม่มีข้อมูล ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์
อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน)
ฮ่องกง หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน)
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน
ไทย ราชอาณาจักรสยาม
4 พฤษภาคม พ.ศ. 2462
(ค.ศ. 1919)
ฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา
5 30 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน
พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921)
ไต้หวัน นครเซียงไฮ
6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
(ค.ศ. 1923)
จักรวรรดิญี่ปุ่น นครโอซากา จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีนฯ
7 พฤษภาคม พ.ศ. 2468
(ค.ศ. 1925)
ฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา
8 สิงหาคม พ.ศ. 2470
(ค.ศ. 1927)
ไต้หวัน นครเซียงไฮ ฟิลิปปินส์ เครือรัฐฟิลิปปินส์
อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน)
ฮ่องกง หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน)
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน
ไทย ราชอาณาจักรสยาม
9 24-31 พฤษภาคม
พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930)
จักรวรรดิญี่ปุ่น กรุงโตเกียว กรีฑา
บาสเกตบอล
เบสบอล
มวยสากล
จักรยาน
ฮอกกี้
ฟุตบอล
ยิมนาสติก
ว่ายน้ำ
เทนนิส
ฟิลิปปินส์ เครือรัฐฟิลิปปินส์
อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน)
ฮ่องกง หมู่เกาะฮ่องกงของบริเตน (ฮ่องกงของจีน)
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีน
ไทย ราชอาณาจักรสยาม
10 พฤษภาคม พ.ศ. 2477
(ค.ศ. 1934)
ฟิลิปปินส์ กรุงมะนิลา กรีฑา
ว่ายน้ำ
ฟุตบอล
บาสเกตบอล
เทนนิส
เบสบอล
ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฟิลิปปินส์ฯ
อาณานิคมช่องแคบ (หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของบริเตน)
เนเธอร์แลนด์ หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (อินโดนีเซีย)
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ไต้หวัน สาธารณรัฐจีนฯ
ไทย ราชอาณาจักรสยาม
11 พ.ศ. 2481
(ค.ศ. 1938)
จักรวรรดิญี่ปุ่น นครโอซากา ยกเลิกการแข่งขัน
หลังจากเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2480
  • หมายเหตุ - ในช่อง "ประเทศเข้าร่วม" ประเทศซึ่งเป็นเจ้าเหรียญทอง แสดงด้วยตัวหนา ประเทศซึ่งได้เหรียญทองเป็นอันดับสอง แสดงด้วยตัวเอน หากไม่มีการแสดงตัวหนาหรือตัวเอน หมายถึงไม่มีข้อมูลในส่วนนั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bocobo, Christian; Beth Celis (2004). Legends and Heroes of Philippine Basketball. Philippines: Christian Bocobo. pp. 131. ISBN 0-9763202-0-7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]