ข้ามไปเนื้อหา

ราชอาณาจักรอิตาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราชอาณาจักรอิตาลี

Regno d'Italia
ค.ศ. 1861–1946
เพลงชาติ
(ค.ศ. 1861–1943; 1944–1946)
มาร์ชาเรอาเลดอร์ดีนันซา
("เพลงมาร์ชหลวงตามพระราชโองการ")

(ค.ศ. 1927–1943)
โจวีเนซซา
("เยาวชน")[a]

(ค.ศ. 1943–1944)
ลาลีเจนดาเดลพาเว
("ตำนานแห่งแม่นํ้าพาเว")
ดินแดนของราชอาณาจักรอิตาลี ค.ศ. 1936
ดินแดนของราชอาณาจักรอิตาลี ค.ศ. 1936
เขตการปกครองของอิตาลี ค.ศ. 1943
เขตการปกครองของอิตาลี ค.ศ. 1943
เมืองหลวง
เมืองใหญ่สุดโรม
ภาษาทั่วไปอิตาลี
ศาสนา
โรมันคาทอลิก
96% ของประชากร
ศาสนาประจำชาติ (ค.ศ. 1929–1946)
การปกครอง
พระมหากษัตริย์ 
• ค.ศ. 1861–1878
พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2
• ค.ศ. 1878–1900
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 1
• ค.ศ. 1900–1946
พระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 3
• ค.ศ. 1946
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2
นายกรัฐมนตรี 
• 1861 (คนแรก)
เคานต์แห่งคาวัวร์
• 1922–1943
เบนีโต มุสโสลีนี[b]
• ค.ศ. 1945–1946 (สุดท้าย)
อัลชีเด เด กัสเปรี[c]
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
วุฒิสภา
สภาผู้แทนราษฎร
ประวัติศาสตร์ 
17 มีนาคม ค.ศ. 1861
3 ตุลาคม ค.ศ. 1866
20 กันยายน ค.ศ. 1870
20 พฤษภาคม ค.ศ. 1882
26 เมษายน ค.ศ. 1915
31 ตุลาคม ค.ศ. 1922
22 พฤษภาคม ค.ศ. 1939
27 กันยายน ค.ศ. 1940
25 กรกรฎาคม ค.ศ. 1943
2 มิถุนายน 1946
พื้นที่
ค.ศ. 1861[1]250,320 ตารางกิโลเมตร (96,650 ตารางไมล์)
ค.ศ. 1936[1]310,190 ตารางกิโลเมตร (119,770 ตารางไมล์)
ประชากร
• ค.ศ. 1861[1]
21,777,334
• ค.ศ. 1936[1]
42,993,602
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 1939 (ประมาณ)
• รวม
151 พันล้าน
(2.82 ล้านล้าน ใน ค.ศ. 2019)
สกุลเงินลีราอิตาลี (₤)
ก่อนหน้า
ถัดไป
ค.ศ. 1861:
ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย
ราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง
ค.ศ. 1866:
ราชอาณาจักรลอมบาร์เดีย-เวนิส
ค.ศ. 1870:
รัฐสันตะปาปา
ค.ศ. 1924:
รัฐเสรีฟีวเม
ค.ศ. 1945:
สาธารณรัฐสังคมอิตาลี
ค.ศ. 1929:
นครรัฐวาติกัน
ค.ศ. 1943:
สาธารณรัฐสังคมอิตาลี
ค.ศ. 1946:
สาธารณรัฐอิตาลี
ดินแดนเสรีตรีเยสเต
สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
  1. โดยพฤตินัย มักบรรเลงหรือขับร้องหลังบทเพลงมาร์ชาเรอาเลดอร์ดีนันซา เพราะเป็นเพลงประจำพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์
  2. อิลดูเชตั้งแต่ ค.ศ. 1925
  3. ในขณะที่ราชอาณาจักรอิตาลีสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1946 เด กัสเปรียังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจนถึง ค.ศ. 1953

ราชอาณาจักรอิตาลี (อิตาลี: Regno d'Italia) เป็นราชอาณาจักรบนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งได้มีการสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1861 จากการรวมตัวกันของรัฐอิตาลีหลาย ๆ รัฐภายใต้การนำของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย และดำรงอยู่ตราบจนถึง ค.ศ. 1946 เมื่อประชาชนชาวอิตาลีได้มีการลงประชามติให้มีการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบบราชอาณาจักรไปสู่ความเป็นสาธารณรัฐ

อิตาลีได้ประกาศสงครามต่อออสเตรียในปี ค.ศ. 1866 โดยมีปรัสเซียเป็นพันธมิตรร่วม แม้ว่าอิตาลีจะทำการรบล้มเหลว แต่ชัยชนะของปรัสเซียก็ได้ทำให้อิตาลีได้สิทธิครอบครองเวนิส ต่อมาอิตาลีได้ยกทัพเข้ายึดกรุงโรมในปี ค.ศ. 1870 เป็นการปิดฉากอำนาจการปกครองทางโลกของสมเด็จพระสันตะปาปาที่มามีมาต่อเนื่องนับพันปี อิตาลีได้ตอบรับข้อเสนอของออทโท ฟอน บิสมาร์ค ในการเข้าร่วมกลุ่มไตรพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรียในปี ค.ศ. 1892 หลังจากที่อิตาลีเกิดความไม่พอใจในการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี แม้ว่าไมตรีระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีจะเป็นไปอย่างฉันมิตรอย่างยิ่ง แต่ความเป็นพันธมิตรกับออสเตรียกลับอยู่ในลักษณะเป็นทางการเท่านั้น ดังนั้นในปี ค.ศ. 1915 อิตาลีจึงได้ตอบรับคำเชิญของสหราชอาณาจักรในการเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชัยชนะในมหาสงครามครั้งนั้นได้ทำให้อิตาลีก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ โดยมีที่นั่งถาวรอยู่ในสภาสันนิบาตชาติ

ในสมัยแห่งการปกครองโดยพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์อิตาลีและภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของเบนีโต มุสโสลีนี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 จนกระทั่งเขาถูกขับออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1943 นามที่ใช้เรียกราชอาณาจักรอิตาลีในช่วงนี้ส่วนใหญ่นักประวัติศาสตร์จะเรียกกันว่า ฟาสซิสต์อิตาลี ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ ราชอาณาจักรอิตาลีได้เป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1943 ในช่วงสองปีสุดท้ายของสงคราม ประเทศอิตาลีได้สลับข้างไปร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังจากได้มีการขับไล่มุสโสลีนีลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและยุบเลิกพรรคฟาสซิสต์ รัฐของฝ่ายฟาสซิสต์ที่ยังคงสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อคือรัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนีทางเหนือของอิตาลีซึ่งมีชื่อเรียกว่า สาธารณรัฐสังคมอิตาลี โดยมีมุสโสลีนีและพวกฟาสซิสต์ที่ยังจงรักภักดีต่อเขาเป็นแกนนำ หลังจากสงครามยุติไม่นาน ความไม่พอใจของประชาชนในปี ค.ศ. 1946 ได้นำไปสู่การลงประชามติให้อิตาลียังคงมีสถานะเป็นราชอาณาจักรต่อไปหรือให้มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ ผลปรากฏว่าประชาชนต้องการให้ล้มเลิกการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐอิตาลีขึ้น ซึ่งสาธารณรัฐแห่งนี้คือประเทศอิตาลีที่ยังดำรงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน

อาณาเขต

[แก้]
ราชอาณาจักรอิตาลีและจักรวรรดิอาณานิคมในช่วงเติบโตถึงขีดสุดระหว่าง ค.ศ. 1940 - 1941

อาณาเขตของราชอาณาจักรอิตาลีอ้างสิทธิ์บนพื้นที่ทั้งหมดที่เป็นสาธารณรัฐอิตาลีในปัจจุบัน พัฒนาการของอาณาเขตราชอาณาจักรได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากการรวมชาติอิตาลีจนถึงปี ค.ศ. 1870 และราชอาณาจักรจะยังไม่ได้ครอบครองดินแดนของเมืองตรีเยสเตและเตรนตีโน-อัลโตอาดีเจ (ติรอลใต้) อย่างในปัจจุบัน หากแต่เมืองเหล่านี้จะได้รับมาจากออสเตรียในปี ค.ศ. 1919 นอกจากนี้ตามสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาแซงแชร์แมง อิตาลีเองต้องยอมเสียดินแดนส่วนกอรีตซา ตรีเยสเต อิสเตรีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชียและสโลวีเนีย) และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโครเอเชียในปัจจุบันเพื่อแลกกับการได้จังหวัดดัลเมเชียซึ่งเดิมเป็นของโครเอเชีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีได้ครอบครองดินแดนในส่วนที่เป็นของโครเอเชียและดัลเมเชียเพิ่มขึ้น แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การอ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าวได้ถูกยกเลิกและได้มีการจัดทำเส้นพรมแดนใหม่ตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

ราชอาณาจักรอิตาลียังมีอาณานิคม รัฐในอารักขา และรัฐหุ่นเชิด อื่นๆ ในความครอบครอง เช่น เอริเทรีย โซมาเลีย ลิเบีย เอธิโอเปีย (อิตาลีเข้ายึดครองในปี ค.ศ. 1932 และเสียให้แก่สหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) แอลเบเนีย กรีซ คอซอวอ และมอนเตเนโกร (เข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) โครเอเชีย (รัฐหุ่นเชิดของอิตาลีและนาซีเยอรมนี) และเขตเช่าขนาดเล็กพื้นที่ 46 เฮกตาร์ ในเมืองเทียนสินของจีน)

การปกครอง

[แก้]

ตามทฤษฎีนั้นราชอาณาจักรอิตาลีปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยอำนาจฝ่ายบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งจะมีพระบรมราชโองการผ่านคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) ราชอาณาจักรมีสภา 2 สภาซึ่งคอยจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ คือวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสภาผู้แทนราษฎรที่มีจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรมีชื่อว่า สตาตูโตอัลแบร์ตีโน ซึ่งเดิมเป็นธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ในทางทฤษฎี รัฐมนตรีจะมาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจะดำรงตำแหน่งอยู่ได้โดยขาดการสนับสนุนจากทั้งสองสภา

ระหว่าง ค.ศ. 1925 - 1943 อิตาลีอยู่ในสภาพเสมือนเป็นรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ในทางนิตินัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรอิตาลีอย่างเป็นทางการยังคงมีผลบังคับใช้โดยปราศจากการแก้ไขเพิ่มเติมของฝ่ายพรรคฟาสซิสต์ แม้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะยอมรับในนโยบายและสถาบันทางการเมืองของพรรคฟาสซิสต์ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยประกอบด้วยการก่อตั้งสภาใหญ่แห่งลัทธิฟาสซิสต์ (Grand Council of Fascism) เป็นองค์กรบริหารงานของรัฐบาลในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งจะควบคุมระบบบริหารงานของรัฐบาลทั้งหมด และสภาผู้แทนราษฏรได้ถูกแทนที่ด้วยสภาแห่งฟาสซิสต์และความร่วมมือ (Chamber of Fasci and Corporations) ในปี ค.ศ. 1939

พระมหากษัตริย์

[แก้]

ราชอาณาจักรอิตาลีมีพระมหากษัตริย์จากราชวงศ์ซาวอยเป็นประมุขตามลำดับดังนี้

การรวมชาติอิตาลี

[แก้]
กระบวนการรวมชาติอิตาลี

การสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีเป็นผลมาจากความพยายามแสวงหาจุดร่วมระหว่างนักชาตินิยมอิตาลีกับผู้สนับสนุนระบอบราชาธิปไตยซึ่งภักดีต่อราชวงศ์ซาวอย เพื่อก่อตั้งสหราชอาณาจักรปกครองดินแดนคาบสมุทรอิตาลีทั้งหมด

ภายหลังจากการปฏิวัติปี ค.ศ. 1848 ได้มีการเคลื่อนไหวของผู้นำการรวมชาติโดย จูเซปเป การีบัลดี นักปฏิวัติชาวอิตาลี เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วในหมู่ชาวอิตาลีทางใต้ และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการที่เขามีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดแบบสุดขั้ว[2] การิบัลดีได้นำชาวอิตาลีฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนในกระบวนการรวมชาติในอิตาลีตอนใต้ แต่ในทางตอนเหนือของอิตาลี ราชวงศ์ซาวอยแห่งราชอาณาจักรซาร์ดิเนียอันเป็นรัฐของชาวปิเอมอนเตโดยพฤตินัย ซึ่งมีรัฐบาลภายใต้การนำของอัครมหาเสนาบดีคามิลโล เบนโซ, เคานท์แห่งคาวัวร์ ก็เป็นฝ่ายที่มีความปรารถนาที่จะสถาปนารัฐอิตาลีอันเป็นเอกภาพด้วยเช่นกัน ในทางปฏิบัติราชอาณาจักรก็มิได้มีการติดต่อเพื่อการรวมชาติไปยังโรม (เป็นที่รู้ดีกันว่ากรุงโรมอันเป็นราชธานีของรัฐพระสันตะปาปามีฐานะเป็นเมืองหลวงของอิตาลี แม้ว่าจะไม่ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการก็ตาม) แต่ราชอาณาจักรก็ประสบความสำเร็จในการท้าทายต่อจักรวรรดิออสเตรียในสงครามประกาศเอกราชครั้งที่สอง โดยสามารถปลดปล่อยราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวเนเชีย จากการปกครองของออสเตรียได้สำเร็จ อีกทั้งยังสามารถก่อตั้งพันธมิตรเพื่อการรวมชาติอิตาลี เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ในสงครามไครเมีย ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1860 แต่ถูกบังคับให้ยกดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ ดินแดนดังกล่าวนี้ได้รวมถึงเมืองนีซ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของการิบัลดีด้วย

คามิลโล เบนโซ ดิ คาวัวร์, นายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งราชอาณาจักรอิตาลีหลังการรวมชาติ

คาวัวร์ได้ท้าทายความพยายามรวมชาติของการิบัลดีด้วยการยุยงให้เกิดการจลาจลของประชาชนในรัฐพระสันตะปาปา และใช้การจลาจลในครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการรุกรานรัฐพระสันตะปาปา แม้การรุกรานดังกล่าวจะสร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวคาธอลิกก็ตาม แต่คาวัวร์ก็อ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากฝ่ายชาตินิยมต่อต้านศาสนจักรและนิยมสาธารณรัฐของการิบัลดี รัฐพระสันตะปาปาได้เหลือเพียงบริเวณเล็กๆ รอบกรุงโรมเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 [3] แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน คาวัวร์ก็ได้ตกลงที่จะให้มีการรวมอิตาลีทางตอนใต้ของการิบัลดีเข้าร่วมเป็นสหพันธ์เดียวกับปิเอมอนเต-ซาร์ดิเนียในปี ค.ศ. 1860 หลังจากนั้นไม่นานคาวัวร์จึงได้ประกาศให้รวมอิตาลีตอนเหนือและอิตาลีตอนใต้เข้าเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 โดยมีพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 กษัตริย์แห่งซาร์ดิเนียจากราชวงศ์ซาวอย ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งอิตาลีพระองค์แรก ชื่อราชอาณาจักรอิตาลีนี้เคยถูกเลิกใช้นับตั้งแต่การสละราชสมบัติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1814

พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลีหลังการรวมชาติ

หลังการรวมดินแดนส่วนใหญ่ของอิตาลี ความตึงเครียดระหว่างผู้สนับสนุนราชาธิปไตยกับผู้สนับสนุนสาธารณรัฐก็ปะทุขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 การิบัลดีได้เข้าไปยังรัฐสภาของอิตาลีและท้าทายต่อคาวัวร์ในฐานะผู้นำรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้แบ่งแยกอิตาลี อีกทั้งยังพูดถึงการจัดการกับปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพราชอาณาจักรฝ่ายเหนือเหนือกับกองทัพของการิบัลดีทางฝ่ายใต้ ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1861 นายกรัฐมนตรีคาวัวร์ได้ถึงแก่อสัญกรรม ท่ามกลางความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง ฝ่ายของการิบัลดีก็มีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจับกุมการิบัลดีในปี ค.ศ. 1862 ได้สร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างไปทั่วโลก[4]

จูเซปเป การีบัลดี ผู้นำทางการทหารคนสำคัญในการรวมชาติอิตาลี

ในปี ค.ศ. 1866 ออทโท ฟอน บิสมาร์ค มุขมนตรีแห่งราชอาณาจักรปรัสเซีย ได้ถวายสัมพันธไมตรีแก่พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 โดยการเชิญอิตาลีเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับปรัสเซียในสงครามออสโตร-ปรัสเซียน และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการเป็นพันธมิตร ปรัสเซียจึงได้ยินยอมยกให้อิตาลีสามารถผนวกเอาเวนิสซึ่งเป็นดินแดนของชาวอิตาลีที่อยู่ในความครอบครองของจักรวรรดิออสเตรียได้ พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 จึงทรงยอมร่วมเป็นพันธมิตรและสงครามประกาศเอกราชครั้งที่สามก็ได้เปิดฉากขึ้น ในสงครามครั้งนี้อิตาลีปฏิบัติการรบได้ย่ำแย่จากปัญหาการจัดการโครงสร้างกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรบกับออสเตรีย แต่ชัยชนะของปรัสเซียก็ได้ทำให้อิตาลีสามารถผนวกเมืองเวนิสได้ อุปสรรคหลักในการรวมชาติเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่มีเพียงที่โรมเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1870 ปรัสเซียได้เดินทัพไปโจมตีฝรั่งเศสเพื่อเปิดฉากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และเพื่อต้านทานกองทัพอันมหึมาของปรัสเซียเอาไว้ ฝรั่งเศสจึงได้ทำการสละสถานภาพในโรม ซึ่งเป็นเกราะคุ้มกันรัฐพระสันตะปาปาและสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 เพื่อที่ฝรั่งเศสจะทุ่มกำลังต่อสู้ชาวปรัสเซียได้เต็มที่ อิตาลีจึงได้รับผลประโยชน์จากชัยชนะของปรัสเซีย โดยได้อำนาจการควบคุมรัฐสันตะปาปาจากฝ่ายปกครองของฝรั่งเศส กรุงโรมถูกกองทัพราชอาณาจักรอิตาลีเข้ายึดครองหลังเกิดการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งโดยกองกำลังของรัฐพระสันตะปาปาที่ต่อต้านผู้รุกรานชาวอิตาลี การรวมชาติของอิตาลีได้บรรลุผลโดยสมบูรณ์ และหลังจากนั้นไม่นานนัก อิตาลีก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงโรมอย่างเป็นทางการ สภาพทางเศรษฐกิจของอิตาลีในเวลานั้นย่ำแย่[5] เพราะไม่มีอุตสาหกรรมและการคมนาคมที่สะดวกสบาย ปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของอิตาลี) อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำมาก และมีเพียงชาวอิตาลีที่มั่งคั่งเพียงส่วนน้อยที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวในการรวมชาติได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติเป็นส่วนมาก แม้หลังจากทำการรวมชาติสำเร็จแล้ว อิตาลีก็ยังคงต้องอาศัยการสนับสนุนดังกล่าวสืบต่อมา

หลังจากกรุงโรมถูกฝ่ายราชอาณาจักรอิตาลียึดครองได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1870 ความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันและอิตาลียังคงเป็นไปในทางเสื่อมทรามเป็นเวลานานถึง 60 ปี โดยพระสันตะปาปาลำดับต่อๆ มา ได้ประกาศพระองค์เองว่าเป็นนักโทษแห่งวาติกัน ศาสนจักรคาธอลิกมักประท้วงถึงการกระทำในทางโลกวิสัยและต่อต้านศาสนจักรของฝ่ายรัฐบาลอิตาลีอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังปฏิเสธที่จะพบกับผู้แทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนจักรคาธอลิกไม่ลงคะแนนเสียงในการการเลือกตั้งของอิตาลีด้วย[6] สภาพดังกล่าวดำรงมาจนถึงปี ค.ศ. 1929 รัฐบาลอิตาลีและสันตะสำนักวาติกันได้มีการลงนามในสนธิสัญญาลาเตรัน ความสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น

ยุคเสรีนิยม (ค.ศ. 1870-1914)

[แก้]
กัลเลเรียวิตตอริโอเอมานูเอเลดูเอ (Galleria Vittorio Emanuele II) ที่เมืองมิลาโน งานสถาปัตยกรรมซึ่งสร้างขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1880 และตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ปฐมกษัตริย์แห่งอิตาลี

หลังจากการรวมชาติ ทิศทางการเมืองของประเทศอิตาลีเป็นไปในวิถีทางของลัทธิเสรีนิยม สิทธิในทางการเมืองถูกกระจายออกเป็นส่วนๆ และนายกรัฐมนตรีหัวอนุรักษนิยม มาร์โค มิเจตตี ก็ได้รักษาอำนาจในตำแหน่งของตนไว้ด้วยการออกนโยบายเชิงปฏิวัติและเอียงซ้าย เช่น การยึดเอากิจการรถไฟมาเป็นของรัฐ เพื่อเอาใจฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1876 มิเจตตีได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแทนที่ด้วยอากอสติโน เดเพรสติส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มสมัยแห่งเสรันิยมอันยาวนาน ยุคแห่งเสรีนิยมนี้เป็นที่จดจำจากการฉ้อราษฏร์บังหลวง รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ภาวะความยากจนที่ยังดำรงอยู่ในอิตาลีตอนใต้ และการใช้มาตรการแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลอิตาลี

เดเพรสติสเริ่มวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีโดยการริเริ่มทดลองแนวคิดทางการเมืองที่เรียกว่า ทรานสฟอร์มิสโม (อิตาลี: Transformismo; แนวคิดปฏิรูปนิยม) หลักของแนวคิดนี้ก็คือ คณะรัฐมนตรีควรเลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ โดยต้องมีความหลากหลาย และนักการเมืองที่เลือกมาต้องเป็นที่มีความสามารถและความเหมาะสมจากผู้ที่มีทัศนะไร้ความรุนแรง (Non-partisan perspective) แต่ในทางปฏิบัติ แนวคิดทรานสฟอร์มิสโมเป็นแนวคิดที่ผูกขาดแบบเบ็ดเสร็จและมีปัญหาการฉ้อราษฏร์บังหลวง เดเพรสติสได้กดดันให้บรรดาอำเภอต่างๆ ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของเขา เพื่อแลกกับการได้รับการผ่อนปรนอันเป็นที่น่าพอใจจากเดเพรสติสในขณะที่เขาอยู่ในอำนาจ ผลของการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1876 ปรากฏว่ามีผู้สมัครเพียง 4 คนจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาเท่านั้นที่ได้รับเลือกตั้ง อันเปิดการเปิดทางให้เดเพรสติสสามารถเข้าครอบงำรัฐบาลได้ เชื่อกันว่าการกดขี่และการฉ้อราษฏร์บังหลวงที่เกิดขึ้นในหลายคราวเป็นกุญแจสำคัญที่เดเพรสติสใช้จัดการเพื่อรักษาคะแนนเสียงสนับสนุนของเขาในอิตาลีตอนใต้ เดเพรสติสได้ใช้มาตรการเผด็จการเบ็ดเสร็จต่างๆ ในการบริหารบ้านเมือง เช่น ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ การส่งตัวบุคคลที่เป็น "อันตราย" ไปเนรเทศในเกาะที่ห่างไกลของอิตาลี และการออกนโยบายแบบทหารนิยม (Militarist policies) เขายังได้ผ่านกฎหมายซึ่งนำมาาสู่ความขัดแย้งในหลายคราว เช่น การยกเลิกการจำคุกเพื่อใช้หนี้ การให้การศึกษาขั้นประถมศึกษาแบบให้เปล่า และการบังคับให้เลิกการสอนวิชาศาสนาในโรงเรียนประถมศึกษา[7]

กลุ่มไตรพันธมิตรในปี ค.ศ. 1913 แสดงด้วยพื้นที่สีแดง

ในปี ค.ศ. 1887 ฟรันเซสโก คริสปิ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้เริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศ เขาได้พยายามที่จะทำให้อิตาลีได้เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกด้วยการเพิ่มงบประมาณทางการทหาร สนับสนุนให้อิตาลีมีการขยายอาณาเขต[8] และพยายามเอาใจจักรวรรดิเยอรมัน อิตาลีได้เข้าร่วมกับกลุ่มไตรพันธมิตรที่มีทั้งจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการีเป็นสมาชิกอยู่ด้วยในปี ค.ศ. 1882 และยังคงมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการจนถึงปี ค.ศ. 1915 ในขณะที่คริสปีได้ช่วยพัฒนาอิตาลีในเชิงยุทธศาสตร์ เขาก็ยังคงบริหารบ้านเมืองตามแนวทางทรานสฟอร์มิสโมต่อไปด้วยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังปรากฏว่าครั้งหนึ่งเขาคิดจะใช้กฎอัยการศึกในปิดกั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม[9] แต่ถึงแม้เขาจะเป็นเผด็จการโดยการใช้อำนาจรัฐก็ตาม คริสปีก็ยังได้ออกนโยบายในเชิงเสรีนิยมออกมาบ้างเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการตราพระราชบัญญัติการสาธารณสุขในปี ค.ศ. 1888 หรือการก่อตั้งองค์คณะศาลเพื่อพิจารณาชดเชยสำหรับการใช้อำนาจโดยมิชอบจากรัฐบาล เป็นต้น[10]

วัฒนธรรมและสังคม

[แก้]

สังคมของชาวอิตาลีหลังจากการรวมชาติและตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของยุคเสรีนิยม เป็นไปในลักษณะของสังคมที่แบ่งแยกอย่างเด่นชัดทั้งในเรื่องของชนชั้น ภาษา ภูมิภาค และระดับทางสังคม[11]

โดยทั่วไปลักษณะทางวัฒนธรรมของอิตาลีในเวลานั้นเป็นสังคมแบบอนุรักษนิยมโดยธรรมชาติ เช่น การเชื่อมั่นในคุณค่าของครอบครัวอย่างแรงกล้าหรือและค่านิยมของการนับถือบิดาเป็นใหญ่ในครอบครัว[12] เมื่อมองในด้านอื่นๆ ก็พบว่ามีการแบ่งแยกในวัฒนธรรมอิตาลีอย่างชัดเจน ครอบครัวของชนชั้นอภิชน, เหล่าผู้ดี และชนชั้นกลางระดับบนยึดถือธรรมเนียมอย่างสูงยิ่ง ชนชั้นกลางระดับบนในยุคนั้นยังเป็นที่รู้จักกันดีจากตัดสินความขัดแย้งของพวกตนด้วยการท้าดวล[13] หลังยุคการรวมชาติ ผู้สืบเชื้อสายของเชื้อพระวงศ์และผู้ดีจำนวนมากได้เข้ามาเป็นประชากรของอิตาลี ดังปรากฏตัวเลขว่ามีครอบครัวผู้ดีถึง 7,837 ครอบครัวหลังการรวมชาติ[13] ผู้ที่อยู่ในระดับบนของสังคมจำนวนมากเป็นเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ซึ่งยังคงรักษาสังคมศักดินาไว้เพราะการบำรุงรักษาระบบเกษตรกรรมของพวกเขาไว้นั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงงานกสิกรจำนวนมาก[13] สังคมอิตาลีในยุคนั้นยังคงมีการแบ่งแยกย่อยในระดับแคว้นและระดับท้องถิ่นซึ่งมักจะมีประวัติศาสตร์ของความเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกันอยู่ด้วย[14]

หลังการรวมชาติ อิตาลียังไม่ประสบความสำเร็จในการกำหนดภาษาประจำชาติเพียงภาษาเดียว ภาษาตอสกานา (ซึ่งในภายหลังจะรู้จักกันในชื่อภาษาอิตาลี) ถูกใช้อยู่เพียงในเขตเมืองฟิเรนเซ ในขณะที่เมื่ออยู่ภายนอกเขตฟิเรนเซจะมีการใช้ภาษาประจำถิ่นของแต่ละท้องถิ่น[15] แม้กระทั่งพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักร ก็ทรงใช้ภาษาปิเอมอนเตและภาษาฝรั่งเศสเกือบตลอดพระชนม์ชีพ และทรงใช้แม้กระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีของพระองค์เองก็ตาม[16] อีกประการหนึ่ง อัตราการรู้หนังสือของอิตาลีในยุคนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ปรากฏจากการทำสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 1871 ว่า มีประชากรที่เป็นชายไม่รู้หนังสือร้อยละ 61.9 ส่วนผู้หญิงมีอัตราสูงถึงร้อยละ 75.7[17] อัตราการไม่รู้หนังสือดังกล่าวนี้สูงยิ่งกว่าประเทศยุโรปใดๆ ในยุคเดียวกัน[16] นักประวัติศาสตร์บางส่วนได้อ้างว่าการทำสำมะโนประชากรเกี่ยวกับผู้ไม่รู้หนังสือในขณะนั้นยังหละหลวม เพราะวัดเพียงจากการที่บุคคลสามารถเขียนชื่อตัวเองและสามารถอ่านข้อความสั้นๆ ได้เท่านั้น ซึ่งอาจตีความได้ว่าอัตราการไม่รู้หนังสือที่แท้จริงของอิตาลีในเวลานั้นอาจจะเลวร้ายกว่าผลการสำรวจที่ได้จัดทำไว้[17] ระดับของการไม่รู้หนังสือของอิตาลีถูกรวมเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลานั้นอิตาลียังมีโรงเรียนของรัฐอยู่น้อยหลังจากการรวมชาติ และยังไม่มีสื่อสารมวลชนที่สามารถส่งข่าวได้ทั่วประเทศ เนื่องจากในเวลานั้นยังมีความแตกต่างทางภาษาในเรื่องของภาษาถิ่นอยู่มาก[18] รัฐบาลอิตาลีในยุคเสรีนิยมได้พยายามลดอัตราการไม่รู้หนังสือโดยการตั้งโรงเรียนซึ่งรัฐเป็นผู้ออกค่าใช่จ่ายเพื่อสอนภาษาอิตาลีแบบทางการ[19] ภาวะการรู้หนังสือและภาวะการไม่รู้หนังสือในระดับท้องถิ่นจะมีระดับแปรผันไปในแต่ละแคว้น เพราะแต่ละแคว้นมีระดับของคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่ากัน โดยแคว้นในอิตาลีตอนใต้อยู่ในภาวะที่แย่ที่สุดเนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนน้อย[17]

มาตรฐานของคุณภาพชีวิตของยุคเสรีนิยมอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลีตอนใต้ซึ่งเกิดปัญหาจากโรคภัยหลายชนิดเช่นมาเลเรียและโรคอื่นๆ ที่มีการระบาดในยุคนั้น[20] โดยรวมแล้ว ปรากฏตัวเลขเบื้องต้นของอัตราการเสียชีวิตของประชากรในปี ค.ศ. 1871 อยู่ที่ 30 คนต่อทุก 1,000 คน และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 24.2 คนต่อทุก 1,000 คน ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1890[21] อนึ่ง อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปีในปี ค.ศ. 1871 อยู่ที่ร้อยละ 22.7 ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กวัย 1-5 ปี อยู่ในระดับที่สูงมากถึงร้อยละ 50[21] อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 ปีได้ลดลงมาอยู่มี่ร้อยละ 17.6 ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1891 - ค.ศ. 1900[21]

เศรษฐกิจ

[แก้]

ในการรวมชาติอิตาลีขึ้นมานั้น ราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ก็พบเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ตลอดจนไปถึงปัญหาทางการเมือง สังคม และการแบ่งแยกชนชาติและชนชั้น ในช่วงยุคสมัยใหม่ของอิตาลีนี้สภาพทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศขึ้นอยู่กับการค้าขายจากต่างประเทศและการส่งออกถ่านหินกับข้าว

และจากการรวมชาตินี้เอง ทำให้อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการทำงานของประชาชนในภาคเกษตรกรรมมากที่สุดในแถบยุโรปถึง 60% ของประชากร และกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ ส่วนศาสนจักรเองก็มีทรัพย์สินจำนวนมากมายจากการบริจาคในประเทศ และยังมีการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศที่รุนแรงอีกด้วย ทำให้ช่องทางและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศในภาคเกษตรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วหลังจากการรวมชาติขึ้นมาได้ไม่นาน แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งหมดในช่วงระยะเวลานี้ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมทางใต้ของอิตาลีต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนในช่วงฤดูร้อน, ความแห้งแล้ง, และไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ ซ้ำยังต้องเผชิญกับการระบาดของไข้มาลาเรียในพื้นที่เสื่อมโทรมตลอดทั้งชายฝั่งทะเลเอเดรียติก

ความสนใจของประชาชนหันไปที่นโยบายการต่างประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมเกษตรกรรมของอิตาลี ซึ่งเสื่อถอยลงมาตั้งแต่ ค.ศ. 1873 ทั้งฝ่ายหัวรุนแรงและฝ่ายอนุรักษนิยมต่างกดดันรัฐสภาอิตาลีให้ออกคำสั่งไปยังรัฐบาลเริ่มการเสาะหาวิธีพัฒนาระบบการเกษตรของประเทศ การสืบสวนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1877 และถูกเผยแพร่ในอีกแปดปีต่อมา แสดงให้เห็นว่าการเกษตรในประเทศไม่มีการพัฒนาและเจ้าของที่ดินต่างเก็บผลประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นโดยแทบจะไม่ได้พัฒนาที่ดินของพวกเขาเลย ชนชั้นล่างของอิตาลีได้รับผลกระทบตั้งแต่จากการสิ้นสุดลงของที่ดินชุมชนไปจนถึงผลประโยชน์ของเหล่าเจ้าของที่ดิน แรงงานในภาคเกษตรกรรมของอิตาลีส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนาแต่เป็น บรักซิอันติ หรือแรงงานชั่วคราวซึ่งในกรณีนานที่สุดคือถูกว่าจ้างเป็นแรงงานหนึ่งปี ชาวนาผู้มีรายได้ไม่แน่นอนถูกบังคับให้ชีวิตอย่างอย่างลำบาก, ขาดแคลนอาหาร, โรคระบาดที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมไปถึงการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 55,000 คน[22]

งานนิทรรศการจัดแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมในเมืองตูริน ปี ค.ศ. 1898 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรม

รัฐบาลอิตาลีไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้หลังจากเผชิญกับปัญหาหนี้อันหนักหน่วงซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายที่เกินตัว และยังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจหลังจากองุ่นล้นตลาด ในช่วงปี ค.ศ. 1870 และ 1880 อุตสาหกรรมไวน์ฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในองุ่นโดยแมลง อิตาลีจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไวน์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป แต่หลังจากที่อุตสาหกรรมไวน์ของฝรั่งเศสฟื้นตัวในปี ค.ศ. 1888 ก็ทำให้เกิดภาวะองุ่นล้นตลาดอีกครั้งในภาคใต้ของอิตาลี ส่งผลให้ต้องมีการลดการผลิตลงและทำให้เกิดการว่างงานและการล้มละลายทางการเงินครั้งใหญ่[23]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 รัฐบาลอิตาลีลงทุนอย่างมากกับระบบทางรถไฟ ส่งผลให้ระยะทางรถไฟในอิตาลีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี ค.ศ. 1890[24]

อิตาลีตอนใต้

[แก้]

ประชาชนของอิตาลียังคงมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างอภิสิทธิ์ชนผู้ร่ำรวยกับกรรมกรผู้ยากจนโดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศ สำมะโนประชากรของปี ค.ศ. 1881 ชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้แรงงานในภาคใต้มากกว่าหนึ่งล้านคนเป็นผู้ทำงานไม่เต็มเวลามาอย่างยาวนานและมีความเป็นไปได้สูงที่จะอพยพย้ายถิ่นไปที่ต่างๆ ตามฤดูกาลด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการยังชีพตนเอง[25] บ่อยครั้งที่ชาวนาในภาคใต้, เจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดินกลุ่มเล็กๆ มักจะมีปัญหาขัดแย้งและก่อจลาจลตลอดช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[26] แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าสภาพเศรษฐกิจของเกษตรกรในภาคใต้ทุกแห่งจะอยู่ในสภาพยากจน เศรษฐกิจในท้องถิ่นบางแห่งซึ่งใกล้กับเขตเมืองเช่น นาโปลี และ ปาแลร์โม หรือตามแนวชายฝั่งทะเลติร์เรเนียน ต่างก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี[25]

ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1870 เรื่อยมา ปัญญาชน, นักวิชาการ และนักการเมือง ทำการตรวจสอบสภาพเศรษฐกิจและสังคมของอิตาลีตอนใต้ (อิลเมซโซโจร์โน) การเคลื่อนไหวที่ถูกเรียกว่า เมริเดียนาลิสโม เช่น คณะกรรมธิการสอบสวนภาคใต้ ค.ศ. 1910 บ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลอิตาลีล้มเหลวมาอย่างยาวนานในการเยียวยาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและการจำกัดสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งจำกัดไว้ให้สำหรับผู้ที่มีทรัพย์สินไว้ครอบครองมากเพียงพอ ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนยากจนจากเหล่าเจ้าของที่ดิน[27]

ฟรันเซสโก คริสปี และกำเนิดลัทธิล่าอาณานิคมของอิตาลี

[แก้]
ฟรันเซสโก คริสปีได้ส่งเสริมลัทธิล่าอาณานิคมของอิตาลีในทวีปแอฟริกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของอิตาลีในยุทธการอัดวา ซึ่งเป็นจุดชี้ขาดสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่หนึ่ง ได้นำไปสู่การลาออกของคริสปี

โครงการสร้างอาณานิคมจำนวนมากได้ผ่านการรับรองจากรัฐบาลอิตาลี เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากกลุ่มชาตินิยมและจักรวรรดินิยมชาวอิตาลี ซึ่งต่อการจะสร้างจักรวรรดิโรมันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในเวลานั้นอิตาลีได้มีเขตที่ชาวอิตาลีได้ตั้งถิ่นฐานขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย ไคโร และตูนิสอยู่แล้ว ประเทศอิตาลีได้พยายามแสวงหาอาณานิคมครั้งแรกผ่านการเจรจากับชาติมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อขอสัมปทานดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นอาณานิคมของอิตาลี ซึ่งการเจรจาดังกล่าวปรากฏว่าล้มเหลว นอกจากนั้น อิตาลียังได้ส่งมิชชันนารีไปยังดินแดนที่ยังไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมเพื่อสืบหาช่องทางที่จะยึดครองเป็นอาณานิคมของอิตาลี พื้นที่ที่อิตาลีมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างอาณานิคมของตนขึ้นได้จริงมากที่สุดก็คือในทวีปแอฟริกา มิชชันนารีของอิตาลีได้เริ่มบุกเบิกการเผยแผ่ศาสนาที่เมืองมาสซาวา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเอริเทรีย) และเริ่มเดินทางลึกเข้าไปในจักรวรรดิเอธิโอเปียในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1830[28]

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 ก่อนหน้าการสิ้นอำนาจการปกครองของอียิปต์ในเมืองคาร์ทูมไม่นาน อิตาลีก็ได้ส่งทหารเข้ายึดเมืองมาสซาวา และต่อมาก็ได้ผนวกเมืองมาสซาวาโดยการบังคับในปี ค.ศ. 1888 นับเป็นจุดกำเนิดของอาณานิคมเอริเทรียของอิตาลี

ในปี ค.ศ. 1895 เอธิโอเปียภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเมเนลิกที่ 2 ได้ล้มเลิกข้อตกลงในการดำเนินตามนโยบายการต่างประเทศของอิตาลี ซึ่งได้ลงนามไว้เมื่อปี ค.ศ. 1889 อิตาลีจึงได้อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวยกเป็นเหตุในการยกทัพเข้าสู่เอธิโอเปีย[29] เอธิโอเปียได้รับความช่วยเหลือจากจักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ในทวีปแอฟริกา โดยรัฐบาลของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ส่งอาวุธสมัยใหม่จำนวนมากเข้าช่วยเหลือชาวเอธิโอเปียในสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่หนึ่ง ผลสะท้อนที่กลับมาคือสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจเข้าหนุนหลังฝ่ายอิตาลีเพื่อท้าทายอิทธิพลของรัสเซียในทวีปแอฟริกา ทั้งยังได้ประกาศว่าเอธิโอเปียทั้งหมดอยู่ในขอบเขตที่อิตาลีจะสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้ ในช่วงที่ใกล้จะเกิดสงครามนั้น ลัทธิชาตินิยมและทหารนิยมได้ทะยานสู่จุดสูงสุด ประชาชนชาวอิตาลีได้รวมตัวกันเข้าสมัครเป็นทหารในกองทัพบกอิตาลีด้วยความหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้[30]

กองทัพอิตาลีประสบกับความล้มเหลวในสมรภูมิ และพ่ายแพ้อย่างยับเยินให้แก่กองทัพจำนวนมหาศาลของเอธิโอเปียในยุทธการอัดวา อิตาลีจึงจำต้องถอนทัพกลับไปยังเอริเทรีย[31] ความล้มเหลวในสงครามที่เอธิโอเปียทำให้อิตาลีต้องอับอายขายหน้าในระดับนานาประเทศ

ทหารราบขี่ม้าของอิตาลีระหว่างเกิดกบฏนักมวยในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1900

นับจากวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899 ถึงวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 อิตาลีได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังพันธมิตรแปดชาติระหว่างที่เหตุการณ์กบฏนักมวยในประเทศจีน ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1901 รัฐบาลของราชวงศ์ชิงได้ส่งมอบสัมปทานเขตเช่าที่เมืองเทียนสินให้แก่อิตาลี ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1902 สัมปทานดังกล่าวได้มีบังคับใช้ นำไปสู่การตั้งกงสุลอิตาลีเพื่อเข้าครอบครองและทำการบริหารจัดการ

ในปี ค.ศ. 1911 อิตาลีได้ประกาศสงครามกับจักรวรรดิออตโตมันและเข้ารุกรานดินแดนตริโปลิเตเนีย เฟซซัน และไซเรไนกา ดินแดนทั้งสามจังหวัดนี้ได้รวมกันเป็นประเทศลิเบียในภายหลัง สงครามได้จบลงในอีกหนึ่งปีถัดมา แต่การเข้ายึดครองของอิตาลีได้ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชาวลิเบีย เช่น การบังคับขับไล่ชาวลิเบียให้ออกจากหมู่เกาะทรีมิติ (Tremiti Islands) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 เป็นต้น ถึงปี ค.ศ. 1912 ปรากฏว่า 1 ใน 3 ของผู้ลี้ภัยชาวลิเบียได้เสียชีวิตจากการขาดอาหารและที่อยู่ อาศัย[32] การผนวกดินแดนลิเบียได้ทำให้ฝ่ายชาตินิยมอิตาลีเรียกร้องให้อิตาลีครอบ ครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยการเข้ายึดครองราชอาณาจักรกรีซและภูมิ ภาคดัลเมเชียในชายฝั่งทะเลเอเดรียติก[33]

โจวันนี โจลิตตี

[แก้]
โจวันนี โจลิตตี นายกรัฐมนตรี 5 สมัยของอิตาลี ระหว่าง ค.ศ. 1892 - 1921

ในปี ค.ศ. 1892 โจวันนี โจลิตตี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีเป็นสมัยแรก แม้ว่าคณะรัฐบาลชุดแรกของเขาจะพังลงอย่างรวดเร็วในปีต่อมา แต่ในปี ค.ศ. 1903 โจลิตตีก็กลับขึ้นมาเป็นผู้นำของรัฐบาลอิตาลีอีกครั้งในยุคแห่งความยุ่งเหยิงซึ่งจะดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1914 ชีวิตของโจลิตตีในช่วงแรกได้ทำงานเป็นข้าราชการพลเรือน ต่อมาเขาได้เข้าไปมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของอดีตนายกรัฐมนตรีคริสปี เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลายปีเพราะเขาควบคุมแนวคิด "ทรานสฟอร์มิสโม" ด้วยการชักใยอยู่เบื้องหลัง บีบบังคับขู่เข็ญ และติดสินบนบรรดาข้าราชการให้อยู่ฝ่ายเขา การโกงการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลของโจลิตตีเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ตัวโจลิตตีเองก็ช่วยเรียกคะแนนเสียงในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่มั่งคั่งและสนับสนุนฝ่ายตนเองเท่านั้น ส่วนเขตเลือกตั้งที่ยากจนและมีฝ่ายค้านเข้มแข็งจะถูกเขาข่มขู่และทำการโดดเดี่ยวเสีย[34] ภาคใต้ของอิตาลีอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ทั้งก่อนหน้าและระหว่างช่วงที่โจลิตตีอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชาวอิตาลีที่อาศัยในภาคใต้ถึงสี่ในห้าเป็นผู้ไม่รู้หนังสีอ สถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้แปรผันมาจากปัญหาของผู้ไร้ที่ทำกินจำนวนมากก่อการกบฏและปัญหาความอดอยาก[35] การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งโจลิตตีเองได้ยอมรับว่า ยังมีที่ที่ "กฎหมายไม่สามารถยื่นมือเข้าไปจัดการได้ทุกอย่าง"[36]

ในปี ค.ศ. 1911 รัฐบาลของโจลิตตีได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองลิเบีย ในขณะที่ความสำเร็จในสงครามลิเบียได้ยกสถานะของลัทธิชาตินิยมให้สูงขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยเกิดความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐบาลโจลิตตีแต่อย่างใด รัฐบาลได้พยายามขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการพูดถึงความสำเร็จและความสร้างสรรค์ของกองทัพอิตาลีในการสงครามว่า อิตาลีเป็นชาติแรกที่ได้มีการใช้พโยมยาน (เรือเหาะ) ในวัตถุประสงค์ทางการทหาร และได้ลงมือทำการทิ้งระเบิดทางอากาศใส่กองกำลังของจักรวรรดิออตโตมัน[37] สงครามได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของพรรคสังคมนิยมอิตาลี กล่าวคือ กลุ่มนักปฏิวัติต่อต้านสงครามในพรรค ซึ่งนำโดยเบนิโต มุสโสลีนี ผู้ซึ่งจะกลายเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ในอนาคต ได้เรียกร้องให้มีการใช้กำลังในการโค่นล้มรัฐบาล หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ โจลิตตีได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในเวลาอันสั้น แต่เมื่อถึงตอนนั้น ยุคเสรีนิยมก็ได้จบลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว

การเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 1913 และปี ค.ศ. 1919 แสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงการเลือกตั้งได้หันเหไปทางพรรคการเมืองกลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคาธอลิก และกลุ่มชาตินิยม เนื่องจากพรรคการเมืองสายเสรีนิยมและราดิคัล (radical) ได้อ่อนแลลงเพราะปัญหาความแตกร้าวภายในและต้องพบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด

สงครามโลกครั้งที่ 1 และความล้มเหลวของรัฐเสรีนิยม (ค.ศ. 1915-1922)

[แก้]

บทนำสู่สงครามจากภาวะวิกฤตภายในชาติ

[แก้]

ในระหว่างหนทางสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาณาจักรเผชิญกับปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากมายในการกำหนดพันธมิตรและเป้าประสงค์ของชาติ ความสำเร็จในการเข้ายึดครองลิเบียจากจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นผลจากสงครามอิตาลี-ตุรกีได้จุดประกายความตึงเครียดภายในกลุ่มไตรภาคี เพราะทั้งจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต่างพยายามที่จะหาลู่ทางในการกระชับความสัมพันธ์กับออตโตมันมาอย่างยาวนาน ในมิวนิก, ชาวเยอรมันตอบสนองต่อการรุกรานของอิตาลีด้วยการร้องเพลงที่เกี่ยวกับการต่อต้านอิตาลี[38] ความสัมพันธ์ของอิตาลีกับฝรั่งเศสก็ย่ำแย่เช่นเดียวกัน ซึ่งทางฝรั่งเศสรู้สึกว่าถูกอิตาลีทรยศจากการที่อิตาลีสนับสนุนปรัสเซียในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทำให้เป็นไปได้ที่อิตาลีและฝรั่งเศสจะก่อสงครามต่อกัน[39] ทางฝากความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรก็ไม่ค่อยจะสู้ดีนักจากการที่นักชาตินิยมอิตาลีเรียกร้องสถานะความสำคัญของอิตาลีบนเวทีโลกหลังจากการเข้ายึดครองลิเบีย และยังเรียกร้องให้นานาประเทศยอมรับถึงการมีอยู่ของการมีอิทธิพลเหนือแถบแอฟริกาตะวันออกและเมดิเตอร์เรเนียน[40]

แผนที่แสดงถึงอิตาลีและอาณานิคมในครอบครองช่วงระหว่างการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พื้นที่ระหว่างดินแดนของอิตาลีกับอียิปต์ของอังกฤษ ซึ่งอยู่ทางใต้ของไซเรไนคาอันเป็นแคว้นหนึ่งของอิตาเลียนลิเบีย ที่มีข้อพิพาทในการครอบครองระหว่างอิตาลีและอังกฤษ

ทางฝากของเมดิเตอร์เรเนียน ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับราชอาณาจักรกรีซเป็นไปด้วยความย่ำแย่ เมื่ออิตาลีเข้ารุกรานและครอบครองหมู่เกาะที่ชาวกรีกอาศัยอยู่นามว่าโดเดคะนีส ซึ่งรวมไปถึงเกาะโรดส์ ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1912 - ค.ศ. 1914 โดยที่หมู่เกาะเหล่านี้เคยตกอยู่ภายใต้การครอบครองของจักรวรรดิออตโตมัน อิตาลีและกรีซยังบาดหมางกันอย่างเปิดเผยในกรณีของความพยายามในการเข้ายึดครองแอลเบเนีย[41] พระเจ้าเอ็มมานูเอลที่ 3 ซึ่งพระองค์ไม่ทรงถนัดใจในการแสวงหาอาณานิคมซึ่งอยู่ไกลออกไป ตรัสว่าอิตาลีควรเตรียมตัวในการนำดินแดนที่ชาวอิตาลีอาศัยอยู่กลับคืนมาจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เพื่อทำให้ อิตาลีรวมกันได้อย่างสมบูรณ์ (อิตาลี: Completamento del Risorgimento)[42] และแนวคิดนี้เองที่ทำให้ความสัมพันธ์กับออสเตรีย-ฮังการีเกิดความหยุดชะงักขึ้น

อุปสรรคสำคัญของอิตาลีในการตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกสงครามก็คือความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศปี ค.ศ. 1914 ซึ่งภายหลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอันโตนิโอ ซาลันดรา ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน รัฐบาลพยายามจะเอาชนะแรงสนับสนุนของกลุ่มชาตินิยมและหันไปสนใจกับประเด็นสิทธิทางการเมือง[43] ในขณะเดียวกันเองนักการเมืองฝ่ายซ้ายก็ถูกบีบคั้นอย่างหนักจากการที่รัฐบาลสังหารนักต่อต้านเผด็จการทหาร 3 คนในเดือนมิถุนายน[43] ทำให้ฝ่ายซ้ายหลากหลายกลุ่มอันประกอบด้วย กลุ่มสังคมนิยม, กลุ่มสาธารณรัฐนิยม และกลุ่มอนาธิปไตยนิยม ต่างก่อการประท้วงและพรรคสังคมนิยมแห่งอิตาลีก็ประกาศนัดหยุดงานประท้วงขึ้นทั่วประเทศ[44] การประท้วงซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ สัปดาห์แดง (อิตาลี: Settimana rossa) ที่ฝ่ายซ้ายได้ต่างพากันก่อการดื้อแพ่งไปถึงเกิดเหตุจลาจลตามหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วอิตาลี เช่น การบุกยึดสถานีรถไฟ, การตัดสายโทรศัพท์ และการเผาทำลายสำนักทะเบียนจัดเก็บภาษี[43] อย่างไรก็ดีสองวันถัดมาจึงมีการประกาศยุติการประท้วงอย่างเป็นทางการ แม้ว่าการจลาจลยังคงดำเนินไปก็ตาม กลุ่มเผด็จการทหารนิยม, กลุ่มชาตินิยม ยังคงต่อสู้กับกลุ่มฝ่ายซ้ายกันตามท้องถนน จนกระทั่งกองทัพบกได้เข้ารักษาความสงบด้วยการส่งกองกำลังนับพันนายเข้าควบคุมกลุ่มผู้ประท้วงหลากหลายฝ่าย[43] ตามมาด้วยการรุกรานเซอร์เบียของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในปี ค.ศ. 1914 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ได้ปะทุขึ้น แม้ว่าอิตาลีจะประกาศจนอย่างเป็นทางการถึงการเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิเยอรมันในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่มไตรภาคี แต่ในช่วงเริ่มต้นกลับวางตัวเป็นกลางโดยอ้างว่ากลุ่มไตรภาคีมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการป้องกันตนเองเท่านั้น

กาเบรียล ดานันซิโอ, นักปฏิวัติชาตินิยมคนสำคัญ ผู้สนับสนุนให้อิตาลีเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในอิตาลี มุมมองของประชาชนต่อสงครามต่างแตกออกเป็นฝั่งเป็นฝ่าย ฝ่ายสังคมนิยมโดยมากแล้วต่างพากันต่อต้านสงครามและสนับสนุนแนวคิดการต่อต้านความรุนแรง ในขณะที่ฝ่ายชาตินิยมกลบสนับสนุนสงครามอย่างแข็งขัน ตัวอย่างของผู้สนับสนุนให้อิตาลีเข้าร่วมสงคราม เช่น นักชาตินิยม, กาเบรียล ดานันซิโอ และลุยจิ เฟเดร์โซนี รวมถึงนักข่าวผู้ปิดปังแนวคิดนิยมมาร์กซิสต์ของตน, ผู้ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นนักชาตินิยมและผู้นำเผด็จการในอนาคต เบนิโต มุสโสลินี ก็เรียกร้องให้อิตาลีเข้าสู่สงคราม สำหรับเหล่านักชาตินิยมแล้ว อิตาลีจะต้องดำรงสัมพันธภาพกับกลุ่มมหาอำนาจกลางเอาไว้ เพื่อที่จะได้รับดินแดนในอาณานิคมของฝรั่งเศสในภายหลัง แต่สำหรับเหล่านักเสรี สงครามครั้งนี้คือโอกาสที่อิตาลีรอคอยมานานในการที่จะเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร และทวงคืนแผ่นดินที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่มาจากออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการชาตินิยมอันยาวนานมาตั้งแต่การรวมชาติอิตาลี ในปี ค.ศ. 1915 ญาติของนักปฏิวัติและวีรบุรุษสาธารณรัฐนิยม จูเซปเป กาลิบาลดิ เสียชีวิตในสมรภูมิที่ฝรั่งเศส ที่ซึ่งมีทหารอาสาช่วยในการรบ เฟแดร์โซนิจึงได้ใช้หน่วยรำลึกในการประกาศถึงความสำคัญของการเข้าร่วมสงคราม และเป็นคำเตือนไปยังสถาบันกษัตริย์ถึงความแตกแยกที่ยังคงดำเนินไปอยู่ภายในอิตาลี

อิตาลีรอคอยเวลานี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1866 เวลาแห่งสงครามที่แท้จริงของเธอ ในการที่จะรู้สึกถึงความสามัคคีในห้วงเวลาสุดท้าย เริ่มต้นใหม่อีกครั้งโดยการกระทำที่เป็นเอกฉันท์และการเสียสละของลูกหลานของเธอ วันนี้ขณะที่อิตาลียังคงลังเล ชื่อของการีบัลดีซึ่งได้ถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยเลือดอีกครั้ง ได้ตื่นขึ้นอีกครั้งเพื่อที่จะย้ำเตือนเธอว่าไม่สามารถจะเอาชนะการปฏิวัติซึ่งถูกรักษาไว้ด้วยการต่อสู้และการได้รับชัยชนะจากสงครามแห่งชาติของเธอ

— ลุยจิ เฟเดร์โซนี พ.ศ. 2458[45]

มุสโสลินีใช้หนังสือพิมพ์ของเขาที่ชื่อว่า อิลปอโปโลดิตาเลีย (ประชาชนแห่งอิตาลี) และใช้ทักษะเชิงโวหารอันช่ำชองของเขากระตุ้นเหล่านักชาตินิยมและพวกฝ่ายซ้ายหัวปฏิวัติให้สนับสนุนอิตาลีเปิดฉากเข้าสู่สงคราม เพื่อที่จะได้ทวงคืนดินแดนที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่คืนมาจากออสเตรีย-ฮังการี โดยกล่าวว่า "พอแล้วสำหรับลิเบีย และต่อไปคือเทรนโตและตรีเยสเต[45]" เขากล่าวว่ามันเป็นภาระของนักสังคมนิยมทั้งหลายในการที่จะกำจัดราชวงศ์ขุนนางโฮเฮนซอลเลิร์นแห่งเยอรมนีที่เขาอ้างว่าเป็นศัตรูกับแรงงานทั่วทวีปยุโรป[46] มุสโสลินีกับพวกนักชาตินิยมอื่นๆ กล่าวเตือนรัฐบาลอิตาลีว่าจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามมิเช่นนั้นประเทศจะต้องพบกับการปฏิวัติรวมไปถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มนิยมสันติภาพและกลุ่มผู้วางตนเป็นกลาง[47] ต่อมาแนวคิดชาตินิยมฝ่ายซ้ายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นทางภาคใต้ของอิตาลี นักชาตินิยมและสังคมนิยมนามว่าจูเซปเป เด เฟลิเซ จุฟฟรีดา มองว่าการเข้าร่วมสงครามมีความจำเป็นในการบรรเทาภาวะราคาขนมปังที่สูงขึ้นในภาคใต้ซึ่งทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น นอกจากนี้เขาเองยังสนับสนุนสงครามปฏิวัติอิตาลีอีกด้วย[48]

ด้วยการสนับสนุนการทวงคืนพื้นที่จากออสเตรีย-ฮังการีอย่างเหนียวแน่นจากกลุ่มชาตินิยม อิตาลีจึงเริ่มเจรจากับกลุ่มไตรภาคีจนการเจรจาสำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 เมื่อสนธิสัญญาลอนดอน ได้ถูกลงนามกับรัฐบาลอิตาลี สนธิสัญญานี้รับรองสิทธิ์ของอิตาลีในการเรียกคืนดินแดนที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่จากออสเตรีย-ฮังการีตามความต้องการ แม้แต่ดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่านหรือดินแดนอาณานิคมของเยอรมันในแอฟริกา ข้อเสนอนี้ได้เติมเต็มความปรารถนาของนักชาตินิยมและนักจักรวรรดินิยมในอิตาลี รัฐบาลอิตาลีจึงได้เข้าร่วมกลุ่มไตรภาคีและสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีอย่างเต็มตัว

ในขณะที่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการเข้าร่วมสงครามนี้เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย อดีตนายกรัฐมนตรีโจวันนี โจลิตตี รู้สึกโกรธเกรี้ยวที่อิตาลีตัดสินใจเข้าร่วมสงครามต่อสู้กับอดีตพันธมิตรสำคัญในการป้องกันดินแดนอิตาลีอย่างออสเตรีย-ฮังการี เขาอ้างว่าอิตาลีจะประสบกับความล้มเหลวในสงคราม, คาดการณ์ถึงการก่อกบฏมากมาย, ออสเตรีย-ฮังการีเข้ายึดดินแดนอิตาลีเพิ่มมากขึ้น แล้วความล้มเหลวนี้จะทำให้เกิดความหายนะและความวุ่นวายตามมาจนทำให้สถาบันประชาธิปไตยแบบเสรีของประเทศและระบอบประชาธิปไตยเสรีอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องล้มสลาย[49]

ความพยายามในสงครามของอิตาลี

[แก้]
จอมทัพลุยจิ กาดอร์นา (ชายทางด้านซ้ายที่กำลังพูดกับนายทหารสองคน) ขณะตรวจเยี่ยมกองปืนใหญ่ของสหราชอาณาจักรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในช่วงแรกของนโยบายต่อต้านออสเตรีย-ฮังการีดูจะเข้าทางอิตาลี: กองทัพออสเตรีย-ฮังการีแผ่ขยายอาณาเขตจนปะทะชายแดนเซอร์เบียและรัสเซีย และกองทัพอิตาลีก็เหนือกว่ากองทัพออสเตรีย-ฮังการีในด้านจำนวนทหาร แต่ข้อได้เปรียบนี้กลับไม่เคยถูกนำมาใช้เนื่องจากผู้บัญชาการกองทัพอิตาลี ลุยจิ กาดอร์นา ยืนกรานว่าการเข้าเผชิญหน้ากับออสเตรียฮังการีในการยึดคืนที่ราบสโลวีเนียและกรุงลูบลิยานานั้นอันตรายเกินไป เพราะการบุกครั้งนี้กองทัพอิตาลีจะไม่สามารถเคลื่อนทัพไปได้ถึงพื้นที่ดังกล่าว หากแต่จะถูกสกัดกั้นไว้ให้ไปได้ไม่เกินกรุงเวียนนาซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี หลังจากที่อิตาลีเคยประสบความล้มเหลวถึงสิบเอ็ดครั้งในการบุกยึดกรุงเวียนนา ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตมากมายเกินกว่าที่จะรับได้

เมื่อเข้าสู่สงครามอย่างเป็นทางการแล้ว สภาพภูมิศาสตร์เองก็เป็นอุปสรรคหนึ่งของอิตาลี เนื่องจากแนวเขตแดนกับออสเตรีย-ฮังการีนั้นมีสภาพเป็นเทือกเขาสูงชัน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 จำนวนพลทหารอิตาลีตามแนวชายแดนมีกว่า 400,000 นาย ซึ่งมากกว่าของกองทัพออสเตรีย-ฮังการีรวมกับกองทัพเยอรมันรวมกันถึงสี่ต่อหนึ่ง[50] อย่างไรก็ตามการป้องกันทางฝั่งของออสเตรีย-ฮังการีก็ยังคงแข็งแกร่งแม้จะพบกับปัญหากำลังคนไม่เพียงพอ ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถเหนี่ยวรั้งการเข้าโจมตีของอิตาลี[51] การบุกของอิตาลีตามเชิงเขาอัลไพน์และในสนามเพลาะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า[52] พลทหารอิตาลีถูกฝึกมาอย่างไร้ประสิทธิภาพแตกต่างจากกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพเยอรมัน ปืนใหญ่ของอิตาลีเสียเปรียบปืนกลของออสเตรียฮังการีขณะที่กระสุนปืนมีไม่เพียงพอแก่กองทัพจนอยู่ในระดับอันตราย การขาดแคลนยุทโธปกรณ์นี้เองที่จะยังคงขัดขวางความพยายามในการเข้าบุกออสเตรีย-ฮังการี[51] บวกกับการสับเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ทหารโดยคำสั่งของกาดอร์นาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้บรรดานายทหารขาดความรู้ประสบกาณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง[53] ในปีแรกของสงคราม สภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในสมรภูมิส่งผลให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคขึ้น ซึ่งคร่าชีวิตนายทหารอิตาลีไปเป็นจำนวนมาก[54] แต่แม้สถานการณ์จะดูเลวร้ายเช่นไรกาดอร์นาก็ยังคงเดินหน้าบุกออสเตรีย-ฮังการีต่อ ยุทธนาวีเกิดขึ้นระหว่างราชนาวีอิตาลี (เรจีอา มารีนา) และ ราชนาวีอิมพีเรียล (ออสเตรีย-ฮังการี) ด้านเรือรบของอิตาลีเป็นด้อยกว่ากองเรือของออสเตรีย-ฮังการีอยู่มากและสถานการณ์ยิ่งน่าหวาดหวั่นขึ้นเมื่อทางกองทัพเรือฝรั่งเศสและราชนาวีอังกฤษปฏิเสธการร่วมรบในทะเลเอเดรียติก เนื่องจากมองว้าอันตรายเกินไปจากการที่มีกองเรือราชนาวีอิมพีเรียลลอยลำอยู่อย่างหนาแน่น[54]

ทหารราบอิตาลีในปี ค.ศ. 1918 มากกว่า 650,000 นายเสียชีวิตในสมรภูมิรบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ศีลธรรมตกต่ำลงในหมู่นายทหารอิตาลีผู้ซึ่งเคยใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่ายเมื่อไม่ได้มาอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมิ: พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เขาโรงหนังหรือบาร์แม้กระทั่งในช่วงที่พวกเขาลาพักร้อน อย่างไรก็ตามเมื่อการรบใกล้จะปะทุขึ้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกแจกจ่ายอย่างเสรีแก่นายทหารในการที่จะลดความตึงเครียดก่อนเข้าสู่สนามรบ และในการที่จะหลบหลีกจากความเบื่อหน่ายหลังการรบ นายทหารบางกลุ่มจึงได้ยอมทำงานเป็นซ่องโสเภณีชั่วคราว[55] ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับศีลธรรมในกองทัพ กองทัพอิตาลีจึงเผยแพร่คำปราศรัยชวนเชื่อถึงความสำคัญของสงครามต่ออิตาลี เพื่อที่จะได้มาซึ่งดินแดนแห่งเทรนโตและตรีเยสเตมาจากออสเตรีย-ฮังการี[55] คำปราศรัยบางชิ้นได้นำมาจากนักชาติยมคนสำคัญในสงครามอย่างกาเบรียล ดานันซิโอ ในช่วงของสงคราม ตัวของดานันซิโอเองก็ได้เข้าร่วมการโจมตีทางทหารในดินแดนออสเตรียตามแนวชายฝั่งทะเลเอเดรียติกจนเสียตาไปหนึ่งข้าง[56] ส่วนคำปราศรัยของผู้สนับสนุนสงครามคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง เบนิโต มุสโสลินี นั้นกลับไม่ได้รับการเผยแพร่จากรัฐบาล ซึ่งคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะภูมิหลังด้านแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมในอดีตของเขา[55]

สถานการณ์ของรัฐบาลอิตาลีเลวร้ายลงอีกในปี ค.ศ. 1915 จากท่าทีที่นิ่งเฉยของกองทัพเซอร์เบียที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสู่รบกับออสเตรีย-ฮังการีมานานนับเดือน[57] รัฐบาลอิตาลีกล่าวหาว่าเป็นเพราะกองทัพเซอร์เบียวางตัวนิ่งเฉยต่อสงครามทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีสามารถรวบรวมกองทัพเข้าต่อต้านอิตาลีได้สำเร็จ[58] กาดอร์นาสงสัยท่าทีของเซอร์เบียว่ากำลังเจรจายุติสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีและได้แสดงความคิดนี้ต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลี ซิดนีย์ ซอนนิโน ผู้ที่ยืนกรานว่าเซอร์เบียเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไม่ได้[58] ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีและเซอร์เบียดำเนินไปอย่างเยือกเย็นเสียจนพันธมิตรอื่นในกลุ่มไตรภาคีถูกผลักดันให้ล้มเลิกความคิดในการที่จะจัดตั้งแนวหน้าที่บอลข่านเข้าสู้รบกับออสเตรีย-ฮังการี[58] ในการเจรจา ซอนนิโนยังคงเต็มใจที่จะให้บอสเนียรวมเข้ากับเซอร์เบีย แต่ปฏิเสธที่จะอภิปรายในชะตากรรมของดัลเมเชียซึ่งถูกอ้างกรรมสิทธิ์โดยอิตาลีและจากกลุ่มสถาปนารัฐแห่งชาวสลาฟในเซอร์เบีย[58] ขณะที่เซอร์เบียกำลังพ่ายแก่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพเยอรมันในปี ค.ศ. 1915 กาดอร์นาเตรียมส่งกองหนุนจำนวน 60,000 นายไปยังเทสซาโลนีกีเพื่อช่วยชาวเซิร์บผู้หลีภัยอยู่ในกรีซและในราชรัฐแอลเบเนียต้านทานกับกองกำลังฝ่ายศัตรู แต่เพราะความรู้สึกขมขื่นของรัฐบาลอิตาลีที่มีต่อเซอร์เบียส่งผลให้แผนการดังกล่าวถูกปฏิเสธไป[58]

ภายหลังปี ค.ศ. 1916 สถานการณ์สำหรับอิตาลีเลวร้ายลงเรื่อยๆ กองทัพออสเตรีย-ฮังการีสามารถขับไล่กองทัพอิตาลีให้ถอยร่นกลับไปยังดินแดนอิตาลี กองทัพอิตาลีจึงไม่สามารถไปได้ไกลเกินกว่าเวโรนาและปาโดวา ในขณะเดียวกันอิตาลีต้องเผชิญกับการขาดแคลนเรือรบ, การโจมตีโดยเรือดำนำที่เพิ่มขึ้น, ค่าขนส่งที่สูงขึ้นทำให้บั่นทอนความสามารถในการส่งเสบียงของกองทัพ, การขาดแคลนวัตถุดิบและอุปกรณ์ และชาวอิตาลีเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงเพื่อใช้จ่ายในสงคราม[59] กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมันได้บุกลึกเข้ามายังอาณาเขตของอิตาลี จนในที่สุดเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916 กาดอร์นาได้ยุติยุทธการเชิงรุกแล้วเริ่มมาใช้ยุทธการเชิงรับแทน ในปี ค.ศ. 1917 ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ยื่นข้อเสนอช่วยเหลือด้วยการส่งกองกำลังเข้ามายังอิตาลีในการต้านท้านการบุกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่รัฐบาลอิตาลีปฏิเสธความช่วยเหลือดังกล่าวเนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศซอนนิโนไม่ต่างการเห็นอิตาลีตกเป็นรัฐบริวารของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ชื่นชอบแนวทางการโดดเดี่ยวมากกว่าเนื่องจากมองว่าเป็นทางเลือกอันกล้าหาญ[60] นอกจากนี้อิตาลียังต้องการที่จะกันราชอาณาจักรกรีซไม่ให้ข้องเกี่ยวกับสงคราม จากการที่รัฐบาลอิตาลีเกรงว่าเมื่อกรีซเข้าสู่สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วจะพยายามยึดเอาแอลเบเนีย ซึ่งอิตาลีต้องการเอาเข้าเป็นดินแดนของตน[61] โชคเข้าข้างอิตาลีเมื่อกลุ่มนิยมเวนิเซลอสซึ่งเป็นขบวนการทางการเมืองกลุ่มหนึ่งของกรีซล้มเหลวในการกดดันสมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 1 ให้นำประเทศเข้าสู่สงคราม ความพยายามยึดเอาแอลเบเนียของอิตาลีจึงยังไม่ถึงกับคว้าน้ำเหลว[61]

โฆษณาชวนเชื่อของอิตาลีซึ่งถูกโปรยในเวียนนาโดยกาเบรียล ดานันซิโอ ในปี ค.ศ. 1918

จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1917 จากการปฏิวัติรัสเซีย ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์บอลเชวิกขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของวลาดีมีร์ เลนิน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแนวรบด้านตะวันออก ทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมันเคลื่อนทัพปะทะแนวหน้าของอิตาลีได้ง่ายขึ้น เสียงคัดค้านการทำสงครามภายในอิตาลีมีมากขึ้นในขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อันเป็นผลจากความตึงเครียดของสงคราม ผลประโยชน์จากสงครามเกิดขึ้นกับเมืองหลักๆ ในขณะที่ชนบทของอิตาลีกำลังสูญเสียรายได้[62] จำนวนแรงงานชายในภาคเกษตรกรรมลดลงจาก 4.8 ล้านคนเหลือเพียง 2.2 ล้านคน แม้กระนั้นอิตาลีก็ยังสามารถรักษาระดับการผลิตไว้ได้ที่ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในช่วงก่อนสงครามอันเนื่องมาจากแรงงานทดแทนจากผู้หญิง[63] นักนิยมสันติภาพและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหันไปสนับสนุนพรรคบอลเชวิกและสนับสนุนการเจรจากับแรงงานชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีเพื่อที่จะยุติสงคราม และเพื่อนำมาซึ่งการปฏิวัติบอลเชวิก อวันติ! (ก้าวหน้า!) ของพรรคสังคมนิยมอิตาลีประกาศว่า "ปล่อยให้ชนชั้นล่างได้ต่อสู้ในสงครามของตน"[64] บรรดาสตรีผู้นิยมฝ่ายซ้ายในเมืองทางภาคเหนือต่างนำการประท้วงเรียกร้องการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงและเรียกร้องให้ยุติการทำสงคราม[65] เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1917 ในมิลาน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์รวมกลุ่มกันและเกี่ยวข้องในการก่อความไม่สงบซึ่งเรียกร้องการสิ้นสุดลงของสงคราม ความไม่สงบเช่นการปิดโรงงานและการขัดขวางระบบคมมนาคมสาธารณะ[66] กองทัพอิตาลีจึงถูกบีบให้เข้าสู่เมืองมิลานพร้อมรถถังและปืนกลในการเผชิญหน้ากับนักสังคมนิยมและนักอนาธิปไตยนิยมผู้ซึ่งต่อสู้ด้วยความรุนแรงจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม เมื่อกองทัพอิตาลีสามารถควบคุมความวุ่นวายของเมืองไว้ได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50 คนรวมถึงนายทหารเสียชีวิต 3 นาย และมากกว่า 800 คนถูกจับกุม[66]

แผนที่แสดงถึงสมรภูมิวิตตอริโอเวเนโต ที่ซึ่งอิตาลีมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือออสเตรีย-ฮังการีผู้รุกราน

หลังจากสมรภูมิกาโปเรตโตในปี ค.ศ.1917 กองทัพอิตาลีถูกตีแตกจนถอยร่นกลับเข้ามาในดินแดนของตน การเสียหน้าครั้งนี้นำมาซึ่งการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายวิตตอริโอ เอ็มมานูเอล ออร์ลันโด ผู้ซึ่งสามารถแก้ปัญหาในช่วงสงครามได้ในบางประเด็น ออร์ลันโดยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวตนเองและประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรมากขึ้น หันมาใช้ระบบขบวนเรือสินค้าเพื่อป้องกันการโจมตีโดยเรือดำนำฝ่ายศัตรู ทำให้อิตาลีสามารถยุติภาวะขาดแคลนเสบียงอาหารที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ลงได้ รวมถึงยังได้รับวัตถุดิบจำเป็นหลายชนิดมาจากฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย[67] และในปีนั้นเองที่รัฐบาลอิตาลีเริ่มทำการปราบปรามบุคคลต่างด้าวฝ่ายศัตรูและชาวอิตาลีฝ่ายสังคมนิยม ต่อมารัฐบาลอิตาลีรู้สึกโกรธกริ้วเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ วูดโรว์ วิลสัน ได้ประกาศหลักการสิบสี่ข้อซึ่งสนับสนุนแนวทางการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของชาติต่างๆ ในยุโรป นั่นหมายความว่าอิตาลีจะไม่ได้รับดินแดนดัลเมเชียตามที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาลอนดอน[68] ด้านนักชาตินิยมในรัฐสภาอิตาลีประณามหลักการสิบสี่นี้ว่าทรยศต่อสนธิสัญญาลอนดอน แต่ด้านนักสังคมนิยมกลับเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องและชอบธรรม เพราะสนธิสัญญาลอนดอนเป็นสนธิสัญญาซึ่งริดรอนสิทธิ์ของชาวสลาฟ, ชาวกรีก และชาวแอลเบเนีย[68] การเจรจาระหว่างอิตาลีกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะรัฐบาลราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (ประเทศที่ก่อตั้งใหม่แทนเซอร์เบีย) ตกลงที่จะให้มีการค้าขายระหว่างกันได้และดินแดนดัลเมเชียซึ่งอิตาลีอ้างกรรมสิทธิ์จะถูกยอมรับว่าเป็นดินแดนอธิปไตยของยูโกสลาเวีย เช่นเดียวกับที่ดินแดนอิสเตรียซึ่งยูโกสลาเวียอ้างกรรมสิทธิ์จะถูกยอมรับว่าเป็นของอิตาลี[69]

ณ สมรภูมิแม่น้ำปิอาฟว์ กองทัพอิตาลีสามารถต้านทานการบุกของกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและกองทัพจักรวรรดิเยอรมันเอาไว้ได้ กองทัพศัตรูพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องในสมรภูมิหลักต่างๆ ในระยะหลังของสงคราม เช่น สมรภูมิอายาโกและสมรภูมิวิตตอริโอเวเนโต ซึ่งกองทัพอิตาลีสามารถตีกองทัพออสเตรีย-ฮังการีให้แตกพ่ายไปได้ในภายหลัง ออสเตรีย-ฮังการียุติการสู้รับกับอิตาลีจากการสงบศึกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 นำมาซึ่งการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในช่วงสงครามกองทัพราชอาณาจักรอิตาลีมีขนาดใหญ่ขึ้นจากนายทหาร 15,000 นายในปี ค.ศ. 1914 มาเป็น 160,000 นายในปี ค.ศ. 1918 ส่วนจำนวนการเกณฑ์ทหารทั้งหมดตลอดช่วงสงครามคือ 5 ล้านนาย[53] ด้วยขนาดกองทัพอันใหญ่โตนี้นำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอันมหาศาล เมื่อสิ้นสุดสงครามอิตาลีสูญเสียนายทหารไปกว่า 700,000 นายและรัฐบาลมีงบประมาณขาดดุลที่หนึ่งหมื่นสองพันล้านลีรา สังคมอิตาลีแตกออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายผู้นิยมสันติภาพซึ่งเป็นคนส่วนมากของประเทศและต่อต้านการข้องเกี่ยวกับสงครามของอิตาลีมาโดยตลอด กับอีกกลุ่มคือกลุ่มนักชาตินิยมผู้สนับสนุนสงครามซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ พวกเขาประณามอิตาลีจากการที่ไม่เข้าร่วมสงครามต่อสู้กับออสเตรีย-ฮังการีอย่างทันทีในปี ค.ศ. 1914

การจัดการเรื่องดินแดนของอิตาลีและปฏิกิริยาตอบสนอง

[แก้]
จากซ้ายไปขวา; นายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ แห่งสหราชอาณาจักร วิตโตรีโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ฌอร์ฌ เกลม็องโซแห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐ

เมื่อสงครามดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด นายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลี วิตโตรีโอ เอ็มมานูเอล ออร์ลันโด พบปะกับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด ลอยด์ จอร์จ, นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลม็องโซ และประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน ในแวร์ซาย โดยอภิปรายในเรื่องของการแบ่งเขตแดนยุโรปใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามครั้งใหม่ในอนาคตบนแผ่นดินยุโรป

การพบปะกันครั้งนี้ทำให้อิตาลีได้รับดินแดนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากระหว่างการสนทนาในหัวข้อสันติภาพประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบอิสรภาพแก่ทุกเชื้อชาติในยุโรปได้จัดตั้งรัฐอธิปไตยของตนขึ้น ส่งผลให้ในสนธิสัญญาแวร์ซายไม่ได้ระบุมอบแดลเมเชียและแอลเบเนียแก่อิตาลีอย่างที่ได้รับสัญญาไว้ในสนธิสัญญาลอนดอน นอกจากนี้ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตัดสินใจแบ่งดินแดนของจักรวรรดิอาณานิคมเยอรมันเข้าสู่อาณัติของตนอีกด้วย ทั้งที่อิตาลีไม่ได้รับดินแดนเพิ่มตามที่ตกลงกันไว้ นายกรัฐมนตรีวิตตอริโอก็ยังคงลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งก่อให้เกิดจลาจลต่อต้านรัฐบาลของเขา ความไม่สงบปะทุขึ้นในอิตาลีระหว่างนักชาตินิยมผู้สนับสนุนสงครามและต่อต้าน ชัยชนะเฉียบขาด (ตามที่นักชาตินิยมเรียกขาน; แนวคิดชาตินิยมอิตาลีในการต่อต้านการละเลยข้อตกลงสนธิสัญญาลอนดอนของกลุ่มไตรภาคี) และฝ่ายซ้ายผู้ต่อต้านสงคราม

กาเบรียล ดานันซิโอ นักปฏิวัติชาตินิยมคนสำคัญ รู้สึกหงุดหงิดใจเป็นอย่างมากจากข้อตกลงสันติภาพที่แวร์ซาย จึงนำบรรดานักชาตินิยมอื่น ๆ ร่วมก่อตั้งเสรีรัฐฟีอูเมในเดือนกันยายน ค.ศ. 1919 ความนิยมในตัวเขาของเหล่านักชาตินิยมทำให้เขาถูกขนานนามว่า อิลดูเช (ท่านผู้นำ) และเขาใช้กองกำลังชุดดำเข้ายึดครองฟีอูเม ด้วยวาทกรรมการเรียกชื่อผู้นำ ดูเช และกองกำลังชุดดำนี้เองที่ต่อมาจะตรงกันกับของขบวนการฟาสซิสต์นำโดยเบนิโต มุสโสลินี เสียงเรียกร้องต่อการเข้ายึดคืนฟีอูเมแพร่กระจายไปทุกฟากฝั่งการเมืองรวมถึงขบวนการฟาสซิสต์ของมุสโสลินีด้วย[70] คำปราศัยอันน่าตื่นเต้นของดานันซิโอสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากนักชาตินิยมโครเอเชีย นอกจากนี้เขายังได้ติดต่อกับกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์และกลุ่มนักชาตินิยมอียิปต์[71]

ชาวเมืองฟีอูเมสนับสนุนกาเบรียล ดานันซิโอและกลุ่มนักชาตินิยมผู้บุกรุก เดือนกันยายน ค.ศ. 1919

ระบอบฟาสซิสต์ (ค.ศ. 1922-1943)

[แก้]

ลัทธิฟาสซิสต์ทะยานขึ้นสู่อำนาจ

[แก้]
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ นายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. 1922 - 1943

ในปี ค.ศ. 1914 เบนิโต มุสโสลินีถูกขับออกจากพรรคสังคมนิยมอิตาลี หลังจากเรียกขานการเข้าแทรกแซงออสเตรียของรัฐบาลอิตาลีว่าเป็นบทนำสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มุสโสลินีต่อต้านการเกณฑ์ทหาร, ประท้วงการเข้ายึดครองลิเบีย และยังเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประจำพรรคสังคมนิยมนามว่า อวันติ! เมื่อเวลาผ่านไป เขาเรียกร้องการปฏิวัติโดยไม่ได้กล่าวถึงการต่อสู้ทางชนชั้น[72] ด้วยการมีแนวคิดชาตินิยมทำให้เขาสามารถระดมทุนจากอันซัลโด (บริษัทเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์) และจากบริษัทอื่นๆ ในการก่อตั้งสำนักหนังสือพิมพ์ อิลปอโปโลดิตาเลีย ของตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้เขาสามารถโน้มน้าวนักสังคมนิยมและนักปฏิวัติให้สนับสนุนสงคราม[72] ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และรัสเซีย ซึ่งต้องการจะชักนำอิตาลีเข้าสู่กลุ่มไตรภาคี จึงได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หนังสือพืมพ์ฉบับนี้[73] ในปีต่อมาหนังสือพิมพ์ก็ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนระบอบฟาสซิสต์อย่างเป็นทางการ ต่อมามุสโสลินีเข้าร่วมกองทัพอิตาลีและได้รับบาดเจ็บในช่วงของสงคราม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบาดแผลที่ได้มาจากการฝึกใช้ระเบิดมือ แต่เขาก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าได้รับบาดเจ็บในสมรภูมิรบ[72]

เบนิโต มุสโสลินีและฟาสซิสต์ชุดดำในปี ค.ศ. 1920

ตามมาด้วยการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสนธิสัญญาแวร์ซายในปี ค.ศ. 1919 มุสโสลินีจัดตั้ง ฟาสซิดิกอมบาตติเมนโต หรือสันนิบาตการต่อสู้ มีแกนนำการจัดตั้งเป็นกลุ่มนักสังคมนิยมแนวชาตินิยมและกลุ่มทหารผ่านศึกผู้ต่อต้านกลุ่มนิยมสันติวิธีในพรรสังคมนิยมอิตาลี ฟาสซิสต์เริ่มมีจุดยืนเป็นของตัวเองแทนที่จะโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายแบบที่เป็นมา, ให้สัญญาถึงการปฏิวัติ, ปฏิรูปสัดส่วนผู้แทน, ให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่สตรี (ถูกพิจารณาในช่วงปี ค.ศ. 1925) และแยกแยะทรัพย์สินเอกชนที่ครอบครองโดยรัฐ[74][75]

ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1919 ฟาสซิสต์เริ่มต้นการทำงานด้วยความรุนแรงทางการเมือง เมื่อกลุ่มสมาชิกจากสันนิบาตการต่อสู้เข้าโจมตีสำนักงานของหนังสือพิมพ์อวันติ! จากความล้มเหลวในนโยบายแนวปฏิวัติและแนวฝ่ายซ้ายในช่วงเริ่มแรกของฟาสซิสต์ มุสโสลินีจึงชักนำกลุ่มนี้ออกจากแนวคิดฝ่ายซ้ายและเปลี่ยนจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี ค.ศ. 1921 โดยมีชื่อว่า ปาร์ติโตนาซิโอนาเลฟาสซิสตา (พรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ) พรรคลอกเลียนแบบแนวคิดทางการเมืองของกาเบรียล ดานันซิโอ และปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ขณะเดียวกันก็ดำเนินงานภายใต้ระบอบนี้เพื่อทำลายตัวระบอบเองในที่สุด มุสโสลินียังเปลี่ยนนโยบายแนวปฏิวัติในตอนต้นของเขาด้วย เช่น การถอยห่างออกจากแนวคิดต่อต้านศาสนจักรมาเป็นสนับสนุนคริสตจักรคาทอลิก และยังล้มเลิกแนวคิดต่อต้านระบอบกษัตริย์ในที่สาธารณะของเขาเอง[76] เสียงสนับสนุนฟาสซิสต์และเหตุความรุนแรงเริ่มขยายตัวในปี ค.ศ. 1921 ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในกองทัพผู้สนับสนุนฟาสซิสต์เริ่มนำเอาอาวุธและพาหนะของราชการมาใช้ในการโจมตีฝ่ายสังคมนิยม[77]

ในปี ค.ศ. 1920 โจลิตตีกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อแก้ไขภาวะชะงักงันของประเทศ หนึ่งปีต่อมารัฐบาลของโจลิตตีก็ระส่ำระส่ายและฝ่ายสังคมนิยมที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งสัญญาณอันตรายแก่รัฐบาลของเขา โจลิตตีเชื่อว่าฟาสซิสต์สามารถอ่อนท่าทีลงและสามารถปกป้องรัฐจากฝ่ายสังคมนิยมได้ เขาจึงตัดสินใจรวมเอาฝ่ายฟาสซิสต์เข้าร่วมเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1921[76] ในการเลือกตั้ง ฟาสซิสต์ไม่ได้รับเลือกมากนักและรัฐบาลของโจลิตตีก็ล้มเหลวในการมีเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม การมอบตำแหน่งในรัฐบาลแก่พวกฟาสซิสต์จึงไม่เกิดขึ้น จนทำให้ฝ่ายฟาสซิสต์ปฏิเสธการเข้าร่วมกับโจลิตตีและหันไปร่วมกับฝ่ายสังคมนิยมในการโค่นล้มรัฐบาลของเขา[78] กลุ่มผู้ที่เคยร่วมการปฏิวัติของการีบัลดีในช่วงการรวมชาติมีชัยชนะเหนือแนวคิดแบบชาตินิยมของมุสโสลินี[79] การกล่าวสนับสนุนแนวความคิดบรรษัทนิยมและอนาคตนิยมของเขาได้ชักนำให้ผู้คนเข้าร่วม ทางที่สาม[80] แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการที่เขามีชัยชนะเหนือนักการเมืองคนสำคัญอย่างลุยจิ ฟักตา หรือโจวันนี โจลิตตี ผู้ที่ซึ่งไม่ได้ประณามเขาในการที่กลุ่มฟาสซิสต์ชุดดำทำทารุณกรรมฝ่ายสังคมนิยม[81]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1922 มุสโสลินีได้ฉวยโอกาสจากการชุมนุมประจำปีของชนชั้นแรงงานในอิตาลี ประกาศข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอิตาลีในการให้อำนาจทางการเมืองแก่พรรคฟาสซิสต์ มิเช่นนั้นจะต้องพบกับการทำรัฐประหาร และด้วยการที่รัฐบาลไม่มีการตอบรับคำเรียกร้องในทันที ฟาสซิสต์กลุ่มเล็กๆ จึงเริ่มทำการเดินขบวนทั่วประเทศมุ่งสู่กรุงโรมที่ต่อมารู้จักกันในชื่อว่า การเดินขบวนสู่โรม แล้วกล่าวอ้างกับประชาชนว่าขบวนการฟาสซิสต์กำลังพยายามฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในประเทศขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งตัวมุสโสลินีเองไม่ได้เข้าร่วมการเดินขบวนจนกระทั่งถึงช่วงท้ายของการเดินขบวนจึงตัดสินใจเข้าร่วม ในขณะที่ดานันซิโอถูกสรรเสริญให้เป็นผู้นำของการเดินขบวนซึ่งต่อมาเข้าต้องพบกับการลอบสังหารที่ล้มเหลวด้วยการถูกผลักออกมาจากหน้าต่างอาคารจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ความเป็นไปได้ที่เขาจะนำการรัฐประหารที่แท้จริงด้วยกลุ่มมวลชนซึ่งถูกจัดตั้งโดยตัวดานันซิโอเองเป็นอันต้องสิ้นสุดลง ฟาสซิสต์ภายใต้การนำของมุสโสลินีก็ได้เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีลุยจิ ฟักตา ให้ลาออกจากตำแหน่งแล้วเสนอชื่อเขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แม้ว่ากองทัพราชอาณาจักรอิตาลีจะมีแสนยานุภาพซึ่งกองกำลังขนาดเล็กของฟาสซิสต์ไม่สามารถเทียบเคียงได้ แต่รัฐบาลภายใต้รัชสมัยพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง พระมหากษัตริย์ทรงถูกกดดันให้ตัดสินพระทัยเลือกฝ่ายทางการเมืองระหว่างฝ่ายฟาสซิสต์ของมุสโสลินีกับฝ่ายต่อต้านระบอบกษัตริย์อย่างพรรคสังคมนิยมอิตาลี ซึ่งพระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยเลือกฝ่ายฟาสซิสต์ของมุสโสลินี

ในวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1922 พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 โปรดเกล้าให้เบนิโต มุสโสลินี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีและเปิดโอกาสให้พรรคฟาสซิสต์ได้มีโอกาสแสวงหาเป้าหมายทางการเมืองตราบเท่าที่พรรคยังคงสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และคำนึงถึงผลประโยชน์ของสถาบัน หากเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีหลายคนและผู้นำของประเทศต่างๆ ในโลกขณะนั้น จะถือได้ว่ามุสโสลินีเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยมากด้วยวัย 39 ปี ณ ช่วงที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง มุสโสลินีถูกเรียกขานจากผู้สนับสนุนของเขาว่า อิลดูเช หรือ ท่านผู้นำ และคำเรียกขานนี้ก็ถูกใช้เป็นชื่อยศศักดิ์อย่างไม่เป็นทางการซึ่งถูกใช้กันโดยทั่วไปในการอธิบายถึงตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่ช่วงสมัยฟาสซิสต์เรืองอำนาจ ในช่วงนี้เองด้วยที่ความเชื่อเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมุสโสลินีวาดฝันให้ตัวเขาว่าเป็นผู้กอบกู้ชาติ และได้รับแรงสนับสนุนจากความนิยมบุคลิกภาพของตัวมุสโสลินีในหมู่ประชาชนชาวอิตาลี ซึ่งจะยังคงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากสาธารณชนก่อนที่จะไปเสื่อมลงในช่วงที่อิตาลีเผชิญกับความล้มเหลวทางการทหารอย่างต่อเนื่องในสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังจากก้าวขึ้นสู่อำนาจ มุสโสลินีแต่งตั้งคณะนิติบัญญัติร่วมระหว่างนักชาตินิยม, นักเสรีนิยม และนักประชานิยมขึ้น อย่างไรก็ตามความปรารถนาดีของพรรคฟาสซิสต์ต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็เสื่อมจางลงอย่างรวดเร็ว คณะนิติบัญญัติร่วมของเขาผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1923 ซึ่งให้ที่นั่งสองในสามของรัฐสภาแก่พรรคเดี่ยวหรือพรรคร่วมใดก็ตามที่สามารถมีคะแนนเสียงเกินร้อยละ 25 ของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมด พรรคฟาสซิสต์ใช้ความรุนแรงและการข่มขู่เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายคะแนนเสียงร้อยละ 25 นั้นในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1924 ฟาสซิสต์จึงกลายมาเป็นพรรคการเมืองที่ปกครองอิตาลีในเวลาต่อมา

หลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง รองหัวหน้าพรรคสังคมนิยม จีอาโกโม มัตเต-ออตติ ถูกลอบสังหารหลังจากเรียกร้องให้มีการประกาศโมฆะกรรมต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เนื่องจากพบความผิดปกติหลายอย่าง ทำให้นักสังคมนิยมเดินออกจากรัฐสภา ส่งผลให้มุสโสลินีสามารถผ่านกฎหมายซึ่งเพิ่มอำนาจของเขาได้อีกหลายฉบับ ในปี ค.ศ. 1925 มุสโสลินีประกาศความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงของฟาสซิสต์ในปี ค.ศ. 1924 และให้สัญญาว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเหตุการณ์จะได้รับบทลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งก่อนที่จะมีสุนทรพจน์นี้ออกไป กลุ่มฟาสซิสต์ชุดดำได้กระทำการโจมตีทำร้ายฝ่ายตรงข้ามมุสโสลินีหลายกลุ่ม ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกพิจารณาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จนิยมอย่างเปิดเผยโดยพรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนปี ค.ศ. 1928 ที่พรรคฟาสซิสต์ถูกรับรองอย่างเป็นทางการถึงสถานะพรรคการเมืองอันถูกต้องตามกฎหมายพรรคเดียวของประเทศ

ช่วงเวลาสี่ปีต่อมา มุสโสลินีทำการริดรอนอำนาจตรวจสอบและอำนาจถ่วงดุลให้แทบจะหมดสิ้นไป ในปี ค.ศ. 1926 เขาได้ผ่านร่างกฎหมายประกาศว่าเขามีความรับผิดชอบต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียวและทำให้เขาเป็นบุคคลเดียวที่สามารถกำหนดวาระการประชุมของรัฐสภาได้ การปกครองตนเองของแต่ละท้องถิ่นถูกยกเลิก เขาแต่งตั้งตำแหน่งพิเศษขึ้นแทนตำแหน่งนายกเทศมนตรีและแทนที่อำนาจของเทศบาลชุมชนต่างๆ ไม่นานหลังจากที่เขาทำการเพิกถอนพรรคการเมืองอื่นจนหมดสิ้น ในปี ค.ศ. 1928 การเลือกตั้งตามระบบรัฐสภาก็ถูกแทนที่ด้วยการออกเสียงลงคะแนนโดยประชาชนทั้งมวลที่ซึ่งรายชื่อผู้สมัครถูกกำหนดโดยสภาแห่งชาติของมุสโสลินี

ผลจากการที่มุสโสลินีเข้ายึดอำนาจในรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จก่อให้เกิดระบบ ทวยาธิปไตย[82] (Diarchy) ในอิตาลี ทำให้เขาได้ครอบครองอำนาจมากมายทางการเมือง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วสามารถเรียกได้ว่ามุสโสลินีคือประมุขของอิตาลี ในขณะที่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงดำรงพระราชอำนาจและพระอิสริยยศเป็นประมุขแห่งรัฐเช่นเดิม พระองค์ยังคงพระราชอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องได้รับการถวายคำแนะนำจากสภาแห่งชาติเสียก่อน และสภาแห่งชาตินี้เองที่อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎีถือว่าเป็นอำนาจตรวจสอบเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่

วัฒนธรรมและสังคม

[แก้]

เมื่อพรรคฟาสซิสต์กำลังเข้าสู่อำนาจ ฟาสซิสต์ได้เริ่มทำการแทรกซึมแนวคิดของตนเข้าไปสู่ทุกแง่มุมในชีวิตประจำวันของชาวอิตาลี เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายให้อิตาลีกลายมาเป็นประเทศที่มีพรรคการเมืองเดียวได้สำเร็จ ซึ่งการทำให้อิตาลีเป็นรัฐประชาธิปไตยรวบอำนาจเบ็ดเสร็จก็ได้ถูกประกาศไว้ใน หลักแห่งฟาสซิสต์ (Doctrine of Fascism) ในปี ค.ศ. 1935

แนวคิดของฟาสซิสต์ต่อรัฐคือการโอบล้อมไว้ทั้งมวล; นอกเหนือไปจากแนวคิดนี้ไม่มีมนุษย์หรือคุณค่าทางจิตวิญญาณใดสามารถจะดำรงอยู่ได้, นับประสาอย่างไรกับการมีคุณค่าในตัวเอง เมื่อเข้าใจดังนั้นแล้ว ลัทธิฟาสซิสต์ก็คือประชาธิปไตยรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ และรัฐฟาสซิสต์ซึ่งเป็นการสังเคราะห์และการรวมหน่วยของคุณค่าทั้งมวล ก็ได้ทำการตีความ, พัฒนา และเสริมคุณบารมีแก่ทั้งชีวิตของผู้คน

— หลักแห่งฟาสซิสต์ ค.ศ. 1935[83]

ด้วยแนวคิดของประชาธิปไตยรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ มุสโสลินีและพรรคฟาสซิสต์ก็ได้ทำการก่อตั้งหน่วยงานที่จะพัฒนาวัฒนธรรมและสังคมของอิตาลี โดยยึดเอาจักรวรรดิโรมัน, เผด็จการส่วนบุคคล รวมถึงมุมมองอันล้ำหน้าของปัญญาชนและศิลปินอิตาลีบางส่วนเป็นแบบอย่าง[84]

ภายได้ระบอบฟาสซิสต์ คำจำกัดความของสัญชาติอิตาลีตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิเผด็จการทหารนิยมและแนวคิด "มนุษย์ใหม่" ของฟาสซิสต์ ซึ่งการจะเป็นชาวอิตาลีผู้จงรักภักดีจำเป็นต้องละทิ้งความคิดแบบปัจเจกนิยมและแนวคิดนิยมเสรีภาพ ชาวอิตาลีจำเป็นต้องมองว่าตนเป็นอนูหนึ่งที่ประกอบกันเป็นชาติอิตาลีและมีความปิติยินดีที่จะสละชีพเพื่อบ้านเกิดของตน[85] และภายใต้สังคมรวบอำนาจเบ็ดเสร็จนี้เองที่ประชาชนผู้นิยมฟาสซิสต์เท่านั้นจะถูกพิจารณาว่าเป็น "ชาวอิตาลีที่แท้จริง" นอกจากนี้แล้วการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคฟาสซิสต์และการรับรองจากพรรคมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับประชาชนผู้ที่ต้องการได้รับ "สิทธิความเป็นพลเมืองโดยสมบูรณ์" ส่วนผู้ที่ไม่ได้สาบานตนว่าจะจงรักภักดีพรรคฟาสซิสต์ก็จะถูกจำกัดกีดกันในทางสาธารณะ อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าทำงานหรือถูกว่าจ้างทำงานได้ด้วย[86] แม้แต่ชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ต่างแดนเองก็ถูกทางการฟาสซิสต์เข้าไปข้องเกี่ยวด้วยการบังคับให้ถูกรับรองสถานภาพและภูมิลำเนากับทางรัฐบาลอิตาลีแทนการรับรองจากทางการของท้องถิ่นที่ชาวอิตาลีผู้นั้นอาศัยอยู่[87] ทั้งที่มีความพยายามในการปลุกปั้นวัฒนธรรมแบบใหม่ของฟาสซิสต์แก่อิตาลี แต่ความพยายามในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ดังกล่าวกับไม่ประสบความสำเร็จและส่งผลกระทบรุนแรงเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศที่ปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียวอื่นๆ เช่น นาซีเยอรมนี หรือสหภาพโซเวียต[88]

อิตาลีสมัยฟาสซิสต์ฉายภาพให้มุสโสลินีเป็นดังผู้กอบกู้ประเทศชาติ พรรคฟาสซิสต์พยายามให้ทั่วทุกหนแห่งในสังคมมีแต่เขาทั้งในที่สาธารณะและในโฆษณาชวนเชื่อ ภาพพจน์ของอิตาลีในแบบฉบับฟาสซิสต์ส่วนมากมีพื้นฐานมาจากบุคลิกลักษณะในตัวของมุสโสลินี คำปราศัยอันน่าหลงใหลและบุคลิกภาพของมุสโสลินีถูกเผยแพร่ ณ การเดินขบวนสู่โรมของกลุ่มฟาสซิสต์ชุดดำ ซึ่งส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีในเยอรมนี

โฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสต์ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ข่าว, วิทยุกระจายเสียง และภาพยนตร์สารคดีไม่กี่เรื่องที่จงใจสนับสนุนแนวคิดของฟาสซิสต์ ในปี ค.ศ. 1926 มีการบัญญัติกฎหมายที่ระบุให้ภาพยนตร์ข่าวแนวชวนเชื่อนี้ถูกฉายก่อนภาพยนตร์อื่นใดในโรงภาพยนตร์[89] ภาพยนตร์ข่าวเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อสาธารณชนอิตาลีได้มากกว่าโฆษณาชวนเชื่อหรือวิทยุ เพราะในขณะนั้นชาวอิตาลีไม่กี่ครอบครัวมีเครื่องรับวิทยุไว้ในครอบครอง[89] ทั้งนี้โฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสต์ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางตามภาพโปสเตอร์และในงานศิลปะที่รัฐบาลให้การหนุนหลังอยู่ ในขณะที่วงการศิลปะและวรรณกรรมกลับไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดนัก ยกเว้นในกรณีที่ผลงานของศิลปินจงใจต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยเท่านั้นจึงจะถูกตรวจตราและปิดกั้น

คริสตจักรคาทอลิก

[แก้]
สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ผู้ทรงออกประกาศ นอนอับบียาโมบีโซโญ ในปี ค.ศ. 1931

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ฟาสซิสต์มีการต่อต้านคริสตจักร แต่ความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิกพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงที่มุสโสลินีอยู่ในอำนาจ ในปี ค.ศ. 1922 มุสโสลินีประกาศเป็นพันธมิตรกับผู้สนับสนุนคริสจักรอย่างพรรค ปาร์ติโตปอโปลาเรอิตาเลียโน (Partito Popolare Italiano) หรือพรรคประชาชนอิตาลี ในปี ค.ศ. 1929 มุสโสลินีกับพระสันตะปาปาได้ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อยุติความขัดแย้งซึ่งย้อมกลับไปตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1860 และได้ให้อิสระแกคริสตจักรออกจากการควบคุมของรัฐบาลอิตาลี รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีออร์ลันโดได้เริ่มกระบวนการปรองดองนี้ในช่วงสงครามโลก และพระสันตะปาปาสานต่อกระบวนการนี้ด้วยการตัดสัมพันธืกับพรรคคริสเตียนประชาธิปัตย์ในปี ค.ศ. 1922[90] แม้ว่ามุสโสลินีและผู้นำพรรคฟาสซิสต์หลายคนจะเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้า แต่พวกเขาก็ตระหนักถึงโอกาสอันดีในการกระชับความสัมพันธ์กับศาสนจักรซึ่งมีผู้นับถืออยู่อย่างกว้างขวาง[91]

สนธิสัญญาลาเตรันในปี ค.ศ. 1929 เป็นสนธิสัญญาที่รับรองอธิปไตยของรัฐวาติกันในกรุงโรม ซึ่งอนุญาตให้รัฐวาติกันได้รับเอกราชของตนและสถานภาพทางการทูตในเวทีโลก และต่อมาได้ทำความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาลในปีเดียวกัน เนื้อหาในความตกลงดังกล่าวคือการประกาศให้ราชอาณาจักรอิตาลีมีศาสนาประจำชาติเพียงศาสนาเดียวคือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (แม้ว่าจะยินยอมให้ศาสนาอื่นมีอยู่ได้ต่อไปก็ตาม), การมีเงินเดือนประจำให้สำหรับนักบวชและบิชอปในคริสต์ศาสนา, รับรองพิธีสมรสทางศาสนาโดยที่คู่สมรสจะต้องผ่านกระบวนการทางแพ่งมาก่อน และการนำหลักศาสนาคริสต์ไปใช้สอนตามโรงเรียนรัฐทั่วประเทศ แลกกับการที่เหล่านักบวชแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกสาบานตนเป็นพันธมิตรกับรัฐอิตาลี ซึ่งมีอำนาจการยับยั้งเหนือการตัดสินใจของพวกตน ในข้อตกลงฉบับที่สามมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่รัฐจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 1750 ล้านลีรา (ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แก่วาติกัน เพื่อเป็นสินไหมทดแทนการที่รัฐเข้ายึดครองทรัพย์สินของทางวาติกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1860 แม้ว่าทางคริสตจักรจะไม่ได้สร้างภาระผูกพันในความเป็นพันธมิตรกับคณะฟาสซิสต์อย่างเป็นทางการ และแนวความคิดระหว่างทั้งสองฝ่ายเองก็ยังคงมีความแตกต่างอยู่มาก แต่ต่อมาความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันในอดีตก็มลายหายไปหมดสิ้น คริสตจักรชื่นชมนโยบายการต่างประเทศของฟาสซิสต์เป็นการเฉพาะ สืบเนื่องมาจากการที่ฟาสซิสต์เข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองสเปนและสนับสนุนฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงคราม รวมไปถึงนโยบายการบุกยึดครองเอธิโอเปียอีกด้วย ในขณะเดียวกันแรงเสียดทานระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยังมีปรากฏอยู่ให้เห็น จากการที่มุสโสลินีเห็นว่าควรยุบรวมเอาเครือข่ายยุวชนชาวคริสต์ของทางคริสตจักรมารวมกับกลุ่มยุวชนฟาสซิสต์ของเขาเอง[92] ในปี ค.ศ. 1931 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ได้ทรงออกประกาศ นอนอับบียาโมบีโซโญ (Non Abbiamo Bisogno; เราไม่มีความต้องการ) ที่ประณามการประหัตประหารชาวคริสต์ในอิตาลีของฟาสซิสต์และประณามฟาสซิสต์ว่าเป็น "พวกนอกศาสนาของประเทศ"[93]

การออกเสียงลงคะแนนโดยประชาชนทั่วประเทศถูกจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1929 เพื่อรับรองความชอบธรรมของสนธิสัญญา ฝ่ายต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกข่มขู่โดยทางการฟาสซิสต์ พรรคกิจคาทอลิก (อะซิโอนกัตโตลิกา; Azione Cattolica) แนะนำชาวคริสต์ในประเทศให้ลงคะแนนเสียงกับผู้สมัครพรรคฟาสซิสต์เพื่อจะได้เป็นตัวแทนในโบสถ์ แต่มุสโสลินีกลับกล่าวว่าไม่มีการลงคะแนนเช่นนั้น และกล่าวว่าถึงกลุ่มดังกล่าว่าเป็น "... พวกโฆษณาชวนเชื่ออย่างผิดกฎหมายผู้ต่อต้านสนธิสัญญาลาเตรันส่วนน้อย"[94] ต่อมาผลการออกเสียงปรากฏว่ามีผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนเกือบ 9 ล้านเสียงหรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด และมีเพียง 136,000 เสียงที่ลงคะแนนไม่สนับสนุน[95] ทำให้สนธิสัญญาลาเตรันยังคงมีผลมาจนถึงปัจจุบัน

เทคโนโลยีและความทันสมัย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1933 อิตาลีประสบความสำเร็จทางเทคโนโลยีมากมาย รัฐบาลฟาสซิสต์สนับสนุนงบประมาณจำนวนมากกับโครงการทางเทคโนโลยี เช่น การต่อเรือสำราญ เอสเอสเรกซ์ ซึ่งสามารถแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ภายในเวลาแค่สี่วัน[96] เช่นเดียวกับการให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครื่องบินทะเล มากิ เอ็ม.ซี. 72 ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องบินทะเลที่เร็วที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 1933 และยังคงรักษาชื่อเสียงได้จนถึงปี ค.ศ. 1934 สมาชิกรัฐบาลฟาสซิสต์นามว่า อิตาโล บัลโบ ผู้ซึ่งเป็นนักบินด้วย ได้ทำการขับเรือเหอะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนครชิคาโกในการแสดงนิทรรศการนานาชาติที่มีชื่อว่าศตวรรษแห่งความก้าวหน้า เที่ยวบินในครั้งนี้เป็นเที่ยวบินเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมของอิตาลีที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลฟาสซิสต์

การต่อต้านชาวยิว

[แก้]

การศึกษา

[แก้]

ในปี ค.ศ.1945 อัตราการไม่รู้หนังสือของประชาชนลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ของทั่วประเทศ จากเดิมทีมีประมาณร้อยละ 25

สวัสดิการสังคม

[แก้]

ฟาสซิสต์อิตาลีประสบความสำเร็จในนโยบายด้านสังคมอย่างมากจากโครงการ โอเป-รานาซิโอนาเลโดโปลาโวโร (อิตาลี: Opera Nazionale Dopolavoro; OND; โครงการหลังเลิกงานแห่งชาติ) ในปี ค.ศ. 1925 ซึ่งโอเอ็นดีเป็นองค์กรรัฐเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของผู้ใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด[97] โดโปลาโวโรได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ถึงขนาดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ทุกเมืองในอิตาลีมีสโมสรโดโปลาโวโร นอกจากนี้โดโปลาโวโรยังรับผิดชอบการก่อตั้งและดูแลรักษากีฬาสถาน 11,000 แห่ง, ห้องสมุด 6,400 แห่ง, โรงหนัง 800 โรง, โรงละคร 1,200 หลัง และโรงอุปรากรมากกว่า 2,000 โรง[97] ถึงแม้ว่าสมาชิกในโดโปลาโวโรจะเป็นอาสาสมัคร แต่ก็มีส่วนร่วมสูงเนื่องจากเป็นองค์กรที่ปราศจากวาระทางการเมืองแอบแฝง[97] ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ภายใต้การนำของอชิลล์ สตาเรซ โอเอ็นดีหันมาให้ความสำคัญกับกิจการพักผ่อนหย่อนใจ, กีฬา และกิจกรรมนอกสถานที่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1936 ประมาณการณ์กันว่ากว่าร้อยละ 80 ของแรงงานเงินเดือนประจำอยู่ภายใต้การดูแบของโอเอ็นดี[98] เกือบร้อยละ 40 ของแรงงานอุตสาหกรรมถูกเกณฑ์เข้าโดโปลาโวโร และในปี ค.ศ. 1939 โอเอ็นดีมีเป็นองค์กรของฟาสซิสต์ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในอิตาลี[99] จากความสำเร็จอย่างมหาศาลของโดโปลาโวโรนี้เองทำให้นาซีเยอรมันก่อตั้งโดโปลาโวโรของตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็คือ คราฟต์โดยช์ฟรอยเดอ (เยอรมัน: Kraft durch Freude; KdF; ความแข็งแกร่งผ่านความรื่นเริง) ซึ่งประสบความสำเร็จยิ่งกว่าโดโปลาโวโรเสียอีก[100]

เศรษฐกิจ

[แก้]

สิทธิสตรี

[แก้]

รัฐบาลฟาสซิสต์ให้ความสนใจกับบทบาทของสตรีทั้งจากชนชั้นสูง, แรงงานอุตสหกรรม[101] และเกษตรกร[102] ผู้นำฟาสซิสต์หลายคนพยายามที่จะ "ช่วยชีวิต" ผู้หญิงซึ่งมีประสบการณ์จากการปลดปล่อยทาส ดังเช่นที่พวกเขาป่าวประกาศถึงการถือกำเนิดขึ้นของ "สตรีอิตาลีใหม่" (นัววาอิตาเลียนา)[103] นโยบายนี้เผยให้เห็นถึงความขัดแย้งลึกๆ ระหว่างอำนาจสมัยใหม่กับอำนาจประเพณีนิยมโบราณ ในขณะที่คริสตจักรคาทอลิก, ฟาสซิสต์ และแบบอย่างความประพฤติทางการค้า ต่างแข่งขันกันชักจูงแนวคิดของสตรีต่อบทบาทและสังคมของพวกเธอในระดับมหภาค ฟาสซิสต์เฉลิมฉลองกับการเมืองแบบ "บุรุษนิยม" รุนแรงและโอ่อวดความเป็นลูกผู้ชายของตน ในขณะเดียวกันยังจัดเก็บภาษีกับบุรุษผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงานเพื่อนำไปสนับสนุนงบประมาณด้านการสังคมสงเคราะห์เด็ก การเข้ารุกรานเอธิโอเปียและการคว่ำบาตรจากสันนิบาตชาติส่งผลกระทบต่อแนวนโยบายภายในพรรคฟาสซิสต์ที่มีต่อสตรี จักรวรรดิและการเสียสละของสตรีต่อประเทศชาติกลายมาเป็นแนวคิดหลักในโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสต์ สตรีภายในพรรคถูกรวมกลุ่มสำหรับเป้าประสงค์ของจักรวรรดิทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคและให้บทบาทใหม่ต่อประเทศชาติแก่พวกเธอ กลุ่มสตรีฟาสซิสต์ขยายการทำงานของพวกเธอไปยังเป้าหมายใหม่ๆ เช่น การจัดชั้นเรียนชี้ให้เห็นถึงความเปล่าประโยชน์ของงานบ้าน เด็กหญิงชาวอิตาลีถูกเตรียมพร้อมสำหรับอิตาลี "ในอุดมคติ" ผ่านชั้นเรียนพิเศษต่างๆ เพื่อให้พวกเธอเพียบพร้อมสำหรับการเป็นภรรยาชาวอาณานิคม[104]

รัฐบาลพยายามบรรลุให้ถึง "อำนาจอธิปไตยทางอาหาร" หรือการพึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์ในด้านพืชพรรณธัญญาหาร นโยบายใหม่ซึ่งเป็นที่โต้เถียงอย่างมากในหมู่ประชาชนผู้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่ออาหารการกินของพวกเขา เป้าหมายก็คือลดการนำเข้า, ส่งเสริมการเกษตรอิตาลี และสนับสนุนการลดอาหารอย่างเคร่งครัดทั้ง ขนมปัง, พอเลนตา, พาสตา, อาหารสด และไวน์ กลุ่มสตรีฟาสซิสต์อบรมสตรีทั่วไปในการ "ปรุงอาหารอย่างพึ่งตนเอง" เพื่อใช้ทดแทนวัตถุดิบที่ไม่ได้นำเข้าอีกต่อไป ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1930 รัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีการบริโภคนม, ผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์มากนัก ส่งผลให้ชาวอิตาลีจำนวนมากหันไปใช้บริการวัตถุดิบจากตลาดมืดแทน นโยบายนี้ฉายภาพให้เห็นว่าฟาสซิสต์มองอาหารและพฤติกรรมของประชาชนทั่วไปว่าเป็นทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ในการจัดการต่อความละเลยในประเพณีและการบริโภค[105]

นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลฟาสซิสต์

[แก้]
อาณาเขตจักรวรรดิอิตาลีในปี ค.ศ. 1940

เบนิโต มุสโสลินี และพรรคฟาสซิสต์ให้สัญญาว่าจะนำอิตาลีกลับไปเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรป สร้างอิตาลีขึ้นมาในฐานะ จักรวรรดิโรมันใหม่ มุสโสลินีให้สัญญาอีกว่าอิตาลีจะมีอำนาจเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแต่เพียงผู้เดียว พรรคฟาสซิสต์เองก็ใช้คำศัพท์สมัยโรมันซึ่งใช้เรียกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนว่า มาเรนอสตรุม (ละติน: ทะเลของเรา) ในการโฆษณาชวนเชื่อด้วย นอกจากนี้ยังหันมาใส่ใจโครงการด้านการทหารเพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปแบบของงบประมาณและในรูปแบบอื่นๆ และเริ่มแผนการสถาปนาจักรวรรดิอาณานิคมอิตาลีขึ้นในแอฟริการวมถึงอ้างสิทธิ์การปกครองเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลเอเดรียติก พรรคยังพิจารณาถึงสงครามเข้ายึดดัลเมเชีย, แอลเบเนีย และกรีซสำหรับจักรวรรดิอาณานิคมอิตาลีด้วย

ความพยายามในการล่าอาณานิคมบนทวีปแอฟริกาเริ่มขึ้นในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1920 สงครามกลางเมืองซึ่งสร้างความวุ่นวายในแอฟริกาเหนือของอิตาลี (อาฟริกาเซตเตนตริโอนาเลอิตาเลีย) เมื่อชาวอาหรับท้องถิ่นไม่ยอมรับการปกครองแบบอาณานิคมของอิตาลี มุสโสลินีจึงส่งจอมพลโรดัลโฟ กราซียานิ เพื่อนำการปราบปรามรักษาความสงบต่อนักชาตินิยมอาหรับ โอมาร์ มุกห์ตาร์ เป็นผู้นำฝ่ายต่อต้าน จนเมื่อมีการพักรบในวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1928 นโยบายของฟาสซิสต์ต่อลิเบียก็ทวีความเหี้ยมโหดขึ้น แนวรั้วเหล็กตาข่ายถูกสร้างขึ้นยาวตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปจนสุดที่โอเอซิสแห่งชัคห์บับเพื่อตัดเส้นทางสำคัญของฝ่ายต่อต้าน ไม่นานหลังจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลอาณานิคมจึงเริ่มการเนรเทศประชากรในเมืองเจเบลอัคห์ดาร์ครั้งใหญ่เพื่อตัดการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านจากประชาชนท้องถิ่น ผู้ถูกเนรเทศมากกว่า 100,000 คนถูกบังคับให้ไปยังค่ายกักกันในซุลุคและอัลอัคห์เอลา ที่ซึ่งหลายพันคนเสียชีวิตลงจากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย มีการประมาณการณ์ว่าชาวลิเบียผู้ซึ่งเสียชีวิตและถูกฆ่าทั้งจากการสู้รบ, ความอดอยากหิวโหย และโรคระบาด มีอย่างน้อย 80,000 คน และถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในภูมิภาคไซเรไนกา หลังจากการถูกจับกุมตัวของโอมาร์ มุกห์ตาร์ ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1931 จนถูกประหารชีวิตที่เมืองเบงกาซี จำนวนการต่อต้านจึงแผ่วลง แต่ยังคงมีความพยายามต่อต้านการปกครองของอิตาลีเล็กน้อยจากชีค อิดริส องค์อธิปัตย์แห่งไซเรไนกา

มีการเจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักรในหัวข้อการขยายเขตแดนของอาณานิคมลิเบีย การเจรจาครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1925 เพื่อปักปันเขตแดนระหว่างลิเบียของอิตาลีกับอียิปต์ซึ่งในขณะนั้นตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ส่งผลให้อิตาลีได้รับดินแดนส่วนที่ยังไม่ได้ปักปันเพิ่มเติม[106] ในปี ค.ศ. 1934 อิตาลีเรียกร้องดินแดนเพิ่มเติมอีกครั้งจากซูดานซึ่งตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักรจึงยอมมอบดินแดนบางส่วนให้ผนวกเข้ากับลิเบีย [1] เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มีการคาดเดาว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังคงแน่นแฟ้นดีอยู่ ก่อนที่จะเลวร้ายลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 เป็นต้นไป

ในปี ค.ศ. 1935 มุสโสลินีเชื่อว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่อิตาลีจะทำการบุกเอธิโอเปีย (หรือรู้จักกันในนามอะบิสซิเนีย) และผนวกเข้ามาเป็นอาณานิคมของตน ส่งผลให้เกิดสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สองขึ้น อิตาลีบุกเอธิโอเปียผ่านอาณานิคมเอริเทรียและโซมาลีแลนด์ของตน พร้อมทั้งกระทำการเหี้ยมโหดต่อชาวเอธิโอเปีย เช่น การโปรยสารพิษเคมีทางอากาศใส่ทหารแนวหน้าฝ่ายเอธิโอเปีย จนเอธิโอเปียยอมแพ้ในปี ค.ศ. 1936 อิตาลีจึงสามารถพิชิตเอาเอธิโอเปียมาไว้ในครอบครองได้สำเร็จหลังจากที่ล้มเหลวในความพยายามช่วงยุค ค.ศ. 1880 ต่อมาพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 จึงอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์เอธิโอเปียและสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเอธิโอเปีย แต่ผลที่ตามมาในเวทีนานาชาติคือการที่อิตาลีถูกโดดเดี่ยวในที่ประชุมสันนิบาตชาติ ด้านฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรก็รู้สึกสูญสิ้นความไว้วางใจในตัวมุสโสลินีในทันที มีเพียงชาติเดียวที่คอยหนุนหลังอิตาลีในเวลานั้นคือนาซีเยอรมัน ภายหลังจากที่ถูกประณามโดยสันนิบาตชาติ ที่ประชุมใหญ่ฟาสซิสต์อิตาลีจึงมีมติให้อิตาลีประกาศถอนตัวจากสันนิบาตชาติในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1937 และมุสโสลินีกล่าวเยาะเย้ยสันนิบาติชาติว่าเป็นเพียงแค่ "วิหารที่ใกล้จะถล่ม"[107]

หลังจากถูกกดดันโดยนาซีเยอรมันให้ส่งเสริมลัทธิฟาสซิสต์ อิตาลีจึงหันความสนใจออกจากนโยบายจักรวรรดินิยมที่ใช้เผยแพร่วัฒนธรรมอิตาลีในอาณานิคมและหันมาส่งเสริมการตั้งถิ่นฐานของชาวอิตาลีในอาณานิคมแทน โดยกล่าวว่า "สร้างสรรค์ขึ้น ณ ใจกลางผืนทวีปแอฟริกา, นิวเคลียสอันทรงอำนาจของชนผิวขาวด้วยกันแข็งแกร่งมากพอที่จะดึงดูดประชากรเหล่านั้นภายในวงจรเศรษฐกิจและอารยธรรมโรมันฟาสซิสต์ของเรา"[108] การปกครองของฟาสซิสต์ในอาณานิคมของตนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค การปกครองในแอฟริกาตะวันออกของอิตาลี (อาฟริกาโอรีเอนตาเลอิตาเลีย) อาณานิคมซึ่งประกอบไปด้วย เอธิโอเปีย, เอริเทรีย และโซมาลีแลนด์ของอิตาลี นั้นเข็มงวดรุนแรงกับชนพื้นเมืองอันเป็นผลมาจากนโยบายฟาสซิสต์ที่มุ่งเน้นทำลายวัฒนธรรมพื้นเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 จอมพลโรดัลโฟ กราซียานิ ออกคำสั่งให้ทหารอิตาลีปล้นสะดมชาวพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่ในกรุงอาดดิสอาบาบา ส่งผลให้ชาวเอธิโอเปียถูกฆ่าและบ้านเรือนของพวกเขาถูกเผาทำลายลงมากมาย[109] ภายหลังการเข้ายึกครองเอธิโอเปีย พรรคฟาสซิสต์อนุมัติให้มีการแบ่งแยกเชื้อชาติเกิดขึ้นเพื่อลดจำนวนลูกหลานที่มีเชื้อชาติผสมในอาณานิคมของตน โดยอ้างว่าลูกหลานเหล่านี้จะทำให้เชื้อชาติอิตาลี "แปดเปื้อน"[110] การสมรสและการร่วมเพศระหว่างชาวอิตาลีกับชาวแอฟริกันพื้นเมืองถือเป็นความผิดทางอาญา เมื่อฟาสซิสต์บัญญติกฎหมายฉบับนี้ขึ้นในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1937 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปีกับชาวอิตาลีที่ถูกจับเนื่องจากข้อหานี้[110] แต่กลับไม่มีโทษใดๆ ต่อชาวแอฟริกันเนื่องจากรัฐบาลมีความเห็นว่าเป็นความผิดของชาวอิตาลีเองที่ทำให้เชื้อชาติของพวกเขาต้องสูญเสียเกียรติภูมิ[110] แม้ว่าในโฆษณาชวนเชื่อบางตัวของอิตาลีจะมีการใช้ภาษาเหยียดเชื้อชาติบ้าง แต่รัฐบาลฟาสซิสต์ยอมให้ชาวแอฟริกันเข้าร่วมกองทัพอาณานิคมด้วยการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีปรากฏการเข้าร่วมกองทัพของชาวแอฟริกันในโฆษณาชวนเชื่อของฟาสซิสต์ด้วย[2][3] ในลิเบียของอิตาลี มุสโสลินีลดบทบาทนโยบายฟาสซิสต์ลงเพื่อทำให้ผู้นำชาวอาหรับที่นี่ไว้วางใจในรัฐบาลของเขา เช่น เสรีภาพส่วนบุคคล, สิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน, สิทธิ์ในการเข้าร่วมกองทัพหรือราชการ และสิทธิ์ในการแสวงหาอาชีพหรือการจ้างงานอย่างเสรี ความอิสระทั้งหลายเหล่านี้รัฐบาลอิตาลีรับประกันให้กับชาวลิเบียมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1934[110] ต่อมาในการเยือนลิเบียครั้งสำคัญของมุสโสลินีในปี ค.ศ. 1937 การโฆษณาชวนเชื่อครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม เมื่อมุสโสลินีถ่ายรูปกับบุคคลสำคัญชาวอาหรับซึ่งกำลังมอบ ดาบแห่งมุสลิม อันทรงเกียรติให้แก่เขา (ซึ่งแท้ที่จริงแล้วดาบนี้ถูกทำขึ้นในฟลอเรนซ์) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าเขาคือผู้พิทักษ์ชาวมุสลิมอาหรับ ณ ที่แห่งนี้[111] ในปี ค.ศ. 1939 กฎหมายฉบับหนึ่งถูกผ่านโดยรัฐสภาอนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้าร่วมกับพรรคฟาสซิสต์ได้ และพรรคสันนิบาตมุสลิมแห่งลิคเตอร์ในลิเบียได้ (อัสโซชาซีโอนมูซุลมานาเดลลิตโตริโอ) และในปีเดียวกันนั้นได้มีการปฏิรูปเกิดขึ้นทำให้ลิเบียมีกองทัพของตนเองโดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอิตาลี[112]

นอกจากนี้รัฐบาลฟาสซิสต์ยังมีนโยบายข้องเกี่ยวกับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศยุโรป ในปี ค.ศ. 1923 ทหารอิตาลีเข้ายึดเกาะคอร์ฟูของกรีซ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการยึดประเทศกรีซของรัฐบาลฟาสซิสต์ อย่างไรก็ดีในท้ายที่สุดเกาะคอร์ฟูก็ถูกส่งคืนแก่กรีซอีกครั้ง ทำให้กรีซกับอีตาลีสามารถหลีกเลี่ยงการทำสงครามต่อกันไปได้ ในปี ค.ศ. 1925 อิตาลีขู่เข็ญให้แอลเบเนียเข้ามาอยู่เป็นรัฐในอารักขาโดย พฤตินัย ซึ่งทำให้อิตาลีเผชิญหน้ากับอำนาจอธิปไตยของกรีซได้ง่ายขึ้น ทั้งที่ประชาชนชาวกรีกบนเกาะคอร์ฟูโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวจะต่อต้านการเข้ายึดครองเกาะของอิตาลีอย่างหนัก เกาะคอร์ฟูมีความสำคัญอย่างมากต่อแนวคิดจักรวรรดินิยมและชาตินิยมอิตาลีจากการที่เกาะนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเวนิส ซึ่งเวนิสนี่เองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมและประติมากรรมอิตาลีในเวลาต่อมา ด้านความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสดำเนินเป็นไปอย่างผสมผสาน ความตั้งใจที่แท้จริงมาโดยตลอดของอิตาลีคือการทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อเรียกคืนดินแดนที่มีชาวอิตาลีอาศัยอยู่[113] แต่ด้วยการก้าวขึ้นสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อิตาลีหันมากังวลในเรื่องเอกราชของออสเตรียและภัยคุกคามจากเยอรมนีที่อาจมีต่ออิตาลีหากเรียกคืนดินแดนทีโรลจากออสเตรีย จากความกังวลเกี่ยวกับการแผ่ขยายอำนาจของเยอรมนีนี้เอง ทำให้อิตาลีเข้าร่วมแนวสเตรซากับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรในการต้านทานเยอรมนี โดยแนวร่วมนี้ดำเนินไปเพียงปีเดียวระหว่าง ค.ศ. 1935 - ค.ศ. 1936 รัฐบาลฟาสซิสต์ดำเนินความสัมพันธ์ต่อยูโกสลาเวียในเชิงลบเพราะต้องการที่จะให้ยูโกสลาเวียล่มสลายซึ่งจะเปิดทางให้อิตาลีขยายอาณาเขตและเสริมสร้างอำนาจของตนเพิ่มเติม อิตาลีทำการจารกรรมในยูโกสลาเวียหลังจากที่ทางการยูโกสลาเวียตรวจพบเครือข่ายจารชนบ่อยครั้งในสถานทูตอิตาลี เช่นในครั้งปี ค.ศ. 1930[113] ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 1929 รัฐบาลฟาสซิสต์ได้รับเอานักชาตินิยมสุดโต้งชาวโครเอเชียนามว่าอันเต พาเวลิช (Ante Pavelić) เข้าลี้ภัยทางการเมืองในอิตาลี ฟาสซิสต์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการฝึกฝนทางการทหารให้แก่เขา เพื่อที่จะได้นำไปใช้สนับสนุนกองทหารฟาสซิสต์และกลุ่มก่อการร้ายที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ของเขานามว่า กลุ่มการเคลื่อนไหวปฏิวัติโครเอเชีย (Ustaše) ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นกองกำลังสำคัญที่ปกครองเสรีรัฐโครเอเชีย สังหารชาวเซิร์บ, ชาวยิว และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[114] ในปี ค.ศ. 1936 ที่สเปน พรรคฟาสซิสต์ได้เข้าทำการแทรกแซงกิจการภายในต่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐสเปนถูกแยกออกจากกันด้วยสงครามกลางเมืองสเปนระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐสังคมนิยมผู้มีแนวคิดต่อต้านศาสนจักรกับฝ่ายชาตินิยมผู้มีศาสนจักรและกลุ่มกษัตริย์นิยมหนุนหลังภายใต้การนำของจอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก และกลุ่มฟาสซิสต์ของเขาที่มีนามว่า ฟาลังซ์ (Falange) อิตาลีส่งเครื่องบินรบ, ยุทโธปกรณ์ และกองกำลังกว่า 60,000 นายไปช่วยฝ่ายชาตินิยมในสเปน สงครามครั้งนี้ยังช่วยฝึกฝนการทหารแก่กองทัพอิตาลีและยังช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคริสตจักรคาทอลิก นอกจากนี้มันยังช่วยให้อิตาลีมีทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกและความพยายามในนโยบาย มาเรนอสตรุม โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีสเปนคอยขัดขวาง นอกจากนี้ผู้จัดส่งยุทโธปกรณ์สนับสนุนหลักอีกรายคือนาซีเยอรมัน และในสงครามครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กองทัพอิตาลีร่วมรบกับกองทัพเยอรมันตั้งแต่สิ้นสุดสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ในช่วงปี ค.ศ. 1860 ในช่วงปี ค.ศ. 1930 อิตาลีต่อเรือประจัญบานและเรือรบมากมายเพื่อเสริมอิทธิพลของตนเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ภายหลังเยอรมนีผนวกเช็กโกสโลวาเกียเข้าเป็นดินแดนของตน อิตาลีจึงตัดสินใจจะเข้ายึดแอลเบเนียเนื่องจากกลัวว่าตนจะตกเป็นประเทศสมาชิกชั้นรองในฝ่ายอักษะ ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1939 อิตาลีเข้ารุกรานแอลเบเนีย ทำให้แอลเบเนียตกเป็นของอิตาลีโดยสมบูรณ์ภายในระยะเวลาไม่นาน และรัฐสภาแอลเบียได้ทำการราชาภิเษกพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งแอลเบเนีย ความชอบธรรมในการเข้ายึดแอลเบเนียสืบเนื่องย้อนไปในสมัยจักรวรรดิโรมัน เมื่อชาวโรมันเข้ายึดแอลเบเนียเป็นภูมิภาคหนึ่งของตนก่อนการเข้ายึดอิตาลีตอนเหนือเสียอีก แต่เป็นที่เด่นชัดว่าสายสัมพันธ์กับอิตาลียังคงเหลืออยู่เล็กน้อยในหมู่ประชาชนชาวแอลเบเนีย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสงครามครั้งนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสงครามรุกรานประเทศอธิปไตยได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากแอลเบเนียตกเป็นรัฐในอารักขาของอิตาลีมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1920 และกองทัพของแอลเบเนียก็ตกอยู่ใต้การบังคับบัญชาโดยเหล่านายทหารจากอิตาลีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยมากนักกับการรุกรานครั้งนี้ เนื่องด้วยพระองค์ทรงเกรงว่าอิตาลีจะยิ่งถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากขึ้นอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ถูกโดดเดี่ยวจากการเข้ารุกรานเอธิโอเปียเป็นแต่เดิมอยู่แล้ว[115]

ความสัมพันธ์กับเยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์

[แก้]

เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อพรรคนาซี) ได้ครองอำนาจในเยอรมนีในปี ค.ศ. 1939 มุสโสลีนีและรัฐบาลฟาสซิสต์ได้แสดงการรับรองพรรคนาซีต่อสาธารณชนด้วยคำพูดของมุสโสลีนีที่ว่า "ชัยชนะของฮิตเลอร์คือชัยชนะของเรา"[116] นอกจากนี้รัฐบาลฟาสซิสต์ยังได้ประกาศจะเริ่มสร้างความเป็นพันธมิตรร่วมกันกับเยอรมนีในระบอบใหม่นี้ด้วย[117]

โดยส่วนตัวแล้ว มุสโสลีนีและกลุ่มฟาสซิสต์อิตาลีได้แสดงถึงการไม่ยอมรับรัฐบาลพรรคนาซีถึงแม้ว่าจะมีอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันก็ตาม ตัวของมุสโสลีนีเองก็มีทัศนคติที่ไม่ยอมรับฮิตเลอร์ด้วยเช่นกัน ฝ่ายฟาสซิสต์ไม่ไว้วางใจในแนวคิดรวมเยอรมัน (Pan-German) ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคามอิตาลีซึ่งในประวัติศาสตร์มีพื้นที่หลายส่วนอยู่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรียมาก่อน ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าฝ่ายนาซีเองจะไม่ยอมรับในตัวมุสโสลีนีกับพรรคฟาสซิสต์อิตาลีก็ตาม แต่ฮิตเลอร์เองกลับเลื่อมใสในวิสัยทัศน์และวาทศิลป์ของมุสโสลีนีมาก และได้ยอมรับเอาสัญลักษณ์ของฟาสซิสต์อิตาลีหลายอย่างมาใชในพรรคนาซี เช่น การแสดงความเคารพด้วยการเหยียดแขนตรงอย่างที่เรียกว่า โรมันซาลูต (Roman salute) การใช้วาทศิลป์ที่กินใจ การใช้กองกำลังกึ่งทหารในเครื่องแบบในการใช้กำลังทางการเมือง และการเดินขบวนของมวลชนเพื่อแสดงพลังในการเคลื่อนไหว ในปี ค.ศ. 1922 ฮิตเลอร์ได้พยายามขอคำแนะนำจากมุสโสลีนีในการจัดการรณรงค์แบบการสวนสนามแห่งโรมในแบบของเขาเอง ซึ่งเขาจะเรียกชื่อมันว่า การสวนสนามแห่งเบอร์ลิน (การรณรงค์ครั้งนี้ในเวลาต่อมาคือเหตุการณ์โค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์ที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1923 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch) ทว่าในเวลานั้นมุสโสลีนีมิได้ตอบรับคำขอของฮิตเลอร์เพราะเขาไม่ได้สนใจขบวนการของฮิตเลอร์มากนักและคิดว่าฮิตเลอร์ค่อนข้างบ้า[118] มุสโสลีนีเคยพยายามอ่านหนังสือ ไมน์คัมพฟ์ (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ซึ่งเป็นชีวประวัติของฮิตเลอร์ เพื่อค้นหาว่าขบวนการสังคมนิยมแห่งชาติของฮิตเลอร์คืออะไร แต่ไม่ช้าเขาก็พบกับความผิดหวัง โดยกล่าวว่าหนังสือ ไมน์คัมพฟ์ เป็น "หนังสือเล่มโตที่น่าเบื่อซึ่งเขาไม่คิดจะอ่านมันอีก" และยังย้ำด้วยว่าความเชื่อของฮิตเลอร์เป็นสิ่งที่ "เล็กน้อยยิ่งกว่าเรื่องดาษๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำซากอยู่ทุกวัน"[113] ขณะที่มุสโสลีนีชอบฮิตเลอร์ในแง่ที่เขาสนับสนุนความเป็นเลิศในทางวัฒนธรรมและจริยธรรมของตนผิวขาวว่าเหนือกว่าชนชาติอื่นในโลก[110] เขากลับคัดค้านความคิดต่อต้านยิวของฮิตเลอร์ ทั้งนี้เพราะชาวลัทธิฟาสซิสต์จำนวนมากเป็นคนยิว ซึ่งรวมถึงภรรยาน้อยของมุสโสลีนีคนหนึ่งที่มีชื่อว่า มาร์เกริตา ซาร์ฟัตตี (Margherita Sarfatti) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะและโฆษณาการของพรรคฟาสซิสต์ พรรคฟาสซิสต์ได้รับการสนับสนุนจากพวกต่อต้านยิวเพียงเล็กน้อย มุสโสลีนีเองก็ไม่ได้คิดจะตีราคาทางเชื้อชาติด้วยต้นกำเนิดแห่งความเป็นเลิศ เขาต้องการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการประเมินค่ามากกว่า

ฮิตเลอร์และพรรคนาซีพยายามทาบทามมุสโสลีนีให้สนับสนุนการดำเนินงานของพวกเขาต่อไป และไม่นานหลังจากนั้นมุสโสลีนีก็ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พรรคนาซี และอนุญาตพรรคนซีฝึกหัดกองกำลังติดอาวุธของตนเองได้ เพราะเขาเชื่อว่าถึงแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ระบอบฟาสซิสต์แบบเยอรมนี (หมายถึงพรรคนาซี) ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่อิตาลีอยู่บ้าง[113] ความคลางแคลงใจในพรรคนาซีได้เพิ่มสูงขึ้นหลังปี ค.ศ. 1933 ทำให้มุสโสลีนีต้องหาทางรับประกันว่านาซีเยอรมนีจะไม่กลายเป็นรัฐฟาสซิสต์ที่โดดเด่นกว่าใครในทวีปยุโรป เพื่อการนี้ มุสโสลีนีจึงได้แสดงท่าทีคัดค้านความพยายามของเยอรมนีในการผนวกดินแดนออสเตรียหลังจากที่ประธานาธิบดีออสเตรีย เอนเกลแบรต์ ดอลล์ฟุส (Engelbert Dollfuss) ซึ่งเป็นผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์ ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1934 และให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนกองทัพออสเตรียหากเยอรมนีเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของออสเตรีย คำมั่นสัญญาดังกล่าวได้ช่วยให้ออสเตรียรอดพ้นจากการถูกผนวกดินแดนในปี ค.ศ. 1934 ได้

หลังการเข้ายึดครองเอธิโอเปีย มุสโสลีนีและฮิตเลอร์ได้ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวของทั้งสองคนทั้งในทางส่วนบุคคลและในทางการเมืองจะยังคงตึงเครียดกันอยู่ก็ตาม

การปรากฏตัวต่อสาธารณชนและการโฆษณาชวนเชื่อแสดงให้เห็นภาพความใกล้ชิดระหว่างฮิตเลอร์กับมุสโสลีนี และความคล้ายคลึงระหว่างระบอบฟาสซิสต์อิตาลีและระบอบสังคมนิยมแห่งชาติของเยอรมนี ขณะที่อุดมคติของทั้งสองฝ่ายคล้ายคลึงกันอย่างสำคัญยิ่ง ทั้งสองฝ่ายเองต่างก็ตั้งข้อหวาดระแวงซึ่งกันและกัน และผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างก็แข่งขันกันในการสร้างอิทธิพลต่อโลกด้วย ฮิตเลอร์และมุสโสลีนีได้พบกันครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 ในวาระเรื่องวิกฤตแห่งความเป็นเอกราชของออสเตรีย หลังการพบกันในครั้งนั้น มุสโสลีนีได้กล่าวถึงฮิตเลอร์โดยลับหลังว่าเป็นแค่ "ลิงโง่ๆ ตัวหนึ่ง" เท่านั้น[119]

หลังจากอิตาลีถูกโดดเดี่ยวจากการก่อสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1936 รัฐบาลอิตาลีมีทางเลือกไม่มากแต่ต้องเลือกที่จะทำงานร่วมกับเยอรมนีเพื่อทวงคืนสถานะได้เปรียบในการต่อรองในเวทีการต่างประเทศของตนเองไว้ และต้องฝืนใจประกาศยกเลิกการสนับสนุนเอกราชของออสเตรียต่อเยอรมนี วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1937 มุสโสลีนีได้ประกาศให้การสนับสนุนเยอรมนีในการทวงคืนอาณานิคมซึ่งเยอรมนีได้สูญเสียไปในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยได้กล่าวว่า

ประชาชนที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นประชาชนชาวเยอรมนีจะต้องได้คืนซึ่งพื้นที่ที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้ดวงตะวันแห่งแอฟริกา

— เบนิโต มุสโสลีนี, 28 ตุลาคม ค.ศ. 1937[120]

โดยไม่มีการคัดค้านอย่างสำคัญจากอิตาลี ฮิตเลอร์ได้ดำเนินการตามแผน อันชลูส์ (เยอรมัน: Anschluß) ด้วยการผนวกดินแดนออสเตรียเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีในปี ค.ศ. 1938 ต่อมาเยอรมนีก็ได้อ้างสิทธิในเขตสุเดเตนแลนด์ ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของเชโกสโลวาเกียที่มีพลเมืองส่วนมากเป็นชาวเยอรมัน มุสโสลีนีรู้สึกว่าตนไม่มีทางเลือกมากนักแต่ก็จำต้องเข้าข้างเยอรมนีเพื่อหลีกเลี่ยงการโดดเดี่ยวอิตาลี จากการผนวกออสเตรียโดยเยอรมนีในปี ค.ศ. 1938 รัฐบาลฟาสซิสต์เริ่มวิตกถึงชาวเยอรมันส่วนใหญ่ซึ่งเป็นประชากรของแคว้นติรอลใต้ไม่ว่าว่าคนกลุ่มนี้อาจต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ เยอรมนีอันยิ่งใหญ่ (Greater Germany) หรือไม่ และยังกังวลอีกด้วยว่าสมควรหรือไม่ที่อิตาลีจะตามรอยนโยบายต่อต้านยิวของพรรคนาซีเพื่อที่จะเอาใจเยอรมนีซึ่งมีความรู้สึกที่หลากหลายในเรื่องการเป็นพันธมิตรกับอิตาลี จะอย่างไรก็ตาม มุสโสลีนีก็ได้บังคับให้มีการผ่านกฎหมายต่อต้านชาวยิว แม้วว่าเคานท์กาลีซโซ ชิอานี ผู้เป็นลูกเขยและเป็นฟาสซิตส์อย่างเคร่งครัด จะได้ประณามกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม หลังจากการตรากฎหมายฉบับดังกล่าวซึ่งได้รับการต่อต้านจากประชาชนเป็นอย่างมากแล้ว มุสโสลีนีและรัฐบาลฟาสซิสต์ก็ได้เรียกร้องการประนีประนอมจากฝ่านฮิตเลอร์และรัฐบาลนาซี ในปี ค.ศ. 1939 รัฐบาลฟาสซิสต์ได้เรียกร้องฮิตเลอร์และรัฐบาลของเขายอมรับแผนการของอิตาลีโดยสมัครใจ ในการให้ชาวเยอรมนีในแคว้นติรอลใต้ให้เลือกระหว่างการอพยพไปจากที่นั้นหรือการถูกบังคับให้ยอมรับความเป็นอิตาลี ฮิตเลอร์แสดงท่าทียอมรับ การปฏิบัติต่อชาวเยอรมันในติรอลใต้จึงถูกทำให้เป็นกลางมานั้นแต่นั้น

เมื่อสงครามใกล้เข้ามาถึงในปี ค.ศ. 1939 รัฐบาลฟาสซิสต์ได้เพิ่มการรณรงค์ผ่านสื่ออย่างก้าวร้าวเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสโดยอ้างว่าชาวอิตาลีกำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ในฝรั่งเศส[121] สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อพันธมิตรอักษะทั้งฝ่ายเยอรมนีและอิตาลีซึ่งร่วมกันอ้างสิทธิในฝรั่งเศส กล่าวคือเยอรมนีอ้างสิทธิในแคว้นอัลซาซและลอร์แรน ซึ่งเป็นแคว้นที่มีพลเมืองเชื้อสายเยอรมันอยู่มาก ส่วนอิตาลีก็ต้องการแย่งเอาภูมิภาคซาวอยและและเกาะคอร์ซิกาซึ่งประชากรเป็นพวกลูกผสมอิตาลี-ฝรั่งเศสกลับคืนมา ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 การจัดตั้งพันธมิตรอย่างเป็นทางการได้เกิดขึ้นโดยรู้จักกันในนานสนธิสัญญาเหล็ก ซึ่งบังคับให้อิตาลีต้องร่วมรบกับเยอรมนีในกรณีที่เกิดสงครามกับเยอรมนี มุสโสลีนีรู้สึกว่าตนถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญานี้แม้ว่าเขายังกังวลเป็นการส่วนตัวว่าสงครามจะปะทุขึ้นในอนาคตอันใกล้ การบังคับดังกล่าวนี้ได้เพิ่มขึ้นจากคำมั่นสัญญาที่เขาได้ให้ไว้แก่ชาวอิตาลีที่ว่าจะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นมาและความทะเยอทะยานส่วนตัวที่ไม่ต้องการให้ฮิตเลอร์เป็นผู้นำยุโรปเพียงฝ่ายเดียว[122] มุสโสลีนีถูกปฏิเสธจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งเป็นข้อตกลงลับในการแบ่งแยกสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สองโดยเยอรมนีและสหภาพโซเวียตสำหรับการรุกรานที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า รัฐบาลฟาสซิสต์รู้สึกว่านี่คือการทรยศต่อสนธิสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น แต่ได้ตัดสินใจว่าจะเก็บงำท่าทีอย่างเป็นทางการของตนเอาไว้[123]

สงครามโลกครั้งที่ 2 และความเสื่อมถอยของลัทธิฟาสซิสต์

[แก้]

เมื่อเยอรมนีเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการรุกรานโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 มุสโสลีนีจึงได้ออกประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายน ในปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าอิตาลีการดำรงความเป็นกลางอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามุสโสลีนีจะแสดงท่าทีที่ก้าวร้าว แต่เขาก็ได้กันเอาอิตาลีออกห่างจากความขัดแย้งในสงครามไปเสียหลายเดือน มุสโสลีนีได้กล่าวแก่เคาทน์ชิอาโนผู้เป็นลูกเขยและรัฐมนตรีการต่างประเทศของรัฐบาลฟาสซิสต์ว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาอิจฉาในความสำเร็จของฮิตเลอร์ และคาดหวังไว้ว่าความอหังการของฮิตเลอร์จะถูกชะลอลงด้วยการโต้ตอบของฝ่ายสัมพันธมิตร[124] เขาได้พยายามถ่วงเวลาแห่งความสำเร็จของเยอรมนีในยุโรปออกไปด้วยการแจ้งเตือนให้เบลเยี่ยมและเนเธอร์แลนด์รับรู้ถึงการบุกของเยอรมนีที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นข้อมูลที่ฝ่ายเยอรมนีได้แจ้งให้เขาทราบ[125]

โดยอยู่นอกเหนือไปจากแผนการสงคราม มุสโสลีนีและระบอบฟาสซิสต์ได้ตัดสินใจว่า อิตาลีจะต้องผนวกเอาส่วนแบ่งของดินแดนขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคตะวันออกกลางเข้ามารวมไว้ในจักรวรรดิอาณานิคมของอิตาลี ความลังเลในความคิดดังกล่าวนี้ยังคงมีอยู่ในองค์พระเจ้าแผ่นดินและจอมพลปีเอโตร บาโดลโย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญ เขาได้เตือนว่าอิตาลีมีรถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ และอากาศยานน้อยเกินกว่าจะทำสงครามระยะยาวได้ เขายังได้บอกกับมุสโสลีนีด้วยว่า การเข้ายุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งภายในทวีปยุโรปในเวลานั้นเป็นการ "ฆ่าตัวตาย" อย่างเห็นได้ชัด[126] มุสโสลีนีและรัฐบาลฟาสซิต์ได้รับคำปรึกษาไว้ในระดับหนึ่ง และรอจังหวะจนถึงตอนที่เยอรมนีทำการบุกฝรั่งเศสแล้ว จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามอย่างเต็มตัว

ตอร์ปิโดมนุษย์ของราชนาวีอิตาลี ชนิดเดียวกับที่ใช้โจมตีเรือรบของบริเตนในการจู่โจมที่อเล็กซานเดรีย เมื่อ ค.ศ. 1941

เมื่อฝรั่งเศสแตกพ่ายให้แก่เยอรมนีด้วยการโจมตีแบบสายฟ้าแลบแล้ว อิตาลีก็ได้ประกาศสงครามต่อฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 อันนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามข้อผูกพันในสนธิสัญญาเหล็กอย่างสมบูรณ์ อิตาลีหวังไว้ว่าจะสามารถพิชิตเอาดินแดนซาวอย เมืองนีซ เกาะคอร์ซิกา (ดินแดนของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียเดิมที่ต้องยกให้แก่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1860) กับทั้งอาณานิคมตูนิเซียและแอลจีเรียในทวีปแอฟริกา ซึ่งทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของฝรั่งเศสได้ในเร็ววัน แต่แผนการดังกล่าวกลับต้องหยุดลงอย่างกะทันหันเมื่อเยอรมนีได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับจอมพลฟิลิป เปแตง แม่ทัพฝ่ายฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสวิชี ทำให้ดินแดนที่อิตาลีต้องการยึดครองทั้งหมดยังคงอยู่ในความครอบครองของฝรั่งเศสต่อไป การตัดสินใจของเยอรมนีในครั้งนี้สร้างความโกรธเคืองให้แก่รัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีมาก[127]

ขุมกำลังหนึ่งของอิตาลีที่สร้างความกังวลให้แก่กองทัพสัมพันธมิตรคือราชนาวีอิตาลี ซึ่งเป็นกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นอันดับที่สี่ของโลกในขณะนั้น ในปี ค.ศ. 1940 ราชนาวีบริเตนได้เป็นฉากการโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัวต่อกองเรืออิตาลีในยุทธนาวีตารันโต ยังผลให้เรือรบหลักของราชนาวีอิตาลีไม่สามารถใช้การได้ แม้ว่ากองเรือของอิตาลีจะไม่ได้รับความเสียหายมากอย่างที่กังวล แต่การโจมตีครั้งนี้ก็มีความหมายสำคัญแก่กองเรือของเครือจักรภพอังกฤษที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอย่างยิ่ง กองเรือดังกล่าวนี้ได้รบกับกองเรืออิตาลีเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังของเครือจักรภพที่ประจำการอยู่ในอียิปต์และตะวันออกกลางถูกตัดขาดการส่งกำลังบำรุงจากสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1941 กองทัพอิตาลีประสบความสำเร็จในการขับไล่กองทัพของสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียที่พยายามเข้ายึดครองเกาะคาสเตโลริโซ ซึ่งเป็นเขตยึดครองของอิตาลีที่อยู่ใกล้ชายฝั่งตุรกี ในปฏิบัติการแอ็บเซนชั่น ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน การลอบโจมตีของกองทัพอิตาลีที่เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ โดยการส่งนักประดาน้ำไปวางระเบิดเรือรบของสหราชอาณาจักรทำให้ฝ่ายบริเตนใหญ่ต้องเสียเรือประจัญบานไปสองลำ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า "การจู่โจมที่อเล็กซานเดรีย" ในปีถัดมาคือปี ค.ศ. 1942 ราชนาวีอิตาลีก็ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อกองเรือลำเลียงพลของบริเตนใหญ่ซึ่งพยายามยกพลขึ้นบนที่มอลตาระหว่างปฏิบัติการฮาร์พูน เรือรบของสหราชอาณาจักรถูกจมลงหลายลำ ตลอดระยะเวลาที่กล่าวมานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่กองเรืออิตาลีด้วย ความพินาศของอิตาลีเองก็เป็นประโยชน์ในอีกทางหนึ่งแก่ฝ่ายเยอรมนีด้วยเช่นกัน

สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะที่อิตาลีต้องพึงพิงเยอรมนีซึ่งดำเนินต่อไปได้เด่นชัดขึ้นจากสงครามอิตาลี-กรีซ อันเป็นสงครามที่ก่อความเสียหายอย่างหนักแก่กองทัพบกอิตาลี มุสโสลีนีมุ่งหมายจะก่อสงครามกับกรีซเพื่อแสดงให้เยอรมนีเห็นว่า อิตาลีไม่ใช่มหาอำนาจที่อ่อนแอในเครือพันธมิตรอักษะ แต่เป็นจักรวรรดิซึ่งมีความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้ เขาได้โอ้อวดต่อรัฐบาลของตนว่าเขาจะลาออกจากความเป็นชาวอิตาลีหากว่าใครก็ตามพบว่าการทำสงครามกับกรีซเป็นเป็นเรื่องยาก[128] ในเวลาหลายวันแห่งการรุกรานกรีซ กองทัพกรีซได้ผลักดันให้กองทัพอิตาลีถอยกลับไปตั้งมั่นที่แอลเบเนีย และตบหน้าฝ่ายอิตาลีด้วยการทำให้อิตาลีอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับแทน[129] ฮิตเลอร์และรัฐบาลเยอรมนีผิดหวังกับความล้มเหลวของอิตาลีในกรีซมาก มุสโสลีนีก็รู้สึกเช่นเดียวกัน[130]

รถถัง AB 41 ของอิตาลี ซึ่งปฏิบัติการในคาบสมุทรบอลข่านระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เพื่อแย่งชิงเอากรีซกลับมาอีกครั้ง เยอรมนีจำต้องเปิดฉากยุทธการบอลข่านร่วมกับอิตาลี ซึ่งยังผลให้ราชอาณาจักรยูโกสลาเวียต้องล่มสลายในปี ค.ศ. 1941 และการยึดครองดัลเมเชียโดยอิตาลี มุสโสลีนีและฮิตเลอร์ได้ชดเชยให้แก่ขบวนการชาตินิยมชาวโครแอตด้วยการอนุญาตให้มีการจัดตั้งรัฐเอกราชโครเอเชียขึ้นภายใต้การบริหารของพรรคอูสตาเช (Ustaše) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมสุดขั้ว และเพื่อเป็นการตอบแทนการได้รับความสนับสนุนจากอิตาลี รัฐบาลอูสตาเชตกลงยินยอมให้อิตาลีเข้าครอบครองตอนกลางของดัลเมเชียเช่นเดียวกับเกาะอีกหลายเกาะในทะเลเอเดรียติก เนื่องจากดินแดนดัลเมเชียมีนัยความหมายที่สำคัญต่อชาวอิตาลีอย่างยิ่ง การสูญเสียหมู่เกาะเอเดรียติกของโครเอเชียถือว่าเป็นการสูญเสียที่น้อยมากสำหรับรัฐบาลโครเอเชีย เพราะโครเอเชียได้รับอนญาตให้ผนวกเอาดินแดนซึ่งในปัจจุบันคือบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และได้รับอนุญาตให้รังควานชาวเซิร์บที่อยู่ในที่นั้นเพื่อสร้างพื้นที่ตั้งรกรากสำหรับชาวโครแอตในอนาคต โดยทางการแล้ว โครเอเชียมีฐานะเป็นราชอาณาจักรและเป็นรัฐในอารักขาของอิตาลี ซึ่งปกครองโดยพระเจ้าโทมิสลาฟที่ 2 แห่งโครเอเชีย ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์อิตาลีในราชวงศ์ซาวอย อย่างไรก็ตาม พระองค์มิเคยได้เสด็จไปยังโครเอเชียเลยสักครั้ง และรัฐบาลโครเอเชียก็ดำเนินไปภายใต้การบริหารของอานเต ปาเวลิช ผู้นำพรรคอูสตาเช อย่างไรก็ตามอิตาลีได้คงกำลังทหารไว้ตามแนวชายฝั่งของโครเอเชีย ซึ่งเป็นกำลังที่คอยควบคุมแอลเบเนียและมอนเตเนโกรด้วย ทำให้อิตาลีสามารถควบคุมทะเลอาเดรียติกได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นการเติมเต็มหัวใจสำคัญของนโยบาย "Mare Nostrum" ของรัฐบาลฟาสซิสต์ ชบวนการอุสตาเชเป็นขุมกำลังที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับอิตาลีและเยอรมนีเพราะช่องทางสำคัญที่จะใช้ตอบโต้ขบวนการกองโจรเชตนิคส์ของยูโกสลาเวีย (แม้ว่าขบวนการดังกล่าวนี้จะทำงานให้เยอรมนีและอิตาลีก็ตาม เพราะขบวนการนี้ไม่พอใจขบวนการอุสตาเชอย่างยิ่ง) และขบวนการคอมมิวนิสต์ปาร์ติซานชาวยูโกสลาฟภายใต้การนำของยอซีป บรอซ ตีโต ซึ่งต่อต้านการยึดครองยูโกสลาเวีย

ในปี ค.ศ. 1940 อิตาลีได้รุกเข้าสู่ราชอาณาจักรอียิปต์และถูกกองกำลังเครือจักรภพอังกฤษขับไล่ให้ต้องถอยมาอยู่ในลิเบียในเวลาไม่นานนัก กองทัพเยอรมันจึงได้ส่งกองทหารเข้ามาร่วมในกองทัพอิตาลีที่ลิเบียเพื่อป้องกันอาณานิคมไว้จากการรุกคืบของฝ่ายบริเตน หน่วยรบเยอรมันในกองทัพน้อยแอฟริกาของจอมพลเออร์วิน รอมเมล คือกำลังหลักในยุทธการผลักดันกองทัพบริเตนออกไปจากลิเบียและรุกเข้าสู่ใจกลางประเทอียิปต์ระหว่างปี ค.ศ. 1941 - 1942 ชัยชนะในอียิปต์ถูกยกย่องให้เป็นผลงานจากความเป็นเลิศในทางยุทธวิธีของจอมพลรอมเมลเกือบทั้งหมด ส่วนอิตาลีได้รับความสนใจจากสื่อเพียงเล็กน้อยเพราะความสำเร็จของพวกเขาผูกติดไว้กับประสบการณ์และอาวุธชั้นเลิศของกองกำลังของจอมพลรอมเมล จากทัศนะของทางการอิตาลีในช่วงปี ค.ศ. 1942 อิตาลีสามารถควบคุมดินแดนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้เป็นจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสวิชีล่มสลาย อิตาลีก็ได้เข้าควบคุมเกาะคอร์ซิกา (ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรเป็นคนเชื้อสายฝรั่งเศสและอิตาลี) นีซ และดินแดนบางส่วนในทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ทั้งยังได้ตรวจตราการยึดครองทางทหารในจุดสำคัญทางทหารในตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย แต่ถึงแม้เอกสารของทางอิตาลีจะอ้างความสำเร็จดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่า "จักรวรรดิอิตาลี" ในปี ค.ศ. 1942 ก็เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจอิตาลีประสบกับภาวะชะงักงันจากการสร้างเงื่อนไขสงคราม และเมืองต่างๆ ในอิตาลีล้วนถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดใส่ตลอดเวลา และเช่นเดียวกันที่แม้ว่าจอมพลรอลเมลจะสามารถรุกคืบได้ในปี ค.ศ. 1941 และช่วงต้น ค.ศ. 1942 แต่ในช่วงปลายของปี ค.ศ. 1942 นั้นเอง การเปิดสงครามในแอริกาเหนือก็เริ่มประสบความหายนะ และจะพินาศลงอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1943 เมื่อกองทัพเยอรมนีและอิตาลีล่าถอยจากแอฟริกาเหนือไปยังเกาะซิซิลี

ลุถึงปี ค.ศ. 1943 อิตาลีประสบความล้มเหลวในทุกแนวรบ เริ่มตั้งแต่ในเดือนมกราคม กองทัพอิตาลีต้องสูญเสียรถถังที่ปฏิบัติการในแนวรบด้านตะวันออกถึงกี่งหนึ่ง ของทั้งหมด[131] การทำสงครามทวีปแอฟริกาประสบกับความพินาศ สถานการณ์ในคาบสมุทรบอลข่านยังคงไร้เสถียรภาพ และชาวอิตาลีเองก็ต้องการยุติสงครามลงเสียที[132] พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ถึงกับต้องทรงร้องขอให้เคานท์ชิอาโนเข้าเจรจากับมุสโสลินีเพื่อให้มุสโสลินีเริ่มเปิดการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร[131] ถึงกลางปี ค.ศ. 1943 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มการบุกเกาะซิชิลี เพื่อขจัดอิตาลีออกไปจากสงครามและเริ่มยาตราทัพสู่ทวีปยุโรป โดยสามารถยกพลขึ้นบกได้โดยง่ายเนื่องจากมีกำลังของอิตาลีต้านทานอยู่เพียง เล็กน้อย สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรมุ่งตรงเข้าโจมตีทัพ ของเยอรมนีซึ่งยังคงกำลังในอิตาลีไว้บางส่วนก่อนที่เกาะซิซีลีจะตกเป็น ของฝ่ายสัมพันธมิตร การรุกรานของสัมพันธมิตรได้ทำให้ความอยู่รอดของมุสโสลินี และระบอบของเขาต้องขึ้นอยู่กับกำลังของกองทัพเยอรมนีซึ่งปกป้องเข้าอยู่ใน เวลานั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รุกคืบต่อไปอย่างรวดเร็วทั่วอิตาลี โดยพบการต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากทหารอิตาลีที่กำลังขวัญเสีย ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการต้านทานอย่างหนักจากกองทัพนาซีเยอรมนี

สงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1943-1945)

[แก้]
ปีเอโตร บาโดลโย ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งอิตาลีหลังการขับไล่มุสโสลีนีในปี ค.ศ. 1943

ปี ค.ศ. 1943 มุสโสลีนีสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนชาวอิตาลีโดยเหตุที่เขาได้นำพาประเทศเข้าสู่หายนะจากสงคราม และในสายตาชาวโลก เขาถูกมองว่าเป็น "ซีซาร์หัวขี้เลื่อย" (sawdust caesar) เพราะได้นำประเทศเขาสู่สงครามโดยใช้กองทัพที่ขาดการฝึกฝนและขาดอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ในการสู้รบในสมรภูมิต่างๆ อิตาลีต้องพบกับความล้มเหลว ความรู้สึกอับอายในตัวของมุสโสลีนีทำให้พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 และสมาชิกพรรคฟาสซิสต์จำนวนมากสิ้นศรัทธาในตัวเขา การขับไล่มุสโสลีนีในขั้นแรกจึงเกิดขึ้นเมื่อสภาใหญ่แห่งพรรคฟาสซิสต์ภายใต้การอำนวยการของดีโน กรันดี สมาชิกพรรคฟาสซิสต์ ได้ลงมติขับมุสโสลีนีออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคฟาสซิสต์ อีกหลายวันต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ได้มีพระบรมราชโองการให้ปลดมุสโลสินีจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ และได้ทรงแต่งตั้งให้จอมพลปีเอโตร บาโดลโย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

หลังการถูกปลดออกจากตำแหน่ง มุสโสลีนีก็ถูกควบคุมตัวทันที รัฐบาลใหม่ของบาโดลโยได้ทำการประกาศให้พรรคฟาสซิสต์เป็นพรรคการเมืองต้องห้าม ถือได้ว่าเป็นการกำจัดพรรคฟาสซิสต์ออกจากเวทีการเมืองขั้นสุดท้าย จากนั้นรัฐบาลใหม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างอิตาลีกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และอิตาลีก็ได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรพร้อมกับประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนี รัฐบาลใหม่ฝ่ายนิยมกษัตริย์ของอิตาลีได้จัดตั้งกองทัพร่วมของอิตาลีในทั้งสามเหล่าทัพ และได้พยายามจัดรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินให้มีลักษณะแบบพลพรรค (partisan) น้อยลง พร้อมทั้งได้อนุญาตให้มีพรรคการเมืองต่างๆ เกิดขึ้นได้อีกครั้ง หลังจากที่พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองและมีเพียงพรรคฟาสซิสต์พรรคเดียวที่เป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายตลอดสมัยการปกครองของมุสโสลีนี พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้มีทั้งพรรคฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์ และได้เข้ามาร่วมอยู่ในทุกส่วนของรัฐบาลชุดนี้ [133] ชาวอิตาลีได้เฉลิมฉลองแสดงความยินดีในการสิ้นสุดอำนาจของมุสโสลีนี และเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรรุกเข้าไปในดินแดนต่างๆ ของอิตาลี ชาวอิตาลีก็ได้ให้การต้อนรับกองทัพสัมพันธมิตรในฐานะผู้ปลดปล่อยซึ่งต่อต้านการยึดครองของเยอรมนี

มุสโสลีนีตรวจแถวพลทหารของสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีในปี ค.ศ. 1944

อย่างไรก็ตาม ยุคของมุสโสลีนีในอิตาลียังไม่จบลง หน่วยคอมมานโดเยอรมันหน่วยหนึ่งภายใต้การนำของออตโต สกอร์เซนี (Otto Skorzeny) ได้บุกเข้าไปช่วยมุสโสลีนีให้ออกจากโรงแรมบนภูเขาที่กักกันเขาอยู่ได้สำเร็จ ฮิตเลอร์ได้แนะนำให้มุสโสลีนีก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีในอิตาลีตอนเหนือซึ่งเป็นพื้นที่เขตยึดครองของนาซีเยอรมนี ทว่ามุสโสลีนีมีอำนาจในสาธารณรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่เพียงน้อยนิด รัฐใหม่นี้จึงเป็นเพียงรัฐหุ่นเชิดของเยอรมนีเท่านั้น กองทัพของอิตาลีฝ่ายฟาสซิสต์เป็นกองกำลังผสมระหว่างผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์ซึ่งยังภักดีต่อมุสโสลีนีและกองทัพนาซีเยอรมนี ฮิตเลอร์และกองทัพเยอรมันได้เปิดฉากทำการรบกับสัมพันธมิตรและเห็นประโยชน์ของอิตาลีเพียงเล็กน้อยว่าเป็นเพียงเขตกันชนเพื่อต้านทานการรุกของสัมพันธมิตรซึ่งจะเข้ามาทางใต้ของเยอรมนีเท่านั้น[134]

ชีวิตของชาวอิตาลีในเขตยึดครองของเยอรมนีเป็นไปอย่างอย่างลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโรม ประชากรชาวโรมในปี ค.ศ. 1943 รู้สึกอ่อนล้าเต็มทีกับสงครามที่เกิดขึ้น เมื่ออิตาลียอมลงนามสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1943 ชาวโรมต่างพากันออกมาในท้องถนนพร้อมตะโกนคำว่า "สันติภาพจงเจริญ" ("Viva la pace!") แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กองทัพเยอรมันก็ได้เคลื่อนพลเข้ามาในเมือง และเข้าโจมตีทั้งฝ่ายต่อต้านฟาสซิสต์ ฝ่ายนิยมกษัตริย์ และชาวยิว[135] ชาวโรมถูกทหารเยอรมันข่มขู่เพื่อให้ส่งเสบียงอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงแก่กองทัพเยอรมัน หากใครขัดขืนฝ่ายเยอรมันก็จะจับกุมตัวไว้ มีคนจำนวนมากที่ถูกนาซีเยอรมนีจับกุมแล้วถูกส่งตัวไปบังคับใช้แรงงาน[136] ในช่วงหลังการปลดปล่อยกรุงโรม ชาวโรมได้รายงานไว้ว่า ในช่วงสัปดาห์แรกแห่งการยึดครองของเยอรมนี ได้เกิดอาชญากรรรมต่อชาวอิตาลีขึ้นทั่วไปจากการที่ทหารเยอรมันเข้าปล้นร้านค้าและใช้ปืนจี้บังคับเอาสิ่งของจากชาวอิตาลี[136] กฎอัยการศึกได้ถูกประกาศใช้โดยอำนาจรัฐเยอรมนีเพื่อให้ชาวอิตาลีทุกคนห้ามออกนอกเคหสถานของตนภายหลังเวลาสามทุ่ม [136] ระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1943 ชาวโรมถูกจำกัดการปันส่วนอาหาร ฟืน และถ่านหิน เนื่องจากกองทัพเยอรมันเก็บปัจจัยเหล่านี้ไว้สำหรับแจกจ่ายให้ทหารเยอรมันซึ่งอยู่ในโรงแรมที่ตนยึดครองอยู่[136] การกระทำเหล่านี้ทำให้ชาวอิตาลีต้องเผชิญกับอากาศหนาวอย่างทารุณและตกอยู่ในสภาพแทบจะไม่มีอาหารยังชีพ[137] ยิ่งกว่านั้นฝ่ายอำนาจรัฐเยอรมนียังได้เริ่มจับกุมผู้ชายชาวโรมที่ยังสามารถทำงานได้ไปบังคับใช้แรงงานอีกด้วย[138] ถึงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1944 การยึดครองกรุงโรมโดยเยอรมนีจึงได้สิ้นสุดลงจากการล่าถอยของกองทัพเยอรมัน เนื่องจากกองทัพสัมพันธมิตรได้รุกคืบเข้ามา

ป้ายรูปกางเขนระบุตำแหน่งที่มุสโสลีนีถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เมซเซกรา ประเทศอิตาลี

มุสโสลีนีถูกจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1945 โดยกองกำลังปาร์ติซานของพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ที่บริเวณใกล้ชายแดนอิตาลี-สวิสเซอร์แลนด์ ในขณะที่เขาพยายามจะหลบหนีออกจากอิตาลี ในวันถัดมาเขาก็ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ โดยคำตัดสินลับหลังของคณะลูกขุนแห่งคณะกรรมการปลดแอกแห่งชาติ (Comitato di liberazione nazionale - CLN) หลังจากนั้นร่างของมุสโสลีนี ภรรยาน้อย และผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์คนอื่นๆ อีกประมาณ 15 คน ได้ถูกนำไปยังเมืองมิลาโน เพื่อแขวนประจานต่อสาธารณชน อีกหลายวันต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเยอรมันในอิตาลีก็ได้ประกาศยอมแพ้

รัฐบาลของบาโดลโยยังคงอยู่ในวาระต่อไปอีกประมาณ 9 เดือน จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1944 บาโดลโยจึงลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแทนที่ด้วยอิวาโนเอ โบโนมี ผู้นำฝ่ายต่อต้านฟาสซิสต์วัย 70 ปี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 แฟร์รุจโจ ปาร์รี ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนโบโนมี และได้เปิดทางให้อัลซิเด เด กัสเปรี ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในวันที่ 4 ธันวาคม ปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกัสเปรีผู้นี้เป็นที่ปรึกษาในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากระบอบกษัตริย์สู่ระบอบสาธารณรัฐภายหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 ในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1946 โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งรักษาการประมุขแห่งรัฐในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1946 แต่ได้ส่งมอบตำแหน่งดังกล่าวให้เอนริโค เด นิโคลา ประธานาธิบดีเฉพาะกาลของสาธารณรัฐอิตาลี ในอีกสิบวันให้หลัง

กำเนิดสาธารณรัฐอิตาลี (ค.ศ. 1946)

[แก้]
พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอิตาลี

ผลที่ตามมาหลังจากเผชิญสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อิตาลีสูญสิ้นทุกอย่าง ทั้งระบบเศรษฐกิจที่พังพินาศ ความแตกแยกทางสังคม และความเคียดแค้นของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งให้การสนับสนุนระบอบฟาสซิสต์มาถึง 20 ปี ความเคียดแค้นดังกล่าวได้งอกงามขึ้นไปพร้อมกับความอับอายที่อิตาลีต้องถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนีและต่อมาก็ถูกครอบงำโดยสัมพันธมิตร ยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่ระบอบฟาสซิสต์จะเริ่มเรืองอำนาจ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ถูกมองว่าล้มเหลวจากการที่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถึงขีดสุดระหว่างอิตาลีฝ่ายเหนือที่มั่งคั่งกับอิตาลีฝ่ายใต้ที่แร้นแค้น ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้รับมาเพียงน้อยนิดและถูกมองว่าเป็นสิ่งที่บ่มเพาะให้ลัทธิฟาสซิสต์เรืองอำนาจขึ้น ความไม่พอใจเหล่านี้เองได้ส่งผลให้ขบวนการนิยมสาธารณรัฐของอิตาลีคืนชีพขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ผลการลงประชามติสถาปนาสาธารณรัฐอิตาลีในปี ค.ศ. 1946

จากการสละราชสมบัติของพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 3 ในปี ค.ศ. 1946 ทำให้พระราชโอรสของพระองค์คือ เจ้าชายอุมแบร์โตที่ 2 ได้สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ พระองค์ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความขัดแย้งที่อาจเป็นสงครามกลางเมืองได้ ในการเรียกร้องให้จัดการลงประชามติขึ้นว่าจะยังคงสถาบันกษัตริย์เอาไว้หรือเปลี่ยนผ่านสู่สาธารณรัฐ ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นฝ่ายชนะการลงประชามติด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 54 จากคะแนนเสียงทั้งหมด ยังผลให้อิตาลีเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ ตารางผลคะแนนของการลงประชามติในครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในดินแดนส่วนต่างๆ ของอิตาลี โดยสามารถจำแนกพื้นที่การลงคะแนนเสียงออกได้เป็น 2 พื้นที่ใหญ่ คือ พื้นที่ของฝ่ายเหนือส่วนใหญ่ลงมติเลือกระบอบสาธารณรัฐ (ร้อยละ 66.2) ส่วนฝ่ายใต้ส่วนใหญ่เลือกระบอบกษัตริย์ (ร้อยละ 63.8) ส่วนผลการลงคะแนนในทางตรงกันข้ามก็เป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งสองพื้นที่ ฝ่ายนิยมกษัตริย์บางกลุ่มได้ออกมาอ้างว่าการลงประชามติถูกแทรกแซงโดยฝ่ายเหนือซึ่งนิยมสาธารณรัฐและลัทธิสังคมนิยม อีกทั้งยังมีข้อโต้แย้งด้วยว่า ในปี ค.ศ. 1946 อิตาลียังวุ่นวายและไร้เสถียรภาพเกินกว่าที่จะกระทำการลงประชามติให้ได้ผลที่แท้จริง โดยที่พระองค์ไม่ได้ทรงคำนึงถึงการหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง พระเจ้าอุมแบร์โตที่ 2 ได้ทรงสละราชสมบัติจากราชบัลลังก์อิตาลี สาธารณรัฐใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยความขมขื่นจากความขุ่นเคืองใจของรัฐบาลใหม่ซึ่งต่อต้านราชวงศ์ซาวอย เชื้อพระวงศ์ที่เป็นบุรุษต่างถูกจับขังเมื่อเข้าเขตแดนอิตาลีในปี ค.ศ. 1948 และกฎหมายที่กีดกันเหล่าพระราชวงศ์นี้พึ่งจะถูกประกาศยกเลิกเมื่อปี ค.ศ. 2002

กองทัพ

[แก้]

พระมหากษัตริย์แห่งอิตาลี – ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพแห่งกองทัพราชอาณาจักรอิตาลี (ดำรงพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ) ตั้งแต่ ค.ศ. 1861 - 1938 และ ค.ศ. 1943 - 1946

จอมพลอันดับที่หนึ่งแห่งจักรวรรดิ - ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ กองกำลังอาสาสมัครรักษาความมั่นคงภายในแห่งราชอาณาจักรอิตาลี ระหว่าง ค.ศ. 1938 - 1943 ในสมัยระบอบฟาสซิสต์ ทั้งพระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 3 และมุสโสลีนี ทรงดำรงตำแหน่งและอยู่ในตำแหน่งนี้ร่วมกัน

กองทัพบก (Regio Esercito)

[แก้]

กองทัพอากาศ (Regia Aeronautica)

[แก้]

กองทัพเรือ (Regia Marina)

[แก้]

กองกำลังกึ่งทหาร

[แก้]

กองกำลังอาสาสมัครรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติ (Milizia Volontaria per la Sicurezza Nazionale) หรือที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อ กองกำลังชุดดำ (Blackshirts) - กองกำลังติดอาวุธซึ่งภักดีต่อมุสโสลีนีในช่วงระบอบฟาสซิสต์ ล้มเลิกไปในปี ค.ศ. 1943

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Italy in 150 years – summary of historical statistics 1861–2011" (PDF) (ภาษาอิตาลี). Istat. p. 135. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016.
  2. (Smith, Dennis Mack (1997) Modern Italy; A Political History, Ann Arbor: The University of Michigan Press, ISBN 0-472-10895-6, p15)
  3. (Smith (1997), pp23–24)
  4. (Smith (1997), p61)
  5. (Smith (1997), pp95–96)
  6. (Smith (1997), p91)
  7. (Smith (1997), pp. 95–107)
  8. (Smith (1997), pp132–133)
  9. (Smith (1997), p133)
  10. (Smith (1997), p128)
  11. Clark, Martin. “Modern Italy: 1871–1982.” Longman History of Italy. London and New York: Longman. Pp. 35
  12. Clark, pp. 33
  13. 13.0 13.1 13.2 Clark, pp. 29
  14. Clark, pp. 30
  15. Clark, pp. 36
  16. 16.0 16.1 Clark, pp. 35
  17. 17.0 17.1 17.2 Clark, Pp. 35
  18. Clark, pp. 35–36
  19. Clark, pp. 38
  20. Clark. Pp. 14
  21. 21.0 21.1 21.2 Clark, pp. 31
  22. Smith (1997), pp 12-21)
  23. Smith (1997), p 139
  24. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Clark, Modern Italy p. 27
  25. 25.0 25.1 Clark. Pp. 15
  26. Clark. Pp. 16
  27. Clark. Pp. 17 –18.
  28. (Smith (1997), pp115–117)
  29. (Barclay (1997), p34)
  30. (Barclay (1973), p33–34)
  31. (Barclay (1973), p35)
  32. (Bosworth, RJB (2005) Mussolini's Italy, New Work: Allen Lane, ISBN 0-7139-9697-8, p50)
  33. (Bosworth (2005), p49)
  34. (Smith, Dennis Mack (1997) Modern Italy; A Political History, Ann Arbor: The University of Michigan Press, ISBN 0-472-10895-6, p199)
  35. (Smith (1997), p209–210)
  36. (Smith (1997), p199)
  37. (Bosworth, Richard. (1983). Italy and the Approach of the First World War. London: The Macmillan Press Ltd, p42)
  38. (Bosworth (1983), pp99–100)
  39. (Bosworth (1983), p101)
  40. (Bosworth (1983), p112)
  41. (Bosworth (1983), pp112–114)
  42. (Bosworth (1983), p119)
  43. 43.0 43.1 43.2 43.3 (Clark, 1984. p.180)
  44. (Clark, Martin. 1984. Modern Italy: 1871-1982. London and New York: Longman Group UK Limited. p.180)
  45. 45.0 45.1 (Thayer, John A.(1964). Italy and the Great War. Madison and Milwaukee: University of Wisconsin Press. p279)
  46. (Thayer, p272)
  47. (Thayer, p253)
  48. (Thayer, p254)
  49. (Clark, Martin. 1984. Modern Italy: 1871-1982. London and New York: Longman Group UK Limited. p.184)
  50. Seton-Watson, Christopher. 1967. Italy from Liberalism to Fascism: 1870 to 1925. London: Methuen & Co. Ltd. Pp. 451
  51. 51.0 51.1 Seton-Watson, Pp. 451
  52. (Clark, Martin. 1984. Modern Italy: 1871-1982. London and New York: Longman Group UK Limited. p.185)
  53. 53.0 53.1 (Clark, 1984. p.186)
  54. 54.0 54.1 Seton-Watson, Pp. 452
  55. 55.0 55.1 55.2 (Clark, 1984. p.187)
  56. Seton-Watson, Pp. 502
  57. Seton-Watson, Pp. 452-3
  58. 58.0 58.1 58.2 58.3 58.4 Seton-Watson, Pp. 453
  59. Seton-Watson, Pp. 456
  60. Seton-Watson, Pp. 461-2
  61. 61.0 61.1 Seton-Watson, Pp. 463
  62. Seton-Watson, Pp. 468-9
  63. Seton-Watson, Pp. 468
  64. Seton-Watson, Pp. 469
  65. Seton-Watson, Pp. 470
  66. 66.0 66.1 Seton-Watson, Pp. 471
  67. Seton-Watson, Pp. 486
  68. 68.0 68.1 Seton-Watson, Pp. 493
  69. Seton-Watson, Pp. 495
  70. Smith (1997), p293
  71. Bosworth (2005), pp112–113.
  72. 72.0 72.1 72.2 Smith (1997), p284
  73. Clark, Martin. Modern Italy:1871-1982. London and New York: Longman Group UK Limited. p.183
  74. Passmore Women, Gender and Fascism, p. 11-16
  75. Smith (1997), pp284–286)
  76. 76.0 76.1 Smith (1997), p298
  77. Smith (1997), p302
  78. Bosworth (2005), p112
  79. (Smith (1997), p312
  80. Smith (1997), p312
  81. Smith (1997), p315
  82. http://www.royin.go.th/th/webboardnew/answer.php?GroupID=&searchKey=&searchFrom=&searchTo=&PageShow=3&TopView=&QID=12229
  83. Mussolini, Benito. 1935. Fascism: Doctrine and Institutions. Rome: Ardita Publishers. p 14.
  84. Pauley, Bruce F (2003) Hitler, Stalin, and Mussolini: Totalitarianism in the Twentieth Century Italy, Wheeling: Harlan Davidson, Inc., p107
  85. Gentile, Emilio. The Struggle For Modernity Nationalism Futurism and Fascism (Westport, CT: Praeger, 2003), p87.
  86. Gentile, p81.
  87. Gentile, p146.
  88. Pauley, p108
  89. 89.0 89.1 Pauley, p109
  90. Smith, Italy, pp 40-443
  91. John F. Pollard, The Vatican and Italian Fascism, 1929-32. Cambridge University Press. (1985). p 53
  92. Kenneth Scott Latourette, Christianity In a Revolutionary Age A History of Christianity in the 19th and 20th Century: Vol 4 The 20th Century In Europe (1961) pp 32-35, 153, 156, 371
  93. Eamon Duffy (2002). Saints and Sinners: A History of the Popes; Second Edition. Yale University Press. p. 340.
  94. Pollard, p49
  95. Pollard, The Vatican and Italian Fascism, 1929-32, p 61
  96. greatoceanliners.net - rex
  97. 97.0 97.1 97.2 Pauley, p. 113
  98. de Grazia, Victoria. The Culture of Consent: Mass Organizations of Leisure in Fascist Italy. Cambridge, 1981.
  99. Kallis, Aristotle, ed. (2003). The Fascism Reader, London: Routledge, pp. 391–395.
  100. Pauley, pp. 113–114
  101. Perry R. Willson, The Clockwork Factory: Women and Work in Fascist Italy (1994)
  102. Perry R. Willson, Peasant Women and Politics in Fascist Italy: The Massaie Rurali (2002)
  103. Victoria De Grazia, How Fascism Ruled Women: Italy, 1922-1945 (1993)
  104. Perry Willson, "Empire, Gender and the 'Home Front' in Fascist Italy," Women's History Review, October 2007, Vol. 16 Issue 4, pp 487-500
  105. Carol Helstosky, "Fascist food politics: Mussolini's policy of alimentary sovereignty, Journal of Modern Italian Studies March 2004, Vol. 9 Issue 1, pp 1-26
  106. "IBS No. 10 - Libya (LY) & Sudan (SU) 1961" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-10-10.
  107. Gilbert, Martin (introduction). 1989. The Illustrated London News: Marching to War, 1933-1939. Toronto, Canada: Doubleday Canada Ltd. Pp 137
  108. Sarti, Roland. 1974. The Ax Within: Italian Fascism in Action. New York: New Viewpoints. p189.
  109. Sarti, p191.
  110. 110.0 110.1 110.2 110.3 110.4 Sarti, p190.
  111. Sarti, p194.
  112. Sarti, p196.
  113. 113.0 113.1 113.2 113.3 Smith. 1983. p172
  114. Glenny, Misha. Balkans: Nationalism, War and the Great Powers, 1804-1999. New York, USA: Penguin Books, 2001. Pp. 431
  115. Smith, 1997. p398-399
  116. Smith, Denis Mack. 1983. Mussolini: A Biography. New York: Vintage Books. p181
  117. Smith, 1983. p181
  118. Smith, 1983. p172
  119. "What happened in June 1934 - Historical Events, News Archives". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-22. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  120. Gilbert. 1989. Pp 137
  121. Smith, 1997. 397
  122. Smith, 1997. p401
  123. Smith, 1997. 401
  124. Smith, 1997. p402.
  125. Smith, 1997. p402
  126. Smith, 1997. 405
  127. Smith, 1997. p406
  128. Smith, 1997. p407
  129. Smith, 1997. p408
  130. Smith, 1997. p409
  131. 131.0 131.1 Smith, 1997. p412
  132. Smith, 1997. p412-413
  133. Smith, 1997. p418.
  134. Smith, 1997. p419
  135. Wallace, Robert. 1979. World War II: The Italian Campaign. New York: Time-Life Books. Pp. 36
  136. 136.0 136.1 136.2 136.3 Wallace, 1979. Pp. 36
  137. Wallace, 1979. Pp. 41-42
  138. Wallace, 1979. Pp. 45

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Ashley, Susan A. Making Liberalism Work: The Italian Experience, 1860–1914 (2003) excerpt and text search
  • Baran'ski, Zygmunt G. & Rebecca J. West (2001). The Cambridge companion to modern Italian culture, Cambridge: Cambridge University Press, ISBN 0-521-55034-3.
  • Barclay, Glen St. J. 1973. The Rise and Fall of the New Roman Empire. London: Sidgwick & Jackson.
  • Bosworth, Richard J. B. 1983. Italy and the Approach of the First World War. London: The Macmillan
  • Bosworth, Richard J. B. 2007. Mussolini's Italy: Life Under the Fascist Dictatorship, 1915–1945 excerpt and text search
  • Clark, Martin. 1996. Modern Italy: 1871–1995. (2nd ed. Longman)
  • Coppa, Frank J. (1970). "Economic and Ethical Liberalism in Conflict: The extraordinary liberalism of Giovanni Giolitti", Journal of Modern History (1970) 42#2 pp 191–215 JSTOR 1905941
  • Coppa, Frank J. (1971) Planning, Protectionism, and Politics in Liberal Italy: Economics and Politics in the Giolittian Age online edition[ลิงก์เสีย]
  • Davis, John A., ed. 2000, Italy in the Nineteenth Century: 1796–1900 Oxford University Press. online edition เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • de Grazia, Victoria. 1981. The Culture of Consent: Mass Organizations of Leisure in Fascist Italy.
  • de Grazia, Victoria. 1993. How Fascism Ruled Women: Italy, 1922–1945 excerpt and text search
  • De Grand, Alexander J. (2001). The hunchback's tailor: Giovanni Giolitti and liberal Italy from the challenge of mass politics to the rise of fascism, 1882–1922, Greenwood. online edition เก็บถาวร 2008-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; excerpt and text search
  • Duggan, Christopher (2008). The Force of Destiny: A History of Italy Since 1796, Houghton Mifflin Harcourt, text search
  • Gentile, Emilio. 2003. The Struggle For Modernity: Nationalism, Futurism and Fascism. Westport, CT: Praeger.
  • Gilmour, David. 2011. The Pursuit of Italy: A History of a Land, Its Regions, and Their Peoples excerpt and text search
  • Hughes, Robert. 2011. Rome: A Cultural, Visual, and Personal History
  • Kertzer, David I. (2014). The Pope and Mussolini: The Secret History of Pius XI and the Rise of Fascism in Europe. Oxford University Press. ISBN 9780198716167.
  • Killinger, Charles L. (2002). The history of Italy, Westport (CT): Greenwood Press, text search
  • Manenti, Luca G. (2013), «Evviva Umberto, Margherita, l'Italia, Roma!». L'irredentismo triestino e Casa Savoia, in Diacronie. Studi di Storia Contemporanea, n. 16, 8/ «Evviva Umberto, Margherita, l’Italia, Roma!». L’irredentismo triestino e Casa Savoia
  • Pauley, Bruce F. 2003. Hitler, Stalin, and Mussolini: Totalitarianism in the Twentieth Century. Wheeling: Harlan Davidson
  • Pollard, John F. 1985. The Vatican and Italian Fascism, 1929–32. Cambridge, USA: Cambridge University Press.
  • Salomone, A. William. 1945. Italy in the Giolittian Era: Italian Democracy in the Making, 1900–1914
  • Sarti, Roland (2004). Italy: A Reference Guide from the Renaissance to the Present, New York: Facts on File text search
  • Sarti, Roland. 1974. The Ax Within: Italian Fascism in Action. New York: New Viewpoints.
  • Seton-Watson, Christopher (1967). Italy from Liberalism to Fascism, 1870–1925, New York: Taylor & Francis, text search
  • Smith, Denis Mack. 1997. Modern Italy; A Political History. Ann Arbor: The University of Michigan Press.
  • Thayer, John A. 1964. Italy and the Great War. Madison and Milwaukee: University of Wisconsin Press.

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

[แก้]
  • Albanese, Giulia. "Reconsidering the March on Rome," European History Quarterly (2012) 42#3 pp 403–421.
  • Ferrari, Paolo. "The Memory And Historiography Of The First World War In Italy" Comillas Journal of International Relations (2015) #2 pp 117–126 ISSN 2386-5776 doi:10.14422/cir.i02.y2015.009
  • Keserich, Charles. "The Fiftieth Year of the" March on Rome": Recent Interpretations of Fascism." History Teacher (1972) 6#1 pp: 135–142 JSTOR 492632.
  • Pergher, Roberta. "An Italian War? War and Nation in the Italian Historiography of the First World War" Journal of Modern History (Dec 2018) 90#4
  • Renzi, William A. In the Shadow of the Sword: Italy's Neutrality and Entrance Into the Great War, 1914–1915 (1987).

ข้อมูลปฐมภูมิ

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]