กัลเลรีอาวิตโตรีโยเอมานูเอเลเซคอนโด

พิกัด: 45°27′56″N 9°11′24″E / 45.46556°N 9.19000°E / 45.46556; 9.19000
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กัลเลรีอาวิตโตรีโยเอมานูเอเลเซคอนโด
แผนที่
ที่ตั้งมิลาน ประเทศอิตาลี
พิกัด45°27′56″N 9°11′24″E / 45.46556°N 9.19000°E / 45.46556; 9.19000
เปิดให้บริการพ.ศ. 2420
เจ้าของเมืองมิลาน
สถาปนิกจูเซปเป เมนโกนี
ขนส่งมวลชน ดูโอโม
มุมจากพื้นในช่วงคริสต์มาสปี พ.ศ. 2552
ด้านในกัลเลรีอาวิตโตรีโยเอมานูเอเลเซคอนโด ช่วงปี ค.ศ. 1880

กัลเลรีอาวิตโตรีโยเอมานูเอเลเซคอนโด (อิตาลี: Galleria Vittorio Emanuele II) เป็นหนึ่งในศูนย์การค้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีลักษณะเป็นทางเดินและอาคารขนาบ 4 ชั้น คลุมด้วยหลังคาทรงโค้ง ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ศูนย์การค้าแห่งนี้ตั้งชื่อตามพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 แห่งอิตาลี กษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี โดยได้รับการออกแบบในปี พ.ศ. 2404 และสร้างโดยจูเซปเป เมนโกนี ในช่วงปี พ.ศ. 2408 ถึงปี พ.ศ. 2420

สถาปัตยกรรม[แก้]

โครงสร้างหลักนั้นประกอบไปด้วยทางเดินที่มีช่องโค้ง 2 ทางเดินซึ่งตัดกันตรงพื้นที่รูปแปดเหลี่ยม โดยตั้งอยู่บนถนนที่เชื่อมระหว่างปียัซซาเดลดูโอโมจนถึงปียัซซาเดลลาสกาลา ถนนนี้ถูกปิดด้วยกระจกและหลังคาที่เป็นเหล็กหล่อซึ่งเป็นการออกแบบทางเดินที่มีช่องโค้งยอดนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเช่นเบอร์ลิงตันอาร์เคดในลอนดอน ซึ่งเป็นต้นแบบของศูนย์การค้าที่มีหลังคาเป็นกระจกขนาดใหญ่กว่า เริ่มด้วยกาลรีแซ็ง-อูว์แบร์ในบรัสเซลส์ (เปิดในปี พ.ศ. 2390), เดอะแพสซิจในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เปิดในปี พ.ศ. 2391), กัลเลรีอาอุมแบร์โตปรีโมในเนเปิลส์ (เปิดในปี พ.ศ. 2433) และบูดาเปสต์แกลละรีอา

โดยจุดกึ่งกลางของพื้นที่รูปแปดเหลี่ยมนั้นจะเป็นโดมกระจก ซึ่งกัลเลรีอาของมิลานมีอัตราส่วนที่ใหญ่กว่าศูนย์การค้าที่สร้างก่อนหน้า และเป็นก้าวสำคัญสำหรับวิวัฒนาการการสร้างศูนย์การค้าที่มีหลังคากระจกในยุคใหม่ซึ่งมีกัลเลรีอาแห่งนี้เป็นต้นแบบโดยตรง

บนพื้นตรงกลางของรูปแปดเหลี่ยม มีงานโมเสก 4 ชิ้น ทำเป็นรูปตราอาร์มของเมืองหลวงทั้ง 3 แห่งของราชอาณาจักรอิตาลี (ตูริน, ฟลอเรนซ์, โรม) ส่วนชิ้นที่สี่นั้นก็คือตราอาร์มของเมืองมิลานที่ตั้งของกัลเลรีอาแห่งนี้ มีความเชื่อที่ว่าหากสามารถหมุนตัวด้วยส้นเท้าตรงอวัยวะเพศของวัวกระทิง (ในตราอาร์มของเมืองตูริน) ได้ 3 ครั้ง จะทำให้โชคดี แต่การกระทำนี้ทำให้เกิดความเสียหายกับงานโมเสก

กัลเลรีอานั้นเชื่อมต่อระหว่างสถานที่สำคัญ 2 แห่งของเมืองมิลาน คือ โบสถ์มิลาน (ดูโอโม) และโรงอุปรากรลาสกาลา อย่างไรก็ตาม กัลเลรีอาก็เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งเช่นกัน

ร้านค้า[แก้]

บ่อยครั้งที่กัลเลรีอานี้ถูกเรียกว่า il salotto di Milano ("เสวนาสโมสรแห่งมิลาน") เนื่องจากมีร้านค้าจำนวนมากและมีความสำคัญในฐานะสถานที่พบปะพูดคุยและรับประทานอาหารค่ำของชาวมิลาน[1]

ในปี พ.ศ. 2555 แมคโดนัลด์ถูกห้ามไม่ให้ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ หลังจากได้เปิดร้านมาถึง 20 ปี[2][3] ทางบริษัทโต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เช่าเพียงรายเดียวที่ไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการเช่าก่อนสำหรับการให้เช่าครั้งใหม่[3] และกล่าวว่า การประมูลสาธารณะเพื่อหาผู้เช่ารายใหม่มาแทนนั้น "ไม่เป็นธรรม"[2][3] แมคโดนัลด์ได้ยื่นฟ้องต่อเมืองมิลานเจ้าของที่และเรียกค่าเสียหาย 24 ล้านยูโร[2][3] โดยระบุว่าการไม่ยอมต่อสัญญาเช่าทำให้แมคโดนัลด์สูญเสียรายได้ไป 6 ล้านยูโรต่อปี ในช่วง 2-3 ชั่วโมงสุดท้ายที่เปิดทำการ ทางร้านได้บริการอาหารและเครื่องดื่มฟรีแก่ลูกค้า 5,000 ราย[2][3] หลังจากนั้น พื้นที่ส่วนนั้นถูกแทนที่ด้วยปราดา ร้านค้าแฟชั่นชื่อดัง ซึ่งเป็นร้านแห่งที่ 2 ในกัลเลรีอาด้วย ต่อมาแมคโดนัลด์ได้ถอนคำฟ้องหลังจากได้รับโอกาสให้เปิดร้านใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียง

ในปี พ.ศ. 2556 กัลเลรีอาแห่งนี้มีทั้งร้านขายเสื้อผ้าชั้นสูง (haute couture) ร้านเครื่องเพชรพลอย ร้านขายหนังสือและภาพเขียน รวมไปถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ ร้านบางร้านยังเป็นหนึ่งในบรรดาร้านค้าและร้านอาหารที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองมิลานด้วย เช่น บิฟฟีคัฟแฟะ (เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยปาโอโล บิฟฟี พ่อครัวทำขนมที่ทำขนมถวายกษัตริย์),[4][5][6] ภัตตาคารซาวานี, บาร์คัมปารีโนอินกัลเลรีอา เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Insight Guides (2004) p.220.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Masoni, Danilo (October 16, 2012), Hill, Gary (บ.ก.), "McDonald's sues Milan over eviction from Galleria", Reuters website (U.S. ed.), New York, NY, U.S.A.: Reuters, OCLC 557213585, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-18, สืบค้นเมื่อ October 18, 2012, McDonald's has sued the city of Milan for 24 million euros in damages over being kicked out of a tourist-packed shopping arcade, the Galleria Vittorio Emanuele II, after the U.S. fastfood chain had rented the space for 20 years.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Sylvers, Eric (October 16, 2012), "McDonald's sues over Milan eviction", Financial Times website (International ed.), London, England, U.K.: Financial Times Limited, OCLC 60638918, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-18, สืบค้นเมื่อ October 18, 2012, After 20 years of serving burgers and chips in Milan’s plush 19th century Galleria Vittorio Emanuele II shopping arcade next to the likes of Louis Vuitton, Prada and Gucci, McDonald’s has been booted out to make way for another Prada store.
  4. ‘Gran Caffè Biffi’ เก็บถาวร 2022-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Luigi’s Mailorder.
  5. ‘Il Biffi’ เก็บถาวร 2010-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Biffi in Galleria.
  6. ‘I Bar Storici Di Milano’ เก็บถาวร 2012-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, cookaround.com.