ข้ามไปเนื้อหา

ฮวนห้อม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮวนห้อม (หฺวาน ฟ่าน)
桓範
เสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 (5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249)
กษัตริย์โจฮอง
เจ้ามณฑลกิจิ๋ว (冀州牧 จี้โจวมู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว
(兗州刺史 เหยี่ยนโจวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ขุนพลราชองครักษ์ตะวันออก
(東中郎將 ตงจงหลางเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ขุนพลโจมตีเชลยศึก
(征虜將軍 เจิงหลู่เจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอซุยซี มณฑลอานฮุย
เสียชีวิต9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 249[a]
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
อาชีพขุนนาง, ขุนพล
ชื่อรองยฺเหวียนเจ๋อ (元則)
ฉายา"ถุงปัญญา" (智囊 จื้อหนาง)

ฮวนห้อม (เสียชีวิต 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หฺวาน ฟ่าน (จีน: 桓範; พินอิน: Huán Fàn) ชื่อรอง ยฺเหวียนเจ๋อ (จีน: 元則; พินอิน: Yuánzé) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ

[แก้]

ฮวนห้อมเป็นชาวเมืองไพก๊ก (沛國 เพ่ย์กั๋ว) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอซุยซี มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน ฮวนห้อมเริ่มรับราชการในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในฐานะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในสำนักของอัครมหาเสนาบดีซึ่งเป็นตำแหน่งของโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจราชสำนักส่วนกลางและคุมองค์พระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิหุ่นเชิดในเวลานั้น[2] ในช่วงต้นปี ค.ศ. 220 ฮวนห้อมได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าฝ่ายซ้าย (左監 จั่วเจียน) ของหน่วยราชองครักษ์ยฺหวี่หลิน (羽林; มีความหมายว่า "ป่าขนนก")[3] ต่อมาในปีเดียวกัน โจผีบุตรชายของโจโฉชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้และก่อตั้งรัฐวุยก๊กโดยตัวโจผีขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ โจผีมอบหมายให้ฮวนห้อม, หวาง เซี่ยง (王象) และเล่าเซียวให้รับผิดชอบในการเขียนตำราหฺวางหล่าน (皇覽)[4]

ในรัชสมัยของโจยอย (ครองราชย์ ค.ศ. 226-239) จักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 2 ฮวนห้อมรับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) และผู้บัญชาการทหารกลาง (中領軍 จงหลิ่งจฺวิน) ภายหลังได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลราชองครักษ์ตะวันออก (東中郎將 ตงจงหลางเจี้ยง) และขุนพลโจมตีเชลยศึก (征虜將軍 เจิงหลู่เจียงจฺวิน) ได้รับพระราชทานอาญาสิทธิ์ รับผิดชอบดูแลราชการทหารในมณฑลเฉงจิ๋วและชีจิ๋ว[5] ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ฮวนห้อมเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับเจิ้ง ฉี่ (鄭歧) ข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลชีจิ๋ว ฮวนห้อมพยายามใช้อำนาจของตนในการประหารชีวิตเจิ้ง ฉี่ แต่เจิ้ง ฉี่ส่งรายงานฟ้องฮวนห้อมต่อราชสำนักเสียก่อน ทำให้ฮวนห้อมถูกปลดจากตำแหน่ง[6] แต่ต่อมาไม่นาน ฮวนห้อมก็ได้รับการเรียกตัวกลับไปรับราชการในราชสำนักวุยก๊ก เริ่มจากตำแหน่งข้าหลวงของมณฑลกุนจิ๋ว ภายหลังได้เป็นเจ้ามณฑลกิจิ๋ว[7] เมื่อฮวนห้อมเห็นว่าลฺหวี่ เจา (呂昭) ซึ่งมามีตำแหน่งทางราชการสูงกว่าตนแม้ว่าจะเริ่มรับราชการกับวุยก๊กหลังฮวนห้อมก็ตาม ฮวนห้อมก็รู้สึกไม่พอใจ จึงอ้างว่าป่วยกลับไปอยู่บ้าน[8]

ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (ค.ศ. 240–249) ในรัชสมัยของโจฮองจักรพรรดิวุยก๊กลำดับที่ 3 ฮวนห้อมได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเสนาบดีพระคลัง (大司農 ต้าซือหนง)[9] และขึ้นมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์และมัธยัสถ์ และถูกเรียกขานด้วยฉายานามว่า "ถุงปัญญา" (智囊 จื้อหนาง) โจซองขุนพลผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของจักรพรรดิโจฮองปฏิบัติต่อฮวนห้อมด้วยความจริงใจและความนับถือ แต่ไม่สนิทใกล้ชิด ในช่วงที่โจซองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โจซองและเหล่าน้องชายมักออกเดินทางท่องเที่ยวเพราะเชื่อมั่นว่าไม่มีใครเป็นภัยคุกคามต่อตน ฮวนห้อมพยายามแนะนำให้โจซองและน้องชายระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่โจซองและน้องชายก็เพิกเฉิยต่อคำของฮวนห้อม

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249[b] โจซองและเหล่าน้องชายตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองออกจากนครหลวงลกเอี๋ยงไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิง) ระหว่างที่โจซองไม่อยู่ในนครหลวง สุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับโจซองได้ถือโอกาสนี้ก่อการรัฐประหารต่อโจซองในลกเอี๋ยง สุมาอี้สั่งให้ปิดประตูนครลกเอี๋ยงทั้งหมด และมีพระราชเสาวนีย์ในพระนามของกวยทายเฮาถึงฮวนห้อมให้เข้าควบคุมกำลังทหารของโจอี้ (曹羲 เฉา ซี) น้องชายของโจซอง ขณะที่ฮวนห้อมกำลังจะปฏิบัติตามพระราชเสาวนีย์ บุตรชายของฮวนห้อมโน้มน้าวให้ฮวนห้อมไปเข้าด้วยกับโจซองแทน เพราะโจซองมีจักรพรรดิโจฮองอยู่ด้วยจึงมีข้อได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าสุมาอี้ ฮวนห้อมเห็นด้วยจึงมุ่งหน้าไปยังสุสานโกเบงเหลง โดยขัดกับคำแนะนำของผู้ใต้บังคับบัญชา ฮวนห้อมออกจากนครลกเอี๋ยงผ่านประตูผิงชาง (平昌門 ผิงชางเหมิน) เพราะสูหวน (司蕃 ซือ ฟาน) นายทหารผู้รักษาประตูเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฮวนห้อมมาก่อน และสูหวนเชื่อฮวนห้อมเมื่อฮวนห้อมอ้างว่าตนได้รับอนุญาตให้ออกนอกลกเอี๋ยงไป[11]

ฮวนห้อมพบกับโจซองและน้องชายที่สุสานโกเบงเหลง ฮวนห้อมโน้มน้าวให้นำเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปยังฮูโต๋ แล้วออกพระราชโองการในพระนามของจักรพรรดิประณามสุมาอี้ว่าเป็นกบฏ และเรียกกำลังทหารทั้งหมดในวุยก๊กเข้าโจมตีสุมาอี้ ฮวนห้อมยังรับรองกับโจซองและน้องชายว่าจะไม่ขาดเสบียงอาหารเพราะตัวฮวนห้อมในฐานะเสนาบดีพระคลังมีอำนาจเต็มที่ในการควบคุมการกระจายเสบียงอาหาร แต่ในที่สุดโจซองและน้องชายก็ตัดสินใจยอมจำนนต่อสุมาอี้หลังสุมาอี้ให้คำมั่นว่าพวกเขาและครอบครัวจะไม่เป็นอันตรายหากโจซองและน้องชายสละอำนาจให้สุมาอี้ เมื่อฮวนห้อมได้ยินเรื่องนี้ก็ร้องไห้ว่า "เหตุใดวีรบุรุษอย่างเฉา จื่อตาน[c]จึงมีสุกรและสุนัขอย่างพวกท่านเป็นบุตรชาย เหตุใดเขาคาดไม่ถึงเลยว่าวันหนึ่งตระกูลของเขาจะพินาศเพราะพวกท่าน!"[12] หลังจากกลับมาลกเอี๋ยง ฮวนห้อมก็ถูกจับกุมพร้อมกับโจซองและน้องชาย ถูกตั้งหากบฏ และถูกประหารชีวิตเพราะกับคนในครอบครัวที่เหลือ

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่า โจซองกับผู้มีส่วนร่วม ได้แก่ เตงปิด, เตงเหยียง, โฮอั๋น, ปิดห้วน, หลีเสง และฮวนห้อม ถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวในวันอู้ซฺวีของเดือน 1 ของศักราชเจียผิง ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮอง[1] ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 ตามปฏิทินกริกอเรียน
  2. วันเจี๋ยอู่ (甲午) ของเดือน 1 ในศักราชเจียผิงปีที่ 1 ตามพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4[10]
  3. หมายถึงโจจิ๋น (曹真 เฉา เจิน) บิดาของโจซอง "จื่อตาน" (子丹) เป็นชื่อรองของโจจิ๋น

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([嘉平元年春正月]戊戌,有司奏収黃門張當付廷尉,考實其辭,爽與謀不軌。又尚書丁謐、鄧颺、何晏、司隷校尉畢軌、荊州刺史李勝、大司農桓範皆與爽通姦謀,夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. (建安末,入丞相府。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  3. (延康中,爲羽林左監。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (以有文學,與王象等典集皇覽。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  5. (明帝時爲中領軍尚書,遷征虜將軍、東中郎將,使持節都督青、徐諸軍事,治下邳。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  6. (與徐州刺史鄭岐爭屋,引節欲斬岐,爲岐所奏,不直,坐免還。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  7. (復爲兖州刺吏,怏怏不得意。又聞當轉爲冀州牧。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  8. (是時冀州統屬鎮北,而鎮北將軍呂昭才實仕進,本在範後。範謂其妻仲長曰:「我寧作諸卿,向三公長跪耳,不能爲呂子展屈也。」其妻曰:「君前在東,坐欲擅斬徐州刺史,衆人謂君難爲作下,今復羞爲呂屈,是復難爲作上也。」範忿其言觸實,乃以刀環撞其腹。妻時懷孕,遂墮胎死。範亦竟稱疾,不赴冀州。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  9. (正始中拜大司農。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  10. (嘉平元年春正月甲午,車駕謁高平陵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  11. (及宣王起兵,閉城門,以範爲曉事,乃指召之,欲使領中領軍。範欲應召,而其子諫之,以車駕在外,不如南出。範疑有頃,兒又促之。範欲去而司農丞吏皆止範。範不從,乃突出至平昌城門,城門已閉。門候司蕃,故範舉吏也,範呼之,舉手中版以示之,矯曰:「有詔召我,卿促開門!」蕃欲求見詔書,範呵之,言「卿非我故吏邪,何以敢爾?」乃開之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  12. 爽旣罷兵,曰:「我不失作富家翁。」範哭曰:「曹子丹佳人,生汝兄弟,犢耳!何圖今日坐汝等族滅矣!」) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.

บรรณานุกรม

[แก้]