ข้ามไปเนื้อหา

อ้วนสุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ้วนสุด
ภาพวาดของอ้วนสุดยุค ราชวงศ์ชิง
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จง
เกิดพ.ศ. 698
ถึงแก่กรรมพ.ศ. 742
สถานที่ถึงแก่กรรมตำบลกังเต๋ง เมืองฉิวฉุน
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม袁術
อักษรจีนตัวย่อ袁术
ชื่อรองกงลู่
ยุคในประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก
ชื่ออื่น ๆต๋องซือ

อ้วนสุด (อังกฤษ: Yuan Shu; จีนตัวย่อ: 袁术; จีนตัวเต็ม: 袁術; พินอิน: Yuán Shù) ชื่อรองว่า กงลู่ (ถึงแก่กรรมในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ค.ศ. 199[1])[2] เป็นขุนพลทหาร นักการเมือง และขุนศึกชาวจีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เขามีชื่อเสียงเลื่องลือในช่วงภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่นใน ค.ศ. 189[2] เขาได้ประกาศสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งจีน พระนามว่า พระเจ้าต๋องซือ ใน ค.ศ. 197 ภายใต้ราชวงศ์จงซื่อที่มีอายุสั้น สองปีก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรม

ช่วงชีวิต

[แก้]

ช่วงชีวิตแรก

[แก้]

อ้วนสุดเกิดในอำเภอยีเอ็ง(หรู่หยาง-汝陽縣) เมืองยีหลำ(หรู่หนาน) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอชางฉุ่ย มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ครอบครัวตระกูลของเขาเป็นกำลังที่สำคัญในราชการแผ่นดินฮั่นมานานกว่าสี่ชั่วอายุคน ได้สร้างสมาชิกจำนวนมากในตำแหน่งระดับสูงตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งก่อนคริสตกาล ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากอ้วนอัน(หยวนอัน) ซึ่งเข้ารับราชการในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นจาง อ้วนสุดเป็นบุตรชายของอ้วนฮอง(หยวนเฝิง-袁逢) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมโยธา และภรรยาเอกของเขา อ้วนสุดถูกอธิบายเป็นบางครั้งว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องที่อายุน้อยกว่า[3][4]ของขุนศึก อ้วนเสี้ยว แต่แท้จริงแล้ว เขาเป็นน้อยชายต่างมารดาของอ้วนเสี้ยวต่างหาก[a]

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม เขาได้มีชื่อเสียงในด้านเจ้าชู้และชอบออกไปล่าสัตว์กับสุนัขและนกเหยี่ยว ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบัณฑิตที่มีความกตัญญูและมีประวัติดีงามที่เรียกว่า เสี้ยวเหลียน ต่อมาเขากลายเป็นสมุหเทศาภิบาลแห่งเมืองโห้หลำ(เหอหนาน) และต่อจากนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพแห่งสำนักพระราชวังของกรมเสือไวทะยาน(虎賁中郎將)[2]

การทัพปราบตั๋งโต๊ะ (ค.ศ. 189-191)

[แก้]

ภายหลังจากการตายของแม่ทัพโฮจิ๋น(22 กันยายน ค.ศ. 189) อ้วนสุดในฐานะผู้บัญชาการกองทัพน้อยจักรวรรดิแห่งกรมเสือไวทะยาน นำกำลังคนบุกเข้าไปสังหารพวกสิบขันที เมื่อตั๋งโต๊ะเข้ายึดการควบคุมของรัฐบาลส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่น เขาต้องการที่จะแต่งตั้งอ้วนสุดให้เป็นแม่ทัพหลัง แต่ด้วยความกลัวที่มีต่อตั๋งโต๊ะ อ้วนสุดจึงหนีไปยังเมืองลำหยง(หนานหยาง)[5] ซึ่งเขาได้เข้าควบคุมภายหลังจากที่ซุนเกี๋ยนสังหารเจ้าเมืองนามว่า จางจึซ์[6]

อ้วนสุดได้เข้าร่วมการทัพต่อต้านตั๋งโต๊ะที่นำโดยอ้วนเสี้ยว เขาได้ร่วมมือกับซุนเกี๋ยน ซึ่งเขาได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการมณฑลแห่งอิจิ๋ว[7] ซุนเกี๋ยนประสบความสำเร็จในการเอาชนะและสังหารแม่ทัพของตั๋งโต๊ะนามว่า ฮัวหยง(ค.ศ. 191)[8] แต่อ้วนสุดเริ่มรู้สึกหวาดระแวงว่าซุนเกี๋ยนจะมีผลงานที่ประสบความสำเร็จมากเกินไปและไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งของเขาอีกต่อไป และแอบไม่ยอมส่งเสบียงอาหารเป็นการชั่วคราวไปให้ซุนเกี๋ยนเพื่อเป็นการขัดขวางการรุกคืบของเขา เมื่อช่วงเวลาที่ซุนเกี๋ยนได้เดินทางมาถึงเมืองลกเอี๊ยง(ลั่วหยาง) ได้ถูกเผาทำลายโดยตั๋งโต๊ะ ซึ่งกองกำลังของเขาได้หนีไปทางตะวันตกสู่เมืองฉางอัน พร้อมทั้งพาจักรพรรดิไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทหารของเขาได้พบตราหยกแผ่นดิน ซึ่งซุนเกี๋ยนได้นำไปมอบให้กับอ้วนสุด ผู้บังคับบัญชาของเขา[9]

ปกครองในเมืองลำหยงและตันหลิว (ค.ศ. 190-193)

[แก้]

การปกครองของอ้วนสุดนั้นในเมืองลำหยงนั้นคอยแต่จะกดขี่ข่มเหง[10] ภายหลังจากการแตกแยกของแนวร่วมพันธมิตรต่อต้านตั๋งโต๊ะใน ค.ศ. 191 เขาได้แก่งแย่งชิงอำนาจกับอ้วนเสี้ยวเพื่อควบคุมภาคเหนือของจีน โดยแต่ละฝ่ายได้จัดตั้งพันธมิตรที่เป็นคู่ปรับกัน อ้วนสุดได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกองซุนจ้าน คู่ปรับทางเหนือของอ้วนเสี้ยว และอ้วนเสี้ยวได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียว คู่ปรับทางใต้ของอ้วนสุด[11] อ้วนสุดจึงส่งซุนเกี๋ยนไปโจมตีเล่าเปียว แต่ขุนพลของเขากลับถูกฆ่าตายในยุทธการที่ซงหยง(ค.ศ. 191) ซุนเปิน หลานชายของซุนเกี๋ยนได้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาในฐานะขุนพลทหารของอ้วนสุดและผู้ตรวจราชการมณฑลแห่งอิจิ๋ว ภายหลังจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้และด้วยความไม่เป็นที่นิยมของเขาเนื่องจากระบอบการปกครองที่ฟุ่มเฟือยของเขาในเมืองลำหยง อ้วนสุดได้ย้ายที่พำนักของเขาไปยังเมืองตันหลิว(เฉินหลิว) และขยายอิทธิพลไปยังแคว้นเองจิ๋วใน ค.ศ. 192[12]

ขุนศึกในอำเภอฉิวฉุน (ค.ศ. 193-197)

[แก้]

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 193 อ้วนสุดได้ประสบความพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น ยุทธการที่เฟิงชิว โดยกองทัพผสมของโจโฉและอ้วนเสี้ยว[13] เขาได้หนีไปยังอำเภอฉิวฉุนในเมืองกิวกั๋ง(จิ่วเจียง) บนชายฝั่งทางใต้ของแม่น้ำหวง จากกองบัญชาการแห่งใหม่ของเขา เขาได้สร้างรัฐขุนศึกที่ทรงอำนาจ เขาได้ปลดผู้ตรวจราชการมณฑลแห่งเองจิ๋วนามว่า เฉินเหวิน และเข้ารับตำแหน่งด้วยตัวเอง โดยยังกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ครองแคว้นชีจิ๋ว[14]

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 194 ถึงต้นปี ค.ศ. 197 ซุนเซ็ก บุตรชายของซุนเกี๋ยนและน้องชายภรรยาของเขานามว่า งอเก๋ง ได้พิชิตดินแดนต่าง ๆ หลายแห่งในกังตั๋ง(เจียงตุง)ในนามของอ้วนสุด เขาไม่ค่อยที่จะประสบความสำเร็จในการขยายการปกครองในแคว้นชีจิ๋ว ซึ่งเขาต้องต่อสู้รบกับเล่าปี่และลิโป้ ซึ่งฝ่ายหลังได้จับมือกับอ้วนสุดในช่วงเวลาสั้นใน ค.ศ. 196 แต่ก็ต้องทรยศหักหลังเขาอีกครั้งและขับไล่เขาให้กลับไปยังอำเภอฉิวฉุน[15]

จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จงซื่อ (ค.ศ. 197-199)

[แก้]

อ้วนสุดได้ประกาศสถาปนาตั้งตนเป็นจักรพรรดิภายใต้ราชวงศ์จงซื่อ(仲氏) ที่มีอายุสั้นในช่วงต้นปี ค.ศ. 197[16] โดยอ้างถึงความเชื่อคำทำนายเป็นเหตุผลของเขา รวมถึงตัวอักษรจีนสำหรับชื่อของเขาคำว่า สุด(ชู่) และชื่อรองว่า กงลู่ และการครอบครองตราหยกแผ่นดินซึ่งซุนเกี่ยนผู้ล่วงลับได้มอบให้แก่เขา การกระทำที่บ้าบิ่นนี้ทำให้เขาได้ตกเป็นเป้าของขุนศึกคนอื่น ๆ วิถีชีวิตที่ฟุ่มเฟือยและความหยิ่งจองหองของเขาทำให้เหล่าผู้ติดตามของเขาหลายคนต่างพากันตีจากเขาไป ด้วยความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการตีจากไปและการแปรพักตร์ ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งอ้วนสุดเป็นการส่วนตัวและต่อความแข็งแกร่งของกองทัพของเขา โดยซุนเซ็กซึ่งได้พิชิตดินแดนส่วนใหญ่ของกังตั๋งภายใต้ธงของอ้วนสุด ภายหลังจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบโดยกองทัพผสมของโจโฉ เล่าปี่ และลิโป้ อ้วนสุดได้พยายามหลบหนีไปทางเหนือเพื่อเข้าร่วมกับอ้วนเสี้ยว อ้วนเสี้ยวได้ส่งบุตรชายคนโตนามว่า อ้วนถำ เพื่อพยายามช่วยเหลืออ้วนสุด แต่อย่างไรก็ตาม พันธมิตรระหว่างสองพี่น้องตระกูลที่เกลียดชังกันมานานจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากอ้วนถำมาช้าเกินไป และกองกำลังของอ้วนสุดถูกขัดขวางและบีบบังคับให้ล่าถอยกลับไปยังอำเภอฉิวฉุนโดยเล่าปี่[17] ภายหลังจากนั้นได้ไม่นาน เขาได้เสียชีวิตลงด้วยความอดอยาก ไม่สามารถกลืนอาหารหยาบที่ทหารของเขากินได้ คำขอครั้งสุดท้ายของเขาคือขอน้ำผสมน้ำผึ้งมาดื่มแก้กระหาย ซึ่งทหารของเขากลับไม่มีเลย[18]

ครอบครัวตระกูล

[แก้]
  • ปู่: อ้วนถัง หรือ หยวนทาง (袁湯)
  • บิดา: อ้วนฮอง หรือ หยวนเฝิง (袁逢)
  • พี่น้อง:
  • ลูกพี่ลูกน้อง:
    • อ้วนอุ๋ย หรือ หยวนอี๋, ลูกพี่ลูกน้องคนโต
    • อ้วนอิ๋น หรือ หยวนอิ๋น (袁胤), ลูกพี่ลูกน้องคนเล็ก
  • คู่ครอง: เฝิงซื่อ (馮氏), บุตรสาวของเฝิงฝาง (馮方)
  • บุตร:
    • หยวนเหย้า (袁耀), บุตรชาย.ภายหลังจากอ้วนสุดถึงแก่กรรม, หยวนเหย้าและครอบครัวของเขาได้หนีไปยังเมืองโลกั๋ง(ลู่เจียง) เพื่อเข้าร่วมกับขุนศึกน้อยนามว่า เล่าชุน ภายหลังซุนเซ็กได้เอาชนะเล่าชุนและพิชิตเมืองโลกั๋ง หยวนเหย้าถูกจับกุมและในท้ายที่สุดได้ทำงานในฐานะขุนนางแห่งสำนักพระราชวัง (郎中) ในรัฐง่อก๊กของซุนกวน(น้องชายของซุนเซ็ก). บุตรสาวของหยวนเหย้าได้แต่งงานกับซุนเฟิน(孫奮), บุตรชายคนที่ห้าของซุนกวน
    • อ้วนฮูหยิน (袁夫人), บุตรสาว, ชื่อไม่อาจระบุได้, กลายเป็นหนึ่งในอนุภรรยาของซุนกวน ภายหลังจากนางและพี่ชายของนางถูกจับกุม นางเป็นที่รู้จักในด้านอุปนิสัยที่ดีแต่ไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ซุนกวนได้ปล่อยให้นางเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากอนุภรรยาคนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม บุตรทั้งหมดที่นางเลี้ยงต่างเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อปู้ฮูหยินสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 238 ซุนกวนต้องการที่จะแต่งตั้งอ้วนฮูหยินให้เป็นฮองเฮา แต่อ้วนฮูหยินได้ปฏิเสธพร้อมให้เหตุผลว่านางไม่มีบุตร
    • อ้วนฮูหยินคนที่สอง (袁夫人), บุตรสาว, ชื่อไม่อาจระบุได้, ซึ่งแต่งงานกับ Huang Yi (黃猗)
  • ญาติ:
    • อ้วนหงุย หรือ หยวนเว่ย (袁隗), อา
    • Yang Biao (楊彪), brother-in-law
    • He Kui (何夔), distant cousin

อ้างอิง

[แก้]
  1. According to Yuan Shu's biography in Book of the Later Han, he died in the 6th month of Jian'an 4, during the reign of the Xian Emperor. This corresponds to 11 July to 9 August 199 on the proleptic Gregorian calendar. ((建安四年)六月,至江亭。...因愤慨结病,欧血死。) Book of the Later Han, vol. 75
  2. 2.0 2.1 2.2 de Crespigny (2007), p. 1011.
  3. (绍之从弟也) Sanguozhi vol. 6.
  4. Houhanshu vols. 74–75.
  5. (董卓之将废帝,以术为后将军;术亦畏卓之祸,出奔南阳。) Sanguozhi vol. 6.
  6. (会长沙太守孙坚杀南阳太守张咨,术得据其郡。) Sanguozhi vol. 6.
  7. de Crespigny (2006), 769.
  8. de Crespigny (2006), 333.
  9. de Crespigny (2006), 769.
  10. (南阳户口数百万,而术奢淫肆欲,徵敛无度,百姓苦之) Sanguozhi vol. 6.
  11. (既与绍有隙,又与刘表不平而北连公孙瓚;绍与瓚不和而南连刘表。) Sanguozhi vol. 6.
  12. de Crespigny (2007), 1012.
  13. de Crespigny (2007), pp. 36.
  14. de Crespigny (2007), 1012.
  15. de Crespigny (2007), 1012.
  16. Spring (1st to 3rd month) of Jian'an 2, per the Xian Emperor's biography in the Book of the Later Han. The period corresponds to 5 Feb to 4 May 197 in the Julian calendar.
  17. (术因欲北至青州从袁谭,曹操使刘备徼之,不得过,复走还寿春。) Houhanshu, vol.75
  18. (将归帝号於绍,欲至青州从袁谭,发病道死。) Sanguozhi vol. 6.

สิ่งที่เกี่ยวข้อง

[แก้]


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน