ข้ามไปเนื้อหา

พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระประศาสน์พิทยายุทธ)
พระประศาสน์พิทยายุทธ
(วัน ชูถิ่น)
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณนิติธาดา
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ประธานพระยามโนปกรณนิติธาดา
เอกอัครราชทูตสยามประจำไรช์เยอรมัน
ดำรงตำแหน่ง
7 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 30 เมษายน พ.ศ. 2488
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 มิถุนายน พ.ศ. 2437
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 (55 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองคณะราษฎร
คู่สมรสเนาว์ ประศาสน์พิทยายุทธ
บุตร2 คน

พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ นามเดิม วัน ชูถิ่น เป็นนายทหารชาวไทย และเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือที่ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

ประวัติ

[แก้]

พระประศาสน์พิทยายุทธ มีนามเดิมว่า วัน ชูถิ่น เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2437 ที่ข้างวัดรังษีสุทธาวาส (ต่อมารวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) เป็นบุตรชายของขุนสุภาไชย เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกในปี พ.ศ. 2451 และสำเร็จการศึกษาในพ.ศ. 2454 ต่อมาสอบได้เป็นที่ห้าในจำนวนนักเรียนทำการนายร้อยทั้งหมด 185 นาย ที่ทางกระทรวงกลาโหมจัดสอบเพื่อคัดเลือกตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เยอรมนี ซึ่งได้เดินทางไปเยอรมนีด้วยการโดยสารเรือพระที่นั่งจักรีตามเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จประพาสประเทศจีนและญี่ปุ่น แล้วเดินทางผ่านญี่ปุ่นไปต่อทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ไปยังกรุงมอสโก จักรวรรดิรัสเซีย แล้วต่อรถไฟไปยังกรุงเบอร์ลิน จักรวรรดิเยอรมัน ใช้ระยะเวลาเดินทางหลายสัปดาห์[1]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ร้อยตรีวันได้ลี้ภัยสงครามไปศึกษาวิชาทหารที่วิทยาลัยโปลิเทคนิคนครซือริช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ทหารเรียนร่วมกับพลเรือน เขาระบุถึงข้อดีถึงระบบดังกล่าวไว้ว่า "...ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น นายทหารเขาเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้นายทหารเป็นคนมีความรู้กว้างขวาง รู้เท่าทันความรู้สึกของนักศึกษาชั้นสูงๆทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยของยุโรปนั้นคือสถานศึกษาใหญ่โตปานเมืองๆหนึ่งทีเดียว มีคนที่มีความรู้สูงสุด สมาคมกันอยู่ทั่วทุกสาขาวิชา ไม่ใช่ใจแคบรู้แต่ในแนวของตนอย่างดื้อดึงจนรักษาไม่หาย"[2] การไปอยู่สวิสทำให้วันเกิดความสนใจและชื่นชอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เขาคิดว่าประเทศเล็กๆอย่างสยามควรจะเอาสวิสเป็นแบบอย่าง[2] ต่อมาเมื่อรัฐบาลสยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมัน ร้อยตรีวันสมัครเข้าร่วมคณะทูตทหารทันทีที่เรียกว่า "กองทูตศึกสัมพันธมิตร" นำโดยพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ[3] และปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ทหารอาสากลับประเทศ

ราชการทหาร

[แก้]

ภายหลังเดินทางกลับสยามเมื่อพ.ศ. 2464 วันปฏิบัติงานในสายงานอาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบกและกรมยุทธศึกษาจนถึงพ.ศ. 2469 และได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบกในปีพ.ศ. 2474 ในปีนั้นเอง พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธถูกพันเอกพระยาทรงสุรเดช ชักชวนให้ร่วมก่อการปฏิวัติ พระประศาสน์พิทยายุทธเคารพนับถือในตัวพระยาทรงสุรเดชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตกปากเข้าร่วมในทันที[4]

ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้เขียนจดหมายสั่งเสียแก่ภรรยา ก่อนออกจากบ้านของตัวเองมา โดยได้ขับรถไปรับพระยาพหลพลพยุหเสนาถึงบ้านพักไปยังตำบลนัดหมายที่บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ ห่างจากบ้านพระยาทรงสุรเดชราว 200 เมตร [5]พร้อมด้วยคีมตัดเหล็กที่พระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ซื้อมาเพื่อเตรียมการตัดโซ่ที่คล้องประตูคลังแสงภายในกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ สี่แยกเกียกกาย พร้อมด้วยพระยาทรงสุรเดช และพระยาพหลพลหยุหเสนา เพื่อหลอกเอากำลังพลทหารและยุทโธปกรณ์เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลานพระราชวังดุสิต

ขบวนทหารที่เคลื่อนกำลังไปลานพระราชวังดุสิตนั้นมีพระประศาสน์พิทยายุทธเป็นผู้ปิดท้าย จากนั้นเป็นผู้นำกำลังแวะเข้าควบคุมตัวสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตและนายทหารคนสนิทจากวังบางขุนพรหม พร้อมด้วยครอบครัวบริพัตร ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม[6] ซึ่งแผนการในการปฏิวัตินั้น นอกจากพระยาทรงสุรเดชจะเป็นผู้เดียวที่รับรู้แล้ว เนื่องจากเป็นผู้วางแผนทั้งหมด ก็มีเพียงพระประศาสน์พิทยายุทธ เท่านั้นที่พอทราบ เนื่องจากได้ร่วมวางแผนด้วยในบางส่วน[7] ซึ่งก่อนหน้านี้ พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ได้เดินทางมายังที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อดูสถานที่เพื่อเตรียมการไว้ก่อนแล้ว[8] [9]

ภายหลังการปฏิวัติ

[แก้]
พระประศาสน์พิทยายุทธ ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำเยอรมนี

หลังการปฏิวัติ พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการราษฎร ซึ่งจัดได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีคณะแรกของไทย ที่มีพระยามโนปกรณนิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 [10]

ภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศปิดรัฐสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางฉบับ ประกอบกับเกิดความแตกแยกกันเองในหมู่คณะราษฎร พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีที่ไม่ได้ประจำกระทรวง จนกระทั่งถึงวันที่ 18 มิถุนายน ปีเดียวกัน จึงได้ลาออกพร้อมกับอีกสองทหารเสือ คือ พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ ซึ่งเพียงไม่กี่วันหลังคณะทหารเสือลาออก ก็เกิดรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน [11]

หลังเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2481 พระประศาสน์พิทยายุทธได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตสยามประจำไรช์เยอรมัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2481[12] ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการลงเสนอของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นัยว่าเพื่อให้พ้นจากภัยการเมือง จึงย้ายไปอาศัยยังกรุงเบอร์ลิน พร้อมด้วยครอบครัว อันเป็นถิ่นเดิมที่เขาคุ้นเคยเป็นอย่างดีในสมัยที่เป็นนักเรียนนายร้อย

ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง เขาและครอบครัวความเป็นอยู่ลำบากอย่างยิ่งในเบอร์ลิน ละแวกของสถานทูตตกเป็นเป้าการทิ้งระเบิด บุตรสาวคนโตก็ป่วยและเสียชีวิตในสถานทูต จนต้องส่งภริยาและบุตรสาวที่เหลือกลับประเทศไทย พระประศาสน์พิทยายุทธในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำไรช์เยอรมัน เป็นบุคคลต่างชาติผู้เข้าคำนับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นบุคคลสุดท้ายในฟือเรอร์บุงเคอร์ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2488 ก่อนที่ฮิตเลอร์จะยิงตัวตายเพียงสิบวัน โดยได้ลงชื่อของตนในสมุดเยี่ยมของฮิตเลอร์ว่า "ประศาสน์ ชูถิ่น"[13] และเมื่อกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตบุกเข้ากรุงเบอร์ลิน พระประศาสน์พิทยายุทธถูกทหารโซเวียตควบคุมตัวไว้ในค่ายกักกันใกล้กรุงมอสโก ที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นถึง -40 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานถึง 225 วันจึงได้รับการปล่อยตัว[14]

เมื่อเดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว พระประศาสน์พิทยายุทธจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในบั้นปลายชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2490[15]ก่อนจะถึงแก่กรรมลงในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ด้วยโรคตับ เนื่องจากเป็นผู้ติดสุราและดื่มสุราจัด ถึงขนาดหมักผลไม้ไว้ในถังไม้ที่บ้านเพื่อผลิตสุราไว้ดื่มเอง โดยมียศสุดท้ายเป็น พลตรี (พล.ต.) รับพระราชทานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2486 [16]

ในส่วนชีวิตครอบครัว พระประศาสน์พิทยายุทธ สมรสกับ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) มีบุตรสาว 2 คน[17]

บรรณานุกรม

[แก้]
  • หนหวย, นาย (1987). เจ้าฟ้าประชาธิปก : ราชันผู้นิราศ. โอเดียนสโตร์.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. นายหนหวย, 2530: 413-414
  2. 2.0 2.1 พ.อ.(พิเศษ) สมพงศ์ พิศาลสารกิจ, เปิดบันทึกชีวติ ...พระประศาสน์พิทยายุทธกรุงเทพฯ: แพรว, 2545
  3. นายหนหวย, 2530: 14
  4. เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดชกรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535)
  5. ชะตาชาติ, "2475" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: 27 กรกฎาคม 2555
  6. ประวัติคอซูเจียงและและบรรพบุรุษ[ลิงก์เสีย]
  7. 24 มิถุนายน (1) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  8. 24 มิถุนายน (4) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  9. 24 มิถุนายน (5) โดยนรนิติ เศรษฐบุตร จากเดลินิวส์
  10. แจ้งความประธานคณะกรรมการราษฎร
  11. จากรัฐประหาร20มิถุนายน2476สู่ความร้าวฉานในคณะราษฎร จากโลกวันนี้
  12. ประกาศ ตั้งอัครราชทูตสยาม
  13. รู้จักคนไทยเจ้าของลายเซ็นสุดท้ายในสมุดเยี่ยมฮิตเลอร์ ก่อนที่จะยิงตัวตายเพียง 10 วัน[ลิงก์เสีย]
  14. ๒๒๕ วัน ในคุกรัสเซีย ของ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางประศาสน์พิทยายุทธ (เนาว์ ชูถิ่น) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร (พ.ศ. 2491)
  15. เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
  16. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  17. ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ทายาท ‘24 มิถุนา’ ตอน 2 จากประชาไท
  18. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๖๐, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๔
  19. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๕๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘๙๘, ๑ ตุลาคม ๒๔๘๓
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญที่ระลึก ราชการสงคราม ณ ทวีปยุโรป เก็บถาวร 2022-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๙, ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๒
  21. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๙๐, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๔