ข้ามไปเนื้อหา

กรมไปรษณีย์โทรเลข

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมไปรษณีย์โทรเลข
ตรากรมไปรษณีย์และโทรเลข
ภาพรวมหน่วยงาน
ยุบเลิก19 มกราคม พ.ศ. 2545; 22 ปีก่อน (2545-01-19)
หน่วยงานสืบทอด
ต้นสังกัดหน่วยงานกระทรวงคมนาคม (จนถึงปี พ.ศ. 2545)
เชิงอรรถ
สังกัด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในปี พ.ศ. 2545 ถึงปี พ.ศ. 2547

กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นส่วนราชการระดับกรมในอดีต สังกัดกระทรวงคมนาคม และยุบเลิกโดย พระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2545 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม เพื่อดูแลกิจการไปรษณีย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก และได้เปิดรับฝากส่งหนังสือ (จดหมาย) ในเขตพระนครและธนบุรีเป็นการทดลองเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ที่ทำการแห่งแรกตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า "ไปรษณียาคาร" ในวันเดียวกันยังมีการจัดตั้งกรมโทรเลข เพื่อดูแลกิจการโทรเลข ซึ่งเป็นการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นกิจการแรกของประเทศสยาม

ในปี พ.ศ. 2429 กรมโทรเลข (ซึ่งได้ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้) ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหมมาดำเนินการ และขยายบริการโดยเปิดให้ประชาชนได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในกรุงเทพและธนบุรีเป็นครั้งแรก

ในปี พ.ศ. 2441 ได้มีการยุบรวมกิจการกรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ใช้ชื่อใหม่ว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" โดยดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรศัพท์ และโทรเลข และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ได้รับโอนคลังออมสินจากกรมพระคลังมหาสมบัติ มาดำเนินการรับฝากเงินจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2472 และได้แยกคลังออมสินออกไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในชื่อ ธนาคารออมสิน ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490[1] และมีการโอนกิจการกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯ และธนบุรี ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2497

ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการและกิจการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ[2] เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ซึ่งต่อมาได้มีการแปรรูปเป็นบริษัท 2 บริษัท คือ ไปรษณีย์ไทย และ กสท โทรคมนาคม มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ภารกิจ

[แก้]

ภารกิจของกรมไปรษณีย์โทรเลข แบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่

  • ยุคแรก (พ.ศ. 2426 - พ.ศ. 2441) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ และบริการโทรศัพท์ในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี
  • ยุคที่สอง (พ.ศ. 2441 - พ.ศ. 2490) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ และคลังออมสิน
  • ยุคที่สาม (พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2520) มีหน้าที่ดำเนินกิจการไปรษณีย์ และโทรเลข ส่วนบริการโทรศัพท์ โอนกิจการไปเป็นรัฐวิสาหกิจ (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ต่อมาแปรรูปเป็นทีโอที ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน) และบริการคลังออมสิน โอนกิจการไปเป็นธนาคารออมสินตั้งแต่ พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน
  • ยุคที่สี่ (พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2546) มีหน้าที่ดำเนินกิจการวิทยุสมัครเล่น และการบริหารความถี่วิทยุ ส่วนบริการไปรษณีย์และโทรเลข โอนกิจการไปเป็นรัฐวิสาหกิจ (การสื่อสารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ต่อมาแยกกิจการไปรษณีย์ไปขึ้นกับไปรษณีย์ไทย และแยกกิจการโทรคมนาคมไปขึ้นกับกสท โทรคมนาคมตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน ส่วนบริการโทรเลข ซึ่งขึ้นกับ บจก.ไปรษณีย์ไทย ยกเลิกตั้งแต่ พ.ศ. 2551)

การยุบเลิก

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 โดยมีการโอนกิจการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กทช. ในขณะนั้น หรือสำนักงาน กสทช. ในปัจจุบัน) ยกเว้นกิจการไปรษณีย์ และเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนและค่าจ้างที่มีผู้ครอบครองอยู่ ให้โอนไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผลทำให้กรมไปรษณีย์โทรเลขต้องยุติการทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว[3]

ซึ่งการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้ยุติการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547[4]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชบัญญัติคลังออมสิน พุทธศักราช 2456
  2. พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519
  3. "พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-16.
  4. สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๗[ลิงก์เสีย]