ข้ามไปเนื้อหา

พรรคประชาชน (พ.ศ. 2567)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคประชาชน
People's Party
หัวหน้าณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
รองหัวหน้าศิริกัญญา ตันสกุล
เลขาธิการศรายุทธ ใจหลัก
เหรัญญิกชุติมา คชพันธ์
นายทะเบียนสมาชิกณัฐวุฒิ บัวประทุม
โฆษกพริษฐ์ วัชรสินธุ
กรรมการบริหารพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
ก่อตั้งพรรคถิ่นกาขาว
7 สิงหาคม พ.ศ. 2555
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
พรรคประชาชน
9 สิงหาคม พ.ศ. 2567
ก่อนหน้าพรรคก้าวไกล (โดยพฤตินัย)
สีสีส้ม
สภาผู้แทนราษฎร
142 / 500
เว็บไซต์
www.peoplespartythailand.org
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคประชาชน (อังกฤษ: People's Party; ชื่อย่อ: ปชช.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ. 2555 ในชื่อ พรรคถิ่นกาขาว และเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เมื่อ พ.ศ. 2561 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับอดีตสมาชิกจากพรรคก้าวไกลที่ถูกยุบจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2567 ปัจจุบันมีณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และศรายุทธ ใจหลัก เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตามลำดับ

ประวัติ

พรรคนี้ก่อตั้งขึ้นในชื่อ พรรคถิ่นกาขาว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นลำดับที่ 9/2555 โดยมี วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช และ อำไพ กาฬพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรกตามลำดับ โดยนโยบายสำคัญของพรรคถิ่นกาขาวคือ การบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมโดยการแปรสภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม

ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 วิบูลย์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเสียชีวิตลง ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลือพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ตราสัญลักษณ์ของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเดิม

ต่อมา มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล รวมถึงตราสัญลักษณ์พรรค และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จำนวน 25 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ชุมชฎาธาร หาญณรงค์ อดีตรองหัวหน้าพรรคถิ่นกาขาว และ จุฑามาศ ปลอดดี เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตามลำดับ[1]

พรรคประชาชน

ใน พ.ศ. 2567 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกลจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ในวันรุ่งขึ้น (8 สิงหาคม) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอดีตพรรคก้าวไกลที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้นได้ย้ายมาสมัครสมาชิกพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเกือบทั้งหมดตามการคาดการณ์ของสื่อมวลชน ยกเว้นจุลพงษ์ อยู่เกษ สส. บัญชีรายชื่อเพียง 1 คน[2] อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้นสื่อมวลชนคาดการณ์ไว้เบื้องต้นว่าเป็นศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล[3] แต่ต่อมามีผู้เสนอชื่อ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ อดีตรองเลขาธิการพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ทีมแกนนำยุทธศาสตร์จึงประชุมกันเป็นการเร่งด่วน ก่อนมีมติเลือกณัฐพงษ์ จากนั้นมีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ระหว่างศิริกัญญากับณัฐพงษ์ และที่ประชุมมีมติให้เลือกณัฐพงษ์เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[4] พร้อมกันนั้น ยังได้มีการหารือเปลี่ยนชื่อพรรคไปในคราวเดียวกัน[5]

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม มีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลที่อาคารไทยซัมมิท ซึ่งเป็นที่ทำการของพรรคอนาคตใหม่ในอดีต เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค โดยเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน ซึ่งถือเป็นการใช้ชื่อพรรคนี้เป็นครั้งที่ 5 ต่อจาก พ.ศ. 2490, พ.ศ. 2499, พ.ศ. 2531 และ พ.ศ. 2541[6] นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งปรับลงเหลือจำนวน 5 คน โดยนอกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 4 ตำแหน่ง คือ ศรายุทธ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในอดีต เพื่อนสนิทของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และชัยธวัช ตุลาธน เป็นเลขาธิการพรรค[7], ชุติมา คชพันธ์ เป็นเหรัญญิกพรรค, ณัฐวุฒิ บัวประทุม อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายกฎหมาย เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค และ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายกิจการสภา เป็นกรรมการบริหารพรรค[8] ขณะที่ตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย ศิริกัญญา เป็นรองหัวหน้าพรรค[9] และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นโฆษกพรรค

หลังการประชุมดังกล่าว ณัฐพงษ์กล่าวว่าพรรคจะสานต่อนโยบายของพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล ซึ่งรวมถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะที่รัดกุมมากขึ้น อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายชนะการเลือกตั้งทั่วไปและเป็นรัฐบาลพรรคเดียวภายในปี พ.ศ. 2570[10]

บุคลากร

หัวหน้าพรรค

ลำดับที่ รูปภาพ ชื่อ เริ่มดำรงตำแหน่ง สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
พรรคถิ่นกาขาว
1 วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เสียชีวิต
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
1 ชุมชฎาธาร หาญณรงค์ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เสียชีวิต
2 จุฑามาศ ปลอดดี 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 ลาออกจากตำแหน่ง
3 ลลิตา สิริพัชรนันท์ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 พ.ศ. 2567
4 ตุลย์ ตินตะโมระ 5 เมษายน พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567
พรรคประชาชน
1 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เลขาธิการพรรค

ลำดับที่ รูปภาพ ชื่อ เริ่มดำรงตำแหน่ง สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
พรรคถิ่นกาขาว
1 อำไพ กาฬพันธ์ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 หัวหน้าพรรคเสียชีวิต
พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล
1 จุฑามาศ ปลอดดี 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หัวหน้าพรรคเสียชีวิต
2 ชัยอนันต์ มานะกุล 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 หัวหน้าพรรคลาออกจากตำแหน่ง
3 รองรักษ์ บุญศิริ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 พ.ศ. 2567
4 กฤติน นิธิเบญญากร 5 เมษายน พ.ศ. 2567 พ.ศ. 2567
พรรคประชาชน
1 ศรายุทธ ใจหลัก 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 พรรคถิ่นกาขาวส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 4 คน แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกระบุให้เป็นโมฆะ[11]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 13 คน โดยในครั้งนี้พรรคได้รับความสนใจจากสื่อพอสมควรเนื่องจาก ลลิตา สิริพัชรนันท์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่าต้องการได้ที่นั่ง สส. ทั้งหมดจากชาวพุทธ 95% ในประเทศไทย[12][13]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "ประวัติ 'พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล' แว่วข่าวลือ สส. ก้าวไกลจะย้ายไปหลังถูกยุบพรรค". The Thaiger. 7 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "สุพิศาล รับ ณัฐพงศ์ นั่งหัวหน้าพรรค ส่วน ติ่ง สราวุธ เลขาธิการพรรค จับตา จุลพงษ์ อยู่เกษ ย้ายตามหรือไม่". อมรินทร์ทีวี. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "เปิดประวัติ "ถิ่นกาขาวชาววิไล" สะพัด เป็นพรรคชั่วคราวหาก "ก้าวไกล" ถูกยุบ". ไทยรัฐ. 2 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "เปิดตัว 'เท้ง' หัวหน้าพรรคคนใหม่ หลัง 'ก้าวไกล' ถูกยุบ เคาะชื่อพรรคใหม่ได้แล้ว". ข่าวสด. 8 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "พลิกโผ 'เท้ง ณัฐพงษ์' นั่งหัวหน้าพรรคส้มคนใหม่ เคาะชื่อพรรค "ประชาชน"". ผู้จัดการออนไลน์. 8 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "รังใหม่ก้าวไกล "พรรคประชาชน" พรรคเก่าในร่างใหม่". เดอะ เบทเทอร์. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "เคาะชื่อ "ศรายุทธ ใจหลัก" เป็นเลขาธิการพรรคส้มใหม่ "พรรคประชาชน"". ไทยรัฐ. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "เคาะแล้ว 5 กก.บห. พรรคประชาชน 'ณัฐพงษ์' นั่งหัวหน้าพรรค ศรายุทธ นั่งเลขาฯ ตามโผ". มติชน. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "'ศรายุทธ' เพื่อนซี้ 'ธนาธร' นั่งเลขาธิการพรรคใหม่ค่ายส้ม 'ศิริกัญญา' รั้งตำแหน่งเดิม". ไทยโพสต์. 9 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.
  10. ""ณัฐพงษ์" กร้าวนำทัพพรรคประชาชน ชนะเลือกตั้งปี 70 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว". Thai PBS.
  11. "ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคถิ่นกาขาว)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  12. "โหมแรงไฟ "ไหม ศิริกัญญา" เทกโอเวอร์ "ถิ่นกาขาว" กลัวหนอนมากกว่างูเห่า". คมชัดลึก. 2 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "พรรคถิ่นกาขาวฯ หวังได้เสียงชาวพุทธไทย 95% ดึงคนรุ่นใหม่กลับสู่พระพุทธศาสนา". มติชน. 4 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น