คณะก้าวหน้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะก้าวหน้า
ผู้ก่อตั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ปิยบุตร แสงกนกกุล
พรรณิการ์ วานิช
หัวหน้าธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
โฆษกพรรณิการ์ วานิช
ก่อตั้ง18 มีนาคม พ.ศ. 2563 (4 ปี)
ก่อนหน้าพรรคอนาคตใหม่
ที่ทำการ167 อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 5 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
อุดมการณ์พิพัฒนาการนิยม
ประชาธิปไตยสังคมนิยม
จุดยืนซ้ายกลาง
เว็บไซต์
progressivemovement.in.th
pgmf.in.th (มูลนิธิคณะก้าวหน้า)

คณะก้าวหน้า เป็นกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วานิช เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563 ภายหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ เดิมชื่อ คณะอนาคตใหม่[1] แต่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมาย

คณะกรรมการบริหาร[แก้]

กรรมการบริหารของคณะก้าวหน้า เดิมคือ 12 ใน 16 ของอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ดังต่อไปนี้

นโยบาย[แก้]

คณะก้าวหน้ามีภารกิจหลัก 3 ประการคือ

  1. การสร้างเครือข่ายทั่วประเทศไทย
  2. รณรงค์ทางความคิดทั่วประเทศไทย
  3. รณรงค์หาเสียงให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับทั่วประเทศไทย[2]

นอกจากนี้คณะก้าวหน้ายังรณรงค์อีก 12 ประการ ได้แก่

  • ปฏิรูปการศึกษา
  • รัฐสวัสดิการ
  • ปฏิรูปที่ดิน
  • ทลายทุนผูกขาด
  • สิ่งแวดล้อม
  • เกษตรก้าวหน้า
  • ปฏิรูปกองทัพ
  • ยุติรัฐราชการรวมศูนย์
  • ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  • ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
  • เศรษฐกิจก้าวหน้าและเป็นธรรม
  • การรณรงค์ให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ในฐานะที่เป็นฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน[2]

มูลนิธิคณะก้าวหน้า[แก้]

ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้ง มูลนิธิคณะก้าวหน้า[3] โดยมีสมาชิกดังต่อไปนี้

อันดับ ชื่อ ตำแหน่ง
1 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ
2 ชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานกรรมการ
3 พล.ท.พงศกร รอดชมภู
4 สุรชัย ศรีสารคาม
5 ปิยบุตร แสงกนกกุล กรรมการ
6 พรรณิการ์ วานิช
7 เดชรัต สุขกำเนิด
8 สุนทร บุญยอด
9 ชัน ภักดีศรี
10 เจนวิทย์ ไกรสินธุ์
11 ไกลก้อง ไวทยการ
12 เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการและเหรัญญิก
13 กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการและเลขานุการ

มูลนิธิคณะก้าวหน้ามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. ส่งเสริมการศึกษา วิจัย ด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่น ๆ
  2. ส่งเสริมการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย
  3. เผยแพร่ความรู้หรือผลงานการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ให้แพร่หลายแก่ประชาชน
  4. ส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินกิจกรรมค่ายศึกษาอบรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย
  5. ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากไร้
  6. ส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
  7. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการกีฬาทุกประเภท
  8. เพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

กระทั่งได้รับการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กันยายน ปีเดียวกัน ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 500,000 บาท[4]

การเลือกตั้งท้องถิ่น[แก้]

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในประเทศไทย พ.ศ. 2563 คณะก้าวหน้าได้ส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมด 42 จังหวัด ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม้แต่รายเดียว แต่ก็สามารถส่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 57 ราย จาก 18 จังหวัด [5]


ต่อมาในปี พ.ศ. 2564 มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ คณะก้าวหน้าได้ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรี 106 เทศบาล และได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 15 เทศบาล ประกอบด้วยลำพูน 3 ราย, ร้อยเอ็ด 3 ราย, หนองบัวลำภู 3 ราย, อุดรธานี 3 ราย, มุกดาหาร 2 ราย, และสมุทรปราการ 1 ราย [6] และในช่วงการเลือกตั้งซ่อมนายกเทศมนตรีด่านสำโรง ซึ่งจัดขึ้นเนื่องจาก นายสมพงษ์ วีรชาติวัฒนา เสียชีวิตกะทันหัน คณะก้าวหน้าก็ยังคงรักษาตำแหน่งไว้ได้[7]

และในปีเดียวกันนั้น คณะก้าวหน้าได้ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด 196 ราย ทั่วประเทศ และได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 38 ราย คิดเป็น 19.4 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนที่ส่งทั้งหมด[8] อยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดน่าน, จังหวัดบึงกาฬ, จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดเพชรบูรณ์, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดหนองบัวลำภู, และจังหวัดอุดรธานี [9]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครปากเกร็ด เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่างเมื่อวันที่ 10 กันยายน ทางคณะก้าวหน้าได้ส่ง เหนือ-นายนนทกร จันทร์จำรัสแสง ลงชิงตำแหน่งแข่งกับ เอ-ว่าที่ร้อยตรี ภาณุพงศ์ บรรดาศักดิ์ จากกลุ่มนายวิชัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของนายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด ผลปรากฏว่านายนนทกรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับว่าที่ร้อยตรีภาณุพงศ์[10]

ทิศทางของคณะก้าวหน้าในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งถัดไป[แก้]

พรรณิการ์ วานิช ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ วอยซ์ทีวี หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้ประกาศว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบต่อไป ทางพรรคจะส่งผู้สมัครด้วยตนเองว่า คณะก้าวหน้าจะยังคงทำงานด้านความคิดให้กับผู้คนต่อไป และจะเป็นกลุ่มที่มีความรู้เรื่องท้องถิ่นมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งการทำงานท้องถิ่นเดิมเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ ว่าจะเป็นพรรคการเมืองแรกที่ลงสมัครเลือกตั้งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น แต่พรรคกลับถูกยุบเสียก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้น พรรณิการ์ยังได้กล่าวอีกว่า ไม่กังวลเรื่องผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือเรียกว่า บ้านใหญ่ เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา 2 ครั้ง ชี้ชัดแล้วว่า พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเอาชนะบ้านใหญ่ได้แล้ว เหลือเพียงบางกลุ่มเท่านั้น[11]

สนับสนุนกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า[แก้]

คณะก้าวหน้าเปิดตัว กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า พร้อมกับเปิดตัวผู้สมัครฝ่ายผู้ประกันตนทั้ง 7 คน ซึ่งจะลงสมัครใน การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2566 พร้อมกับชูนโยบายประกันสังคม 14 ข้อ นอกจากนี้ ผู้สมัครกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้ายังได้กล่าวว่า ใน 2 ปีแรกของการได้รับเลือกตั้ง จะงดการดูงานต่างประเทศ[12]

ภายหลังการเลือกตั้ง ผู้สมัคร 6 ใน 7 ของกลุ่มได้ชนะการเลือกตั้ง ยกเว้นธนพร วิจันทร์ ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ในการลงสมัคร[13]

สนับสนุนการสมัคร สว.[แก้]

คณะก้าวหน้าได้มีการประชุมร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw - ไอลอว์) ในการส่งผู้สมัครในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาไทย พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการสรรหาโดยให้ผู้สมัครลงคะแนนเสียงกันเอง เนื่องจากผู้สมัครไม่สามารถสังกัดหรือเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้ คณะก้าวหน้าจึงรับหน้าที่ร่วมกับไอลอว์โดยการส่งผู้สมัคร สว. เข้าประกอบในทุกพื้นที่ โดยจะมีการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งประมาณ 100 คนทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยการผลักดันผู้สมัครรับเลือกตั้ง สว.ในครั้งนี้ มีวาระเพื่อขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และลดอำนาจองค์กรอิสระ[14]

นอกจากนี้ คณะก้าวหน้ายังมีการรณรงค์การลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยตำแหน่งวุฒิสภานั้น นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว วุฒิสภาชุดใหม่สามารถลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบให้กับบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครองสูงสุด, หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น[15]

ความสำเร็จ[แก้]

หลังจากเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล คณะก้าวหน้าได้นำร่องนโยบาย ประปาดื่มได้ โดยเริ่มที่เทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถกล่าวไว้ว่า ตนและทีมงานคณะก้าวหน้าตั้งใจว่าใน 99 วันแรกของการทำงาน หรือประมาณ 3 เดือนแรกนี้ จะต้องทำให้น้ำประปาดื่มได้ให้เป็นจริง[16]

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นเวลา 6 เดือนนับจากการประกาศนโยบายประปาดื่มได้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเกียรติบัตรให้กับเทศบาล เนื่องจากมีคุณภาพน้ำประปาตามเกณฑ์คุณภาพบริโภค[17]

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เทศบาลตำบลอาจสามารถได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประเภทเทศบาลตำบลโดดเด่น โดยได้รับรางวัลที่ 1 พร้อมกับเงินรางวัลมูลค่า 3,200,000 บาท[18]

นอกจากนี้ คณะก้าวหน้ายังได้นำร่องโครงการกล่องของขวัญแรกเกิด (Baby Box) โดยนำร่องที่องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งภายในกล่อง Baby Box มีอุปกรณ์ที่และสิ่งของจำเป็นสำหรับแม่และเด็ก พร้อมทั้งคู่มือการใช้กล่อง โดยมีเจ้าหน้าที่อบต.กำแพงแสน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกำแพงแสน และเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตร ร่วมให้ความรู้แนะนำแนวทางการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตตามวัยและมีพัฒนาการตามเกณฑ์[19]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ""ธนาธร" ประกาศตั้ง "คณะอนาคตใหม่" ยัน ก้าวเดินต่อไป ด้วยความมั่นคง". www.thairath.co.th. 2020-02-21.
  2. 2.0 2.1 เป็นทางการ! 'ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ'เปิดตัว 'คณะก้าวหน้า'ปักธงความคิด-สถาปนาอำนาจนำใหม่
  3. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิคณะก้าวหน้า
  4. ‘มูลนิธิคณะก้าวหน้า’ จดทะเบียนตั้งเป็นทางการแล้ว มี ธนาธร เป็นประธาน ปิยบุตร กรรมการ
  5. "แถลงการณ์จากประธานคณะก้าวหน้า กรณีผลการเลือกตั้ง อบจ. 2563". คณะก้าวหน้า.
  6. "ก้าวหน้าซิวเทศบาลได้15นายก". khaosod.co.th. 2021-03-30.
  7. "'ไพศาล' คณะก้าวหน้า คว้าชัย 'นายก ทต.ด่านสำโรง' แถลงขอบคุณทุกคะแนน รับแข่งดุเดือด". matichon.co.th. 2022-08-14.
  8. "'คณะก้าวหน้า' คว้าชัย 38 อบต. ขณะที่ อุบลฯ ผู้สมัครหน้าใหม่สายเพื่อไทย ล้มแชมป์อื้อ". ประชาไท. 2021-11-29.
  9. "เปิด 17 จว. "ก้าวหน้า" ชนะนายก อบต. 38 ที่นั่ง "ธนาธร" ปักธง "นายกฯพัทยา" ต่อ". bangkokbiznews.com. 2021-11-29.
  10. ผลเลือกตั้งซ่อม ส.ท.นครปากเกร็ด ไม่เป็นทางการ ‘ภาณุพงศ์’ หลานวิชัย ชนะคณะก้าวหน้าขาดลอย
  11. ‘คณะก้าวหน้า’ นำร่องลุยสนามท้องถิ่น ปูทาง ‘ก้าวไกล’ รับไม้ต่อทลายบ้านใหญ่ #WakeUpThailand, สืบค้นเมื่อ 2023-10-06
  12. "เปิดตัวทีมประกันสังคมก้าวหน้า ชู 14 นโยบาย-ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ". workpointTODAY.
  13. ""ทีมประกันสังคมก้าวหน้า" ขอบคุณทุกคะแนนเสียง หลังชนะเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม". www.thairath.co.th. 2023-12-25.
  14. ""ก้าวหน้า-ไอลอว์" เตรียมเปิดตัวผู้สมัคร สว. 27 มี.ค.นี้ เปิดหน้าสู้ขั้วอำนาจเดิม". www.thairath.co.th. 2024-03-23.
  15. แจ๊ค (2024-04-24). "คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง".
  16. "99 วัน หลังรับตำแหน่ง นายกฯ "เทศบาลก้าวหน้า" มั่นใจ "น้ำประปาดื่มได้" เป็นจริง !". คณะก้าวหน้า. 2021-05-18.
  17. "ธนาธร ปลื้ม เทศบาลก้าวหน้า ทำน้ำประปาดื่มได้ ได้การรับรองระดับ 'กรมอนามัย'". khaosod.co.th. 2021-12-09.
  18. "ประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง ผลการคัดเลือก อปท. 66.pdf". Google Docs.
  19. Thesender - (2023-02-07). "นายกฯ อบต.คณะก้าวหน้าสุดล้ำ นำร่องมอบ baby Box ของขวัญแรกเกิดให้เด็ก มุ่งสร้างสวัสดิการครบวงจร". ThesenderTH. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-25. สืบค้นเมื่อ 2023-09-25.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]