ประวัติศาสตร์สเปน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบสถ์ซานตามาริอาเดลนารังโก เมืองโอบิเอโด ภาคเหนือ
อารามหลวงเอลเอสโกเรียล กรุงมาดริด ภาคกลาง
พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ เมืองบาเลนเซีย ภาคตะวันออก
อาลัมบรา เมืองกรานาดา ภาคใต้

ประวัติศาสตร์สเปน เป็นเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับอาณาบริเวณส่วนใหญ่บนคาบสมุทรไอบีเรียซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปใต้ โดยมีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านยุครุ่งเรืองและยุคตกต่ำของจักรวรรดิสเปนอันเป็นจักรวรรดิสากลแห่งแรกของโลกจนกลายมาเป็นราชอาณาจักรสเปนในปัจจุบัน อันเป็นช่วงฟื้นฟูตนเองหลังสมัยการปกครองแบบเผด็จการของฟรันซิสโก ฟรังโก ประวัติศาสตร์การเมืองและการทหารของสเปนมีอยู่หลายช่วงที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายและความพยายามที่จะจัดการกับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และความคิดความเชื่อในดินแดนของตน

มนุษย์สมัยใหม่เริ่มตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียมาเป็นเวลานานกว่า 35,000 ปีมาแล้ว ตามมาด้วยคลื่นผู้รุกรานและผู้ตั้งอาณานิคมชนชาติต่าง ๆ ได้แก่ ชาวเคลต์ ชาวฟินิเชีย ชาวคาร์เทจ และชาวกรีก ตลอดระยะเวลานับพัน ๆ ปี เมื่อถึงประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช ทั้งคาบสมุทรจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมันก่อนจะตกไปอยู่ภายใต้การปกครองจากชาววิซิกอท และใน ค.ศ. 711 ชาวแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นชาวมุสลิม (ชาวมัวร์) ก็เริ่มเข้ามามีอำนาจ ในที่สุดอาณาจักรอิสลามก็ได้รับการสถาปนาขึ้นบนคาบสมุทรแห่งนี้และยืนหยัดได้เป็นเวลาประมาณ 750 ปี ซึ่งพื้นที่ที่ชาวมุสลิมครอบครองนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อัลอันดะลุส แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังเป็นช่วงที่เรียกว่า "เรกองกิสตา" หรือการยึดดินแดนคืนของชาวคริสต์ซึ่งค่อย ๆ รุกลงไปทางใต้ เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดเมื่อชาวคริสต์สามารถพิชิตที่มั่นแห่งสุดท้ายของชาวมุสลิมที่กรานาดาได้ใน ค.ศ. 1492 จากนั้นราชอาณาจักรและรัฐคาทอลิกต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียก็ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนด้วย ซึ่งการรวมกันของอาณาจักรทั้งสองนี้จะนำไปสู่ความเป็นปึกแผ่นของรัฐชาติสเปนในเวลาต่อมา[1]

ค.ศ. 1492 นี้ยังเป็นปีแห่งความสำเร็จของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในการค้นพบโลกใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งให้กับสเปน อีกหลายศตวรรษถัดมา สเปนในฐานะเจ้าอาณานิคมได้กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่มีความสำคัญมากสุดในเวทีโลก วรรณกรรมสเปนและศิลปะสเปนได้นำพาเข้าสู่ยุคทองในสมัยใหม่นี้เอง อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์สเปนในช่วงนี้ ก็มีจุดด่างพร้อยในเรื่องการขับไล่ชาวยิวและชาวมุสลิม การตั้งศาลไต่สวนทางศาสนา และการปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา

ภายในอีกไม่กี่ศตวรรษ จักรวรรดิของสเปนในโลกใหม่ก็มีอาณาเขตแผ่ขยายจากแคลิฟอร์เนียไปจรดปาตาโกเนีย ในช่วงนี้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจากออสเตรียได้เข้ามามีอำนาจในราชบัลลังก์สเปน (ตามมาด้วยราชวงศ์บูร์บงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18) ในทวีปยุโรป สเปนเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งทั้งในเรื่องลัทธิศาสนาและการแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเองหลายต่อหลายครั้ง คู่สงครามที่สำคัญได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศส ความสัมพันธ์กับต่างประเทศในลักษณะนี้ทำให้สเปนสูญเสียดินแดนในครอบครองที่ในปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลีไป นอกจากนี้ ผลเสียจากสงครามเหล่านั้นก็ทำให้สเปนต้องตกอยู่ในสภาวะล้มละลายอีกด้วย เมื่อเวลาผ่านไป อำนาจและเกียรติภูมิของจักรวรรดิก็เสื่อมถอยลงเป็นลำดับ และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 การถูกฝรั่งเศสเข้ารุกราน การเรียกร้องเอกราชของดินแดนอาณานิคม และความพ่ายแพ้ในการทำสงครามกับสหรัฐก็ทำให้สเปนเสียอาณานิคมของตนไปเกือบทั้งหมด

ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มความซับซ้อนและความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นำสเปนไปสู่การนองเลือดใน สงครามกลางเมืองซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศ สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายชาตินิยมที่มีฟรันซิสโก ฟรังโก เป็นผู้นำสูงสุด สภาพบ้านเมืองโดยทั่วไปในช่วงนี้จึงค่อนข้างสงบและมีความมั่นคง (ยกเว้นการก่อวินาศกรรมของขบวนการเรียกร้องเอกราชในแคว้นประเทศบาสก์) สเปนประกาศตนเป็นกลางตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงแม้จะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษ 1970 แต่ก็ต้องถูกโดดเดี่ยวทางวัฒนธรรมและการเมืองจากประชาคมโลก ฟรังโกปกครองประเทศในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ ค.ศ. 1975 การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจึงเริ่มขึ้น ประเทศสเปนในช่วงเวลาปัจจุบันนี้มีพัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและทันสมัย แม้จะมีความตึงเครียดหลงเหลืออยู่ก็ตาม (เช่นกรณีผู้อพยพชาวมุสลิมและในแคว้นประเทศบาสก์) โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรฐานการครองชีพเติบโตเร็วที่สุดในยุโรป เหตุการณ์สำคัญในยุคร่วมสมัยของสเปน ได้แก่ การเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปและการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และเหตุการณ์สละราชสมบัติของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 อันนำไปสู่การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ใน ค.ศ. 2014

สมัยก่อนประวัติศาสตร์[แก้]

เพดานถ้ำอัลตามิรา

ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในคาบสมุทรไอบีเรียย้อนไปได้ถึงประมาณ 8 แสนปีมาแล้ว[2] หลังจากการค้นพบซากของมนุษย์โฮโมแอนเทเซสเซอร์ในแหล่งโบราณคดีที่กรันโดลินา ("หลุมยุบขนาดใหญ่") ในทิวเขาอาตาปูเอร์กา จังหวัดบูร์โกส แคว้นกัสติยาและเลออน[2][3][4]

ในช่วงยุคหินเก่าตอนกลาง (3 แสนปี–3 หมื่นปีมาแล้ว) ได้เกิดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล มีการค้นพบกะโหลกมนุษย์กลุ่มนี้อายุประมาณ 6 หมื่นปีมาแล้วที่ยิบรอลตาร์[2] รวมทั้งมีการค้นภาพเขียนบนผนังในถ้ำลาร์เบรดาซึ่งเขียนขึ้นในยุคนี้ที่แคว้นกาตาลุญญา และเมื่อประมาณ 16,000 ปีมาแล้ว (ซึ่งอยู่ในช่วงยุคหินเก่าตอนปลาย) วัฒนธรรมลามาดแลนก็ได้กำเนิดขึ้นในแถบแคว้นอัสตูเรียส แคว้นกันตาเบรีย[2] และแคว้นประเทศบาสก์ปัจจุบัน สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณดังกล่าวคือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามิรา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของศิลปะถ้ำ[5]

มนุษย์โฮโมเซเปียนส์รุ่นแรก (เช่น โคร-มาญง) ปรากฏขึ้นตั้งแต่ 15,000 ปีมาแล้ว ส่วนมนุษย์สองกลุ่มแรกที่เกิดขึ้นก่อนนั้นก็เริ่มสูญพันธุ์ไป จนเมื่อ 3,700 ปีมาแล้ว คาบสมุทรไอบีเรียก็เริ่มเข้าสู่ยุคหินกลาง มนุษย์สมัยนี้รู้จักการทำเกษตรกรรมมากขึ้น ส่วนวิถีชีวิตที่เร่ร่อนของชนเผ่าค่อย ๆ ลดลงเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปถึงประมาณ 3,000 ปี–2,500 ปีมาแล้ว จึงปรากฏชุมชนที่มีวัฒนธรรมแบบยุคโลหะ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่วัฒนธรรมแก้วทรงระฆังได้เกิดขึ้นและเจริญต่อมาในช่วงปลายยุคทองแดงต่อต้นยุคสำริด[6]

แก้วดินเผาทรงระฆัง พบที่เมืองซิเอมโปซูเอโลส แคว้นมาดริด

ความก้าวหน้าของมนุษย์ในยุคสำริดตอนกลางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวัฒนธรรมเอลอาร์การ์ในแถบจังหวัดอัลเมริอาปัจจุบัน[7] มีการฝังศพในหม้อขนาดใหญ่[6] และฝังศพเป็นกลุ่ม ตามชุมชนอื่น ๆ ในไอบีเรียก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้สำริดในเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่นกัน เช่น ขวาน ดาบ กำไล ซึ่งบางครั้งอาจใส่ไปกับศพด้วย ส่วนทางแถบลามันชามีการสร้างเนินเขาเล็ก ๆ ซึ่งบนสุดจะเป็นชุมชนที่มีป้อมปราการล้อมรอบอยู่ ลักษณะนี้เรียกว่าโมติยา ชุมชนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับชุมชนยุคสำริดแถบชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร (หรือเรียกว่า "ลิแวนต์") เนื่องจากมีวัฒนธรรมการใช้โลหะเหมือนกัน[6] วัฒนธรรมโมติยาดำรงอยู่ประมาณ 200–300 ปีจนกระทั่งถูกละทิ้งไปเมื่อ 1,300 ปีก่อนคริสต์ศักราช[7] ซึ่งร่วมสมัยเดียวกับการสิ้นสุดของวัฒนธรรมเอลอาร์การ์ จากนั้นเมื่อประมาณ 1,000 ปี หรือ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งอยู่ในยุคสำริดตอนปลาย อารยธรรมตาร์แตสโซสในหุบเขากัวดัลกิบีร์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรก็เกิดขึ้น

ในยุคเหล็ก การแบ่งแยกในสังคมเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น ปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของตำแหน่งผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้ดีขี่ม้า เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นตัวแทนการมาถึงของกระแสวัฒนธรรมจากภายนอก เนื่องจากชาวเคลต์จากตอนกลางของทวีปยุโรปได้เริ่มอพยพเข้ามาในยุคนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีชาวฟินิเชียและชาวกรีกเข้ามาติดต่อค้าขายกับผู้คนในดินแดนตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนแล้วในช่วงนั้น[8]

การมาถึงของชนกลุ่มต่าง ๆ (1,000 ปีก่อน ค.ศ.)[แก้]

หลุมศพในหมู่บ้านชาวไอบีเรีย (โบราณ) แห่งหนึ่งใกล้เมืองอาไซลา จังหวัดเตรูเอล แคว้นอารากอน

ชาวเคลต์มาถึงคาบสมุทรในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[8] พวกเขาเข้าครอบครองอาณาเขตซึ่งปัจจุบันเป็นแคว้นกาลิเซีย แคว้นอัสตูเรียส แคว้นกันตาเบรีย แคว้นประเทศบาสก์ ตอนเหนือของแคว้นกัสติยาและเลออน และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโปรตุเกส ภายหลังก็กลายเป็นชนกลุ่มหลักของคาบสมุทรไอบีเรีย

ทางด้านชายฝั่งลิแวนต์ก็เริ่มมีชาวฟินิเชียเข้ามาครั้งแรกเมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเริ่มตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ประมาณ 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช และต่อมาก็ลงไปทางตอนใต้ของคาบสมุทร ตั้งเมืองกาดีร์[8] มาลากา และอับเดรา (เมืองอาดราในจังหวัดอัลเมริอาปัจจุบัน) รวมทั้งยังตั้งนิคมการค้าอีกหลายแห่งขึ้นริมฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน

ส่วนชาวกรีกก็เข้ามาในไอบีเรียเช่นกันดังกล่าวแล้ว แต่จะขึ้นไปตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณที่เป็นแคว้นกาตาลุญญาปัจจุบัน เช่นที่โรแด (รอซัส) และเอ็มโปริโอน (อัมปูริอัส) พวกเขาได้พบกับชาวไอบีเรียซึ่งเป็นชนพื้นเมืองหลักอีกกลุ่มหนึ่งนอกจากชาวเคลต์ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชาวกรีกที่กล่าวถึงชนกลุ่มนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช[9] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อารยธรรมของชาวตาร์แตสโซสทางภาคใต้ซึ่งสันนิษฐานว่าเจริญขึ้นมาตั้งแต่ยุคสำริดตอนปลายได้สูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด[10]

จากนั้น บริเวณตอนในของคาบสมุทร (ที่ราบสูงเมเซตา) เช่น ที่นูมันติอา (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดโซเรีย แคว้นกัสติยาและเลออน) เป็นที่ที่ชาวเคลต์จากภาคตะวันตกเฉียงเหนือและชาวไอบีเรียจากภาคตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาติดต่อและอยู่ร่วมกัน และได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ ชาวเคลติเบเรียน[11]

การพิชิตของชาวคาร์เทจและชาวโรม (300 ปีก่อน ค.ศ.)[แก้]

อาณาเขตของคาร์เทจ (สีม่วง) และโรม (สีชมพู) ในปี 218 ก่อนคริสต์ศักราช (ก่อนเกิดสงครามพิวนิกครั้งที่ 2)

ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวคาร์เทจได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียและตั้งเมืองการ์ทาโกโนวา (ปัจจุบันคือเมืองการ์ตาเฆนา) ขึ้นริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นฐานที่มั่นทางทะเลที่สำคัญที่สุดของชนกลุ่มนี้[12] ภายในเวลาอันรวดเร็ว ในที่สุดคาร์เทจและโรมก็เกิดความขัดแย้งและสู้รบกันในสงครามพิวนิกถึงสามครั้ง เหตุผลหลักมาจากทั้งสองฝ่ายต่างต้องการมีอำนาจเหนือดินแดนในแถบเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามพิวนิกครั้งที่ 1 ซึ่งกินเวลาถึง 23 ปี[13] ชาวคาร์เทจก็หันมาขยายอำนาจทางคาบสมุทรไอบีเรียนี้ เพื่อทดแทนกับการสูญเสียเกาะซิซิลี[14] เกาะซาร์ดิเนีย และเกาะคอร์ซิกาไป

ฮามิลการ์ บาร์กา, ฮันนิบาล และนายพลของคาร์เทจคนอื่น ๆ เข้ามาครอบครองอาณานิคมเดิมของชาวฟินิเชียที่อยู่ตามชายฝั่งของอันดาลูซิอาและลิแวนต์เข้าไว้ในอำนาจ หลังจากนั้นก็ดำเนินการยึดครองและขยายเขตอิทธิพลเหนือชนพื้นเมืองออกไป เมื่อถึงตอนปลายศตวรรษเดียวกัน เมืองและหมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำเอโบร[15] และแม่น้ำโดรูลงมา รวมไปถึงหมู่เกาะแบลีแอริกต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคาร์เทจทั้งสิ้น ฮันนิบาลได้เป็นผู้นำคาร์เทจในการต่อต้านโรมโดยใช้คาบสมุทรไอบีเรียเป็นฐานปฏิบัติการ รวมทั้งนำชนพื้นเมืองมาเป็นกำลังในกองทัพของเขา

จนกระทั่งในปี 219 ก่อนคริสต์ศักราช ฮันนิบาลนำทัพคาร์เทจเข้าโจมตีเมืองซากุนโตซึ่งเป็นอาณานิคมการค้าของกรีกและเป็นพันธมิตรกับโรม[16] จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามพิวนิกครั้งที่ 2[13][17] ที่กินเวลา 17 ปี[13] ในสงครามครั้งนี้ ทหารคาร์เทจสามารถรุกข้ามเทือกเขาพิเรนีสและเทือกเขาแอลป์เข้าสู่คาบสมุทรอิตาลีได้สำเร็จ (โดยนำม้าและช้างจำนวนมากเข้าช่วยในการรบ)[18][19] แต่สงครามก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้อีกครั้งของคาร์เทจ โดยเหลือเพียงเมืองของตนริมชายฝั่งแอฟริกาเหนือเท่านั้นที่ยังอยู่ในอำนาจ ส่วนคาบสมุทรไอบีเรียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน เริ่มต้นสมัยของฮิสปานิอาในดินแดนแห่งนี้

ฮิสปานิอาสมัยโรมัน (300 ปี ก่อน ค.ศ.–คริสต์ศตวรรษที่ 5)[แก้]

ท่อส่งน้ำที่เมืองเซโกเบีย งานสาธารณูปโภคที่สำคัญของสเปนยุคโรมัน (ฮิสปานิอา)

หลังสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 (218–201 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[13] ถือได้ว่าคาบสมุทรไอบีเรียเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรม หลังจากที่ขับไล่ชาวคาร์เทจออกไปแล้ว การเข้าครอบครองดินแดนก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เหลือเพียงแต่เมืองทางตอนใน (นูมันติอา) และเมืองแถบอัสตูเรียสและกันตาเบรียบางแห่งเท่านั้นที่ยังคงต้านกำลังของโรมไว้ได้

ในปีที่ 197 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันได้แบ่งดินแดนไอบีเรียออกเป็น 2 ส่วน[20][21] คือ ฮิสปานิอากิแตริออร์และฮิสปานิอาอุลแตริออร์ พัฒนาเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้วในบริเวณนี้ เช่น ออลิซีโปและตาร์ราโก รวมทั้งสร้างเมืองไกซาเรากุสตา เอแมริตาเอากุสตา และวาแล็นติอา เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ฮิสปานิอากลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและเป็นแหล่งโลหะที่สำคัญของโรมัน เมืองท่าต่าง ๆ ในดินแดนนี้ได้ส่งออกทอง[22] ดีบุก เงิน[22] ตะกั่ว ไม้[22] ข้าวสาลี น้ำมันมะกอก[22] ไวน์[22] ปลา และการูง[22] (น้ำปลาชนิดหนึ่ง) ไปสู่ตลาดโรมัน

กระบวนการทำให้เป็นโรมันนั้นเริ่มขึ้นในฮิสปานิอาเมื่อประมาณ 110 ปีก่อนคริสต์ศักราช (เรื่อยไปจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3) มรดกที่โรมันได้ทิ้งไว้ให้เป็นรากฐานของอารยธรรมสเปนได้แก่ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม กฎหมาย รวมทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ท่อส่งน้ำ โรงละคร ระบบชลประทาน เป็นต้น ชาวฮิสปานิอาและผู้สืบเชื้อสายจากทหารโรมันหรือผู้ตั้งถิ่นฐานชาวโรมันในฮิสปานิอาเกือบทั้งหมดได้รับสถานะเป็นพลเมืองโรมันเมื่อถึงปีที่ 73 ก่อนคริสต์ศักราช[23] จักรพรรดิตรายานุส จักรพรรดิฮาดริอานุส และจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 ต่างก็ประสูติในฮิสปานิอา[22][24] รวมทั้งจักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส ก็ทรงมีเชื้อสายฮิสปานิอาเช่นกัน[25]

เขตการปกครองในฮิสปานิอาสมัยแรกเริ่มของจักรวรรดิโรมัน (หลังสงครามกันตาเบรีย)

เมื่อสิ้นสุดสงครามกันตาเบรียในปีที่ 19 ก่อนคริสต์ศักราช จักรวรรดิโรมันที่มีจักรพรรดิเอากุสตุสเป็นผู้นำก็สามารถเอาชนะชนพื้นเมืองและครอบครองดินแดนไอบีเรียทั้งหมดได้สำเร็จ[26] หลังจากพยายามอยู่นานถึง 200 ปี จากนั้นได้แบ่งเขตการปกครองใหม่ออกเป็น 3 มณฑล[27] ได้แก่

โรมันมีอำนาจครอบครองฮิสปานิอามาจนถึงช่วงที่จักรวรรดิฝั่งตะวันตกล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เมื่อทางศูนย์กลางของจักรวรรดิไม่สามารถแบ่งสรรกำลังทหารมาปกป้องดินแดนของตนได้อีกต่อไป ชาวฮิสปานิอาก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครองใหม่ นั่นคือ อนารยชนเผ่าเยอรมันกลุ่มต่าง ๆ ที่มาจากยุโรปกลาง

ฮิสปานิอาสมัยวิซิกอท (คริสต์ศตวรรษที่ 5–8)[แก้]

ราชอาณาจักรวิซิกอทในค.ศ. 500

ในคริสต์ศตวรรษที่ 4–5 ชาวฮันซึ่งมาจากเอเชียกลางได้เข้าโจมตีและผลักดันชนเผ่าเยอรมันให้เข้ามาในเขตแดนของจักรวรรดิโรมัน ชนเผ่าเหล่านี้ได้สร้างความวุ่นวายและก่อสงครามกับโรมันตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้จักรวรรดิค่อย ๆ อ่อนแอลง แต่ในช่วงเดียวกันก็เกิดกระบวนการทำทุกอย่างให้เป็นโรมันขึ้นในหมู่ชนเผ่าเยอรมันและชนเผ่าฮั่นตามแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบซึ่งเป็นพรมแดน เผ่าเยอรมันกลุ่มวิซิกอทได้หันมานับถือลัทธิเอเรียสเมื่อประมาณ ค.ศ. 360

ในฤดูหนาวของ ค.ศ. 406 ชาวแวนดัล ชาวซูเอบี และชาวอาลันได้ใช้โอกาสขณะที่น้ำในแม่น้ำไรน์มีสภาพเป็นน้ำแข็งเข้ารุกรานจักรวรรดิโดยใช้กำลังจำนวนมาก และอีก 3 ปีถัดมา (ค.ศ. 409) อนารยชนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ได้ข้ามเทือกเขาพิรินีเข้าสู่ดินแดนคาบสมุทรไอบีเรีย[28][29] และตกลงกันเพื่อแบ่งพื้นที่ปกครองทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของคาบสมุทร

ส่วนชาววิซิกอทนั้นสามารถพิชิตโรมได้ใน ค.ศ. 410[30] จากนั้นได้อพยพเข้ามาในกอล (ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) และได้กลับไปช่วยเหลือกองทัพของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในการขับไล่ชาวอาลันและชาวแวนดัลให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา[30][31] (โดยไม่ได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ในวัฒนธรรมของสเปนมากนัก) จักรพรรดิฮอโนริอุสจึงทรงยกมณฑลกัลลิอาอากวีตานิอา (ปัจจุบันคือภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส) ให้ชาววิซิกอทจัดตั้งอาณาจักรของตนขึ้นที่ตูลูซ จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลงเมื่อ ค.ศ. 476 ราชอาณาจักรวิซิกอทจึงมีอิสระอย่างเต็มที่

อาณาจักรของชาวซูเอบีและอาณาจักรของชาววิซิกอทในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6

ต่อมาใน ค.ศ. 507 วิซิกอทต้องสูญเสียอำนาจในกอลตอนใต้ให้กับชาวแฟรงก์ซึ่งเป็นเผ่าเยอรมันอีกกลุ่มหนึ่ง เหลือเพียงดินแดนเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่บาร์เซโลนา และย้ายไปที่โตเลโดทางภาคกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย พร้อม ๆ กับเริ่มขยายอำนาจของตนออกไป พระเจ้าลีอูวีกิลด์เป็นกษัตริย์ชาววิซิกอทที่สำคัญที่สุด[32] ในสมัยของพระองค์ ชาววิซิกอทสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ (กันตาเบรียและประเทศบาสก์) ได้ใน ค.ศ. 574 และพิชิตอาณาจักรของชาวซูเอบีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (กาลิเซีย) ได้เมื่อปี ค.ศ. 584[33] นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าซูอินตีลา วิซิกอทยังได้ดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเคยเสียให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 624

ชาววิซิกอทมักจะรักษาสถาบันและกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันไว้ ความใกล้ชิดของราชอาณาจักรวิซิกอทกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและความต่อเนื่องของการค้าในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกนั้นเป็นตัวสนับสนุนวัฒนธรรมของชาววิซิกอทเอง แต่ในระยะแรกชาววิซิกอทจะไม่ข้องเกี่ยวกับชนพื้นเมือง[34] (ซึ่งอยู่มาก่อนและมีจำนวนมากกว่า) โดยแยกตัวออกไปอยู่ในเขตชนบทและนำระบบฟิวดัลรูปแบบหนึ่งเข้าไปใช้ ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั่นคือการลดลงของจำนวนประชากรในเขตเมือง[34] รวมทั้งทำให้ภาษาของชาววิซิกอทส่งอิทธิพลต่อภาษาของคาบสมุทรไอบีเรียในปัจจุบันน้อยมาก[34][35]

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมในอาณาจักรวิซิกอทไม่รวมเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันคือ ชาวฮิสปานิอานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ชาววิซิกอทยังคงนับถือลัทธิเอเรียส จนกระทั่งใน ค.ศ. 587 พระเจ้าเรกคาเรดที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสพระองค์รองของพระเจ้าลีอูวีกิลด์ รวมทั้งชาววิซิกอทส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือคาทอลิก[36] และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับชาวฮิสปานิอา ทำให้พระคาทอลิกมีอำนาจมากขึ้นและหลังจากการประชุมสภาแห่งโตเลโดครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 633 สภาสงฆ์ได้ประกาศว่า ชาวยิวทุกคนต้องเข้าพิธีล้างบาป

เนื่องจากตำแหน่งกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนั้นส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกจากชนชั้นสูงไม่ใช่การสืบราชสันตติวงศ์ ปัญหาการแย่งชิงราชบัลลังก์จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความอ่อนแอของราชอาณาจักร หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวิตตีซาใน ค.ศ. 709 ชนชั้นสูงได้เลือกโรเดอริก ดุ๊กแห่งไบติกาขึ้นเป็นกษัตริย์ โรเดอริกมีชัยชนะในการทำสงครามกับโอรสของพระเจ้าวิตตีซา (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร แต่สันนิษฐานว่าคืออากีลา) ซึ่งอ้างสิทธิ์ในการปกครองอาณาจักรเช่นกัน โอรสของพระเจ้าวิตตีซาพร้อมพรรคพวกจึงหนีไปที่เมืองเซวตา ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของแอฟริกา และได้รวมกลุ่มกับชาวยิวและผู้นับถือลัทธิเอเรียส (ซึ่งอพยพมาหลังจากถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา) ไปขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรของชาวมุสลิมซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านกำลังของพระเจ้าโรเดอริก ด้วยเหตุนี้ฮิสปานิอาจึงต้องเผชิญกับการรุกรานระลอกใหม่อีกครั้ง

การยึดครองของชาวมุสลิมและการพิชิตดินแดนคืน (คริสต์ศตวรรษที่ 8–15)[แก้]

เมซกิตาแห่งกอร์โดบา ในสมัยมุสลิมเคยเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก แต่ปัจจุบันเป็นอาสนวิหารในศาสนาคริสต์

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวอาหรับและชาวเบอร์เบอร์ซึ่งปกครองตอนเหนือของแอฟริกาอยู่ในขณะนั้น (เรียกว่าชาวมัวร์) ได้นับถือศาสนาอิสลามอยู่ก่อนแล้ว และได้ส่งฏอริก อิบน์ ซิยาด นายพลชาวเบอร์เบอร์เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองในฮิสปานิอา โดยบุกเข้ามาทางภาคใต้ จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 711 ก็ได้เผชิญหน้ากับกองทัพของพระเจ้าโรเดอริกในยุทธการที่แม่น้ำกัวดาเลเต แม้ฏอริกจะมีกำลังทหารน้อยกว่าก็ตามแต่ก็ได้รับชัยชนะ ณ ที่นั้น (เชื่อกันว่าพระเจ้าโรเดอริกสิ้นพระชนม์ในที่รบ) [37]จากนั้น มูซา อิบน์ นุศ็อยร์ ผู้บังคับบัญชาของฏอริกพร้อมกำลังสนับสนุนได้ข้ามจากแอฟริกาเข้ารุกรานฮิสปานิอาอย่างรวดเร็ว ในที่สุดเมื่อ ค.ศ. 718 ชาวมุสลิมก็มีอำนาจครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร (เรียกชื่อดินแดนฮิสปานิอาส่วนที่ชาวมุสลิมครอบครองว่า "อัลอันดะลุส") เหลือเพียงอาณาจักรคริสต์ที่อัสตูเรียส กันตาเบรีย และประเทศบาสก์ซึ่งต้านกำลังมุสลิมไว้ได้และเริ่มการพิชิตดินแดนคืน (เรกองกิสตา) หลังมีชัยในยุทธการที่หมู่บ้านโกบาดองกาเมื่อ ค.ศ. 722 นอกจากนี้ การรุกคืบในยุโรปก็ถูกชาวแฟรงก์ภายใต้การนำทัพของชาร์ล มาร์แตล สกัดกั้นไว้ได้ในยุทธการที่เมืองปัวตีเย เดือนตุลาคม ค.ศ. 732[38]

ผู้ปกครองของอัลอันดะลุสมีตำแหน่งอยู่ระดับเอมีร์ โดยขึ้นกับกาหลิบอัลวะลีดที่ 1 แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่กรุงดามัสกัส พระองค์ทรงให้ความสนใจกับการขยายกำลังทางทหารอย่างมาก ทรงสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดในสมัยของราชวงศ์นี้ ซึ่งเป็นกลวิธีที่สนับสนุนการขยายอิทธิพลในฮิสปานิอานั่นเอง ขุนนางท้องถิ่นได้รับอนุญาตให้ครอบครองทรัพย์สินและสถานะทางสังคมของตนไว้ตราบเท่าที่ยังยอมรับศาสนาอิสลาม และการเปลี่ยนผู้ปกครองไม่ได้รบกวนกิจประจำวันของพวกเขามากนัก เขตการปกครองย่อยตามพื้นที่ต่าง ๆ ยังเป็นเช่นเดิม แต่ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นจะตกเป็นของชาวมุสลิมอาหรับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมถูกบังคับให้ยอมรับกฎหมายไม่เป็นธรรมซึ่งส่งเสริมสถานะของศาสนาอิสลามให้อยู่เหนือศาสนาคริสต์และศาสนายิวในสังคม จึงมีชาวคริสต์จำนวนหนึ่งในอัลอันดะลุสเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามโดยหวังจะได้รับสิทธิในสังคมเท่าเทียมกับชาวมุสลิม เช่น จ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องเป็นทาสหรือข้าติดที่ดินอีกต่อไป เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "มูลาดี"

หลังจากนั้นใน ค.ศ. 750 ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกราชวงศ์อับบาซียะฮ์จากกรุงแบกแดดขับออกจากอำนาจ กลุ่มผู้นำที่หลงเหลืออยู่ซึ่งมีเจ้าชายอับดุรเราะห์มานเป็นผู้นำได้หลบหนีมาที่ไอบีเรียและท้าทายอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ด้วยการประกาศให้กอร์โดบาเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ อัลอันดะลุสจึงประสบความขัดแย้งทั้งภายในหมู่ชาวอาหรับด้วยกันเองและกับชาววิซิกอท-โรมัน (ชาวคริสต์) ที่ยังอาศัยอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย กองทัพเรือกองแรกของอัลอันดะลุสได้รับการจัดตั้งขึ้นหลังจากที่ชาวไวกิงล่องเข้ามาถึงแม่น้ำกัวดัลกิบีร์และปล้นเมืองเซบิยาเมื่อ ค.ศ. 844[39]

ล่วงมาถึงในคริสต์ศตวรรษที่ 10 เจ้าชายอับดุรเราะห์มานที่ 3 ก็ได้จัดตั้งอาณาจักรกาหลิบแห่งกอร์โดบาขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสัมพันธ์กับกาหลิบแห่งแบกแดดอย่างสิ้นเชิง กอร์โดบาพยายามรักษาฐานกำลังในแอฟริกาเหนือไว้ แต่ในที่สุดก็เหลือเพียงดินแดนบริเวณรอบ ๆ เซวตาเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ชาวคริสต์ก็เริ่มอพยพเข้าไปสู่ภาคเหนือของคาบสมุทรอย่างช้า ๆ นับเป็นการเพิ่มกำลังให้กับบรรดาอาณาจักรคริสต์ [เช่น เคาน์ตีกัสติยา ราชอาณาจักรเลออน (อัสตูเรียสเดิม) และราชอาณาจักรนาวาร์ (บาสก์เดิม)] ยิ่งขึ้นด้วย แต่ถึงกระนั้น อัลอันดะลุสก็ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอาณาจักรคริสต์เหล่านั้นอยู่มากทั้งในด้านประชากร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และกำลังทหาร รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรคริสต์เองก็ทำให้อัลอันดะลุสยังปลอดภัยอยู่บ้าง

อาณาจักรมุสลิมในไอบีเรียกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งประมาณ ค.ศ. 1000 เมื่ออัลมันศูรพิชิตบาร์เซโลนาได้เมื่อ ค.ศ. 985[40] และต่อมาเมืองคริสต์อื่น ๆ ก็ถูกชาวมุสลิมเข้าจู่โจมอีกหลายครั้ง[41] แต่หลังจากสมัยของโอรสของอัลมันศูรไป ก็เกิดสงครามกลางเมือง จนทำให้ใน ค.ศ. 1031[42] อาณาจักรกาหลิบแห่งนี้ต้องแตกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ กว่า 40 แห่งซึ่งเรียกว่าฏออิฟะฮ์ ผู้ปกครองของแต่ละอาณาจักรนี้ก็แข่งขันกันเองไม่เพียงแต่ในการสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปกป้องคุ้มครองศิลปะอีกด้วย ทำให้วัฒนธรรมมุสลิมรุ่งเรืองขึ้นอีกในช่วงสั้น ๆ

เขตแดนของราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนใน ค.ศ. 1210

อย่างไรก็ตาม ฏออิฟะฮ์แต่ละแห่งค่อย ๆ สูญเสียดินแดนให้แก่ราชอาณาจักรคริสต์ทางเหนือ เอมีร์หรือผู้ปกครองชาวมุสลิมของฏออิฟะฮ์จึงไปขอความช่วยเหลือจากดินแดนภายนอกถึง 2 ครั้ง คือ จากราชวงศ์อัลมุรอบิฏูน หลังจากที่เสียโตเลโดไปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1085[43] และจากราชวงศ์อัลมุวะห์ฮิดูน (ซึ่งมีอำนาจขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์อัลมุรอบิฏูน) หลังจากเสียลิสบอนไปเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1147[44] อันที่จริงนักรบเหล่านั้นไม่ได้เข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียเพราะต้องการช่วยเหลือบรรดาเอมีร์ แต่ต้องการผนวกอาณาจักรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของตนในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ

เมื่อกลุ่มของราชวงศ์อัลมุวะห์ฮิดูนได้ครอบครองชายฝั่งแอฟริกาเหนือและอัลอันดะลุสซึ่งเคยเป็นของราชวงศ์อัลมุรอบิฏูนแล้ว ได้ย้ายศูนย์กลางของอัลอันดะลุสจากกอร์โดบาไปอยู่ที่เซบิยาใน ค.ศ. 1170[45] และจัดการกับผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามในดินแดนของตนอย่างรุนแรง เมื่อต้องเลือกว่าจะตายหรือจะยอมเปลี่ยนศาสนา ชาวยิวและชาวคริสต์จำนวนมากจึงตัดสินใจอพยพออกไปจากอัลอันดะลุส[46] บางส่วนหนีขึ้นเหนือเพื่อไปตั้งหลักในอาณาจักรคริสต์ซึ่งก็เริ่มมีชัยชนะในดินแดนทางใต้มากขึ้นในขณะที่จักรวรรดิอัลมุวะห์ฮิดูนไม่ได้ต่อต้านอย่างสม่ำเสมอ ในการรบครั้งสำคัญที่หมู่บ้านลัสนาบัสเดโตโลซา ค.ศ. 1212[47] กองทัพอัลมุวะห์ฮิดูนได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพชาวคริสต์ซึ่งเป็นพันธมิตรระหว่างราชอาณาจักรกัสติยา นาวาร์ อารากอน เลออน[47] และโปรตุเกส จนกระทั่งเมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวมุสลิมก็เสียกอร์โดบาและเซบิยาไป เหลือกรานาดาซึ่งปกครองโดยราชวงศ์นัศร์เป็นที่มั่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย

ราชอาณาจักรสเปน[แก้]

อาณาจักรต่าง ๆ บนคาบสมุทรไอบีเรียประมาณ ค.ศ. 1360

ในขณะที่การยึดดินแดนคืนกำลังดำเนินอยู่นั้น ราชรัฐและราชอาณาจักรคริสต์ทางตอนเหนือก็พัฒนาขึ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อาณาจักรที่มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอาณาจักรคริสต์เหล่านี้ได้แก่ ราชอาณาจักรกัสติยา (ครอบครองตอนกลางและตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย) และราชอาณาจักรอารากอน (ครอบครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร) กษัตริย์ผู้ปกครองของอาณาจักรทั้งสองนี้เป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ในโปรตุเกส (ซึ่งประกาศแยกตัวจากอาณาจักรกัสติยาและเลออนไปเป็นอิสระตั้งแต่ ค.ศ. 1129) ฝรั่งเศส และอาณาจักรใกล้เคียงอื่น ๆ บ่อยครั้งจะมีการอภิเษกสมรสระหว่างพระโอรสกับพระธิดาจากราชวงศ์ของอาณาจักรเหล่านี้ ทำให้ดินแดนที่ราชวงศ์เหล่านั้นปกครองได้เข้ามารวมกันอยู่เป็นอาณาจักรเดียว แต่ก็อาจจะแยกออกจากกันภายหลังได้เช่นกัน หากผู้ปกครองอาณาจักรนั้นสิ้นพระชนม์ลงและมีการแบ่งดินแดนให้พระโอรสและพระธิดาพระองค์ต่าง ๆ ปกครอง

แม้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชนกลุ่มน้อยทางศาสนา (ชาวยิวและชาวมุสลิม) จะได้รับการยอมรับให้อยู่ร่วมกันกับชาวคริสต์ในกัสติยาและอารากอน (ซึ่งเป็นอาณาจักรคริสต์เพียงสองแห่งที่ชาวยิวไม่ถูกจำกัดการประกอบอาชีพ) ก็ตาม แต่สถานการณ์ของชาวยิวก็เริ่มแย่ลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และถึงจุดร้ายแรงเมื่อ ค.ศ. 1391[48][49] ซึ่งมีการสังหารหมู่ชาวยิวเกิดขึ้นแทบทุกเมืองใหญ่ เช่น เซบิยา โตเลโด บาเลนเซีย บาร์เซโลนา และโลกรอญโญ[48] เมื่อถึงศตวรรษต่อมา ครึ่งหนึ่งจากจำนวนชาวยิวในสเปนประมาณ 200,000 คนได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์แล้ว เรียกว่าคนกลุ่มนี้ว่า "กอนเบร์โซ"

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 ใน ค.ศ. 1474 ทำให้ราชบัลลังก์กัสติยาว่างลงเนื่องจากไม่มีรัชทายาท เกิดความขัดแย้งในการการอ้างสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ระหว่างฝ่ายของเจ้าหญิงฆัวนาลาเบลตราเนฆาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรตุเกสและฝรั่งเศส กับฝ่ายของเจ้าหญิงอิซาเบลที่ได้รับการสนับสนุนจากอารากอนและชนชั้นสูงของกัสติยา จนกระทั่งหลังจากสงครามการสืบราชบัลลังก์กัสติยาสิ้นสุดลง อิซาเบลก็ได้ขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม "สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา" และทรงปกครองอาณาจักรร่วมกับพระราชสวามี (ซึ่งทรงอภิเษกสมรสกันตั้งแต่ ค.ศ. 1469 ที่เมืองบายาโดลิด) คือ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 5 แห่งกัสติยา ต่อมาใน ค.ศ. 1479 พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 5 ได้ทรงขึ้นครองอาณาจักรอารากอนต่อจากพระเจ้าชวนที่ 2 ผู้เป็นพระราชบิดาด้วย และเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 แห่งอารากอน" การอภิเษกสมรสและครองราชย์ร่วมกันครั้งนี้ได้ทำให้ราชอาณาจักรกัสติยาและราชอาณาจักรอารากอนเข้ามารวมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเป็นราชอาณาจักรสเปนในเวลาต่อมา[50]

พระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 (ซ้าย) และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบล (ขวา)

หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลและพระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 ทรงยึดเมืองกรานาดาคืนจากชาวมุสลิมได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1492 (ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการพิชิตดินแดนคืน) ก็ทรงเป็นที่รู้จักในพระนาม "พระมหากษัตริย์คาทอลิก" ซึ่งเป็นสมญานามที่ทรงได้รับจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 นอกจากนี้ ในสมัยของพระองค์ทั้งสอง กัสติยาและอารากอนยังได้รับกรรมสิทธิ์ในการครอบครองกานาเรียสในมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทั้งสองทรงอนุมัติและสนับสนุนการสำรวจดินแดนของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ไปถึงโลกใหม่ (หากไม่นับเลฟ เอริกสัน) ซึ่งจะนำความมั่งคั่งเข้ามาสู่สเปนและเป็นทุนให้รัฐใหม่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของยุโรปในอีกสองศตวรรษถัดมา

ใน ค.ศ. 1492 กษัตริย์คาทอลิกทั้งสองพระองค์ได้ทรงดำเนินการขั้นสุดท้ายกับคนต่างศาสนา คือ ทรงออกพระราชกฤษฎีกาอาลัมบราให้ชาวยิวที่เหลือเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ มิฉะนั้นก็ต้องอพยพออกไปจากสเปน ซึ่งพอประมาณได้ว่าจำนวนชาวยิวที่ถูกขับไล่ออกไปนั้นอยู่ที่ 150,000[51]–200,000 คน[52] และอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา ชาวมุสลิมก็ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา (เรียกคนกลุ่มนี้ว่า "โมริสโก") หรือไม่ก็ถูกขับไล่ออกไป แต่ชาวยิวและชาวมุสลิมก็ไม่ใช่ประชากรเพียงสองกลุ่มในสเปนที่ถูกไล่ล่าในช่วงนี้ ชาวโรมานีก็ถูกรวมอยู่ในบัญชีกลุ่มคนที่จะต้องถูกกลืนเชื้อชาติศาสนาหรือถูกเนรเทศเช่นกัน[53]

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลยังทรงสร้างความมั่นคงทางการเมืองของสเปนในระยะยาวด้วยวิธีจัดการอภิเษกสมรสระหว่างพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์กับพระราชวงศ์ของอาณาจักรอื่น ๆ ในยุโรป พระราชธิดาพระองค์แรกคือเจ้าหญิงอิซาเบล ทรงอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารอาฟงซูแห่งโปรตุเกส เจ้าหญิงฆัวนาพระราชธิดาพระองค์ที่สองทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม พระราชโอรสของพระเจ้ามัคซีมีลีอาน กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย (ออสเตรีย) และทรงมีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางและมีอำนาจมากด้วย เจ้าชายฆวนพระราชโอรสพระองค์แรกและพระองค์เดียว ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรเทอแห่งออสเตรีย (พระขนิษฐาของเจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม) เจ้าหญิงมาริอาพระราชธิดาพระองค์ที่สี่ ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส และเจ้าหญิงกาตาลินาพระราชธิดาพระองค์ที่ห้า ทรงสมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ และต่อมากลายเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ

มหาวิทยาลัยซาลามังกา

ภาษาและมหาวิทยาลัยของสเปน[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีหลายภาษาที่ใช้พูดกันในเขตที่มีชาวคริสต์อาศัยอยู่ของดินแดนที่เป็นประเทศสเปนปัจจุบัน ได้แก่ ภาษากัสติยา ภาษากาตาลา ภาษาบาสก์ ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน และภาษาอัสตูเรียส-เลออน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งศตวรรษนี้ มีเฉพาะภาษากัสติยา (ซึ่งจะพัฒนามาเป็นภาษาสเปนทุกวันนี้) ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ[ต้องการอ้างอิง] ในอาณาจักรกัสติยาในฐานะภาษาแห่งวัฒนธรรมและการสื่อสาร ตัวอย่างหนึ่งคือ บทสดุดีวีรกรรมของเอลซิด

ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 (พระเจ้าเฟร์นันโดนักบุญ) ก็เริ่มมีการใช้ภาษากัสติยาบ้างในเอกสารต่าง ๆ แต่มากลายเป็นภาษาราชการก็ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 (พระเจ้าอัลฟอนโซผู้ทรงปัญญา) และนับจากนั้นเป็นต้นมา เอกสารต่าง ๆ ของทางการก็ได้รับการเขียนขึ้นเป็นภาษากัสติยา รวมทั้งตำราจากภาษาอื่นก็ได้รับการแปลเป็นภาษากัสติยาแทนภาษาละติน

ยิ่งไปกว่านั้น ในศตวรรษเดียวกันนี้เอง มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในอาณาจักรกัสติยา บางแห่ง (เช่น มหาวิทยาลัยซาลามังกา) เป็นหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป และใน ค.ศ. 1492 ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์คาทอลิก ตำราไวยากรณ์ภาษากัสติยาฉบับแรกก็ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นโดยอันโตนิโอ เด เนบริฆา[54]

จักรวรรดิสเปน[แก้]

โคลัมบัสเริ่มเข้าจับจองดินแดนบนโลกใหม่

จักรวรรดิสเปนเป็นหนึ่งในบรรดาจักรวรรดิระดับโลกสมัยใหม่และเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สเปนและโปรตุเกสเป็นผู้นำของยุโรปในการสำรวจโลก การขยายอาณานิคม รวมทั้งการเปิดเส้นทางการค้าข้ามมหาสมุทร การค้าได้เจริญเฟื่องฟูขึ้นข้ามน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสเปนกับอเมริกา และข้ามน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเอเชียตะวันออกกับเม็กซิโก (ผ่านทางฟิลิปปินส์) เหล่ากองกิสตาดอร์ ("ผู้พิชิต") ได้เข้าไปล้มล้างอารยธรรมแอซเท็ก อินคา และมายา และอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้อันกว้างขวาง ในช่วงหนึ่งจักรวรรดิสเปนมีอำนาจเหนือมหาสมุทรต่าง ๆ ด้วยกองทัพเรือที่มีประสบการณ์และมีชัยชนะในสนามรบในทวีปยุโรปด้วยกองทัพที่มีชื่อว่าเตร์ซิโอ ซึ่งเป็นทหารราบที่น่าเกรงขามและได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี นอกจากนี้ สเปนยังเข้าสู่ยุคทองทางวัฒนธรรมของตนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 อีกด้วย

แผนที่จักรวรรดิสเปนและโปรตุเกสในยุคของสหภาพไอบีเรียภายใต้สถานะรัฐร่วมประมุขแห่งกษัตริย์สเปน (ค.ศ. 1580–1640)

ที่จริงในช่วงแรก ๆ นั้น ชาวสเปนค่อนข้างผิดหวังกับดินแดนในทวีปอเมริกาที่ตนได้ยึดครองไว้ เนื่องจากชนพื้นเมืองไม่มีอะไรที่จะทำการค้าด้วยมากนัก แม้ว่าผู้ที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นจะพยายามผลักดันการค้าขายก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นโรคภัยที่ติดตัวนักล่าอาณานิคมไปก็ได้คร่าชีวิตชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นของเขตอารยธรรมแอซเท็ก มายา และอินคา นี่เองที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของดินแดนอาณานิคมสเปนลดลง

ในคริสต์ทศวรรษ 1520 การสกัดแร่เงินขนานใหญ่จากแหล่งสะสมอันอุดมสมบูรณ์ในแคว้นกัวนาฮัวโตของเม็กซิโกได้เริ่มต้นขึ้น และเพิ่มปริมาณขึ้นอีกจากเหมืองแร่เงินอีกสองแห่งในแคว้นซากาเตกัสของเม็กซิโกและแคว้นโปโตซีของเปรูตั้งแต่ ค.ศ. 1546 การขนส่งแร่เงินเหล่านี้เป็นตัวปรับทิศทางเศรษฐกิจสเปน ทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เมล็ดพืช และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ สินค้าเหล่านี้ยังกลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อการบำรุงแสนยานุภาพของสเปนสมัยราชวงศ์ฮาพส์บวร์คในการรบอันยืดเยื้อระหว่างชาวยุโรปกับชาวแอฟริกาเหนือ แม้ว่าตัวของสเปนเองโดยเฉพาะแคว้นกัสติยาจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญมากที่สุดอยู่แล้วก็ตาม (ยกเว้นในช่วงไม่กี่ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 17) จากจุดเริ่มต้นที่ได้รวมจักรวรรดิโปรตุเกสเข้าด้วยกันใน ค.ศ. 1580 จนถึงการเสียอาณานิคมของตนในอเมริกาไปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น สเปนได้ดำรงฐานะจักรวรรดิที่ใหญ่สุดในโลกที่ถึงแม้จะประสบกับความผันผวนทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1640 เป็นต้นมา และเมื่อได้พบกับประสบการณ์ใหม่ ๆ รวมทั้งความยากลำบากและความทุกข์ทรมานอันเกิดจากการก่อร่างสร้างตัวเป็นจักรวรรดินั้น บรรดานักคิดของสเปนจึงเริ่มตั้งทฤษฎีแนวคิดสมัยใหม่ว่าด้วยกฎธรรมชาติ เทววิทยา อำนาจอธิปไตย กฎหมายระหว่างประเทศ สงคราม และเศรษฐศาสตร์ แม้กระทั่งการตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของลัทธิจักรวรรดินิยม สำนักความคิดที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่าสำนักซาลามังกา

สเปนสมัยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (คริสต์ศตวรรษที่ 16–17)[แก้]

จักรวรรดิที่ทรงอำนาจของสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดและเสื่อมลงภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยแผ่ขยายอำนาจอย่างกว้างขวางในรัชสมัยของพระเจ้าการ์โลสที่ 1[55] ซึ่งพระองค์ยังทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในดินแดนเยอรมันและออสเตรียอีกด้วย โดยเฉลิมพระนาม "จักรพรรดิคาร์ลที่ 5"

พระเจ้าการ์โลสที่ 1 หนึ่งในกษัตริย์ยุโรปที่ทรงอำนาจมากที่สุดระหว่างรัชสมัยของพระองค์

พระเจ้าการ์โลสที่ 1 (จักรพรรดิคาร์ลที่ 5) เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าเฟลิเปที่ 1 แห่งสเปน (เจ้าชายฟิลลิพผู้ทรงโฉม พระราชโอรสในจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) และสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาแห่งกัสติยา (เจ้าหญิงฆัวนา พระราชธิดาพระองค์ที่สองในพระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 แห่งอารากอน และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยาแห่งราชวงศ์ตรัสตามารา) ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปนใน ค.ศ. 1516 นับแต่นั้นมาสเปนก็เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในหมู่กษัตริย์ของยุโรปมากยิ่งขึ้น พระองค์ไม่ได้ประทับในสเปนบ่อยนัก ในปลายรัชสมัย พระองค์ได้ทรงเตรียมการแบ่งมรดกของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือจักรวรรดิสเปนซึ่งรวมถึงเนเปิลส์ มิลาน เนเธอร์แลนด์ และอาณานิคมในทวีปอเมริกา และอีกส่วนคือตัวจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เองซึ่งรวมถึงออสเตรีย

ผู้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์สเปนหลังการสละราชสมบัติของพระเจ้าการ์โลสที่ 1 ใน ค.ศ. 1556 คือ พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง สเปนรอดพ้นจากความขัดแย้งทางศาสนาซึ่งกำลังลุกลามไปทั่วทุกดินแดนส่วนอื่น ๆ ของยุโรปในขณะนั้นและสามารถธำรงศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไว้ได้ พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ทรงอุทิศพระองค์ให้กับคาทอลิกโดยทรงต่อต้านทั้งชาวเติร์กออตโตมันและกลุ่มผู้นับถือลัทธินอกรีต ในคริสต์ทศวรรษ 1560 แผนการที่จะควบคุมเนเธอร์แลนด์ให้มั่นคง (ความพยายามรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง) ได้นำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งภายหลังเกิดกลุ่มผู้นำการลุกขึ้นต่อต้านซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ลัทธิคาลวิน (นิกายโปรเตสแตนต์สาขาหนึ่ง) และเกิดสงครามแปดสิบปี (ค.ศ. 1568–1648) ขึ้น ความขัดแย้งนี้ทำให้สเปนสูญเสียค่าใช้จ่ายในการทำสงครามเป็นจำนวนมากจึงพยายามที่จะไปยึดครองอังกฤษ (ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนชาวดัตช์ให้ลุกฮือขึ้น) แต่กองทัพเรืออาร์มาดาของสเปนกลับประสบความพ่ายแพ้ในสงครามอังกฤษ–สเปน (ค.ศ. 1585–1604 เป็นส่วนหนึ่งของสงครามแปดสิบปี) และสงครามระหว่างสเปนกับฝรั่งเศส (ค.ศ. 1590–1598)

ภาพวาดเรือรบสเปนถูกกองทัพเรือดัตช์ทำลายระหว่างยุทธนาวีที่อ่าวยิบรอลตาร์ ค.ศ. 1607 โดยแฮ็นดริก กอร์เนลิส โฟรม (ผู้พ่อ)
ภาพวาดเรือรบสเปนกำลังต่อสู้กับโจรสลัด ค.ศ. 1615 โดยกอร์เนลิส แฮ็นดริกส์ โฟรม (ผู้ลูก)

แม้จะเกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้น แต่การหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแร่เงินจากอเมริกาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 รวมทั้งกิตติศัพท์ของทหารราบและการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกองทัพเรือหลังจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการรบกับอังกฤษ ทำให้สเปนกลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป สหภาพไอบีเรียซึ่งรวมโปรตุเกสไว้ด้วยตั้งแต่ ค.ศ. 1580 ไม่เพียงแต่ทำให้ดินแดนทั้งหมดบนคาบสมุทรไอบีเรียกลายเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มแหล่งทรัพยากรทั่วโลกให้กับสเปนอีกด้วย (เช่นที่บราซิลและอินเดีย) อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจและการบริหารก็เพิ่มขึ้นในแคว้นกัสติยา ส่งผลให้ในศตวรรษถัดมาเกิดปัญหาเงินเฟ้อ การขับไล่ชาวยิวและชาวมัวร์ และภาวะพึ่งพิงการนำเข้าเงินและทองคำ ทั้งหมดรวมกันก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะในแคว้นที่ต้องรับภาระหนักอย่างกัสติยา

หมู่บ้านชายฝั่งต่าง ๆ ของสเปนและหมู่เกาะแบลีแอริกมักถูกโจรสลัดบาร์บารีจากแอฟริกาเหนือเข้าปล้นสะดมและโจมตีเสมอ ๆ เกาะฟูร์มันเตรารวมทั้งชายฝั่งซึ่งเป็นแนวยาวของสเปนและอิตาลี (ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากรังของโจรสลัดบนชายฝั่งแอฟริกาเหนือเป็นระยะทางไม่มากนัก) เกือบทั้งหมดแทบไม่มีผู้คนหลงเหลืออยู่ โจรสลัดที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ บาร์บารอสซา ("เคราแดง") ซึ่งเป็นชาวเติร์ก ชาวยุโรปจำนวนมากถูกจับและขายเป็นทาสในแอฟริกาเหนือและจักรวรรดิออตโตมันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปัญหานี้ค่อย ๆ คลายความรุนแรงลงเมื่อสเปนและมหาอำนาจชาวคริสต์อื่น ๆ เริ่มตรวจสอบอำนาจของกองทัพเรือมุสลิมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลังได้รับชัยชนะที่เมืองเลปันโตเมื่อ ค.ศ. 1571[56]

ระหว่าง ค.ศ. 1596–1602 เกิดกาฬโรคระบาดอย่างหนักในแคว้นกัสติยา คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 600,000–700,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด[57] พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1598 และพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 พระราชโอรสก็ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ในรัชสมัยของพระองค์ ข้อตกลงสงบศึกกับชาวดัตช์ (ในสงครามแปดสิบปี) ที่ดำเนินมาเป็นเวลา 10 ปีได้สิ้นสุดลง และสเปนก็เข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618–1648 เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีสุดท้ายของสงครามแปดสิบปี)

พระเจ้าเฟลิเปที่ 4 ทรงสืบทอดราชสมบัติสเปนต่อจากพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 ผู้เป็นพระราชบิดาใน ค.ศ. 1621 นโยบายการบริหารส่วนใหญ่ดำเนินการโดยอัครมหาเสนาบดีกัสปาร์ เด กุซมัน อี ปิเมนตัล เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลิบาเรส ใน ค.ศ. 1640 ในขณะที่การรบ (สงครามสามสิบปี) ในยุโรปกลางยังไม่มีผู้ชนะโดยเด็ดขาดยกเว้นฝรั่งเศส ทั้งโปรตุเกสและกาตาลุญญาได้ก่อการจลาจลขึ้น สเปนต้องเสียโปรตุเกสไปอย่างถาวร ส่วนในอิตาลีและกาตาลุญญานั้น กองกำลังของฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกไปและความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของกาตาลุญญาก็ถูกปราบปราม นอกจากนี้ ก็เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอกของกาฬโรคทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของคาบสมุทรในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1647–1652 หลังจากนี้ก็เกิดการระบาดขึ้นอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งศตวรรษ ปรากฏว่าในสเปนรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1,250,000 คนจากกาฬโรคที่แพร่ระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้[57]

ในรัชสมัยของพระเจ้าการ์โลสที่ 2 พระราชโอรสในพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 ซึ่งทรงมีพัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้านั้น[58] สเปนสูญเสียความเป็นผู้นำในยุโรปและค่อย ๆ ลดฐานะลงเป็นชาติมหาอำนาจชั้นรอง ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตโดยยังไม่ทรงมีรัชทายาท เจ้าชายฟีลิป ดุ๊กแห่งอ็องฌู ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บงจากฝรั่งเศส และเป็นหนึ่งในผู้มีกรรมสิทธิ์ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์สเปนและเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟลิเปที่ 5" แต่ก็ถูกต่อต้านจากมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรป เช่น อังกฤษ ปรัสเซีย ซาวอย และเดนมาร์ก–นอร์เวย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทรงอ้างกรรมสิทธิ์ในการปกครองสเปนเช่นกัน ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (ค.ศ. 1701–1714) ขึ้น สงครามสิ้นสุดลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งให้พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 ทรงปกครองสเปนต่อไป จึงถือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรง "ชนะ" สงครามนี้ในที่สุด และในการนี้จึงก่อให้เกิดราชวงศ์บูร์บงสายสเปนขึ้น ในขณะที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสายสเปนได้ยุติบทบาทลงหลังจากปกครองประเทศมาร่วม 200 ปี[59] อย่างไรก็ตาม สเปนก็ต้องเสียเนเธอร์แลนด์ มิลาน เนเปิลส์ และเกาะซาร์ดิเนียให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เสียเกาะซิซิลีให้ซาวอย และเสียยิบรอลตาร์และเกาะมินอร์กาให้อังกฤษตามสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ชาติมหาอำนาจใดในยุโรปมีอำนาจมากเกินไป จักรวรรดิสเปนจึงมีพื้นที่และอาณาเขตในทวีปยุโรปน้อยลงมาก

ยุคทอง[แก้]

โตเลโด โดยเอลเกรโก

ยุคทองของสเปน ("ซิโกลเดลโอโร" ในภาษาสเปน) เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและอักษรศาสตร์ในจักรวรรดิสเปน (ปัจจุบันคือประเทศสเปนและประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการในภูมิภาคลาตินอเมริกา) ร่วมสมัยกับการเสื่อมถอยทางการเมืองของสเปนในรัชสมัยพระเจ้าเฟลิเปที่ 3 พระเจ้าเฟลิเปที่ 4 และพระเจ้าการ์โลสที่ 2 นักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของยุค คือ ฆัวนา อิเนส เด ลา กรุซ ถึงแก่กรรมในนิวสเปนเมื่อ ค.ศ. 1695

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คทั้งในสเปนและออสเตรียต่างก็เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ในประเทศของตน เอลเอสโกเรียล อารามหลวงที่พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 ทรงสั่งให้สร้างขึ้นนั้นได้ดึงดูดความสนใจจากสถาปนิกและจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปจำนวนหนึ่ง ดิเอโก เบลัซเกซ จิตรกรที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรปได้สร้างไมตรีกับพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 และอัครมหาเสนาบดีในพระองค์ (เคานต์-ดุ๊กแห่งโอลิบาเรส) เบลัซเกซวาดรูปคนเหมือนอันแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและทักษะของเขาไว้ให้เราได้ศึกษา ส่วนเอลเกรโก ศิลปินสเปนซึ่งเป็นที่นับถืออีกคนหนึ่งก็เป็นผู้ที่นำรูปแบบศิลปะเรอเนซองซ์แบบอิตาลีเข้ามาผสมผสานกับศิลปะสเปน และช่วยสร้างสรรค์รูปแบบจิตรกรรมสเปนให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ผลงานดนตรีชิ้นเยี่ยมของสเปนจำนวนหนึ่งคาดว่าได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในยุคนี้ นักประพันธ์เพลง เช่น โตมัส ลุยส์ เด บิกโตเรีย, ลุยส์ เด มิลัน และอาลอนโซ โลโบ ได้ช่วยทำให้ดนตรีสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และอิทธิพลของพวกเขายังส่งผลมาถึงในสมัยบารอก

วงการวรรณกรรมของสเปนก็เฟื่องฟูในยุคนี้เช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ ผลงานที่มีชื่อเสียงของมิเกล เด เซร์บันเตส ผู้ประพันธ์ ดอนกิโฆเต้แห่งลามันช่า หรือโลเป เด เบกา ซึ่งเป็นนักเขียนบทละครที่มีผลงานมากที่สุดของสเปน เขียนบทละครมากถึงประมาณ 1,000 เรื่องในช่วงชีวิตของเขา และมากกว่า 400 เรื่องในจำนวนนั้นยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคภูมิธรรม : สเปนสมัยราชวงศ์บูร์บง (คริสต์ศตวรรษที่ 18)[แก้]

พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์บูร์บงซึ่งมีต้นกำเนิดในฝรั่งเศสได้ทรงออกพระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาใน ค.ศ. 1715 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ล้มล้างสิทธิและเอกสิทธิ์ส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของแต่ละอาณาจักรที่ประกอบกันเป็นสเปน โดยรวบอำนาจบริหารของอาณาจักรเหล่านั้นเข้าสู่ศูนย์กลางภายใต้กฎหมายของกัสติยา[60] นอกจากนี้ สเปนยังกลายเป็นบริวารทางวัฒนธรรมและการเมืองของฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย อำนาจการปกครองสเปนของราชวงศ์บูร์บงยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การปกครองของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 6 และพระเจ้าการ์โลสที่ 3

คาบสมุทรไอบีเรียในคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภายใต้การปกครองของพระเจ้าการ์โลสที่ 3 และอัครมหาเสนาบดีในพระองค์ คือ เลโอโปลโด เด เกรโกริโอ มาร์ควิสแห่งสกวิลลาเช และโฆเซ มอญญิโน เคานต์แห่งโฟลริดาบลังกา สเปนก็ได้เข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมซึ่งนำพาสเปนไปสู่ความมั่งคั่งครั้งใหม่ในตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และหลังจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ร่วมกับฝรั่งเศสต่ออังกฤษในสงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756–1763) สเปนก็ได้ดินแดนที่เคยสูญเสียไปคืนมาเกือบทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดสงครามปฏิวัติอเมริกัน (ค.ศ. 1775–1783)

จิตวิญญาณนักปฏิรูปของพระเจ้าการ์โลสที่ 3 ดับสูญลงเมื่อพระราชโอรสองค์โตในพระองค์ คือ พระเจ้าการ์โลสที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงปล่อยให้มานูเอล โกดอย คนสนิทของพระมเหสีมีอำนาจในการบริหารประเทศเหนือพระองค์ และพระองค์ก็ทรงออกนโยบายซึ่งหักล้างกับแนวทางการปฏิรูปในรัชสมัยของพระราชบิดาอีกด้วย หลังจากที่ได้ต่อต้านฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติ (ช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส) ในระยะเวลาสั้น ๆ[61] ไม่นานนักสเปนก็กลับไปเป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้านทางเหนือแห่งนี้อีกครั้ง[62] และประกาศสงครามกับอังกฤษ[63] ทำให้สเปนถูกอังกฤษเข้าปิดล้อมทางทะเลเป็นการตอบโต้ การเสียพันธะทางการค้าและการเมืองกับอาณานิคมของตนรวมทั้งการถูกกองทัพนโปเลียนยึดครองในเวลาต่อมานั้น ได้นำไปสู่การเรียกร้องเอกราชของดินแดนเกือบทั้งหมดในโลกใหม่ของจักรวรรดิสเปน การไร้จุดยืนของพระเจ้าการ์โลสที่ 4 ในฐานะพันธมิตรของฝรั่งเศสเป็นตัวชักนำจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (นโปเลียน โบนาปาร์ต) แห่งฝรั่งเศสให้ยกทัพเข้ารุกรานสเปนใน ค.ศ. 1808

ในช่วงเวลาเกือบตลอดทั้งคริสต์ศตวรรษที่ 18 สเปนประสบความก้าวหน้ามากขึ้นหลังจากเข้าสู่สมัยแห่งความตกต่ำในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ก็ยังคงล้าหลังในการพัฒนาด้านภูมิธรรมและด้านการค้าซึ่งได้เปลี่ยนแปลงส่วนอื่น ๆ ของยุโรปไปแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศต่ำ และบางส่วนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายอันเป็นผลจากการแทรกแซงของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 นั้นจะยิ่งทำให้ระยะห่างนี้กว้างยิ่งขึ้น

สงครามนโปเลียนและสงครามประกาศเอกราชสเปน (ค.ศ. 1808–1814)[แก้]

วันที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 1808 โดยฟรันซิสโก โกยา แสดงทหารฝรั่งเศสกำลังกราดกระสุนใส่กลุ่มผู้ต่อต้านชาวสเปน

ในช่วงแรกของสงครามนโปเลียน (ค.ศ. 1803–1815) สเปนอยู่ฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติ[61] ความพ่ายแพ้ของกองทัพในช่วงต้น ๆ ของสงครามได้ทำให้พระเจ้าการ์โลสที่ 4 ทรงตัดสินพระทัยอย่างจริงจังที่จะไปเข้าข้างฝ่ายฝรั่งเศส แต่เมื่อกองทัพเรือผสมฝรั่งเศส–สเปนถูกกองทัพเรืออังกฤษทำลายอย่างย่อยยับในยุทธนาวีที่แหลมตราฟัลการ์ (ค.ศ. 1805)[64] พระองค์ก็ทรงกลับไปทบทวนการเข้าข้างฝรั่งเศสใหม่โดยทันที สเปนถอนตัวจากระบบภาคพื้นทวีป และแม้จะกลับไปเข้าร่วมอีกครั้งใน ค.ศ. 1807 แต่ก็ทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ไม่ทรงพอพระทัยอย่างมาก

อนึ่ง การที่สเปนถูกอังกฤษปิดล้อมทางทะเลเนื่องจากไปเข้าข้างฝรั่งเศสนั้น ทำให้อาณานิคมในอเมริกาถูกตัดขาดจากผู้ปกครองของตนเป็นครั้งแรกและเริ่มต้นทำการค้าขายกับอังกฤษได้อย่างอิสระ ความพ่ายแพ้ของอังกฤษซึ่งเข้าไปรุกรานริโอเดลาปลาตา (ค.ศ. 1806–1807 ส่วนหนึ่งของสงครามนโปเลียน) ในอเมริกาใต้ยังช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้กับผู้ต้องการเป็นเอกราชในอาณานิคมอเมริกาของสเปนมากขึ้น

นอกจากนี้ ในสเปนเองโดยเฉพาะที่กรุงมาดริดก็เกิดจลาจลต่อต้านรัฐมนตรีโกดอยขึ้นทั่วไป เนื่องจากความโลเลไม่แน่นอนของเขาในการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศกับฝรั่งเศส[63] ค.ศ. 1808 พระเจ้าการ์โลสที่ 4 ต้องทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสคือเจ้าชายเฟร์นันโด ซึ่งขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนาม "พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7" แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (ซึ่งไม่ทรงไว้วางพระทัยราชสำนักสเปนอีกต่อไป) ทรงส่งกองทัพเข้ารุกรานสเปนและบีบบังคับให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติแก่โจเซฟ โบนาปาร์ต (พระเชษฐาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1) ให้เป็นกษัตริย์ของสเปนแทน อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนและทหารสเปนก็ได้ต่อต้านอย่างแข็งขัน โดยประกาศตนอยู่ฝ่ายเดียวกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 การต่อสู้ครั้งนี้มีชื่อเรียกว่าสงครามคาบสมุทร (ค.ศ. 1808–1814) หรือที่ชาวสเปนเรียกว่า "สงครามประกาศเอกราชสเปน" ขณะที่สภาเมืองบัวโนสไอเรสและสภาเมืองการากัสในอเมริกาใต้ได้ประกาศเอกราชจากรัฐบาลโบนาปาร์ตในสเปนเมื่อ ค.ศ. 1810 และ ค.ศ. 1811 ตามลำดับ[65]

"สภา" ตามเมืองต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในสเปน[66] นอกจากเพราะต้องการต่อต้านฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังคาดหวังสิทธิ์ในการปกครองตนเองมากขึ้นจากกรุงมาดริดภายใต้รัฐธรรมนูญเสรีนิยมซึ่งสภาแต่ละแห่งได้ร่างไว้ด้วย รัฐสภาสเปนได้ลี้ภัยจากกรุงมาดริดมายังเมืองเซบิยาทางภาคใต้ แต่ถูกฝรั่งเศสผลักดันไปยังเมืองกาดิซ[67] และใน ค.ศ. 1812 สภากาดิซ (ชื่อเรียกรัฐสภาขณะลี้ภัยอยู่ที่เมืองนี้) ได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้น นับเป็นรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ฉบับแรกของสเปน มีชื่อเล่นว่า "ลาเปปา"[68] ฝรั่งเศสจึงตอบโต้การตรารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวโดยผนวกแคว้นกาตาลุญญาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน

ขณะเดียวกัน กองทัพโปรตุเกสร่วมกับกองทัพอังกฤษนำโดยอาร์เทอร์ เวลส์ลีย์ ดุ๊กแห่งเวลลิงตัน ได้เข้าสู้รบกับกองทัพฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 สงครามอันโหดร้ายครั้งนี้เป็นหนึ่งในสงครามครั้งแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่ที่ใช้วิธีการรบแบบกองโจร เส้นทางขนส่งเสบียงของฝรั่งเศส (ในสเปน) ถูกชาวสเปนซุ่มโจมตีหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งผลการรบในคาบสมุทรไอบีเรียก็ยังผันผวนไปมา ดุ๊กแห่งเวลลิงตันใช้เวลาหลายปีอยู่ในป้อมปราการที่โปรตุเกสและส่งกองทัพเข้าไปรบในเขตสเปนเมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม ในที่สุดฝรั่งเศสก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในยุทธการที่เมืองบิโตเรียทางภาคเหนือของสเปนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1813 และในปีถัดมา และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งสเปนอีกครั้ง

สเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1814–1868)[แก้]

แม้ว่าสภาต่าง ๆ ที่มีส่วนในการผลักดันฝรั่งเศสออกไปจากสเปนจะให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1812 แล้วก็ตาม แต่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 กลับทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นเสรีมากเกินไปสำหรับประเทศ (ระบุให้กษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ) พระองค์จึงทรงปฏิเสธที่จะให้การรับรองและดำเนินการปกครองประเทศในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามอย่างกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ กลุ่มเสรีนิยมในสเปนจึงรู้สึกเหมือนถูกหักหลังจากกษัตริย์ที่ตนเองเคยสนับสนุน ส่วนสภาตามท้องถิ่นที่เคยต่อต้านโจเซฟ โบนาปาร์ต ต่างก็สูญเสียความเชื่อมั่นในการปกครองของกษัตริย์ของตน

แม้ว่าในสเปนยังพอจะยอมรับการปฏิเสธรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ แต่นโยบายนี้ก็ได้รับเสียงต่อต้านจากอาณานิคมของสเปนในโลกใหม่ การปฏิวัติเพื่อเรียกร้องเอกราชยังคงดำเนินต่อไป กองทัพสเปนไปถึงอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1814 และมีชัยชนะในการรบในดินแดนต่าง ๆ ในช่วงแรก แต่อาร์เจนตินาก็ประกาศเอกราชใน ค.ศ. 1816[65] (เป็นอิสระโดยปริยายตั้งแต่ ค.ศ. 1807 ที่สามารถต่อต้านการรุกรานของอังกฤษได้สำเร็จ) ส่วนชิลีนั้นสเปนยึดกลับมาได้ใน ค.ศ. 1814 แต่ก็เสียไปอย่างถาวรใน ค.ศ. 1818[65] เมื่อกองทหารของโฆเซ เด ซาน มาร์ติน (หนึ่งในนักปฏิวัติเพื่อเอกราชของอเมริกาใต้) เดินทางจากอาร์เจนตินาข้ามเทือกเขาแอนดีสเข้ามาสมทบและเอาชนะทหารสเปนได้ และต่อมาสเปนก็เสียโคลอมเบียไปอีกใน ค.ศ. 1819[65]

ราฟาเอล เดล ริเอโก

เมื่อถึง ค.ศ. 1820 เม็กซิโก เปรู เอกวาดอร์ และอเมริกากลางยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมจากสเปน และพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงตัดสินพระทัยจะยึดอาณานิคมที่เสียไปกลับคืนมา แต่สเปนก็ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนรวมทั้งแบ่งสรรอาหารและจัดหาที่พักสภาพดีให้กับทหารได้ เพราะแทบจะล้มละลายหลังจากการทำสงครามกับฝรั่งเศสและการฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่ ในปีเดียวกัน กองทหารที่กำลังจะถูกส่งไปปฏิบัติการในอเมริกาได้ก่อกบฏขึ้นที่เมืองกาดิซ (มีราฟาเอล เดล ริเอโก เป็นผู้นำ) และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1812 กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งกองทัพทั่วประเทศก็ประกาศเข้าข้างผู้ก่อการครั้งนี้ พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 จึงทรงยินยอมและยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ต่อมากลุ่มนักปฏิวัติได้ล้อมพระราชวังไว้และกักบริเวณพระองค์ไว้ การลุกฮือเกิดขึ้นอีกในกองทหารที่กรุงมาดริดและสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นในเมืองโตเลโด แคว้นกัสติยา และแคว้นอันดาลูซิอา

การปกครองของรัฐบาลเสรีนิยม "หัวก้าวหน้า" และสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นร่วมกันนั้นจะเป็นตัวอย่างของการเมืองสเปนในศตวรรษถัดมา รัฐบุรุษชาติอื่น ๆ ของยุโรปต่างเห็นว่า รัฐบาลเสรีนิยมชุดนี้มีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลฝรั่งเศสสมัยการปฏิวัติเป็นอย่างมาก ในการประชุมใหญ่แห่งเวโรนา (ค.ศ. 1822) ฝรั่งเศสก็ได้รับการอนุมัติให้ใช้กำลังเข้าแทรกแซงสเปนและสามารถยึดกรุงมาดริดไว้ได้ กองกำลังปฏิวัติจนมุมและพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1823 ริเอโกถูกตัดสินประหารชีวิต พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ก็ทรงกลับมาปกครองประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไป อย่างไรก็ตาม สเปนก็เสียอาณานิคมเกือบทั้งหมดไปอย่างสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1824 กองทัพสเปนกองทัพสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ของทวีปอเมริกาได้ปราชัยต่อกองกำลังของนักปฏิวัติอันโตนิโอ โฮเซ เด ซูเกร ในยุทธการที่แคว้นอายากูโช ทางภาคใต้ของเปรู

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2

สมัยแห่งความวุ่นวายยังคงดำเนินต่อมาอีกทศวรรษ เนื่องจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบทอดราชสมบัติ (แต่มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงอิซาเบล) ดังนั้นกษัตริย์พระองค์ต่อมาตามกฎหมายแซลิก (ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเดิม) จึงควรเป็นพระอนุชาในพระองค์ คือ เจ้าชายการ์โลส ในขณะที่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ซึ่งทรงอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมและเกรงว่าจะเกิดการก่อการกบฏขึ้นในชาติอีกนั้น ไม่ทรงเห็นว่านโยบายแนวปฏิกิริยาของพระอนุชาเป็นทางเลือกที่จะอยู่รอด พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 จึงทรงขัดขวางความต้องการของพระอนุชาโดยทรงยกเลิกการใช้กฎหมายแซลิก[69] และพระราชทานสิทธิ์แห่งการสืบราชสมบัติให้แก่พระราชธิดาในพระองค์แทน เจ้าชายการ์โลสไม่ทรงยอมรับรองสิทธิดังกล่าวและเสด็จหนีไปยังโปรตุเกส

การเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 7 ใน ค.ศ. 1833 และการขึ้นครองราชย์ของเจ้าหญิงอิซาเบล (ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 3 ชันษาในขณะนั้น) ในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 แห่งสเปน เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามการ์ลิสต์ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1833–1839) เจ้าชายการ์โลสทรงบุกสเปนและได้รับการสนับสนุนจากทั้งกลุ่มปฏิกิริยาและกลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศ (การที่กลุ่มอนุรักษนิยมหรือกลุ่มผู้นิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ฝ่ายเจ้าชายการ์โลสนั้น เป็นเพราะทราบว่าต่อไปสมเด็จพระราชินีนาถจะทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นไปในทางเสรีนิยม) ส่วนพระราชชนนีของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบล คือ สมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาแห่งบูร์บง-ซิซิลีทั้งสอง ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าพระราชธิดาจะทรงบรรลุนิติภาวะ

เจ้าชายการ์โลส ดุ๊กแห่งโมลินา

การก่อการกบฏดูเหมือนจะถูกกำราบในปลายปีเดียวกันนั้นเอง โดยกองทัพ (กลุ่มเสรีนิยม) ของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาสามารถขับไล่กองทัพการ์ลิสต์จากพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นประเทศบาสก์ได้ เจ้าชายการ์โลสจึงทรงแต่งตั้งโตมัส เด ซูมาลาการ์เรกิ นายทหารชาวบาสก์เป็นผู้บัญชาการทหารในพระองค์ ซูมาลาการ์เรกิรวบรวมและฟื้นฟูกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสขึ้นมาใหม่ และเมื่อถึง ค.ศ. 1835 ได้ผลักดันให้กองกำลังของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนาถอยร่นกลับไปยังแม่น้ำเอโบร และเปลี่ยนแปลงกองทัพที่กำลังเสียขวัญของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสให้เป็นกองทัพที่แข็งแกร่งเหนือกว่ากองกำลังฝ่ายตรงข้ามแม้มีกำลังทหารเพียง 3 หมื่นนาย แต่การเสียชีวิตของซูมาลาการ์เรกิจากการรบใน ค.ศ. 1835 ก็เปลี่ยนแปลงอนาคตของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสอีกครั้ง นอกจากนี้กองกำลังของสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนายังได้นายพลผู้มีความสามารถ คือ บัลโดเมโร เอสปาร์เตโร เข้ามาบัญชาการ ชัยชนะของเขาในยุทธการที่เขตลูชานา (ค.ศ. 1836) เป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม และใน ค.ศ. 1839 การประชุมใหญ่แห่งเบร์การาก็ได้ประกาศยุติการก่อกบฏของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลส

เอสปาร์เตโรเริ่มได้รับความนิยมในฐานะวีรบุรุษจากสงครามด้วยสมญานาม "ผู้สร้างสันติของสเปน" เขาร้องขอให้มีการปฏิรูปแบบเสรีนิยมจากสมเด็จพระราชินีนาถมารีอา-กริสตีนา แต่พระองค์ซึ่งไม่ทรงสนับสนุนแนวคิดใด ๆ ก็ทรงลาออกและให้เอสปาร์เตโรขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาการปฏิรูปแบบเสรีนิยมของเอสปาร์เตโรถูกกลุ่มสายกลางต่อต้าน นอกจากนี้ ความไร้ประสบการณ์ทางการเมืองและความแข็งกระด้างของเขายังได้ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นเป็นระยะ ๆ ในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศซึ่งทั้งหมดถูกปราบปราบลงอย่างรุนแรง เขาถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการใน ค.ศ. 1843 โดยรามอน มาริอา นาร์บาเอซ ซึ่งเป็นนายพลสายกลาง เมื่อ ค.ศ. 1846 กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสก่อการจลาจลขึ้นอีกและเกิดสงครามของผู้ตื่นเช้าในแคว้นกาตาลุญญา แต่คราวนี้กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสจัดการกองทัพได้ไม่ดี จึงเป็นสาเหตุให้ถูกปราบลงได้เมื่อ ค.ศ. 1849

เลโอโปลโด โอโดเนล

รัฐสภาสเปนไม่พอใจกับการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศ จึงตัดสินใจที่จะไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีก และประกาศให้เจ้าหญิงอิซาเบลซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 13 พรรษาขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 จากนั้นพระองค์ก็ทรงเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในรัฐบาลหลังจากทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ตลอดรัชสมัยของพระองค์ก็ทรงไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก พระองค์ทรงถูกมองว่าไม่ทรงเอาพระทัยใส่ประชาชนชาวสเปน ใน ค.ศ. 1856 พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างกลุ่มสายกลางกับกลุ่มหัวก้าวหน้า คือ สหภาพเสรีนิยมภายใต้การนำของเลโอโปลโด โอโดเนล แต่แผนการของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ล้มเหลวและทำให้พระองค์ทรงสูญเสียเกียรติภูมิและความนิยมจากประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก

ค.ศ. 1860 สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ทรงประกาศทำสงครามกับโมร็อกโก โดยมีโอโดเนลและฆวน ปริม เป็นผู้บัญชาการ การได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงสามารถรักษาความนิยมในสเปนไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในการรบเพื่อยึดเปรูและชิลีกลับคืนมาในช่วงสงครามหมู่เกาะชินชาในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นก็สร้างความเสียหายอย่างหนักและสเปนต้องปราชัยให้กับทหารอเมริกาใต้ และใน ค.ศ. 1866 การก่อการกำเริบที่นำโดยฆวน ปริม ถูกปราบปรามลงได้ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประชาชนสเปนก็ไม่พอใจกับความพยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวด้านการปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2

"6 ปีแห่งประชาธิปไตย" (ค.ศ. 1868–1874)[แก้]

ฆวน ปริม

ใน ค.ศ. 1868 กลุ่มนายพลหัวก้าวหน้า ได้แก่ ฟรันซิสโก เซร์ราโน และฆวน ปริม ได้ร่วมมือกันทำรัฐประหาร และเอาชนะกองทหารสายกลางของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ได้สำเร็จในยุทธการที่เมืองอัลโกเลอา สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ต้องเสด็จลี้ภัยอยู่ในกรุงปารีส

การปฏิวัติและอนาธิปไตยยังเกิดขึ้นในสเปนเป็นเวลาอีก 2 ปีนับจากนั้น จนกระทั่งใน ค.ศ. 1870 รัฐสภาออกประกาศว่าสเปนจะมีกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง การตัดสินใจนี้มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปเมื่อเจ้าชายเลโอพ็อลท์แห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์นจากปรัสเซียได้รับการเสนอให้มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกษัตริย์สเปน การต่อต้านของฝรั่งเศสเนื่องจากเกรงว่าปรัสเซียจะแผ่ขยายอำนาจลงมาทางใต้นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามในปลายปีเดียวกัน เจ้าชายอาเมเดโอแห่งซาวอยก็ได้รับการคัดเลือกและทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งสเปน เฉลิมพระนาม "พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 แห่งสเปน" ในช่วงเวลาเดียวกับที่ฆวน ปริม นายพลผู้สนับสนุนพระองค์ถูกลอบสังหาร

พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 ทรงรับรองรัฐธรรมนูญเสรีนิยมที่รัฐสภาสเปนได้ประกาศไว้ แต่พระองค์ต้องทรงเผชิญภาระหนักโดยทันทีในการนำอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของสเปนมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสเปนยังคงมีความขัดแย้งถกเถียงกันไม่เพียงแต่ในหมู่ชาวสเปนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระหว่างนักการเมืองของพรรคต่าง ๆ ด้วย ซึ่งแม้ว่ารัฐสภาจะเป็นผู้เลือกพระองค์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ ก็กลับมองว่าพระองค์ทรงเป็นคนนอก ยิ่งไปกว่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสได้ก่อสงครามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 และกระแสเรียกร้องเอกราชในคิวบาก็รุนแรงขึ้นอีกด้วย

สาธารณรัฐสเปนที่ 1 (ค.ศ. 1873–1874)[แก้]

ธงชาติสเปนสมัยสาธารณรัฐที่ 1

พระเจ้าอามาเดโอที่ 1 ทรงปกครองประเทศโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริงจากทั้งภาคการเมืองและภาคประชาชน ต่อมาใน ค.ศ. 1873 รัฐบาลหัวรุนแรงได้ร้องขอให้พระองค์ออกพระราชกฤษฎีกายุบกองทหารปืนใหญ่ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพระองค์กับนายกรัฐมนตรี พระองค์จึงทรงสละราชบัลลังก์สเปนทันทีโดยทรงประกาศว่าชาวสเปน "ปกครองไม่ได้"[70] จากนั้นจึงเสด็จออกไปจากประเทศเพื่อกลับไปอิตาลี ในวันรุ่งขึ้น (11 กุมภาพันธ์) เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มสาธารณรัฐนิยม และกลุ่มประชาธิปไตยได้ประกาศให้สเปนเป็นประเทศสาธารณรัฐ

สเปนถูกรุมเร้าจากปัญหาที่ยังเรื้อรังจากช่วงเวลาที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของประเทศและก่อกบฏที่ใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่ ค.ศ. 1872 นอกจากนี้ยังมีการบ่อนทำลายในกองทัพ ความพยายามกระทำรัฐประหาร เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิวัติในแบบสังคมนิยม การลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและความก่อความไม่สงบในแคว้นนาวาร์และกาตาลุญญา รวมทั้งแรงกดดันจากคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกต่อสาธารณรัฐเกิดใหม่แห่งนี้ด้วย

การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (ค.ศ. 1874–1931)[แก้]

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ทรงสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์สเปนให้แก่พระราชโอรสคือเจ้าชายอัลฟอนโซแห่งอัสตูเรียสตั้งแต่ ค.ศ. 1870 และหลังจากเกิดความวุ่นวายไม่สิ้นสุดในสาธารณรัฐสเปนที่ 1 ชาวสเปนส่วนใหญ่ก็ตกลงใจที่ยอมรับการกลับไปสู่ความมีเสถียรภาพของประเทศภายใต้การปกครองของราชวงศ์บูร์บงอีกครั้ง กองกำลังสาธารณรัฐนิยมในสเปนนำโดยมาร์ติเนซ กัมโปส ซึ่งกำลังปราบปรามการก่อการกบฏของกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสอยู่นั้นได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อเจ้าชายอัลฟอนโซในฤดูหนาวของ ค.ศ. 1874–1875 ต่อมาสาธารณรัฐสเปนก็สลายตัวไปเมื่อเจ้าชายอัลฟอนโซทรงขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 แห่งสเปน ส่วนอันโตนิโอ กาโนบัส เดล กัสติโย ที่ปรึกษาในพระองค์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันสิ้นปี ค.ศ. 1874 กลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสถูกปราบลงอย่างราบคาบโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งทรงเข้าไปมีบทบาทในสงครามและทรงได้รับการสนับสนุนจากพสกนิกรส่วนใหญ่ของพระองค์อย่างรวดเร็ว

ระบบหมุนเวียนทางการเมืองระหว่างพรรคเสรีนิยม (ซึ่งมีปรักเซเดส มาเตโอ ซากัสตา เป็นผู้นำ) กับพรรคอนุรักษนิยม (ซึ่งมีกาโนบัส เดล กัสติโย เป็นผู้นำ) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลัดกันมีอำนาจในรัฐบาล นอกจากนี้ ความมั่นคงและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสเปนก็ได้รับการฟื้นฟูในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 นี้เอง แต่การเสด็จสวรรคตของพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1885 ตามด้วยการลอบสังหารกาโนบัส เดล กัสติโย เมื่อ ค.ศ. 1897 ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในเวลาต่อมาเริ่มสั่นคลอน

ซากเรือรบเมน

ส่วนที่อเมริกา คิวบาได้ก่อความไม่สงบต่อต้านสเปนในสงครามสิบปีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1868 ส่งผลให้เกิดการเลิกทาสในดินแดนอาณานิคมโลกใหม่ของสเปน ผลประโยชน์ของสหรัฐที่มีในเกาะแห่งนี้ประกอบกับความพยายามของขบวนการเรียกร้องเอกราชในคิวบาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้แย่ลง การระเบิดเรือรบเมนที่ฐานทัพเรือฮาวานาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 เป็นชนวนให้เกิดสงครามสเปน–สหรัฐ เนื่องจากสเปนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ สเปนจึงต้องประสบกับหายนะร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง คิวบาได้รับเอกราชในที่สุด สเปนยอมถอนกำลังทหารออกไปและยังเสียอาณานิคมแห่งอื่นที่เหลืออยู่ในโลกใหม่ คือ ปวยร์โตรีโก รวมทั้งกวมและฟิลิปปินส์ให้แก่สหรัฐด้วย[71] และใน ค.ศ. 1899 สเปนก็ขายหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังอยู่ในความครอบครองของตน (ได้แก่ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะแคโรไลน์ และปาเลา) ให้แก่เยอรมนี ทำให้สเปนมีดินแดนอาณานิคมเหลือเพียงสแปนิชโมร็อกโก สแปนิชสะฮารา และสแปนิชกินี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา

"หายนะ" ใน ค.ศ. 1898 ได้ก่อให้เกิดรุ่นวัย 98 ซึ่งเป็นกลุ่มของรัฐบุรุษและปัญญาชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น นอกจากนี้ ขบวนการอนาธิปไตยและฟาสซิสต์เริ่มก่อตัวขึ้นในสเปนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1909 รัฐบาลเรียกเกณฑ์กำลังสำรองอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อส่งไปรบและรักษาดินแดนอาณานิคมในโมร็อกโก ทำให้ชนชั้นแรงงานในเมืองบาร์เซโลนาและเมืองอื่น ๆ ของแคว้นกาตาลุญญาไม่พอใจอย่างมาก จึงนัดหยุดงานประท้วงและก่อการจลาจลโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอนาธิปไตย กลุ่มต่อต้านทหาร และกลุ่มสังคมนิยม นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับชนชั้นแรงงานซึ่งเรียกกันว่าสัปดาห์วิปโยค ผลคือฝ่ายหลังถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเสียชีวิตไปมากกว่าร้อยคน

การที่สเปนรักษาความเป็นกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ได้และเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและเสบียงให้กับประเทศคู่สงครามทั้ง 2 ฝ่ายนั้นส่งผลดีอย่างมากกับประเทศ กล่าวคือ เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นทันที เกิดการพัฒนาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนทั้งในประเทศและที่อื่น ๆ ในโลก รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกก็สร้างความเสียหายให้กับสเปนอีก โดยต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้ การนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงานถูกปราบปรามใน ค.ศ. 1919

การขึ้นฝั่งที่โขดหินอาลูเซมัสในแอฟริกาเหนือได้สำเร็จใน ค.ศ. 1925 ส่งผลให้สเปนเริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามริฟ

การปฏิบัติต่อชาวมัวร์อย่างไม่เป็นธรรมในดินแดนสแปนิชโมร็อกโกนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนและการเสียดินแดนในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ไป (เหลือเพียงเมืองเซวตาและเมลียา) ใน ค.ศ. 1921 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงตัดสินพระทัยสนับสนุนมิเกล ปริโม เด ริเบรา ให้ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระรับผิดชอบต่อการสูญเสียทั้งทหารและงบประมาณจากการพ่ายแพ้สงครามครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การร่วมรบกับฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านชนพื้นเมืองของโมร็อกโกในสงครามริฟ (ค.ศ. 1921–1926) ก็ทำให้สเปนได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมาบ้าง

ต่อมาสภาวะล้มละลายใน ค.ศ. 1930 และการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ไม่ทรงมีทางเลือกอื่นนอกจากการบังคับให้ปริโม เด ริเบรา ลาออกจากตำแหน่ง ดามาโซ เบเรงเกร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ แต่ประชาชนก็เสื่อมศรัทธากับกษัตริย์ที่ทรงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการไปแล้ว โดยตำหนิว่าพระองค์ทรงพยายามจะปกครองประเทศตามแบบเบนีโต มุสโสลีนี[72] จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการสถาปนาสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อมา (ค.ศ. 1931) เบเรงเกร์ประกาศลาออก มีการจัดการเลือกตั้งระดับเทศบาลเมื่อเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งประชาชนในเขตเมืองพากันลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มสาธารณรัฐนิยม ทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ต้องทรงลี้ภัยออกจากประเทศ และแม้พระองค์จะไม่ได้ทรงประกาศสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ แต่สาธารณรัฐสเปนก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งที่ 2

สาธารณรัฐสเปนที่ 2 (ค.ศ. 1931–1939)[แก้]

ธงชาติสเปนสมัยสาธารณรัฐที่ 2

ในสมัยสาธารณรัฐที่ 2 ได้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศให้สเปนเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยของแรงงานทุกชนชั้น"[73] ไม่มีศาสนาทางการ[73] และแยกบทบาทของรัฐและศาสนจักรออกจากกันอย่างชัดเจน[74] นอกจากนี้ ยังให้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปแก่ผู้หญิงชาวสเปนเป็นครั้งแรก[75] รัฐบาลกลางก็มีแนวโน้มที่จะให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่แคว้นกาตาลุญญาเพิ่มขึ้น[76]

รัฐบาลชุดแรก ๆ ของสาธารณรัฐเป็นฝ่ายกลาง-ซ้ายที่มีนิเซโต อัลกาลา-ซาโมรา และมานูเอล อาซัญญา เป็นผู้นำ[77] ปัญหาเศรษฐกิจและการเป็นหนี้ที่สืบเนื่องมาจากสมัยการบริหารของมิเกล ปริโม เด ริเบรา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลผสมอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนำไปสู่การก่อความไม่สงบทางการเมืองอย่างรุนแรงของกลุ่มชาวนาในแคว้นเอซเตรมาดูราและแคว้นอันดาลูซิอาทางภาคใต้

ต่อมาใน ค.ศ. 1933 สมาพันธ์สิทธิปกครองตนเองสเปนหรือเซดาซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมากให้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล[78] แต่ก็ยังทำผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1934 กลุ่มแรงงานเหมืองถ่านหินที่แคว้นอัสตูเรียสได้นัดหยุดงานและก่อการจลาจลขึ้น[79] โดยใช้อาวุธ รัฐบาลจึงส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตรวม 1,335 คน[80] และบาดเจ็บ 2,051 คน[80] นี่เองเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีกทั่วประเทศ เช่น ขบวนการอนาธิปไตย กลุ่มปฏิกิริยาใหม่ กลุ่มขวาจัดอย่างกลุ่มฟาลังเฆ และกลุ่มประเพณีนิยมอย่างกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลสซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ด้วย เป็นต้น

สงครามสองสเปน (ค.ศ. 1936–1939)[แก้]

ทหารกองหนุนของกลุ่มจงรักภักดีกำลังโจมตีที่มั่นของกลุ่มก่อการกำเริบที่โซโมซิเอร์รา แคว้นมาดริด ในฤดูร้อน ค.ศ. 1936

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 การเมืองสเปนแตกแยกออกเป็น 2 ขั้วอำนาจคือฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายได้แก่พรรคการเมืองฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ซึ่งต้องการให้มีการต่อสู้ระหว่างชนชั้น การปฏิรูปที่ดิน การปกครองตนเองของแต่ละแคว้น รวมทั้งการลดอำนาจศาสนจักรและกษัตริย์ลง ส่วนฝ่ายขวาซึ่งกลุ่มใหญ่ที่สุดคือพรรคเซดาและกลุ่มคาทอลิกมีความเห็นคัดค้านกับประเด็นดังกล่าว ใน ค.ศ. 1936 พรรคฝ่ายซ้ายทั้งหมดรวมกลุ่มกันเป็นพรรคแนวหน้าประชาชน[81] และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยเฉพาะในเขตเมืองและย่านอุตสาหกรรม[82]

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมซึ่งเป็นฝ่ายกลาง–ซ้ายชุดนี้ก็ยังถูกบ่อนทำลายจากกลุ่มที่ต้องการการปฏิวัติ เช่น สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติและสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย และจากฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาธิปไตย เช่น กลุ่มฟาลังเฆและกลุ่มผู้สนับสนุนเจ้าชายการ์โลส ความรุนแรงทางการเมืองอย่างที่เคยเกิดในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งในเมืองหลวงและท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมีการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนในการประท้วงหยุดงาน ชาวนาที่ไม่มีที่ทำกินเริ่มเข้ายึดที่ดินจากนายทุนเจ้าของที่[83] บุคคลทางศาสนาถูกสังหาร โบสถ์และสำนักชีถูกเผาทำลายไปหลายแห่ง กองทหารอาสาสมัครฝ่ายขวา (เช่น ฟาลังเฆ) และมือปืนที่ถูกว่าจ้างมาได้ลอบสังหารนักปฏิบัติการหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่ได้สร้างความสมานฉันท์หรือความเชื่อใจกันระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งหลายอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกิดสันติภาพ ฝ่ายขวาและบุคคลระดับสูงในกองทัพเริ่มวางแผนก่อการยึดอำนาจ[84] และเมื่อโฆเซ กัลโบ โซเตโล ผู้นำนักการเมืองฝ่ายขวาถูกตำรวจของสาธารณรัฐยิงเสียชีวิต[85][86] ฝ่ายผู้ก่อการ (เรียกว่า "ฝ่ายชาตินิยม") จึงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติเพื่อล้มรัฐบาล[85][87] เป็นผลให้ความขัดแย้งภายในชาติกลายสภาพเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ฟรันซิสโก ฟรังโก นำกองทัพอาณานิคมในโมร็อกโกจากเมืองเมลียาและบุกเข้าโจมตีแผ่นดินใหญ่จากภาคใต้ ในขณะที่กำลังอีกด้านหนึ่งภายใต้การนำของโฆเซ ซานฆูร์โฆ ก็เคลื่อนพลจากแคว้นนาวาร์ทางภาคเหนือลงมาทางใต้ มีการระดมพลขึ้นทุกแห่งโดยมีจุดประสงค์เพื่อเข้ายึดหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาล (หรือ "ฝ่ายสาธารณรัฐนิยม") ในตอนแรกการบุกเข้าโจมตีของฟรังโกนั้นมีเป้าหมายว่าจะยึดอำนาจให้ได้ในทันที แต่การต้านกำลังฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมในเมืองใหญ่ เช่น มาดริด บาร์เซโลนา บาเลนเซีย และบิลบาโอ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงส่อเค้าให้เห็นว่าสเปนจะต้องผจญกับสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อต่อไป ในไม่ช้า พื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายชาตินิยมซึ่งมีกองทหารประจำการในแอฟริกาเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงนั้น[88] นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากต่างชาติอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายชาตินิยมได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนีนาซี อิตาลีฟาสซิสต์ และโปรตุเกส ส่วนฝ่ายรัฐบาล (สาธารณรัฐนิยม) ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและกองกำลังอาสาคอมมิวนิสต์ซึ่งรวมตัวกันในชื่อว่ากองพลน้อยนานาชาติ

ฟรังโกประกาศการยุติสงครามที่เมืองบูร์โกสเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1939[89]

การล้อมอัลกาซาร์ที่เมืองโตเลโดในช่วงต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของสงคราม ฝ่ายชาตินิยมได้รับชัยชนะหลังจากล้อมอยู่เป็นเวลานาน ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐนิยมยังสามารถยึดกรุงมาดริดเป็นฐานที่มั่นไว้ได้แม้ฝ่ายชาตินิยมจะเข้าโจมตีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 นอกจากนี้ยังสามารถยืนหยัดต้านการรุกเข้าเมืองหลวงไว้ได้ที่ริมแม่น้ำฆารามา[90] และเมืองกัวดาลาฆารา[90] เมื่อ ค.ศ. 1937 แต่หลังจากนั้นฝ่ายชาตินิยมเริ่มขยายดินแดนในความควบคุมของตนได้และรุกเข้าไปทางภาคตะวันออกเพื่อตัดขาดกรุงมาดริดออกจากเมืองอื่น ๆ

ส่วนภาคเหนือรวมทั้งแคว้นประเทศบาสก์ถูกยึดครองได้ในปลาย ค.ศ. 1937[91] และแนวรบทางแคว้นอารากอนก็ถูกตีแตกหลังจากนั้นไม่นานนัก[92] เป็นไปได้ว่าการทิ้งระเบิดที่เมืองเกร์นิกาในแคว้นประเทศบาสก์โดยกองทัพอากาศของเยอรมนี (ลุฟท์วัฟเฟอ) จะเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดของสงครามและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพเขียนของปิกาโซ ยุทธการที่แม่น้ำเอโบรระหว่างเดือนกรกฎาคม–พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมที่จะพลิกโฉมหน้าของสงคราม เมื่อประสบความพ่ายแพ้ในการรบครั้งนี้และเมืองบาร์เซโลนาซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของตนยังถูกฝ่ายชาตินิยมยึดได้อีกเมื่อต้น ค.ศ. 1939[93][94] ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสงครามใกล้จะสิ้นสุดแล้ว แนวรบที่เหลือของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมทยอยแตกลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งทางกรุงมาดริดประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1939

สงครามซึ่งคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนระหว่าง 500,000–1,000,000 คน[95] ครั้งนี้สิ้นสุดลงด้วยการล้มล้างสาธารณรัฐสเปนและการขึ้นสู่อำนาจของฟรังโกในฐานะผู้เผด็จการของชาติ เมื่อสงครามสิ้นสุด ฟรังโกได้ควบรวมพรรคการเมืองฝ่ายขวาทั้งหมดเข้าเป็นพรรคเดียวคือพรรคฟาลังเฆ[96] รวมทั้งจัดโครงสร้างภายในพรรคใหม่ ให้ยุบเลิกพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย (หรือฝ่ายสาธารณรัฐนิยม) และสหภาพการค้าทั้งหมดลง นอกจากนี้ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมถูกสั่งจำคุกเป็นแสนคน[97] และอย่างน้อยประมาณ 30,000[98]–35,000 คน[99] ถูกประหารชีวิตในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1939–1953[100] ที่เหลือถูกบังคับให้ทำงานสาธารณประโยชน์[101] หรือไม่ก็ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศตลอดสมัยของฟรังโก

สมัยเผด็จการของฟรังโก (ค.ศ. 1936–1975)[แก้]

ฟรันซิสโก ฟรังโก

แม้สเปนจะวางตัวเป็นกลางทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ต้องเผชิญกับสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1936–1939) ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับประเทศดังกล่าวไปแล้ว หลังจากประกาศยุติการสู้รบอย่างเป็นทางการ ฟรันซิสโก ฟรังโก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสาธารณรัฐสเปนเป็น "รัฐสเปน" ซึ่งเป็นความต้องการที่จะแยกความแตกต่างของระบอบการปกครองใหม่ออกจากทั้งระบอบราชาธิปไตยและระบอบสาธารณรัฐที่มีมาแต่เดิม

ฟรังโกกุมอำนาจปกครองประเทศในระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนิยมซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในทุก ๆ ด้าน สเปนจึงถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้นก็เริ่มจะตามทันประเทศเพื่อนบ้านของตนในยุโรปอยู่บ้าง ต่อมาใน ค.ศ. 1947 รัฐสเปนได้รับการประกาศให้เป็นประเทศราชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่มีการระบุให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์ ฟรังโกได้สงวนสิทธิ์ในการเลือกประมุขไว้เอง

ในสมัยนี้ สเปนยังพยายามเรียกร้องเอาดินแดนยิบรอลตาร์คืนจากสหราชอาณาจักรอย่างแข็งขัน และได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในสหประชาชาติซึ่งสเปนเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ ค.ศ. 1955 หลังจากถูกนานาชาติกีดกันในช่วงแรก ๆ ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1960 สเปนได้ใช้มาตรการจำกัดเขตแดนกับยิบรอลตาร์ ซึ่งในที่สุดก็ลงเอยด้วยการปิดพรมแดนใน ค.ศ. 1969 และไม่มีการเปิดใช้อย่างสมบูรณ์จนกระทั่งใน ค.ศ. 1985

ส่วนในแอฟริกา การปกครองของสเปนในโมร็อกโกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1956 แม้จะได้รับชัยชนะทางการทหารในสงครามการรุกรานแอฟริกาตะวันตกของสเปนจากโมร็อกโก (ค.ศ. 1957–1958) แต่สเปนก็ค่อย ๆ ถอนตัวออกไปจากอาณานิคมในแอฟริกาที่ยังเหลืออยู่เนื่องจากถูกสหประชาชาติกดดัน สแปนิชกินีได้รับเอกราชเป็นประเทศอิเควทอเรียลกินีใน ค.ศ. 1968 และจังหวัดอิฟนีกลายเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกตั้งแต่ ค.ศ. 1969

ธงชาติสเปนสมัยฟรังโก

ช่วงหลัง ๆ ของสมัยการปกครองของฟรังโก มีการเปิดเสรีและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองในสเปนมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศด้วย ต่อมาสเปนก็ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม[102] และในที่สุดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 ฟรังโกออกประกาศว่าตนเองได้เลือกเจ้าชายฆวน การ์โลส แห่งราชวงศ์บูร์บง (สายสเปน) ให้สืบทอดตำแหน่งประมุขแห่งรัฐต่อจากเขา[103] ใน ค.ศ. 1975 สแปนิชสะฮาราซึ่งเป็นอาณานิคมแห่งสุดท้ายของสเปนก็หลุดมือไปอยู่กับโมร็อกโก (แต่ยังมีปัญหาการเรียกร้องเอกราชในดินแดนดังกล่าวอยู่จนถึงทุกวันนี้) ไม่นานนักฟรังโกก็ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 20 พฤศจิกายน และอีกสองวันถัดมา (22 พฤศจิกายน) เจ้าชายฆวน การ์โลส ก็เสด็จขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน" ดังนั้น ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการจึงเปลี่ยนจากรัฐสเปนเป็น "ราชอาณาจักรสเปน" นับแต่นั้น

สเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1975[แก้]

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย[แก้]

สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ประมุขแห่งสเปนระหว่าง ค.ศ. 1975–2014

"การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย" หรือ "การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงครั้งใหม่" เป็นยุคที่ประเทศสเปนกำลังปรับเปลี่ยนจากความเป็นรัฐเผด็จการไปสู่ความเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย โดยทั่วไปถือว่าการเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นหลังจากฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ส่วนการสิ้นสุดกระบวนการอย่างสมบูรณ์ก็ถือเอาชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1982 เป็นสัญญาณบ่งบอก

ระหว่าง ค.ศ. 1978–1982 สเปนมีสหภาพศูนย์กลางประชาธิปไตย (ซึ่งในช่วงแรกเป็นรัฐบาลผสมและต่อมาเป็นพรรคการเมือง) เป็นฝ่ายบริหารของประเทศ มีอาโดลโฟ ซัวเรซ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากสิ้นสุดสมัยเผด็จการ

ใน ค.ศ. 1981 เกิดความพยายามก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยอันโตนิโอ เตเฆโร ร่วมกับสมาชิกสารวัตรทหารจำนวนหนึ่งในหน่วยพิทักษ์​พลเรือน​บุกยึดสภาผู้แทนราษฎรและประกาศระงับสมัยประชุมที่ซึ่งเลโอโปลโด กัลโบ-โซเตโล กำลังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การทำรัฐประหารก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ทรงออกแถลงการณ์ยับยั้งไว้ ในปีต่อมา (ค.ศ. 1982) สเปนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือก่อนที่กัลโบ โซเตโลจะพ้นจากตำแหน่ง

นอกจากเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสังคมสเปนด้วย ในอดีต (ภายใต้การปกครองของฟรังโก) สังคมสเปนมีความเป็นอนุรักษนิยมอย่างสุดโต่ง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว ชาวสเปนมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกและรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามากขึ้น สมาชิกในสังคมจึงเริ่มเปิดเสรีทางค่านิยมและจารีตประเพณีมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมดังกล่าวก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย เช่น ปัญหาโสเภณี การทำแท้ง อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น เป็นต้น

สเปนในปัจจุบัน[แก้]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1982–1996 พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศโดยมีเฟลิเป กอนซาเลซ เป็นนายกรัฐมนตรี[104] ใน ค.ศ. 1986 สเปนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป)[105] รวมทั้งได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่เมืองบาร์เซโลนา[106] และจัดงานแสดงสินค้าโลก (เอกซ์โป) ที่เมืองเซบิยาใน ค.ศ. 1992[107]

เมื่อ ค.ศ. 1996 พรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคกลาง–ขวาก้าวขึ้นมามีอำนาจในรัฐบาล มีโฆเซ มาริอา อัซนาร์ เป็นผู้นำ และในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 สเปนยกเลิกหน่วยเงินเปเซตาและหันไปใช้หน่วยเงินยูโรร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรปแทน

เปโดร ซันเชซ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสเปน

เมื่อ ค.ศ. 2004 ได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดรถไฟ 4 ขบวนที่กรุงมาดริดในช่วงเวลาเร่งด่วนของเช้าวันที่ 11 มีนาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 191 คน[108] และบาดเจ็บอีก 1,755 คน[108] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนแคว้นประเทศบาสก์ (เอตา) โดยทันทีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์[109] แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการก่อวินาศกรรมครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มชาวมุสลิมหัวรุนแรงที่ได้รับ "แรงบันดาลใจ" ในการก่อเหตุจากขบวนการอัลกออิดะฮ์[110] เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนสหรัฐในการทำสงครามโจมตีอิรัก ซึ่งชาวสเปนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อยู่แล้ว[111]

ความผิดพลาดต่าง ๆ ของรัฐบาลพรรคประชาชนมีอิทธิพลโดยตรงต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในอีก 3 วันถัดมา แม้ว่าการหยั่งเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นว่าความนิยมในพรรคใหญ่ 2 พรรคนี้ใกล้เคียงกันมากเกินกว่าจะทำนายผลได้อย่างแม่นยำก็ตาม[112] กล่าวคือ ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนก็ได้รับชัยชนะไป โฆเซ ลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร หัวหน้าพรรคจึงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากอัซนาร์ และหลังจากครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อ ค.ศ. 2008 ซาปาเตโรก็ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศอีกเป็นสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม เอาชนะมาเรียโน ราฆอย ซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ได้สำเร็จ

ทุกวันนี้สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประกอบด้วยแคว้นปกครองตนเอง 17 แห่ง (ได้แก่ อันดาลูซิอา อารากอน อัสตูเรียส หมู่เกาะแบลีแอริก กานาเรียส กันตาเบรีย กัสติยาและเลออน กัสติยา-ลามันชา กาตาลุญญา เอซเตรมาดูรา กาลิเซีย ลาริโอฆา มาดริด ภูมิภาคมูร์เซีย ประเทศบาสก์ บาเลนเซีย และนาวาร์) กับนครปกครองตนเองซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาอีก 2 แห่ง (ได้แก่ เซวตาและเมลียา)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. The Applied History Research Group. University of Calgary. European Voyages of Exploration: Imperial Spain. เก็บถาวร 2008-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 11. (อังกฤษ)
  3. "'First west Europe tooth' found". BBC. 2007-06-30. สืบค้นเมื่อ 2008-09-20. (อังกฤษ)
  4. Fernández-Jalvo, Y.; Díez, J. C.; Cáceres, I.; and Rosell, J. (September 1999). "Human cannibalism in the Early Pleistocene of Europe (Gran Dolina, Sierra de Atapuerca, Burgos, Spain)". Journal of Human Evolution. Academic Press. 37 (34): 591–622. doi:10.1006/jhev.1999.0324. ISSN 0047-2484.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) (อังกฤษ)
  5. "Spain - History - Pre-Roman Spain - Prehistory". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  6. 6.0 6.1 6.2 Jordá Cerdá, F. et al. Historia de España I: Prehistoria. Madrid : Gredos, 1986. ISBN 84-249-1015-X (สเปน)
  7. 7.0 7.1 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 12. (อังกฤษ)
  8. 8.0 8.1 8.2 Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 24. (สเปน)
  9. Babaev, Cyril. "Materials about the Iberians and Iberian Languages." [Online]. Available: http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html เก็บถาวร 2010-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  10. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 17. (อังกฤษ)
  11. "Spain". Encarta Online Encyclopedia. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-21. สืบค้นเมื่อ 2009-02-07. (อังกฤษ)
  12. "Spain - History - Pre-Roman Spain - Phoenicians". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Cidarland. "The Punic Wars." [Online]. Available: http://www.geocities.com/capitolhill/parliament/2587/punic.html [n.d.]. Retrieved October 27, 2008. (อังกฤษ)
  14. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 18. (อังกฤษ)
  15. Nova Roma. "A timeline of Rome and the Byzantine Empire, 800 BC-1453 AD." [Online]. Available: http://www.novaroma.org/camenaeum/
    RomanTimeline.txt
    [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  16. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 27. (สเปน)
  17. PlanetWare Inc. Sagunto, Spain. เก็บถาวร 2008-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  18. Fournie, Daniel A. "Second Punic War: Battle of Zama." [Online]. Available: http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-of-zama.htm [n.d.]. Retrieved August 12, 2008. (อังกฤษ)
  19. Lazenby, John Francis. Hannibal's War: A Military History of the Second Punic War. Warminster, England : Aris and Phillips, 1978, p. 41. (อังกฤษ)
  20. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 23. (อังกฤษ)
  21. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 29. (สเปน)
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 34. (อังกฤษ)
  23. Payne, Stanley G. "A History of Spain and Portugal; Ch. 1 Ancient Hispania." [Online]. Available: http://libro.uca.edu/payne1/spainport1.htm 1973. Retrieved August 13, 2008. (อังกฤษ)
  24. "Theodosius-I". Britannica Online Encyclopedia. 2008. (อังกฤษ)
  25. Ballou, Susan H., and Peter, Hermann. "The Life of Marcus Aurelius Part 1." [Online]. Translated by David Magie. Available: http://penelope.uchicago.edu/Thayer/E/Roman/Texts/Historia_Augusta/Marcus_Aurelius/1*.html [n.d.]. Retrieved August 13, 2008. (อังกฤษ)
  26. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 35. (สเปน)
  27. Fear, A. T. "Prehistoric and Roman Spain." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 11-38. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 31. (อังกฤษ)
  28. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 39. (อังกฤษ)
  29. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 35. (สเปน)
  30. 30.0 30.1 Scaruffi, Piero. "A time-line of the Barbars." [Online]. Available: http://www.scaruffi.com/politics/barbars.html [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  31. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 42. (อังกฤษ)
  32. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 667.
  33. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 51. (อังกฤษ)
  34. 34.0 34.1 34.2 Spanish Fiestas Ltd. "Visigothic Spain." [Online]. Available: http://www.spanish-fiestas.com/history/visigoths.htm [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  35. Penny, Ralph. A History of the Spanish Language. 2nd ed. New York : Cambridge University Press, 2002. Quoted in Random History.com. "Coalition, Conquest, and Conversion; The History of the Spanish Language." [Online]. Available: http://www.randomhistory.com/1-50/015spanish.html เก็บถาวร 2009-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [n.d.]. Retrieved August 16, 2008. (อังกฤษ)
  36. Collins, Roger. "Visigothic Spain, 409-711." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 39-62. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 53. (อังกฤษ)
  37. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 11. (อังกฤษ)
  38. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 22. (อังกฤษ)
  39. World History at KMLA. Timelines - Vikings, Saracens, Magyars. (อังกฤษ)
  40. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 119. (อังกฤษ)
  41. Brodman, James William. Ransoming Captives in Crusader Spain: The Order of Merced on the Christian-Islamic Frontier. (อังกฤษ)
  42. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 46. (สเปน)
  43. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 153. (อังกฤษ)
  44. Kennedy, Hugh. Muslim Spain and Portugal : A Political History of al-Andalus. London : Longman, 1996, p. 190. (อังกฤษ)
  45. Ohio State University Department of History. "Timeline - Middle Ages: 500 AD to 1500 AD." [Online]. Available: http://ehistory.osu.edu/world/
    TimeLineDisplay.cfm?Era_id=5
    เก็บถาวร 2009-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน[n.d.]. Retrieved August 14, 2008. (อังกฤษ)
  46. My Jewish Learning, Inc. The Almohads เก็บถาวร 2009-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  47. 47.0 47.1 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 59. (สเปน)
  48. 48.0 48.1 Mackay, Angus. "The Late Middle Ages, 1250-1500." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 90-115. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 106. (อังกฤษ)
  49. Quesada Marco, Sebastián. Curso de Civilización Española. 5ª ed. Madrid : Sociedad General Española de Librería, 2001, pág. 65. (สเปน)
  50. ในช่วงแรก ชื่อ "สเปน" ไม่ได้นำมาใช้เรียกดินแดนเกือบทั้งหมดบนคาบสมุทรไอบีเรียโดยทันที แต่ใช้เรียกเฉพาะอาณาเขตที่เกิดขึ้นจากการรวมกันระหว่างราชอาณาจักรกัสติยา อารากอน และนาวาร์ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 เท่านั้น, ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 672.
  51. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 110. (สเปน)
  52. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 673.
  53. Solsten, Eric, and Meditz, Sandra W., eds. Spain: A Country Study. Washington: GPO for the Library of Congress, 1988. (อังกฤษ)
  54. Antonio, Nicolás. Bibliotheca Hispana Nova. i. 132 (1888) (ละติน)
  55. Charles V, Holy Roman emperor. The Columbia Encyclopedia, Sixth Edition. 2001-07 (อังกฤษ)
  56. Davis, Robert. When Europeans were slaves: Research suggests white slavery was much more common than previously believed. เก็บถาวร 2011-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  57. 57.0 57.1 Payne, Stanley G. The Seventeenth-Century Decline. (อังกฤษ)
  58. Kamen, Henry. Spain, 1469-1714 : a society of conflict. 3rd ed. Harlow : Pearson/Longman, 2005, p. 276
  59. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A - B. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547, หน้า 160.
  60. Herr, Richard. "Flow and Ebb." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 173-204. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 176. (อังกฤษ)
  61. 61.0 61.1 Del Moral, Cristina. La Guerra de la Independencia. Madrid : Anaya, 1990, pág. 11.
  62. Del Moral, Cristina. La Guerra de la Independencia. Madrid : Anaya, 1990, pág. 12.
  63. 63.0 63.1 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, p. 147-148. (สเปน)
  64. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, p. 148. (สเปน)
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 160. (สเปน)
  66. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 45-46. (สเปน)
  67. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 55. (สเปน)
  68. รัฐสภาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันนักบุญโจเซฟหรือ โฆเซ (José) ในภาษาสเปน ชื่อโฆเซมีชื่อเล่นว่า เปเป (Pepe) เมื่อทำคำนามนี้เป็นเพศหญิงเพื่อให้สอดคล้องกับเพศทางไวยากรณ์ของคำว่ารัฐธรรมนูญ (constitución) โดยเปลี่ยนสระ -e ท้ายคำเป็นสระ -a จึงได้เป็น เปปา (Pepa)
  69. Cronos, Grupo. España: siglo XIX (1789-1833). 3ª ed. Madrid : Anaya, 1995, pág. 80. (สเปน)
  70. Sightseeing in Madrid - City Guide. 09. - Amadeo de Saboya (1845-1890). เก็บถาวร 2008-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
  71. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 168. (สเปน)
  72. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 1 อักษร A - B. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547, หน้า 44.
  73. 73.0 73.1 Constitución de la República Española de 1931. (สเปน)
  74. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 682.
  75. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 62. (สเปน)
  76. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 177. (สเปน)
  77. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 245. (อังกฤษ)
  78. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 44. (สเปน)
  79. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 50-51. (สเปน)
  80. 80.0 80.1 Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 52. (สเปน)
  81. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 60. (สเปน)
  82. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 61. (สเปน)
  83. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 49. (อังกฤษ)
  84. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 66. (สเปน)
  85. 85.0 85.1 Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 57. (อังกฤษ)
  86. Rivero, Isabel. Síntesis de Historia de España. Madrid : Globo, 1999, pág. 179. (สเปน)
  87. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 252. (อังกฤษ)
  88. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 218. (อังกฤษ)
  89. Grugel, Jean, and Rees, Tim. Franco's Spain. London : Arnold, c1997, p. 23. (อังกฤษ)
  90. 90.0 90.1 Generalísimo Francisco Franco. Grandes batallas de la Guerra Civil Española. (สเปน)
  91. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 261. (อังกฤษ)
  92. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 262. (อังกฤษ)
  93. Balfour, Sebastian. "Spain from 1931 to the Present." In Raymond Carr, ed. Spain : a history, 243-282. New York : Oxford University Press, c2000, 2001, p. 263. (อังกฤษ)
  94. Paniagua, Javier. España: siglo XX, 1931-1939. 5ª ed. Madrid : Anaya, 1993, pág. 82. (สเปน)
  95. จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่โดยทั่วไปประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 500,000–1,000,000 คน เมื่อเวลาผ่านไปนักประวัติศาสตร์ต่างก็ปรับลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงเรื่อย ๆ และจากผลการค้นคว้าบางแหล่งในปัจจุบันสรุปว่า 500,000 คนเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง, Thomas, Hugh. The Spanish Civil War. New York : The Modern Library, 2001, p. xviii & 899–901, inclusive. (อังกฤษ)
  96. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 684.
  97. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 449-450. (อังกฤษ)
  98. Spain torn on tribute to victims of Franco. (อังกฤษ)
  99. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 450. (อังกฤษ)
  100. Casanova, Julián, et al. Morir, matar, sobrevivir. La violencia en la dictadura de Franco. Barcelona, 2002, pp. 19ff; Vega Sonbría, Santiago. De la esperanza a la persecución. La represión franquista en la provincia de Segovia, 1936-1939. Barcelona, 2005, p. 279. Quoted in Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 546. (อังกฤษ)
  101. Beevor, Antony. The Battle for Spain: The Spanish Civil War 1936-1939. London : Phoenix, 2006, p. 449. (อังกฤษ)
  102. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 685.
  103. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E - G. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2543, หน้า 215.
  104. Spanish Socialist Worker's Party -- Britannica Online Encyclopedia (อังกฤษ)
  105. Spain in the European Union (อังกฤษ)
  106. 1992 Olympics - Infoplease.com (อังกฤษ)
  107. Expo92.net (อังกฤษ)
  108. 108.0 108.1 El Mundo. El auto de procesamiento por el 11-M. (สเปน)
  109. ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 688.
  110. Madrid Bombing Suspect Denies Guilt เก็บถาวร 2020-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The New York Times, February 15, 2007: The cell was inspired by al-Qaida but had no direct links to it, nor did it receive financing from Osama bin Laden's terrorist organization, Spanish investigators say. (อังกฤษ)
  111. ชาวสเปนถึงร้อยละ 92 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอิรัก [1] เก็บถาวร 2010-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
  112. Evolución del voto en las encuestas preelectorales de SIGMA DOS. เก็บถาวร 2004-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]